ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยพญานาคถึงพันโขดแสนไคร้ อ.สังคม จ.หนองคาย  (อ่าน 1827 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ตามรอยพญานาคถึงพันโขดแสนไคร้
ชวนเที่ยว : ตามรอยพญานาค ถึง พันโขด แสนไคร้ : เรื่อง...นพพร วิจิตร์วงษ์

ฤดูกาลแห่งความร้อนแล้ง รถตู้คันเก่งแล่นไปตามถนนชนบทในภาคอีสาน แม้จะไม่มีฝุ่นตลบเพราะไม่ใช่ถนนดินแดง แต่ก็ได้เห็นไอร้อนผุดพลายขึ้นจากพื้นถนน
 
อำเภอสังคม อำเภอสุดท้ายใน จังหวัดหนองคาย ด้านที่ติดกับอำเภอปากชม ของจังหวัดเลย และเป็นอำเภอที่อยู่ติดกับลำน้ำโขง โดยฝั่งตรงข้ามเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว)  เมื่อก่อนอำเภอนี้มีฐานะเป็นตำบล ขึ้นอยู่กับอำเภอท่าบ่อ ก่อนจะยกฐานะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอำเภอในเดือนพฤศจิกายน 2522 แต่ก็ยังเป็นอำเภอเล็กๆ จนมีชาวบ้านแก่นท้าวบ่อแตน และบ้านสารคาม จากฝั่งลาวอพยพเข้ามาอาศัย ตั้งบ้านเรือน ขยับขยายจนเป็นเมืองใหญ่ขึ้น
 
ทุกวันนี้ อำเภอสังคม ก็ยังเป็นอำเภอที่เงียบสงบอยู่ริมฝั่งโขง จนหลายคนออกปากว่า ช่างคล้ายกับเชียงคานในอดีต และด้วยความที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงนี่เอง ดินแดนแทบนี้ จึงมีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพญานาค ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในแถบเดียวกัน

 

พญานาคมีอยู่จริงหรือไม่ ฉันไม่แน่ใจ แต่เรื่องราวเล่าขานต่อๆ กันมา ไปจนถึงการเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคก็ยังเป็นความเชื่อที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้กระจ่างนัก และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวพันกับพญานาค ส่งให้ชื่อของอำเภอสังคม น่าค้นหายิ่งนัก

การเดินทางไปอำเภอสังคม เดี๋ยวนี้สะดวกมากขึ้น นั่งเครื่องบินโลว์คอสต์อย่างนกแอร์ และแอร์เอเชีย ไปลงที่จังหวัดอุดรธานี แล้วต่อรถเข้าหนองคายเข้าหนองคาย ไปอำเภอสังคม อีกราวๆ 2 ชั่วโมง หรือใครจะเลือกนั่งรถทัวร์ทางยาวกรุงเทพ-หนองคาย แล้วแต่รถสายหนองคาย-เลย ไปลงที่ อ.สังคมก็สะดวก มีรถสองแถวบริการวันละ 1 เที่ยว เพื่อพาไปชมวัดถ้ำดินเพียงและวัดผาตากเสื้อ แหล่งร่องรอยพญานาค
 
คราวนี้ฉันนั่งแอร์ เอเชีย ไปลงที่อุดรฯ แล้วเช่ารถตู้เดินทางต่อ เพราะเวลาไม่มากเกินกว่าจะรอท่าสองแถวที่มีวันละเที่ยวได้  เป้าหมายแรกของการติดตามร่องรอยพญานาค อยู่ที่ วัดถ้ำดินเพียง  ถ้ำนี้ถูกพบ (อย่างเป็นทางการ) เมื่อปี 2530 โดยลุงคำสิงห์ เกศศิริ เจ้าของพื้นที่บริเวณปากถ้ำ ต่อมาได้ยกให้กับทางวัดศรีมงคล ส่วนลุงคำสิงห์ก็มาเป็นคนคอยดูแลถ้ำและเป็นไกด์พาเข้าไปเที่ยมชมด้วย 

 

ถ้ำดินเพียงเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ 06.00-18.00 น. ผู้ที่จะเข้าไปต้องไหว้พระ และจุดธูปขออนุญาตก่อน ต้องถอดรองเท้ามุดเข้าไป ขาดไม่ได้คือต้องมีไกด์นำทาง และยังมีข้อห้ามอีกหลายข้อ
 
ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องเล่าว่า มีนายพรานไปล่าสัตว์แล้วสัตว์บาดเจ็บหนีเข้าไปในถ้ำ ก็เลยสุมไฟไล่ครึ่งวันก็แล้ว สัตว์ยังไม่ออกมา เลยมุดตามไปดู จึงได้เจอกับความวิจิตรงดงามในถ้ำ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็นหินทรายโบราณอายุ 140 ล้านปี เกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินจนมีร่องรอยคล้ายๆ เกล็ดพญานาค  การกัดเซาะของน้ำใต้ดินยังเกิดเป็นรูปร่างต่างๆ จนชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าเป็นโลกบาดาล
 
ปากถ้ำดินเพียงอยู่ต่ำกว่าดิน แถมยังเล็กขนาดแค่คนตัวโตรอดเข้าไปได้ทีละคน ไม่น่าเชื่อว่า จากอากาศร้อนๆ ภายนอกแค่ลงบันไดถึงปากถ้ำก็ได้รับไอเย็นโชยมาทักทายทันที ลักษณะภายในถ้ำที่คดเคี้ยว เป็นช่องแคบๆ บางช่วงก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน มีน้ำไปตลอดทาง แต่ถ้าหน้าแล้ง น้ำจะไม่มาก บางช่วงแห้ง มุดๆ ก้มๆ เงยๆ กันไป บางช่วงก็พอยืนยืดตัวได้ ใช้เวลาเดินหรือมุดในถ้ำราวกับงูยักษ์ อยู่ร่วมครึ่งชั่วโมง จากห้อง 1 ก็ลัดไปออกห้อง 4 ห้องธิดาพญานาค ไล่ไปถึงห้องที่ 8 แล้วไปโผล่ทางออกที่ต้องไต่บันไดขึ้นด้านบน ซึ่งทำเป็นปล่องขนาดไม่กว้างนัก   

 

ส่วนห้อง 2 กับ 3 โดยมากจะข้ามไป เป็นห้องหีบศพ บรรจุศพของปู่อินทร์นาคราช พญานาคราชที่ชาวบ้านนับถือ ห้องที่ 3 เป็นห้องเจดีย์ ห้องหีบศพ และแท่นบูชา แต่ว่ากันว่า ถ้ำแห่งนี้มีห้องเยอะแยะที่ยังไม่เคยมีใครสำรวจ รวมถึงเส้นทางที่ว่ากันว่าทะลุไปออกแม่น้ำโขงได้ ระยะทางราวๆ 14 กิโลเมตร
 
ซึ่งไปพ้องกับเรื่องเล่าจากอดีตว่า ถ้ำนี้เป็นเส้นทางเข้าออกของธิดาพญานาค ที่มาหลงรักเจ้าชายของเมืองมนุษย์พอถึงวันออกพรรษา ธิดาพญานาคต้องกลับสู่บาดาลเพื่อไปเล่นน้ำกับพญานาคด้วยกัน เมื่อเจ้าชายตามมาพบและรู้ความจริง จึงตัดขาดจากกันที่ถ้ำนี้ ทำให้มีการร่ำลือกันว่าถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางไปยังเมืองใต้บาดาลที่อยู่ใต้แม่น้ำโขง  ซึ่งไปพ้องกับเรื่องเล่าต่อมาว่า ถ้ำนี้เป็นเส้นทางที่พระธุดงค์ที่มีศีลอันแก่กล้าจากเมืองลาวใช้ข้ามฝั่งลอดแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย
 
ออกมาจากโลกบาดาล ไปดูร่องรอยของพญานาคที่แม่น้ำโขง ซึ่งจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสานก็คือที่วัดผาตากเสื้อ ใช้เวลาเดินทางจากวัดถ้ำดินเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

 

วัดผาตากเสื้อ ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน  บ้านปากโสม ต.ผาตั้ง เดิมชื่อวัดถ้ำพระ ซึ่งหลวงปู่เพชรเดินทางมาปฏิบัติธรรมบริเวณถ้ำพระและได้สร้างวัดขึ้นเมื่อปี 2477 บนผาสูง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 550 เมตร จนมีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อก่อนคนมาทำบุญที่วัด จะต้องไต่ขึ้นทางชัน จนเหงื่อโทรม พอถึงวัดก็ต้องเอาเสื้อผ้ามาตาก เลยได้ชื่อว่า วัดผาตากเสื้อ 
 
วัดผาตากเสื้อยังมีความเป็นธรรมชาติที่ร่มรื่น แถมที่จุดชมวิวนี่ยังมองเห็นไปไกลถึงฝั่งลาว โค้งน้ำ ที่แยกเป็นแฉก ส่วนหนึ่งเป็นร่องลึกเข้าไปฝั่งลาว ยิ่งช่วงน้ำลดมองจากหน้าผาลงไปที่แม่น้ำโขง จะเห็นสันทรายเป็นริ้วๆ พอถ่ายรูปมาดูจะเห็นว่า คล้ายๆ กับเกล็ดพญานาคขนาดใหญ่ แม้จะบอกว่านั่นเป็นเพราะกระแสน้ำ และคลื่นลม ที่พัดไปมาจนเกิดเป็นริ้วรายในยามน้ำลดก็ตาม ดูแล้วช่างน่าอัศจรรย์ที่บังเอิญเหมือนได้ขนาดนี้   
 
น่าเสียดาย นับตั้งแต่จีน สร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง วันดีคืนดีก็ปล่อยน้ำมา หรือบางช่วงก็กักน้ำไว้  ทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงตอนใต้เขื่อนเปลี่ยนไป แม้เกล็ดพญานาคจะยังคงเดิม แต่โอกาสเห็นทุกวันในช่วงหน้าแล้งคงยาก จะไปดูนี่ต้องตรวจสอบสภาพการปล่อยน้ำของจีนเขาด้วย

 

เรื่องราวของลำน้ำโขงและพญานาคเป็นของคู่กันมาตั้งแต่อดีต จนวันนี้แม่น้ำโขงก็ยังมีความลึกลับ จนไม่มีใครไขปริศนาได้ทั้งหมด แต่ในช่วงหน้าแล้งแบบนี้ แม่น้ำโขงยังเปิดเผยตัวตนให้เห็นถึงความวิจิตรของธรรมชาติ ในรูปของโขดหินทั้งเล็กและใหญ่ ผุดขึ้นมากมาย ในแต่ละโขดยังมีต้นไคร้น้ำขึ้นอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่รอยต่อของ อ.ปากชม จ.เลยลงมา จนถึงบ้านม่วง ต.บ้านม่วง ใน อ.สังคม จึงได้ชื่อว่า "พันโขด แสนไคร้" กลายเป็นจุดท่องเที่ยวอีกแห่ง ของ อ.สังคม ราลงเรือชมโขดหินต่างๆ สลับกับหาดทราบสีขาว ตั้งแต่ช่วงหาดแสน บ้านม่วง ไปจนถึงถ้ำแข้ บ้านห้วยค้อ ใช้เวลาราวๆ ชั่วโมงครึ่ง แต่ขอแวะ แก่งพาล ซะพน่อย  ซึ่งเป็นแก่งสูง มองเห็นวิวได้ไกล แถมยังดูอาทิตย์ตกได้สวยงามที่สุด
 
บอกแล้ววว... ร้อน แล้ง แบบนี้ อีสานกำลังสวย และโดยเฉพาะตามเส้นทางริมแม่น้ำโขงที่อำเภอสังคม กำลังเกิดสิ่งมหัศจรรย์ที่ก่อให้เกิดจินตนาการมากมายได้ไม่น้อย ขนาด ททท. ยังจัดให้เป็นอีกหนึ่ง "Dream Destination กาลครั้งหนึ่ง...ต้องไป" 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ที่ว่าการอำเภอสังคม 0 4244 1059 
ททท.สำนักงานอุดรธานี  0 4232 5406-7


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140406/182328.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ