ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สัทธรรมเลือนหาย...เพราะเหล่าพุทธบริษัท ไม่ทำความเพียรเพื่อการเกิดสมาธิ  (อ่าน 4161 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด





สัทธรรมเลือนหาย..เพราะเหล่าพุทธบริษัท ไม่ทำความเพียรเพื่อการเกิดสมาธิ

พระไตรปิฎกไทยเล่มที่ ๑๖ (ฉบับมหาจุฬาฯ)
พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร ว่าด้วยสัทธรรมปฏิรูป


{๕๓๑} สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
     “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ เมื่อก่อนสิกขาบท มีน้อย ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลมีมาก และอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ บัดนี้ สิกขาบทมีมาก แต่ภิกษุตั้งอยู่ในอรหัตตผลมีน้อย”


{๕๓๒} “กัสสปะ ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ คือ
     เมื่อหมู่สัตว์เสื่อมลง สัทธรรมก็เสื่อมสูญไป สิกขาบทจึงมีมาก และภิกษุตั้งอยู่ในอรหัตตผลจึงมีน้อย
     สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้น ในโลกตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เสื่อมสูญไป
     แต่เมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมย่อมเสื่อมสูญไป
     ทองคำปลอมยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นทองคำแท้ก็ยังไม่หายไป
     และเมื่อใดทองคำปลอมเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นทองคำแท้จึงหายไปฉันใด
     สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เสื่อมสูญไป
     แต่เมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมย่อมเสื่อมสูญไป ฉันนั้นเหมือนกัน

{๕๓๓} ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน)ทำสัทธรรมให้เสื่อมสูญไปไม่ได้ อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ(ธาตุลม) ก็ทำสัทธรรมให้เสื่อมสูญไปไม่ได้
     ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ ต่างหากเกิดขึ้นมาย่อมทำให้สัทธรรมเสื่อมสูญไป
     เปรียบเหมือนเรือจะอับปางก็เพราะต้นหนเท่านั้น
     สัทธรรมย่อมไม่เสื่อมสูญไป ด้วยประการฉะนี้”


 :25: :25: :25: :25:

สาเหตุที่ทำให้สัทธรรมเสื่อมสูญ

{๕๓๔} เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเลือนหาย เพื่อความเสื่อมสูญไปแห่งสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการอะไรบ้าง คือ
     ๑. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรง ในพระศาสดา
     ๒. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรง ในพระธรรม
     ๓. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรง ในพระสงฆ์
     ๔. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรง ในสิกขา
     ๕. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรง ในสมาธิ

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเลือนหาย เพื่อความเสื่อมสูญไปแห่งสัทธรรม สาเหตุที่ทำให้สัทธรรมตั้งมั่น

{๕๓๕} กัสสปะ เหตุ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความไม่เสื่อมสูญไปแห่งสัทธรรม เหตุ ๕ ประการอะไรบ้าง คือ
     ๑. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพ ยำเกรงในพระศาสดา
     ๒. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพ ยำเกรงในพระธรรม
     ๓. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพ ยำเกรงในพระสงฆ์
     ๔. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพ ยำเกรงในสิกขา
     ๕. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพ ยำเกรงในสมาธิ

เหตุ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความไม่เสื่อมสูญไปแห่งสัทธรรม


           สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตรที่ ๑๓ จบ


ที่มา : http://etipitaka.com/read/thaimc/16/0/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด




อรรถกถาปรัมมรณสูตรที่ ๑๒
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ สัทธรรมปฏิรูปกสูตร

     
พึงทราบวินิจฉัยในสัทธรรมปฏิรูปกสูตรที่ ๑๓ ดังต่อไปนี้.
บทว่า อญฺญาย สณฺฐหึสุ ภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผล.
บทว่า สทฺธมฺมปฏิรูปกํ ได้แก่ สัทธรรมปฏิรูป ๒ คือ
       สัทธรรมปฏิรูป คือ อธิคม ๑
       สัทธรรมปฏิรูป คือ ปริยัติ ๑.

ในสัทธรรมปฏิรูปกะนั้น ฐานะ ๑๐ เหล่านี้ คือ จิตย่อมหวั่นไหวด้วยฐานะเหล่าใด คือ หวั่นไหวในโอภาส ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข และหวั่นไหวในอธิโมกข์ ปัคคาหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขาอาวัชชนะ อุเบกขานิกันติ ปัญญาอันผู้ใดอบรมแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ฉลาดในความฟุ้งซ่านในธรรม จะไม่ถึงความลุ่มหลง ดังนี้. นี้ชื่อว่า อธิคม คือ สัทธรรมปฏิรูปกะ อันเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนาญาณ.

ส่วนคำมิใช่พระพุทธพจน์มี คุฬหวินัย คุฬหเวสสันดร คุฬหมโหสถ วัณณปิฎก อังคุลิมาลปิฎก พระรัฐบาลคัชชิตะ ความกระหึ่มของอาฬวกคัชชิตะ เวทัลลปิฏก เป็นต้น นอกจากกถาวัตถุ ๔ เหล่านี้ คือ ธาตุกถา อารัมมณกถา อสุภกถา ญาณวัตถุกถา วิชชากรัณฑกะ ซึ่งยังไม่ยกขึ้นสู่สังคายนาทั้ง ๓ ครั้ง ชื่อว่า สัทธรรมปฏิรูป คือ ปริยัติ.


 :25: :25: :25: :25:

บทว่า ชาตรูปปฏิรูปกํ ความว่า ทองคำทำด้วยทองเหลืองอันนายช่างทองเจียระไนออกเป็นเครื่องประดับ. ก็ในเวลามีมหรสพ คนทั้งหลายไปร้านค้า ด้วยคิดว่า เราจักรับเครื่องอาภรณ์ ดังนี้.
 
ครั้งนั้น พ่อค้าพูดกับพวกเขาอย่างนี้ว่า ถ้าท่านต้องการอาภรณ์เชิญรับอาภรณ์เหล่านี้. เพราะอาภรณ์เหล่านี้หนา สีงาม ราคาก็ถูกด้วย. คนเหล่านั้นฟังพ่อค้าเหล่านั้น รับเอาอาภรณ์เหล่านั้นไปด้วยคิดว่า พ่อค้าเหล่านี้บอกเหตุว่า ท่านใช้อาภรณ์เหล่านี้เล่นนักษัตรได้ งามก็งาม ทั้งราคาก็ถูก ดังนี้.
    ทองคำธรรมชาติ เขาไม่ขาย ฝังเก็บเอาไว้.
    เมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองคำธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่าหายไปอย่างนี้.

บทว่า อถ สทฺธมฺมสฺส อนฺตรธานํ โหติ ได้แก่ สัทธรรมแม้ ๓ อย่าง คือ อธิคมสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม ปริยัติสัทธรรม ย่อมอันตรธาน.
 




     ก็ครั้งปฐมโพธิกาล พวกภิกษุได้เป็นผู้ถึงปฏิสัมภิทา.
     ครั้นเมื่อกาลล่วงไป ถึงปฏิสัมภิทาไม่ได้ แต่ก็ได้อภิญญา ๖
     ต่อมาเมื่อถึงอภิญญา ๖ ไม่ได้ ก็ถึงวิชชา ๓.
     เมื่อล่วงมาบัดนี้ เมื่อถึงวิชชา ๓ ไม่ได้ จักถึงซึ่งเพียงความสิ้นไปแห่งอาสวะ
     เมื่อถึงแม้ความสิ้นอาสวะไม่ได้ ก็จักบรรลุอนาคามิผล
     เมื่อบรรลุแม้อนาคามิผลนั้นไม่ได้ ก็จักบรรลุสกทาคามิผล
     เมื่อแม้บรรลุสกทาคามิผลนั้นไม่ได้ ก็จักบรรลุแม้โสดาปัตติผล.
     เมื่อเวลาผ่านไป จักบรรลุแม้โสดาปัตติผลก็ไม่ได้.
     ครั้งนั้นในกาลใด วิปัสสนาจักเริ่มเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสเหล่านี้ ในกาลนั้นอธิคมสัทธรรมของพวกภิกษุเหล่านั้น จักชื่อว่าเสื่อมหายไป.


      :41: :41: :41: :41:

     ครั้งปฐมโพธิกาล พวกภิกษุยังการปฏิบัติอันสมควรแก่ปฏิสัมภิทา ๔ ให้บริบูรณ์
     เมื่อกาลล่วงไป เมื่อปฏิบัติข้อนั้นไม่ได้ ก็ปฏิบัติอันสมควรแก่อภิญญา ๖ ได้บริบูรณ์
     เมื่อปฏิบัติข้อนั้นแม้ไม่ได้ก็ปฏิบัติอันสมควรแก่วิชชา ๓ ได้บริบูรณ์
     เมื่อปฏิบัติข้อนั้นไม่ได้ก็ปฏิบัติอันสมควรแก่พระอรหัตผลได้บริบูรณ์
     เมื่อกาลล่วงไป เมื่อปฏิบัติอันสมควรแก่พระอรหัตไม่ได้บริบูรณ์ ก็จักปฏิบัติอันสมควรแก่พระอนาคามิผลได้บริบูรณ์
     เมื่อปฏิบัติแม้ข้อนั้นไม่ได้ ก็จักปฏิบัติอันสมควรแก่พระสกทาคามิผลได้บริบูรณ์
     เมื่อปฏิบัติแม้ข้อนั้นไม่ได้ ก็จักปฏิบัติอันสมควรแก่โสดาปัตติผลได้บริบูรณ์.
    ส่วนในกาลใด เมื่อปฏิบัติอันสมควรแม้แก่พระโสดาปัตติผลไม่ได้บริบูรณ์ ก็จักตั้งอยู่เพียงศีลอันบริสุทธิ์. ในกาลนั้น ปฏิบัติสัทธรรมจักชื่อว่าเสื่อมหายไป.


     :91: :91: :91: :91:

      จะกล่าวว่า ศาสนาไม่อันตรธานตลอดเวลาที่พระไตรปิฏกพุทธพจน์ยังเป็นไปอยู่ ดังนี้ก็ควร.
      อีกอย่างหนึ่ง ๓ ปิฏกยังดำรงอยู่ เมื่ออภิธรรมปิฏกเสื่อมหายไป ปิฏก ๒ นอกนี้ก็ยังเป็นไปอยู่ ไม่ควรกล่าวว่า ศาสนาอันตรธานแล้ว ดังนี้.

      เมื่อปิฏก ๒ เสื่อมหายไป ก็ยังดำรงอยู่เพียงวินัยปิฏก แม้ในวินัยปิฏกนั้นเมื่อขันธกบริวารเสื่อมหายไป ก็ยังดำรงอยู่เพียงอุภโตวิภังค์ เมื่อมหาวินัยเสื่อมหายไป เมื่อปาติโมกข์สองยังเป็นไปอยู่ ศาสนาอันตรธานก็หามิได้แล.
      แต่เมื่อใดปาติโมกข์สองจักเสื่อมหายไป เมื่อนั้นปริยัติสัทธรรมจักอันตรธาน.
      เมื่อปริยัติสัทธรรมนั้นเสื่อมหายไป ศาสนาชื่อว่าอันตรธานแล้ว.
      ด้วยว่าเมื่อปริยัติเสื่อมหายไป การปฏิบัติก็เสื่อมหายไป เมื่อการปฏิบัติเสื่อมหายไป อธิคมก็เสื่อมหายไป.
      ถามว่า : เพราะเหตุไร.
      ตอบว่า : ปริยัตินี้เป็นปัจจัยแก่การปฏิบัติ การปฏิบัติเป็นปัจจัยแก่อธิคม. แต่เมื่อว่าโดยการปฏิบัติกำหนดปริยัติเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

      ถามว่า : ในสมัยกัสสปสัมมาสัมพุทธะ อนาจารภิกษุ๑- ชื่อกบิล จับพัดนั่งบนอาสนะด้วยคิดว่า เราจักสวดปาติโมกข์ดังนี้ จึงถามว่า ในที่นี้ผู้สวดปาติโมกข์ได้มีอยู่หรือ.
      ครั้งนั้น ภิกษุแม้เหล่าใดสวดปาฏิโมกข์ได้ก็จริง ถึงกระนั้นภิกษุเหล่านั้นก็ไม่พูดว่า พวกเราสวดได้ แต่พูดว่า พวกเราสวดไม่ได้ ดังนี้ เพราะกลัวแต่ภิกษุนั้น เธอวางพัดลุกจากอาสนะไปแล้ว.

____________________________
๑- ม. อนาราธกภิกฺขุ = ภิกษุผู้มิได้รับอาราธนา.
     
     ถามว่า : ในกาลนั้น ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธะเสื่อมแล้วมิใช่หรือ.?
     ตอบว่า : เสื่อมแม้ก็จริง ถึงกระนั้นก็กำหนดปริยัติโดยส่วนเดียว.
     เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีขอบมั่งคั่ง ไม่พึงกล่าวว่าน้ำจักไม่ขังอยู่ดังนี้ เมื่อมีน้ำ ไม่พึงกล่าวว่า ดอกไม้มีดอกปทุมเป็นต้นจักไม่บาน ดังนี้ฉันใด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อมีพระไตรปิฎก คือ พุทธพจน์ เป็นเช่นขอบอันมั่นคงของสระน้ำใหญ่ ไม่พึงกล่าวว่าไม่มี กุลบุตรยังปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ เป็นเช่นน้ำในสระน้ำใหญ่ ดังนี้.

     แต่กำหนดถึงปริยัติ โดยส่วนเดียวอย่างนี้ว่า เมื่อกุลบุตรเหล่านั้นมีอยู่ ไม่พึงกล่าวว่า พระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น ไม่มี เหมือนดอกไม้มีดอกปทุมเป็นต้นในสระน้ำใหญ่ ไม่มีฉะนั้น.





     บทว่า ปฐวีธาตุ ได้แก่ มหาปฐพีหนาได้สองแสนสี่หมื่นนหุต.
     บทว่า อาโปธาตุ ได้แก่ น้ำอันยังกัปให้พินาศ เริ่มต้นแต่แผ่นดินท่วมสูงขึ้นไปจนถึงพรหมโลกชั้นสุภกิณหา.
     บทว่า เตโชธาตุ ได้แก่ ไฟอันยังกัปให้พินาศ เริ่มแต่แผ่นดินไหม้ขึ้นไปจนถึงพรหมโลกช้นอาภัสสรา.
     บทว่า วาโยธาตุ ได้แก่ ลมอันยังกัปให้พินาศ เริ่มต้นแต่แผ่นดินพัดขึ้นไปจนถึงพรหมโลกชั้นเวหัปผลา
     ในธรรมมีปฐวีธาตุ เป็นต้น เหล่านั้นแม้ธรรมอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะยังสัตถุศาสน์ให้อันตรธานได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนี้.


     บทว่า อิเธว เต อุปฺปชฺชนฺติ โมฆบุรุษเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในศาสนาของเรานี้นี่แหละ เหมือนสนิมเกิดแต่เหล็ก กัดกร่อนเหล็กฉะนั้น.
     บทว่า โมฆปุริสา คือ บุรุษเปล่า.


     ในบทว่า อาทิเกเนว โอปิลาวติ ได้แก่ ด้วยต้นหน คือด้วยการถือ ได้แก่จับ.
     บทว่า โอปิลาวติ คือ อับปาง.
     มีอธิบายว่า เรืออยู่ในน้ำ บรรทุกสิ่งของย่อมอับปางฉันใด พระสัทธรรมย่อมไม่อันตรธานไป เพราะเต็มด้วยปริยัติ เป็นต้น ฉันนั้น. เพราะเมื่อปริยัติเสื่อม ปฏิบัติก็เสื่อม. เมื่อปฏิบัติเสื่อม อธิคมก็เสื่อม เมื่อปฏิบัติยังบริบูรณ์อยู่ บุคคลผู้ทรงปริยัติก็ยังปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ ผู้ปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ก็ยังอธิคม (ปฏิเวธ) ให้บริบูรณ์ได้.
     ท่านแสดงว่า เมื่อปริยัติเป็นต้นเจริญอยู่ ศาสนาของเรายังเจริญ เหมือนดวงจันทร์ส่องแสงอยู่ฉะนั้น.


     ans1 ans1 ans1 ans1
               
     บัดนี้ เมื่อทรงแสดงธรรมเป็นเหตุอันตรธาน และความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม จึงตรัสคำ เป็นต้นว่า ปญฺจ โข ดังนี้.
     ในบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺกมนียา ความว่า ความก้าวลง คือ เหตุฝ่ายต่ำ.
     บทว่า อคารวา ในบทว่า สตฺถริ อคารวา เป็นต้น ได้แก่ เว้นความเคารพ.
     บทว่า อปฺปติสฺสา ได้แก่ ความไม่ยำเกรง คือไม่ประพฤติถ่อมตน.

     - ในความไม่เคารพนั้น ภิกษุใดขึ้นสู่ลานพระเจดีย์ กั้นร่ม สวมรองเท้า แลดูแต่ที่อื่น เดินคุยกันไป. ภิกษุนี้ ชื่อว่า ไม่มีความเคารพในพระศาสดา.
     - ภิกษุใด เมื่อเขาประกาศเวลาฟังธรรม อันภิกษุหนุ่มและสามเณรนั่งห้อมล้อม หรือกำลังทำนวกรรมเป็นต้นอย่างอื่น นั่งหลับในโรงฟังธรรม หรือเป็นผู้ฟุ้งซ่าน นั่งคุยเรื่องอื่น ภิกษุนี้ ชื่อว่า ไม่มีความเคารพในพระธรรม.
     - ส่วนภิกษุใดไปสู่ที่บำรุงของพระเถระ นั่งไม่ไหว้ เอามือรัดเข่า ทำการบิดผ้า ก็หรือคะนองมือและเท้าอย่างอื่น มิได้รับการกล่าวเชื้อเชิญในสำนักของพระเถระผู้แก่ ภิกษุนี้ ชื่อว่า ไม่มีความเคารพในพระสงฆ์.
     - ส่วนผู้ไม่ยังสิกขา ๓ ให้บริบูรณ์ เป็นผู้ชื่อว่า ไม่มีความเคารพในสิกขา.
     - ผู้ไม่ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิด หรือไม่ทำความเพียรเพื่อความเกิดสมาบัติเหล่านั้น ชื่อว่า ไม่มีความเคารพในสมาธิ.


     ธรรมฝ่ายขาว พึงทราบโดยตรงกันข้ามกับคำที่กล่าวแล้วแล ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาสัทธรรมปฏิรูปกสูตรที่ ๑๓   



ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=531
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 18, 2016, 12:52:38 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7249
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด



พุทธบริษัทบางเหล่ากล่าวถึงสมาธิด้วยถ้อยคำไม่ให้ความเคารพ ว่าเป็นดั่งหินทับหญ้า พวกชอบสมาธิเป็นคน"ติดสุข" ตัดกิเลสไม่ได้ เรื่องนี้ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นเรื่อง ใครเป็นคนบัญญัติคำว่าหินทับหญ้าออกมา เท่าที่หาข้อมูลได้ ก็ไม่มีใครสามารถระบุที่มาได้

คำว่า"หินทับหญ้า" และคำว่า"ติดสุข" นั้นเท่าที่ค้นดูในพระไตรปิฎกไม่ปรากฏคำเหล่านี้ เป็นที่ทราบกันว่าในองค์ฌานนั้นประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา จะเห็นว่ามีสุขอยู่ด้วย ที่สำคัญในมรรคมีองค์ ๘ สัมมาสมาธิเป็นมรรคองค์ที่ ๘ ซึ่งหมายถึง ฌาน ๔ จึงเห็นชัดว่าพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เจริญสมาธิ

ดังนั้นจะเห็นว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ห้ามเจริญสมาธิ ไม่เคยตรัสว่า เจริญสมาธิแล้วจะติดสุข ในพระไตรปิฎกพระพุทะองค์ตรัสตรงๆให้เจริญสมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมาธิสูตร ซึ่งปรากฏอยู่หลายสูตร ขอยกมาแสดง ๒ สูตร

 ans1 ans1 ans1 ans1

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมาธิสูตร
[๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง รู้อะไรตามความเป็นจริงรู้
     ตามความเป็นจริงว่า จักษุไม่เที่ยง
     รู้ตามความเป็นจริงว่า รูปทั้งหลายไม่เที่ยง
     รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุวิญญาณไม่เที่ยง
     รู้ตามความเป็นจริงว่า จักษุสัมผัสไม่เที่ยง
     รู้ตามความเป็นจริงว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง ฯลฯ
     รู้ตามความเป็นจริงว่า ใจไม่เที่ยง
     รู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมารมณ์ทั้งหลายไม่เที่ยง
     รู้ตามความเป็นจริงว่ามโนวิญญาณไม่เที่ยง
     รู้ตามความเป็นจริงว่า มโนสัมผัสไม่เที่ยง
     รู้ตามความเป็นจริงว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยไม่เที่ยง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ฯ


 ans1 ans1 ans1 ans1

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สมาธิสูตร
[๑๖๕๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ย่อมรู้อะไรตามความเป็นจริง
    ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.


 ans1 ans1 ans1 ans1

ที่สำคัญอีกอย่าง พระพุทธองค์ตรัสว่า "นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง" ขอยกมาแสดง ๒ สูตร

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มาคัณฑิยสูตร
[๒๘๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
          ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
          นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
          บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์แปดเป็นทางอันเกษม.


 ans1 ans1 ans1 ans1

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ ๑๕
     (ยกมาแสดงบางส่วน)
     ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์
     พระขีณาสพผู้สงบระงับ ละความชนะความแพ้ได้แล้วย่อมอยู่เป็นสุข
     ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
     ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี
     ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
     บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
     ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง
     ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ฯลฯ


st12 st12 st12 st12

ในเมื่อนิพพานเป็นสุขแบบนี้แล้ว เราควรมุ่งที่จะแสวงหาความสุขจากนิพพานรึเปล่า.?
ขอคุยเท่านี้ครับ

 :25: :25: :25: :25:
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด
กรรมฐานในอริยมรรค ไม่ใช่หินทับหญ้า
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: สิงหาคม 22, 2016, 10:46:37 am »




กรรมฐานในอริยมรรค ไม่ใช่หินทับหญ้า

เมื่อกล่าวถึงเรื่องกรรมฐาน มักเข้าใจกันไปว่าต้องหากรรมฐานตามวัดวาอาราม สำนักสงฆ์ หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีการฝึกสอนอบรมการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา และได้ยินจนคุ้นหูจากบุคคลผู้ผ่านการปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย ที่ได้เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมมาแล้วว่า ได้องค์ภาวนามาแล้วบ้าง ได้ไปผ่านกรรมฐานมาแล้วบ้าง ได้ฐานที่ตั้งมาแล้วบ้าง ฯลฯ

เป็นความเข้าใจกันไปตามมติของนัก "ปริยัติ" ที่ยังยึดติดอยู่กับตำรา(ปิฎก) โดยขาดการพิจารณา ตริตรอง ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงอย่างรอบคอบ กับพระพุทธพจน์ในพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาไว้ดีแล้ว

ส่วนบุคคลที่ยังยึดติดอยู่กับตำรับตำรา(ปิฎก) มักกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น เป็นเพียงสมถะกรรมฐาน เป็นกรรมฐานแบบหินทับหญ้า ติดสุข เมื่อยกหินที่ทับหญ้าออกเมื่อไร หญ้าก็งอกกลับขึ้นมาได้ใหม่อีก สมถะกรรมฐานไม่อาจตัดกิเลสได้ เป็นพวกที่เอาแต่ติดสุขอยู่กับความสงบในฌาน ไม่สามารถเจริญปัญญาเพื่อตัดกิเลสให้เกิดขึ้นมาได้เลย

ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ไม่รู้จักแยกแยะว่ากรรมฐานที่มีอยู่ระหว่างศาสนาพุทธ กับศาสนาพราหมณ์นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่กลับเหมารวมเอาเข้าไว้ด้วยกัน เพราะมีตำรารุ่นหลังๆ ได้รจนาเอาไว้ เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในหลักการที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรับรองไว้แล้วอย่างชัดเจน

 :96: :96: :96: :96:

คำว่า "กรรมฐาน" ประกอบไปด้วยคำว่า "กรรม" รวมกับคำว่า "ฐาน" ซึ่งแปลได้ความว่า "ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต" ทำไมถึงต้องมีฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตด้วยล่ะ? เพราะกาย วาจา ใจของเรานั้น ล้วนมีการกระทำหรือเคลื่อนไหวส่งออกไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ผัสสะอยู่ ภายใต้การบังคับบัญชาของจิต เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของจิตที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะครอบงำ การแสดงออกจึงเป็นไปตามอำนาจของกิเลส กรรม วิบาก

กรรมฐานเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีขึ้น เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ล้วนมี อวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นตัวชักนำนั่นเอง ไม่ว่าเรื่องติดข้องในโลก หรือเรื่องที่พ้นโลก ต้องมีกรรมฐานเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

เรื่องติดข้องในโลก เป็นเรื่องของจิตที่มีอาการซัดส่าย สับสน วุ่นวาย สุข ทุกข์ ฯลฯ ไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เป็นฐานที่ตั้งให้จิตมีการงานด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นตน เป็นของๆ ตน จนเกิด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการของจิต เป็นวัฏฏะวน ทำให้เวียนตาย-เวียนเกิดไม่มีวันจบสิ้น เพื่อแสวงหาชาติภพใหม่ตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

เรื่องที่พ้นโลก เป็นเรื่องของจิตที่มีกำลังสติ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ทำให้ชาติภพลดน้อยลง ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตให้รู้จักปล่อยวางตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นลงไปได้ตามลำดับชั้นจนถึงที่สุดทุกข์ เมื่อละสังขารไปแล้ว จิตย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดกลับเข้ามาในโลกที่สับสนวุ่นวายอีกแล้ว เรียกว่า "จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น"

จึงปรากฏมีพวกนักบวช ที่เกิดความเบื่อหน่ายต่อทางโลก ด้วยประสงค์จะออกจากกิเลสกาม และอกุศลธรรม กรรม วิบากทั้งหลาย ได้ออกบวช ถือบวช ปลีกวิเวก ทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ ฯลฯ เพื่อค้นหาอุบายธรรม การปฏิบัติในรูปแบบแตกต่างกันไป นำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อค้นหาวิธีขจัดปัดเป่ากิเลสกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดสิ้นไปจากจิต

 :25: :25: :25: :25:

มีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นมากมายในสมัยนั้น ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาในโลก มีด้วยกันหลายลัทธิ หลายความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป เจ้าลัทธิทั้งหลายล้วนมีการอวดอ้างสรรพคุณมากมายหลายวิธี ว่าลัทธิของตนนั้นสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ กิเลสกาม และอกุศลธรรม ประกาศตนว่า เป็นลัทธิที่สามารถบรรลุคุณธรรมชั้นสูงได้

ส่วนพระพุทธองค์ได้ทรงผ่านการค้นหาศึกษาจากเจ้าลัทธิเหล่านั้นมาแล้ว และรู้ด้วยตนเองว่า ความเชื่อทั้งหมดของเจ้าลัทธิทั้งหลายนั้น ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง เป็นเพียงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานแบบหินทับหญ้าเอาไว้ ทำให้กิเลสเบาบางลงได้จริง แต่ไม่สามารถตัดกิเลสให้ขาดจนหมดสิ้นไปจากจิตของตนได้เลย

ดังมีพระพุทธพจน์ในจูฬทุกขักขันธสูตรว่า
"เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม
ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น
(เป็นปิติ สุขที่เกิดขึ้นจากอามีสสัญญา)
เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม มิได้ก่อน"


เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (ตรัสว่ารู้) แล้ว ทรงตรัสว่า
"เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม
บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น
(สัมมาสมาธิ เป็นปิติ สุขที่เกิดแต่วิเวก ปราศจากอามีส)
เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม"


 st12 st12 st12 st12

เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว จะเห็นว่ารูปฌาน อรูปฌานที่เป็นกรรมฐานอันมีมาก่อนแล้วในเวลานั้น เป็นเพียงกรรมฐานที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่นแต่ยังยึดติดอยู่กับอารมณ์ฌานนั้นๆ เป็นสุขที่ละเอียดอย่างเหนียวแน่น

แต่บุคคลผู้ปฏิบัติรูปฌาน-อรูปฌานยังมีความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่า อารมณ์ฌานที่ตนเองได้เข้าถึงอยู่นั้น ยังต้องจืดจางลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากเป็นฌานที่เกิดแต่สัญญาอารมณ์ เป็นฌานที่เอารูป-อรูปที่ปราศกาม เป็นการเอาอารมณ์ภายนอกกาย มาเป็นองค์กรรมฐาน ยังต้องอาศัย "สัญญา" คอยจดจำอารมณ์ฌานอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถสิ้นสุดหยุดลงด้วยปัญญา เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ได้เลย

ฌานดังกล่าวจึงเป็นแบบ "หินทับหญ้า" ถ้าอารมณ์ฌานที่เกิดจากสัญญาจืดจางลงไปเมื่อไหร่ ความฟุ้งซ่าน สับสน วุ่นวาย ฯลฯ อาจหวลคืนกลับมาได้ เปรียบเสมือนหินทับหญ้าไว้ เอาหินออกเมื่อไหร่ หญ้ากลับมางอกงามได้อีกครั้ง เพราะ "สัญญา" ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน (อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย) แต่เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ (รูป-นาม) เท่านั้น





เมื่อมีบุคคลใดกล่าวถึงการ "ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา" มักถูกทึกทักเอาว่า นั่นเป็น "สมถะ" เป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ ฤาษี ชีไพร เป็นพวกติดสุขในฌาน หรือสมาธิ "หัวตอ" ซึมๆ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่เกิดปัญญา ต้องทำ "วิปัสสนา" เท่านั้น ทั้งๆ ที่ใน "อริยมรรคมีองค์ ๘" ไม่ได้ระบุถึง "สัมมาวิปัสสนา" เลย

ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น แบ่งออกเป็น
หมวดของ "ศีล" ประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
หมวดของ "สมาธิ" ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
หมวดของ "ปัญญา" ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ในอริยมรรคนั้น มี "วิปัสสนาปัญญา" อยู่ในองค์มรรคแล้ว มรรคจึง "สมังคี" ได้

โดยเฉพาะ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ คือรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ทำให้ดำริที่จะออกจากกาม และอกุศลธรรม ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติในหมวดแห่งสมาธิ ในองค์อริยมรรค ซึ่งมี "วิปัสสนา" เป็นเบื้องหน้า คือการรู้เห็นอย่างวิเศษในตัวเองอยู่แล้ว

 st12 st12 st12 st12

เมื่อพิจารณาหมวดของสมาธิดู จะเห็นว่า "สัมมาสมาธิ" นั้น เป็นเช่น "มีดถากหญ้า" ไม่ใช่แบบ "หินทับหญ้า" โดยเฉพาะข้อแห่งสัมมาวายามะนั้น ชัดเจนว่า
ไม่ให้หญ้า (คืออกุศลธรรม) ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
หญ้าที่เกิดอยู่แล้ว (คืออกุศลธรรมที่มีอยู่แล้ว) ให้หมดไป
ด้วยความเพียรเพ่ง คือกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
เพียรเพ่งจนเข้าสู่ระดับฌาน คือกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ส่วน "มีดถากหญ้า" นั้น จะมีความคมกริบ (ปัญญา)ได้เท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา กระทำให้มาก เจริญให้มาก ในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค เพราะความคมกริบของมีดนั้น สามารถตัดเงื่อนต่อของอุปกิเลสได้เด็ดขาดฉับพลันโดยไม่ต้องเสียเวลาใดๆเลย

ดังมีพระพุทธพจน์ที่ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา
ไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ฉันใด
ภิกษุเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔
ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน"


เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ จะเห็นได้ว่า การเจริญให้มาก กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นบุคคลผู้เข้าถึงนิพพานได้ แสดงว่า การปฏิบัติ "สัมมาสมาธิ" จนสามารถเข้า-ออกฌานได้ความคล่องแคล่วชำนิชำนาญเป็น "วสี" ต้องอาศัย "ปัญญา" เท่านั้นจึงกระทำได้

มีพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า
"นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ เสว นิพฺพาน สนฺติเก
ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน
ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน"


 ask1 ask1 ask1 ask1

ทำไมต้องใช้องค์กรรมฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร.?

เนื่องจากกรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ นั้น เป็นองค์กรรมฐาน ณ ภายในกาย อาศัยกายสังขารเป็นองค์กรรมฐานภาวนา ทำให้จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติเห็นอาการของจิตได้อย่างชัดเจน เห็นไตรลักษณ์ปรากฏออกมาให้พิจารณาในขณะปฏิบัติภาวนาเจริญกรรมฐานอยู่

เช่นเวทนาที่ปรากฏขึ้นในขณะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอยู่นั้น ทำให้จิตได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตนคือจิต แต่เวทนาเป็นเรื่องของกายล้วนๆ ส่วนที่กระทบมาถึงจิตได้นั้น เนื่องจากจิตไปยึดมั่น ถือมั่น ถือเอาเวทนาที่ปรากฏขึ้นนั้น มาเป็นตน เป็นของๆ ตนนั่นเอง จึงเกิดอาการทุรนทุรายไปกับเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติอยู่นั้น

ต่อเมื่อสามารถเพียรประคองจิตของตนด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากความสงบ มีสติตั่งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ ย่อมปรากฏ "ธรรมอันเอก" ผุดขึ้นมาให้พิจารณา จิตเห็นจิตได้อย่างชัดเจน จิตรู้ชัดถึงอาการของจิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจากจิต เห็นธรรมในธรรมทั้งสองฝั่งอย่างชัดเจน อันมีธรรมฝ่ายเกิดคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และธรรมฝ่ายดับ คือความสิ้นไปของราคะ โทสะ โมหะ แยกเป็นฝ่ายสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว กับ ฝ่ายขัดข้อง สับสน วุ่นวาย ฯลฯ

 :25: :25: :25: :25:

เมื่อบุคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค ด้วย "สัมมาวายามะ เพียรประคองจิตให้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ด้วย "สัมมาสติ" คอยระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่อง จิตย่อมรวมลงเป็น "สมาธิ" มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็น "อุเปกขา สติ ปาริสุทธิง"

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้
"ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก...
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก ....
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ ....
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้
ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านไม่ได้เลย แม้ฉันใด
จิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้
เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันนั้น เหมือนกันแล"


จิตย่อมรู้ชัด "เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ" เป็นการพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ตรึกธรรมที่มีมาเฉพาะหน้า พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ย่อมพิจารณารู้ชัดว่า (ปัญญา) ถึงความแตกต่าง ระหว่าง ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ กับ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่ประณีตหนอ

เปรียบเหมือน "มีดถากหญ้า" ที่บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานคอยลับให้คมอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตัดเงื่อนต่อแห่งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เข้ามากระทบ ให้ร่อนออกไปในทันที ที่กระทบจิต อารมณ์ไม่สามารถเจือติดที่จิตของบุคคลนั้นได้เลย ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิดและความดับแห่งอายตนะ สาธุ

    เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
         ธรรมภูต


ธรรมภูต ภูตแห่งธรรม นำพามาซึ่งพระธรรม น้อมนำไปปฏิบัติได้ เพื่อรู้เห็นตามเป็นจริง
ขอบคุณที่มา : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=nujoy&month=13-04-2016&group=28&gblog=10
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา