ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “พระธาตุอินทร์แขวน” ลำพูน...อันซีนใหม่ ใต้ร่มเงาแห่งศรัทธาอันน่าทึ่ง  (อ่าน 2273 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน อันซีนจากศรัทธาแห่งใหม่ใน จ.ลำพูน

“พระธาตุอินทร์แขวน” ลำพูน...อันซีนใหม่ ใต้ร่มเงาแห่งศรัทธาอันน่าทึ่ง

        ประเทศเมียนมาร์หรือพม่ามี 5 มหาสถานแห่งศรัทธา เป็น 5 สิ่งสำคัญสูงสุด หรือ “เบญจมหาบูชาสถาน” ได้แก่       
       1. เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง
       2. พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจก์โถ่ หรือไจทิโย
       3. เจดีย์ชเวมอดอร์ (เจดีย์มุเตา) เมืองหงสาวดี
       4. เจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกาม
       5. พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์


พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจทิโย พม่า

        ในบรรดา 5 สิ่งสำคัญสูงสุดนี้ มีหนึ่งเดียวที่เป็นพระพุทธรูป คือ “พระมหามัยมุนี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “พระพุทธรูปมีชีวิต” เพราะชาวพม่าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้มาประทานลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในพระวรกายขององค์พระมหามัยมุนี
       
       ส่วนอีก 4 องค์พระธาตุเจดีย์ที่เหลือนอกจากความศักดิ์สิทธิ์อันเลื่องลือระบือไกลแล้ว พระธาตุแต่ละองค์ต่างก็มีความงามของงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และงานพุทธศิลป์แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะกับพระธาตุอินทร์แขวนนั้น แม้องค์เจดีย์จะไม่ใหญ่โตเทียบได้กับ เจดีย์ชเวดากอง หรือ เจดีย์มุเตา แต่พระธาตุอินทร์แขวนได้ถูกยกให้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของพม่า อันเนื่องมาจากองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนก้อนหินสีทองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่หมิ่นเหม่เหมือนจะตกไม่ตกแหล่ แต่ก็สามารถท้าทายแรงดึงดูดของโลกอยู่ยั้งยืนยงมายาวนาน เป็นมหาศรัทธาให้ชาวพม่า พุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินทางมาสักการบูชา


พระธาตุอินทร์แขวนลำพูน ในมุมพาโนรามา

        พระธาตุอินทร์แขวนมีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า "ไจก์ทิโย" เป็นภาษามอญ ซึ่งชาวพม่าและชาวมอญต่างเรียกขานชื่อนี้กัน ไจก์ทิโย หมายถึง เจดีย์บนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะฤๅษี
       
       ด้วยชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์กอปรกับความมหัศจรรย์ทำให้พลังศรัทธาแห่งพระธาตุอินทร์แขวนแผ่ขยายเข้ามาในบ้านเรา จึงมีการสร้างพระธาตุอินทร์แขวนองค์จำลองขึ้นในบางพื้นที่ตามธรรมชาติที่มีก้อนหินใหญ่ตั้งอยู่ริมหน้าผาคล้ายที่พม่า ไม่ว่าจะเป็น ที่วัดพระธาตุหินกิ่ว จ.ตาก, พระธาตุผาไข่อินทร์แขวน จ.ตาก หรือที่พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ จ.แพร่ รวมไปถึงที่ล่าสุดกับองค์พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง แห่งจังหวัดลำพูน ที่เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน เป็นอันซีนเมืองลำพูนที่มีความน่าสนใจยิ่ง


ใต้แสงเงาแห่งศรัทธาที่พระธาตุอินทร์แขวนลำพูน

        กำเนิดพระธาตุอินทร์แขวนลำพูน     
       พระธาตุอินทร์แขวนลำพูน มีชื่อเต็มคือ “พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน” ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพุ ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน ตัวองค์พระธาตุ (ในปัจจุบัน) ตั้งอยู่บนดอยเตี้ยๆ ซึ่งคุณลุงที่ประจำอยู่ที่องค์พระธาตุบอกกับผมว่า ดอยแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยถ้ำหิน”
       
       จากนั้นคุณลุงก็เล่าความเป็นมาของพระธาตุอินทร์แขวนลำพูนให้ผมฟังพอสังเขป สรุปความว่า


อีกหนึ่งมุมมองของพระธาตุอินทร์แขวนลำพูน

        ...เดิมดอยถ้ำหินเป็นดอยเป็นป่าธรรมดา ชาวบ้านเห็นก้อนหินใหญ่ 2 ก้อนริมเพิงผาที่ตั้งแบบหมิ่นเหม่จะตกไม่ตกแหล่มาช้านาน แถมยังมีคนเคยไปผลักไป เอาไม้คานไปงัดถึง 10 คน แต่ก็ไม่บังเกิดผล จึงปล่อยก้อนหินใหญ่ 2 ก้อนเอาไว้เหมือนเดิม
       
       ต่อมา “ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา” หรือ “ครูบาวงศ์” เกจิชื่อดังแห่งวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน ท่านนั่งทางในนิมิตเห็นหินก้อนนี้ จึงให้ลูกศิษย์ออกตามหา ใช้เวลาอยู่นานพอสมควรกว่าจะเจอ ซึ่งดอยแห่งนี้มีความสำคัญคือบนลานใกล้ๆกับก้อนหินใหญ่มีรอยหินที่เชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทประทับอยู่
       
       จากนั้นจึงมีการสร้างองค์พระธาตุขึ้นบนก้อนหินลูกหนึ่ง(ลูกเล็ก) ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 57 โดยจำลองลักษณะของพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่ามาไว้ที่นี่...คุณลุงบอกกับผม


ตักทรายนำขึ้นสู่องค์พระธาตุ

        ร่วมทำบุญ ขนทรายขึ้นพระธาตุ       
       วันนี้บริเวณพระธาตุอินทร์แขวน ลำพูน ยังคงมีการก่อสร้างในส่วนอื่นๆ อยู่ โดยล่าสุดเพิ่งทำทางเดินศิลาแลงขึ้นสู่องค์พระธาตุทางด้านบนเสร็จไปหมาดๆ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผมมีโอกาสได้เข้าเฟซบุ๊กไปดูเพจของทางวัด เห็นภาพพระ ชาวบ้าน ลูกเด็กเล็กแดง และนักท่องเที่ยว มาช่วยกันขนหิน ขนทราย ก่อสร้างดูน่าประทับใจมาก


ขนทรายขึ้นพระธาตุ

        นั่นจึงทำให้ผมกับเพื่อนๆ เมื่อเดินทางมาถึงที่วัดแห่งนี้ก็ไม่รีรอทำตามนโยบายการทำบุญแบบง่ายๆ ของวัด แต่เห็นผลเป็นรูปธรรมนักนั่นก็คือ การร่วมสร้างทางขึ้นส่วนที่เหลือและศาลาครูบา 9 องค์ (ใกล้กับองค์พระธาตุ) ด้วยการช่วยกัน ขนน้ำ ขนทราย ขนศิลาแลง ขึ้นพระธาตุไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน ซึ่งผมขอย้ำว่าให้ขนขึ้นไปตามกำลังกายกำลังความสามารถของแต่ละคนด้วย ใครที่เป็น ส.ว. สูงวัย ร่างกายไม่แข็งแรง หรือไม่ได้ออกกำลังกาย เหนื่อยง่าย ก็ไม่ต้องลำบากขนขึ้นไป เพราะเกิดไปหมดแรง เป็นลม หน้ามืด หรือเจ็บป่วยระหว่างทาง จะเดือดร้อนกันไปใหญ่

เหนื่อยนักก็พักก่อน

        งานนี้เอาเป็นว่าเอาตามความสามารถตามกำลังเรี่ยวแรงของแต่ละคน ส่วนใครที่อยากทำบุญเขาก็มีให้ทำบุญด้วยปัจจัยตามกำลังศรัทธาอยู่อีกทางหนึ่ง
       
       ครับเมื่อได้เห็นแต่ละคนขมีขมันตักทรายใส่ถุงหิ้วเดินขึ้นสู่พระธาตุดูแล้วเป็นที่สบายใจ ส่วนตัวผมแรกเริ่มว่าจะขนหินศิลาแรงไป แต่พอไปลองยกเทสต์น้ำหนักดูแล้วก็เปลี่ยนใจมาตักทรายใส่ถุงเดินขึ้นไปดีกว่า เพราะหินศิลานั้นหนักเอาเรื่องอยู่ ขืนแบกขึ้นไปดีไม่ดีอาจจะขึ้นไม่ถึงบนพระธาตุเอาได้


เรียงหินมีให้เห็น 2 ข้างทางเป็นระยะๆ

        สำหรับเส้นทางขึ้น-ลงพระธาตุนั้นมีระยะทางประมาณ 500 เมตร เป็นทางขึ้นเขาไม่สูงชัน มีบันไดศิลา(ที่เพิ่งสร้างเสร็จ) ส่วนหนึ่งจำนวน 131 ขึ้น เส้นทางเดินเป็นป่าโปร่งอันร่มรื่น แถมระหว่างทางยังมีคนมาเรียงหินก่อเป็นเจดีย์หินอยู่สองข้างทางเป็นระยะๆ
       
       นี่ถือเป็นเทรนด์ใหม่ทางการท่องเที่ยวของบ้านเราไปแล้ว ทั้งไม้ค้ำหิน เรียงหิน ซึ่งผมว่าสำหรับที่นี่ใครที่เอาเวลาไปเรียงหิน เปลี่ยนมาช่วยกันขนทรายขนหินขึ้นพระธาตุดีกว่า


เคารพสถานที่ ป้ายบอกไว้อย่างชัดเจน

        สักการะพระธาตุอินทร์แขวนลำพูน     
       ในเส้นทางขึ้นพระธาตุผมกับเพื่อนๆ เดินหิ้วทรายมาได้ไม่นานก็ถึงยังองค์พระธาตุอินทร์แขวน ที่สร้าง(ทา)เป็นสีทองอร่าม เช่นเดียวกับก้อนหินเบื้องล่างตามอย่างพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า


สักการะองค์พระธาตุ

        สำหรับเจดีย์องค์นี้ที่ตั้งอยู่บนก้อนหินหมิ่นเหม่ริมผานั้นแม้จะเป็นเจดีย์องค์เล็กๆ แต่ว่าก็เป็นองค์พระธาตุเจดีย์ที่มีลักษณะสมส่วน งดงาม และดูโดดเด่นเคียงคู่ไปกับก้อนหินที่ทาสีทองอร่าม ซึ่งทั้งเจดีย์และรอยพระพุทธบาทที่อยู่ใกล้กัน ทำให้ที่นี่มีชื่อเต็มเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน” แต่คนส่วนใหญ่มักจะเรียกกันว่าพระธาตุอินทร์แขวน หรือไม่ก็พระธาตุอินทร์แขวนลำพูน

เทพ-ยักษ์ ผู้อารักษ์องค์พระธาตุ

        ในบริเวณเจดีย์ยังมีรูปปั้นของเทพ และยักษ์ผู้ทำหน้าที่อารักษ์ปกปักเจดีย์ และจุดที่จะสร้างศาลาครูบา 9 องค์ ที่ประกอบไปด้วยเกจิดัง อาทิ สมเด็จโต หลวงปู่ทวด หลวงปูแหวน ครูบาศรีวิชัย ครูบาวงศ์ เป็นต้น

องค์พระธาตุที่สร้างไว้บนก้อนหินใหญ่

        นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนลานข้างๆ ขณะที่สิ่งที่ใครหลายๆ คนไม่รู้(รวมทั้งผมด้วย) เกี่ยวกับหินก้อนที่เทินเจดีย์อยู่นั้น ซึ่งคุณลุงคนเดิมพาเดินไปหามุมบนเนินข้างๆ แล้วมองย้อนลงมาพบว่า หินก้อนนี้ไม่ได้วางติดกันสนิท หากแต่มีรูเล็กๆ และถ้าไปมองอีกมุมทางด้านหน้าเยื้องไปข้างๆ ก็จะเห็นถึงความน่าพิศวงของหินก้อนนี้ที่ดูเหมือนจะตกแต่กลับตั้งอยู่อย่างแข็งแรงมั่นคง

มองมุมนี้จะมีช่องเล็กๆ ระหว่างก้อนหินใหญ่ที่ตั้งองค์พระธาตุ

        นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่แห่งศรัทธาที่น่าสนใจยิ่ง ที่สำคัญคือการได้ร่วมทำบุญด้วยการขนทรายขึ้นไปยังองค์พระธาตุนั้น อานิสงส์ผลบุญที่ผมได้รับแบบสัมผัสได้ในวันนั้นก็คือ ความรู้สึกอิ่มเอิบใจ อีกทั้งยังได้ออกกำลังกาย เรียกเหงื่อ ทำให้ค่ำคืนนั้นนอนหลับสบายกาย สบายตัวดีแท้
       
       เพราะบางครั้งบางทีอานิสงส์ผลที่ได้จากการทำบุญ มันก็ไม่ได้เกิดมาจากการทำอะไรเกินตัว การทำอะไรเกินกำลังทรัพย์ หรือทำอะไรเกินความสามารถของตัวเองแต่อย่างใด...


พระธาตุอินทร์แขวนลำพูน ความงามแห่งศรัทธา

       พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน หรือ พระธาตุอินทร์แขวนลำพูน ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพุ ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน สามารถสอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ (รับผิดชอบพื้นที่ เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง) โทร. 0-5327-6140-2

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ก Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000130958
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 14, 2014, 11:28:28 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา