ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่ม ชฏิล 3 พี่น้อง ในครั้งที่พบกับพระพุทธเจ้าครับ เรื่องเป็นอย่างไรครับ  (อ่าน 4370 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0


       หาเรื่องในพระสูตร เป็นตอนๆก็ดีครับ เพื่อเพิ่มศรัทธากัน
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28332
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง

ครั้นพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกเหล่าภัททวัคคีย์ไปแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสปอาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐

ราชคฤห์นครนั้นเป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิ์ขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์ เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น


 :25: :25: :25: :25:

ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ๆนั้น ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นนักบวชจำพวกชฎิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปโคตร ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานทีตำบลหนึ่งจึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสป

น้องคนกลางมีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสป ส่วนน้องคนเล็กมีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นค่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่าตำบลคยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสป ชฎิลคณะนี้ทั้งหมดมีลัทธิหนักในการบูชาเพลิง




อุรุเวลกัสสปไม่ยินดีให้พระพุทธเจ้าพักในอาศรมของตน

พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสปในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงไปพบอุรุเวลกัสสปทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลกัสสปรังเกียจ ทำอิดเอื้อนไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างลัทธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่า “ไม่มีที่ให้พัก” ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่างไม่มีชฎิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปได้ทูลว่า

   "พระองค์อย่าพอใจพักที่โรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพญานาคมีพิษร้ายแรง ทั้งดุร้ายที่สุดอาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้น ให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต”

เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปอนุญาตให้เข้าอยู่ ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม


 :25: :25: :25: :25:

พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑.

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้น ก็มีจิตคิดขึ้งเคียดจึงพ่นพิษตลบไป

ในลำดับนั้นพระบรมศาสดาก็ทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสฉวีและเอ็นอัฐิแห่งพญานาคนี้ ระงับเดชพญานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น

พญานาคมิอาจจะอดกลั้นซึ่งความพิโรธได้ ก็บังหวนควันพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ และเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสงแดงสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟนั้นให้เป็นเถ้าธุลี



    ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า
    “พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพญานาคในที่นี้”

ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิเดชพญานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคราชนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า
     "พญานาคนี้สิ้นฤทธิเดชแล้ว”

     อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้นก็ดำริว่า
    "พระสมณะนี้มีอานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิพญานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา”

     มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่า
     "ข้าแต่สมณะ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิตย์”


 :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๒.

พระบรมศาสดาก็เสด็จประทับยังพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมแห่งอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้น ครั้นสมัยราตรีเป็นลำดับ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมโลกนาถ ถวายอภิวาทและประดิษฐานยืนอยู่ใน ๔ ทิศ มีทิพยรังสีสว่างดุจกองเพลิงก่อไว้ทั้ง ๔ ทิศ

     ครั้นเวลาเช้าอุรุเวลกัสสปจึงเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลว่า
    "นิมนต์พระสมณะไปฉันภัตตาหารเถิด ข้าพเจ้าตกแต่งไว้ถวายเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนนี้เห็นรัศมีสว่างไปทั่วพนัสมณฑลสถาน บุคคลผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงปรากฏรุ่งเรืองในทิศทั้ง ๔ ”

     พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกว่า
     “ดูกร กัสสป นั้นคือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ลงมาสู่สำนักตถาคตเพื่อฟังธรรม”

     อุรุเวลกัสสปได้สดับดังนั้น ก็ดำริว่า พระมหาสมณะองค์นี้มีอานุภาพมาก ท้าวจาตุมหาราชยังลงมาสู่สำนัก ถึงกระนั้นก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา




พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๓.

พระบรมศาสดาเสด็จมากระทำภัตกิจ เสวยภัตตาหารของอุรุเวลกัสสปเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับมาสู่ทิวาวิหารในพนาสณฑ์นั้น ครั้นรัตติกาลสมัย ท้าวสหัสนัยก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา ถวายนมัสการแล้วยืนอยู่ที่ควรข้างหนึ่ง เปล่งรัศมีสว่างดุจกองอัคคีใหญ่ไพโรจน์ยิ่งกว่าราตรีก่อน ครั้นเพลารุ่งเช้า กัสสปชฎิลไปสู่สำนักพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาให้ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามว่า เมื่อคืนนี้มีผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงมีรัศมียิ่งกว่าราตรีก่อนพระบรมศาสดาตรัสบอกว่า
     “ดูกรกัสสป เมื่อคืนนี้ท้าวโกสีย์สักกเทวราชลงมาสู่สำนักตถาคต เพื่อจะฟังธรรม”
     ชฎิลได้สดับดังนั้น ก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจนัยก่อน


      :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๔.

พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของกัสสปดาบสแล้ว ก็กลับมาอยู่ทิวาวิหารยังพนัสสถานที่นั้น ครั้นเข้าสมัยราตรี ท้าวสหัมบดีมหาพรหมก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา เปล่งรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปกว่าสองราตรีนั้น ครั้นรุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปก็ไปทูลอาราธนาฉันภัตตาหารแล้วทูลถามอีก พระบรมศาสดาตรัสบอกว่า

     “คืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาสู่สำนักตถาคต”

     กัสสปดาบสก็ดำริดุจนัยก่อน พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของอุรุเวลชฎิลแล้วก็กลับมาสู่สำนัก


      :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๕.

ในวันรุ่งขึ้น มหายัญญลาภบังเกิดขึ้นแก่อุรุเวลชฎิล คือ ชนชาวอังครัฐทั้งหลายจะนำเอาขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก มาถวายแก่อุรุเวลชฎิล อุรุเวลชฎิลจึงดำริแต่ในราตรีว่า รุ่งขึ้นพรุ่งนี้มหาชนจะนำเอาอเนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอันมาก อาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้

พระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฎิล ด้วยเจโตปริยญาณ ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป ทรงบิณฑบาตได้ภัตตาหารแล้วก็เสด็จมากระทำภัตกิจยังฝั่งอโนดาต แล้วทรงยับยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้น ต่อมาเพลาสายัณหสมัยจึงเสด็จมาสู่วนสณฑ์สำนัก ครั้นรุ่งขึ้นกัสสปชฎิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารแล้วทูลถามว่า

     “วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด ไฉนไม่ไปสู่สำนักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าระลึกถึงพระองค์อยู่”

จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกวาระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้นให้แจ้งทุกประการ อุรุเวลกัสสปได้สดับก็ตกใจ ดำริว่าพระมหาสมณะนี้มีอานุภาพมากแท้ เธอล่วงรู้จิตอาตมา ถึงดังนั้นก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ดังอาตมา




พระพุทธเจ้าทรงซักผ้าบังสุกุล ทำให้เกิดแผ่นดินไหว

ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินไปซักผ้าบังสุกุล ซึ่งห่อศพนางปุณณทาสีที่ทอดทิ้งอยู่ในอามกสุสานะป่าช้าผีดิบ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์อุภโตสุชาติเสด็จจากขัตติยราชสกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์ ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณเป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ เป็นโมลีของโลก เห็นปานนี้แล้ว ยังทรงลดพระองค์ลงมาซักผ้าขาวที่ห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้ เป็นกรณียะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้

มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง ตลอดระยะทางทรงพระดำริว่า ตถาคตจะซักผ้าบังสุกุลนี้ในที่ใด? ขณะนั้นท้าวสหัสนัยอมรินทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตก จึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี แล้วกราบทูลพระชินศรีให้ทรงซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น

     :25: :25: :25: :25:

ขณะที่ทรงซักก็ทรงพระดำริว่า จะทรงขยำในที่ใดดี ท้าวโกสีย์ก็เอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย ทรงขยำด้วยพระหัตถ์จนหายกลิ่นอสุภ แล้วก็ทรงพระดำริว่าจะห้อยตากผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี ลำดับนั้นรุกขเทพยดาซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก ก็น้อมกิ่งไม้ลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวร ครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนาว่าจะแผ่พับผ้าในที่ใด ท้าวสหัสนัยก็ยกแผ่นศิลา อันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่พับผ้ามหาบังสุกุลนั้น

เพลารุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปไปเฝ้าพระบรมศาสดา เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง ซึ่งมิได้ปรากฏมีในที่นั้นมาก่อน และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น จึงทูลถาม พระบรมศาสดาตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ เมื่อกัสสปได้ฟังก็สะดุ้งตกใจ ดำริว่า พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนัก แม้ท้าวมัฆวานยังลงมากระทำไวยาวัจกิจถวาย แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

      :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๖.

พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของชฎิล แล้วก็กลับมาสถิตยังพนาสณฑ์ตำบลที่อาศัย ครั้นรุ่งขึ้นในวันเป็นลำดับ กัสสปชฎิลไปทูลนิมนต์ฉันภัตตาหาร จึงตรัสว่า

    “ท่านจงไปก่อนเถิด ตถาคตจะตามไปภายหลัง”

เมื่อส่งชฎิลไปแล้ว จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีปในป่าหิมพานต์มา แล้วก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิล ครั้นชฎิลมาถึงจึงทูลถามว่า พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน พระศาสดาจึงตรัสบอกประพฤติเหตุแล้วตรัสว่า

    "ดูกรกัสสป ผลหว้าประจำทวีปนี้ มีวรรณสัณฐานสุคันธรสเอมโอช ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภค ก็เชิญตามปรารถนา”

     อุรุเวลกัสสปก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจหนหลัง ครั้นพระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพนาสณฑ์ที่สำนัก

ในวันต่อมาได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง คือ ทรงส่งอุรุเวลกัสสปมาก่อน แล้วเสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่ง เก็บผลมะขามป้อมครั้งหนึ่ง เก็บผลส้มในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่ง เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลกนำเอาผลไม้ปาริฉัตตกครั้งหนึ่ง เสด็จมาถึงก่อน คอยท่าอุรุเวลกัสสปอยู่ที่โรงไฟ ให้ชฎิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง




พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งต่อมา......

วันหนึ่งชฎิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟก็มิอาจผ่าฟืนออกได้ จึงดำริว่าที่เป็นดังนี้เพราะฤทธิ์พระมหาสมณะทำโดยแท้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถาม ครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิด ในทันใดนั้นชฎิลก็ผ่าฟืนออกตามประสงค์

วันหนึ่งชฎิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง ก่อเพลิงไม่ติด จึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้ เพลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กองพร้อมกันในขณะเดียว ชฎิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว จะดับเพลิง เพลิงก็ไม่ดับ จึงดำริดุจหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ดับเพลิง เพลิงก็ดับพร้อมกันทั้ง ๕๐๐ กอง


       :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อีกครั้ง......

วันหนึ่งในเวลาหนาว ชฎิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรานที สมเด็จพระชินศรีผู้ทรงพระกรุณาแก่ชฎิล ทรงดำริว่า เมื่อชฎิลขึ้นจากน้ำแล้วจะหนาวมาก จึงทรงนิรมิตเชิงกรานประมาณ ๕๐๐ อัน มีเพลิงติดทั้งสิ้นไว้ในที่นั้น ครั้นชฎิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัดก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราน แล้วก็คิดสันนิษฐานว่า พระมหาสมณะคงจะนิรมิตไว้ให้เป็นแน่ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก



พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งสุดท้าย

วันหนึ่งมหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล บันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น ธรรมดาว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ประเทศที่ใด แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบ ที่หว่างกลางนั้นจะมีพื้น ภูมิภาคจะราบเรียบขึ้นปกติ ตถาคตจะจงกรมอยู่ในที่นั้นแล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น

ฝ่ายอุรุเวลกัสสปนั้นคิดว่าพระมหาสมณะนี้ น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด หรือจะหลีกไปสู่ประเทศอื่น จึงลงเรือพร้อมกับชฎิลทั้งหลาย รีบพายไปดูโดยด่วน ถึงประเทศที่พระองค์ทรงสถิต ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ แลเห็นพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก
     พระพุทธเจ้าขานรับว่า “กัสสป! ตถาคตอยู่ที่นี้” แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศ เลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปชฎิล
     กัสสปชฎิลก็ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอิทธิฤทธิ์เป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากเช่นนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา




อุรุเวลกัสสปะ ยอมละลัทธิเดิม

แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติกมาส (เดือน ๑๒) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลประเทศ จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสปโดยอเนกประการ อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฏฐิอันกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง จึงมีพระวาจาตรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า

    “กัสสป! ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกล มิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง ทั้งๆที่ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก
    กัสสป! ถึงเวลาอันควรแล้วที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย
    กัสสป! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน”


      :25: :25: :25: :25:

    เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาท ก็รู้สึกตัวละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า
    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์ และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง”

    พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า
    “กัสสป! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจงให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจงยอมให้บรรพชาอุปสมบท”


    st12 st12 st12 st12

อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ ศิษย์ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชาในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยเครื่องบริขารและเครื่องตกแต่ง ผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังเสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน

ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปดาบส ผู้เป็นน้องกลางเห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอยน้ำมา ก็ดำริว่าชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ให้ชฎิลสองสามอันเป็นศิษย์ไปสืบดู รู้เหตุแล้ว นทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ มาสู่สำนักของท่านอุรุเวลกัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้น ดุจชฎิลพวกก่อนนั้น



ฝ่ายคยากัสสปดาบส ผู้เป็นน้องน้อยเห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสป ไปถามทราบความแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชลดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฎฐิแห่งตนแล้ว โปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร* โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้น ให้บรรลุพระอรหัตด้วยกันทั้งสิ้น


* อาทิตตปริยายสูตร เป็นสูตรที่แสดงอายตนภายใน อายตนภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ เพื่ออนุโลมตามอัธยาศัยของปุราณชฎิลที่นิยมบูชาไฟเป็นวัตร

อ้างอิง : พุทธประวัติทัศนศึกษา โดย พระธรรมโกศาจารย์(ชอบ อนุจารี) ตอนที่ ๓๐ โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง
โพสท์ในกระทู้ลานธรรม มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ โดย ดอกแก้ว [28 ก.พ. 2546]
ที่มา : http://dharma-gateway.com/buddha/buddha-main-page.htm
ขอบคุณภาพจาก :-
https://th.wikipedia.org/
http://www.84000.org/
http://www.phutthathum.com/
http://download.buddha-thushaveiheard.com/
http://i.ytimg.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 19, 2015, 10:09:19 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28332
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
อ้างถึง
ข้อความโดย: aaaa

หาเรื่องในพระสูตร เป็นตอนๆก็ดีครับ เพื่อเพิ่มศรัทธากัน


ans1 ans1 ans1 ans1

เรื่องชฎิล ๓ พี่น้องฉบับเต็ม ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
เป็นเนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๘๖๔-๑๒๑๕. หน้าที่ ๓๖-๕๐.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=864&Z=1215&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=37

หรือต้องการอ่านฉบับย่อ อ่านได้ที่ :-
พระอุรุเวลกัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีบริวารมาก
http://www.84000.org/one/1/02.html


 :welcome: :49: :25: st12
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 20, 2015, 07:48:19 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

Admax

  • ผู้อุปถัมภ์
  • โยคาวจรผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 1063
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ

รักหนอ

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +22/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 369
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
 st11 st12 st12

  คนโพสต์ตอบ สมควร ได้รับรางวัล มาก เพราะ ความพยายาม และ ความละเอียดในการตอบ ทำให้ผู้ที่ติดตามอ่านได้รับประโยชน์ไปด้วย

  :49: :58:
บันทึกการเข้า

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
  ขออนุโมทนาสาธุ. ครับ. ยอดเยี่ยมครับ
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา