ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
  • สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน
แสดงกระทู้
This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.
  Messages   Topics   Attachments  

  Topics - raponsan
หน้า: [1] 2 3 ... 555
1  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 06:40:16 am
.



มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (1)
จาก ‘รัตนพิมพวงศ์’ ถึง ‘พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4’


กลางปี 2564 ช่วงที่สถานการณ์โควิดเข้าขั้นวิกฤต ดิฉันได้ชวนเพื่อนพ้องน้องพี่นักวิชาการหลากหลายสำนัก มาเปิดประเด็นถกวิพากษ์เรื่อง “พระแก้วมรกต” กันในคลับเฮาส์ เพราะเป็นหัวข้อที่ “พูดคุยกันกี่ครั้งก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มมุมมองใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันได้เรื่อยๆ โดยที่ใครอยากพูดมิติไหนก็เชิญตามสะดวก ไม่มีใครถูกใครผิด”

นำมาซึ่งภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในแบนเนอร์ที่ท่านเห็น คือโปรแกรมเสวนาคลับเฮาส์ในค่ำคืนของวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ซึ่งเราเสวนากันอย่างเลื่อนไหลมันส์ในอารมณ์ยิ่งนัก ตั้งแต่ 1 ทุ่มถึงเที่ยงคืนครึ่ง นานกว่า 5-6 ชั่วโมง โดยที่คนติดตามฟังสดก็ไม่มีใครยอมล่าถอย

เพื่อให้ความตั้งใจของวิทยากรที่เสียสละเวลาช่วยกันสืบค้นข้อมูลเชิงลึกเรื่องพระแก้วมรกตในมิติต่างๆ ในครั้งนั้นไม่สูญเปล่า ดิฉันในฐานะแม่งานหลัก จึงขอทำหน้าที่ถอดคลิปเสียง จับประเด็นสาระสำคัญมาขยายความต่อ

ตอนแรกนี้ เป็นการเปิดประเด็นของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ผู้คร่ำหวอดเรื่อง “พุทธปฏิมาในสยาม อินเดีย และอุษาคเนย์” แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรท่านแรกนี้ได้รับโจทย์จากดิฉันให้อินโทรเรื่อง “เส้นทางของพระแก้วมรกตจากปาฏลีบุตรสู่สยาม”



แบนเนอร์เก่าเมื่อปี 2564 รายการเสวนาคลับเฮาส์ ประเด็น พระแก้วมรกต รวบรวมวิทยากรคับคั่ง


ตำนานฝ่ายล้านนา vs เอกสารฝ่ายรัตนโกสินทร์

ก่อนที่ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จักนำเข้าสู่เรื่องเส้นทางจากปาฏลีบุตร ท่านขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ข้อมูล” หรือ “องค์ความรู้” เกี่ยวกับพระแก้วมรกตที่คนไทยรับรู้ตราบจนทุกวันนี้กันนั้น ว่ามีที่มาจากเอกสารสามส่วนหลักๆ

ส่วนแรก คือตำนานฝ่ายล้านนา จำแนกได้เป็น 2 เล่ม คือ
    1. รัตนพิมพวงศ์
    2. ชินกาลมาลีปกรณ์ ทั้งคู่แต่งเป็นภาษาบาลี

ว่าด้วย “รัตนพิมพวงศ์” รจนาโดย พระพรหมราชปัญญา ภิกษุชาวล้านนา น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-ต้น 22 ตำนานเล่มนี้มีความตั้งใจที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระแก้วมรกตโดยตรง ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยสองครั้ง ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระธรรมปรีชา (แก้ว) ครั้งที่สองสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)

เวอร์ชั่นหลังนี้เอง กรมศิลปากรนำไปตีพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนภายใต้ชื่อที่เรียบเรียงใหม่ว่า “ตำนานพระแก้วมรกต” จนเป็นที่รู้จักของคนไทยในวงกว้าง

ในขณะที่ “ชินกาลมาลีปกรณ์” รจนาโดย พระรัตนปัญญาเถระ เมื่อปี 2060 (แต่งขึ้นก่อน รัตนพิมพวงศ์) เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ตั้งใจจะเน้นเรื่องประวัติพระพุทธศาสนา กับเหตุบ้านการเมืองในล้านนามากกว่า

ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับพระแก้วมรกตจึงนำเสนอแบบค่อนข้างย่นย่อ กล่าวคือ มีเรื่อง “พระรัตนปฏิมา” แทรกอยู่เพียง 7 หน้าเท่านั้น

@@@@@@@

ส่วนที่สอง คือเอกสารฝ่ายล้านช้าง เรื่องราวของพระแก้วมรกตมาปรากฏอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากทรงตีเวียงจันท์ได้ และนำพระแก้วมรกตมาถวายแด่พระเจ้ากรุงธนบุรี กระทั่งต่อมาย้ายราชธานีไปอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ พระองค์ยกทัพไปตีล้านช้างอีกครั้งในปี 2331 ได้ตำนานเรื่องพระแก้วมรกตฉบับล้านช้างกลับมาสู่ราชสำนักสยาม ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการแปลต้นฉบับจากภาษาลาวมาเป็นภาษาไทย

ส่วนนี้ถือเป็น “ภาคขยายความ” ต่อจากรัตนพิมพวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ ที่เล่าเหตุการณ์เรื่องพระแก้วมรกตจบลงเพียงแค่ประทับอยู่ที่ลำปาง (เขลางค์) และพระเจ้าติโลกราชกำลังอัญเชิญมาสู่เชียงใหม่เท่านั้น

ถือว่า ตำนานพระแก้วมรกตฉบับล้านช้าง ช่วยมาเติมเต็มเหตุการณ์อีกช่วงที่ขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของล้านนา นั่นคือ เหตุการณ์หลังจากที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบาง จนกระทั่งชาวลาวได้สร้างวัดพระแก้วถวายแด่พระแก้วมรกตที่เวียงจันท์



ตำนานพระแก้วมรกต หรือ “รัตนพิมพวงศ์” ของ “พระพรหมราชปัญญา” ฉบับปริวรรตสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เป็นเอกสารที่นำเสนอเรื่องพระแก้วมรกต เชิงอภินิหาร ตำนานกึ่งประวัติศสตร์ จนเป็นที่แพร่หลายในวงกว้างของสังคมไทย


ส่วนที่สาม คือพระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4 เป็นพระราชนิพนธ์ที่มีความน่าสนใจยิ่งสะท้อนถึง การปะทะสังสรรค์ต่อสู้กันทางความคิดระหว่าง “ความศรัทธาทางพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า” ของคนรุ่นก่อนแบบเน้นให้เชื่อโดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามใดๆ ปะทะกับ “องค์ความรู้ใหม่ของโลกสากล” ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ซึมซับมาจากชาวตะวันตก จึงพยายามจะให้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ต่อองค์พระแก้วมรกตอีกด้วย

อาจารย์รุ่งโรจน์วิเคราะห์ว่า จุดมุ่งหมายของการเขียนรัตนพิมพวงศ์ก็ดี ชินกาลมาลีปกรณ์ก็ดี ล้วนยกย่องเชิดชูว่าพระแก้วมรกตมีความสำคัญอย่างสูงสุด ประหนึ่งว่า “มาตรแม้นใครได้ไหว้พระแก้วมรกตแล้ว ก็เท่ากับได้ไหว้พระพุทธเจ้าองค์จริง”

โดยตำนานทั้งสองชิ้นนี้ระบุว่า มีการบรรจุ “พระบรมสารีริกธาตุ” ถึง 7 ชิ้น ภายในองค์พระปฏิมาแก้วมรกตด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประกาศให้รู้ว่า หินเขียวแก้วมณีองค์นี้ หาใช่ประติมากรรมดาดๆ แบบพระอิฐพระปูนทั่วไปไม่

หากแต่ “มีชีวิตจริงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่” เมื่อมนุษย์กราบไหว้แล้ว สามารถสัมผัสได้ว่า พระแก้วมรกตจักเป็นที่พึ่งของปวงสัตว์โลกได้อย่างแท้จริง

@@@@@@@

ในขณะที่มุมมองต่อพระแก้วมรกตของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 กลับเปลี่ยนแปรไป พระองค์ไม่ได้เน้นว่าพระแก้วมรกตจะต้องเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าจริงแท้แค่ไหนหรือไม่ หากมองเห็นว่า คุณค่าของพระแก้วมรกตที่แท้จริงคือ เป็นเครื่องสะท้อนถึงบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครองมากกว่า ดังเช่นบางถ้อยบางประโยคที่พระราชนิพนธ์ไว้

   “ด้วยอำนาจและพระบารมีของสมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึก (หมายถึงรัชกาลที่ 1 แต่การที่รัชกาลที่ 4 เรียกด้วยตำแหน่งนี้ เนื่องจากตอนรัชกาลที่ 1 ได้พระแก้วมรกตมา ยังดำรงพระอิสสริยยศดังกล่าว) ซึ่งควรเป็นผู้ครอบครองปฏิบัติบูชาพระรัตนปฏิมาพระองค์นี้ เจ้าร่มขาวหลวงพระบางมาสวามิภักดิ์ ทั้งยังปราบเวียงจันท์ได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึกได้เวียงจันท์ จึงได้อัญเชิญพระปฏิมาองค์นี้พรอ้มพระบางมาด้วย”

อาจารย์รุ่งโรจน์ชี้ให้เห็นว่า ตัวคัมภีร์ทางศาสนา กับเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต ผลิตขึ้นต่างสถานที่ ต่างช่วงเวลากัน ตำนานฝ่ายล้านนาเขียนขึ้นเพื่อเน้นว่า พระพุทธเจ้าคือพระแก้วมรกต พระแก้วมรกตคือพระพุทธเจ้า

ในขณะที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 มองว่า ความสำคัญของพระแก้วมรกตไม่ได้อยู่ที่จิตวิญญาณขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าต้องประทับอยู่ในองค์พระปฏิมาหรือไม่ ทว่า อยู่ที่ใครที่ได้ครอบครองพระแก้วมรกตคือผู้ที่มีบุญญาบารมีในการปกครองบ้านเมืองมากกว่า



รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์อินเดีย ลังกา อุษาคเนย์ สยาม และล้านนา


พระแก้วมรกตสร้างในล้านนา อ้างอิงความเก่าถึงอินเดีย

อาจารย์รุ่งโรจน์ขอให้ทุกท่านช่วยกันพิเคราะห์รูปลักษณ์ “พระแก้วมรกต” กันอย่างละเอียดลอออีกครั้ง เชื่อว่าคงไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า พุทธศิลป์เช่นนี้จักไม่ใช่ “ศิลปะล้านนา” ซึ่งในอดีตเคยมีผู้ศึกษาวิเคราะห์กันไว้แล้วหลายท่าน อาทิ ท่านอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ก็ดี ท่านศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์คนสำคัญแห่งคณะโบราณคดีก็ดี

ความเห็นเรื่องแหล่งผลิตพระแก้วมรกต ณ ปัจจุบันนี้แทบจะเป็นฉันทามติแล้วว่า หากไม่ทำขึ้นที่เชียงแสน เชียงราย ก็อาจทำขึ้นที่เมืองพาน พะเยา 3-4 แห่งที่ประติมากรมีความถนัดในการแกะสลักหินเท่านั้น

เมื่อเรายอมรับทฤษฎีนี้กันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ มีเหตุผลอันใดเล่า จึงได้เขียนตำนานให้ลากยาวไปไกลมากถึงอินเดีย ลังกา พุกาม เขมร ทั้งๆ ที่พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นของอาณาจักรล้านนาแท้ๆ ดังนั้น เราควรหมายเหตุไว้ว่า น่าจะมีนัยยะหรือวาระซ่อนเร้นบางประการแอบแฝงอยู่

หันมาดูปฐมบทของการศึกษาพระแก้วมรกตในคัมภีร์ “รัตนพิมพวงศ์” มีการเอ่ยถึงนามของพระภิกษุที่มีชีวิตอยู่จริงในยุคหลังพุทธกาลลงมาประมาณ 5-600 ปี นาม “พระนาคเสน” สะท้อนให้เห็นว่า พระพรหมราชปัญญา ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์ศาสนาเรื่อง “มิลินทปัญหา” (หรือที่เรารู้จักในนาม ตอบปัญหาพญามิลินทร์) แทรกปนอยู่ด้วย

@@@@@@@

เนื้อเรื่องตอนแรกๆ จึงมีบทบาทของ “พระนาคเสน” ปรากฏอยู่ด้วย โดยตำนานระบุว่า พระภิกษุชื่อนาคเสนชาวเมืองปาฏลีบุตร (เป็นการเขียนแบบสันสกฤต หากเขียน “ปาตลีปุต” เป็นแบบบาลี) ต้องการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสืบอายุพระพุทธศาสนา และประสงค์จะสร้างด้วยวัสดุประเภท “แก้ว”

เมื่อพระอินทร์(ท้าวสักกเทวราช) และพระเวสสุกรรม(วิสสุกรรม) สดับดังนั้น จึงขันอาสาหาแก้วมณีจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกหนึ่งชื่อ “เขาวิบูล” มาให้ แก้วดวงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “อมรโกฏ” บ้างเขียนว่า “อมรกต” แปลว่าแก้วที่สร้างขึ้นด้วยเทวดา(อมร = พระอินทร์, เทวดา ส่วน โกฏ, กต = การสร้าง ผู้สร้าง การกระทำ)

ไปๆ มาๆ ตัว อ หายไป เหลือแค่ มรโกฏ กร่อนเป็น “มรกต” เท่านั้น ความหมายจึงไปพ้องกับอัญมณีประเภทหนึ่งที่เป็นหินเขียว กลายเป็น Emerald Buddha ซึ่งสอดคล้องกับสีของหินเขียวที่ใช้สร้างพระแก้วพอดี ในความเป็นจริงนั้น วัสดุที่ใช้สร้างพระแก้วมรกตเป็นหินในกลุ่มคล้ายหยก (Jade) มากกว่าที่จะเป็น “มรกต” ตามความหมายของ Emerald

ในขณะที่ท้าวสักกะและพระวิสสุกรรม แปลงกายมาเป็นช่างแกะสลักหินเขียวอยู่นั้น ตำนานระบุว่า พระนาคเสนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 7 องค์ ให้เข้ามาสถิตในองค์พระพุทธรูปด้วย โดยฝังกระจายไว้ 7 จุดดังนี้

    1. พระเมาลี (มวยผม)
    2. พระนลาฏ (หน้าผาก)
    3. พระอุระ (ชินกาลระบุว่า อุระ แต่รัตนพิมพวงศ์ บอกว่า พระนาภี-สะดือ)
    4-5. ข้อพระหัตถ์ 2 ข้าง และ
    6-7. พระชานุ (เข่า) 2 ข้าง

เข้าใจว่าความเชื่อในเรื่องการฝังพระบรมสารีริกธาตุ 7 จุดตลอดองค์พระปฏิมาจากตำนานพระแก้วมรกตเรื่องนี้เอง ต่อมาได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของช่างล้านนากลุ่มหนึ่ง (อาจสังกัดป่าแดงหรือไม่?) ในการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งยุคสมัยหนึ่งนิยมฝังหมุดหรือใส่ของมีค่า แล้วเอาสลัก (แส้/เดือย) เชื่อมชิ้นส่วนองค์พระปฏิมาที่หล่อแยก 7 ส่วนบ้าง 9 ส่วนบ้าง ให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว อันเป็นที่มาของ พระบัวเข็ม และพระแสนแส้ต่างๆ

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เคยพยายามตรวจสอบค้นหาความจริง พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ไว้ในพระบรมราชาธิบายว่า ไม่พบร่องรอยของการฝังพระบรมสารีริกธาตุ 7 จุดในองค์พระแก้วมรกต ตามที่ตำนานรัตนพิมพวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ระบุไว้แต่อย่างใดเลย •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2567
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_753719
2  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 06:22:17 am
.



สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว



สิบฯฯวันฯแอ่วฯหาฅ฿นฯเถั้า เกั้าวันฯแอ่วฯหาฅ฿นฯแก่ เหิลฯอฯอนั้นฯค่อฯยฯแว่หาร้างฯหาสาวฯ



สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นก้อยแว่หาฮ้างหาสาว”

คนเถ้า หมายถึง ผู้สูงวัยที่มีความรู้ หรือเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
คนแก่ หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ในทางปกครอง เช่น แก่บ้าน คือ ผู้ใหญ่บ้าน แก่วัด คือ ผู้ที่มีหน้าที่จัดการงานต่างๆ ของวัด แก่เหมืองฝาย คือ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเหมืองฝายต่างๆ
ร้าง หมายถึง หญิงที่หย่ากับผัว

ชาวล้านนามีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ถ้าครอบครัวใดมีบุตรเป็นชาย เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนจบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับแล้ว หากไม่ได้ศึกษาต่อ หรือมีเวลาหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว มักจะให้บุตรหลานบรรพชาเป็นสามเณร หากลาสิกขาออกมาเรียกว่า “น้อย” หากไม่ลาสิกขาออกมา เมื่อมีอายุครบก็จะให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

หากบวชไม่นานลาสิกขาออกมาเรียกว่า “หนาน”




ระฯบาฯช์ญฯล้านฯนาฯ “ระฯพสิริมังคฯลาจาร์ยฯ”
อ่านว่า ผาดล้านนา พะสิริมังก๊ะลาจ๋าน
แปลว่า ปราชญ์ล้านนา พระสิริมังคลาจารย์

ล้านนาในอดีต พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจำนวนมาก คัมภีร์ต่างๆ ที่ปราชญ์ได้รจนาขึ้น เป็นต้นแบบของการศึกษาภาษาบาลีสืบมา เช่น คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ที่แต่งโดย พระสิริมังคลาจารย์ เป็นวรรณคดีบาลีที่ได้รับการยกย่อง และเป็นคัมภีร์สำหรับศึกษาของพระภิกษุประโยค เปรียญธรรม 4-7 วัด จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของพระภิกษุ สามเณร

โดยมีผู้สอนที่ได้รับการถ่ายทอดจากตำราโบราณ หรือพระภิกษุที่บวชมานาน ที่เรียกว่า “แก่พรรษา” เมื่อลาสิกขาออกมาแล้ว “น้อย” หรือ “หนาน” เหล่านั้น ก็มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ตามที่ได้รับการถ่ายทอด เพื่อนำมาประพฤติ ปฏิบัติ ในวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมและประเพณีของชาวล้านนา

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ได้รับทางธรรมอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในสังคมของชาวโลก จึงมีคำสอนของพ่อแม่ที่สอนลูกหลานว่า “สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว” เมื่อ “หนาน” ได้ลาสิกขาจากพระมาแล้ว ในเวลา 1 เดือน ถ้านับตามจันทรคติ ใน 30 วัน ในข้างขึ้น หรือ 29 วันในข้างแรม หรือใน 30 วัน หรือ 31 วัน ในปฏิทินสากล

หากต้องการความรู้ด้านต่างๆ ให้ไปศึกษาจากผู้ที่มีอายุ เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ประมาณ 10 วัน อีก 9 วัน ให้ไปหาความรู้ทางด้านการปกครอง จากผู้ที่มีตำแหน่งและได้รับการยอมรับ ให้เป็น “แก่”

ที่เหลือจากนั้นจึงค่อยไปมองหาคู่ครอง ซึ่งอาจจะเป็นสาว หรือแม่ม่ายหย่าผัว เพราะถ้าบวชนานๆ โดยไม่มีคู่หมายมาก่อน ผู้หญิงในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็คงจะแต่งงานไปก่อนแล้ว เหลือแต่ หญิงม่าย ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า “ส้มกับแม่มาน หนานกับแม่ร้าง” หมายถึง ของเปรี้ยวคู่กับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนหนานนั้นคู่กับแม่ม่าย เป็นต้น

แม้ว่าคำสอนของพ่อแม่ล้านนาจะมีมานานแล้วก็ตาม ถ้านำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน ก็ยังคงใช้ได้ เพราะหากไม่มีความรู้ความสามารถ หรือไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนให้เชี่ยวชาญ การที่จะดำรงชีวิตให้มีความสุขสบายก่อนที่จะแต่งงานคงเป็นไปได้ยากในสังคมที่มีการแข่งขัน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น ค่านิยมของผู้คนก็เปลี่ยนไปตามฐานะของแต่ละครอบครัว •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ล้านนาคำเมือง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_754883
3  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดแทบแตก แห่ร่วมพิธี เป่ายันต์เกราะเพชร วัดดังนครปฐม เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 06:09:47 am
.



วัดแทบแตก แห่ร่วมพิธี เป่ายันต์เกราะเพชร วัดดังนครปฐม เปิดเลขเด็ด

วัดแทบแตก กว่า 3,000 คน แห่ร่วมพิธี เป่ายันต์เกราะเพชร วัดดังนครปฐม ศิลปิน-ดารามาด้วย เสียงกรีดร้องดังสนั่น รถติดยาว 3 กิโลเมตร เปิดเลขเด็ด

วันที่ 14 เม.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่วัดสว่างอารมณ์ แคแถว ต. ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พระครูยติธรรมานุยุต หรือ หลวงพ่อแป๊ะ เจ้าอาวาสวัด เกจิชื่อดัง ได้ประกอบพิธีเป่ายันต์เกราะเพชร โดยถือฤกษ์ดี วันเสาร์ 5 เดือน 5 ซึ่งมีเพียงแค่ปีละครั้ง

ประกอบกับเป็นวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยในปี 2567 และยังเป็นวันหยุดเสาร์ด้วย ทำให้สาธุชน และบรรดาข้าราชการ ศิลปิน ดารา นักร้อง ที่ทราบข่าวต่างเดินทางมาป็นจำนวนมากเพื่อเข้าพิธี เป็นการเสริมสร้างความเป็นศิริมงคล





สำหรับพิธีดังกล่าวนั้น จัดขึ้นที่บริเวณข้างเมรุ ลานกว้างทางขึ้นศาลาการเปรียญ ซึ่งบรรจุผู้คนได้ 1,000 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้คนเดินทางมาเข้าพิธีมากจนทางวัดต้องขยายพื้นที่ไปยังใตัถุนศาลาการเปรียญ และยังต้องขยายไปที่ลานไถ่ชีวิตโคกระบือรองรับสาธุชนอีกกว่า 3,000 คน

โยงสายสิญจน์จากที่ประกอบพิธี เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธีนั้นโยงสายสิญจน์สีขาวไว้บนศีรษะผูกกับผ้ายันต์ท้าวเวสสุวรรณสีขาวเพื่อความเข้มขลัง ทำให้บรรยากาศคึกคักผู้คนที่เข้าพิธีถึงแม้จะนั่งตากแดดก็ยอม ส่วนด้านการจรจร รถติดยาวกว่า 3 กิโลเมตร ที่จอดรถแน่นขนัดจนต้องระบายรถไปจอดตามบ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ข้างเคียงวัด

ก่อนพิธีจะเริ่มขึ้นเหล่าศิลปิน ดารา นักร้อง รวมถึงบรรดาข้าราชการได้ทยอยกันเข้ามาภายในพิธี เช่น อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ, โบนัส อโณมา นักร้องศิลปินชื่อดังสังกัด แกรมมี่โกลด์ หรือ โบนัส บุณฑริกา และ ปาร์ค ภัทรพงศ์ นักร้องลูกทุ่งดัง แชมป์ลูกทุ่งไอดอลซีซั่น 4 พ.ต.อ.พายัพ โสธรางกูล ผกก.สภ.นคคชัยศรี เข้าร่วมพิธี

โดยไฮไลต์ที่สาธุชนต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ อาจารย์ธนิสร์ ได้เดินทางมาเป่าขลุ่ยถวายเทพเทวดาในงานนี้อีกด้วย






สำหรับพิธีเป่ายันต์เกราะเพชร พระครูยติธรรมานุยุติ เป็นผู้ประกอบพิธีด้วยตน โดยมีพราหมณ์หลวงเป็นผู้กล่าวองค์การบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน เพื่อความเข้มขลัง ตามตำรับโบราณของ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ต้นตำรับยันต์เกราะเพชร มีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ที่มีขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

หากผู้ที่ได้เข้าพิธีจะช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งอัปมงคลที่อยู่ในร่างกาย ล้างอาถรรพ์ สลายสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคภัย ไข้เจ็บ โดนคุณไสยต้องเสน่ห์มนต์ดำ จะมลายหายไป และเป็นการเสริมบารมี

บางรายเกิดอาการกรีดร้องคำราม ไม่รู้สึกตัว บ้างคล้ายลิง หนุมาน บ้างคล้ายเสือคำราม บางรายเป็นฤาษี คนแก่มีอายุมาก บังคับตัวเองไม่ได้ พระเกจิที่เข้าร่วมพิธีต้องประพรมน้ำมนต์ให้อยู่ในอาการสงบด้วย ตามความเชื่อ ผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ จะทำให้แคล้วคลาดปลอดจากภยันตราย ขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกไป








หลังเสร็จสิ้นหลวงพ่อแป๊ะได้ประพรมน้ำมนต์และเจิมหน้าผากให้ เพื่อความเป็นศิริมงคลให้กับผู้เข้าพิธีทุกคน แต่ยังมีสาธุชนที่เดินทางมาไกลจากจังหวัดต่าง ๆ ยังมารอขอให้หลวงพ่อแป๊ะเจิมอักขละยันต์หลังมือให้ด้วยนับร้อยคนในจำนวนนี้เหล่าศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง ต่างก็เข้าเจิมยันต์ด้วย

ที่สาธุชนและบรรดานักเล่นตัวเลขต่างก็เฝ้ารอดูว่า หลวงพ่อแป๊ะจะให้โชคลาภกับใคร โดยก่อนที่ศิลปินจะเดินทางกลับ หลวงพ่อแป๊ะได้เรียกอาจารย์ธนิสร์, โบนัส อโณมาเข้าพบพร้อมกับให้พร

รวมถึงมอบธนบัตรขวัญถุง ฉบับละ 1,000 บาท ผูกไว้ที่ขลุ่ยให้ โดยอาจารยธนิสร์ ได้เลขลงท้าย 3 ตัว 246 ส่วนโบนัส ได้เลขลงท้าย 134 ซึ่งเลขของศิลปินทั้งสองคน นั้นเหล่าเซียนตัวเลขต่างไปเหมาตามแผงหมดในพริบตา




Thank to : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8186963
ทุกทิศทั่วไทย | 14 เม.ย. 2567 - 15:10 น.
4  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วิเคราะห์เหตุปัจจัย ทำไมพม่าย้ายเมืองหลวง จาก “ย่างกุ้ง” ไป “เนปิดอว์” เมื่อ: เมษายน 14, 2024, 05:59:47 am
.



วิเคราะห์เหตุปัจจัย ทำไมพม่าย้ายเมืองหลวง จาก “ย่างกุ้ง” ไป “เนปิดอว์”

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้งไปยังเมืองเพียงมะนา (Pyinmana หรือ เปียงมะนา) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบน (Upper Sittang Valley) ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางทิศเหนือประมาณ 350 กิโลเมตร โดยให้เหตุผลว่าเมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของสหภาพพม่ามีความเหมาะสมทั้งทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 อันเป็นวันกองทัพ พม่า ราชธานีแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ตรงหมู่บ้านจั๊ตปเย (Kyatpyae) ทางด้านตะวันตกในเขตเมืองเพียงมะนาได้ถูกสถาปนาอย่างเป็นทางการโดยมีชื่อว่า กรุงเนปิดอว์ (Naypyidaw, Nay Pyi Taw หรือ เนปยีดอว์) ซึ่งแปลว่า บัลลังก์แห่งกษัตริย์ จากบริบทดังกล่าว เนปิดอว์ คือ ชื่อของเมืองหลวงแห่งใหม่ซึ่งถูกรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารพม่า ในขณะที่เพียงมะนา คือ ชื่อของเมืองและเขตการปกครองอันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงกล่าวโดยรวมแล้ว ราชธานีแห่งใหม่ของพม่ามีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า นครเพียงมะนา เนปิดอว์

สำหรับสาเหตุของการสถาปนาศูนย์อำนาจแห่งใหม่และลักษณะทางกายภาพของเมืองหลวงพม่านั้นจัดว่ามีรายละเอียดและประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ทำไมพม่าต้องย้ายเมืองหลวง.?

การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนาจัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่าที่ประกอบด้วยแรงผลักดันหลากหลายประการตลอดจนได้รับอิทธิพลจากหลักนิยมทางการทหารและสภาวะแวดล้อมของระบบโลกยุคหลังสงครามเย็นซึ่งส่งผลให้นครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงและฐานอำนาจของรัฐบาลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการทหาร โดยต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอรวบรวมและวิเคราะห์เหตุปัจจัยว่าด้วยการย้ายเมืองหลวงของรัฐพม่าผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการอย่างเป็นระบบเพื่อฉายภาพการวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกและรอบด้านโดยแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก 9 ปัจจัยย่อย ดังต่อไปนี้

@@@@@@@

1. การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร

รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สภาสันติภาพและพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council-SPDC) ได้ขึ้นครองอำนาจต่อจากระบอบเนวินผ่านการทำรัฐประหารและเข่นฆ่าประชาชนตลอดจนปฏิเสธการคืนอำนาจทางการปกครองให้กับนางอองซาน ซูจี หลังการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลทหารพม่าได้ให้น้ำหนักกับการสร้างเอกภาพทางการเมืองและการขยายแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพและระบอบเผด็จการ

นอกจากนี้กลุ่มคณะทหารยังได้หวาดระแวงภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ เช่น การลุกฮือของประชาชนในเขตนครย่างกุ้งซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) การขยายกำลังพลของชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนเพื่อทำสงครามต่อต้านรัฐบาล ตลอดจนการโจมตีจากมหาอำนาจตะวันตกเพื่อล้มระบอบทหารในปัจจุบัน



ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1988 นางอองซานซูจี ปราศรัยต่อต้านระบอบทหารในกรุงย่างกุ้ง (Photo by AFP / AFP FILES / AFP)

ผลจากความกังวลใจดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มรัฐบาลทหารดำเนินนโยบายรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ขยายระบบสายลับเพื่อขจัดศัตรูทางการเมือง ตลอดจนนำหลักนิยมและระบบสายบังคับบัญชาทางการทหารเข้ามาประยุกต์ใช้กับการดำเนินนโยบายสาธารณะ โดยหากยังมีบริเวณใดที่อำนาจการควบคุมของรัฐบาลยังเข้าไปไม่ถึง หรืออำนาจของรัฐบาลในนครย่างกุ้งเริ่มเกิดความผันผวนระส่ำระสาย หรือทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงเสี่ยงต่อการโจมตีจากศัตรูภายนอก การย้ายเมืองหลวงไปยังทำเลที่มีความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์จึงจัดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อสถาปนาศูนย์อำนาจทางการเมืองและการทหารที่เข้มแข็งและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

สำหรับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายเมืองหลวงนั้นสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

1.1 ภัยคุกคามจากการลุกฮือของประชาชน

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันมีความเชื่อว่าการแบ่งสันอำนาจให้กับประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ของพลเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและอาจนำมาซึ่งการล่มสลายของสหภาพพม่า ตลอดจนคุกคามการถือครองอำนาจของกลุ่มคณะทหาร จากบริบทดังกล่าว นครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เนื่องจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ที่พัดพาเอาแนวคิดประชาธิปไตยและวัฒนธรรมการเมืองแบบตะวันตกตลอดจนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายเครือข่ายทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยทำให้อำนาจที่เข้มแข็งและมีเอกภาพของกลุ่มคณะทหารเริ่มมีลักษณะเปราะบางและกระจัดกระจายมากขึ้น

ประกอบกับประวัติศาสตร์การเมืองของนครย่างกุ้งยังเต็มไปด้วยการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล เช่น เหตุการณ์ประท้วงปี พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลเนวิน เหตุการณ์ 8888 (8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 โดยกลุ่มประชาชนเพื่อขับไล่และโค่นล้มระบอบเผด็จการอันนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาตร์พม่า หรือเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2539 โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งเพื่อขับไล่คณะทหารและเรียกร้องการคืนอำนาจทางการเมืองให้กับนางอองซาน ซูจี

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มคณะทหารมีความกังวลใจเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองและหวาดระแวงต่อการลุกฮือของประชาชนซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยฉับพลันและสร้างความระส่ำระสายให้กับอำนาจของรัฐบาล โดยคณะผู้นำทหารต่างมีความเชื่อว่าพลังเงียบของประชาชนและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยล้วนฝังรากลึกและขยายเครือข่ายทางการเมืองทั่วเขตเมืองย่างกุ้ง ประกอบกับสถานที่ราชการและค่ายทหารบางแห่งล้วนตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นและอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการของสถานทูตตะวันตกและองค์กรระหว่างประเทศโดยลักษณะภูมิทัศน์ดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกปิดล้อมจากประชาชนหากมีการประท้วงทางการเมืองหรือเสี่ยงต่อการถูกจารกรรมข้อมูลจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ดังนั้นการย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองไปยังเพียงมะนา เนปิดอว์ เพื่อการจัดวางโครงสร้างผังเมืองและระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเป็นระบบจึงเป็นการลดความกังวลใจทางการเมือง ถอยห่างจากวงปิดล้อมของประชาชนในนครย่างกุ้ง ตลอดจนเพิ่มสมรรถนะในการเคลื่อนกำลังพลและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีการจลาจลเกิดขึ้น

1.2 ภัยคุกคามจากการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย

ประวัติศาสตร์ พม่า จัดเป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าพม่าแท้กับชนกลุ่มน้อยโดยมีการทำสงครามขับเคี่ยวยื้อแย่งดินแดนตั้งแต่สมัยจารีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การทำสงครามระหว่างพม่ากับอาณาจักรมอญและกลุ่มเจ้าฟ้าไทยใหญ่ หรือการที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงถูกเกณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษเพื่อกดขี่ชาวพม่าในสมัยอาณานิคม

สำหรับในมุมมองของรัฐบาลทหารพม่านั้นชนกลุ่มน้อยจัดเป็นชนชายขอบและเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลทหารจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแผ่อำนาจควบคุมดินแดนชนกลุ่มน้อยโดยถึงแม้จะมีการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังของชนเผ่าต่าง ๆ แต่ก็ยังคงหลงเหลือ 3 กองกำลังหลักที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลกลางซึ่งประกอบด้วย กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ (Shan State Army-SSA) กองกำลังกะเหรี่ยงคริสต์ (Karen National Union-KNU) และกองกำลังแห่งชาติคะเรนนีย์ (Karenni National Progressive Party) โดยกองกำลังทั้ง 3 ฝ่ายล้วนมีฐานที่มั่นอยู่ตรงบริเวณชายแดนตะวันออกติดกับประเทศไทย

ในส่วนของการย้ายเมืองหลวงนั้น หากพิจารณาจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จะพบว่าถึงแม้เมืองเพียงมะนาจะตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศแต่ก็มีอาณาเขตชนแดนชนกลุ่มน้อยทั้ง 3 กลุ่มซึ่งการย้ายเมืองหลวงไปยังบริเวณดังกล่าวย่อมส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลมีความเข้มข้นและสามารถควบคุมชนกลุ่มน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าเมืองเพียงมะนาอาจถูกโจมตีจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยแต่หากพิจารณาจากสมรรถนะทางการทหาร… จะพบว่ากองทัพพม่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์และจำนวนกำลังพลมากกว่ากองกำลังทั้ง 3 ฝ่าย



กองกำลัง Shan State Army (SSA) ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2006 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจึงเป็นผลดีต่อรัฐบาลมากกว่าชนกลุ่มน้อยตลอดจนเป็นยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มคณะทหารเพื่อแผ่กระจายอำนาจให้เข้าถึงทั้งดินแดนตอนกลางและดินแดนชายขอบ ในขณะเดียวกันนครย่างกุ้งก็มีจุดอ่อนตรงที่อยู่ห่างไกลจากฐานที่มั่นของชนกลุ่มน้อยและไม่ได้ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศซึ่งทำให้อำนาจที่แผ่ออกจากเมืองหลวงมีความเบาบางแปรผันไปตามระยะทาง

ดังนั้นการสถาปนาเมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ในเขตทับซ้อนระหว่างดินแดนของกลุ่มชนชาติพม่าแท้แถบภาคมัณฑะเลย์ มาเกว (Magway) และบาโก (Bago) กับดินแดนของชนกลุ่มน้อยแถบรัฐฉาน กะเหรี่ยง และคะยาห์ จะส่งผลให้ปริมณฑลของอำนาจที่แผ่กระจายออกจากเมืองหลวงมีความเข้มข้นและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

1.3 ภัยคุกคามจากการรุกรานทางทะเลของสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลทหารพม่ามีความเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางการเมืองโลกที่ต้องการโค่นล้มระบอบเผด็จการและเปลี่ยนแปลงพม่าไปสู่ประเทศประชาธิปไตยหากมีช่วงจังหวะที่เหมาะสม โดยความกังวลใจเกี่ยวกับการโจมตีจากสหรัฐอเมริกาเริ่มก่อตัวขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ประท้วงในปี พ.ศ. 2531 เมื่อมีการปรากฏตัวของเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐในเขตน่านน้ำพม่าบริเวณอ่าวเมาะตะมะ นอกจากนี้หลังจากการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช สหรัฐอเมริกาได้ประณามรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่องตลอดจนออกรัฐบัญญัติว่าด้วยอิสรภาพและระบอบประชาธิปไตยพม่า (Burmese Freedom and Democratic Act of 2003) โดยมีเนื้อหาสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยและอนุมัติงบประมาณฟื้นฟูพม่าหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ…

จากบริบทดังกล่าว ทำเลที่ตั้งของนครย่างกุ้งจัดว่ามีความเสี่ยงต่อการรุกรานทางทะเลซึ่งสามารถถูกยึดครองโดยกองทัพเรือต่างชาติในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนาจึงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการใช้ภูเขาเป็นปราการในการรับศึกตลอดจนเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการตั้งรับเพื่อทำสงครามกองโจรระยะยาว

โดยหากวิเคราะห์ตามหลักภูมิยุทธศาสตร์ (Geo-Strategy) จะพบว่าหากมีสงครามเกิดขึ้นจริงสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องส่งกองกำลังนาวิกโยธินเข้าปฏิบัติการในเขตภาคพื้นทวีปเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารและแสดงชัยชนะที่เด็ดขาดคล้ายคลึงกับปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งมีการวางกำลังเรือรบในอ่าวเปอร์เซียแล้วส่งกองทหารราบเข้ายึดครองเมืองหลวง

จากกรอบแนวคิดดังกล่าวการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจะทำให้กองทัพพม่ามีโอกาสต้านทานการรุกรานได้มีประสิทธิภาพกว่าการตั้งรับอยู่ในเขตย่างกุ้งตลอดจนสะดวกต่อการได้รับความช่วยเหลือจากจีนผ่านเครือข่ายคมนาคมจากเมืองมัณฑะเลย์มุ่งตรงสู่เพียงมะนา นอกจากนี้การสถาปนาศูนย์บัญชาการภาคแห่งใหม่ในเขตเมืองหลวงยังเป็นการสะท้อนถึงการเลือกใช้กองทัพบกในการประจันหน้ากับศัตรูเนื่องจากกองทัพเรือของพม่ามีความอ่อนแอและเข้มแข็งน้อยกว่ากองทัพบก

@@@@@@@

2. การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน

ถึงแม้ว่าการรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหารจะมีอิทธิพลสำคัญต่อการย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุด แต่การดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนในก็จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในฐานะศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มคณะทหาร โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันได้เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบการตลาดเพื่อพัฒนาพม่าให้เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยตลอดจนนำเงินรายได้จากการขายทรัพยากรจำนวนมหาศาลเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบเผด็จการ

จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารได้กำหนดให้บริเวณตอนใต้ของภาคมัณฑะเลย์ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบนเป็นดินแดนหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเกษตรกรรมในเขตลุ่มน้ำอิรวดีและเครือข่ายการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้และพลังงานน้ำจากเขื่อนในเขตลุ่มน้ำสาละวิน แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาในประเทศพม่าก็ยังจัดว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของระบอบทหาร ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนและแร้นแค้น สำหรับประเด็นการวิเคราะห์เพิ่มเติมนั้นจัดว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

2.1 การขยายตัวของการพัฒนาทางการเกษตร

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันได้ดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนเขตแล้งทางตอนกลางของประเทศให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว (Green Area) โดยการขยายเครือข่ายชลประทานครอบลุ่มน้ำสำคัญ เช่น ลุ่มน้ำอิรวดี ลุ่มน้ำสะโตง ลุ่มน้ำมู และลุ่มน้ำมิตแหง่เพื่อพลิกฟื้นแผ่นดินอันแห้งแล้งและรกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นแปลงเพาะปลูกทางการเกษตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดพรมแดนทางการเกษตรในเขตภาคพื้นทวีปแล้วยังเป็นการจัดตั้งเครือข่ายผลิตเสบียงอาหารให้กับค่ายทหารของกองทัพบก ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเขตพม่าภาคกลาง

จากกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้เลือกพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเพียงมะนาแถบลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบนให้เป็นดินแดนหัวใจของการพัฒนาเกษตรกรรม เนื่องจากประกอบด้วยสถานีวิจัยและสถาบันที่มีชื่อเสียงทางการเกษตร รวมถึงเป็นที่ตั้งของเขื่อนสำคัญหลายแห่ง เช่น เขื่อนปองลอง (Paungloung) และเขื่อนเยซิน (Yezin) ตลอดจนมีเครือข่ายชลประทานที่เชื่อมต่อกับลุ่มน้ำอิรวดีและอยู่ไม่ไกลจากลุ่มน้ำสาละวินในเขตที่ราบสูงฉาน

นอกจากนี้การสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของประชากรในสภาวะสมดุลซึ่งเป็นนโยบายที่คล้ายคลึงกับการย้ายเมืองหลวงจากอิสตัลบูล (Istanbul) ไปอังการา (Ankara) ของประเทศตุรกี และจากลากอส (Lagos) ไปอาบูจา (Abuja) ของประเทศไนจีเรีย โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ย้ายเมืองหลวงเพื่อลดความหนาแน่นของประชากรในเขตชายฝั่งทะเลและเพิ่มจำนวนประชากรในเขตพื้นที่ตอนใน

สำหรับในกรณีของพม่านั้นจะเห็นว่าประชากรส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่หนาแน่นในเขตพม่าตอนล่างแถบเมืองย่างกุ้งและเมาะลำไย (Moulmein) และเขตพม่าตอนบนแถบเมืองเมฆถิลาและมัณฑะเลย์ ซึ่งส่งผลให้บริเวณชายขอบด้านใต้ของเขตแล้งพม่า (Southern Edge of the Dry Zone) มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ค่อนข้างเบาบาง

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงมายังบริเวณดังกล่าวผสมผสานกับการจัดตั้งเครือข่ายทางการเกษตรจึงส่งผลให้ประชากรจากทั้ง 2 ภูมิภาคอพยพเข้าสู่เขตปริมณฑลของเมืองหลวงแห่งใหม่มากขึ้นอันนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของรัฐบาลในการคุมพม่าภาคกลาง ตลอดจนยังเป็นการเพิ่มความเข้มข้นให้กับการตั้งถิ่นฐานของชาวพม่าเพื่อแผ่อิทธิพลเข้าดูดกลืนและครอบงำชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนตะวันออก



กองทัพพม่าสวนสนามในเมืองเพียงมะนา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2006 (Photo by KHIN MAUNG WIN / AFP)

2.2 การขยายตัวของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน

นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา รัฐบาลทหารพม่าได้ขยายโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบริเวณเขตที่ราบและเขตภูเขาตามแนวชายแดนเพื่อรองรับการขยายตัวของยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตอนในตลอดจนนำรายได้เข้าบำรุงกองทัพเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบทหาร เช่น การสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใต้ดินทางฟากตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี แหล่งเหมืองแร่ดีบุกและทังสเตนบริเวณรัฐฉานและคะยาห์ และแหล่งผลิตแร่ทองคำบริเวณยะแมตีง (Yamethin) ทางตอนเหนือของเพียงมะนา

โดยการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจัดว่าเป็นตัวสะท้อนถึงการแผ่อำนาจของรัฐบาลในการควบคุมทรัพยากรทั้งในเขตที่ราบและเขตภูเขาท่ามกลางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด สำหรับในส่วนของการพัฒนาพลังงานนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลทหารได้วางนโยบายลดการพึ่งพึงก๊าซธรรมชาติและหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนซึ่งจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจพม่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยเห็นได้จากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ครอบคลุมลุ่มน้ำอิรวดี สะโตง และสาละวิน

ซึ่งหากพิจารณาตามหลักภูมิเศรษฐศาสตร์จะพบว่าเมืองเพียงมะนาตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างลุ่มน้ำอิรวดีซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาทางการเกษตรและลุ่มน้ำสาละวินซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับประเทศไทยและจีน โดยในอนาคตเพียงมะนาจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการขยายเครือข่ายพลังงานครอบคลุมทั้ง 3 ลุ่มน้ำ ตลอดจนรองรับรายได้มหาศาลจากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแล้วยังทำให้กองทหารพม่าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงแห่งใหม่เข้ามาวางกำลังเรียงรายไปตามเครือข่ายพลังงานในเขตชายแดนตะวันออกเพื่อเปลี่ยนสนามรบให้เป็นอ่างเก็บน้ำตลอดจนครอบครองพื้นที่ป่าไม้ของกองกำลังชนกลุ่มน้อย

2.3 การขยายตัวของเครือข่ายคมนาคมขนส่ง

รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) มีความเชื่อว่าการมีระบบโครงข่ายถนนที่โยงใยไปทั่วภูมิภาคจะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งให้กับประเทศ จากแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลทหารได้จัดสร้างเครือข่ายถนนวงแหวนเพื่อเชื่อมโยงหัวเมืองต่าง ๆ ในเขตภาคพื้นทวีปอย่างเป็นระบบ โดยเห็นได้จากการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดีจำนวนหลายแห่ง ตลอดจนการสร้างทางด่วนสายมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อหัวเมืองต่าง ๆ ทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ ยกตัวอย่างเช่น ทางด่วนจากย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์ ตองอูไปยะแมตีง และเพียงมะนาไปพินลวง (Pinlaung)

จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศตลอดจนเป็นชุมทางรถไฟและศูนย์รวมของถนนสายต่าง ๆ ย่อมทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจในการเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศตลอดจนเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็วหากมีศึกสงครามทั้งภายในและภายนอก ในขณะเดียวกัน ระบบเครือข่ายถนนในประเทศพม่ายังมีการเชื่อมโยงกับทางหลวงสายเอเชีย (Trans Asian Highway) ซึ่งส่งผลให้ประเทศพม่ากลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลจากการขยายตัวของทางหลวงสายเอเชียได้ส่งผลให้เมืองเพียงมะนาในอนาคตกลายเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในแนวดิ่งที่เชื่อมโยงหัวเมืองตอนใต้ของจีนและมัณฑะเลย์เข้ากับนครย่างกุ้งและท่าเรือสำคัญในอ่าวเมาะตะมะ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในแนวระนาบที่เชื่อมโยงหัวเมืองตะวันออกของอินเดียและรัฐอาระกันเข้ากับหัวเมืองชายแดนในเขตที่ราบสูงฉานและตัดเข้าสู่ประเทศลาว ไทย และเวียดนาม

ดังนั้นการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในเขตเมืองเพียงมะนาจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึกของรัฐบาลทหารพม่าเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบการขนส่งภาคพื้นทวีปตลอดจนเสริมสร้างสมรรถนะของรัฐบาลในการเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

@@@@@@@

3. การสร้างเอกภาพทางสังคมและวัฒนธรรม

รัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน (พ.ศ. 2550 – กองบก.ออนไลน์) ได้ดำเนินนโยบายเพื่อที่จะสถาปนาเอกภาพทางจิตวิญญาณให้กับระบอบทหารและสหภาพพม่า (Union Spirit) โดยเห็นได้จากการปลุกระดมลัทธิราชาชาตินิยม (Monarchical Nationalism) เพื่อหวนกลับไปหาความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิพม่ายุคโบราณ การปลุกระดมลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก เพื่อผลักดันการแทรกแซงจากต่างชาติและสร้างความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์ การดำเนินโครงการบูรณปฏิสังขรณ์กลุ่มโบราณสถานและราชธานีเก่าเพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนการใช้หลักโหราศาสตร์ในการประกอบพิธีสำคัญระดับชาติเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์และโน้มน้าวให้ประชาชนมีความศรัทธาในตัวผู้นำ

สำหรับการย้ายเมืองหลวงนั้นจัดเป็นส่วนหนึ่งของจารีตโบราณและเป็นสัญลักษณ์แห่งการเบิกยุคใหม่เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศตลอดจนเป็นการประกาศอำนาจของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วย ในฐานะผู้ปกครองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบารมีทางการเมือง จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้ประยุกต์ใช้ธรรมเนียมราชสำนักโบราณ หลักโหราศาสตร์ และลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตกเพื่อปรุงแต่งและเติมเต็มให้กระบวนการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นตามโลกทรรศน์พม่า โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้



ภาพถ่ายกรุงย่างกุ้งเมื่อ ค.ศ. 1945

3.1 การปรับใช้และดัดแปลงธรรมเนียมราชสำนักโบราณ

หลังจากเหตุการณ์ประท้วงปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลทหารพม่าได้รื้อฟื้นประเพณีราชสำนักโบราณตลอดจนลอกเลียนแบบพฤติกรรมของกษัตริย์พม่าในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันกองทัพให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสถาบันกษัตริย์ในยุคจารีต ยกตัวอย่างเช่น การยกยอดฉัตรเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สำคัญต่าง ๆ การบูรณะกลุ่มราชธานีเก่า เช่น พุกาม ตองอู อังวะ และหงสาวดี ตลอดจนการครอบครองช้างเผือกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราชและเป็นเครื่องประดับบารมีของกษัตริย์พม่าในอดีต

จากสภาวะดังกล่าว การย้ายเมืองหลวงไปยังนครเนปิดอว์ซึ่งแปลว่าบัลลังก์แห่งกษัตริย์นั้นจัดว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความพยายามของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วยในการประกาศตัวเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นกับกษัตริย์พม่าโบราณ ตลอดจนเป็นการสร้างชื่อในประวัติศาสตร์เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่าประกาศย้ายเมืองหลวงหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ

นอกจากนี้แหล่งข่าวในพม่ายังกล่าวว่าประชาชนบางกลุ่มถูกบังคับให้เดินโดยเท้าเปล่าจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ ซึ่งคล้ายคลึงกับไพร่ราบของกษัตริย์พม่าในอดีต ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุดจึงสะท้อนถึงการปรับใช้และดัดแปลงธรรมเนียมราชสำนักโบราณตลอดจนแสดงถึงมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในระบบความคิดและโลกทรรศน์ของผู้นำพม่าคนปัจจุบัน (พลเอกอาวุสโสตันฉ่วย – กองบก.ออนไลน์)

3.2 การปรับใช้และดัดแปลงหลักโหราศาสตร์

กรณีการย้ายเมืองหลวงในปัจจุบันนั้น แหล่งข่าวลือในพม่ามีความเชื่อว่าโหราจารย์ประจำตัวพลเอกอาวุสโสตันฉ่วยได้ทำนายว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ปี พ.ศ. 2548 ดาวประจำตัวของผู้นำพม่าเริ่มอับแสงอันส่งผลให้บัลลังก์แห่งอำนาจเริ่มสั่นคลอนโดยหนทางเดียวที่จะรักษาการดำรงอยู่ของระบอบทหารคือการย้ายเมืองหลวงออกจากนครย่างกุ้ง

นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2547 เขตปกครองย่างกุ้ง (Yangon Division) และเมืองต่าง ๆ ในเขตพม่าตอนล่างยังได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียซึ่งทำให้ยอดฉัตรของมหาเจดีย์ Mawdinsoon ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขตย่างกุ้งหักพังทลายลงมา ซึ่งส่งผลให้คนพม่าทั่วไปมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวคือสัญลักษณ์แห่งลางร้ายที่เข้าคุกคามนครย่างกุ้ง

ตลอดจนตามประวัติศาสตร์การเมืองของพม่านั้น การเกิดแผ่นดินไหวมักจะตามมาด้วยการลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น การเกิดแผ่นดินไหวในเมืองพุกาม ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งตามมาด้วยการเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานเพื่อต่อต้านรัฐบาล หรือการเกิดแผ่นดินไหว 6.8 ริคเตอร์ แถบชายแดนพม่า-อินเดียซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงโค่นล้มระบอบเนวิน ในปี พ.ศ. 2531 ดังนั้นปัจจัยทางโหราศาสตร์จึงมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและเหตุการณ์สำคัญระดับชาติซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้พลเอกอาวุสโสตันฉ่วยตัดสินใจย้ายเมืองหลวงออกจากย่างกุ้ง

สำหรับการปรับใช้และดัดแปลงหลักโหราศาสตร์นั้น สามารถเห็นได้จากการประกาศโยกย้ายข้าราชการออกจากนครย่างกุ้งเวลา 6 นาฬิกา 37 นาที เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน (เดือน 11)  ปี พ.ศ. 2548 โดยรถบรรทุกจากหน่วยงานทหารจำนวน 1,100 คัน ได้เคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนกลุ่มข้าราชการพลเรือนจำนวน 11 กอง และข้าราชการทหารอีก 11 กอง มุ่งตรงสู่เมืองเพียงมะนา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเลข 6 คือเลขนำโชคของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วย และเลข 11 คือเลขมงคลที่สัมพันธ์กับดวงเมืองของราชธานีแห่งใหม่

3.3 การปรับใช้และดัดแปลงลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก

ความขมขื่นจากประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมและการพังทลายของจักรวรรดิพม่านับตั้งแต่กองทัพอังกฤษ-อินเดียยาตราทัพเข้าเหยียบย่ำราชธานีมัณฑะเลย์ ยังคงอยู่ในความทรงจำของกลุ่มผู้นำทหารซึ่งยังคงยึดติดอยู่กับลัทธิชาตินิยมและการเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพในฐานะผู้ปกป้องมาตุภูมิจากกองกำลังต่างชาติ ยุทธศาสตร์การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจัดเป็นหนึ่งในกระบวนการต่อต้านและปลดแอกออกจากลัทธิอาณานิคม (Decolonization)

โดยหากพิจารณาตามกรอบประวัติศาสตร์และความผันผวนของระบบโลกจะพบว่า นครย่างกุ้งไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงของพม่าตามมุมมองของกลุ่มคณะทหาร เนื่องจากถูกสถาปนาโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษผู้ปล้นเอกราช ตลอดจนเคยเป็นฐานทัพที่กองทัพอังกฤษใช้เป็นหัวหาดในการขยายอิทธิพลเข้ายึดราชธานีมัณฑะเลย์ ดังนั้นกรุงย่างกุ้งจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอัปยศอดสูในประวัติศาสตร์พม่า ประกอบกับย่างกุ้งยังไม่ได้ตั้งอยู่ในดินแดนหัวใจของวัฒนธรรมพม่าแถบลุ่มน้ำอิรวดีและสะโตง แต่ในทางตรงข้ามกลับตั้งอยู่บริเวณชายขอบในเขตพม่าตอนล่างซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลของมอญและเป็นศูนย์กลางทางการค้าเพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้กับกองทัพอังกฤษ

ในขณะเดียวกันการถาโถมของวัฒนธรรมตะวันตกที่มาพร้อมกับการขยายตัวทางการค้ารอบอ่าวเมาะตะมะได้ส่งผลให้ลัทธิอาณานิคมสมัยใหม่ (Neo-Colonialism) เริ่มก่อตัวคุกคามอำนาจของรัฐบาลทหารตลอดจนวิถีชีวิตโดยรวมของชาวพม่าในเขตย่างกุ้งประกอบการเริ่มมีตึกระฟ้าสมัยใหม่ผุดขึ้นกลางเมืองเคียงคู่กับกลุ่มอาคารสมัยอาณานิคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งลักษณะทางภูมิทัศน์ดังกล่าวได้ส่งผลให้นครย่างกุ้งคือจุดหลอมรวมของมรดกจากยุคอาณานิคมและการแพร่กระจายของลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ (Neo-Imperialism)

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนาจึงเป็นการถอยห่างจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกและเป็นการสถาปนาศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ท่ามกลางความผันผวนของระบบโลกยุคหลังสงครามเย็น
5  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ไฟไหม้โบสถ์วัดพระธาตุบังพวน วัดคู่บ้านคู่เมืองหนองคายเสียหายทั้งหลัง! เมื่อ: เมษายน 14, 2024, 05:41:30 am
.



ไฟไหม้โบสถ์วัดพระธาตุบังพวน วัดคู่บ้านคู่เมืองหนองคายเสียหายทั้งหลัง.!

เกิดเหตุเพลิงไหม้โบสถ์ วัดพระธาตุบังพวน วัดคู่บ้านคู่เมืองหนองคายเสียหายทั้งหลัง พบบุคคลต้องสงสัยเป็นคนวิกลจริต

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา  ร.ต.ท.หญิง นาถอนงค์ โพธิสาร รอง สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองหนองคาย รับแจ้งเหตุไฟไหม้โบสถ์ ภายในวัดพระธาตุบังพวน ต.พระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย หลังรับแจ้งจึงไปตรวจสอบ พร้อม พ.ต.อ.สกล สิทธิวิชัย รอง ผบก.ภ.จว.หนองคาย ,พ.ต.อ.ยุทธนา งามชัด ผกก.สภ.เมืองหนองคาย, นายอุรุยศ เอียสกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย ปลัดอำเภอเมืองหนองคาย และประสานรถดับเพลิงหลายคัน และประสานหน่วยกู้ภัยในพื้นที่ ลงไปยังจุดเกิดเหตุ

เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบกลุ่มควันจำนวนมากพวยพุ่งออกมาจากโบสถ์ โดยเพลิงลุกไหม้หลังคา พระสงฆ์ชาวบ้านช่วยกันดับเพลิงอยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ได้เร่งระดมฉีดน้ำเข้าไปไปภายในโบสถ์ ฉีดน้ำที่บริเวณหลังคาเพื่อควบคุมเพลิง ใช้เวลานานกว่า 40 นาที สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้




ทั้งนี้จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าเพลิงไหม้โบสถ์ถูกความร้อนทำให้สีของโบสถ์ลอกออก ส่วนพระประธานและพระพุทธรูปที่อยู่ในโบสถ์ถูกความร้อนของเพลิงที่ไหม้ทำให้ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ข้าวของภายในโบสถ์ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมด

สอบถามพระลูกวัดพระธาตุบังพวน เล่าว่า ขณะเกิดเหตุไม่มีใครอยู่บริเวณโบสถ์ มีชาวบ้านได้มาตะโกนบอกไฟไหม้โบสถ์จึงรีบวิ่งมาดู พบกลุ่มควันจำนวนมากพวยพุ่งออกมาจากโบสถ์ พระสงฆ์ชาวบ้านช่วยกันเอาถังดับเพลิง มาช่วยกันพยายามดับไฟแต่ไม่สามารถดับไฟได้ ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบ

ด้าน พ.ต.อ.ยุทธนา งามชัด ผกก.สภ.เมืองหนองคาย กล่าวว่า จากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่าภายในโบสถ์ซึ่งเป็นไม้ ไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ซึ่งต้องรอการสอบสวนหาสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่ในเบื้องต้นมีพยานเห็นบุคคลวิกลจริตป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุซึ่งต้องรอรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสอบสวนต่อไป ซึ่งได้กั้นพื้นที่เกิดเหตุไว้เพื่อรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบที่เกิดเหตุเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป





Thank to : https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/221543
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 13 เม.ย. 2567 ,08:37น.
6  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ศรัทธาแน่นวัด หลวงพ่อสิงห์ สรีระสังขารเหนือกาลเวลา 15 ปี ไม่เน่า ไม่เปื่อย เมื่อ: เมษายน 14, 2024, 05:35:41 am
.



ศรัทธาแน่นวัด หลวงพ่อสิงห์ สรีระสังขารเหนือกาลเวลา 15 ปี ไม่เน่า ไม่เปื่อย

ศรัทธาแน่นวัด ปิดทอง เปลี่ยนผ้าครอง หลวงพ่อสิงห์  1 ปี มีครั้งเดียว สรีระสังขารเหนือกาลเวลา 15 ปี ไม่เน่า ไม่เปื่อย

วันที่ 13 เม.ย.67 ที่วัดไผ่เหลือง ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงาน ลูกศิษย์แน่นวัด แห่ร่วมสักการะกราบไหว้ครู อาจารย์ ในเทศกาลปีใหม่ไทยหรือ วันสงกรานต์ 2567 เปิดโลงแก้วสรีระสังขาร หลวงพ่อสิงห์ อดีตเจ้าคณะตำบลบางม่วง และอดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่เหลือง ปิดทอง เปลี่ยนผ้าครอง




พระครูสมุห์สิทธิโชค อภินนฺโท เจ้าอาวาสวัดไผ่เหลือง กล่าวว่า ได้จัดให้มีการปิดทอง เปลี่ยนผ้าครอง หลวงพ่อสิงห์ เป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย เพื่อเป็นการระลึกนึกถึงครูอาจารย์ ผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา และเป็นผู้ที่ทำให้วัดมีความเจริญในทุกวันนี้ ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฎิบัติชอบ เป็นพระนักพัฒนา ที่มีลูกศิษย์มากมาย จากหลากหลายอาชีพ



ลูกศิษย์ที่นำธรรมะของหลวงพ่อไปปฏิบัติ แล้วได้ดี ประสบความสำเร็จ ก็กลับมาพัฒนาวัด กลับมาดูแลพุทธศาสนา แม้ว่าท่านจะละสังขารไปนานแล้ว แต่ลูกศิษย์ลูกหาก็ยังมากราบไหว้ ขอพรกันไม่ขาด ลูกศิษย์บางคนกลับไปมีโชคมีลาภ จึงทำให้มีการพูดถึงกันไปปากต่อปากอย่างกว้างขวาง

พระครูสมุห์สิทธิโชค อภินนฺโท กล่าวต่อว่า ในเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เชิญชวนประชาชน เข้าวัดทำบุญกราบขอพร 117 เกจิอาจารย์ สังขารเหนือกาลเวลา (ภาคกลาง) หลวงพ่อสิงห์ วัดไผ่เหลือง ท่านก็มีรายชื่อพระเกจิอาจารย์ สังขารเหนือกาลเวลาอยู่ด้วย




หลวงพ่อสิงห์ เกิดในสกุล วิระยะวงศ์ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2493 หมู่บ้านอองชุนนิ ประเทศเกาหลี บิดาชื่อ นายอนันต์ วิระยะวงศ์ เป็นอดีตทหารไทยที่ถูกส่งไปร่วมรบในสงครามเกาหลี มารดาเป็นชาวเกาหลี และเกิดที่ประเทศเกาหลี ท่านจึงเป็นลูกครึ่งไทย-เกาหลี

หลังบิดาเดินทางกลับประเทศไทย และอาศัยอยู่กับย่าที่ชุมชนหลังวัดบวรนิเวศวิหาร จนอายุได้ 15 ปี จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่กับครอบครัวแม่บุญธรรมใน อ.บางเลน จ.นครปฐม และได้มีโอกาสเข้าไปรับใช้พระราชธรรมาภรณ์ หรือหลวงพ่อเงิน อดีตพระเกจิอาจารย์ วัดดอนยายหอม ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ถ่ายทอดวิชาวิปัสสนากรรมฐาน การเจริญภาวนาสมาธิ





Thank to : https://www.amarintv.com/news/detail/214023
13 เม.ย. 67
7  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ”เสาร์ 5“ วันแรงตามตำราโบราณสายมู พลาดปีนี้รออีก 10 ปี ข้อห้ามไม่ควรทำ เมื่อ: เมษายน 13, 2024, 06:37:52 am
.



”เสาร์ 5“ วันแรงตามตำราโบราณสายมู พลาดปีนี้รออีก 10 ปี ข้อห้ามไม่ควรทำ

"เสาร์ 5" ตามตำราโบราณ หมายถึง วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินไทย ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67 โดยสายมูเชื่อว่าเป็นฤกษ์ ที่เสริมแรงครู ทำให้มีพิธีปลุกเสกเครื่องรางตามความเชื่อมาตั้งแต่อดีต ขณะเดียวกันก็แฝงนัย ข้อห้ามสำคัญที่หลายคนเข้าใจผิดมาตลอด ซึ่งถ้าสายมูพลาดปีนี้ต้องรออีก 10 ปีข้างหน้า

“อัมรินทร์ สุขสมัย” ผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์และไสยเวท กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า เสาร์ 5 เป็นคติความเชื่อตามตำราโบราณด้านไสยเวทอิงกับความรู้ด้านโหราศาสตร์ ซึ่งวันเสาร์ 5 หมายถึง วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินไทย ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67




“วันเสาร์ 5 ตามตำราโบราณถือเป็นวันแรงที่พระเกจิมักใช้วันนี้ในการทำพิธีกรรม เป็นวันที่เกิดขึ้นได้ยาก ในชีวิตคนหนึ่งคนอาจเกิดขึ้นแค่ 2 ครั้ง หรือครั้งเดียว จะเห็นว่าวัตถุมงคลที่เป็นฤกษ์เสาร์ 5 พระเกจิ 1 รูป อาจทำได้เพียง 1-2 ครั้งในชีวิต เพราะเป็นวันที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะกว่าฤกษ์เสาร์ 5 จะเวียนมาอีกครั้งต้องใช้เวลา 10-20 ปี แต่มีกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นฤกษ์เสาร์ 5 โดยอิงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ แต่ไม่ใช่เดือน 5 ตามปฏิทินไทย”

ฤกษ์เสาร์ 5 ความหมายด้วยวันเสาร์เป็นวันแข็ง การขึ้น 5 ค่ำ เป็นการอาศัยกำลังของดาวพฤหัสบดี ที่เป็นวันครู ส่วนเดือน 5 ตามแบบไทย มีความหมายถึงครู และตำราโบราณดาวพฤหัสบดี ถือเป็นครูของดาวนพเคราะห์ ดังนั้นดวงดาวที่เป็นตัวแทนครู จะเข้าไปลดทอนดวงดาวที่ทำให้ดวงชะตาสูญเสีย หรือดาวเคราะห์ที่ให้โทษ




ทางไสยเวท การทำพิธีกรรมในวันเสาร์ ถือเป็นวันแข็ง และพอขึ้น 5 ค่ำ ก็ได้อิทธิพลของวันครู บวกกับเดือน 5 แบบไทยที่เป็นวันครู จึงเหมาะที่จะประกอบพิธีกรรม เช่น ปลุกเสกวัตถุมงคล เชื่อว่า จะเพิ่มพูนฤทธิ์ให้ทบทวีมากขึ้น ซึ่งในอดีตใช้วันนี้ในการปลุกเสกเครื่องลาง เน้นความคงกระพัน แคล้วคลาด มากกว่าการเสริมเสน่ห์ หรือโชคลาภ

ยุคปัจจุบัน ฤกษ์เสาร์ 5 ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นทำพิธี เพื่อให้เกิดความคงกระพัน มาเป็นการเสริมสิริมงคลด้านการงาน มหาเสน่ห์ การค้าขาย และโชคลาภ แต่การประกอบพิธีกรรมในวันนี้ยังมีความเชื่อว่าจะทำให้พิธีมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าวันอื่น เป็นการเพิ่มคุณของวิชาให้มากขึ้นด้วยฤกษ์เสาร์ 5




ฤกษ์เสาร์ 5 ในวันเสาร์ที่ 13 เม.ย. 67 ตามตำราความเชื่อว่าการประกอบพิธีต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระอาทิตย์เริ่มขึ้น ไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน แต่ในทางไสยศาสตร์การประกอบพิธีกรรมบางครั้งใช้เวลายาวนาน เช่น ระหว่างทำพิธีเข้าสู่วันใหม่ จะมีการต่อฤกษ์ โดยผู้ประกอบพิธีมีการต่อมนต์ ที่ทำให้พิธียังไม่จบสิ้น

“ปกติฤกษ์เสาร์ 5 เป็นพิธีกรรมไสยศาสตร์ ไม่เกี่ยวโยงกับฤกษ์ปกติทั่วไป แต่ด้วยโลกปัจจุบันที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้หลายแห่งมีการจัดพิธีให้คนทั่วไปเข้าไปร่วมได้ เช่น พิธีพุทธาภิเษก มีการจัดขึ้นในวัด หรือสำนักต่างๆ และบางที่มีการเสริมชะตาหรือดวงในช่วงฤกษ์เสาร์ 5”




ข้อห้ามสำคัญในวันฤกษ์เสาร์ 5 ห้ามประกอบพิธีกรรมบูชาดาวเสาร์ เพราะเป็นดาวให้โทษ ไม่เคยให้คุณ ถ้ายิ่งไปบูชาในวันแรงยิ่งเพิ่มโทษ คติความเชื่อนี้สืบทอดมาจากอินเดีย ทำมาอย่างเคร่งครัด ถึงขนาดห้ามมองดาวเสาร์ เชื่อว่าจะให้โทษมากกว่าให้คุณ สิ่งสำคัญอย่าลืมว่าเรื่องคาถาอาคมเปรียบเสมือนมีด ที่ให้คุณกับคนใช้ในการนำไปใช้ปาดเพื่อใช้งาน แต่ขณะเดียวกันคมมีดก็สามารถปาดเนื้อเราได้



ที่ผ่านมามีพระเกจิหลายท่านใช้ฤกษ์เสาร์ 5 ปลุกเสกวัตถุมงคล เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา เช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

ฤกษ์เสาร์ 5 ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ถึงอย่างไรควรมีสติในการใช้ชีวิต ไม่ควรเชื่องมงาย จนส่งผลกระทบต่อชีวิตตัวเองและครอบครัว.





Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2777298
9 เม.ย. 2567 20:12 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > Interview > ไทยรัฐออนไลน์
8  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ๑๐ อันดับของสังฆทานที่ทำแล้ว พระสงฆ์ได้ประโยชน์มากที่สุด เมื่อ: เมษายน 12, 2024, 07:48:17 am
.



๑๐ อันดับของสังฆทานที่ทำแล้ว พระสงฆ์ได้ประโยชน์มากที่สุด

เนื่องจากในปัจจุบันนี้สิ่งของที่อยู่ในถังสังฆทานสำเร็จรูปที่วางขายกันอยู่ทั่วไป พบว่ามากกว่าร้อยละ ๕๐ เป็นของที่ไม่มี คุณภาพไม่สามารถใช้งานได้จริง เช่น

   - ผ้าจีวรที่สั้นและบางมาก
   - ใบชาที่มีกลิ่นเหม็น(บางครั้งใบชาถูกจัดวางไว้ติดกับผงซักฟอก จึงอาจมีกลิ่นของผงซักฟอกผสมอยู่ด้วย)
   - กระดาษชำระที่ไม่มีคุณภาพ เนื้อหยาบและมีกลิ่นเหม็น
   - แปรงสีฟันที่มีขนแปรงที่แข็งมาก จนอาจจะทำให้ผู้ใช้เป็นโรคเหงือกอักเสบได้
   - สบู่หรือแชมพูที่มีกลิ่นหอมแรงและผสมมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ ซึ่งอาจจะทำให้พระสงฆ์ผิดศีลต้องปลงอาบัติ (มีศีลข้อห้ามการประทินผิวและใช้เครื่องหอม)
   - เครื่องชงดื่มที่มักจะหมดอายุ
   - ถ่านไฟฉายหมดอายุแบตเตอรี่เสื่อม ฯลฯ
   - หรือแม้แต่ตัวภาชนะที่ใส่ก็ยังทำจากพลาสติกคุณภาพต่ำ ใส่อะไรได้ไม่นาน ก็ฉีก แตก พัง เป็นต้น




จึงได้มีการจัดอันดับสิ่งของสังฆทานตามความจำเป็นในการใช้งาน จำนวน ๑๐ อันดับ เรียงจากจำเป็นมากสุดไปน้อยที่สุดได้ ดังนี้

   ๑. เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ เนื่องจากพระต้องเรียนพระปริยัติธรรมและจดกำหนดนัดหมายต่าง ๆ
   ๒. ใบมีดโกน เนื่องจากพระต้องโกนผมทุกวันโกน
   ๓. ผ้าไตรจีวร ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับสมณะสงฆ์
   ๔. หนังสือธรรมะ สารคดี นิตยสารหรือที่ให้ความรู้ด้านอื่นๆ เนื่องจากพระสงฆ์มีหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
จึงต้องมีความรู้ที่แตกฉานและรู้ ทันข่าวสารบ้านเมือง
   ๕. รองเท้า พระต้องเดินทางไปกิจนิมนต์ตามที่ต่าง ๆ บางรูปต้องทำงานที่ใช้แรงงานในวัด เช่น ก่อสร้าง ทำสวนทำให้รองเท้ามักจะขาด และเสียหายอยู่บ่อย ๆ
   ๖. ยาสามัญประจำบ้าน ที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ยาแก้ไอ แก้ไข้ ลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาใส่แผลสด แผลเปื่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลพุพองเป็นหนอง ผิวหนังอักเสบเป็นหนอง
   ๗. ผ้าขนหนู ไม่ต้องสีเหลืองก็ได้เพื่อไว้สำหรับเช็ดทำความสะอาดร่างกาย
   ๘. คอมพิวเตอร์ เพื่ อสืบค้นและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
   ๙. อุปกรณ์ทำความสะอาด เพื่อนำไปทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค บริเวณกุฏิ ศาลา อุโบสถ
  ๑๐. แชมพู เพราะพระสงฆ์ไม่มีผมปกคลุม ทำให้หนังศีรษะของพระมักจะแห้ง และเกิดโรคผิวหนังอยู่เสมอ สิ่งที่จะช่วยบรรเทาได้ ก็คือ แชมพู ยาที่มีสูตรส่วนผสมดูแลปกป้องหนังศีรษะ






ขอขอบคุณ :-
บทความจาก : จุลสารหนังสือ อาหารสุขภาพพระสงฆ์ "บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา" หน้า 15-16
URL : https://e-book.dra.go.th/ebook/2566/health-food-for-monks/mobile/index.html
9  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / 40 ท่วงท่าลีลาสตรีเกี้ยวบุรุษ เมื่อหญิงแพศยาเย้ายวนพระสงฆ์สมัยพุทธกาล เมื่อ: เมษายน 12, 2024, 06:35:44 am
.

(ภาพประกอบเนื้อหา) จิตรกรรมภาพพระภิกษุ วัดบวรนิเวศวิหาร


40 ท่วงท่าลีลาสตรีเกี้ยวบุรุษ เมื่อหญิงแพศยาเย้ายวนพระสงฆ์สมัยพุทธกาล

ท่วงท่าลีลาสตรีเกี้ยวบุรุษ 40 ท่า มีที่มาจากคัมภีร์อรรถกถาชาดก เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ ซึ่งมารดาของพระสงฆ์รูปดังกล่าวต้องการให้สึกจากพระพุทธศาสนา จึงคิดว่าจ้างหญิงแพศยาให้ไปเกี้ยวพระสุนทรสมุทรเถระ

พระสุนทรสมุทรเถระ หรือสุนทรสมุทรกุมาร เดิมเป็นบุตรชายเกิดในตระกูลใหญ่อันมีสมบัติมหาศาล อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี วันหนึ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า บังเกิดความอุตสาหะจึงบรรพชาเป็นพระสงฆ์ แม้นบิดามารดาจะเห็นชอบให้บรรพชา แต่ก็สร้างความระทมให้ผู้เป็นมารดามาก

วันหนึ่ง หญิงแพศยาคนหนึ่งเห็นมารดาของพระสุนทรสมุทรเถระกำลังนั่งร้องไห้ สืบสาวราวเรื่องจึงทราบเหตุ จนปรึกษาหารือตกลงว่าจ้างหญิงแพศยานั้นไปออกอุบายล่อลวงให้พระสุนทรสมุทรเถระสึกเสีย หญิงแพศยาก็ออกอุบายเกลี้ยกล่อมต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะการแสดงกิริยา 40 ท่า เกี้ยวพระสุนทรสมุทรเถระ อันเป็นการเย้ายวนหวังให้เกิดกำหนัด รู้สึกปรารถนาในกามคุณ

ธาร ธรรมโฆษณ์ ประพันธ์กวีเกี่ยวกับกิริยาทั้ง 40 ท่า ไว้ดังนี้

@@@@@@@

เรื่องราวมีมาในชาดก   ขอหยิบยกมาเล่ากันเล่นเล่น
ลีลาหญิงเกี้ยวชายหลายประเด็น   ชี้ชัดชัดให้เห็นเป็นท่าไป
ท่าที่หนึ่ง ทำท่าสะบัดสะบิ้ง   เหมือนไม้หลักปักตลิ่งส่ายไหวไหว
ท่าที่สอง ก้มลงทำไฉไล   โก้งโค้งอยู่ใกล้ใกล้หมายให้ชม

ท่าที่สาม กรีดกรายเหมือนนักฟ้อน   นวยนาดอ่อนมือไม้ไม่อยู่สม
ท่าที่สี่ ชมดชม้อยตาปรือกลม   เหมือนลิงลมเอียงอายยั่วสายตา
ท่าที่ห้า เอาเล็บกรีดเล็บถู   นั่งแคะอยู่อย่างนั้นนานนักหนา
ท่าที่หก เหยียบเท้าทับไปมา   ให้ผู้ชายเห็นว่าตนเท้างาม

ท่าที่เจ็ด เอาไม้มาเขี่ยดิน   เหมือนวาดศิลป์ภาพสวยให้วาบหวาม
ท่าที่แปด อุ้มเด็กชูขึ้นตาม   แกว่งส่ายข้ามไปมา อวดทรวดทรง
ท่าที่เก้า อุ้มเด็กลดลงต่ำ   เม้มปากทำเป็นง้อล่อประสงค์
ท่าที่สิบ แกล้งเล่นหมายจำนง   ชี้ตนบ่งเป็นเด็กสาวเบิกบาน

ท่าสิบเอ็ด แกล้งยุให้เด็กเล่น   ทำเป็นวางกะเกณฑ์เน้นเสียงหวาน
ท่าสิบสอง จูบเด็กยิ้มสำราญ   เอาจมูกป้ายผ่านแก้มไปมา
ท่าสิบสาม ยื่นแก้มให้เด็กจูบ   เอาหน้าลูบแก้มเด็กหัวเราะร่า
ท่าสิบสี่ กินของเคี้ยวโอชา   ทำจุ๊บจั๊บปากกว่าจะได้กลืน

ท่าสิบห้า ยื่นของให้เด็กกิน   ป้อนค่อยค่อยยั่วลิ้นแกล้งขัดขืน
ท่าสิบหก ยื่นของให้เด็กยืน   ผ้าเช็ดหน้าหนึ่งผืนยื่นให้ไป
ท่าสิบเจ็ด เอาของจากเด็กคืน   ผ้าเช็ดหน้าที่ยื่นดึงกลับใหม่
ท่าสิบแปด ล้อเลียนเด็กแกว่งไกว   ทำมือไหวไปมาเหมือนล้อเลียน

ท่าสิบเก้า แกล้งพูดเสียงดังดัง   ไม่ยับยั้งดังข่มอารมณ์เปลี่ยน
ท่ายี่สิบ พูดเบาเสียงแผ่วเนียน  กำซาบถ้อยพจน์เลี่ยนเหมือนโอดคราง
ท่ายี่สิบเอ็ด พูดจาคำเปิดเผย   ห้าวห้าวเย้ยเปรยคำทำโผงผาง
ท่ายี่สิบสอง พูดล่อเป็นรางราง   กล่าวนัยอย่างสองแง่ ให้คิดเอา

ท่ายี่สิบสาม ทำท่าร่ายร้องรำ   นัยน์ตาฉ่ำทำส่ายกายกระเส่า
ท่ายี่สิบสี่ ร้องเพลงครวญเบาเบา  บ้างร้อนแรงเริงเร่าเร้าทำนอง
ท่ายี่สิบห้า ทำท่ากระซิกกระซี้   เหมือนกระดี่ได้น้ำกระโดดหนอง
ท่ายี่สิบหก จ้องตาทำเมียงมอง  เล่นตาจ้องจดจ่อล่อเชิงชาย

ท่ายี่สิบเจ็ด ส่ายสะเอวเป็นจังหวะ  ยั่วราคะชายชมสุขสมหมาย
ท่ายี่สิบแปด ไหวของลับประจำกาย  แลบล่อย้ายทรวงทรงนงเนื้อนวล
ท่ายี่สิบเก้า ถ่างขาอ้ากางออก   ให้ระลอกลมล่องของสงวน
ท่าสามสิบ หุบขาเหมือนเย้ายวน  ถ่างหุบให้ปั่นป่วนรัญจวนจินต์

ท่าสามสิบเอ็ด เปิดเสื้อให้เห็นนม   แบะเบิกบ่มบวบบุ๋มบีบถวิล
ท่าสามสิบสอง โชว์รักแร้ยอดโศภิน   ชูแขนเผยจนสิ้นไม่ปิดบัง
ท่าสามสิบสาม เปิดสะดือให้เห็นหลุม   โชว์เนื้อลุ่มกลางกายคล้ายบ่อขลัง
ท่าสามสิบสี่ ขยิบตาเคลิ้มภวังค์   เหมือนจะสั่งวาจาด้วยตาวาว

ท่าสามสิบห้า ยักคิ้วทำหลิ่วเหล่   เหมือนนักเลงเกเรยิ้มเหล่สาว
ท่าสามสิบหก เม้มปากเป็นเส้นยาว   เหมือนไม่อยากกินข้าว เจ้าลีลา
ท่าสามสิบเจ็ด แลบลิ้นออกมาเลีย   น้ำลายเยิ้มไหลเรี่ยริมโอษฐา
ท่าสามสิบแปด ทำทีเป็นเปลื้องผ้า   ให้วับวับวืดพาจะหลุดมือ

ท่าสามสิบเก้า เปลื้องผ้าทำนุ่งใหม่   ตบแต่งให้เข้าทรงเสียดื้อดื้อ
ท่าสี่สิบ สยายผมลมกระพือ   ทั้งหมดคือ ท่าหญิงใช้เกี้ยวชาย
เรื่องราวมีมาในชาดก   สาธกยกมาเขียนขยาย
อ่านเล่นเล่นหน้าร้อนนอนผ่อนคลาย   สาธยายนานแล้ว ขอจบเอย [1]


พระพุทธเจ้าทรงรับรู้เหตุการณ์ขณะที่หญิงแพศยากำลังเกี้ยวพระสุนทรสมุทรเถระ ก็ทรงเห็นกระจ่างชัดว่า “ความชนะจักมีแก่สุนทรสมุทร, ความปราชัยจักมีแก่หญิงแพศยา” [2]

อ่านเพิ่มเติม :-

    • สมัยพุทธกาล ภิกษุณี 2 รูป ถูกชายชั่วชวน “สังวาส”
    • สาวสมัยพุทธกาลเข้าใจผิด คิดว่าช่วยคลายกำหนัดให้พระแล้วจะได้บุญ
    • วัฒนธรรมโสเภณี แก้เหงาไม่เฉามือ..จากสมัยพุทธกาลถึงรัตนโกสินทร์








ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : เสมียนอารีย์
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 11 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 31 มกราคม 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_82345

อ้างอิง :-
[1] ธาร ธรรมโฆษณ์. (กุมภาพันธ์, 2547). ลีลาหญิงเกี้ยวชาย 40 ท่า. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 : ฉบับที่ 6.
[2] “เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ”. (2548). เข้าถึงเมื่อ 31 มกราคม 2565, จาก https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=36&p=32
10  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สิ้นแล้ว “สมณะโพธิรักษ์” เจ้าสำนักสันติอโศก ผู้นำกองทัพธรรม เมื่อ: เมษายน 12, 2024, 06:23:44 am
.



สิ้นแล้ว “สมณะโพธิรักษ์” เจ้าสำนักสันติอโศก ผู้นำกองทัพธรรม

MGR Online - สิ้นแล้ว “สมณะโพธิรักษ์” ผู้นำจิตวิญญาณสำนักสันติอโศก มรณภาพแล้ว ลูกศิษย์เศร้าโพสต์อาลัย

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 06.40 น. พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ (ชื่อเดิม มงคล รักพงษ์) เจ้าสำนักสันติอโศก ได้มรณภาพ ด้วยโรคชรา ในวัย 90 ปี

ทั้งนี้ มีรายงานว่า สมณะโพธิรักษ์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวารินชำราบ ด้วยอาการปอดอักเสบ และออกจาก รพ. กลับราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนจะมรณภาพ

@@@@@@@

กำหนดการพิธีเคลื่อนสรีรสังขาร "พ่อครูสมณะโพธิรักษ์"

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ละสังขาร ด้วยโรคชรา เวลา ๐๖.๔๐.๑๐ น.
ชาตะ : วันอังคาร ที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๗๗
มรณภาพ : วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๗
สิริอายุ : อายุ ๘๙ ปี ๑๐ เดือน ๖ วัน
อุปสมบท : วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ , ๕๓ พรรษา ๕ เดือน ๔ วัน

๑๐.๐๐ น. นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และนายแพทย์พงษ์พัฒน์ พิมพ์สะ แพทย์เจ้าของไข้ มากราบขอขมา
๑๐.๓๐ น. เคลื่อนสรีรสังขาร จาก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ไปยังบวรราชธานีอโศก
๑๑.๐๐ น. ถึงราชธานีอโศก ***ตั้งขบวนรับจากสะพานโค้งรุ้ง
๑๑.๓๐ น.พิธีบรรจุสรีรสังขารพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ลงหีบ โดยท่านสมณะ ณ ใต้เฮือนศูนย์สูญ




ประวัติโดยสังเขป

สมณะโพธิรักษ์ เดิมชื่อ มงคล รักพงษ์ ชื่อเล่นว่า แป๊ก เกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 บิดา คือ นายทองสุข แซ่โง้ว ถึงแก่กรรมเมื่อ ด.ช.มงคล อายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ ส่วนมารดาชื่อนางบุญโฮม รักพงษ์ ซึ่งได้แต่งงานใหม่กับ สิบโท บุญเฉย รักพงษ์ ด.ช.มงคลเป็นลูกคนเดียวของนายทองสุข ส่วนมารดามีลูกกับบิดาเลี้ยง 10 คน ลุงซึ่งเป็นนายแพทย์ประจําจังหวัดศรีสะเกษ ชื่อ นายแพทย์สุรินทร์ พรหมพิทักษ์ ขอไปเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก และต้องย้ายที่อยู่ต่อมา ขณะที่เด็กชายมงคลเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 2 ได้เกิดสงครามอินโดจีน ลุงจึงนํามาส่งคืนมารดาซึ่งทํางานอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี

ด.ช.มงคล มีความขยันหมั่นเพียรและมีความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเด็ก เดิมฐานะทาง บ้านดี เพราะมารดาค้าขายเก่ง แต่ต่อมามารดาถูกโกงและป่วยเป็นวัณโรค ทําให้ประสบปัญหาทางการเงิน ด.ช.มงคลจึงช่วยมารดาค้าขายเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว นอกจากนั้น ยังชอบขาย ของและหารายได้เอง และเมื่อเดินทางมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ก็ทํางานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 7 (มัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปัจจุบัน) จากโรงเรียนสีตบุตรบํารุง กรุงเทพฯ นายมงคลได้ไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่างในแผนกที่ตั้งใหม่คือแผนกวิจิตรศิลป์ โดยไม่ต้องสอบเข้า ระหว่าง พ.ศ. 2495-2500 จนจบการศึกษา และในขณะที่กําลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างปี 5 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น รัก รักพงษ์

@@@@@@@

เมื่อมารดาถึงแก่กรรม เป็นช่วงเวลาที่นายรัก รักพงษ์ จบการศึกษาเพาะช่างและได้เข้าทํางานที่บริษัทไทยโทรทัศน์จํากัด นายรัก รักพงษ์ได้รับภาระเลี้ยงดูและส่งเสียน้องทุกคนเรียนหนังสือ

นายรัก รักพงษ์ เริ่มทํางานที่บริษัทไทยโทรทัศน์ จํากัด เมื่อ พ.ศ. 2501 โดยเป็นนักจัดรายการ ซึ่งได้แก่รายการเด็ก รายการการศึกษา และรายการทางวิชาการต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นครูพิเศษสอนศิลปะตามโรงเรียนต่างๆ และมีงานประพันธ์ ทั้งสารคดี เรื่องสั้น บทกวี และบทเพลง ใช้นามปากกาแตกต่างกัน เช่น มงคล พงษ์มงคล, เกื้อ ปรียา และโบราณ สนิมรัก งานประพันธ์ที่ ทําให้มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ บทเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง “ผู้แพ้” ซึ่งประพันธ์ขึ้นสมัยที่เป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างระหว่าง พ.ศ.2497-2498 เป็นผู้ประพันธ์ทั้งคําร้องและทํานอง มีเนื้อ หาสาระแฝงคติธรรมในการต่อสู้ชีวิต และใช้นามผู้ประพันธ์ว่า รัก พงษ์มงคล

หลังจากนั้น รัก รักพงษ์ได้สนใจศึกษาเรื่องจิตทําให้หมกมุ่นอยู่กับไสยศาสตร์ไประยะหนึ่ง จนกระทั่งได้มีโอกาสศึกษาพุทธธรรมจนเกิดความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของพุทธศาสนาต่อการดํารงชีวิต ความสนใจในทางศาสนาทำให้นายรัก รักพงษ์ เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะหลายเล่ม โดยใช้นามปากกาว่า โพธิรักษ์ เช่น ชีวิตนี้มีปัญหา เป็นงานเขียนที่รวบรวมจากบทความต่างๆ ที่เขียนประจําในนิตยสาร “ดาราภาพ" กลางทะเลชีวิต เป็นหนังสือ รวมบทความจากที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร “สตรีสาร” และลําธารชีวิตเป็นหนังสือรวมบทความ จากที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร “ไทยโทรทัศน์”




ต่อมา นายรัก รักพงษ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตที่วัดอโศการาม จังหวัด สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 โดยมีอุปัชฌาย์ คือ พระราชวรคุณ และได้รับ ฉายาจากการอุปสมบทว่า “พระโพธิรักษ์” ซึ่งหมายถึง “ผู้รักษาความตรัสรู้” เป็นฉายาจากนามปากกาขณะที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมะเมื่อยังเป็นฆราวาส และได้ขออุปัชฌาย์ใช้นามนี้เป็นฉายา

หลังจากที่มีบุคคลเลื่อมใสศรัทธามาบวชและปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น วัดอโศการามจนกลายเป็นกลุ่มชนใช้นามว่า “ชาวอโศก” พระโพธิรักษ์จึงขอสร้างสถานที่เฉพาะกลุ่มเพื่อปฏิบัติธรรมตามแนวคําสอนของตน แต่พระอุปัชฌาย์ไม่อนุญาตให้อยู่ปนกันทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต เนื่องจากพระโพธิรักษ์เป็นพระฝ่ายธรรมยุต พระโพธิรักษ์จึงไปอุปสมบทใหม่ที่วัดหนองกระทุ่ม จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2516 เป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย มีอุปัชฌาย์ คือ พระครูสถิตวุฒิคุณ ขณะนั้นมีใบสุทธิ 2 ใบ และได้นําใบสุทธิของฝ่ายธรรมยุตมาคืนที่วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2516

การทํางานเผยแพร่ธรรมของพระโพธิรักษ์มีอุปสรรคและมีปัญหามากจากความขัดแย้งกับคณะสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยม เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “นอกรีต” จากการปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระโพธิรักษ์และคณะ ได้แก่ ฉันอาหารมังสวิรัติ, ฉันอาหารวันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ พระโพธิรักษ์จึงประกาศตัวลาออกจากมหาเถรสมาคม หรือที่เรียกว่า นานาสังวาส เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2518 แต่ยังได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งได้รุนแรงมากขึ้นจนนําไปสู่กรณีสันติอโศก โดยมหาเถระสมาคม ได้เห็นชอบให้มีการประกาศนียกรรม ให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชน มิให้คบหาสมาคมหรือให้ความร่วมมือใด ๆ แก่พระโพธิรักษ์ และคณะที่พระโพธิรักษ์บวชให้  ซึ่งประกาศนียกรรมมีค่าเท่ากับ "บัพพาชนียกรรม" เมื่อครั้งพุทธกาลนั่นเอง อันเป็นผลให้พระโพธิรักษ์ต้องสึกจากพระภิกษุและใช้นามว่าสมณะโพธิรักษ์แทน และยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม นุ่งห่มแตกต่างจากพระสงฆ์ไทยทั่วไป ตั้งแต่ พ.ศ.2532 เป็นต้นมา

ในปี 2533 อัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระโพธิรักษ์และพระชาวอโศก ข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กรณีการแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริง เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2538 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2540

“สมณะโพธิรักษ์” ได้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐบาลทั้งในปี พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2551 รวมถึงการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี พ.ศ. 2556 และพ.ศ. 2557 ด้วย โดยเฉพาะการชุมนุมของ กปปส.นั้นสมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศก ได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2555 ก็ได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) มาแล้ว

ทั้งนี้ “สมณะโพธิรักษ์” ได้นำพากลุ่มชาวอโศกสร้าง “ชุมชนบุญนิยม” ตามปรัชญา แห่งศาสนาพุทธ ที่เชื่อมั่นว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นแกนสำคัญ ของมนุษย์ และสังคมโดย มีความ เป็นอยู่ อย่างเรียบง่าย, พึ่งตนเองได้, สร้างสรร, ขยัน-อดทน, ไม่เอาเปรียบใคร, ตั้งใจเสียสละ จนได้รับ การขนานนามว่า “ชุมชนคนพอเพียง”






Thank to : https://mgronline.com/qol/detail/9670000031661
เผยแพร่ : 11 เม.ย. 2567 08:59 , ปรับปรุง : 11 เม.ย. 2567 17:23 , โดย : ผู้จัดการออนไลน์
11  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / แห่หลวงพ่อพระใส ขอพรสรงน้ำสงกรานต์ 13 เม.ย. 67 เปิดพระอุโบสถให้กราบองค์จริง เมื่อ: เมษายน 10, 2024, 06:50:51 am
.



แห่หลวงพ่อพระใส ขอพรสรงน้ำสงกรานต์ 13 เม.ย. 67 เปิดพระอุโบสถให้กราบองค์จริง

ครั้งแรกของขบวนแห่อัญเชิญหลวงพ่อพระใส จำลอง พระคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย พระพุทธรูปที่คนสองฝั่งโขงเลื่อมใสศรัทธา โดยจะมีการแห่รอบเมืองหนองคาย และกราบขอพรสรงน้ำอย่างใกล้ชิดปีละครั้ง ช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นพิธีกรรมสืบทอดมายาวนาน

"พระครูปริยัติโสภณรัตน์" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ขบวนแห่หลวงพ่อพระใส ปีนี้มีการจัดขบวนแห่งานสรงน้ำและสมโภชหลวงพ่อพระใสวันที่ 13 เมษายน 2567 ณ วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง จ.หนองคาย โดยขบวนแห่ภายในวัดเริ่มเวลา 09.09 น. ซึ่งได้เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด ถอดเกศหลวงพ่อพระใส และถอดเกศพระบริวาร ทำพิธีอัญเชิญลงมาด้านล่าง วนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำอย่างใกล้ชิด




จากนั้นอัญเชิญหลวงพ่อพระใส ประดิษฐานไว้บนราชรถ เพื่อเตรียมแห่รอบเมือง โดยออกจากวัดเวลา 12.30 น. คาดว่าจะทำการแห่รอบเมืองแล้วเสร็จในเวลา 17.00 น.

ต่อจากนั้นประดิษฐานองค์หลวงพ่อพระใสจำลอง ไว้ที่พลับพลา เพื่อให้ประชาชนที่มาไม่ทันขบวนแห่ได้สรงน้ำ ตั้งแต่ 13-18 เมษายน 2567

ความพิเศษของขบวนแห่ปีนี้มีพิธี "สงกรานต์ผ้าขาวม้า สมมาหลวงพ่อพระใส" โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการนำผ้าขาวมาที่ร่วมพิธีแห่ในปีนี้ ให้คนที่สนใจได้ร่วมบูชา ซึ่งผ้าขาวม้าจะใช้ในขบวนแห่ในการรองเชือกในขบวนแห่ หรือใกล้ชิดกับองค์หลวงพ่อตลอดการทำพิธี เพราะตามความเชื่อคนโบราณ ที่อาจไม่มีของมีค่าในการขอขมา ลักษณะคล้ายกับของชำร่วย ที่จะเห็นในการแต่งงานทางภาคอีสาน คู่บ่าวสาวจะมอบผ้าขาวม้า ให้เป็นของชำร่วย




ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่นำองค์พระใส จำลองมาในขบวนแห่เพื่อให้ได้สรงน้ำ เนื่องจากพระใสองค์จริง ชำรุดเสียหาย เนื่องจากมีความเก่าแก่ และทางกรมศิลปากร ได้ลงความเห็นว่าไม่อยากให้นำองค์หลวงพ่อพระใสองค์จริงลงมาแห่ เลยมีการสร้างองค์จำลอง ที่มีขนาดเท่ากันกับองค์จริง

โดยพระใสองค์จริงยังตั้งอยู่ในพระอุโบสถ ให้คนที่มาได้กราบไหว้ โดยปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทางวัดจะเปิดพระอุโบสถให้คนได้เข้าไปกราบไหว้พระใสองค์จริง และสรงน้ำพระใสองค์จำลองด้านล่างบริเวณปะรำพิธี




คนในพื้นที่หรือผู้ที่ศรัทธาองค์หลวงพ่อพระใส จะเดินทางมาสรงน้ำช่วงสงกรานต์ทุกปี เพราะเชื่อว่าจะได้ใกล้ชิดกับองค์หลวงพ่อ และเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตของปีใหม่ไทย ที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารตกที่คลองรังสิต ปี 2523 โดยผู้โดยสารท่านนึงได้บูชาพระพุทธรูปองค์หลวงพ่อพระใส ขึ้นเครื่องบินไปด้วย เมื่อเครื่องบินตก ก็มีผู้เสียชีวิตที่เป็นพระผู้ใหญ่หลายรูป แต่คนที่นำองค์หลวงพ่อพระใสไปด้วยกลับรอดชีวิต และองค์พระพุทธรูปไม่เสียหาย ทำให้ตั้งแต่นั้นมามีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้อยู่ตลอด



สำหรับคนที่อยากไปกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อพระใส อยากให้มาช่วงสงกรานต์ เพราะได้สรงน้ำใกล้ชิดกับองค์หลวงพ่อพระใส ซึ่งต่างจากวันทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับองค์หลวงพ่อเหมือนในช่วงสงกรานต์.




Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2777022
8 เม.ย. 2567 , 21:29 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > Interview > ไทยรัฐออนไลน์
12  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เตรียมบูรณะ หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 700 ปี เคยโดนโจรลักไป 3 ครั้ง เมื่อ: เมษายน 10, 2024, 06:34:11 am
.



เตรียมบูรณะ หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 700 ปี เคยโดนโจรลักไป 3 ครั้ง ได้คืนกลับทุกครั้ง

กรมศิลปากร เข้าตรวจสอบ เตรียมบูรณะ หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์700ปี เผยที่ผ่านมา เคยโดนโจรลักไป3ครั้ง ได้คืนกลับทุกครั้ง

วันที่ 9 เม.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านด่าน ต.สร้างปี่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง ประธานกรรมการ บริษัท นีโอ 727 จำกัด บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท ยูเวิร์ค 999 จำกัด เป็นคหบดีลูกหลานชาวบ้านด่าน ได้นำ นายทศพร ศรีสมาน ผอ.สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมคณะเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร และผู้แทนของนายประหยัด ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ มาทำการตรวจสอบ

องค์หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปางห้ามสมุทร อายุประมาณ 700 ปี ที่ชาวบ้านด่านและชาว อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษให้ความเคารพศรัทธามาก โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นไปทำการตรวจสอบสภาพขององค์พระอย่างละเอียด ทำการวัดขนาด ตรวจสอบสภาพวัสดุพื้นผิวขององค์พระ พร้อมทั้งตรวจสอบรูปแบบลักษณะต่างๆขององค์พระ

เพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลในการที่จะทำการบูรณะซ่อมแซมองค์หลวงพ่อทอง โดยมี นายทอง คำเอี่ยม อดีต ผอ.ร.ร.มาคอยอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาขององค์หลวงพ่อทองให้คณะเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้รับทราบ




นายขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง ประธานกรรมการ บริษัท นีโอ 727 จำกัด บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท ยูเวิร์ค 999 จำกัด เป็นคหบดีลูกหลานชาวบ้านด่าน กล่าวว่า คุณแม่ของตนบอกว่าตอนที่โดนขโมยไปท่านมองเห็นเท้าข้างหนึ่งโดนงัดแงะโดนทำลายเพื่อที่คนร้ายจะนำเอาหลวงพ่อทองไป แต่ว่านำเอาไปไม่ได้ จึงทำให้เท้าของหลวงพ่อทองยังบิ่นอยู่ที่ยังไม่สมบูรณ์

ตนจึงเห็นว่าก่อนที่จะอัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาประดิษฐานบนวิหารแห่งนี้ ตนจึงให้ชาวบ้านด่าน ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรว่า จะบูรณะยังไงให้องค์หลวงพ่อทองสมบูรณ์แบบ เพราะว่าหลวงพ่อทองมาประดิษฐานอยู่ที่นี่ 72 ปีแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 ซึ่งจิตที่เรามีความศรัทธานี้ ตามคำสั่งของคุณแม่ว่าเมื่ออัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้แล้วจะต้องซ่อมบูรณะให้องค์หลวงพ่อทองสมบูรณ์แบบและรักษาสภาพองค์หลวงพ่อให้สมบูรณ์ก่อนที่จะนำขึ้นมา




ซึ่งกรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดูก่อนวันงานที่จะอัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ก็ได้รับหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากรว่าให้เข้ามาตรวจสอบว่า สภาพของหลวงพ่อทองเป็นยังไงบ้างเพื่อที่จะบูรณะ

ก็เลยเป็นที่มาและที่ไปว่าพออัญเชิญองค์หลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้ จะเห็นได้ว่าองค์หลวงพ่อทองยังไม่สมบูรณ์แบบ ด้วยจิตของเราที่มีความศรัทธาเราจึงอยากให้บูรณะซ่อมแซมสภาพขององค์หลวงพ่อทองให้สมบูรณ์เหมือนกับที่สภาพที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ให้ดีที่สุด

นายทอง คำเอี่ยม ซึ่งเป็นอดีต ผอ.ร.ร.ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า องค์หลวงพ่อทองเคยถูกขโมยไปครั้งที่ 1 เมื่อปีพ.ศ. 2507 ซึ่งการขโมยหลวงพ่อทองทุกครั้งจะขโมยช่วงหน้าฝนพระจำพรรษา ซึ่งคนที่มาขโมยไม่สามารถนำเอาองค์หลวงพ่อทองไปได้เพราะว่าเกิดป่วยตายก่อน ครั้งที่ 2 ปี 2511 คนร้ายได้ขโมยหลวงพ่อทองไปทาง อ.ราษีไศลแต่ว่านำเอาไปไม่ได้ซึ่งครั้งที่ 2 นี้จะตัดเอาเฉพาะเศียรไป แต่พอตัดไปใช้เวลาอาทิตย์หนึ่งตัดไม่ได้




คนที่จะตัดเศียรขององค์หลวงพ่อทองก็เกิดป่วยตาย ส่วนคนที่สั่งการก็มีอันเป็นไปทุกคน ทาง สภ.ราษีไศลก็เลยได้นำหลวงพ่อทองไปไว้ที่ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษและได้แจ้งให้ชาวบ้าน ให้ไปดูว่าเป็นพระของวัดตนเองหรือไม่

ชาวบ้านจึงมอบให้นายพร ศิริพัฒน์ เป็นคนไปดูก็บอกว่าเป็นของวัดบ้านด่านจริง จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อทองกลับคืนมาไว้ที่วัดแห่งนี้ ครั้งที่ 3 โดนขโมยไปเมื่อปีพ.ศ. 2523 รู้สึกว่าจะเป็นคนมีสีมาจากทาง จ.ลพบุรี แต่ว่ามาขโมยไปไม่ได้ชาวบ้านรู้ตัวก่อน เป็น 3 ครั้งที่หลวงพ่อทองโดนขโมยแต่คนร้ายไม่สามารถขโมยเอาหลวงพ่อทองไปได้

นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้สำนักงานศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาก็ได้ประสานกับทางสำนักช่าง 10 หมู่ของกรมศิลปากร ได้มาตรวจสอบองค์พระพุทธรูปคือมาตรวจสอบสภาพว่าองค์ท่านมีลักษณะอย่างไรมีความชำรุดเสื่อมสภาพตรงไหนที่เราจะต้องนำเอาไปวางแผนสำหรับการบูรณะซ่อมแซม




ซึ่งตรงนี้ทางช่าง 10 หมู่ จะต้องไปทำข้อมูลตรงนี้ขึ้นมาซึ่งหลังจากนี้แล้วก็จะมีนักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรเป็นส่วนวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะลงมาอีกทีมหนึ่งเพื่อมาตรวจสอบในเรื่องของเทคนิควิธีการในการที่จะซ่อมแซมบูรณะองค์หลวงพ่อทองในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า จะต้องใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งหลังจากทั้งหมดทั้งมวลได้ข้อมูลเรียบร้อยแล้วก็คงจะต้องมาสรุปกันอีกครั้งหนึ่งว่า เราจะดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร

และทำแผนออกมาซึ่งเนื่องจากองค์หลวงพ่อทองเป็นศิลปวัตถุที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้ว เป็นศิลปวัตถุสำคัญของชาติซึ่งในการดำเนินการนั้น เราก็ต้องขออนุญาตจากท่านอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อนว่าเราจะดำเนินการในส่วนนี้อย่างไรบ้างมีความเหมาะสมอย่างไร ก็จะต้องมีการเข้าที่ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง

นายทศพร กล่าวต่อไปว่า ซึ่งกำหนดการนั้นคงจะต้องใช้เวลานิดนึง เพราะว่าอย่างวันนี้จริงๆแล้วอยากให้ทีมช่าง 10 หมู่ และทีมนักวิทยาศาสตร์มาด้วยกันแต่ว่ามันไม่ได้เพราะว่าทางต่างคนต่างมีภารกิจซึ่งจะต้องรอไปสิ้นเดือนเมษายนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์อีกชุดหนึ่งจึงจะได้เข้ามาดำเนินการ

หลังจากนั้นประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมจะได้พูดคุยกันในรอบแรกก่อนว่าข้อมูลเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรบ้าง คงจะต้องใช้เวลาเนื่องจากว่างานอย่างนี้เป็นงานละเอียดไม่อยากให้รีบร้อนจะต้องดำเนินการให้ดีที่สุด

ชมวิดีโอได้ที่ : https://vdokh.matichon.co.th/videos/public/iframe/8cd4efbc1c2ee4a9a23b19d9f5a1374d/adaptive_hls/?post_id=0&category=





Thank to : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8180667
10 เม.ย. 2567 - 03:59 น.
13  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร.?” เมื่อ: เมษายน 09, 2024, 09:29:51 am
.



๓. นิพพานสุขสูตร
ว่าด้วยนิพพานเป็นสุข
(๑-)


[๓๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน(๒-) เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล

ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
    “ผู้มีอายุทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข นิพพานนี้เป็นสุข”
เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
    “ท่านสารีบุตร ก็นิพพานนี้ไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ผู้มีอายุ นิพพานที่ไม่มีเวทนานั่นแลเป็นสุข 

กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
   ๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
   ๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
   ๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
   ๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
   ๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
             
ผู้มีอายุ กามคุณ ๕ ประการนี้แล
ผู้มีอายุ สุขโสมนัสที่อาศัยกามคุณ ๕ ประการเกิดขึ้น เรียกว่า กามสุข


@@@@@@@

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยกามยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดัน(๓-) แก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยกามเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยวิตกยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยวิตกเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุบรรลุตติยฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญา-มนสิการที่ประกอบด้วยปีติยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุข เพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยปีติเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอุเบกขายังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอุเบกขาเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร




ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘อากาสหาที่สุดมิได้’ อยู่เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยรูปยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดันแม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยรูปเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานเหล่านั้นยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้นทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานยังฟุ้งขึ้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่คนผู้มีสุขเพียงเพื่อความกดดัน แม้ฉันใด สัญญามนสิการที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมฟุ้งขึ้นแก่ภิกษุนั้น ข้อนั้นเป็นความกดดันแก่ภิกษุนั้น ความกดดันพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าทุกข์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร

@@@@@@@

ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ และอาสวะทั้งหลายของเธอหมดสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญาโดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า นิพพานเป็นสุขได้อย่างไร”

                                     นิพพานสุขสูตรที่ ๓ จบ






เชิงอรรถ
(๑-) ดูข้อ ๔๒ (สัมพาธสูตร) หน้า ๕๓๓ ในเล่มนี้
(๒-) ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๖ (สิลายูปสูตร) หน้า ๔๘๔ ในเล่มนี้
(๓-) ความกดดัน (อาพาธ) หมายถึง ความบีบคั้น (ปีฬนะ) (องฺ.นวก.อ. ๓/๓๔/๓๐๘)

ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๕๐๐-๕๐๒
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] , ๔. มหาวรรค , ๓. นิพพานสุขสูตร
URL : https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=23&siri=197
14  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ต้องเป็น ปชต.ทางความเชื่อ อยากเข้าใจไทยต้องเก็ตศาสนา อ่าน ‘ลอกคราบพุทธแท้’ เมื่อ: เมษายน 08, 2024, 08:33:06 am
.



อาจารย์ ม.ดังอิตาลี ลั่นต้องเป็น ปชต.ทางความเชื่อ อยากเข้าใจไทยต้องเก็ตศาสนา คว้า ‘ลอกคราบพุทธแท้’

‘อาจารย์ ม.ดังอิตาลี’ ลั่นอยากเข้าใจเมืองไทย ต้องเก็ตศาสนาก่อน พุ่งคว้า ‘ลอกคราบพุทธแท้’ ยันต้องเป็น ปชต.ทางศาสนา ไม่เชื่อห้ามดูถูก เผยเจ้าของบ้านเช่าเป็น ‘ร่างทรง’

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยรัฐ (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายนนี้

บรรยากาศเวลา 12.50 น. ที่บูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน J47’ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เลือกซื้อหนังสือทยอยเข้ามาหยิบอ่านและเลือกซื้อ ทั้งหนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา หนังสือแปล และวรรณกรรม อีกทั้งยังมีผู้สนใจของแถมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งกระเป๋าผ้า กระเป๋าถือขนาดใหญ่ สามารถแลกของขวัญได้เมื่อซื้อครบ 500 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ สำพิมพ์มติชนจัดโปรโมชั่นลดราคาหนังสือ หนังสือออกใหม่ลด 15% หนังสือขายดีลด 20% หนังสือเพื่อนสำนักพิมพ์ลด 10-15% และหนังสือชุดลดพิเศษถึง 25-30%

บรรยากาศเวลา 13.00 น. ดร.อาสา คำภา เจ้าของผลงาน “ลอกคราบพุทธแท้ : ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย” เดินทางมาแจกลายเซ็น ท่ามกลางแฟนนักอ่านมาร่วมต่อคิวเป็นจำนวนมาก

โดยหนึ่งในนั้นคือ เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ (Edoardo Siani) อาจารย์มหาวิทยาลัย Ca’ Foscari University of Venice แห่งประเทศอิตาลี




เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าวว่า ตนเคยอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี แต่วันนี้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ ในวันนี้ได้มาเลือกหนังสือ “ลอกคราบพุทธแท้” กลับไป เพราะคิดว่าศาสนาพุทธมีบทบาทต่อคนไทย และสังคมไทยอย่างมาก

“หากคุณต้องการเข้าใจสังคมไทย คุณต้องเข้าใจพระพุทธศาสนาก่อน”

เมื่อถามถึงสาเหตุที่มีความสนใจทางด้านพระพุทธศาสนาและการเมืองไทย?

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ เผยว่า ครั้งแรกที่ตนมาประเทศไทยก็เช่าห้องในบ้านที่เป็นร่างทรง

“เมื่อผมย้ายมาจากประเทศอิตาลี เมื่อเจอเจ้าของบ้านและได้รับรู้ว่าเขาเป็น ‘ร่างทรง’ ก็เลยเป็นที่มาของการรู้จักสังคมไทยควบคู่กับศาสนา ความเชื่อต่างๆ จึงเป็นการตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยมีความเชื่อเช่นนี้

จนทำให้ผมนึกถึงตอนเป็นเด็กที่ประเทศอิตาลี ทุกศาสนามีความเชื่อ มีร่างทรง ผมคิดว่ามันเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ”เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าว




เมื่อถามว่า ส่วนตัวเชื่อเรื่อง “ร่างทรง” หรือไม่?

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าวว่า ตนเป็นคนเชื่อทุกอย่างค่อนข้างยาก แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าความเชื่อนั้นสำคัญต่อคนบางคน หรือคนบางกลุ่ม

“เมื่อตอนเด็กๆ แม่ผมก็เลยพาไปหาร่างทรง ‘คาทอลิก’ นิกายหนึ่งของคริสต์ เป็นผู้หญิงที่เหมือนกับว่า สมเด็จพระสันตะปาปาที่เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าร่าง และก็จะมีการเขียนจดหมายส่งให้แม่ เพื่อให้เกิดความสบายใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

ผมน่าจะเชื่อว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยคนหลายคนได้ ถึงแม่ว่าเราไม่เชื่อ แต่เราก็ไม่ควรจะห้าม หรือดูถูก ต้องเป็นประชาธิปไตยทางศาสนาและความเชื่อ” เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าว

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นคนต่างชาติ แต่เลือกที่จะหยิบหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในวันนี้เพราะว่าอะไร?

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ เผยว่า อยากเห็นมุมมองของนักวิชาการคนไทย ส่วนใหญ่ทฤษฎีมาจากโลกตะวันตก ก็เลยอยากรู้ว่าคนไทยมองเรื่องเกี่ยวกับศาสนาตนเองอย่างไรบ้าง




เมื่อถามว่า ปัจจัยใดที่ทำให้ชื่นชอบในการอ่านหนังสือ?

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ เผยว่า ตนเป็นคนขี้เกียจมาก่อน ไม่ใช่คนอ่านหนังสือง่าย แต่มีความเชื่อว่าหากเราอ่านหนังสือแล้วจะช่วยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น

“ผมเป็นคนชอบดูภาพยนตร์ ฟังเพลงมากกว่า แต่การอ่านหนังสือก็บางเล่มก็สามารถเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนความคิดได้เหมือนกัน” เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สามารถเยี่ยมชมบูธสำนักพิมพ์มติชน (J47) ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายน 2567 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 และ เลือกซื้อหนังสือออนไลน์ได้ที่ : www.matichonbook.com




Thank to : https://www.matichon.co.th/book/news_4514963
วันที่ 7 เมษายน 2567 - 15:34 น.   
15  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดแทบแตก ศิษย์หลวงพ่อกวย แบกเสื่อหอบหมอน นอนรอเข้าคิวเช่าวัตถุมงคล เมื่อ: เมษายน 08, 2024, 07:48:42 am




วัดแทบแตก ศิษย์หลวงพ่อกวย แบกเสื่อหอบหมอน นอนรอเข้าคิวเช่าวัตถุมงคล แถวยาวเป็นกิโล

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดโฆษิตาราม หรือวัดบ้านแค อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ได้เปิดให้ลูกศิษย์ และประชาชนทั่วไป เข้าคิวจองซื้อวัตถุมงคลของหลวงพ่อกวย อดีตเจ้าอาวาส ที่ถือว่าเป็นพระเกจิดังของไทยอีกรูปหนึ่ง ซึ่งได้มรณภาพไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2522

ซึ่งวัตถุมงคลของหลวงพ่อกวย ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดพระ และผู้นิยมวัตถุมงคล โดยทางวัดเปิดแจกบัตรคิวเวลา 07.00 น. แต่ก็เป็นที่น่าสนใจเพราะวันนี้มีศิษยานุศิษย์กว่า 1,000 คน มารอต่อคิวเข้าซื้อวัตถุมงคล




โดยเฉพาะกลุ่มแรกๆ ที่มารอคิวเล่าว่า มานอนรอตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 6 เมษายน เพราะต้องการเป็นคิวแรกๆ โดยขนเอาเสื้อและหมอน มานอนกันที่ลานจอดรถ บางรายก็เอาเต็นท์มากางกันยุง เช้ามาก็รีบตื่นอาบน้ำแปรงฟันมานั่งรอบัตรคิว แล้วเดินแถวตอนเรียง 1 เข้าไปภายในศาลาวัดที่เตรียมพื้นที่ไว้ ความยาวของแถวรวมๆ ถึง 1 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม วัตถุมงคลของหลวงพ่อกวยที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงอย่างมากคือ เหรียญหลังยันต์ เหรียญหลังหนุมาน รวมถึงมีดหมอ ตะกรุด รูปหล่อ และภาพถ่ายของหลวงพ่อด้วย





















Thank to : https://www.matichon.co.th/region/news_4514455
วันที่ 7 เมษายน 2567 - 10:46 น.
16  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สงกรานต์ กับพระสุริยเทพที่ศรีเทพ เมื่อ: เมษายน 07, 2024, 07:12:14 am



สงกรานต์ กับพระสุริยเทพที่ศรีเทพ

“สงกรานต์” เป็นคำที่ไทยเราหยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สงฺกฺรานติ” ที่แปลว่า คติหรือการจากไปของดวงอาทิตย์ หรือดาวพระเคราะห์ดวงอื่นจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่ง

หลายครั้งที่ในหนังสือเก่าแก่เล่มต่างๆ ของไทย จะพบคำว่า “ตรุษสงกรานต์” โดยคำว่า “ตรุษ” ก็มีรากมาจากภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกัน คือหมายถึงการ “ตัด”

ดังนั้น คำว่า “ตรุษสงกรานต์” จึงหมายถึงการที่ดวงอาทิตย์โคจร (ตามวิธีคำนวนแบบโหราศาสตร์ เพราะที่จริงแล้วดวงอาทิตย์ไม่ได้โคจร แต่เป็นโลกมนุษย์ต่างหากที่กำลังโคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ทุกขณะจิตต่างหาก) ผ่านจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง แล้วตัดให้เป็นการครบรอบวงโคจรหนึ่งครั้ง คือหนึ่งปีนั่นเอง

นอกเหนือจากนี้ยังมีคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่อีกคำหนึ่ง คือคำว่า “ราศี” โดยหมายถึงการแบ่งขอบฟ้าออกเป็นช่องๆ 12 ช่องเท่าๆ กัน แต่ละช่องมีดาวจักรราศีครองอยู่ โดยพระอาทิตย์จะอยู่ช่องละ 30 วัน เคลื่อนย้ายไปทั้งปีครอบทั้ง 12 ช่องคือ ครบ 1 ปี

พระอาทิตย์ท่านจึงย้ายราศีเป็นประจำทุกเดือน โดยการย้ายแต่ละครั้งก็จะตกราวๆ วันที่ 14-15 ของแต่ละเดือน พระอาทิตย์เข้าไปอยู่ในราศีใด ก็จะเรียกว่าเป็นสงกรานต์ของราศีนั้น เช่น เมื่อพระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร ก็เรียก “มกรสังกรานติ” (มกรสงกรานต์) เป็นต้น


@@@@@@@

ในไทย และวัฒนธรรมอื่นๆ ในอุษาคเนย์นั้น ให้ความสำคัญเฉพาะกับการที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษ คือ “เมษสังกรานติ” (เมษสงกรานต์) เพราะถือเป็น วันขึ้นปีใหม่ อย่างที่รู้กันโดยทั่วไปนั่นแหละครับ โดยเรียกกันว่า “มหาสงกรานต์” เพราะถือกันว่าเป็นสงกรานต์ คือการเคลื่อนย้ายของราศีที่สำคัญที่สุดในรอบปี

แน่นอนว่า ความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นของ made in India ทั้งสิ้น สังเกตง่ายๆ ได้จากการที่ใช้คำแขกเรียกชื่อของเทศกาล ไม่ใช่คำไทย หรือคำในภาษาพื้นเมืองอื่นๆ

และนี่ก็ทำให้อะไรที่เรียกว่า “สงกรานต์” จึงเป็นสิ่งที่ชนชาวอุษาคเนย์สมัยโบราณอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดียพร้อมกันกับเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู จนได้ยังผลให้เราจะมีประเพณีการนับเอา “เดือนห้า” เป็นเดือนขึ้นปีใหม่ แทนที่จะนับว่า “วันแรมหนึ่งค่ำเดือนอ้าย” (แน่นอนว่า เดือนอ้าย แปลว่า เดือนที่หนึ่ง ซึ่งก็คือเดือนแรกของปีอย่างไม่ต้องสงสัย) ตามปฏิทินแบบพื้นเมืองของอุษาคเนย์ เป็นวันแรกของปี อย่างที่เคยใช้มาก่อนจะรับวัฒนธรรมอินเดีย

วิธีการนับปีจากอินเดียแบบที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนี้ เป็นวิธีที่นับเอา “พระอาทิตย์” เป็นสำคัญ อย่างที่เรียกว่า “ปฏิทินสุริยคติ” แตกต่างจากปฏิทินพื้นเมืองของอุษาคเนย์ที่เป็นแบบ “จันทรคติ” ที่ให้ความสำคัญกับ “พระจันทร์”

แน่นอนว่าเมื่อให้ความสำคัญกับ “พระอาทิตย์” แล้ว ก็ย่อมเกิดการนับถือบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ คือ “พระสุริยเทพ” (หรือ พระสูรยเทพ ในภาษาสันสกฤต) ผู้เป็นหลักสำคัญของวันเวลา และฤดูกาล ซึ่งย่อมดลบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ได้ด้วย

@@@@@@@

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแพร่กระจายจากอินเดียเข้ามาสู่อุษาคเนย์ในระยะเริ่มแรกเมื่อราวหลัง พ.ศ.1000 นั้น ก็ได้มีการค้นพบรูปพระสุริยเทพในรัฐโบราณเหล่านี้ด้วย

โดยมีทั้งที่พบเป็นประติมากรรมรูปพระสุริยเทพเอง และที่พบประดับอยู่บนศาสนวัตถุอื่นๆ โดยเฉพาะชุดเสาธรรมจักร ในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งพบว่ามีการประดับรูปพระสุริยะอย่างมีนัยยะที่น่าสนใจอยู่จำนวนหนึ่ง

เฉพาะที่มีการสลักเป็นรูปประติมากรรมนั้น พบมากในพื้นที่บริเวณเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีการค้นพบประติมากรรมรูป “พระสุริยเทพ” จำนวนถึง 4 องค์เป็นอย่างน้อย (อันที่จริงแล้ว มีประติมากรรมรูปพระสุริยเทพที่อ้างว่า พบจากเมืองโบราณแห่งนี้อีกหลายองค์ แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้จะขอนับเฉพาะองค์ที่มีที่มาที่ไปค่อนข้างชัดเจนเท่านั้น)

รูปพระสุริยะทั้ง 4 องค์นี้ เป็นประติมากรรมสลักหินลอยตัวทั้งองค์เหมือนกันทั้งสิ้น ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า ภายในเมืองศรีเทพจะต้องมีปราสาท หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับประดิษฐานรูปพระสุริยะเหล่านี้อย่างต่ำก็ 4 หลัง

รูปพระสุริยะเหล่านี้สามารถกำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยที่ใกล้เคียงกันคือ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1100-1400 อันเป็นระยะเริ่มต้นของการรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปเข้ามาในอุษาคเนย์เช่นเดียวกันทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยใจอยู่มากว่า ทำไมที่เมืองศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว จึงมีคติการนับถือพระสุริยะอยู่มากกว่าพื้นที่บริเวณอื่น?


@@@@@@@

ประติมากรรมลอยตัวรูปพระสุริยะที่พบในพื้นที่อื่นๆ ในดินแดนอุษาคเนย์นั้น ส่วนใหญ่จะพบเป็นองค์โดดๆ กล่าวคือ ในเมืองหนึ่งนั้นอาจจะพบเพียงองค์เดียว เช่น เมืองพระรถ จ.ชลบุรี หรือที่เขาพนมดา ใน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น หลายเมืองไม่มีการค้นพบร่องรอยการนับถือบูชาพระสุริยเทพเลยด้วยซ้ำไป แถมหลายครั้งจะพบรูปพระสุริยะอยู่ร่วมกับกลุ่มเทวดานพเคราะห์ โดยถูกบูชาในฐานะของกลุ่มเทพเจ้าประจำดวงดาวทั้งหลาย ไม่ใช่การนับถือพระสุริยะอย่างเป็นเอกเทศ จึงแตกต่างไปที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในเมืองศรีเทพอย่างเห็นได้ชัด

และนั่นก็แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการนับถือพระสุริยเทพ ในเมืองโบราณแห่งนี้ที่มากพอสมควร จนทำให้มีการสันนิษฐานกันว่า เมืองศรีเทพเมื่อครั้งรุ่งเรืองนั้น มีนิกายเสาระ ซึ่งก็คือ นิกายที่นับถือพระสุริยะเป็นการเฉพาะรุ่งเรืองอยู่เลยทีเดียว

ประเด็นที่สำคัญก็คือ ในบรรดาประติมากรรมพระสุริยเทพที่ค้นพบที่เมืองศรีเทพนี้ มีอยู่องค์หนึ่งที่กรมศิลปากรขุดค้นได้จากปรางค์สองพี่น้อง ในตัวเมิองศรีเทพ โดยรูปพระสุริยะองค์นี้แต่งกายอย่างชนชาวต่างชาติทางตอนเหนือของอินเดียอย่างชัดเจน

และนอกเหนือไปจากนั้นยังมีหนวด และเครา ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการแต่งกายอย่างชนชาวเอเชียกลาง



พระสุริยเทพ กรมศิลปากรขุดพบที่หน้าปรางค์สองพี่น้อง เมืองศรีเทพ ทรงเครื่องอย่างชนต่างชาติทางตอนเหนือของอินเดีย ต้องตรงตามที่คัมภีร์ดาราศาสตร์-โหราศาสตร์ ที่ชื่อ พฤหัสสังหิตา ระบุไว้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นที่น่าสนใจด้วยนะครับว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เอเชียกลางนั้น มีคติการนับถือเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง เทพเจ้าแห่งไฟ และเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ คือพระสุริยเทพ เป็นสำคัญ จนทำให้ในตำราของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บางฉบับถึงกับระบุถึงลักษณะของเสื้อผ้าหน้าผมของพระองค์อย่างละเอียดว่า พระสุริยเทพนั้นทรงเครื่อง (คือ แต่งกาย) อย่างชนต่างชาติทางตอนเหนือของชมพูทวีป (คือเอเชียกลาง) และสวมหมวกทรงกระบอกที่เรียกว่า กิรีฏมกุฏ

(และนี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าสำหรับสายตาของพ่อพราหมณ์ในอินเดียแล้ว พระสุริยเทพเป็นเทพที่มาจากภูมิภาคอื่น ซึ่งก็คือเอเชียกลาง จตามอย่างเครื่องทรงของพระองค์นั่นเอง)

ส่วนตำราพราหมณ์อินเดียบางฉบับที่อ้างว่าพระสุริยเทพทรงเครื่องอย่างชนชาวเอเชียกลางนั้น มีชื่อว่า “พฤหัสสังหิตา” ที่เรียบเรียงขึ้นโดยท่านวราหะมิหิรา เมื่อราว พ.ศ.1050-1100 ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นตำราดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์

(ดังนั้น จึงให้ความสำคัญเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว โดยเฉพาะพระสุริยะเป็นพิเศษจนถึงกับได้พรรณนารูปลักษณะการแต่งกายออกมา) ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวดวงดาว และท้องฟ้า ทั้งในอินเดีย เอเชียกลาง และเปอร์เซีย (คืออิหร่าน) ต่อมาอีกหลายร้อยปีเลยทีเดียว


@@@@@@@

รูปพระสุริยะที่กรมศิลปากรขุดได้จากหน้าปรางค์สองพี่น้ององค์นี้กำหนดอายุได้ไม่ห่างจากอายุของคัมภีร์พฤหัสสังหิตาไม่มากนัก

ประกอบการที่ประติมากรรมรูปพระสุริยเทพองค์นี้แต่งกายต้องตรงกับข้อความที่ระบุอยู่ในคัมภีร์ ก็ชวนให้คิดไปได้ว่า เป็นการสร้างตามรูปลักษณะของพระสุริยะที่ระบุเอาไว้ในคัมภีร์ดาราศาสตร์ ควบโหราศาสตร์ฉบับสำคัญอย่างพฤหัสสังหิตา

และนั่นก็ย่อมทำให้มีความเป็นไปได้ด้วยว่า นักปราชญ์ที่เมืองศรีเทพ (หมายรวมไปถึงเมืองในเครือข่ายอื่นๆ และรัฐขนาดใหญ่ในอุษาคเนย์ยุคโน้นทั้งหลาย) จะรู้จักตำราดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ฉบับสำคัญเล่มนี้

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า การปรากฏรูปพระสุริยะเป็นจำนวนมากที่เมืองศรีเทพนั้น จะเกี่ยวข้องกับกลุ่มของผู้ใฝ่ใจค้นคว้าในดาราศาสตร์-โหราศาสตร์ อันเป็นศาสตร์ที่สัมพันธ์กันอย่างแยกแทบจะไม่ออกในโลกโบราณ

และการศึกษาเรื่องราวการโคจรของดวงดาวเหล่านี้ ย่อมสัมพันธ์กันกับการนับและคำนวณเวลา โดยเฉพาะปฏิทินแบบสุริยคติ ที่ถือเอาพระอาทิตย์เป็นสำคัญ ต่างจากวิธีนับตามจันทรคติ ที่ถือเอาพระจันทร์เป็นใหญ่

ดังนั้น ความรู้สมัยใหม่ในยุคของการกำเนิดรัฐเริ่มแรกของอุษาคเนย์เมื่อหลัง พ.ศ.1000 อย่างปฏิทินแบบสุริยคตินั้นเอง ที่ทำให้ทั้งพระสุริยเทพ และวันมหาสงกรานต์ คือวันเปลี่ยนศักราชตามแบบของอินเดียกลายเป็นสิ่งที่สำคัญขึ้นมาในราชสำนักโบราณของอุษาคเนย์นั่นเอง •




 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 เมษายน 2567
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 4 เมษายน พ.ศ.2567
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_759222
17  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เป็นหนี้ บวชไม่ได้ "พระกู้เงิน" ยิ่งผิดหลักพุทธ เจาะปัญหาเงินในวัด เมื่อ: เมษายน 07, 2024, 06:41:14 am
.



เป็นหนี้ บวชไม่ได้ "พระกู้เงิน" ยิ่งผิดหลักพุทธ เจาะปัญหาเงินในวัด

เจาะปัญหา “เงิน” กับ “วัด” นักวิชาการศาสนา ชี้ “เจ้าอาวาส” กู้เงินกับญาติโยม ผิดหลักพุทธ เพราะแค่เป็นหนี้ ก็บวชไม่ได้แล้ว...

กุฏฐัง – เป็นโรคเรื้อนหรือไม่

คัณโฑ – เป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่

กิลาโส  – เป็นโรคกลากหรือไม่

โสโส – เป็นโรคมองคร่อ (มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านของหลอดลม) 

อะปะมาโร – เป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่

มะนุสโส้สิ๊ – เป็นมนุษย์ ใช่ไหม 

ปุริโส้สิ๊ – เป็นผู้ชาย ใช่ไหม

ภุชิสโส้สิ๊ – เป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม

อะนะโนสิ๊ – ไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม

นะสิ๊ ราชะภะโต – ไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม 

อะนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ – บิดา มารดา อนุญาต ใช่ไหม

ปะริปุณณะวีสะติวัสโส้สิ๊ – อายุครบ 20 ปี ใช่ไหม

ปะริปุณณัณเต ปัตตะจีวะรัง – มีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม

ข้างต้น คือ คำถามอันตรายิกธรรม หรือ ธรรมอันตรายที่เป็นข้อห้าม 13 ข้อในการบวช โดยชายทุกคนที่ผ่านพิธีอุปสมบท ต้องตอบคำถาม ก่อนก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และหนึ่งข้อจากทั้งหมดนี้ คือ คำถามที่ว่า อะนะโนสิ๊ “ไม่เป็นหนี้ใคร” อะมะ ภัณเต (ใช่ครับ)

และเมื่อมาย้อนดูข่าวดังในเวลานี้ก็พบว่า มีพระระดับเจ้าอาวาสวัดได้มีการกู้หนี้ยืมสินญาติโยม โดยอ้างว่าเอามาใช้จ่ายในวัด และเมื่อค้นดูตัวเลขการเงินในวัด พบว่า เป็นหนี้กว่า 30 ล้าน!! มีการใช้ “บัญชีส่วนตัว” ในการบริหารจัดการวัด ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า “ผิดหลักการ” หรือไม่ การใช้จ่ายเงินในวัดควรเป็นอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและสังคม และอดีต ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.พระพุทธศาสนาแห่งโลก มาไขคำตอบ





การจัดการเงินในวัด

ดร.ทวีวัฒน์ กล่าวว่า โดยทั่วไปการจัดการเงินในวัดจะเป็นหน้าที่ของ “เจ้าอาวาส” ซึ่งถือเป็นเรื่องปฏิบัติทั่วไป ส่วนเงินทำบุญทั่วไปภายในวัดควรจะเข้าบัญชีของวัด โดยมี ไวยาวัจกร ฆราวาสที่ดูแลวัดและใกล้ชิดกับเจ้าอาวาส เป็นผู้ร่วมดูแลจัดการ ว่า “วัด” ขาดเหลืออะไรบ้าง ซึ่งนี่ก็คือตัวบุคคล ฉะนั้นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ “ความซื่อสัตย์” ของตัวบุคคล

อย่างไรก็ตาม หลักการในการจัดการเงินในวัดควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยมีตัวแทนเป็นเจ้าอาวาส พระลูกวัด ตัวแทนฆราวาสที่ใกล้ชิดกับวัด รวมถึงตัวแทนโรงเรียน เรียกว่า บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มีตัวแทนฝ่ายสงฆ์ และฆราวาส มีการดูแลการเงินต่างๆ ภายในวัด ผ่านคณะกรรมการ... เป็นชื่อวัด ซึ่งเป็นองค์กร ไม่ใช่ชื่อบุคคล เพราะผ่านบัญชีส่วนบุคคลจะตรวจสอบยาก

กรณี กิจนิมนต์ การถวายปัจจัย นั้นถือเป็นการถวายโดยส่วนตัว แต่ทุกอย่างมันอยู่ที่เจตนาของผู้ถวายปัจจัย แต่ถ้าผู้ถวายอยากจะบำรุงวัด ซ่อมแซมวัด เจ้าภาพต้องระบุให้ชัดเจน หากเป็นค่าสาธารนูปโภค ก็ควรเข้าบัญชีวัด....

ใช้บัญชีเจ้าอาวาสวัด “จัดการวัด” แต่ไม่เหมาะ...

การเปิดบัญชีส่วนตัวของพระ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะพระก็เหมือนบุคคลทั่วไป เพียงแต่เวลาจะเปิดบัญชี เจ้าหน้าที่ธนาคารจะขอดูใบสุทธิ อย่างไรก็ตามหากแต่จะใช้บัญชีพระรูปเดียวจัดการการเงินภายในวัด แม้จะอ้างว่าเพื่อความสะดวก มันก็พอรับฟังได้ เพียงแต่สิ่งที่ทำนั้นไม่เหมาะสม นำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยได้

“หากเป็นวัดเล็กๆ มันก็รับฟังได้ เพราะเงินที่เข้ามาในบัญชี มันอาจจะไม่เยอะมาก และเพื่อจะนำเงินนั้นออกมาจัดการได้ เพียงแต่มันเป็นบัญชีบุคคล มันจะตรวจสอบได้ยาก แต่หากเป็นวัดใหญ่ๆ เงินเข้าหลักล้าน ถึงร้อยล้าน ก็ควรที่จะจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ เพื่อความโปร่งใส”

เมื่อถามว่า หากวัดวัดหนึ่ง “ขาดสภาพคล่อง” ทางการเงินจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง พระกู้เงินได้หรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ ตอบว่า พระกู้เงินไม่ได้ เพราะแค่คำสวดตอนบวชที่ถามว่า “ไม่เป็นหนี้ใช่ไหม” ซึ่งหากว่าคนที่จะมาบวชนั้น “เป็นหนี้” หรือ “เคลียร์หนี้” ไม่หมดนั้น จะไม่สามารถบวชได้ สาเหตุเพราะหากห่มผ้าเหลืองไปแล้ ปรากฏว่ามี “เจ้าหนี้” มาทวงเงิน มันก็จะดูไม่งาม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่า “คนเป็นหนี้ห้ามบวช” แต่หากเคลียร์หนี้แล้วมาบวชก็อีกเรื่องหนึ่ง...

“วัดจะกู้เงินเพื่อสร้างโบสถ์วิหาร นั้นมันเป็นสิ่งที่ขัดกับเจตจำนงในแบบพุทธ ที่เริ่มต้นจากความศรัทธา ที่สำคัญคือสมัยก่อน (ตั้งแต่สมัย ร.5) พระจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการก่อสร้าง เพราะหลักการคือ หน้าที่ของพระคือ ศึกษาและปฏิบัติธรรม เมื่อมีความรู้ด้านธรรมแล้วก็เอาความรู้เหล่านั้นมาสั่งสอนประชาชน เมื่อพระทำหน้าที่นี้แล้วประชาชนเกิดความเลื่อมใส ประชาชนก็จะช่วยกันสร้างสำนักสงฆ์ หรือวัด โดยมีประชาชนเป็นคนระดมทุนเอง อำนวยความสะดวกกับปัจจัย 4”

การที่พระจะมากู้เงินเพื่อสร้างโบสถ์ วิหารให้สวยงามใหญ่โต มันเป็นเรื่องผิดหลักการ เพราะการจะพัฒนาวัดให้เหมาะสม มันควรจะมาจากความเห็นของประชาชน และชุมชน และเล็งเห็นว่าวัดมีสถานที่ไม่เพียงพอ ขาดแคลน “เสนาสนะ” ไม่ใช่ว่า “เจ้าอาวาส” เห็นว่า “เสนาสนะ” ไม่เพียงพอ แล้วเจ้าอาวาสจะไปกู้เงิน จะมากู้ธนาคาร เขาคงไม่เห็นด้วย เพราะ “พระ” ไม่มีแหล่งรายได้สม่ำเสมอ กู้นอกระบบ กู้ญาติโยม ก็จะผิดวัตถุสงค์





การคอร์รัปชันในวัด กับแนวทางการแก้ไข บ้าน วัด โรงเรียน ต้องร่วมมือ

ทีมข่าวฯ ถามถึงปัญหาการยักย้ายถ่ายเทเงินในวัด และการคอร์รัปชันในวัด รวมถึงการยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัด ซึ่งบางวัดได้ยื่น บางวัดก็ไม่ยื่น เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่า ถ้าทางการไปตรวจสอบ ก็อาจจะเจอปัญหาความโปร่งใส แต่ถ้าให้ชุมชนร่วมตรวจสอบ จะเกิดความชัดเจนมากกว่า

คนที่ใกล้ชิดวัด และพระ จะตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ ชาวบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีกับวัด จะรับรู้มากกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะดีกว่าตัวแทนของสำนักพุทธฯ เข้าไปตรวจสอบ

ฉะนั้น ความสัมพันธ์ของ บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน บ้านกับโรงเรียน มีความสัมพันธ์กับวัดลดลง ในขณะที่วัดมีมากขึ้น

เมื่อถามว่า เราควรออกกฎหมายในการตรวจสอบวัดหรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ มองว่า อาจเป็นเรื่องที่ยิบย่อยเกินไป โดยหลักแล้วหน่วยงานราชการก็น่าจะตรวจสอบได้อยู่แล้ว





ชาวพุทธยึดติด เงินกระจุกตัว

ทีมข่าวฯ ถามว่า เพราะอะไร “เงิน” ถึงไปกระจุกอยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแทนที่เป็นบัญชีวัด ดร.ทวีวัฒน์ ยอมรับว่า ชาวพุทธเรานั้นมีหลายแบบ บางคนก็ยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าหลักธรรมคำสอน

และที่สำคัญคือ “กำลังทรัพย์” คนกรุงเทพฯ มีเงินมากกว่าคนต่างจังหวัด ดังนั้นเวลาจะบริจาคเงินทำบุญก็มักจะเลือกวัดหลวง วัดดัง และที่สำคัญคือ บางวัดก็เลือกที่จะแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การใช้วัดเป็นที่จอดรถ สร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับวัด, บางวัดทำวัตถุมงคล กลายเป็นพุทธพาณิชย์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่วัดทั่วประเทศมีรายได้เงินหมุนเวียนมากกว่า 4 แสนล้าน

“เงินที่บริจาคเข้าวัด มันควรจะมาจากศรัทธาที่แท้จริงจากสาธุชนที่เห็นการปฏิบัติของวัดแล้วรู้สึกศรัทธา นำเงินมาสร้างเสนาสนะให้ ดีกว่า “พระ” ขายวัตถุมงคล เรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน การเรี่ยไรไม่ควรมาจากพระ ควรมาจากประชาชนที่ศรัทธา”

เราควรตรวจสอบวัดที่เข้มข้นกว่านี้หรือไม่... ดร.ทวีวัฒน์ มองว่า อาจเป็น “ดาบสองคม” เพราะพระบางรูปอาจจะไม่เจตนาในการกระทำผิดในเรื่องการบริหารจัดการการเงิน เพียงแต่ท่านไม่ค่อยมีความรู้ด้านบัญชี การใช้จ่ายผิดประเภทไปบ้าง




หากตรวจสอบเข้มข้นจริงๆ เชื่อว่าพระเกือบจะทุกวัด อาจถูกจับเข้าคุกได้ จากนั้นมันจะสะเทือนศรัทธาของชาวบ้านด้วย

กลับกันถ้ามีการตรวจสอบวัดแบบหละหลวมจะเกิดอะไรขึ้น กูรูด้านศาสนายอมรับว่า วัดเองก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเงินในวัด ทางวัดควรจะมี “นักบัญชี” ของวัดมาร่วมด้วย หากเราคิดว่า “วัด” เป็นแบบนิติบุคคล หรือบริษัท เถ้าแก่จะทำทุกอย่าง หรือทำบัญชีไม่เป็น ใช้เงินแบบปะปนกันไปหมด หากมีการจัดการบัญชีถูกต้อง ถูกต้องประเภท ทุกอย่างโปร่งใส

หากอยากจะแก้ปัญหาเรื่องเงินในวัด จึงจำเป็นต้องมีนักบัญชีคอยดูแล และอาจจะมีคนคอยตรวจสอบบัญชีเข้ามาตรวจสอบเป็นครั้งคราว หรือตามเกณฑ์

“เราต้องดูเรื่องนี้ให้ดี เพราะที่ผ่านมามีข่าวว่ามีคนต่างศาสนาพยายามเข้ามาบั่นทอนศาสนา..”

ทีมข่าวฯ ถามย้ำว่า มีกระบวนการนี้จริงหรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ ไม่ยืนยัน แต่เท่าที่ติดตามข่าว คาดว่า “อาจจะ” มีจริง มีความพยายามดิสเครดิตศาสนาพุทธ วัดพุทธ โดยเฉพาะ “เกจิ” ชื่อดัง โดยการใช้ “นารีพิฆาต” บางเคสมีการวางแผนใส่ร้ายป้ายสีพระ แต่เมื่อเป็นข่าวแล้วคนก็จะเชื่อ และถูกด่าทอพระจนเสียคน เรื่องนี้เราต้องระมัดระวังด้วย

                                       ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน





Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/culture/2776124
5 เม.ย. 2567 , 06:16 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > Culture > ไทยรัฐออนไลน์
18  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พุทธไม่ใช่พระสงฆ์ ขอพร ยึดติด ไม่ผิด ไร้ศาสนา คือ ปัจเจกแห่งโลก เมื่อ: เมษายน 07, 2024, 06:32:34 am
.



พุทธไม่ใช่พระสงฆ์ ขอพร ยึดติด ไม่ผิด ไร้ศาสนา คือ ปัจเจกแห่งโลก

แลกเปลี่ยนมุมมองพระพุทธศาสนา กับ 'ผศ.ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข' มองการยึดติดตัวบุคคลอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ลืมศึกษาหลักธรรมที่เป็นแก่นแท้ คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก เหตุข่าวเสียพระสงฆ์มีให้เห็นมาก จนภาพจำเริ่มเปลี่ยนไป

'ความไม่ยึดมั่นถือมั่น' เป็นหนึ่งในหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะหากใจปล่อยวางได้แล้ว ย่อมเป็นส่วนประกอบนำไปสู่การหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้ในที่สุด…

อย่างไรก็ตาม เราจะสังเกตเห็นได้ว่าชาวพุทธบางคน ยังยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะ 'ยึดติดในตัวบุคคล' นั่นก็คือพระสงฆ์ผู้สืบทอดศาสนา แต่เมื่อมีการยึดติดและส่งต่อความเชื่อ จนพระบางรูปโด่งดัง ก็ใช่ว่าทุกรูปจะปฏิบัติดีเสมอไป

มีข่าวจำนวนไม่น้อยที่พระสงฆ์ใช้แรงศรัทธาของประชาชน เพื่อช่วงชิงสร้างประโยชน์แก่ตนเอง จนกระทั่งนำมาซึ่งภาพจำไม่ดีที่มีต่อพระพุทธศาสนา ถึงกระนั้น การยึดติดในตัวบุคคลก็ยังมีให้เห็น จนนำมาซึ่งเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ที่ปรากฏภาพเดิมๆ ให้เห็นอยู่ 'ครั้งแล้วครั้งเล่า'

แล้วเพราะเหตุใดเราจึงยึดติดตัวบุคคล?

มีวิธีที่จะสามารถก้าวข้ามความยึดติดนั้นได้หรือไม่?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอนำพาผู้อ่านทุกคน ไปเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผ่านการสนทนาและมุมมองจาก 'ผศ.ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข' อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





รากฐานการยึดติด :

ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า การบูชาตัวบุคคลเปรียบเสมือน 'ปรากฏการณ์' ของสังคม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะทางศาสนา แม้แต่ทางการเมืองก็สามารถเห็นเรื่องลักษณะนี้ได้ คนเรามักจะยึดโยงกับตัวบุคคล มากกว่าการดูที่หลักการ อุดมการณ์ หรือความคิดที่เป็นสำคัญ คราวนี้เมื่อคนหนึ่งได้รับความนิยม สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับคนนั้นก็จะได้รับความนิยมไปด้วย

ทีมข่าวฯ สอบถามต่อไปว่า มีรากฐานใดหรือไม่ ที่ทำให้คนไทยยึดติดกับตัวบุคคล มากกว่าแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา?

ทรรศนะของ ผศ.ดร.สมพรนุช ที่มีต่อคำถามนี้ คือ เรามองว่า เรื่องเชื่อในตัวบุคคล เป็นความคิดทางศาสนาที่มีมาตั้งแต่โบราณ แสดงถึงการยึดมั่น และเชื่อมั่นผู้ที่มีความเกร่งกล้าสามารถ คล้ายกับมองว่าเป็น 'ฮีโร่' ซึ่งถ้ามองดีๆ แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ก็มีความเป็นฮีโร่อยู่เช่นกัน

"อย่างในประเทศไทย ความคิดดั้งเดิมมีผลมาก ที่ทำให้เรายึดตัวติดบุคคล หรือคุณวิเศษบางอย่างที่อยู่ในบุคคลนั้น มากกว่าที่จะไปยึดหลักการของพระพุทธศาสนา"

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการสอน นั่นก็คือหลักการที่พระองค์ทรงค้นพบจากการตรัสรู้ ได้แก่ อริยสัจ 4 ที่พูดถึงเรื่องของความทุกข์ และการหลุดพ้นจากทุกข์ สิ่งนี้ต่างหากที่เป็น 'พระพุทธศาสนา' แต่เมื่อศาสนาสืบทอดต่อกันมานับพันปี แน่นอนว่าย่อมมีความคิดพื้นเมืองเข้าไปผสมผสาน





ยึดติดตัวบุคคลได้ แต่ต้องศึกษาแก่นธรรมด้วย :

ผศ.ดร.สมพรนุช การยึดตัวบุคคล การยึดเป็นที่พึ่งทางใจ การได้สนทนาแล้วสบายใจ อยากเข้าใกล้ ฯลฯ มันคือสิ่งที่เป็นปฐมภูมิ เป็นเพียงขั้นต้น แก่นของพระพุทธศาสนาต้องไปไกลกว่านั้น จะไม่ยุ่งไม่ยึดติดตัวบุคคล เราต้องพึ่งตัวเอง ต้องเข้าใจว่าชีวิตเป็นทุกข์ได้อย่างไร และจะออกจากทุกข์นั้นได้อย่างไร

การนับถือพุทธศาสนาเราต้องเล่าเรียนด้วย ต้องศึกษาจากตัวบทและคัมภีร์ที่เป็นหลักการ ถ้าไม่ได้ศึกษาจากหลักการเลย แต่ไปเน้นอยู่ที่ตัวของบุคคล ศาสนาพิธี หรือพิธีกรรมต่างๆ ก็จะทำให้คนไปยึดติดกับตัวบุคคล

"การศึกษาพระพุทธศาสนาตามหลักการ ต้องมีผู้ให้ความรู้ที่ถูกต้อง พยายามที่จะสอนหลักศาสนา แต่สุดท้ายแล้ว ผู้สอนก็ไม่พ้น 'พระภิกษุ' หรือ 'พระอาจารย์' สุดท้ายคนเราก็จะไปติดอยู่กับพระอาจารย์ ตามที่เราเห็นว่ามีชาวพุทธจำนวนมาก ไปแสดงหาครูบาอาจารย์ดังๆ มากกว่าการแสวงความรู้ทางหลักธรรม"

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ กล่าวต่อว่า ในบรรดาของพระชื่อดัง มีทั้งที่เป็นของจริงและไม่จริง ถ้าเป็นของจริง ผู้ที่เข้าไปก็จะได้รับผลประโยชน์ จากการได้ศึกษาเล่าเรียนหรือฝึกปฏิบัติกับพระรูปนั้นๆ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นของไม่จริง สุดท้ายประชาชนก็จะถูกหลอก อย่างเช่นคดีของ หลวงปู่เณรคำ

สำหรับเราในจุดนี้ จะยึดติดตัวบุคคลอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ลืมว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ นั่นก็คืออริยสัจ 4 ความเข้าใจสิ่งที่ต่างๆ ตามความเป็นจริง ความเข้าใจสภาพไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงของขันธ์ 5 การที่พยายามที่จะปฏิบัติธรรมตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา นี่คือหลักการ

"พระสงฆ์เป็นเพียงผู้สืบทอดศาสนา ท่านก็ปฏิบัติเพื่อตัวท่านเอง และแบ่งปันความรู้ให้พุทธศาสนิกชน เพื่อให้ทุกคนนำไปเป็นความรู้ ต่อยอดสู่วิธีทางปฏิบัติเพื่อตนเอง"





กรณีตัวอย่าง (อดีต) 'พระมิตซูโอะ' :

กรณีตัวอย่างที่ ผศ.ดร.สมพรนุช ยกประกอบการอธิบายว่า เข้าข่ายลักษณะ 'การยึดติดตัวบุคคล' คือกรณีของ (อดีต) 'พระมิตซูโอะ' โดยได้อธิบายว่า ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ในสายของท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตั้งใจสืบทอดศาสนา มีลูกศิษย์มากมาย มีพระที่เป็นนักปฏิบัติ แล้วไปสร้างวัดตามสถานที่ต่างๆ

ส่วนพระมิตซูโอะ ช่วงที่ท่านยังอยู่ในสมณเพศ ท่านเป็นพระรูปหนึ่งที่น่าเคารพนับถือ แต่เมื่อวันหนึ่งมีเหตุปัจจัยต่างๆ เข้ามา ทำให้ท่านจำเป็นต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิตจึงตัดสินใจลาสิกขา มันก็เป็นเรื่องปกติที่ท่านจะทำได้ แต่ก็จะมีคนไทยบางกลุ่มที่รับไม่ได้กับเรื่องนี้

"กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า คนอาจจะไม่ได้เข้าหาพระมิตซูโอะเพราะเรื่องหลักธรรม แต่เข้าหาเพราะคุณสมบัติบางอย่างของท่าน การเคารพในคุณลักษณะที่เป็นพระดี ซึ่งคนไทยติดเรื่องลักษณะนี้ มากกว่าที่จะมองแค่ว่าท่านเป็นเพียงแค่พระสงฆ์ผู้สืบทอดศาสนา"

ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าวต่อว่า เรื่องนี้แสดงถึง 'การยึดติดในตัวบุคคล' แทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การยึดติดกับตัวบุคคลไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องเรียนรู้แนวคิด หลักธรรม กระบวนการทางศาสนาด้วย อย่างเรื่องของพระมิตซูโอะ เราก็ควรมองว่าเป็นเรื่องขันธ์ 5 ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน





แนวคิด 'กัลยาณมิตร' :

แม้การยึดติดตัวบุคคลจะไม่ใช่หลักการของพระพุทธศาสนา แต่ ผศ.ดร.สมพรนุช บอกว่า การกระทำลักษณะนี้มีสิ่งที่ศาสนารองรับอยู่ นั่นก็คือเราจะรู้สึกว่า 'เหมือนได้อยู่ใกล้กัลยาณมิตร'

อาจารย์ ขยายความว่า กัลยาณมิตร หรือ ผู้มีบุญมาก เป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในความคิดของคนไทยมาช้านาน เพราะเราต่างมองหาคนที่เป็นผู้นำ และต้องยอมรับว่า 'พระสงฆ์' เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาตั้งแต่โบราณ ในประวัติศาสตร์ไทย เราก็มักจะมองหาคนที่มีความรู้ และมีคุณธรรมสูงส่งเป็นผู้นำ ซึ่งคนมีภาพจำว่าพระสงฆ์มีสิ่งที่กล่าวมา และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่

"เมื่อคนมีความรู้สึกแบบนั้น มันก็ดึงดูดให้คนมีศรัทธาในลักษณะนี้ ทีนี้ถ้าไม่ได้ไตร่ตรองให้ดี ก็อาจจะเข้าใจอะไรผิดๆ" ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าว





ทำอย่างไรจึงจะเลิกยึดติดตัวบุคคล? :

คราวนี้… ถ้าการยึดติดตัวบุคคล ไม่ใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา เราจึงสงสัยและสอบถามอาจารย์ว่า จะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้ก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้นได้?

ผศ.ดร.สมพรนุช แสดงความคิดเห็นว่า เรายังคงเชื่อในเรื่อง 'การศึกษา' สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งมันยากเพราะเป็นนามธรรม เป็นอะไรที่เข้าใจยาก และปฏิบัติได้ยาก แต่กลับกันเมื่อเราเข้าหาอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่เราเชื่อว่าเขาศักดิ์สิทธิ์ มีคุณวิเศษ มันเข้าถึงง่ายมากกว่า

"การได้รับการศึกษาอย่างถูกต้อง จะช่วยพัฒนาเรื่องของวิจารณญาณ ซึ่งจะเป็นเหมือนกรอบ ที่ทำให้แต่ละท่านได้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองที่สุด หรือว่าหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวง"

เมื่ออาจารย์ผู้ให้สัมภาษณ์ยังมองว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่อยาก ทีมข่าวฯ จึงถามต่อไปว่า แล้วเรายังจะมีความหวังให้สังคมไทยก้าวข้ามเรื่องนี้ได้หรือไม่?

ผศ.ดร.สมพรนุช ตอบว่า เราต้องบอกว่า "อยากให้มองแบบมีความหวัง" เราต้องมีความหวังไว้ก่อนไม่งั้นจะอยู่ลำบาก ถ้าเห็นแต่ข้อเสียอย่างเดียวจะทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหวัง





การภาวนาขอพรไม่ใช่เรื่องผิด :

อีกหนึ่งคำถามที่น่าฉงน คือเมื่อศาสนาพุทธสอนให้หลุดพ้น แต่ผู้คนต่างยังมุ่งมั่น 'ขอพร' และอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วนี่ถือเป็นเรื่องผิดหรือไม่ควรหรือไม่?

ข้อสงสัยนี้ ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า การขอพร หรืออธิษฐานเรื่องต่างๆ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในทางศาสนามีสิ่งที่เรียกว่า 'อธิษฐานบารมี' คือ การตั้งจิตให้มั่น เหมือนการตั้งความหวัง ตั้งความปรารถนา เซตเป้าหมายว่าเราจะไปถึงอะไร หรืออยากได้อะไร แต่ตามหลักการแล้ว การที่เราวางเป้าหมายอย่างเดียว โดยที่ไม่ลงทำอะไร ความสำเร็จในเรื่องนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย

"การไปอธิษฐานกับพระ ทำให้มีที่พึงทางใจ กลายเป็นคนที่มีหวัง สภาพชีวิตที่อยู่โดยไร้หวังเป็นเรื่องที่แย่มากเลยนะพราะจะทำให้เราไม่อยากมีชีวิตอยู่ ดังนั้น การที่เรามีความหวัง แล้วฝากความหวังไว้ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เรามีแรงกาย แรงใจ ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป"

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ แสดงทรรศนะต่อว่า ดังนั้น เรามองว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องระลึกว่าขออะไรต้องปฏิบัติ มันก็เข้ากับหลักการของศาสนาอีก เป็นเรื่องของ 'กรรม' ก็คือ 'การกระทำ'





มูเตลู-กุศโลบาย :

อีกหนึ่งกระแสที่ตีคู่กันมากับการยึดติดตัวบุคคล นั่นก็คือเรื่อง 'มูเตลู' เราจะเห็นได้ว่าหลายคนเลือกที่จะเมินพุทธศาสนา แต่หันไปพึ่งพาเครื่องรางของขลัง ซึ่ง ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า เรื่องนี้เหมือนเป็น 'ไสยศาสตร์ยุคใหม่' เป้าหมายของการบูชาตรงนี้ ก็เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ต้องการเท่านั้น คนก็จะแสวงหาของต่างๆ มา ซึ่งนี่ก็ถือว่าผิดหลักการของศาสนา

แต่อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงศาสนาพุทธก็มีเรื่องทำนองนี้ แต่เราจะยึดถือในลักษณะที่เป็น 'กุศโลบาย' มากกว่า เช่น คุณได้รับพระเครื่องไป แต่ถ้าต้องการจะบูชาพระองค์นี้ แล้วให้ได้ดี ต้องเป็นคนที่มีศีล มีสัตย์ มีคุณธรรม จึงจะสามารถรักษาคุณวิเศษของพระองค์นั้นได้ มันเป็นกุศโลบาย เพื่อให้ผู้ชาปรับตัวให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงการเช่าบูชาหรือครอบครอง





คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก :

เราจะเห็นได้ว่าในหมู่คนรุ่นใหม่ กระแสการเข้าวัดทำบุญเริ่มลดลงเรื่อยๆ หลายคนเลือกที่จะเมินพระพุทธศาสนา หรืออาจจะไม่นับถือศาสนาใดเลยเสียด้วยซ้ำ ไม่ก็เน้นการกราบไหว้บูชาตามโอกาส และช่วงเวลาที่ตนอยากได้สิ่งที่ต้องการ

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สมพรนุช รู้สึกว่า การที่คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนหนึ่งก็มาจากเพราะเขาเห็นข่าวที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับพระ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อ มีข้อมูลมากมายที่พวกเขาเห็น ทั้งดีและเสีย เพียงแต่ว่าเราจะสื่อสารให้เขาเห็นได้อย่างไร ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องธรรมดา ในหลักการของศาสนาต่างหากมีของดีอยู่

"จะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่พระสงฆ์ แต่พระสงฆ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาสนา เป็นเพียงแค่ผู้สืบทอด และจริงๆ แล้วพระสงฆ์เหล่านั้นก็เป็นเหมือนเรานี่แหละ เพียงแต่เขาไปนุ่งห่มผ้าเหลือง แล้วอยู่ในพระวินัย ซึ่งบางท่านก็ทำได้ ปฏิบัติดี แต่บางท่านก็ทำไม่ได้ เลยออกมาในลักษณะการนอกรีตนอกรอย มันอยู่ที่การให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง"

ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าวต่อว่า เรื่องพระนอกรีตมีมาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ไม่มีสื่อกระแสจึงยังไม่กว้างเท่าปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เราเห็นได้ทุกอย่าง แล้วอะไรที่เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสามัญที่พระต้องปฏิบัติ คนก็ไม่เอามาลงเป็นข่าว แต่อะไรที่ผิดประหลาดจะเป็นข่าวเสมอ คนจึงสูญเสียศรัทธาแห่งศาสนา

"ตอนนี้กลายเป็นว่าพระสงฆ์ เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาไปแล้ว ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่" อาจารย์กล่าวเน้นย้ำกับเรา





ความท้าทายในวันที่คนมีความเป็นปัจเจกสูง :

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาจารย์เชื่อว่า สังคมเราก็ดูมีความพยายามจะทำให้ศาสนาดีขึ้น โดยองค์กรของรัฐ เอกชน หรือหน่วยงานใดก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในยุคนี้ คือ โลกสื่อโซเชียล และความเป็นปัจเจกนิยมบุคคล สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความยาก ที่จะทำให้ทุกคนคิดหรือทำเหมือนกัน

เราเผยแพร่ความคิดได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องของ 'ปัจเจก' ที่จะเลือกเชื่อหรือไม่ อิทธิพลของสื่อยุคนี้แรงมาก ทำให้ข่าวสารแพร่สะพัดไปหลากหลาย ดังนั้น ความเชื่อทุกวันนี้ เราไม่สามารถบอกได้เลยว่ามีอยู่กี่อย่าง หรือมีอะไรปะปนมาบ้าง

อย่างเรื่องของ 'มูเตลู' คนที่ทำเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่กลุ่มพระพุทธศาสนาเท่านั้น แม้กระทั่ง ฤาษี ชีไพร ไม่รู้มาจากไหน ตั้งตัวเป็นอาจารย์ ตั้งตัวเป็นเอกชน เป็นคนมีความรู้ ซึ่งถ้ามีคนศรัทธา พร้อมใช้เข้าไปบริการ เขาก็สามารถไปต่อได้ และก็วนกลับมาเรื่องยึดตัวบุคคล

"ปัจจุบันเรื่องความคิดปัจเจกบุคคล มีมากขึ้นกว่าในอดีต มากเกินที่รัฐจะควบคุมสื่อ ความคิด หรือความเชื่อทางศาสนาได้ ซึ่งทุกวันนี้มีสื่อให้เราค้นหามากขึ้น อยู่ที่ว่าเราจะแสวงหาองค์ความรู้ดีๆ จากไหน"

                                    ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน





Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2775497
4 เม.ย. 2567 , 06:40 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > Interview > ไทยรัฐออนไลน์
19  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔ เมื่อ: เมษายน 03, 2024, 10:32:00 am
.



การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔
โดย ภาษิต สุขวรรณดี สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา
หมายเหตุ : ยกมาแสดงบางส่วน




๓. การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔

ภาวนาหรือการพัฒนาตามแนวพระพุทธศาสนามี ๔ อย่าง จําแนกไว้ว่า คือ
     ๑. พัฒนาด้านกาย เรียกว่า กายภาวนา
     ๒. พัฒนาด้านศีล เรียกว่า ศีลภาวนา
     ๓. พัฒนาด้านจิต เรียกว่า จิตภาวนา
     ๔. พัฒนาด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา     

ภาวนาตามแนวพระพุทธศาสนานี้เป็นของเก่ามาก  แต่จําเพาะมาใกล้กันมากกับ development ๔ ประการของวงการการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งกล่าวถึงการพัฒนาที่แปลจากของฝรั่งว่า development ๔ ด้าน หรือ growth ๔ ด้าน คือ
    ๑) พัฒนาทางกาย (Physicaldevelopment) 
    ๒) พัฒนาการทางสังคม (Social  development) 
    ๓) พัฒนาการทางอารมณ์ (Emotional development)
    ๔) พัฒนาการทางปัญญา (Intellectual development)

ซึ่งมีการพูดกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยพูดถึงภาวนา ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา คําว่า "ภาวนา" ใน  dictionary ภาษาบาลี-อังกฤษ แปลเป็น development ทั้งนั้น ภาวนาในทางพระพุทธศาสนาแปลว่า พัฒนา  และคําว่า development ก็มีความหมายตรงกับคําว่าภาวนา และทั้งภาวนา และ development มี ๔ ประเด็นเหมือนกัน ดังนี้ 

     ๑) พัฒนากาย หรือพัฒนาทางกาย ได้แก่ Physical development ตรงกับ กายภาวนา     
     ๒) พัฒนาศีล หรือพัฒนาทางสังคม ด้วยเหตุที่ศีลคือการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่เบียดเบียนกัน มีชีวิตที่เกื้อกูลต่อกัน และมีวินัยจึงได้แก่ Social development ตรงกับ ศีลภาวนา       
     ๓) พัฒนาจิตใจ หรือพัฒนาทางอารมณ์ เรื่องอารมณ์ที่เพี้ยนมาในภาษาไทยปัจจุบัน ก็คือเรื่องของจิตใจนั่นเอง พัฒนาด้านนี้ จึงได้แก่ Emotional development ตรงกับ จิตภาวนา     
     ๔) พัฒนาปัญญา หรือพัฒนาการทางปัญญา ได้แก่ Intellectual development ตรงกับ ปัญญาภาวนา


@@@@@@@

๓.๑ การพัฒนาสี่ด้าน แต่รวมลงเป็นระบบเดียว จึงกล่าวได้ว่า ภาวนา ๔ กับ development ตรงกันหมด แต่ความหมายมีนัยที่แยกกัน ต่างกัน กว้างกว่ากัน หรือลึกกว่ากันบ้าง คือ

กายภาวนา พระพุทธศาสนาไม่เน้นที่การทําให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง แต่ถือว่าการกินอาหารให้ได้คุณค่า  กินพอดี ด้วยความรู้จักประมาณ ให้ร่างกายอยู่ผาสุก มีสุขภาพดีเป็นฐานให้การพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป การมีร่างกายที่ระบบภายในต่างๆ ทํางานเรียบร้อยดี เรียกว่าเป็น ปธานิยังคะ อย่างหนึ่ง คือ เป็นองค์หนึ่งของสภาพชีวิตที่เหมาะแก่การใช้ความเพียรพยายามในการพัฒนาชีวิต แต่การพัฒนากายไม่ใช่แค่นั้น

การพัฒนากาย ท่านเน้นที่เราดํารงชีวิตอยู่ในโลกนี้ ส่วนของร่างกายที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในการดํารงอยู่ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น และประสาทกาย ที่เรียกว่าอินทรีย์ ฉะนั้น การพัฒนากายในพระพุทธศาสนาจึงเน้นไปที่การพัฒนาอินทรีย์ ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ใช้งานได้ดี เกิดประโยชน์สูงสุด มีผลในทางส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น พัฒนาการใช้ตาให้ดูเป็น พัฒนาการใช้หูให้ฟังเป็น ฯลฯ การพัฒนากายจะต้องเน้นเรื่องนี้

การพัฒนาอินทรีย์ คือ การฝึกใช้อินทรีย์ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ไม่ใช่ใช้อินทรีย์ให้เกิดโทษ ฉะนั้น การศึกษาจะต้องมีกายภาวนา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเพียงฝึกให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพดีเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาให้ใช้อินทรีย์เป็น นอกจากนั้นการพัฒนาทักษะต่างๆ ในทางอาชีพ ก็รวมอยู่ในข้อนี้ด้วย แต่ที่เป็นแกนกลาง ก็คือ การพัฒนาที่เป็นอินทรีย์นี้ จนพูดได้ว่า การพัฒนากายก็คือการพัฒนาอินทรีย์

ศีลภาวนา ที่ว่าเป็นการพัฒนาทางสังคมนั้น  ไม่มุ่งแต่การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดีโดยไม่เบียดเบียนกันเท่านั้น  แต่มุ้งถึงการฝึกอบรมกาย วาจา ให้เป็นฐานในการพัฒนาจิตต่อด้วย กล่าวคือการฝึกอบรม ให้รู้จักควบคุมตนในเรื่องกายวาจานั้น เริ่มด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ให้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ดี เป็นไปในทางที่เกื้อกูลต่อกันในสังคม เรื่องนี้เป็นศีลขั้นพื้นฐาน แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีการศึกษาอบรมกายวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่ความสามารถในการฝึกพฤติกรรมทางกายวาจาของตนนั้น จะเป็นฐานแก่การพัฒนาจิตใจต่อไปด้วย

เมื่อเรารู้จักควบคุมฝึกหัดกายและวาจาแล้ว จะต้องฝึกฝนพัฒนาจิตใจพร้อมกันไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อกันตามหลักปัจจัยสัมพันธ์ หมายความว่า ภาวนา ๔ ด้านนี้ จะต้องโยงเป็นระบบเดียวกันไม่ใช่แยกเป็นด้านๆ ไม่ใช่เป็นความคิดแบบ reductionist เพราะพวกนั้นแยกแล้วไม่โยง คือแยกภาวนา หรือพัฒนา ๔ ด้าน แยกออกไปได้หมด แต่ไม่ได้ดูว่า ๔ ด้านนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร

ทางที่ถูกต้องโยงด้วยว่า ๔ ด้านนี้เกื้อกูลและอาศัยกันอย่างไรอีกที แยกแล้วต้องโยงด้วยทางด้านการพัฒนาจิตใจก็ต้องโยงว่า เมื่อพัฒนาจิตใจดี ก็ส่งผลดีออกมาต่อร่างกาย เช่น ใจไม่โกรธไม่เครียด ช่วยให้มีสุขภาพดีและมีผลในการสัมพันธ์หรือในการอยู่ร่วมสังคมด้วย ทําให้การสัมพันธ์กับโลก และสภาพแวดล้อมภายนอกพลอยดีไปด้วย และการพัฒนาจิตใจนั้น เช่น เมื่อมีสมาธิ ใจไม่ว้าวุ่นสับสน ก็เป็นฐานให้แก่การพัฒนาปัญญาต่อไป 

เมื่อพัฒนาปัญญาดีแล้ว ก็ทําให้จิตใจเป็นอิสระ เพราะรู้ว่าจะทําจะปฏิบัติต่ออะไรอย่างไร แก้ไขข้อติดขัดขจัดปัญหา หายอึดอัดหลุดโล่งไปได้ ตลอดจนรู้เท่าทันชีวิตและโลกตามเป็นจริงรู้เท่าทันเหตุปัจจัย มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้จักมองตามเหตุปัจจัย ก็ไม่มีอะไร มาบีบคั้นตัว อย่างน้อยก็ไม่ค่อยมีการกระทบกระแทก เพราะทําตามปัญญา ไม่ใช่ทําตามใจอยาก     

การพัฒนาปัญญาตามหลักพระพุทธ-ศาสนานี้ จะใช้คําว่า intellectual ก็ไม่ค่อยตรงเพราะคําว่า intellectual เน้นไปที่ความคิดเหตุผลซึ่งเป็นเพียงขั้นหนึ่งหรือด้านหนึ่งของปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา มีอยู่หลายขั้น เริ่มตั้งแต่การรู้จักรับ รู้ประสบการณ์ให้ตรงตามเป็นจริง การคิดตามเป็นจริง โดยไม่ถูกครอบงําด้วยอคติ หรือโลภะ โทสะ โมหะ จนถึงความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง ที่ทําให้มีจิตใจเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้ ปัญญาภาวนาอาจจะต้องใช้คําว่า wisdom development       

ภาวนา ๔ นี้เป็นหลักสําคัญอีกชุดหนึ่ง โดยสรุปแล้ว ภาวนาหรือพัฒนาแสดงถึงหนทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เมื่อพูดแยกเป็นแง่ ด้านต่างๆแล้ว ก็ต้องเอามาโยงเข้าด้วยกันให้เป็นภาพรวมอันหนึ่งอันเดียว กันอีกที

@@@@@@@

๓.๒ เป้าหมายของการพัฒนาสู้จุดหมายของชีวิต

จุดหมายในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ถือเป็นจุดหมายของการศึกษา ซึ่งกล่าวให้ง่าย จุดหมายนั้นก็คือ การพัฒนาตนของแต่ละคนให้เข้าถึง อัตถะ(เรื่องอัตถะ คือ จุดหมายของชีวิต ๓ ขั้น พึงดูในหนังสือวินัยชาวพุทธ หน้า ๙–๑๐ หรือ ธรรมนูญชีวิต หน้า ๘–๙) คือ เข้าถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตในระดับต่างๆกัน คือ

    ๑. ขั้นชีวิตระดับรูปธรรม หรือชีวิตด้านนอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตามองเห็น เช่น ให้พึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ให้พึ่งตนได้ในทางสังคม โดยอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความเจริญก้าวหน้าในสังคม มีฐานะตําแหน่งเป็นที่ยอมรับนับถือ เป็นต้น ซึ่งเป็นขั้นเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ที่ตามองเห็น อันเป็นประโยชน์ในขั้นของจุดหมายสามัญ เป็นอิสรภาพของชีวิตด้านนอก หรืออิสรภาพทางกายภาพและทางสังคม ขั้นนี้แม้จะสําคัญแต่ไม่เพียงพอ ถ้ามีได้เพียงขั้นนี้ไม่มีขั้นที่ ๒. จะไม่ปลอดภัย     

    ๒. ขั้นเข้าถึงจุดหมายในทางชีวิตจิตใจที่ลึกซึ้งลงไป คือ มีจิตใจที่ดีงาม เชื่อมั่นในความดีและการกระทําสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละสร้างสรรค์ทําประโยชน์ต่างๆ มีปัญญากอปรด้วยวิจารณญาณ ซึ่งทําให้เกิดความมั่นใจและความสุขในบุญกุศล หรือการมีชีวิตที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นขั้นที่เรียกว่า "สัมปรายิกัตถะ" คือ ประโยชน์ที่ลํ้าเลยจากการที่ตามองเห็น เป็นอิสรภาพของชีวิตด้านใน ที่ปลอดพ้นจากความชั่วร้ายตกตํ่า และความทุกข์ที่ร้ายแรงขั้นที่เรียกว่า ตกอบาย       

    ๓. ขั้นสุดท้ายคือ ปรมัตถะ ความหมายคือ ประโยชน์สูงสุด คือถึงขั้นที่มีจิตใจเป็นอิสระด้วยปัญญาที่รู้ความจริง อย่างที่เรียกว่ารู้แจ้งสังขารหรือรู้เท่าทันโลกและชีวิต ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งทั้งหลาย ไม่หวั่นไหวตามความเป็นไปภายนอก เป็นภาวะเต็มอิ่มสัมบูรณ์ ซึ่งมีแต่ความสุขที่โปร่งเบา ไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพขั้นสูงสุดหรือขั้นสุดท้าย ที่ความเป็นอิสระของชีวิตจิตใจถึงขั้นเป็นภาวะเด็ดขาดสิ้นเชิง เพราะปัญญากําจัดเหตุปัจจัยแห่งความติดข้องของจิตหมดสิ้นแล้ว

แม้แต่ความสุขก็แบ่งได้เป็นหลายประเภทหลายระดับ เช่น ที่แบ่งอย่างง่ายๆว่า ความสุขของมนุษย์แยกออกเป็น ๒ แบบ คือ
      ๑) สามิสสุข ความสุขที่อาศัยอามิส และ 
      ๒) นิรามิสสุข ความสุขที่ไม่อาศัยอามิส       

สําหรับคนธรรมดาทั่วๆไปที่ยังมีจิตใจไม่เป็นอิสระ ไม่ถึงปรมัตถ์ ก็ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาเป็นปัจจัยช่วยให้ได้รับความสุข ความสุขของเขาขึ้นต่อวัตถุ ต้องอาศัยสิ่งบํารุงบําเรอ หรือแหล่งความสุขจากภายนอก ถ้าไม่มีอะไรภายนอกมาช่วยให้ได้เสพได้บริโภค เป็นต้น ก็เป็นทุกข์ ไม่สบาย ไร้ความสุข อย่างนี้เรียกว่ามีแต่ สามิสสุข กล่าวคือ ความสุขที่ยังพึ่งพาวัตถุ แต่ถ้าได้พัฒนาตนขึ้นไปถึงปรมัตถ์แล้ว หรือแม้แต่ในแนวทางของปรมัตถ์ ก็จะมีนิรามิสสุข สุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยอามิส ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก มีความสุขได้โดยลําพังตัว เป็นตัวของตัวเอง เป็นความสุขแบบอิสระ เป็นการพึ่งตัวเองได้ด้วยความมีอิสรภาพทางจิต ทางปัญญา การพึ่งตนได้ ก็มีหลายขั้นเป็นระดับๆ ขึ้นมา

เริ่มแต่พึ่งตนได้ทางรูปธรรม ไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่นในด้านวัตถุภายนอก ในทางสังคม ในทางจิตใจจนถึงพึ่งตนเองได้ในทางปัญญา จึงเข้าถึงอิสรภาพอย่างแท้จริง 

กล่าวโดยสรุป การพึ่งตนได้ ก็คือ อิสรภาพในระดับต่างๆ จนถึงอิสรภาพสูงสุด ทั้งหมดนี้จึงกลับเข้าสู่หลักข้างต้น  ที่ว่า 
    ๑) รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เข้าถึงสัจธรรม
    ๒) จึงดําเนินชีวิต หรือปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้สอดคล้องกับหลักความจริง เป็นผู้มีจริยธรรม
    ๓) จึงสามารถแก้ปัญหาได้สําเร็จ ไร้ทุกข์ เกิดมีอิสรภาพ





๔. ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพุทธศาสตร์ ๔ มิติ

"การพัฒนา" พระพุทธศาสนา เรียกว่า ภาวนา หมายถึง กระบวนการสร้างหรือทําให้เกิดให้มีขึ้น ส่วนบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ที่ผ่านการขัดเกลาพัฒนา และตามกระบวนการแล้วเรียกว่า "ภาวิตา" หมายถึงถูกพัฒนาแล้วโดยใช้เครื่องมือและกลไก หลักการ ที่จัดเป็นยุทธวิธีตามแนวพุทธศาสตร์ คือ มีคุณสมบัติและมีวัตถุประสงค์ (Objective) และเป้าหมาย (Goal) ตามรูปแบบ (Pattern) ยุทธศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ กําหนดไว้ ๔ มิติ คือ
     
@@@@@@@

๔.๑ กายภาวนา หมายถึง การพัฒนากาย ฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งด้านกายภาพและชีวภาพด้วยดีมิให้เกิดโทษ มีประโยชน์แก่ตนเองและสังคม บําเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์ มิให้อกุศลเกิด ปัจเจกบุคคลต้องรู้จักเลือกเสพ บริโภคสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่างแก่ร่างกายแก่ตนเอง รับเอาปัจจัยที่ส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย ไม่ทําอะไรที่เป็นการหักโหมจนเกินไป รู้จักพักผ่อนให้เพียงพอแก่สุขภาพร่างกาย ออกกําลังกายแต่พอควร และใช้ชีวิตด้วยการมีสติ อย่าประมาท

การกําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน มีนัยตามนี้ จึงกําหนดนโยบายเร่งด้วนออกมา ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จากหลากหลายทัศนะมุมมอง อันเนื่องมาจากผลกระทบด้านบวกต่อประชาชนในระดับรากหญ้า รัฐจึงใช้ยุทธวิธีทั้งในเชิงรุก คือ การสร้างกระแสตื่นตัวในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ออกกําลังกายในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ทรัพยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การออกกําลังประกอบเพลงดนตรีท้องถิ่นของแต่ละภาค เป็นต้น เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี

ยุทธวิธีในเชิงรับ คือ การดูแลรักษาผู้ที่มีโรคภัย หรือไม่สบาย ดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับหนึ่ง เป็นการให้โอกาสกับประชาชนได้เข้าบริการของรัฐตามสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๒ มีเป้าหมายทางสังคม คือ การมีสุขภาพชีวิตที่ของประชาชน การพัฒนาด้านกายตามแนวพุทธศาสตร์จึงเป็นการกําหนดทำาทีและทิศทางอันเหมาะสมกับตนเอง   
   

@@@@@@@

๔.๒ ศีลภาวนา คือ การพัฒนาพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล  ให้ถูกต้องสอดคล้องกับระเบียบวินัย  กฎเกณฑ์ กติกาของสังคม ตลอดถึงขนบธรรมเนียม จารีตวิถี และมารยาทสากลนิยม มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ประกอบอาชีพที่สุจริต ใช้ชีวิตถูกต้อง และขยันหมั่นเพียรสร้างผลผลิต (product) ให้เพิ่มขึ้นโดยสุจริตในการประกอบอาชีพ (อุฏฐานสัมปทา) รู้จักฉลาดอดออม (save) ทรัพย์สินที่หามาได้ ด้วยมาตรการต่างๆ (อารักขสัมปทา) เข้าสู่ระบบการออมของนโยบายรัฐ

สังคมไม่มีสันติสุข ขาดความสมดุลยภาพเพราะปัจเจกบุคคลบกพร่องในจริยธรรม คุณธรรม ที่ได้ชื่อว่าศีลนี้เอง  โดยเฉพาะศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลขั้นต้น นับเป็นหลักสากลในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งมิติของคําพูดการกระทํา และการเลี้ยงชีพ       

ผลกระทบต่อสังคม อันเนื่องมาจากการย่อหย่อนหรือความบกพร่องทางคุณธรรม คือ ความเสียหายต่อสังคม ประเทศชาติ ความเชื่อมั่นต่อประเทศลดลง การพัฒนาไม่ประสบผลสําเร็จเพราะกระบวนการที่ถูกต้อง สังคมจึงไม่ปกติสุข มีปัญหา อันเป็นผลมาจากการทุจริตทั้งสามมิติ คือพูด พฤติกรรม และการอาชีพการทุจริต หรือคอรัปชั่น มีสมุฏฐานมาจากการบกพร่องทางศีลธรรม จึงมีปรากฏทุจริตเชิงนโยบายอันแยบยลออกมา องค์กรอิสระที่เราตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ถูกต้องคาดหวังเอาไว้สูงมาก เพราะเราได้สูญเสียโอกาส สิทธิอันพึงมีพึงได้     

ดังปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ (๒๕๔๔-๒๕๔๙) จึงได้กําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการบริหารจัดการที่ (Good governance) เป็นยุทธศาสตร์ที่สําคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์ให้ขับเคลื่อนไปด้วยดี และให้ความสําคัญกับ การปรับระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ (Sufficiency) และโปร่งใส (Transparent) การป้องกันและการทุจริตประพฤติมิชอบ       

@@@@@@@

๔.๓ จิตตภาวนา การพัฒนาจิต ฝึกอบรมจิต ข่มอารมณ์ความรู้สึกได้ มีความเจริญงอกงามทางอารมณ์ (Emotional  growth) จิตที่ฝึกอารมณ์ดีแล้วนําความสุขมาให้ จิตที่มีคุณภาพประกอบด้วยคุณธรรมตามหลักศาสนา มีสมาธิ มีสติมั่นคง ใช้งานได้ดี เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น     

การพัฒนาจิตเป็นเรื่องของคุณธรรม ความรู้สึก แรงจูงใจ สภาพจิตใจ และเป็นนามธรรม คนเข้าใจยาก ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อสังคมเผชิญกับภาวะวิกฤต ก็เอาตัวไม่รอด มีการฆ่าตัวตาย เพราะภูมิคุ้มกันทางจิตไม่ดี สุขภาพจิตเปราะบาง เมื่อประสบเหตุการณ์เข้า ทนไม่ได้ หาทางออกไม่ได้ ฆ่าตัวตาย ถ้าผ่านกระบวนการฝึกอบรมจิต ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด ไม่ส่งผลกระทบกับสังคม       

ข้อเสนอในประเด็นนี้ คือ สร้างจิตสํานึกด้านคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ส่งเสริมให้มีการศึกษาองค์ความรู้ของศาสนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะพุทธศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตอยู่แล้ว ให้เวลากับการสํารวจดูตัวเองอย่างมีวิจารณญาณ ใช้ปัญญาให้มากอย่าให้อารมณ์อยู์เหนือเหตุผล ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ถ้าตั้งใจแน่วแน่ใช้เวลาในการศึกษา รู้ทันตัวเอง มีสติกํากับอยู่ทุกขณะ     

สร้างกระบวนการในการบริหารงานด้านส่งเสริมคุณภาพจิตใจของประชาชน โดยการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเผยแผ่องค์ความรู้ด้านศาสนธรรมแก่ประชาชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพจิต ปรับปรุงกระบวนการทํางานให้ทันเหตุการณ์ ศึกษาวิเคราะห์แนวทางต่างๆ อย่างเป็นระบบ ในรูปเครือข่ายงานสร้างคุณภาพจิตของประชาชน     

วิธีการในการพัฒนาคุณภาพจิตของพุทธศาสนา มีให้เลือกและสามารถนํามาใช้กับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลอย่างเหมาะสมหลายประการ แต่ละอย่างมีผลสะท้อนกลับมายังผู้ปฏิบัติมากน้อยตามกําลังความสามารถของแต่ละคน โดยไม่ต้องเข้าศึกษาหรือบวชเรียนตามสํานักต่างๆ เพียงแต่มีศูนย์ดูแลมีบุคลากรผู้ประสบการณ์ เชี่ยวชาญเข้าใจในวิธีบริการดีต่อผู้อื่น     

ในกระแสโลกาภิวัตน์สิ่งที่มาคู่กัน คือ กระแสวัตถุนิยมในระบอบประชาธิปไตยคนที่จะยืนหยัดสู้ได้ จิตใจต้องเข้มแข็ง ชีวิตจึงไม่ตกเป็นทาส หรือเหยื่อของกระแส ไม่ต้องไปมองไกลถึงขนาดที่จะช่วยสังคมองค์รวมให้พ้นปัญหาสาธารณะ ขอเพียงให้แต่ละคนช่วยตนเองให้ได้ ก็เป็นปัญหาที่หนักหนาพอสมควร พุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องของจิตตภาวนาโดยตรง       


@@@@@@@

๔.๔ ปัญญาภาวนา พัฒนาปัญญา การฝึกอมรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันเข้าใจโลกและชีวิตตามสภาวะ เป็นการไตร่ตรองวินิจฉัยเหตุการณ์ตามความเป็นจริง เป็นอิสระ ไม่ตามกิเลส รู้และเข้าใจอะไรตามความเป็นจริง

ข้อเสนอในประเด็นนี้ หลักการหรือแนวทางการพัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา ที่จะนําไปกําหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรบุคคล จะต้องมีปัญญากํากับเสมอ ปัญญาเป็นคุณธรรมสําคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยเป็นแสงสว่างส่องทางแห่งชีวิต ช่วยคุ้มครอง หรือปกครองคนและข้อสําคัญ ช่วยให้พ้นทุกข์ หรือให้หาความสุขได้ในท่ามกลางความทุกข์ การเผชิญปัญหาชีวิตโดยปราศจากปีญญา เปรียบเหมือนการเดินคลําไปในที่มืด อาจตกหลุมตกบ่อ หรือที่รกชัฏก็ได้

หลักการหรือแนวทางการพัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา ให้ความสําคัญกับปัญญาอย่างยิ่ง และปัญญานั้นต้องเป็นสัมมาปัญญา คือปัญญาที่ถูกต้อง ปัญญาเกิดจากการประกอบความเพียร ฝึกฝน มิใช่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ เพราะปัญญาที่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญไม่สามารถที่จะเป็นปัญญาขั้นสูงสุด ประเภทของปัญญาจึงมีหลายอย่าง แต่ปัญญาที่จะกําหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ได้ ขอเสนอในที่นี้ คือ       

    ๑) จินตามยปัญญา ปัญญาชนิดนี้เกิดจากการจินตนาการ หรือคิดพิเคราะห์ใคร่ครวญด้วยวิจารณญาณ
    ๒) สุตามยปัญญา ปัญญาประเภทนี้เกิดจากการศึกษา ฟังจากท่านผู้รู้ อบรมสัมมนา ฟังจากสื่ออื่นๆ     
    ๓) ภาวนาปัญญา เกิดจากการพัฒนาโดยกระบวนการต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีภูมิรู้

ปัญญามีขีดความสามารถ แข็งแกร่งทางด้านวิชาการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีประกอบอาชีพด้วยวิชาการและทักษะชั้นสูง จําเป็นที่จะต้องกําหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาปัญญาของมวลชน

เป้าหมายสูงสุดของยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามแนวพุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาให้เกิดปัญญา ซึ่งมีวิธีการเพื่อส่งผลให้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุด ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา คือ การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง     

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของปัจเจกบุคคลให้ดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งมิติร่างกาย  อารมณ์ สังคมและวิญญาณ ซึ่งแต่ละตัวมีเครื่องชี้วัดคุณภาพ (Indicator) แตกต่างกันไป การสร้างยุทธศาสตร์พัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนา คือ เป้าหมายทางสังคมนั้น       

@@@@@@@

พัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา มีหลักการที่เป็นองค์ความรู้ที่จะกําหนดเป็นยุทธวิธีในการพัฒนาไว้อย่างเด่นชัด สามารถที่จะเลือกใช้ได้ตามกลุ่มเป้าหมาย หรือปัจเจกบุคคลที่จะพัฒนา เป็นวิธีการ (ploy) ของการพัฒนาที่ส่งผลต่อการดําเนินงานยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องวางตําแหน่ง (position) กลุ่มเป้าหมายที่จะพัฒนา ตามลําดับของความแตกต่างทางด้านความสามารถทางสติปัญญา (Intelligence) เช่น 
    ๑) ผู้ที่มีสติปัญญา (IQ) สูง การรับรู้ เข้าใจได้เร็วเรียกว่า อุคฆฏิตัญญู
    ๒) ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรองลงมา เรียกว่า วิปจิตัญญู
    ๓) ผู้มีสติปัญญาปานกลาง เนยยะ
    ๔) ผู้อับเฉาปัญญา หรือขั้นปัญญาอ่อน เรียกว่า ปทปรมะ 

สําหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในมิติของระดับสติปัญญา ได้กําหนดยุทธวิธีหรือหลักการที่เป็นแนวทางสําหรับปฏิบัติให้เหมาะสมแตกต่างออกไปมีเป้าหมายอยู่ที่ เข้าใจอย่างถูกต้อง เหมาะสําหรับการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา     

การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในการวางยุทธศาสตร์พัฒนา การกําหนดกลุ่มเป้าหมายมีความสําคัญเพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการที่จะวางยุทธศาสตร์ไปอย่างมีทิศทาง ซึ่งจะส่งผลให้กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางสังคม(Social goal) คือ สมาชิกของสังคมทั้งหมดเกิดสันติสุข เป้าหมายทางเศรษฐกิจ (Economic goal)  คือ  ความมั่งคั่ง (Wealth) พร้อมทั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิต (Ultimate goal) คือ นิพพาน สภาวะที่เป็นสุขสูงสุดเพราะไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพที่สมบูรณ์     

ในมิติอื่นๆ พุทธศาสตร์มีมุมมองและวางเอาไว้อย่างครอบคลุมเกือบทุกสาขา โดยมี (Goal หรือ Purpose) แตกต่างกันไป ในที่นี้ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงได้หมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระเบียบวิธีศึกษาวิจัยและศักยภาพของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน ยุทธศาสตร์จึงเป็นการนําองค์ความรู้อันหลากหลาย ของพุทธศาสนามาประกอบในการกําหนดโดยวางวิธีการหรือยุทธวิธีในหมวดองค์ความรู้ด้านนั้นๆ จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้สติปัญญาและความสนใจของผู้ศึกษาเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาต่อไป


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jsrc/article/view/211162/146299





ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความของ : ภาษิต สุขวรรณดี สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา | bhasitsukhawandee@gmail.com
ที่มา : วารสารสิรินธรปริทรรศน์ , ปีที่ ๑๗ ,ฉบับที่ ๑ ,มกราคม-มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙
website : https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jsrc/article/view/211162/146299
20  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พระภูตเถระ : ผู้ยินดีในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่า เมื่อ: เมษายน 02, 2024, 07:23:08 am
.



พระภูตเถระ : ผู้ยินดีในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่า

ว่าด้วย : ผู้ยินดียิ่งในความสงัด

เหตุการณ์ : บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระภูตเถระ - พระภูตเถระประกาศการยินดียิ่งในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่าแก่ญาติ ผู้ปรารถนาให้ท่านอยู่อย่างไม่ลำบากและพวกตนได้เจริญบุญขึ้น

ท่านพระภูตะเถระผู้ได้บำเพ็ญ สั่งสมบุญซึ่งเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ได้นามว่าเสนะ วันหนึ่งพบพระศาสดา มีใจเลื่อมใส จึงชมเชยด้วยคาถา ๔ คาถา ว่า

    • ผู้ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ทรงชนะวิเศษ มีพระฉวีวรรณดังทองคำแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

    • ผู้เห็นพระฌานของพระพุทธเจ้าอันเปรียบเหมือนภูเขาหิมวันต์อันประมาณไม่ได้ ดังสาครอันข้ามได้ยากแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

    • ผู้เห็นศีลของพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบเหมือนแผ่นดินอันประมาณไม่ได้ ดุจมาลัยประดับศีรษะอันงดงาม ฉะนั้นแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

    • ผู้เห็นพระญาณของพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบดุจอากาศอันไม่กำเริบ ดุจอากาศอันนับไม่ได้ฉะนั้นแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

ด้วยการสรรญเสริญนั้น ท่านไม่ได้เข้าถึงทุคติเลยตลอด ๙๔ กัป

@@@@@@

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นลูกชายของเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติมากในบ้านใกล้ประตูนครสาเกต ท่านเศรษฐีมีบุตรหลายคน แต่ถูกยักษ์จับกินเสีย เพราะผูกใจอาฆาตไว้ แต่สำหรับเด็กคนนี้ พวกภูตพากันคุ้มครองไว้ได้ เพราะความที่เป็นผู้เกิดชาติสุดท้าย ญาติทั้งหลายจึงตั้งชื่อว่า ภูตะ

เมื่อรู้เดียงสา ท่านพร้อมกับพวกอุบาสกพากันไปยังวิหาร ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาในพระนครสาเกต เกิดมีศรัทธา ออกบวช แล้วอยู่ในถ้ำใกล้ฝั่งแม่น้ำชื่อว่าอชกรณี เริ่มเจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต.

สมัยต่อมา พระเถระต้องการอนุเคราะห์หมู่ญาติ จึงไปยังพระนครสาเกต ได้รับการบำรุงจากพวกญาติ ๒-๓ วัน ก็ไปอยู่ในป่าไม้อัญชัน พวกญาติพากันอ้อนวอนให้พระเถระอยู่ต่อเพื่อความไม่ลำบากและพวกตนได้เจริญบุญขึ้น




พระเถระประกาศการยินดียิ่งในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่าของตน จึงกล่าวคาถาว่า

    "เมื่อใด บัณฑิตกำหนดรู้ทุกข์ในเบญจขันธ์ที่ปุถุชนทั้งหลายไม่รู้แจ้งว่า ความแก่และความตายนี้เป็นทุกข์ แล้วจมอยู่ เป็นผู้มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ประสบความยินดีในเบญจขันธ์นั้น ยิ่งไปกว่าความยินดีในวิปัสสนา และในมรรคผล"

    "เมื่อใด บัณฑิตละตัณหาอันนำทุกข์มาให้ ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ นำมาซึ่งทุกข์อันเกิดเพราะความต่อเนื่องแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า เป็นผู้มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น"

    "เมื่อใด บัณฑิตถูกต้องทางอันสูงสุด เป็นทางปลอดโปร่ง ให้ถึงองค์ ๒ และองค์ ๔ เป็นที่ชำระกิเลสทั้งปวงด้วยปัญญา มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการเพ่งพิจารณานั้น"

    "เมื่อใด บัณฑิตเจริญสันตบทอันไม่ทำให้เศร้าโศก ปราศจากธุลี อันปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้ ให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวง เป็นเครื่องตัดกิเลสเครื่องผูกพัน คือสังโยชน์ เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการเจริญสันตบทนั้น"

    "เมื่อใด กลอง คือ เมฆอันเกลื่อนกล่นด้วยสายฝน ย่อมคำรนร้องอยู่บนนภากาศอันเป็นทางไปแห่งฝูงนกอยู่โดยรอบ และภิกษุไปเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการเพ่งธรรมนั้น"

    "เมื่อใด บัณฑิตมีจิตเบิกบาน นั่งเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งหลาย อันดารดาษไปด้วยดอกโกสุม และดอกมะลิที่เกิดในป่าอันวิจิตรงดงาม ย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการนั่งเพ่งพิจารณาธรรมนั้น"

    "เมื่อใด มีฝนฟ้าร้องในเวลาราตรี ฝูงสัตว์ที่มีเขี้ยวก็พากันยินดีอยู่ในป่าใหญ่ และภิกษุไปเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อนั้นย่อมไม่ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น"

    "เมื่อใด ภิกษุกำจัดวิตกทั้งหลายของตน เข้าไปสู่ถ้ำภายในภูเขา ปราศจากความกระวนกระวายใจ ปราศจากกิเลสอันตรึงใจ เพ่งพิจารณาธรรมอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น"

    "เมื่อใด ภิกษุมีความสุข ยังมลทินกิเลสอันตรึงจิตและความเศร้าโศกให้พินาศ ไม่มีกลอนประตู คือ อวิชชา ไม่มีป่าคือตัณหา ปราศจากลูกศรคือกิเลส เป็นผู้ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เพ่งพิจารณาธรรมอยู่ เมื่อนั้นย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการเพ่งพิจารณาธรรมนั้น"

 
อ่าน ภูตเถรคาถา




 
ขอขอบคุณ :-
อ้างอิง : ภูตเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๖/๓๖๙/๒๙๕-๒๙๖ และอรรถกถา
website : https://uttayarndham.org/node/5040
21  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ในหลวงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาจำนวน 184 วัด (เช็ครายชื่อ) เมื่อ: มีนาคม 31, 2024, 07:37:07 am
.


ในหลวงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาจำนวน 184 วัด (เช็ครายชื่อ)

วันที่ 30 มีนาคม 2567  ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 141 ตอนพิเศษ 88 ง. วันที่ 27 มีนาคม 2567 ได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานวิสุงคามสีมา ความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานวิสุงคามสีมา งวดที่ 2 ประจำปี 2566 ให้แก่วัดที่มีชื่อในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้จำนวน 184 วัด ตามเขตที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้นและให้นายอำเภอท้องที่ปักเขตให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศ ณ วันที่ 21  มีนาคม พ.ศ. 2567   ผู้รับสนองพระบรมราชโองการสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/24696.pdf


























ขอบคุณ : https://thebuddh.com/?p=78656
22  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / รุ่งโรจน์ หวั่น ‘อโยธยา’ ถูกบังคับสูญหาย ซัดรัวหลักฐานพรึบ เก่ากว่าสุโขทัยแน่ เมื่อ: มีนาคม 31, 2024, 06:59:59 am
.



รุ่งโรจน์ หวั่น ‘อโยธยา’ ถูกบังคับสูญหาย ซัดรัวหลักฐานพรึบ เก่ากว่าสุโขทัยแน่


เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายนนี้ โดยบรรยากาศการจัดงานวันที่ 3 เป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์

บรรยากาศตั้งแต่เวลา 11.00 น. ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน ‘J47’ ในวันที่ 3 ของงาน มีผู้คนแวะเวียนมาเลือกซื้อ เลือกอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก โดยสำนักพิมพ์มติชน มีหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม และจิตวิทยาพัฒนาบุคคล เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักอ่านมาหาซื้ออ่านเป็นจำนวนมาก

เวลา 13.00 น. เริ่มกิจกรรมแจกลายเซ็นนักเขียน ‘Read up Sign’ ตลอดช่วงบ่าย ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน นำโดย นายสรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์, รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เจ้าของผลงานดัง ‘อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา’ และน.ส.วรรณพร เรียนแจ้ง ผู้แปลหนังสือ เดินทางมาพบปะแฟนหนังสือ The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น พร้อมแลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง




จากนั้นเวลา 18.00 น. เริ่มเวที Matichon’s Special talk “อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัยจริงหรือ?” นำพูดคุยโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เจ้าของผลงาน ล้อมวงไปด้วยนักอ่านอย่างอบอุ่น

ในตอนหนึ่งของช่วงทอล์ก รศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า เรื่องราวของอโยธยาหายไป แล้วสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก เกิดขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง เสด็จมาจากเมืองอู่ทอง ประกอบกับการยึดมั่นว่าสุโขทัยเป็ยราชธานีแห่งแรก อโยธยาก็เงียบหายไป ตั้งแต่ช่วง ร.6-7 และช่วงสมัยครามโลก

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า จนมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล. ป พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 ตอนปลาย ก็เริ่มมีการพูดถึงอโยธยาอีกครั้ง โดยการเขียนของนายธนิต อยู่โพธิ์ ก็ได้ทำให้นายจิตร ภูมิศักดิ์ ได้สืบสานงานต่อ รวมถึงงานของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่มีการเอาหลักฐานโบราณวัตถุมาพูดขึ้นอีก

“ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลที่ว่า นักวิชาการกระแสหลักนั้น ยังยึดติดกับสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก และที่มาของพระเจ้าอู่ทอง ก็เลยทำให้ไม่กล้าออกมาอภิปรายถกเถียง

ดังนั้นอโยธยาจึงถูกนักวิชาการกระแสหลัก เรียกว่า เมืองในจินตนาการ เหมือนความหวานชื่น เมื่อหลับตื่นก็หายไป ไม่มีตัวตนจริง แต่ทีนี้พอเอาเข้าจริงแล้วมันต้องกลับไปทบทวนใหม่ว่า เรารู้ส่าสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแรก และสมเด็จพระรามาธิบดีที่1 ก็ไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง เรื่องอโยธยาก็มีสิทธิเอากลับมาทบทวนว่า มันมีจริงหรือเปล่า อย่าให้มันเป็นแค่เมืองในความฝัน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว




เมื่อถามถึงความสำคัฐของ ‘วัดสมณโกฏฐาราม’ บนปกหนังสือ

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า วัดสมณโกฏตามเอกสารคำให้การของวัดประดู่ทรงธรรม บอกว่าพระมหาธาตุที่เป็นหลักของพระนคร มาพระปรางค์อยู่ 5 แห่ง 1.วัดราชบูรณะ 2.วัดมหาธาตุ 3. วัดพระราม ซึ่ง 3 วัดนี้อยู่ในเกาะเมือง

“ระบุชัดแน่ว่าวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สร้าง และ วัดราชบูรณะ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สร้าง ส่วนวัดพระราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้างอยู่บนตำแหน่งศูนย์กลางของเมือง วัดสมณโกฏก็ต้องเข้ากับกรณีเหล่านั้น และที่สำคัญภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ วัดสมณโกฏ มีพระปรางค์ที่ใหญ่มาก คนยืนอยู่ตัวกระจึ๋งเดียว พร้อมแสดงตำแหน่งพระปรางค์อย่างเด่นชัด

หลายอย่างในการกำหนดอายุโบราณสถานอธุธยามีปัญหามาก เพราะว่าเราไปติดกับปัญหาว่าก่อนหน้า พ.ศ.1893 มันไม่มีอะไร เรามองเหมือนว่าอยุธยาเกิดจากกระบอกไม้ไผ่ พอถึงพ.ศ.1893 มีจานบินอยู่หนองโสน มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีอยู่ก่อน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า มีการกำหนดว่าอะไรก็ตามที่ใกล้เคียงดับวัดมหาธาตุ ลพบุรี อันนั้นจะต้องเก่า แต่เก่าได้สูงสุดได้แค่พ.ศ. 1893 ทำไมใกล้เคียงกว่านั้นไม่เป็น ทำไมใกล้เคียงมากไม่เป็นพ.ศ. 1850 เพราะฉะนั้นอะไรหลายชิ้น มีความใกล้เคียงกับวัดมหาธาตุ ลพบุรีเยอะ อะไรก็ตามกำหนดไม่เกินพ.ศ 1893 ที่เป็นเพดานกำหนดสำคัญ

เมื่อถามว่าจากการค้นคว้าหลักฐาน พบว่า ‘อโยธยา’ เป็นรากฐานสำคัญของอยุธยาหรือไม่

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เอกสารก่อนพ.ศ. 1893 มีสำคัญอยู่ 4 ชิ้น 1. โองการแช่งน้ำ และพระอัยการ ซึ่งหมายถึงกฎหมายอีก 3 ฉบับ กล่าวคือ โองการแช่งน้ำเป็นเรื่องราวมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการใช้ภาษาไท-ลาวเกิดขึ้น แสดงว่ากลุ่มผู้มีอำนาจใช้ภาษากลางในภาษาราชการ

“โองการแช่งน้ำเป็นตัวที่บ่งบอกว่า ระบบกษัตริย์ในอโยธยา พัฒนาไปกว่าระบบวงศ์พระร่วง หัวเมืองแม่น้ำปิง วัง เพราะระบบกษัตริย์เหล่านี้บอกว่า เกิดจากฤาษี หรือ พญานาค แต่อโยธยาบอกว่าสืบมาจากองค์สมมุติไปเลย เป็นกษัตริย์องค์แรกตามคัมภีร์อคัญญสูตรดูศักดิ์สิทธิ์กว่า ฉะนั้นโครงสร้างเหล่านี้เป็นโครงสร้างที่เก่าแก่มา เพียงแต่ว่าเรายึดติดว่าไม่มีเมืองก่อน 1893 แล้วอันนี้ล่ะ หมายความว่าอย่างไร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

หลักฐานที่ชี้ว่าเมืองอโยธยาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากการค้าขายกับเรือสำเภา?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 1500-1600 รางวงศ์ซ่งส่งเรือสำเภามาค้าขายเอง ศูนย์กลางเดิมจากลพบุรี มาหาแหล่งใหม่ที่สำเภาจีนเข้าได้ก็เลยมาเป็นศูนย์รวมที่อโยธยา เราจะพบตัวอย่างพระพุทธรูปหินทราย แพตเทิร์นที่เราเรียกว่าอู่ทอง กระจายตัวอยู่ตามชุมชนที่รองรับการค้าสำเภากับจีน

เมื่อถามว่าอโยธยาทำไมเก่ากว่าสุโขทัยได้?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ตนชี้ว่าอโยธยาเป็นศูนย์กลางที่เก่าแก่กว่าสุโขทัย คือ สุโขทัยเป็นชุมชนอยู่แล้ว แต่ความเป็นเซ็นเตอร์เกิดที่อโยธยาแล้วขึ้นไปที่สุโขทัย

“อโยธยาประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการปี 1776 โครงสร้างภาษามีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะที่หลายท่านไปตรวจสอบ ช่วงพีเรียดร่วมสมัยจารึกของพระมหาธรรมราชา พระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัยยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาว เพิ่งได้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่อยุธยาเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีไปเรียบร้อยแล้ว” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว




รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เนื้อหาข้างในพูดถึงว่าอโยธยาเป็นเซ็นเตอร์ก่อนสุโขทัย ถ้าจะบอกว่าสุโขทัยเจอเครื่องถ้วยซ่ง งั้นบ้านเชียงก็เก่ากว่าอโยธยาเพราะเจอเครื่องถ้วยเหมือนกัน แต่สุโขทัยไม่เคยแสดงอะไร ที่แสดงความเป็นเซ็นเตอร์เก่ากว่าอโยธยา

เมื่อถามว่าการพัฒนาพื้นที่อโยธยากับการอนุรักษ์ จะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า การพัฒนาก็จะต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ เพียงปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเราคิดว่ามันไม่มี เราก็เลยละเลย เปรียบเสมือนว่ามันหาย เหมือนถูกบังคับให้สูญหาย สะกดจิตกันเองให้มันหายไป

“เอาง่ายๆหนังสือเล่มนี้บอกว่า อโยธยาเป็นต้นกำเนิดอยุธยา อยูธยาเป็นต้นกำเนิดกรุงธนบุรี ธนบุรีต้นกำเนิดรัตนโกสินทร์ ซึ่งอโยธยาเป็นตัวรัฐที่ใช้ภาษาไทในทางการที่มีความเก่าแก่ และลักษณะแบบแผนสำนวนภาษา ก็สืบต่อมาถึงช่วงรัตนโกสินทร์” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า คำนำในหนังสือตนเขียนชัดว่า ไม่ได้คัดค้านรถไฟความเร็วสูง ซึ่งตอนนั้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็บอกแล้วว่า จะให้มีการสร้างหลายแนวทางเลือก แต่ทำไมยังอุตส่าห์ตัดทางเข้าสู่ตัวเมืองอโยธยา ต้นทาง ที่เป็นรากเหง้าของประวัติศาสตร์







ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4501695
วันที่ 30 มีนาคม 2567 - 21:31 น.   
23  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เปิดประวัติ “สามเณรนนท์” วัดโมลีฯ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์​ สอบได้ ป.ธ.9 เมื่อ: มีนาคม 31, 2024, 06:25:53 am
.



เปิดประวัติ “สามเณรนนท์” วัดโมลีฯ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์​ สอบได้ ป.ธ.9

สามเณรภานุวัฒน์ กองทุ่งมน อายุ 17 ปี หรือ "สามเณรนนท์" วัดโมลีโลกยาราม สามเณรอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ ที่สอบได้ป.ธ.9 พบสถิติสุดยอดสอบบาลีผ่านทุกปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสอบประโยคบาลีสนามหลวง ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งได้มีการประกาศผลสอบที่วัดสามพระยา ซึ่งปีนี้มีผู้สอบได้เปรียญธรรม (ป.ธ.)​ 9 ประโยค จำนวน 76 รูป ในจำนวนนี้เป็นสามเณร 14 รูป นั้น หนึ่งในรายชื่อสามเณร พบว่ามีชื่อสามเณรภานุวัฒน์ กองทุ่งมน หรือ “สามเณรนนท์” อายุ 17 ปี วัดโมลีโลกยาราม รวมอยู่ด้วย ถือว่าเป็นสามเณรที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทยที่สามารถสอบได้ ป.ธ.9

สำหรับประวัติสามเณรภานุวัฒน์ เป็นชาวอ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา สังกัดสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพฯ บวชตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม
    อายุ 10 ปี สอบไล่ได้ประโยค 1-2
    อายุ 11 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 3
    อายุ 12 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 4
    อายุ 13 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 5
    อายุ 14 ปี สอบไล่ได้ป.ธ. 6
    พ.ศ. 2565 ก็สอบไล่ได้ป.ธ. 7
    พ.ศ. 2566 อายุ 16 ปี สอบไล่ได้ป.ธ.8

ด้านพระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ ปิยสีโล) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ที่สำนักเรียนได้สร้างประวัติศาสตร์ของวัดเป็นครั้งแรกที่พระภิกษุ-สามเณร สามารถสอบได้ ป.ธ.9 เป็นจำนวนถึง 25 รูป ถือว่ามากที่สุด ในประวัติศาสตร์การสอบของวัดโมลีฯ อีกทั้งมีสามเณรสอบได้ ป.ธ.9 ถึง 9 รูป โดยเฉพาะสามเณรภานุวัฒน์ ที่มีอายุเพียง 17 ปี ถือว่ามีอายุน้อยที่สุด ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง





ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/news/3303962/
30 มีนาคม 2567 , 18:37 น. | การศึกษา-ศาสนา
24  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / "นวัคคหายุสมธัมม์" ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกําหนดด้วยองค์เก้า เมื่อ: มีนาคม 30, 2024, 10:16:03 am
.



แบ่งปันความรู้ทางศาสนาสู่สาธารณะ "นวัคคหายุสมธัมม์"
โดย นางสาวกัญญา แก้วคำฟุ่น นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯพระราชทานผ้าไตร และสังฆทานถวายในการ คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม โดยพระเดชพระคุณพระพรหมวัชราจารย์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัย แต่เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชชิดา ในโอกาสที่ทรงพระประชวร เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เพื่อให้ พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภารได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสํานึกในพระมหา กรุณา คุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตรายจากโรคภัยต่างๆ และทําให้เกิด ความสุขสวัสดี เมื่อผู้สวดมนต์ สวดด้วยความเคารพศรัทธาพร้อมกับแผ่เมตตาและทําใจให้สงบเป็นสมาชิก็จะทําให้ พระปริตรนั้นมีพลังและอานุภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนายังได้ประสานไปยังองค์การทางศาสนา ร่วมกันจัดพิธีทางศาสนาถวายพระพรแด่พระองค์ ณ ศาสนสถาน ตามหลักศาสนบัญญัติ ของแต่ศาสนาอีกด้วย

    นวัคคหายุสมธัมม์ อ่านว่า นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ แยกศัพท์เป็น นว + ศห + อายุ + สม + ธัมม์ 
    นวัคคหายุสม + ธัมม์ = นวัคคหายุสมธัมม์ แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกําหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์

@@@@@@@

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบําราบปรปักษ์ จะทรงบําเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษา ครบ ๕๐ ปี ใครจะทรงทําพิธีพิเศษ จึงได้ตรัส ปรึกษาเพื่อจัดพิธีขึ้นใหม่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ลา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงจัดรูปแบบพิธีสวดนพเคราะห์ขึ้นถวายใหม่ เรียกว่า “นวัคคหายุสมธัมม์ "

โดยให้พระสงฆ์ ๕ รูป สวดพระธรรมต่างๆ ที่มีข้อธรรมเท่าจํานวนเกณฑ์กําลังของเทวดานพเคราะห์เฉพาะองค์ๆ คือ
     - อนุตริยะ ๖ สําหรับวันอาทิตย์
     - จรณะ ๑๕ สําหรับวันจันทร์
     - มรรค ๘ สําหรับวันอังคาร
     - อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ รวม ๕๔ สําหรับวันพุธ
     - ทศพลญาณ ๑๐ สําหรับวันเสาร์
     - สัญญา ๑๐ อนุปุพพวิหาร ๙ รวม ๑๙ สําหรับวันพฤหัสบดี
     - สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ รวม ๑๒ สําหรับพระราหู
     - สัปปุริสธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ สัมมาสมาธิปริกขาร ๗ รวม ๒๑ สําหรับวันศุกร์
     - และอาฆาตวัตถุปฏิวินัย ๙ สําหรับพระเกตุ

เมื่อวิเคราะห์ดูจํานวนข้อธรรมแล้วจะพบว่า เท่ากับจํานวนกําลังวันของดาวแต่ละดวง น่าจะมิได้ทรงมุ่งให้ใช้บทสวดเป็นมนต์คาถาถอดถอนพระเคราะห์อย่างเดียว แต่มุ่งจะให้นําธรรมะอันเป็นเนื้อหาในบทสวดเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อกําจัดเคราะห์และเสริมมงคลด้วยการประพฤติปฏิบัติ มากกว่า ดังนั้น ถ้าจะสะเดาะเคราะห์ให้หมดโดยสิ้นเชิงเหมือนการชําระสิ่งสกปรกออกจากภาชนะ ก็ควรนำหลักธรรมะไปปฏิบัติชําระล้างจิตใจอีกชั้นหนึ่ง


@@@@@@@

การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ในปัจจุบัน ได้ถูกกําหนดให้จัดขึ้นทั่วไป ในพระราชพิธีต่างๆ มักจัดขึ้นเป็นประจําในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระมหากษัตริย์ และพระบรม วงศานุวงศ์ โดยจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีดังกล่าว จะสามารถพบเห็นได้ในพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทุกวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี หรืองานมหามงคลของ ทางราชสํานักในโอกาสอื่นๆ

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ ได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีเป็นกรณีเฉพาะในงานพระราชพิธีของราชสำนัก โดยมักจัดขึ้นในช่วงเวลาของวันพ่อแห่งชาติ คือ วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี จะประกอบพิธี ในช่วงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ - ๑๗.๓๐ น. ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

แต่เนื่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ในปัจจุบันได้ยกเลิกพระราชพิธีเฉลิมพระ ชนมพรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีลงแล้ว วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงเป็นปีสุดท้ายในการประกอบพิธี เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ และได้ถูกกําหนดให้จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ขึ้นอีกครั้ง ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ ๒๘ กราบของทุกปีแทนธรรมเนียมเต็มที่ได้ปฏิบัติมา




พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ ถูกกําหนดให้ประกอบพิธีในโลกที่เป็นมงคลองราชสํานักไทยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เจ้าหน้าที่กลุ่มพิธี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหน้าที่นี้โดยตําแหน่งทางราชการ

เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ การเตรียมกําหนดการ การประสานงานกับบุคลากรฝ่ายอื่นๆ การจัดเตรียมอุปกรณ์ การเบิกสายสิญจน์จากพระมงคลภาณกาจารย์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้หาพิธีจับสายสิญจน์เพื่อใช้ในพระราชพิธีของหลวง การจัดเตรียมสถานที่ รวมถึงการออกฎีกา นิมนต์พระภิกษุผู้ประกอบพิธี

โดยจะนําบัญชีรายนามพระสงฆ์จํานวน ๕ รูป มีพระราชาคณะเป็นหัวหน้า พร้อมด้วย พระครูสัญญาบัตร พระครูฐานานุกรม หรือพระเปรียญธรรม จากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เสนออธิบดี กรมการศาสนา หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมการศาสนา เป็นผู้มีอํานาจลงนามในฎีกานิมนต์เท่านั้น และมอบให้เจ้าหน้าที่ดําเนินการวางฎีกานิมนต์ไปถวายพระสงฆ์ผู้มีรายนามดังกล่าวต่อไป

ระเบียบเช่นนี้ยึดถือปฏิบัติมา ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ทรงนิพนธ์บทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ขึ้นใหม่ ซึ่งกําหนดให้พระครูฐานานุกรมในสมัยนั้น คือ พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ (พระครูปลัดขวา) พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์ (พระครูปลัดซ้าย) รับหน้าที่เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์

และเนื่องด้วยวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง มีความเกี่ยวเนื่องสนิท สนมคุ้นเคยทางราชสํานัก ปฏิบัติจริยวัตรที่แสดงออกถึงความใกล้ชิด พระสงฆ์ภายในพระอารามเองก็มีความรู้ ความเข้าใจเข้าใจในขนบธรรมเนียมงานพระราชพิธี “กรมสังฆการีธรรมการ” (ปัจจุบัน คือ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม) จีงนิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จํานวน ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เป็นการเฉพาะ


@@@@@@@

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์กําหนดให้มีผู้ประกอบพิธี ๒ ฝ่าย คือ
    - ฝ่ายพระสงฆ์กําหนดให้ นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จํานวน ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์
    - ส่วนฝ่ายฆราวาสกำหนดให้คณะโหรพราหมณ์ประกอบพิธีบูชาเชิญเทวดานพเคราะห์ทีละองค์ โดยสวดสลับกันไปมาตามลำดับพิธีของฝ่ายตนเอง โดยแบ่งขั้นตอนการประกอบพิธีออกเป็น ๒ ส่วน สลับไปมาเช่นกัน

"ในสมัยแรก" พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์มักถูกกําหนดให้ประกอบพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากเป็นพระราชพิธี จึงได้รับการอุปถัมภ์จากราชสํานักอยู่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะถือว่าพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้อง เนินการจัดงานดังกล่าวอยู่เป็นประจําทุกปี และในโอกาสสําคัญของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ยุคแรกใช้เวลานาน ในการประกอบพิธี เนื่องจากบทสวดที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ได้นิพนธ์ ขึ้นใหม่มีจํานวนมาก ใช้เวลาสวดนาน ๔-๕ ชั่วโมง จนกระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงดําริตัดทอนความที่มีเนื้อหาซ้ำกันออกไป คงไว้แต่ข้อพระธรรมเท่านั้น ในปัจจุบันพระสงฆ์สวดบทสวดในคัมภีร์เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ใช้เวลา ราว ๑-๒ ชั่วโมงเท่านั้น

"นวัคคหายุสมธัมม์" เป็นคําศัพท์ที่ทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไม่คุ้นชื่อมากนัก โดยกรมการศาสนา มีภารกิจสนองงานได้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ (สังฆการี) ถือปฏิบัติภารกิจ ดังกล่าวนี้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวาย พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาหรือพระราชพิธีอื่นๆ เพื่อบํารุงขวัญและกําลังใจให้พุทธศาสนิกชน ที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์








ขอขอบคุณที่มา :-
บทความ : แบ่งปันความรู้ทางศาสนาสู่สาธารณะ "นวัคคหายุสมธัมม์" โดยนางสาวกัญญา แก้วคำฟุ่น นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ , กรมการศาสนา
URL : https://e-book.dra.go.th/ebook/2566/E-book_navakakha/mobile/index.html

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :-
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๕๔) พระพิธีธรรม กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๕๔), ศาสนพิธีในพระราชพิธี (เล่ม - กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด
- พระมหาสี ปี่แก้ว (๒๕๖๒) วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
25  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / "ศรีเทพ" เมืองศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ดินแดนต้องห้าม เมื่อ: มีนาคม 30, 2024, 07:23:47 am
.



"ศรีเทพ" เมืองศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ดินแดนต้องห้าม

“เมืองศรีเทพ” กรมศิลปากร ระบุไว้ว่า เป็นเมืองโบราณในตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดอยู่ในเขตที่สูงถูกเชื่อมโยงเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า วัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

รวมไปถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18) โดยมีพื้นที่รวมประมาณ 2,889 ไร่ หรือประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร ลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวาราวดี ที่ยังคงสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด โดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สิ่งที่น่าสนใจคือ “ที่ตั้ง” ของ “เมืองศรีเทพ” นั้น แตกต่างจากเมืองอื่นๆในอดีต ซึ่งปกติแล้วเมืองที่มีความเจริญจะตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำหรือไม่ไกลทะเล แต่เมืองศรีเทพกลับอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน






แล้วเหตุใดถึงเจริญรุ่งเรืองได้? และในช่วงสมัยเดียวกันก็ยังเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดด้วย เมื่อประมาณพันปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา พุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ (เขมร) ตั้งข้อสังเกต

“เมืองศรีเทพ” มาก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเดิมทีที่ตรงนี้ก็มีคนอาศัยอยู่ก่อนประมาณ 1,700-1,800 ปีก่อน แต่ปัญหาของเมืองศรีเทพนั้น ไม่ค่อยมีการเขียนจารึกไว้...เท่าที่ดูซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ ก็เชื่อว่าผู้คนที่อาศัยมีอารยธรรมและเทคโนโลยีอยู่พอสมควร

เช่น การขนหินจากที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย การสร้างเครื่อง ประดับต่างๆ ฯลฯ

@@@@

อัตลักษณ์ของเมืองศรีเทพ คือ “องค์สุริยเทพองค์ใหญ่” มีหลายองค์ ซึ่งที่น่าแปลกคือที่ผ่านมาไม่เคยค้นเจอในแถบบ้านเราเลย ที่สำคัญคืออารยธรรมที่ปรากฏมีลักษณะแบบ “เอเชียกลาง” สิ่งที่เห็นได้คือชุดที่ใส่ โดยมีอารยธรรมโบราณและมีการผสมผสาน

ผศ.ดร.กังวล บอกอีกว่า ที่แปลกที่สุดที่มีปรากฏเฉพาะในเมืองศรีเทพคือ พระพิมพ์ดินเผา ชุดหนึ่งที่มีชื่อของ “หลวงจีน” รูปหนึ่งสลักไว้ด้านหลังองค์พระที่สร้างขึ้น หลังจากทางเข้ามาในเมืองศรีเทพ

คาดว่าน่าจะสร้างช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือประมาณ 1,200 กว่าปีก่อน




นี่คือความชัดเจนที่เห็นได้ว่ามีคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในเมืองศรีเทพ ซึ่งนอกจากจะมีอารยธรรมทางอินเดียมาแล้วยังมีคนจีนเข้ามาด้วย การมีหลวงจีนปรากฏในเมืองศรีเทพ สำคัญอย่างไร...ที่ผ่านมาเราอาจจะทราบว่ามี “พระถังซัมจั๋ง” ไปทางอินเดีย หลวงจีนอี้จิง หลวงจีนฟาเหียนเดินทางไปทะเล ไปอินโดฯก่อนไปอินเดีย แต่ทำไมหลวงจีนองค์นี้ ต้องตะเกียกตะกายเดินทางมา ที่ศรีเทพ

แปลว่าที่ตรงนี้ต้องเป็น...แหล่งศักดิ์สิทธิ์

หรือมีความสำคัญมากในภูมิภาคหรือเปล่า และจากการสำรวจเขาคลังนอก มีการระบุว่า มีความคล้ายกับ “นาลันทา” ซึ่งเป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกในอินเดียเลย หรือนี่อาจจะเป็นเหตุผลคล้ายกับของพระถังซัมจั๋ง ก็เดินทางไปอินเดีย นี่เป็นข้อสันนิษฐาน...

แปลว่า “ศรีเทพ” ก็ไม่ใช่เมืองแห่งการค้าขาย และก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ สำคัญในทางพุทธศาสนาหรือไม่ สาเหตุที่ไม่มีความชัดเจนทางใดทางหนึ่ง เพราะไม่มี “จารึก”บ่งบอก




พุ่งเป้าไปที่ที่ตั้งของเมือง รูปลักษณ์ สิ่งแวดล้อม ส่วนประกอบต่างๆอย่างเขาถมอรัตน์ ก็อาจจะหมายถึง “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” นี่แหละ...เพียงแต่ว่าสิ่งที่ขาดคือ “จารึก” ที่เขียนบอกอย่างชัดเจน

น่าสนใจด้วยว่า...ถ้ำบนยอดเขาถมอรัตน์ก็เป็นสถานที่ซึ่งรวมรูปเคารพทั้งพระโพธิสัตว์...รูปเคารพของศาสนาพุทธในคติแบบมหายาน และพระพุทธรูป เสาธรรมจักร สถูปจำลอง ซึ่งเป็นคติแบบเถรวาท

การผสมผสานคติความเชื่อทั้งสองรูปแบบนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของคติความเชื่อแบบ “ศรีเทพ”...เป็นสังคมที่มีการผสมผสานแนวคิดทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน

@@@@

ศิลปวัฒนธรรม (10 ม.ค.67) อนุชิต อุ่นจิต เขียนถึง “เมืองศรีเทพ” ไว้ว่า เมืองโบราณแห่งนี้มีลักษณะเป็น...เมืองซ้อนเมือง แล้วมีเนินดินสูงล้อมรอบคล้ายกำแพงเมือง ด้านนอกของเนินดินเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง การขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดยกรมศิลปากร

และ...เป็นที่น่าแปลก ที่ว่าภายในพื้นที่บริเวณเขตเมืองโบราณนั้น ไม่มีชาวบ้านคนไหนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเลย แต่กลับสร้างบ้าน ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกเขตเมืองโบราณเท่านั้น






ชาวบ้านเล่าว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเชื่อว่า...เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่อยู่ของเทพเทวดา เมืองโบราณแห่งนี้...เทพเทวดาได้สร้างเอาไว้ก่อนจะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ในสมัยก่อนจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย

ทั้งยังมีความเชื่อด้วยว่า...หากใครเข้าไปอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณแห่งนี้ ก็จะเกิดอาเพศกับตนเองและครอบครัว

บางคนอาจล้มป่วยโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางคนถึงขั้นเสียสติ เมื่อเข้าไปอยู่อาศัยในสถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ทำได้เพียงอาศัยพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ประกอบอาชีพเท่านั้น ซึ่งในสมัยก่อนก็จะมีการประกอบอาชีพการเกษตร ล่าสัตว์ เก็บของป่า ...พิธีกรรมความเชื่อสำคัญในสมัยก่อนชาวบ้านจะไปกราบไหว้ นำเครื่องเซ่นไหว้ไปไหว้ศาลที่ตั้งไว้บนเนินดินบริเวณขอบเมืองโบราณหรือเนินที่กรมศิลปากรเชื่อว่าน่าจะเป็นกำแพงเมือง

และ...หลังจากเมืองโบราณเปลี่ยนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพแล้ว ได้มีการอัญเชิญศาลแห่งนี้ลงมาไว้ด้านล่าง โดยเทวรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาล ชาวบ้านเรียกกันว่า...“เจ้าพ่อศรีเทพ”




ชาวอำเภอศรีเทพจะจัดพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองของชาวอำเภอศรีเทพ โดยเครื่องบวงสรวงประกอบด้วยข้าวต้มมัด ขนมจีนน้ำยา และอาหารท้องถิ่นของชาวอำเภอศรีเทพ

หลังเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงจะได้มีการแจกจ่ายข้าวต้มมัดแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งถือว่าผู้ได้รับประทาน ข้าวต้มมัดจะมีความเจริญรุ่งเรือง มั่งมีศรีสุข และมีความรักความสามัคคีกลมเกลียวกัน

“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.

                                รัก-ยม




Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2772850
24 มี.ค. 2567 06:49 น. | ไลฟ์สไตล์ > วัฒนธรรม > รัก-ยม
26  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ส่อง ‘สงกรานต์ไทย’ ย้อนรอยความเชื่อโบราณ-ที่มาการเล่นสาดน้ำ เมื่อ: มีนาคม 30, 2024, 07:04:38 am
.



ส่อง ‘สงกรานต์ไทย’ ย้อนรอยความเชื่อโบราณ-ที่มาการเล่นสาดน้ำ

วงเสวนา ส่อง ‘สงกรานต์ไทย’ ย้อนรอยความเชื่อโบราณ และที่มาการเล่นสาดน้ำ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สโมสรศิลปวัฒนธรรม จัดเสวนาส่อง “สงกรานต์ไทย” โดยมี ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ร่วมเสวนา




โดย ผศ.คมกฤช กล่าวว่า คำว่า “สงกรานต์” หรือ “สังกรานติ (สํกฺรานฺติ)” มาจากภาษาสันสกฤต หรือภาษาแขกของอินเดีย มีความหมายว่า การเคลื่อนหรือย้ายของพระอาทิตย์ ซึ่งความเชื่อคนโบราณ แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ช่องตามกลุ่มดาวจักรราศี ดังนั้น “วันสงกรานต์” หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ เคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งในกลุ่มดาวจักราศีทั้ง 12 กลุ่ม เพราะฉะนั้นในรอบ 1 ปี จึงมีวันสงกรานต์ถึง 12 วัน ในช่วงวันที่ 14-15 ของทุกเดือน ตามสุริยคติ เช่น พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร ก็เรียก มกรสังกรานติ (มกรสงกรานต์) เข้าราศีเมษก็เรียก เมษสังกรานติ (เมษสงกรานต์) ซึ่งเป็นความเชื่อแบบโบราณ

โดยตามความเชื่อของพราหมณ์ ถือเอาสงกรานต์ใหญ่สองสงกรานต์ว่าสำคัญกว่าสงกรานต์อื่นๆ คือ มกรสงกรานต์ และเมษสงกรานต์ มกรสงกรานต์ หรือมกรสังกรานติ คือสงกรานต์ที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกรในช่วงวันที่ 14-15 มกราคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร เท่ากับได้ย้ายจากวงโคจร (อายน) ด้านใต้ (ทักษิณายัน) ซึ่งกินเวลาครึ่งหนึ่งของปี มาสู่วงโคจรด้านเหนือ (อุตรายัน) วงโคจรด้านเหนือของดวงอาทิตย์คือช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงอบอุ่นของโลกอันเหมาะแก่การเพาะปลูก ผิดกับวงโคจรด้านใต้ที่หนาวเย็น สะท้อนถึงความมืดและความตาย ถือกันว่าทักษิณายันเป็น “กลางคืน” ของเทวดา ส่วนอุตรายันเป็น “กลางวัน” ของเทวดา เพราะหนึ่งปีมนุษย์เท่ากับหนึ่งวันของเทวดา




ทั้งนี้ เมื่อไปดูสงกรานต์ เดือนมกราคมของอินเดียใต้ จะไม่มีการสาดน้ำ แต่จะมีพิธีบูชาเทพที่เทวสถานแล้ว ในอินเดียภาคใต้จะเรียกเทศกาลนี้ว่า “ไทปงคัล” “ปงคัล” คือข้าวหุงอย่างเทศใส่นมเนย ส่วน “ไท” คือชื่อเดือนยี่ของทมิฬ ชาวบ้านจะตื่นมาหุงข้าวปงกัลป์ถวายพระสุริยเทพ ส่วนข้าว “ปงคัล” ของทมิฬ ก็คืออย่างเดียวกับ “ข้าวเปียก” หมายถึงข้าวกวนกับกะทิและนม ซึ่งใช้ถวายพระเป็นเจ้าในพระเทวสถานเฉพาะในพระราชพิธีตรียัมปวายเท่านั้น โดยไม่มีการสาดน้ำ

ส่วนส่งกรานต์เดือนเมษายน ของประเทศไทยนั้น ตรงกับช่วงที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศี เมษสงกรานต์สำคัญ เพราะเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งสูงสุดคือจอมฟ้า ตรงเหนือศีรษะเราพอดี อันเป็นตำแหน่งที่พระอาทิตย์มีกำลังสูงสุดในทางโหราศาสตร์อินเดียถือว่า ราศีเมษ เป็นราศีที่สถิต “ลัคนา” หรือตำแหน่งอ้างอิงทางโหราศาสตร์ของโลก การที่ดาวใหญ่อย่างดวงอาทิตย์ย้ายเข้าในราศีลัคนาโลก จึงเป็นเรื่องใหญ่โต และยังใกล้เริ่มต้นเพาะปลูกอีกด้วย แขกพราหมณ์อินเดียใต้ ต่างถือว่าเมษสงกรานต์เป็นปีใหม่ของตน เรียกชื่อเทศกาลออกไปต่างกัน โดยอินเดียในแต่ละภูมิภาคไม่ได้นับปีใหม่ตรงกัน เพราะความแตกต่างของภูมิอากาศ




โดยสงกรานต์ของแขกพราหมณ์ไม่มีสาดน้ำหรือรดน้ำเป็นกรณีพิเศษ แต่จะมีรดน้ำเทวรูปในเทวสถาน ซึ่งก็ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ใช่พิธีที่แยกออกมา

การที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายทำให้เกิดฤดูกาล ส่วนมาเป็นสงกรานต์ของ ประเทศไทยได้อย่างไรนั้น สงกรานต์ในระดับราชสำนัก ที่รับมาจากพรามหณ์ จะมีความเข้มข้นค่อนข้างมากในเรื่องของพิธีกรรม ส่วนระดับชาวบ้านอาจจะมีความแตกต่างกับอินเดีย แต่ที่อาจจะคล้ายกัน คือของไทยมีการสาดน้ำ แต่ของประเทศอินเดียจะมีการสาดผงสีใส่กันในเทศกาลโฮลี เป็นเรื่องของการเจริญพืชพันธ์ แต่ที่สันนิษฐานว่า ไม่เหมือนกับสงกรานต์ไทย โดยโฮลี ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดฤดูหนาว ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้น นอกจากจะเล่นสาดสีกันแล้ว ก็จะมีการร้องรำทำเพลงและเต้นรำกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งตามความเชื่อแล้ว เทศกาลโฮลี เป็นการเผานาง โหลิกา หรือการไล่ความร้อน ซึ่งไม่มีการใช้น้ำ อีกทั้งยังเป็นคนละช่วงเวลา ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์ และไม่ได้เป็นที่มาของการสาดน้ำในสงกรานต์ประเทศไทย




ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำนั้น ตามประเพณีของไทยมี แต่จะมีเฉพาะพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีปรากฎอยู่ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนเกิดขึ้น ของรัชกาลที่ 5 ส่วนการเล่นสาดน้ำนั้น มาจากของไทยเอง จนปัจจุบัน ถึงกับเรียกว่า Water Festival เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แม้ที่ผ่านมา จะเคยมีการพูดคุยว่า อยากให้อนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์แบบดั่งเดิม แต่ส่วนตัว ก็อยากให้เป็นไปตามยุคสมัย ภายใต้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้สนุกกับสงกรานต์แบบพอเหมาะพอดี

ด้านนายศิริพจน์ กล่าวว่า เรื่องวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับมาอินเดีย จะมาเป็นชุดทั้งประเพณี และหลักการความเชื่อทางศาสนา ซึ่งจะมีเรื่องพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับฤดูกาล ภูมิอากาศ และการเพาะปลูก เห็นได้จากกฎหมายตราสามดวงวง ซึ่งนับ 1 ปี เป็น 1 รอบของการเพาะปลูก โดยช่วงเดือนเมษายน ของประเทศไทย ตรงกับหน้าร้อนที่ ไม่มีการเพาะปลูก ดังนั้น จึงเป็นช่วง ตรงกับช่วงที่มีการไหว้ผีบรรพบุรุษเพื่อคุ้มครองให้เดือนถัดไปที่จะมีการแรกนา เป็นไปด้วยดี มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้สงกรานต์ของไทย นอกจากไหว้เทพและยังมีการไหว้ผีบรรพชนด้วย

ส่วนการสาดน้ำในประเพณีไทยมาจากไหน นั้น จากข้อมูลในสมัยร.4 ที่มีการออกประกาศในเรื่องประเพณีสงกรานต์ ก็ยังไม่มีการสาดน้ำ จนกระทั่งต้องมีการออกประกาศห้ามกระทำในเรื่องต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่มีการประกาศในเรื่องสาดน้ำ ส่วนการสาดน้ำมีความเป็นมาอย่างไรนั้น มองว่า เป็นความพยายามแหกออกจากกฎเกณฑ์สังคม ซึ่งการสาดน้ำก็เป็นหนึ่งในการแหกกฎที่ไม่สามารถทำได้ในวิถีปกติ รวมถึงยังมีเรื่องเล่าสัปดนซึ่งไม่สามรถทำได้ในวิถีชีวิตปกติเช่นเดียวกัน





Thank to : https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_4497898
วันที่ 28 มีนาคม 2567 - 17:02 น.   
27  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ‘ปีเตอร์ แจ็กสัน’ ชี้ ศาสนาไทย รสหลากหลาย นักวิชาการแค่ ‘ไม่เก็ท’ เมื่อ: มีนาคม 30, 2024, 06:57:13 am
.



‘ปีเตอร์ แจ็กสัน’ ชี้ ศาสนาไทย รสหลากหลาย นักวิชาการแค่ ‘ไม่เก็ท’ ความเชื่อเปลี่ยนตามเจน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-8 เมษายนนี้

บรรยากาศเวลา 17.30 น. พบประชาชนร่วมรอฟังเสวนา “พุทธพาณิชย์ ชีวิตไทยไทย” โดยศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการแจกลายเซ็น การถ่ายรูป แก่แฟนคลับ ที่เลือกซื้อหนังสือภายในบูธสำนักพิมพ์มติชน J47 พร้อมทั้งมีการเลือกซื้อหนังสือที่ตนเองสนใจ ทั้งในแนวประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา จิตวิทยาพัฒนาตนเอง และศิลปวัฒนธรรม เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ทางสำนักพิมพ์ยังมีโปรโมชั่นส่วนลดพิเศษกว่า 15-20% พร้อมรับของแถมสุดเก๋ไก๋เมื่อซื้อหนังสือครบ 500 บาท ขึ้นไปอีกจำนวนมาก




เวลา 18.00 น. ปีเตอร์ แจ็กสัน มาร่วมเวที Book Talk “พุทธพาณิชย์ ชีวิตไทยไทย” ในเรื่องของทุนนิยมที่สอดแทรกในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่ความเชื่อทางศาสนา

ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวว่า หนังสือ Capitalism Magic Thailand จุดเริ่มต้นที่ผมมาประเทศไทย มีความสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ผมเก็บข้อมูลพระพุทธศาสนา ปริญญาเอกเก็บข้อมูลกับพุทธทาสภิกขุ อาจารย์ต่างประเทศหลายคนก็มีจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาที่นี้

“สมัยเศรษฐกิจบูมๆ ของประเทศไทย ช่วง30-40ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ในวัดที่คนไทยสนใจ เกี่ยวกับความเชื่อ คนไทยมักมองหาองค์เทพใหม่ๆ เพื่อหาความสำเร็จทางธุรกิจ มีองค์เทพใหม่ๆ ที่คนไม่เคยบูชามาก่อน” ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าว

ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวต่อว่า ผมเคยอ่าน บทความของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องราวของเจ้าแม่กวนอิม เป็นบทความที่น่าสนใจมาก มีโอกาสที่น่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมความเชื่อทั้งรูปแบบเก่า และมาเป็นรูปแบบใหม่ แม้จะเป็นนักธุรกิจ หรือคนค้าขาย เราต้องการความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความสำเร็จในชีวิต อาจารย์ในต่างประเทศมักมองข้ามสิ่งนี้ เพราะเขาคิดว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักเกินขึ้นในวัดเท่านั้น




ช่วงนั้นพระที่ดังมากก็คือ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา มีทั้งการปลุกเสก เครื่องรางของขลังจำนวนมาก ซึ่งเป็นความเชื่อการนับถือ เครื่องรางของขลัง ของพ่อค้า แม่ค้าจำนวนมาก

เมื่อถามว่า ในหนังสือ Capitalism Magic Thailand เล่าถึงเรื่องใดบ้าง ?

ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวว่า ในหนังสือ Capitalism Magic Thailand ได้รวบรวมราชพิธี ทั้งความเชื่อจากเกจิอาจารย์ต่างๆ ที่ทำพิธีปลุกเสกพระเครื่อง เทพใหม่ๆ อาทิ เทพทันใจ ประเทศพม่า ที่คนไทยก็นับถือเช่นกัน ตนพยายามรวบรวมข้อมูลว่ามีความหลากหลายอะไรบ้าง ความสัมพันธ์เศรษฐกิจสมัยใหม่ต่างๆ

สร้างไอเดียหลากหลายรูปแบบ ทั้งความเชื่อ เศรษฐกิจ ทั้งความเชื่อคนไทย คนจีน เกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิม องค์เทพฮินดู จตุคามรามเทพ สงสัยว่าทำไมองค์เทพต่างๆ ถึงมาดังในช่วงนี้เพราะอะไรบ้าง ทั้งสื่อมวลชนก็มีความสนใจในประเด็นนี้




“เมื่อก่อนมีความคิดว่า ถ้าระบบทุนนิยมเข้ามาจะมีความคิด หรือว่าความเชื่อกับศาสนา ในความเชื่อเดิม อาจจะหายไป แต่ใน30-40 ปี ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เลย แม้ว่าศาสนามีความเปลี่ยนแปลง แต่ความเชื่อไม่ได้หายไปเลย และยังขยายตัวมากขึ้นตามสถานการณ์อีกด้วย

อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสให้ความเชื่อรูปแบบใหม่เข้ามา ไม่ว่าใครก็สามารถสนใจเรื่องความเชื่อใหม่ๆได้ ทุกชนชั้นเช่นกัน”ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าว

เมื่อถามว่า ทำไมความเชื่อต่างๆ อยู่ๆ ถึงบูมขึ้นมาในประเทศไทย เกิดปรากฏการณ์อะไร

ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวว่า ยกตัวอย่าง พระเครื่อง เหมือนเป็นสิ่งที่คนไทยติดตัวเอาไว้ เพื่อป้องกัน ไม่ให้สิ่งไหนมาทำอะไรเราได้ แต่ความคิดในสมัยนี้ พระเครื่องมีความเชื่อมากกว่านั้น ทั้งการขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากพระเครื่องในเรื่องของธุรกิจ การขอพรทางด้านการศึกษา สิ่งที่ความเชื่อนั้นบูมขึ้นมาก็คือ ความคิดของคนสมัยใหม่ ที่จะเป็นสิ่งที่เป็นที่พึ่งของเขาได้นั้นเอง




เมื่อถามว่า ในหนังสือมีการใช้คำว่า “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” ทำไมถึงใช้คำนี้?

ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวว่า สมัยก่อนไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ความเชื่อและพฤติกรรมแบบนี้ คนเรามักเน้นความสำเร็จ ตนเคยไปที่ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา ผมประทับใจมากที่พระเครื่องที่หลวงพ่อคูณปลุกเสก จะมีชื่อทุกรุ่น และกำไลก็มีชื่อ ตนคิดว่านี่คือสิ่งที่เป็นความสำเร็จทางธุรกิจ

“ในช่วงที่เศรษฐกิจบูม ผมมาเมืองไทยก่อนในช่วงนั้น จากเมืองที่เป็นเกษตรกรรม แต่ตอนนี้เป็นอุตสาหกรรมแล้ว คนสมัยก่อนอาจจะคิดว่าพิธีการมันเกิดขึ้นแต่ในหมูบ้านเล็กๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน กับเข้ามาในเมืองมากขึ้น นั้นแปลว่าความเชื่อในหมู่บ้าน ชนบท ก็ส่งผลต่อคนมนเมืองหลวงเหมือนกัน ซึ่งนักกิจกรรมต่างๆ ก็สนใจเรื่องเช่นนี้ด้วย”ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าว

เมื่อถามว่า ปรากฏการณ์ในสื่อที่เห็นได้มากมาย ที่คนชอบมาแสดง อภินิหาร ความเชื่อต่างๆ คิดเห็นอย่างไร ?

เป็นเหมือนเปลี่ยนแปลงความเชื่อ เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว มีมาตั้งนานแล้ว ในหมู่บ้านตามชนบท อาจจะมีทั้งผู้หญิง และผู้ชายที่เป็นทั้งคนทรงเจ้า ผมสังเกตว่า คนทรงเจ้า มักทรงเจ้าเป็น เจ้าแม่กวนอิม เทพอาจารย์ มีความหลากหลายทั้งพฤติกรรม และความเชื่อ และเป็นสิ่งตรงข้ามกับคำว่าสังคมสมัยใหม่

สิ่งที่น่าสนใจคือ อาทิ วัดแขก จะมีงานทุกปี งานนวราตรี จะมีคนมาบูชาองค์พระพิฆเนศ คนที่จะมาร่วมงานมักมากขึ้นทุกปีขยายขึ้น10เท่า จากเมื่อก่อน เป็นการขยายความเชื่อ คนที่เป็นองค์เทพจากทั่วประเทศก็เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อที่จะมาร่วมงาน

และเทศกาลกิเจ จังหวัดภูเก็ต ก็มีความเชื่อจากคนในพื้นที่ต่างๆ เป็นความเชื่อที่มีความหลากหลาย ทั้งองค์เทพ หรือพระเครื่องก็ได้ เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว และทุกชนชั้นก็จะเข้ามามีบทบาทด้วยเช่นกัน




เมื่อถามว่า คำว่าร่างทรง มีคำว่า “การทรงเจ้า” ขึ้นมา ทำให้ความเชื่อมากขึ้นจริงหรือไม่?

ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวว่า เห็นด้วย คำว่า ร่างทรง ในชนบทโบราณ มักใช้คำว่าผีเข้า เป็นคำที่ไม่น่ากลัว ถ้าเราพูดว่าเทพเจ้าเข้า เหมือนยกระดับคำว่าร่างทรง เพราะคำว่าเทพ เป็นคำที่สูงกว่าผี ไม่ใช่พฤติกรรมอย่างเดียว เป็นเหมือนการยกระดับ พิธีกรรม ความเชื่อไสยศาสตร์ ถ้าเรายกระดับภาษาไปด้วย ก็จะทำให้มีคนสนใจมากขึ้น ความเชื่อมักตามมาด้วยบารมีที่มากขึ้น อาจจะเรียกว่าเป็นการเสริมบารมี องค์เทพก็เสมือนฐานนะของวิญญาณที่ค่อยช่วยเหลือในสมัยนี้ได้

เมื่อถามว่าการเปลี่ยนรูปลักษณ์ ของขลังให้เป็นสิ่งที่น่ารักมากขึ้น ความขลังจะมีอยู่ไหม?

การมูเตลูมักจะเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทุกคนต้องหาที่พึ่งจากคนทรงเจ้า จากอินเตอร์เน็ตต่างๆ สิ่งเหล่านี้มักมาตามเศรษฐกิจด้วย แต่ก็มีคำถามว่า ความเชื่อยังอยู่ไหม บางคนก็คงเชื่ออยู่ บางคนบอกว่าคนที่มาขายของแบบนี้อาจจะเน้นความน่ารักของ แต่ผมว่าอยู่ที่ความเชื่อว่าคนที่นับถือสิ่งเหล่านั้น ว่านับถือจริงไหม บางคนก็ไม่เชื่อ บางคนก็เชื่อ

ของขลังมักเข้ามากับเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจมักจะเข้ามากับคนรุ่นใหม่ กับนักศึกษา กับคนที่ไม่เข้าวัด แสดงว่า ความเชื่ออาจะเปลี่ยนตามรุ่น

“ความหลากหลายของประเทศไทย เป็นสิ่งที่สร้างรสชาติ เหมือนอาหารไทย ที่ต้องมีหลายอย่างในหนึ่งมื้อ หวาน เค็ม เผ็ด ต้องครบ เหมือนกับ ความหลายหลายในโต๊ะบูชาของคนไทย ก็มีทั้งองค์เทพในไทย ในจีน หรืออินเดียได้ ความเชื่อของประเทศไทยมีความหลากหลายมาก แต่ก็เป็นปัญหาของนักวิชาการ ที่ไม่สามารถเข้าถึงปัญหาของความหลากหลายเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างไอเดียที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม”ปีเตอร์ แจ็กสัน กล่าวทิ้งท้าย






Thank to : https://www.matichon.co.th/book/news_4500339
วันที่ 29 มีนาคม 2567 - 21:29 น.   
28  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / อานิสงส์การสวดมนต์ ในหลากหลายมุม เมื่อ: มีนาคม 29, 2024, 09:15:08 am
.



อานิสงส์การ "สวดมนต์" ดีต่อชีวิต อย่างไร.?

ไม่ว่าจะเหตุผลใดที่ "สวดมนต์" แต่เรื่องนี้มีอานิสงส์ทั้งทางโลกและทางธรรม จะเรียกว่า ดีต่อใจ ดีต่อชีวิต และดีต่อสัตว์โลกก็ว่าได้

การสวดมนต์ มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ สำหรับชาวพุทธถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร นักบวช นักบุญทั้งหลาย จะขาดข้อวัตร กิจวัตรส่วนนี้ไม่ได้เลย

โดยเฉพาะบทสวดตามวิถีพุทธ โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์ศาสดา ได้กลั่นกรองคำสาธยายที่มีแต่ความเป็นสิริมงคล พร้อมด้วยพลานุภาพแห่งบุญกุศลในทุกถ้อยคำผ่านภาษาบาลี มีอานิสงส์พาชีวิตไปสู่ที่สูง ห่างไกลโรคภัย ป้องกันอุปสรรคอันตราย และสูงสุดคือตัดกิเลสให้ขาดสะบั้น จนมีดวงตาเห็นธรรม


@@@@@@@

บทสวดมนต์อันประเสริฐ

การสวดมนต์ จึงเป็นการทำสมาธิ ระหว่างการสวดมนต์ ใจจะจดจ่ออยู่กับบทสวดนั้นๆ หากเป็นบทสวดมนต์แปลจากภาษาบาลีเป็นไทย ยิ่งทำให้เข้าใจความหมายมากขึ้น ก็จะเข้าใจธรรมะอันลึกซึ้งได้ง่ายขึ้น

บทสวดแต่ละบทจะเรียกว่า พระปริตร แปลว่า เครื่องคุ้มครองอันประเสริฐ ประกอบด้วยบทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีทั้งบทสรรเสริญคุณแห่งพระรัตนตรัย, บทอวยชัยให้พร บางบทนำมาจากพระไตรปิฎก บางบทเป็นบทที่แต่งขึ้นใหม่ในภายหลัง ในแต่ละบท แต่ละบาท ล้วนแล้วแต่มาจากพระโอษฐ์ อันประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า

สวดมนต์เสมือนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระเทพโพธิวิเทศ (ท่านเจ้าคุณวีรยุทธ์ วีรยุทโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย กล่าวถึงการสวดมนต์ว่า พลังของการสวดมนต์ในพุทธสังเวชนียสถาน เสมือนเรานั่งอยู่แวดล้อมด้วยองค์พระอรหันต์และเทวดา

   “การนำพระธรรมที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้ามาสวด และสาธยายเป็นกิจวัตร ก็ขึ้นชื่อว่าปฏิบัติต่อพระบรมพระศาสดาด้วยการเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยทุกประการ ขอท่านทั้งหลายจงสวดมนต์เสมือนหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน”

@@@@@@@

ดร.พระมหาอ้าย ธีรปัญโญ วัดนาคปรก กล่าวถึงอานิสงส์ของการสวดมนต์ในทางธรรมไว้ว่า "ผลประโยชน์ของการสวดมนต์นั้นมีมากมาย แต่สรุปง่ายๆ ตามที่ครูบาอาจารย์บอกตรงกัน ก็คือ
    1. ไล่ความขี้เกียจ
    2. ได้รู้ความหมาย
    3. จิตเป็นสมาธิ
    4. ได้ปัญญา เข้าใจแก่นสาระของธรรม และ
    5. เปรียบเสมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

    “สำหรับผู้เริ่มต้น ก็ให้เริ่มจากนะโม 3 จบให้ได้ก่อน แล้วค่อยต่อพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ แล้วต่อด้วยบทพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ 3 บทนี้ จำให้ติดปาก ไม่ใช่การอ่านมนต์ เพราะถ้าอ่าน มันไม่มีอะไรเคลื่อนไหว สมองก็อยู่ที่เดิม ส่วนสถานที่นั้น สวดมนต์ที่ไหนก็ได้ ขอให้สวดด้วยใจก็พอแล้ว”


@@@@@@@

นายแพทย์วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการสายงานแพทย์ โรงพยาบาลนครธน ผู้นำเอาธรรมปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เคยเล่าถึงอานิสงส์การสวดมนต์ในทางการแพทย์ว่า

ปัจจุบันมีผลวิจัยออกมามากมายเกี่ยวกับการสวดมนต์ที่มีผลต่อสมองและร่างกาย ในวงการแพทย์ การสวดมนต์ ทำสมาธิ เจริญอานาปานสติ จะได้ผลอยู่ 3 อย่างหลักๆ คือ
    1. เกิดภูมิต้านทานโรค โดยสร้างมาจากเซลล์สมองตัวหนึ่ง
    2. ระบบฮอร์โมน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสมองจะสร้างสมดุลให้กับร่างกาย
    3. หัวใจและหลอดเลือด ความดันลดลง เป็นโรคหัวใจลดน้อยลง

    “เพียงแค่สวดมนต์และทำสมาธิ วันละ 12 นาที นาน 8 สัปดาห์ จะมีเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นต่อเซลล์สมองของเราทันที”





สวดมนต์เพื่ออะไร.?

    • สวดเพื่อสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า
      บทสวดบางบทที่ใช้สวดนั้น เช่น บทอิติปิ โส ฯลฯ ภควาติฯ ชาวพุทธในสมัยพุทธกาล ผู้ที่มีจิตเลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้านิยมใช้สวดเพื่อสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า

    • สวดเพื่อเป็นต้นทุนเจริญศรัทธา
      การสวดมนต์ก็เพื่อเพิ่มพูน พอกพูน เติมเต็มพลังแห่งศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสที่มีต่อคุณพระรัตนตรัย ที่นับถือเคารพบูชาเป็นสรณะ

    • สวดเพื่อแผ่จิตเมตตา
      บทสวดมนต์แต่ละบทเป็นเสมือนตัวเชื่อมต่อส่งสัญญาณ แปรสภาพให้เป็นพลังงานพิเศษ เหมือนพลังงานทั่วไป ผ่านกระแสเสียงกระแสจิตจากจิตสู่จิต ก่อให้เกิดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความรักความปรารถนาดี ความเมตตาปรานี ความสุข ความปลอดภัยส่งให้ มอบให้ อุทิศให้ แผ่ให้ เพื่อนร่วมโลกร่วมแผ่นดินทั้งมิตรและศัตรู ไม่เลือกชนชั้นวรรณะภาษา ขอให้อยู่ดีมีสุข

    • การสวดมนต์เป็นการทำสมาธิ
      ขณะสวดมนต์ จิตย่อมจดจ่อในบทสวด หรือที่จำไม่ได้ก็ใช้สายตาเพ่งมองตัวหนังสืออ่านบทสวดแต่ละอักขระ แต่ละวรรค แต่ละบท แต่ละตอน จิตในขณะนั้นย่อมรวมตัว ดับความฟุ้งซ่านลง เกิดเป็นสมาธิได้

    • เพื่อฝึกความอดทน
      เวลาที่สวดมนต์ ต้องใช้เวลานานพอสมควร ผู้สวดจึงต้องมีความอดทนอดกลั้นสูง ข่มทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะสวดไปจนจบ ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา การฝืนกาย ฝืนใจ บังคับกาย บังคับใจในขณะนั้น ย่อมทำให้ขันติธรรม

    • เพื่อรักษาพระธรรม
      บทสวดมนต์บางบท เป็นพระพุทธพจน์ที่สำคัญ เช่น บทพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น เป็นหลักธรรมสำคัญ ที่จะต้องจดจำให้ได้ เพื่อรักษาไว้ โดยปกติแล้ว บทสวดมนต์แต่ละบท ที่จะนำมาสวดนั้นผู้สวดจะต้องท่องจำให้ได้ขึ้นใจ แล้วนำมาสวดสาธยาย เพื่อเป็นการทบทวนอยู่เป็นประจำ เพื่อกันลืม

    • เพื่อกำจัดบาปอกุศล
      ในการสวดมนต์แต่ละครั้ง ต้องข่มซึ่งนิวรณ์ธรรม มีกามฉันทะ ความติดในสุข พยาบาทความหงุดหงิดไม่พอใจ ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความง่วงซึม หดหู่ ความลังเลสงสัย และกำจัดอกุศลธรรมต่างๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นผิด ความถือตัวถือตน ความเกียจคร้านให้เบาบางจางหายหมดไปได้

    • เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต
      ขณะสวดมนต์ จิตเป็นสมาธิตั้งมั่น ตั้งใจสวด สวดด้วยความสงบ เรียกว่า สมาธิ ขณะสวดจิตน้อมนึกพิจารณาไปตาม เห็นความเป็นจริงของชีวิต

    • สวดมนต์ช่วยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ
      ตามหลักวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ มีข้อควรสังเกตว่า คนที่ชอบสวดมนต์อยู่เป็นประจำ เวลามีทุกข์ ประสบปัญหาชีวิต มักทุกข์ไม่นานนัก แก้ไข หาทางออกได้รวดเร็ว ต่างจากคนที่ไม่ชอบสวดมนต์ ทุกข์ก็จะทุกข์อยู่นานหาทางออกไม่ได้.






ขอขอบคุณ :-
ข้อมูลบางส่วนจาก : https://www.watphramahajanaka.org/
website : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/985468
By ป้อมยาม | จุดประกาย | 30 ม.ค. 2022 เวลา 16:00 น.
29  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / 13 บทสวดและคาถา | ท่องไว้ ใช้ในชีวิตประจำวัน และโอกาสพิเศษ เมื่อ: มีนาคม 29, 2024, 07:03:23 am
.



13 บทสวดและคาถา | ท่องไว้ ใช้ในชีวิตประจำวัน และโอกาสพิเศษ

ชีวิตบางทีก็ต้องการที่พึ่งทางใจ ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน สังคมไทยเราก็มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์นี่แหละเป็นที่พึ่ง คนไทยอย่างเรา ยกมือไหว้ซักหน่อย ท่องคาถาสักนิด ยังไงของแบบนี้ก็ขอเชื่อไว้ก่อนแล้วกัน

แม้ว่าเราจะก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่แล้ว แต่ความเชื่อทั้งหลายก็ยังดำรงอยู่ ไม่ว่าโลกจะทันสมัยและก้าวไกลไปแค่ไหน เรา – มนุษย์ตัวเล็กๆ – ต่างเผชิญชะตาชีวิตไปอย่างยากลำบาก การจะมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นมงคลบางอย่างที่เราสมาทานไว้เพื่อช่วยนำพาเราผ่านความยากลำบากและเหตุการณ์ที่อาจไม่คาดฝันในแต่ละวันไป ไม่แน่ใจว่าพลังเหนือธรรมชาติมีจริงแค่ไหน แต่ด้วยความเชื่อแบบโบราณก็มองว่า คาถา บทสวดอันประกอบด้วยคำ และความอันเป็นมงคล อ้างอิงตกทอดมาจากครั้งโบราณอย่างน้อยก็ทำให้จิตใจสงบ เป็นขวัญและกำลังใจ ช่วยเพิ่มพูนสติพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง

The MATTER ชวนไปสำรวจและรวบรวมคาถาต่างๆ ที่มีจุดหมายเพื่อการเฉพาะ เหมาะกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันร่วมสมัย เรามีคาถาที่เหมาะกับมนุษย์เงินเดือน คาถาเจ้านายรัก คาถาสมัครงาน หรือบางวันเดินตามท้องถนนเราก็มีคาถาใช้ป้องกันสุนัข ป้องกันงู เดินทางไกลๆ เราก็มีคาถาป้องกันไฟไหม้ คาถาเพื่อความปลอดภัยเวลาเดินทางทางน้ำ เรื่อยไปจนถึงเรื่องสุขภาพ ครอบคลุมทุกความต้องการและทุกเหตุการณ์ในชีวิต

@@@@@@@

คาถาเจ้านายเมตตา




มนุษย์เงินเดือนฟังทางนี้ ใครรู้สึกไม่มั่นใจว่าเจ้านายโอเคกับเราไหม หรืออยากให้เจ้านายรักต้องบริกรรมคาถาดังกล่าวก่อนออกจากบ้าน ตามตำราบอกว่าให้ภาวนาท่องคาถาข้างต้นสามจบก่อนออกจากบ้านให้คุณเจ้านายเมตตา แต่ในขณะสวดมนต์ก่อนออกจากบ้านก็ถือโอกาสตั้งสติก่อนสตาร์ท ว่าไปทำงานวันนี้จะพูดจาสื่อสารยังไงให้มีประสิทธิภาพ ถ้าบุญยังมี เจ้านายก็น่าจะโอเคตามสภาพการทำงานของเราเนอะ

คาถาสมัครงาน




ทำนองเดียวกันกับคาถาก่อนหน้า เวลาเราจะออกไปสมัครงานเราก็ตื่นเต้นและตื่นกลัว การที่เรามีที่พึ่งสักหน่อย เชื่อโชคลางซักนิดก็ถือว่าไม่ผิด ดังนั้นเชิญสวดบทก่อนหน้า ถือเป็นกุศโลบายเพื่อเพิ่มกำลังใจ รวบรวมสติสมาธิก่อนออกไปสร้างความประทับใจครั้งแรกเพื่อรับเข้าทำงาน

คาถาขับรถ




ตั้งสติก่อนสตาร์ทที่แท้จริง การขับรถเป็นกิจกรรมที่เราทำทุกวัน และเป็นกิจกรรมที่ต้องการสติและความใจเย็น การปริ๊นต์คาถาภาษาบาลีไว้ที่รถก็อาจจะพอช่วยให้จิตใจเราสงบร่มเย็นขึ้น นึกภาพถ้าหงุดหงิดมากๆ เวลามีคนขับรถแย่ๆ อยากจะแซง อยากจะปาด หันไปเห็นคาถาขับรถก็ถือโอกาสบริกรรมให้ใจเย็น ให้มีสติ ขับขี่ปลอดภัยเนอะ แต่ถ้าบริกรรมไปแล้วเสียสมาธิจากพวงมาลัย ก็อย่าดีกว่าเนอะ สวดก่อนขึ้นรถพอ

คาถาใจอ่อน




ทีเด็ดลูกหนี้ หรือใครที่กำลังจะออกไปเจอคนที่อยากให้ใจอ่อน อ่อนใจ ตามตำราบอกว่าคาถานี้ใช้สำหรับท่องก่อนที่เราจะไปต่อรองกับเจ้าหนี้ อานุภาพของคาถาจะช่วยให้อีกฝ่ายใจอ่อน ยอมผ่อนปรนให้เรา แต่เรื่องเงินเรื่องใหญ่ มีหนี้ต้องใช้ ไม่แน่ใจว่าคาถาจะมีพลังมากกว่าเรื่องเงินและผลประโยชน์ได้แค่ไหน

คาถาป้องกันงูและสัตว์ร้าย – ขันธปริตร




ขันธปริตรเป็นส่วนหนึ่งของพระสูตรที่พูดถึงและเป็นการแผ่เมตตาถึงพญางูสี่ตระกูลตามความเชื่อแบบพุทธ ในพระสูตรพูดถึงพระภิกษุรูปหนึ่งที่ถูกงูกัด พระพุทธเจ้าไขว่าที่ถูกกัดเพราะไม่ได้แผ่เมตตาให้พญางูทั้งสี่ตระกูลคือ ตระกูลวิรูปักษ์ ตระกูลเอราปถ ตระกูลฉัพยาบุตร และตระกูลกัณหาโคมดม คาถาที่ใช้แผ่เมตตาก็คือคาถาขันธปริตรนี้ คนไทยจึงเชื่อว่าอานิสงส์ของการสวดคาถานี้ให้ผลเรื่องป้องกันงูและสัตว์ร้าย นิยมสวดขึ้นที่ท่อนอัปปะมาโณเพราะเชื่อว่าถ้าขึ้นแต่ต้นจะทำให้ผีมาอาละวาด แต่ถ้าเกิดเจองูขึ้นมาจริงๆ ก็ถอยให้ห่าง แล้วเรียกผู้เชี่ยวชาญมาจัดการ …ติดต่อศูนย์เอราวัณโทร 1646

คาถากันสุนัข




หมาจรจัดเป็นปัญหาที่เราเจอได้ตลอด เราเดินตามตรอกซอกซอย หรือบางทีอยากจะไปออกกำลัง ไปวิ่งไปขี่จักรยานตามท้องถนน เวลาเจอหมาก็กลัวๆ นอกจากคาถาแล้ว ข้อแนะนำเบื้องต้นของสัตวแพทย์บอกว่าถ้าเจอหมาดุทำท่าจะเล่นงานเรา สิ่งที่ควรทำคืออย่าตกใจ อย่ากระโตกกระตาก อย่าวิ่ง พยายามเบนความสนใจด้วยสิ่งอื่น ถ้าโดนจู่โจมจริงๆ ก็เก็บคองอเข่า ถ้าถูกกัดก็ไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนต่อไป

คาถาป้องกันไฟ – วัฏฏกปริตร




วัฏฏกปริตร อ้างอิงนิทานชาดกวัฏฏกชาดก ชาดกหมายถึงพระชาติที่บำเพ็ญพรตเป็นพระโพธิสัตว์ มีพระชาติหนึ่งเสวยพระชาติเป็นนกคุ่ม แล้วเจอปัญหาไฟป่าจึงมีการทำพระปริตรเพื่อปกป้องตัวเองจากไฟป่า เนื้อความของคาถาเป็นการอาราธนาคุณของพระพุทธเจ้าในมาปกป้องตัวเองจากไฟป่า ดังนั้นจึงเชื่อว่าคาถานี้เป็นคาถาที่ให้คุณเรื่องการป้องกันไฟ

คาถาต้านคลื่น (พระเจ้าห้ามสมุทร)




ขึ้นรถ ลงเรือก็ต้องไปด้วยความระมัดระวัง บางคนกลัวเรือ เราก็มีคาถาเพื่อการเดินทางทางน้ำ ตามตำราบอกว่าให้สวดสามจบและเสกออกไประหว่างเดินทางเพื่อให้เดินทางอย่างปลอดภัย รอดพ้นจากคลื่นลมมรสุมต่างๆ หลังจากสวดครบสามจบแล้ว ก็มองหาเสื้อชูชีพ ทางออกฉุกเฉิน และตรวจสอบสภาพอากาศไปพร้อมๆ กัน

คาถาต่อสู้




เรามีตำนานเหล่าเสือ มีนักสู้นักรบที่มีการใช้พลังอาคมเข้าร่วมเพื่อปลุกขวัญและกำลังใจ สำหรับใครที่อาจจะต้องเผชิญหนาการต่อยตีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็มีคาถาต่อสู้ ใช้ภาวนาตอนที่เผชิญหน้ากับศัตรู ให้รอดพ้นจากภัยอันตราย

คาถาหมัดหนัก




คาถานี้เป็นคาถาเฉพาะ ใช้เพื่อเพิ่มพลังการต่อยของเราให้หมัดเราหนักมากขึ้น คาถานี้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักมวยแต่อย่างไร แต่ถ้าอยากหมัดหนักก็อาจจะต้องมีการฝึกซ้อมและฝึกฝนกล้ามเนื้อประกอบด้วย

คาถารักษาไข้




เวลาป่วยๆ อยากหายเร็วๆ คาถารักษาไข้เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่คาถานี้ระบุว่าเป็นการรักษาร่วม คือใช้ร่วมกับยาที่กินอยู่อาจช่วยฟื้นพลังใจให้หายเร็วขึ้น อย่าดูถูกพลังของจิตใจและพลังของ Placebo effect ใช้ภาวนาเมื่อเวลาที่ไม่สบายกับยาที่ใช้ทานอยู่จะช่วยให้หายป่วย หายเจ็บไข้ ได้เร็วขึ้น

บทสวดสำหรับคุณแม่ให้คลอดลูกง่าย – อังคุลิมาละปะริตตัง




อังคุลิมาละปะริตตัง แปลตรงตัวคือปริตรของพระองคุลิมาล ก็เป็นประวัติของพระองคุลิมาลที่หลังจากกลับใจบวช ขณะที่เป็นภิกษุก็ได้ไปเจอหญิงท้องแก่ที่คลอดลูกไม่ได้ ในพระสูตรพระองคุลิมาลจึงตั้งจิตตามคาถามีเนื้อความอำนวยพรให้หญิงท้องแก่นั้นคลอดได้โดยง่าย มนต์บทนี้จึงเชื่อกันว่ามีคุณด้านเกี่ยวกับการคลอด ป้องกันการแท้งลูก ก็เป็นกำลังใจให้คุณแม่ๆ เนอะ
 
คาถาครอบจักรวาล




คาถาข้างต้นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้ารู้สึกว่าเลือกไม่ถูก คาถาครอบจักรวาล เป็นคาถามงคลรวมครบจบในคาถาเดียว

 




Thank to : https://thematter.co/social/13-pray-for-specific-purpose/38788
Posted On 8 November 2017 , vanat putnark

อ้างอิงข้อมูลจาก :-
- myhora.com
- wikihow.com
- watpamahachai.net
- wattongnai.com
- theasianparent.com
30  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / อานิสงส์ในการฟังธรรม และใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรม เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 10:08:48 am
.



อานิสงส์ในการฟังธรรม และใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรม
จาก ผัคคุณสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ๖ ประการ คือ

    @@@@@@@

จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑. ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒. ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓. ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร


    @@@@@@@

จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นพระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔. ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นพระตถาคต แต่เธอได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕. ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร

    • ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นพระตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาเมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๖. ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร

    @@@@@@@

    "ตถาคต สาวกของพระตถาคต ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น" พุทธพจน์






ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/pin/631981760239855321/
ที่มา : หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สุคติ สุคโต สำหรับแจกเป็นธรรมานุเคราะห์ จัดทำถวายพระศาสนาโดย
โครงการแสงธรรมแห่งพระไตรปิฎก มูลนิธิอุทยานธรรม ผู้กอปรกิจ และเจ้าภาพทุกท่าน E-Mail : tripitaka@uttayarndham.org
31  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เขม้นมอง “ผ้าขาวม้า” ไทยหรือเทศ.? เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 07:38:34 am
.



เขม้นมอง “ผ้าขาวม้า” ไทยหรือเทศ.?

คําว่า “ผ้าขาวม้า” หรือ “ผ้าขะม้า” มักได้ยินคนไทยส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นไทย มีจิตวิญญาณ “ไทยแท้” เสียยิ่งกว่าภาพลักษณ์ของ “ตุ๊กตุ๊ก” และ “สุวรรณเจดีย์” เสียอีก

จนเชื่อกันว่า หากดีไซเนอร์สามารถดึงเอาหัวใจของผ้าขาวม้าออกมาปอกเปลือกแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้กิ๊บเก๋ร่วมสมัย ออกแบบให้สาวงามผู้เข้าประกวดเวทีนางงามระดับจักรวาลใส่อย่างเหมาะสม ย่อมทำให้คนทั่วโลกตื่นตะลึง

แถมไม่ต้องได้รับคำวิจารณ์เสียดสีอย่างเสียๆ หายๆ เหมือนอย่างความพยายามที่จะฝืนไปใช้สัญลักษณ์อื่นใด ที่ดูอ่อนไหวบอบบาง อาจไปกระทบกระเทือนเรื่องศาสนา หรือสุนทรียศาสตร์เอาได้

คำถามมีอยู่ว่า ตุ๊กตุ๊กก็ดี สุวรรณเจดีย์ก็ดี รวมทั้งผ้าขาวม้านั้น ตกลงแล้วเป็นวัฒนธรรมเฉพาะเพียงแค่ของสยามประเทศชาติเดียวเท่านั้นเองล่ะหรือ





ใกล้ตัวสุด ผ้าขะม้า แผลงจากผ้าขอขมา

หากมองรากศัพท์ที่มาและความหมายของ “ผ้าขาวม้า” แบบลากให้ใกล้ตัว โยงหาความเป็นไทยมากที่สุด ก็อาจฟันธงไปเลยว่า ผ้าขาวม้า หรือ “ผ้าขะม้า” แผลงมาจาก “ผ้าขอขมา” โดยอิงกับประเพณีของคนดีศรีสยามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า คนไทยต้องซื้อหา “ผ้าขะม้า” ไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อ “กราบขอขมา”

ผ้าขมาใช้สำหรับไหว้ผู้ใหญ่ (ชาย) ในการรดน้ำดำหัว และยังใช้เป็นผ้าไหว้ในพิธีแต่งงานกับโอกาสต่างๆ ที่จะ “ขอขมา” ผู้ใหญ่ ด้วยเป็นของหาง่ายและได้ใช้ประจำวัน

แนวคิดนี้ สอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือเรื่อง “ผ้าทออีสาน ฉบับเชิดชูเกียรติแม่ครูช่างแถบอีสานใต้” มีการอธิบายผ้าขะม้าในกัมพูชา เว่า “ผ้ากรรมา” เป็นผ้าที่มอบให้ผู้ใหญ่เพื่อขอล้างกรรม ทำให้มีผู้เชื่อต่อว่า “ผ้ากรรมา” คงแผลงเป็น “ผ้ากำมา” เมื่อเข้าสู่ราชสำนักอยุธยา ครั้นพอเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์จึงกลายเสียงเป็น “ผ้ากำม้า” และค่อยๆ แผลงเป็น “ผ้าขะม้า” หรือ “ผ้าขาวม้า” ในที่สุด

นี่คือทฤษฎีแรก ขนาดที่เชื่อว่าผ้าขะม้าเป็นของไทยแท้แล้วเชียว ก็ไม่วายยังอุตส่าห์ถูกโยงดึงไปเกี่ยวข้องกับกัมพูชาอีกจนได้





อีสาน-ล้านนา-ปักษ์ใต้

เรียกนามตามกรรมต่างวาระ ในเมื่อเปิดประเด็น เสนอมุมมองว่า “ผ้าขะม้า” มีความเกี่ยวข้องกับการ “ขอขมา” ผู้ใหญ่ ดังนั้นมิอาจมองข้าม “ภาษาพื้นถิ่น” ของแต่ละภูมิภาคไปได้เลย ลองหันมาพินิจทีละภาษา บนพื้นฐานของการตั้งสมมติฐานว่า ผ้าขะม้าเกี่ยวข้องกับการไปไหว้สา สมมา สูมาคารวะ ดำหัว ผู้ใหญ่หรือไม่ และกลุ่มชนแต่ละภาคเรียกกันอย่างไร

ทางอีสานเอิ้น “ผ้าอีโป้”

บางพื้นที่เรียก “ผ้าด้าม” หรือ “ผ้าแพรด้าม” เป็นคำเรียกที่เก่ามาก ยังเหลือแถบกาฬสินธุ์ ในชีวิตจริงไม่มีใครเรียก “ผ้าขะมา” หรือ “ผ้าสุมมา” แต่อย่างใด

ฝ่ายล้านนาเรียก “ผ้าต่อง” หรือ “ผ้าหัว” สะท้อนวัฒนธรรมการโพกศีรษะที่พบในชนชาติไท/ไตแทบทุกกลุ่มทั้งหญิงและชาย

อ.ศักดิ์ รัตนชัย ปราชญ์เมืองนครลำปาง วัยย่าง 90 ปี เล่าว่า “ผ้าขะม้าของชาวลำปางในอดีตเป็นผ้าทอแบบมีลายทางเดียว ไม่เป็นตาหมากรุก จึงเชื่อว่า “ผ้าขะม้า” ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของล้านนาโบราณ ลายผ้ารูปแบบชุดนักรบล้านนาคราวกอบกู้เมืองลำปางสมัย “หนานทิพย์ช้าง” เมื่อ พ.ศ.2275 เป็นเสื้อสีขาว มีผ้าคาดเอว (แต่ไม่ได้เรียกว่าผ้าขาวม้า) ยุคนั้นลำปางจะเรียกอย่างไรไม่ทราบ แต่ภาษาทางเชียงใหม่เรียกผ้าต่อง

ผ้านุ่งปิดส่วนล่างที่ม้วนถลกขึ้นมาพันขัดง่าม ลอดหว่างขาแบบโจงกระเบน แต่ดึงติ้วกว่าชิดแน่น เหมือนขี่ม้าก้านกล้วย คล้ายถกเขมรโชว์แก้มก้นนั้น เรียกผ้า “เค็ดม่ำ/เฟ็ดม่าม/เก๊นม่าม” แล้วแต่สำเนียงซึ่งเป็นภาษาที่มีอิทธิพลพม่าเข้ามาปะปน แต่ปัจจุบันไม่มีใครนิยมเรียกว่าเค็ดม่ำอีกแล้ว มักเรียกการนุ่งผ้าแบบถกเขมรโดยรวมว่า “ผ้าต้อย/ผ้าต่อง” มากกว่า”

ปักษ์ใต้เรียก “ผ้าชักอาบ” บ้างเรียก “ผ้าชุบ” มาจากวิธีการใช้ชุบน้ำเช็ดหน้าเช็ดตัว

พบว่า ในวัฒนธรรมพื้นถิ่นทั้งสามภาค ไม่มีคำเรียกใดที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ผ้าขาวม้า/ผ้าขะมา/ผ้าสมมา/ผ้าสุมา” แต่อย่างใดเลย

อนึ่ง ในวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่มหนึ่ง มีการอธิบายว่า สมัยอยุธยารับอิทธิพลรูปแบบ “ผ้าเคียนหัว” จากสุโขทัยมาใช้ แต่รับชื่อมาจากเขมร แผลงผ้ากรรมา เป็นผ้ากำมา แต่วัตถุประสงค์เริ่มจากพันหัว หากเปิดพจนานุกรมจะมีคำอธิบายว่า ผ้าขะม้า เรียกอีกอย่างได้ว่า “ผ้าเคียนพุง” เป็นอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นภาษาที่อธิบายถึงวิธีการใช้งาน

สรุปว่า “ผ้าขะม้า” สามารถใช้ได้ทั้ง “เคียนพุง” และ “เคียนหัว”

ประโยชน์ของผ้าขะม้ามีมากมาย ในวัฒนธรรมล้านนา ใช้รักษาโรค มีท่ารัดอก ท่าตั้งวงแขน ขา ทำให้ร่างกายได้รับการผ่อนคลาย เรียก “วิถีแห่งผ้าต่อง”

โดยการใช้สอยในอีสานนั้น เป็นผ้าโพกหัว พัดวี อู่นอนลูกหลาน ปัดไล่แมลง เช็ดให้แห้งให้สะอาด เคียนเอว ห่มนั่งห่มนอน เบี่ยงบ้ายในยามอยู่ในพิธีบุญ นุ่งอาบน้ำ ห่อของ เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ในวิถีเกษตรกร ส่วนในทางพิธีกรรมนั้น ถือเป็นของสมมา ของฝากของต้อน

ทางปักษ์ใต้ชุมชนลุ่มน้ำปากพนังเรียกว่า “ผ้าขาม้า” มีที่มาจากเวลาชิงเปรต เทศกาลงานบุญเดือนสิบ

แน่นอนว่า ภาษาถิ่น ทั้งอีสาน ล้านนา ปักษ์ใต้ในปัจจุบัน จะเรียก ผ้าขะม้า ว่าอะไรก็ได้ แล้วแต่สะดวก ขึ้นอยู่กับหน้าที่ใช้สอยในแต่ละพื้นถิ่น แต่ในเมื่อ “ผ้าขะม้า” เป็นของกลาง มิใช่ของภาคใดภาคหนึ่ง จึงควรช่วยกันสืบค้นว่า “ผ้าขะม้า” มีที่มาอย่างไรกันแน่





มอญม่านมลายู พี่น้องอุษาคเนย์

ภาษามอญเรียก “ผ้าขะม้า” ว่าอย่างไร อาจจะช่วยเป็นเครื่องมือในการคลำทางด้านนิรุกติศาสตร์มากยิ่งขึ้น อ.องค์ บรรจุน ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญ บอกรียกว่า “ยาดกะบอย” ภาษามอญค่อนข้างห่างไกลผิดกับภาษาเขมร ที่เรียก ผ้ากรรมา แต่ในวัฒนธรรมมอญ กลับมีการใช้ผ้าขะม้าอย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะคำพูดที่ได้ยินจนชินหูว่า “นุ่งผ้าตาหมากรุกของรามัญฯ” แสดงให้เห็นว่า ผ้านุ่งชายมอญจะทอเป็นลายตาราง ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ต่างกันที่มอญในไทย ใช้ลายตารางตาใหญ่คล้ายกับลายผ้าขะม้าในหลายวัฒนธรรมในไทย แต่มอญในพม่า ใช้โสร่งแดงลายตารางตาเล็ก ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่หลังจากถูกวัฒนธรรมพม่ากลืนไป (อ้างอิงจากข้อมูล ของ อ.องค์ บรรจุน)

ปกติ ชายชาวมอญในไทยจะใช้ผ้าขะม้าในโอกาสต่างๆ กัน อาทิ
เข้าวัด – ใช้นุ่งเฉวียงบ่า เป็นผ้าสไบ อาจใช้เป็นผ้าปูกราบด้วย
งานพิธีที่เป็นทางการ – พับให้แคบ พับครึ่ง แล้วพาดบ่า โดยให้ชายผ้าอยู่ข้างหลัง
งานรื่นเริง – คล้องบ่า ห้อยไหล่ โดยให้ชายสองข้างห้อยอยู่ด้านหลัง เป็นสองชาย
ทำงานใช้แรง – มัดเอว

เมื่อเปรียบเทียบดูกับวัฒนธรรมไท/ไต และชาติพันธุ์อื่นในอุษาคเนย์ พบว่าผ้าขาวม้าปรากฏอยู่ทั่วไป เป็นผ้าอเนกประสงค์ ใช้ได้สารพัดประโยชน์ คำเรียกจึงมีหลากหลายตามหน้าที่ใชสอย รูปแบบก็แยกย่อย

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ลายตารางหมากรุก หรือศัพท์ผ้าทอเรียก “ตาโก้ง/ตาแสง” คำว่า “ผ้าลายตาโก้ง” ไม่เกี่ยวข้องกับชื่อ “เมืองตะโก้ง” ในพม่า แต่อย่างใด แต่เป็นคำไทย หมายถึงผ้าลายตาๆ ส่วนโก้งก็คือลายด่าง เช่น พูดว่า “เสื้อโก้งเสื้อลาย” คำว่า “ตาแสง” ก็ใช้เรียกลวดลายตาสี่เหลี่ยม เช่น “รั้วตาแสง” คือรั้วไม้ไผ่ลายตาราง

มีผู้เชี่ยวชาญภาษาชวาเสนอว่า ในภาษาอินโด มีคำว่า Garis-การีส แปลว่า ขูด ขีด เขียน (คล้ายคำว่า กา) กับอีกคำ Mata-มาตา แปลว่าดวงตา รวมสองคำเป็น Garismata ก็คือ การขีดเขียนตาสมัยนี้ หรืออีกนัยคือการขีดตารางก็ว่าได้

คำว่า Garis ยังแตกหน่อออกไปเป็น Keris-เคอริส หรือกริชในภาษาไทย มีคมสองด้านยาวเรียวแหลม และปลอกหรือซองใส่กริชเรียก Sarung-ซารุง ซึ่งยังใช้ในความหมายของซารุงหรือผ้าโสร่ง ผ้าตารางหมากรุก ในแบบเดียวกับผ้าขะม้า ที่น่าจะหดสั้นจากคำยาว “การีสมาตา” เป็น “กามา”



ฮากามะ


“ผ้าก่าม่า” “ฮากามะ” ของญี่ปุ่น

อีกทฤษฎีหนึ่ง มีโอกาสไปฟังการบรรยายของ อ.จิราภรณ์ อรัณยะนาค อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุของกรมศิลปากร จัดโดย “มิวเซียมสยาม” ท่านบอกว่า พบผ้าขาวม้าผืนเก่าแก่มากในประเทศญี่ปุ่น ทำเป็นตารางหมากรุกเหมือนของเรา มีอายุร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา ญี่ปุ่นเรียกผ้านั้นว่า “ผ้าก่าม่า”

ผ้าก่าม่ามีลักษณะการนุ่งร่วมกับ “ฮากามะ” (Hakama) ที่เป็นกางเกงขายาวอัดพลีทบานคล้ายกระโปรง ส่วนผ้านุ่งพันแบบกางเกงชั้นใน คล้ายนุ่งเค็ดม่ำของคนล้านนา/พม่าและถกเขมร เปิดแก้มก้นคล้ายนักมวยปล้ำซูโม่นุ่งกัน เรียกว่า ฟุนโดชิ (Fundoshi)

น่าสนใจยิ่งนัก เนื่องจากญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ตกลงใคร “รับ” หรือ “ส่ง” อิทธิพลผ้าขะม้าให้ใครกันแน่ ญี่ปุ่นรับ “ผ้าก่าม่า” จากอยุธยา หรืออยุธยารับ “ผ้าขะม้า” จากญี่ปุ่น

ผู้รู้บางท่านบอกว่า ญี่ปุ่นรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอยุธยาไปมากโดยผ่านทางริวกิว (หรือโอกินาว่า อดีตเป็นประเทศหนึ่ง) ตัวอย่างที่ชัดคือ เหล้าสาเก เพราะแต่เดิมในญี่ปุ่นมีแต่เหล้าทำจากมันฝรั่ง

@@@@@@@
 
หรือจะจบลงด้วยทฤษฎีเปอร์เซียน

ในภาษาเปอร์เซียน หรืออิหร่าน มีคำว่า “คะมัร” ซึ่งแปลว่า “เอว” ส่วน ผ้าคะมัร=ผ้าคาดเอว ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเปอร์เซียนจึงเชื่อว่า ขาวม้า/ขะม้า มาจากคำว่า คะมัร ในภาษาเปอร์เซียน

ยังมีคำภาษาไทยอีกมากที่มีที่มาจากเปอร์เซีย อาทิ
ฉัตร : (ชัทร)
กะหล่ำ : (คะลัม)
หลาบ : (โกลอบ) ฯลฯ

อาจเป็นไปได้ว่า คะมัร ของเปอร์เซียอาจเป็นรากศัพท์ “ตัวแม่” ที่ส่งอิทธิพลทางภาษาให้แก่ กามัร กรรมา การีสมาตา ก่าม่า เค็ดม่ำ ขมา ขาม้า ขาวม้า ให้แก่ประชาคมเอเชียนานาชาติพันธุ์ที่เข้ามาปะทะสังสรรค์กันแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโน้นแล้ว

ที่มาและรากศัพท์ของ “ผ้าขะม้า-ผ้าขาวม้า” คงต้องสืบค้นกันต่อไป ฟังดูเหมือนง่าย แต่กลับไม่ง่ายเหมือนที่คิด เพราะพอสืบสาวเอาเข้าจริงๆ แล้วมีข้อมูลทะลักมหาศาล มึนหัวพอสมควร

การสืบค้นเรื่อง “ผ้าขะม้าของคนเอเชีย” ไม่ได้ง่ายดาย เหมือนการได้มาซึ่งภรรยาหลายคน ของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยผู้หนึ่งซึ่งมีฉายาว่า “จอมพลผ้าขะม้าแดง”






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มิถุนายน 2559
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_5028
32  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / 5 สิ่ง “เขมร-ไทย” ในประเด็นตามหา เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 07:14:43 am
.



5 สิ่ง “เขมร-ไทย” ในประเด็นตามหา

หลังทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารกับศาลโลกเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน ตอกย้ำความสำเร็จบนเวทีนานาชาติ ตอกย้ำความสำเร็จแต่ครั้งประเดิมคืนเอกราชจากฝรั่งเศสแล้วอย่างยิ่งยวดโดยมิโอ้อวดประวัติศาสตร์เลยนั้น เป็นความจริงทีเดียวสมัยสีหนุราช

แต่แล้วความภาคภูมิใจทั้งหมดก็ถูดลดเลือนโดยระบอบเขมรแดงและสงครามกลางเมือง ที่สุดจะเยียวยาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กลับสู่ยุคใหม่ทั้งหมดฟื้นฟูระบอบกษัตริย์และการปกครองในปี พ.ศ.2536 แต่ความขัดแย้งก็ยังไม่สิ้น จนปี 2546 เมื่อสมเด็จฯ ฮุน เซน ชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแต่เพียงพรรคเดียว

ก่อนหน้านั้นเขาหลงทางไปกับนโยบายโยนบาปตามแนวพรมแดนเพื่อแสวงหาวิถีรักชาติจากประชาชนกัมพูชา และพบว่ามันไม่อาจยั่งยืน แต่นั้นมาเขาก็หันไปหาความสำเร็จแนวใหม่ นั่นคือแนวรบทางวัฒนธรรม และช่างบังเอิญว่า เมื่อกัมพูชากลับมาสู่ความสงบเรียบร้อยของความเป็นประเทศแล้ว ความถวิลหาวัฒนธรรมแห่งอดีตที่ยิ่งใหญ่ก็ตามมา โดยเฉพาะระหว่างปี 2513-2518 ที่ทำให้ขนบจารีตเขมรหลายอย่างได้บัดบ่งสูญหาย และช่างบังเอิญกระไร ที่ประดาเรื่องทั้งหมดดูจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไทย จนคล้ายเป็นเรื่องเดียวกัน

@@@@@@@

1. ระบำราชสำนัก : ละครรำสยาม

ไม่มีใครสนใจว่า จุดเริ่มต้นของต้นทุนวัฒนธรรมที่คนทั้งโลกจะรำลึกถึงกัมพูชานี้มาจากที่ใด

สำหรับระบำราชสำนักกัมพูชา ที่เดิมทีนักวิจัยฝรั่งเศสลงความเห็นว่า ราชสำนักกัมโพชรับมาจากสยาม และถูกบันทึกความสำคัญอย่างยิ่งยวดคราวที่พระบาทสีโสวัฒถิ์ (2447-2470) นำไปแสดงในฝรั่งเศส

คราบไคลในความเป็นสยามของนาฏศิลป์แขนงนี้ก็ดูจะหายไป และพัฒนาต่อยอดในแบบฉบับระบำอัปสราในอีก 2 รัชกาลถัดมา นี่คือสิ่งที่ทำให้ระบำราชสำนักของกัมพูชาโดดเด่นไปด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตน จนยูเนสโก-องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2553 และนับแต่นั้นมา ระบำราชสำนักกัมพูชาก็กลายเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จทางวัฒนธรรม


@@@@@@@

2. โขลเรียมเกร์ : โขนรามเกียรติ์

จุดบ่งชี้ที่เริ่มทำให้เห็นว่า ความสำเร็จจากชัยชนะในระบำเขมรอาจเป็นเรื่องง่ายเกินไปเพราะอยู่ในยุคที่ไร้คู่ต่อกร แต่สำหรับละครโขนรามเกียรติ์หรือละครโขลเรียมเกร์เขมรนั้นไม่ใช่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการตามหาสิ่งที่สูญหายทั้งภายในประเทศเองและระดับนานาชาติ รวมทั้งความหมายของประเด็นชนชั้นล่าง-รวมทั้งศิลปินพื้นบ้านซึ่งเป็นผู้ก่อการการแสดงโขลในรูปแบบนานามาแต่ต้น

ก่อนหน้านั้น วัฒนธรรมโขลถือเป็นการแสดงชั้นสูงและถูกกีดกันจากราชสำนักผู้ปกครอง ทำให้โขลเขมรถูกจำกัด และแทบไม่มีตัวตนเชิงสาธารณะนอกจากบทร้องเรียมเกร์ของศิลปินพื้นบ้าน ที่พบก่อนปี พ.ศ.2518 โดยนักวิชาการฝรั่งเศส และยุคเขมรสาธารณรัฐหลังโค่นล้มกษัตริย์ไปแล้ว หลักฐานหลงเหลือของบทร้องเรียมเกร์โดยศิลปินพื้นบ้านคนสุดท้ายเพิ่งจะค้นพบเมื่อไม่นานนี้ คือบทร้องเรียมเกร์ของตาครุด

แต่อาจจะด้วยการถูกกดทับแสนนานหรือไม่ที่ทำให้เรียมเกร์เขมรมีลักษณะการเติบโตที่แตกต่างจากพื้นบ้านและการกลับมารื้อฟื้นอีกครั้งก็เกิดขึ้นโดยศิลปินท้องถิ่น โดยเฉพาะในลักษณะของความเป็นวัฒนธรรมจากฐานรากของชุมชนอย่างเป็นองค์รวม

ยูเนสโกขึ้นทะเบียนโขลเรียมเกร์ว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ สาขาอนุรักษ์/เสี่ยงการสูญหาย และขึ้นทะเบียนโขนไทยไว้ในสาขาเอกลักษณ์ชาติ แต่ประเด็นวิวาทะก็ยังเป็นดราม่า อันเกิดจากวัฒนธรรมร่วมสมัยแต่ไม่ร่วมชาติในบางครั้ง

@@@@@@@

3. มวยไทย : กบัจคุน

กบัจคุนเป็นชื่อเดียวกับ “มวยไทย” ตามที่ชาวเขมรเรียก ก่อนหน้านั้นจากหลักฐานบุน จันมุล (บุนจันทร์ มุล) ที่ขณะนั้นชาวเขมรโดยรวมเรียกขานตัวเองว่ากัมปูเจีย นักเขียนและนักต่อสู้แนวทางซึง งอกทันห์ ท่านนี้ยอมรับศิลปะมวยไทยแต่ไหนแต่ไร และเคยไปดู “ประฎาล” ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าระหว่างไทยกับเขมรราวครั้งหนึ่งที่พระตะบอง จันมุลเห็นว่ามีความสูสีกันมากและไทยขณะนั้นดูจะมีชั้นเชิงและชื่อเสียงมากกว่าเขมรนิดหน่อย โดยเฉพาะด้านเทคนิค

บุน จันมุล ลาโลกไปราว 30 ปี ประฎาลที่เขารู้จักก็ถูกยกระดับให้เป็น “กบัจคุน” กบัจคุนโบราณ คุนเขมร โบกะตอ หรือชื่ออะไรต่างๆ ดังที่รัฐกัมพูชาพยายามผลักดัน และแม้ชาวเขมรทั่วไปก็ยังติดปากเรียกประฎาล

แน่นอน วัฒนธรรมกีฬาสำหรับกัมพูชาแล้ว มิใช่แต่ความสนุก บันเทิงหรือท่องเที่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและความมั่นคงที่จำเป็นต้องปลุกเร้าให้เกิดอัตลักษณ์แห่งความเป็นชนชาติอีกด้วย เพียงแต่ว่า ตอนที่เห็นคุณค่าเช่นนั้น กัมพูชาอยู่ในช่วงอันมืดมน และใครจะไปรู้ล่ะว่า ศิลปะการต่อสู้แขนงนี้นับวันจะกลายเป็นอัตลักษณ์แห่งความเป็นชาติและอนาคต ตลอดจนมิติความเป็นสากลที่นับวันจะมีมูลค่ามหาศาล!

และเหตุนั้น กบัจคุนจึงเป็นเหมือนคู่ต่อกรตลอดกาล ตราบใดก็ตามที่ประเด็นมวยไทยถูกกล่าวขานบนเวทีนานาชาติ และความสำเร็จของมวยไทยที่ชาวโลกขานรับอย่างมากมาย แต่ตราบใดที่คำว่า “มวยไทย” ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็น “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตน” ไปได้ ความหมายของคำว่ามวยไทยบนเวทีนานาชาติก็ไม่อาจสง่างาม สำหรับเวทีกลางแห่งสากล

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันที่ว่า ทั้งโขลเรียมเกร์และระบำเขมรโบราณ ต่างเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับไทยอย่างเห็นได้ เช่นเดียวกับกบัจคุนกับมวยไทย และความพยายามยกระดับกบัจคุนเทียบเท่ากับศิลปะการต่อสู้ที่รุ่งเรืองสมัยพระนคร-นครธมยังคงดำเนินไป เช่นเดียวกับกองทัพกัมพูชาที่บรรจุให้ศิลปะแขนงนี้เป็นนโยบายเอกแห่งการฝึกซ้อมและธำรงวินัย


@@@@@@@

4. พระแก้วมรกต : พระแก้วมรกต

มานานระยะหนึ่งแล้วที่หลักฐานเถรวาทกัมพูชาอ้างถึงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ว่าเป็นรัตนสมบัติ หรือ “ปฏิกภรณ์” ของฝ่ายตนนั้น

นับไปก่อนหน้า แต่ครั้งฝรั่งเศสสร้างพระราชวังจตุรมงคลและปราสาทพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยถวายแก่กษัตริย์นโรดม (2403-2447) ตามพระองค์ร้องขอ ซึ่งแทบจะจำลองเอาพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยไปไว้ที่กรุงพนมเปญเสียทั้งหมด รวมทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มองความสัมพันธ์ชาวเขมรต่อพระแก้วมรกตที่ออกจะคลุมเครือนั้น

แต่ให้สงสัยว่า เหตุใดกษัตริย์เขมรจึงเจตนาสร้างพระรัตนารามเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรไว้ ณ เขตพระราชฐานด้วยฉะนี้.? แม้โดยที่จริงแล้ว ราชสำนักกัมโพชเวลานั้น(และจนบัดนี้) ไม่เคยมีหรือครอบครองพระแก้วมรกตแต่อย่างใด.? และใช่แต่พระแก้วมรกตเท่านั้นที่นักวิชาการเขมรบางฝ่ายทวงถาม แต่ยังรวมถึง 1 ใน 5 ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย

@@@@@@@

5. พระขรรค์กัมโพช : พระขรรค์แสงชัยศรี

เล่ากันว่า พระขรรค์แสงชัยศรีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพระขรรค์เก่าแก่ยุคขอมโบราณสมัยรัชกาลพระบาทชัยวรมันที่ 7 เลยทีเดียว ตกทอดมาถึงไทย จากที่ชาวประมงเขมรงมพบได้ในบารายและนำไปถวายเจ้าเมืองเสียมเรียบ และถูกนำไปถวายแด่กษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อ 5 พฤษภาคมของปีกลาย

ทันใดนั้น ความพยายามจะกล่าวถึงพระขรรค์ของเขมรได้เกิดขึ้นอีกครั้งในหมู่ชาวเขมรบางกลุ่มและเงียบหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง เป็นที่ทราบว่า การสืบสันตติวงศ์แห่งระบอบกษัตริย์และสิ่งอันบ่งบอกถึงราชประเพณีได้ถูกระบอบเขมรแดงทำลายไปจนสิ้น

สำหรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และพระขรรค์ประจำราชวงศ์ และพระบาทนโรดม สุระมฤทธิ์ คือองค์สุดท้ายที่ได้ทำพิธีดังกล่าวอย่างเต็มพระยศ เมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ.2499 เช่นเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 29 ตุลาคม 2547 โดยกษัตริย์เขมรองค์ปัจจุบัน คือพระบาทนโรดม สีหมุนี ที่เรียบง่าย ปราศจากพระขรรค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์และอำนาจใดๆ






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กรกฎาคม 2563
คอลัมน์ : อัญเจียแขฺมร์
ผู้เขียน : อภิญญา ตะวันออก
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_323091
33  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ตะลึง เปิดกุฏิหลวงปู่อำคา เกจิดังเมืองอุบลฯ พบเงินสดร่วม 10 ล้าน เร่งหาพินัยกรรม เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 06:51:34 am
.



ตะลึง.!! เปิดกุฏิหลวงปู่อำคา เกจิดังเมืองอุบลฯ พบเงินสดร่วม 10 ล้าน เร่งหาพินัยกรรม

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านตำแย ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการวัด และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกันเปิดกรุกุฏิหลวงปู่อำคา อินทรสาโร หรือพระครูอินทรสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดบ้านตำแย เพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน หลังเจ้าอาวาสมรณภาพ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยมีตำรวจ ลูกศิษย์และชาวบ้านร่วมเป็นสักขีพยาน ปรากฏว่าทุกคนต้องตะลึง เมื่อพบเงินสด ทั้งแบงก์เก่า-ใหม่และเงินเหรียญ เกือบ 10 ล้านบาท หลังตรวจนับทรัพย์สินทั้งหมด ได้ส่งมอบให้เจ้าคณะตำบล และคณะกรรมการวัดที่รับผิดชอบ นำมาคัดแยก




ด้านสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่าต้องตรวจสอบว่าเงินทั้งหมดพระครูอินทสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดที่มรณภาพได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเขียนเป็นพินัยกรรมไว้หรือไม่ ถ้ามีพินัยกรรมก็ต้องให้ระบุตามพินัยกรรมของท่าน ถ้าในกรณีที่ท่านไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ทรัพย์สินที่เจอหลังจากที่มรณภาพก็จะตกเป็นของวัดที่สังกัดอยู่เป็นวัดสุดท้าย ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ทั้งนี้ เพื่อนำเงินมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่อไป



นางบุญฮู้ จันทร์กอง อายุ 71 ปี เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัดตรวจสอบภายในกุฏิเจ้าอาวาสพบเงินสดแบงก์เก่า-ใหม่และเงินเหรียญ เกือบ 10 ล้านบาทเก็บไว้ในกระติกน้ำ ในกล่องพลาสติก ในถังน้ำ เก็บเงินวันแรกได้ประมาณ 6-7 ล้านบาท ต่อมาค้นภายในกุฏิก็พบอีกเป็นเงินเหรียญ ก็มีรวมแล้วประมาณ 10 ล้านบาท เงินทั้งหมดเจ้าอาวาสไม่ได้สั่งเสียไว้





ทั้งนี้ หลวงปู่อำคา อินทรสาโร หรือพระครูอินทรสารโสภณ เจ้าอาวาสวัดบ้านตำแย ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้ละสังขารอย่างสงบที่โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จังหวัดอุบลราชธานี สิริอายุ 91 ปี 70 พรรษา หลวงปู่อำคา เป็นทายาทธรรมหลวงปู่บุญมี โชติปาโล




ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/region/news_4493130
วันที่ 26 มีนาคม 2567 - 13:40 น.   
34  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ไขปริศนาเช็งเม้ง “สีตัวอักษรที่ฮวงซุ้ย” หมายความว่าอะไร.!? เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 06:38:52 am
.



ไขปริศนาเช็งเม้ง “สีตัวอักษรที่ฮวงซุ้ย” หมายความว่าอะไร.!?

เคยสังเกตไหมว่า สีตัวอักษรที่จารึกไว้ที่ฮวงซุ้ย มีทั้งสีแดง สีเขียว และบางครั้งเป็นสีทอง สีเหล่านี้หมายความว่าอะไรกันนะ

ในประเทศไทย วันเช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน จะเป็นช่วงที่มีการเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งจริง ๆ แล้วจะกำหนดไว้ที่ประมาณ 7 วัน คือตั้งแต่วันที่ 2 - 8 เมษายนของทุกปี แต่หลายครอบครัวก็เริ่มเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษกันตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว

และหากเราสังเกตที่ฮวงซุ้ย ก็จะมีตัวอักษรจีนสลักอยู่บนแผ่นหินที่ฮวงซุ้ย เรียกว่า 石碑 “เจียะปี” โดยตัวอักษรเหล่านั้น มีความหมายอยู่มากมาย รวมถึงความหมายของการใช้สีตัวอักษรด้วย



ความหมายของตัวอักษรจีนบนฮวงซุ้ย


ตัวอักษรจีนบนฮวงซุ้ย (เจียะปี) คืออะไร.?

ลูกหลานส่วนมากได้เห็นตัวอักษรจีนเหล่านี้ ก็อาจจะต้องสงสัยว่าตัวอักษรจีนมากมายขนาดนี้ แปลความหมายออกมาว่าอย่างไร วันนี้มาไขข้อสงสัยกัน

    • ตัวอักษรบนสุด ที่เขียนว่า 祖 หมายถึง บรรพชน บรรพบุรุษ
    • ตัวอักษรแถวริมขวาสุด (แถวสุดท้าย) จะเป็นการระบุที่อยู่ ภูมิลำเนาเดิมที่ประเทศจีน
    • ตัวอักษรแถวริมซ้ายสุด (แถวแรก) จะเป็นวัน เดือน ปี ที่สร้างฮวงซุ้ยนี้ขึ้น
    • ตัวอักษรแถวขวา (แถวที่สาม) เขียนว่า 考 เป็นสรรพนามคำขึ้นต้นชื่อของฝ่ายชายที่นอนอยู่ในฮวงซุ้ย แล้วตามด้วยชื่อ
    • ตัวอักษรแถวซ้าย (แถวที่สอง) เขียนว่า 妣 เป็นสรรพนามคำขึ้นต้นของฝ่ายหญิง แล้วตามด้วยชื่อ

เหตุผลที่มีทั้งชื่อฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงอยู่ในฮวงซุ้ยเดียวกันนั้น เพราะคนจีนนิยมซื้อฮวงซุ้ยคู่

    • หลังจากสรรพนาม ชื่อ แล้วจึงตามด้วยแซ่ (นามสกุล)
    • ส่วนบรรทัดสุดท้ายของทั้งแถวขวา และซ้าย คือการแยก นาย และนาง นั่นเอง

แต่สิ่งที่ไม่สังเกตเห็นไม่ได้เลย คือทำไมต้องมีทั้งตัวอักษรสีแดง และสีเขียว.!?


@@@@@@@

สีตัวอักษรบนฮวงซุ้ย (เจียะปี) หมายถึงอะไร.?

แท้จริงแล้ว ตัวอักษรแต่ละสี บ่งบอกถึงการเสียชีวิต และการมีชีวิตอยู่ นั่นคือ

        • สีแดง หมายถึง ยังมีชีวิตอยู่
        • สีเขียว หมายถึง เสียชีวิตแล้ว

คนจีนมักสร้างฮวงซุ้ยไว้ล่วงหน้า จะมีการสลักชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว แต่มักจะใช้สีแดงไว้ก่อน หากมีการเสียชีวิต ก็จะมาเขียนทับด้วยสีเขียวนั่นเอง

แต่ในปัจจุบัน ก็มีการใช้สีทองล้วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม

 




Thank to : https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/220299
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 26 มี.ค. 2567 ,15:12น.
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์ภาษาจีนฟิวเจอร์ซี, กินอยู่เป็น
35  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พิธีเปลี่ยนผ้าไตรจีวร สรีระสังขาร "หลวงพ่อจันทร์" พระเกจิดัง ร่างไม่เน่าเปื่อย เมื่อ: มีนาคม 27, 2024, 06:30:37 am
.



พิธีเปลี่ยนผ้าไตรจีวร สรีระสังขาร "หลวงพ่อจันทร์" พระเกจิดัง ร่างไม่เน่าเปื่อย

ศิษยานุศิษย์ แห่ร่วมพิธีเปลี่ยนผ้าไตรจีวร "หลวงพ่อจันทร์" พระเกจิร่างไม่เน่าเปื่อย ฮือฮา เห็นคล้ายตัวเลขที่ใบหน้าของท่าน

วันที่ 25 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ วัดวังเวิน ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดพิธีทำบุญสวดทักษิณาเปลี่ยนผ้าไตรจีวรอุทิศถวายแด่ พระครูพัชรกิตติญาณ หรือ หลวงพ่อจันทร์ กิตติญาโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดวังเวิน ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เนื่องในวันครบรอบ 11 ปี วันมรณภาพ




พิธีเริ่มในเวลา 12.09 น. พระสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมประกอบพิธีขอขมาต่อดวงวิญญาณหลวงพ่อจันทร์กิตติญาโณ เสร็จแล้วได้นำร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อออกมาด้านนอกโลงแก้ว พร้อมทั้งให้คณะศิษย์ได้กราบสักการะอย่างใกล้ชิด จากนั้นได้ประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าไตรจีวรของหลวงพ่อ และได้นำร่างของท่านบรรจุไว้ในโลงแก้วเช่นเดิม



ประวัติ พระครูพัชรกิตติญาณ หรือ หลวงพ่อจันทร์ กิตติญาโณ ท่านเป็นศิษย์ หลวงพ่อทบ เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ท่านได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตา เมื่อครั้งยังไม่มรณภาพท่านชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านทั้งในยามเจ็บป่วยและในยามที่เดือดเนื้อร้อนใจก็จะมาให้ท่านประพรมน้ำมนต์ให้

หลวงพ่อจันทร์ กิตติญาโณ เกิดวันที่ 2 มิถุนายน 2467 และได้มรณภาพวันที่ 25 มี.ค.2556 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง เวลา 18.00 น. รวมสิริอายุ 89 ปี 68 พรรษาแต่ร่างไม่เน่าเปื่อย ผิวหนังยังคงมีสีเหลืองคล้ายคนปกติทั่วไป คณะศิษย์จึงได้บรรจุร่างของท่านไว้ในโลงแก้วเพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้กราบสักการะบูชา




ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในขณะที่นำร่างของท่านออกมาจากโลงแก้ว และให้ผู้ร่วมพิธีได้กราบสักการะอย่างใกล้ชิด ได้มีผู้สังเกตเห็นคล้ายตัวเลข 135 ที่ใบหน้าของท่าน ต่างก็บอกต่อๆ กันไปเพื่อที่จะเป็นแนวทางในการเสี่ยงโชค งวดวันที่1 เมษายน 2567

 



Thank to : https://www.amarintv.com/news/detail/211654
26 มี.ค. 67
36  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / เรียนธรรมให้เข้าใจก่อน หรือเอากิเลสออกก่อน เมื่อ: มีนาคม 24, 2024, 07:31:18 am
.



เรียนธรรมให้เข้าใจก่อน หรือเอากิเลสออกก่อน
โดย อาจารย์ไชย ณ พล

Q ถาม : ท่านอาจารย์ครับ ระหว่างเรียนธรรมให้เข้าใจก่อน กับเอากิเลสออกก่อน เราควรโฟกัสอะไรก่อนครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :-

1st เอากิเลสออกก่อน เพราะ
    ๑. สุขสบายก่อน
    ๒. บริสุทธิ์ หมดจด ปลอดภัยก่อน
    ๓. เมื่อกิเลสออกแล้วฟังธรรมก็แจ่มแจ้งทันที
เวลาคนไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า ถ้ามีพวกกิเลสเบาบาง จะทรงสอนให้เอากิเลสออกทันที ออกได้ก็บรรลุธรรมทันที ดังนั้นเอากิเลสออกก่อนเสมอ ถ้ายังเหลืออีก ค่อยเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติอื่นๆ ต่อไป


2nd เรียนธรรมเฉพาะที่จะเอากิเลสออกได้ก่อน เพราะ
    ๑. ธรรมะทั้งหมดพระพุทธองค์ทรงให้ไว้เพื่อละ สลาย เป็นอิสระจากกิเลส
    ๒. การปฏิบัติธรรมให้ได้ผล ต้องแม่นยำตรงสู่ผล ไม่มาก ไม่น้อย ไม่มั่ว จึงจะปฏิบัติง่าย สำเร็จเร็ว
    ๓. พระพุทธองค์ตรัสว่า แม้ธรรมะบทหนึ่ง ที่บุคคลประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมดีแล้ว ก็บรรลุธรรมได้

หากเรียนธรรมะก่อนเอากิเลสออก
    ๑. เข้าใจธรรมเป็นจุด ๆ ยึดถือเป็นจุด ๆ เชื่อมโยงธรรมทั้งปวงไม่ได้
    ๒. สัญญาขันธ์จะบวม
    ๓. ฟุ้งซ่านในธรรม
    ๔. เอาธรรมะมาสร้างทิฏฐิ
    ๕. เมามันไปกับการสอบ มานะเกิดขึ้น
    ๖. เข้าสภาวะยาก
    ๗. ติดขั้นตอนเกินจำเป็น ทำให้ปฏิบัติยาก
    ๘. รู้แล้วอยากบอกให้คนอื่นรู้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่บรรลุธรรม
    ๙. เป็นเหมือนภิกษุใบลานเปล่า
  ๑๐. เอาตัวไม่รอด
  ๑๑. วนเวียนอยู่ในวัฏฏะดังเดิม


การเรียนธรรมที่เหมาะแก่การปฏิบัติ
คือ การปฏิบัติธรรมเป็นหลักจริงจังอย่างสายกลาง แล้วศึกษาธรรมประกอบทีละบท หรือทีละพระสูตร ศึกษาธรรมใด ก็นำมาปฏิบัติทันที จะได้วิธีปฏิบัติธรรมหลากหลายขึ้น เพิ่มโอกาสบรรลุธรรมมากขึ้น มีโอกาสสำเร็จปริญญาแท้ทางธรรมมากขึ้น คือ
    - โสดาปัตติมรรค
    - โสดาปัตติผล
    - สกทาคามิมรรค
    - สกทาคามิผล
    - อนาคามิมรรค
    - อนาคามิผล
    - อรหัตตมรรค
    - อรหัตตผล
เช่นนี้จึงชื่อว่า ศึกษาธรรมเพื่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุธรรมจริง ตามพระพุทธองค์

ความจริงที่ควรแจ่มแจ้ง
ธรรมปริยัติ เพื่อความเข้าใจ มุ่งสัมมาธรรม
ธรรมปฏิบัติ เพื่อสภาวะจิตและวิหารธรรมที่เลิศ มุ่งวิมุตติ
ธรรมปฏิเวธ เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ อมตะ ว่างอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่ง เป็นที่พึ่งให้จักรวาลได้


     

 
ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/pin/868350371889428061/
ที่มา : https://uttayarndham.org/dhamma-sharing/6581/เรียนธรรมให้เข้าใจก่อน-หรือเอากิเลสออกก่อน
25 May 2023
37  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ‘พระพรหมบัณฑิต-พวงเพ็ชร’ เตรียมความพร้อม ไทยเป็นเจ้าภาพ ‘วิสาขบูชาโลก’ เมื่อ: มีนาคม 24, 2024, 07:14:42 am
.



‘พระพรหมบัณฑิต-พวงเพ็ชร’ เตรียมความพร้อม ไทยเป็นเจ้าภาพ ‘วิสาขบูชาโลก’

‘พระพรหมบัณฑิต – พวงเพ็ชร’ เตรียมความพร้อม ไทยเป็นเจ้าภาพ ‘วิสาขบูชาโลก’ 19-20 พ.ค. ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ากราบ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICDV) และประธานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) และหารือการเตรียมจัดงานวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2567 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

ด้าน พระพรหมบัณฑิต เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ในวันนี้ได้ร่วมกันสรุปกำหนดการการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก และการจัดประชุมวิสาขบูชาโลกนานาชาติ “ในหัวข้อเอกภาพของการทำงานร่วมกัน” ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติในการให้เป็นเจ้าภาพในปีนี้ (2567) โดยมีกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคมนี้ และมีการหารือกันเนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้มีกำหนดเชิญผู้นำทางศาสนา และพุทธศาสนิกชนจากนานาประเทศมาเข้าร่วมงานถึง 73 ประเทศ




โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ การเจริญพระพุทธมนต์ และกิจกรรมถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือที่ดีจากรัฐบาล ในการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ รวมถึงงบประมาณสนับสนุน

ขณะที่ นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ในนามของรัฐบาล น้อมรับการทำงานให้พระพุทธศาสนาและรับใช้มหาเถร สมาคมอย่างเต็มที่ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาเเห่งชาติและกรมประชาสัมพันธ์ จะประสานการจัดงานให้ประสบผลสำเร็จ และสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่เพื่อให้การจัดงานวิสาขบูชาโลก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ออกสู่สายตาคนทั้งโลกอย่างยิ่งใหญ่ ให้ทั่วโลกได้เห็นว่าประเทศไทยเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา

ประกอบกับปีนี้เป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมงานวิสาขบูชาโลก และเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ร่วมสืบสานและน้อมนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว






Thank to : https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_4488619
วันที่ 23 มีนาคม 2567 - 17:42 น.
38  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง | จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง เมื่อ: มีนาคม 23, 2024, 07:36:41 am
.



ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
โดย อาจารย์ไชย ณ พล

Q ถาม : อาจารย์ครับ มีพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่ง ที่เหมือน ๆ จะเข้าใจง่าย แต่ก็เข้าใจยาก คือ "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ" ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่โลกทุกวันนี้อยู่กันแบบแบ่งงานกันทำ แบ่งความเชี่ยวชาญกันเก่ง แล้วพึ่งพาอาศัยกัน ครั้นเราจะไปทำเองทุกอย่างก็เป็นไปไม่ได้ เลยทำให้ภาพตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน มันเลือนลางไป จึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า ขอบข่ายของ "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ" มีแค่ไหนครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ : พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอะไรเล่นๆ สิ่งที่พระองค์ตรัสเป็นสัจธรรมเสมอ

ใครเป็นที่พึ่งให้เราได้บ้าง.?

ลองดูความเป็นจริง มีใครในโลกบ้างที่เป็นที่พึ่งให้เราได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ ทุกผลที่พึ่งได้ หากซื่อตรงต่อความจริงและตนเอง ก็จะพบว่า ไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงให้ "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ" ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

ขอบเขต "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ" ที่ได้ผล

ในจักกวัตติสูตร ทรงให้ เธอจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกาะ โดยกำหนดรู้ กายในกายภายในตน กำหนดรู้ กายในกายภายในคนอื่น เห็นความไม่เที่ยงแห่งกายนี้และกายอื่น ๆ ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในกายและในโลกทั้งปวง

กำหนดรู้ เวทนาในเวทนาภายในตน กำหนดรู้ เวทนาในเวทนาภายในคนอื่น เห็นความไม่เที่ยงแห่งเวทนานี้และเวทนาอื่น ๆ ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในเวทนาและในโลกทั้งปวง

กำหนดรู้ จิตปรุงแต่งในจิตภายในตน กำหนดรู้ จิตปรุงแต่งในจิตปรุงแต่งภายในคนอื่น เห็นความไม่เที่ยงแห่งจิตปรุงแต่งนี้และจิตปรุงแต่งอื่น ๆ ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในจิตปรุงแต่งและในโลกทั้งปวง

กำหนดรู้ ธรรมประกอบในธรรมประกอบภายในตน กำหนดรู้ ธรรมประกอบในธรรมประกอบภายในคนอื่น เห็นความไม่เที่ยงแห่งธรรมประกอบนี้และธรรมประกอบอื่น ๆ ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในธรรมประกอบและในโลกทั้งปวง

สรุป : ที่พึ่งหลักของทุกคน คือ รู้อิสระที่ไม่ถือมั่นในกาย เวทนา จิตปรุงแต่ง ธรรมประกอบ และอะไร ๆ ในโลกทั้งปวง

 




ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/pin/941533865877205173/
ที่มา : https://uttayarndham.org/dhamma-sharing/6576/ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
19 May 2023





การมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง

[๘๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองมาตุลา แคว้นมคธ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
             
    “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ(๑-) มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด"           
    "ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร.?"

    คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
    ๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
    ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
    ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
    ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
             
    "ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างนี้แล"


เชิงอรรถ :-
(๑-) มีตนเป็นเกาะ ในที่นี้หมายถึง ทำตนให้พ้นจากห้วงน้ำ คือ โอฆะ ๔ เหมือนกับเกาะกลางมหาสมุทรที่น้ำท่วมไม่ถึง (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐, ที.ม.ฏีกา ๑๖๕/๑๘๐) , ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๕/๑๑๑ , สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๙/๒๓๔






ขอขอบคุณ
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/pin/337488565841817888/
ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๕๙-๖๐
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ , พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค , ๓. จักกวัตติสูตร ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ , การมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง
URL : https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=11&siri=3
39  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / มุมน่าสะพรึงกลัวของ “พระนเรศวร” จากบันทึกวัน วลิต กับงานเขียนโต้ของคึกฤทธิ์ เมื่อ: มีนาคม 23, 2024, 07:00:47 am
.

ภาพประกอบเนื้อหา - พระนเรศ และพระเอกาทศรถ ในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคยุทธนาวี (ภาพจากคลิป "ตัวอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3 ยุทธนาวี (Official Tr.)" จาก Youtube : Sahamongkolfilm International Co.,Ltd)


มุมน่าสะพรึงกลัวของ “พระนเรศวร” จากบันทึก วัน วลิต กับงานเขียนโต้ของคึกฤทธิ์

วัน วลิต หรือ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremais van Vliet) เป็นพ่อค้าชาวดัตช์ ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา 3 เล่ม เล่มที่เป็นพงศาวดารเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2183

วัน วลิต เขียนบันทึกจากคำบอกเล่าของผู้คนในกรุงศรีอยุธยา บันทึกของเขามีความน่าสนใจตรงที่เนื้อหามีรายละเอียดค่อนข้างมากและสามารถอธิบายได้เป็นฉาก ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร หรือ พระนเรศวร ที่ วัน วลิต ให้ข้อมูลแตกต่างจากพงศาวดารหรือหลักฐานชิ้นอื่นแทบจะสิ้นเชิง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงความคิดเห็นว่า วัน วลิต น่าจะได้ไต่ถามเรื่องราวจากคนที่เคยอยู่ร่วมสมัยเหตุการณ์มาประกอบการเขียน แต่โดยนิสัยของคนโบราณในการเล่าเรื่องให้ชาวต่างชาติฟังนั้น อาจต่อเติมอะไรต่อมิอะไรเข้าไปเพื่อแสดงพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อแสดงความเด็ดเดี่ยว และพระราชอำนาจอันน่าสะพรึงกลัว ซึ่งในมุมมองของคนโบราณเห็นว่า เป็นพระเกียรติยศ

แนวคิดของคนโบราณย่อมตรงกันข้ามกับมุมมองของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวที่ วัน วลิต บันทึกนั้น จะเอามาตำหนิติเตียนด้วยมาตรฐานของคนสมัยนี้ว่า ผิดถูกชั่วดี เห็นจะไม่ถูกต้องนัก

@@@@@@@

ถลกหนัง

“หลังจากได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาและกองทัพพะโค พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงรวบรวมกองทัพ ประกอบด้วยทหารจำนวนมากพอสมควรยกไปโจมตีกัมพูชา โดยมีออกญาจักรีและออกญากลาโหมเป็นทัพหน้า และสมเด็จพระนเรศพระราชโอรสเป็นทัพหลัง

เมื่อยกทัพมาถึงพรมแดนกัมพูชา ออกญาจักรีก็ฉวยโอกาสเข้ายึดเมืองชายแดน โดยคิดว่าจะทำความดีถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินและพระราชโอรส เมื่อพระนเรศเสด็จมาถึงก็ทรงพระพิโรธในการกระทำของออกญาจักรี มีรับสั่งให้ถลกหนังทั้งเป็น ทรงตรัสว่า

‘พระเจ้าแผ่นดินพระราชบิดาของเราและตัวเรา เป็นผู้สั่งเจ้ามาที่นี่ แต่ไม่ได้สั่งให้เจ้าเข้าโจมตี และเอาชีวิตทหารของเรามาเสี่ยงอันตรายเช่นนี้ เจ้าพยายามจะทำความดีความชอบแข่งกับเรา เพื่อว่าเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว ทั้งเราและเจ้าจะได้เป็นผู้มีชัยชนะเหมือนกันทั้งสองคน ด้วยเหตุนี้เจ้าจึงต้องตาย'”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายว่า การสงครามที่ปรากฏชื่อออกญาจักรีและออกญาโหม เกิดขึ้นในคราวสงครามที่เมืองชายฝั่งด้านอ่าวเมาะตะมะ ไม่ใช่ที่เขมร ส่วนเรื่องการถลกหนังไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ การที่ถลกหนังออกญาจักรีนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารหรือหลักฐานอื่นใดเลย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ชี้ว่า ศัพท์ชาวบ้านเรียกการเฆี่ยนว่า “ถลกหลัง” นั่นเพราะเมื่อผู้ใดถูกเฆี่ยนหลังแล้ว หนังก็จะขาดหรือถูกถลกออกมาตามรอยหวายที่เฆี่ยนลงบนหลัง จึงเรียกการเฆี่ยนว่า ถูกถลกหลัง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า “บางที วัน วลิต จะไปคุยกับคนไทยได้ยินคำว่าถลกหลังแล้วฟังผิดว่า ถลกหนัง เลยเขียนความไปตามนั้นก็ได้” ดังนั้น ตามข้อสันนิษฐานนี้ การถลกหนังออกญาจักรีจึงอาจเป็นการเฆี่ยนมากกว่า


@@@@@@@

เผาทั้งเป็น

“ทรงมีกระแสรับสั่งให้เตรียมเรือ และเสด็จพร้อมทั้งขุนนางไปยังเพนียด (ซึ่งเป็นโรงช้างและสถานที่ราชาภิเษก) เพื่อประกาศสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และให้ขุนนางสาบานว่าจะจงรักภักดี ต่อพระองค์ตลอดไป

เมื่อเสด็จถึงเพนียด ฝีพายของพระนเรศเทียบเรือผิด พระองค์ก็ทรงเสด็จขึ้น ไม่ได้ทรงลงพระอาญาในเวลานั้น ได้ทรงราชาภิเษกถูกต้องตามราชประเพณี เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา และทรงพระนามว่า พระนเรศราชาธิราช

หลังจากพิธีราชาภิเษกแล้ว พระองค์มีรับสั่งให้เผาฝีพายเรือของพระองค์ และฝีพายเรือหลวงลำอื่น ๆ (ประมาณ 1,600 คน) เสียทั้งเป็น ณ สถานที่นั้น ทรงมีรับสั่งกับคณะขุนนางว่า พระองค์ทรงปรารถนาให้คณะขุนนางจดจำการลงพระอาญาครั้งนี้ไว้เป็นเยี่ยงอย่างการปกครองของพระองค์ และจากนั้นพระองค์ก็เสด็จกลับพระราชวัง“

เรื่องนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากเผาฝีพายจำนวนมากเช่นนั้น แล้วสมเด็จพระนเรศวรจะเสร็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังหลวงได้อย่างไร อีกทั้ง หากให้ขุนนางลงทำหน้าที่แทนฝีพาย พอถึงพระราชวังหลวงก็คงต้องรับพระราชอาญา เพราะจะให้พายเรือให้ดีเท่าฝีพายคงจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ มีบันทึกเรื่องทำนองนี้ไว้ว่า “ศักราช 955 มะเสงศก… เสด็จเถลิงพระมหาปราสาท ครั้งนั้นทรงพระโกรธแก่มอญ ให้เผามอญเสียประมาณ 100”  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ วิเคราะห์ว่า พงศาวดารมิได้กล่าวถึงต้นเหตุที่ทำให้ทรงพระพิโรธ อาจเพราะมอญเผาอิฐที่จะสร้างพระมหาปราสาทไม่ได้ขนาด หรือมอญคอยแต่นับอิฐแบบมอญว่า “หนึ่งแผ่นอิฐมอญ สองแผ่นอิฐมอญ สามแผ่นอิฐมอญ…” จนเป็นเหตุให้ล่าช้าเหลืออดเหลือทนเสียประมาณ แต่เชื่อว่าวัน วลิต น่าจะฟังเรื่องนี้มาผิดเป็นแน่

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่วัน วลิต บันทึก เกิดขึ้นหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีมงคล การจะเผาคนนับพันจึงไม่น่าจะเป็นไปได้



จิตรกรรมโคลงภาพพระราชพงศาวดารตอน “สงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” เขียนโดย หลวงพิศณุกรรม (เล็ก) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพจากหนังสือ “จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม ๒”)


เฉียบขาด

“เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพระองค์ และประจักษ์พยานทั้งหลายซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ได้รายงานว่า ในระยะ 20 ปี ที่อยู่ในราชสมบัติ พระองค์ทรงฆ่าคนตามกฎหมายมากกว่า 80,000 คน ทั้งนี้ไม่รวมพวกที่เสียชีวิตในการรบ ไม่ว่าจะเป็นบนหลังช้าง หลังม้า ในเรือพาย หรือแม้ในขณะประทับ ณ พระราชบัลลังก์

ขณะที่ออกขุนนางปรากฏว่า ไม่มีครั้งใดเลยที่พระองค์จะปราศจากอาวุธ ทรงมีกระบอกลูกธนูบนพระเพลา และมีคันธนูอยู่ในพระหัตถ์ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นผู้ใดทำผิด แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ไม่เป็นที่สบพระทัย พระองค์จะทรงยิงธนูไปที่ผู้นั้น และรับสั่งให้ผู้นั้นนำลูกธนูมาถวาย

พระองค์จะตรัสสั่งให้เฉือนเนื้อบุคคล (แม้แต่ขุนนาง) ที่กระทำผิดแม้ว่าจะน้อยนิดเสมอ และทรงให้บุคคลผู้นั้นกินเนื้อของตนเอง เฉพาะพระพักตร์ และทรงให้บางคนกินอุจจาระของตนเองบ่อยครั้ง ที่ตรัสว่า

‘นี่เป็นวิธีที่จะปกครองพวกเจ้าชาวสยาม เพราะว่าเจ้าเป็นพวกที่มีธรรมชาติที่ดื้อดึง น่าขยะแขยง ในอาณาจักรที่แสนเลวนี้ แต่ข้าจะปฏิบัติเช่นนี้ต่อเจ้าจนกว่าจะทำให้เจ้าเป็นชนชาติที่น่านับถือได้ เจ้าเป็นเหมือนหญ้าที่ขึ้นบนท้องทุ่งที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าตัดให้สั้นได้เท่าไร เจ้าก็จะขึ้นได้สวยงามมากเท่านั้น ข้าจะหว่านทองไว้ในท้องถนนสายต่าง ๆ เป็นเวลาหลายเดือน ใครก็ตามที่มองทองเหล่านี้ด้วยความละโมภจะต้องถูกฆ่าตาย'”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า เรื่องการปกครองด้วยความเฉียบขาดของสมเด็จพระนเรศวรนั้นน่าจะเป็นความจริง เพราะการปกครองของกรุงศรีอยุธยาเริ่มอ่อนแอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เกิดการแตกสามัคคีจนต้องเสียกรุง โจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วพระราชอาณาจักร ราษฎรหาความสุขมิได้ สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องทรงปกครองโดยเฉียบขาด ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างรุนแรงเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง

สำหรับการประหารชีวิตกว่า 80,000 คน นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เชื่อว่า อาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ส่วนเรื่องพระแสงติดพระองค์นั้น เป็นราชประเพณีโดยธรรมเนียมที่เจ้าพนักงานต้องทอดพระแสงไว้เสมอ เรื่องยิงธนู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายว่า นั่นมิใช่การลงพระราชอาญา ถ้าเป็นในระหว่างเสด็จออกว่าราชการ น่าจะเป็นการปลุกผู้ที่แอบงีบให้ตื่น เพราะขุนนางหมอบเฝ้า อาจก้มหน้าก้มตาแล้วหลับไปเลย

พระราชอาญาให้คนกินเนื่อของตน หรือกินอุจจาระของตนนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า “ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เรื่องคอร์รัปชันว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าลงพระราชอาญาแบบนี้แก่ขุนนางตำแหน่งใหญ่ ๆ ผู้กินไม่อื่มก็น่าจะเห็นพระราชหฤทัยอีกเช่นเดียวกัน”


@@@@@@@

กลัวไม่ได้กลับบ้าน

“ขุนนางทั้งหลายรับราชการอยู่ด้วยความหวาดกลัวพระเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ขุนนางจะจัดบ้านช่อง เหมือนกับว่าตนจะไปตาย เพราะว่าขุนนางกลัวอยู่เสมอว่าตัวจะไม่ได้กลับมาเห็นบ้านอีก”

ในเรื่องนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องยืนยันข้อความในพงศาวดารพม่า ที่ขุนนางพม่ากราบทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า คนไทยกลัว พระนเรศวร ยิ่งกว่ากลัวตาย” ซึ่งทำให้เห็นว่า ในประเด็นนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เห็นพ้องตามบันทึกของวัน วลิต

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายสรุปว่าวัน วลิต ได้บันทึกเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรอย่างชาวต่างชาติเขียน ไม่มีเหตุที่จะยกย่องพระเกียรติยศ บางครั้งก็เขียนไปในทางเสื่อมเสีย เพราะคงจะได้ฟังจากคำบอกเล่าของคนในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นคนที่อยู่ใต้ราชวงศ์ใหม่ อาจเล่าเรื่องราวบางประการให้วัน วลิต ฟังเพื่อเป็นการลบหลู่ราชวงศ์เดิม ส่งเสริมราชวงศ์ใหม่ก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :-

   • สมเด็จพระนเรศวรฯ กับคนไทใหญ่ ความสัมพันธ์ชั้นเจ้าที่ต่างเล็งขับไล่พม่า
   • ชนไก่ กีฬาพื้นบ้านที่เล่ากันว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงชนะพระมหาอุปราช






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : เสมียนอารีย์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ  11 พฤศจิกายน 2563
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_57966

อ้างอิง :-
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. 2182. (2546). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.
- คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. (2533). กฤษดาภินิหาร อันบดบังมิได้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สยามรัฐ.
40  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พิธีบำเพ็ญกุศล พระเทพกิตติปัญญาคุณ หลังเก็บสรีระสังขารนาน 19 ปี เมื่อ: มีนาคม 23, 2024, 06:50:34 am
.



พิธีบำเพ็ญกุศล พระเทพกิตติปัญญาคุณ หลังเก็บสรีระสังขารนาน 19 ปี

พิธีบำเพ็ญกุศลและพระราชทานเพลิง พระเทพกิตติปัญญาคุณ พระนักเทศน์ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ หลังเก็บสรีระสังขารนาน 19 ปี

ขอเชิญศิษยานุศิษย์ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกขุ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระนักเทศน์ น้ำเสียงนุ่มนวลชวนฟัง โดยเฉพาะด้านพระอภิธรรมและพระสูตรเป็นเลิศ ในยุค 2500-2525 ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2548 จนถึงบัดนี้ รวมระยะเวลา 19 ปี 1 เดือน

พระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือ กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ ที่ผู้คนทั้งประเทศรู้จัก ในฐานะอดีตผู้อำนวยการจิตตภาวันวิทยาลัย จ.ชลบุรี ผู้ก่อตั้งจิตภาวันวิทยาลัย มีชื่อเสียงในฐานะวิทยาลัยเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งแรกของประเทศไทย




พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตติศักดิ์ เจริญสถาพร) เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ที่ต.บางไทรป่า อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นบุตรของนายเตียวยี่-นางเง็กเล้า เจริญสถาพร มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3

พระเทพกิตติปัญญาคุณ อุปสมบทเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ณ วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาปริยัติธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอกจากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ต่อมาไปเรียนอภิธรรมที่โรงเรียนพระอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์




นอกจากนี้ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนอภิธรรม และย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุฯ รวมถึงได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น มูลกัจจายน์ วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น กับพระเตชินทะ ธัมมาจริยะ อภิธัมมกถิกาจริยะชาวพม่า และพระครูประกาศสมาธิคุณ (สังเวียน ญาณเสวี) และเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์อินทวังสะ กัมมัฎฐานาจริยะชาวพม่า เป็นต้น

ด้วยการศึกษาทางธรรมอย่างจริงจัง ทำให้ ท่านมีความรู้ ในพุทธศาสนาอย่างแตกฉาน สามารถเทศนาสั่งสอนญาติโยมอันเป็นกิจหนึ่งที่สงฆ์พึงปฏิบัติได้เป็นอย่างดี เทศนาของท่านซึ่งเป็นคำสอนหนึ่งที่ยังคงได้รับการเผยแพร่มาจนถึงปัจจุบันก็คือ “ฝึกตายทุกวัน”




บทบาทสำคัญและผลงานของท่านที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือ การก่อตั้งวิทยาลัยการเผยแพร่พระพุทธศาสนา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “จิตตภาวันวิทยาลัย” ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งท่านทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการคนแรก ผลิตพระสงฆ์สามเณร พระหน่วยพัฒนาการทางจิตให้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งปัจจุบันหลายท่านเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบลมากมาย และท่านได้สร้างอุโบสถกลางทะเล ซึ่งถือเป็นของใหม่ในยุคนั้น รวมทั้งการสร้างโรงพยาบาลสงฆ์จากการระดมทุนของท่าน เพื่อรักษาประชาชนที่ยากไร้

บรรดาศิษย์ยานุศิษย์ของท่านได้เก็บสรีระสังขารของท่านไว้เป็นอนุสรณ์นานถึง 19 ปี ก่อนที่จะมีหมายรับสั่งที่ 2970 โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพลิงศพพระเทพฯ กิตติปัญญาคุณ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา




ทั้งนี้ กำหนดพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่วันที่ 21-23 มีนาคม พ.ศ.2567 เวลา 18.30 น. ณ ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และพระราชทานเพลิงศพ ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม เวลา 15.00 น ณ วัดสระเกศวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

จึงขอเรียนเชิญศิษย์ยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชน ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลออกเมรุพระราชทนเพลิงศพ พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกขุ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว




Thank to : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8151429
ทุกทิศทั่วไทย | 22 มี.ค. 2567 - 14:35 น.
หน้า: [1] 2 3 ... 555