ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระถังซำจั๋ง รู้จัก ‘ทวารวดี’ ในเอกสารจีนแพร่หลายสู่สากล  (อ่าน 280 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




พระถังซำจั๋ง รู้จัก ‘ทวารวดี’ ในเอกสารจีนแพร่หลายสู่สากล | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระถังซำจั๋งผู้บันทึกเอกสารจีนเป็นหลักฐานชุดแรกสุดบอกเรื่อง “โตโลโปตี” ที่ต่อมามีนักค้นคว้าถอดความตรงกับ “ทวารวดี” เป็นชื่อรัฐเก่าแก่แห่งหนึ่งในดินแดนประเทศไทย แล้วถูกเผยแพร่สู่สากล

โตโลโปตีหรือทวารวดีในบันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง โดยสรุปตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับ “อิซางป๋อหลอ” หรือ “อิศานปุระ” ซึ่งเป็นรัฐเก่าแก่ในกัมพูชา ดังนี้เท่ากับโตโลโปตีหรือทวารวดีอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ทิศทางที่ตั้งของโตโลโปตีหรือทวารวดีซึ่งระบุชัดเจนในบันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง เป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งที่นักค้นคว้า, นักวิชาการ, นักโบราณคดี ฯลฯ ต้องรักษาไว้ให้มั่นคงโดยไม่ถอยห่างหรือทิ้งขว้างไป


@@@@@@@

บันทึกของพระถังซำจั๋ง

พระถังซำจั๋งเป็นภิกษุจีนออกจาริกแสวงบุญจากจีนไปอินเดียทางบกตามเส้นทางสายไหมผ่านเอเชียกลาง ระหว่าง พ.ศ.1170-1188 เขียนบันทึกเล่าการเดินทางคราวนี้ว่ามีบ้านเมืองชื่อต่างๆ จำนวนหนึ่งซึ่งรู้จากคำบอกเล่าของคนอื่นโดยพระถังซำจั๋งไม่ได้เห็นด้วยตนเอง

บันทึกพระถังซำจั๋งมีตอนหนึ่งกล่าวถึงบ้านเมืองตามแนวราบ (เส้นแวง) เดียวกัน หรือระนาบใกล้เคียงกันเรียงตามลำดับ เริ่มจากชมพูทวีป (หมายถึงอินเดียและบังกลาเทศ) ไปทางทิศตะวันออก ถึงพม่า, ไทย, กัมพูชา, เวียดนาม สุดฝั่งทะเลสมุทร

ต่อมานักค้นคว้าชาวอังกฤษชื่อ ซามูเอล บีล แปลบันทึกจีนของพระถังซำจั๋งจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะคัดตัดตอนเฉพาะที่กล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆ ดังนี้

    “เดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังชายขอบของมหาสมุทร เราจะมาถึงอาณาจักร (kingdom) ศรีเกษตร (ชิลิฉาตาหลอ)
     ไกลออกไปจากนั้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชายฝั่งของมหาสมุทร เราจะมาถึงประเทศ (country) กามลังกา (เกียโมลังเกีย)
     ห่างออกไปทางทิศตะวันออก จะเป็นอาณาจักรแห่ง ทวารวดี (โถโลโปติ)
     ทางทิศตะวันออกต่อไป เป็นประเทศแห่ง อิศานปุระ (อิซางป๋อหลอ) และ
     ไกลทางทิศตะวันออกต่อไป จะเป็นประเทศแห่ง มหาจามปา (โมโหเฉนโป) ซึ่งก็คือหลินอี้
     ถัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะเป็นประเทศที่ชื่อว่า ยามนทวีป (ยา วนทวีป, เยนเนียวนาฉือ)
     ทั้ง 6 ประเทศนี้ ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาและแม่น้ำที่ไม่อาจเข้าถึงได้ แต่ขอบเขต, ลักษณะของผู้คน และประเทศสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการสอบถาม”


[ข้อความเกี่ยวกับทวารวดีจากบันทึกของพระถังซำจั๋ง แปลจากภาษาจีนโดย ซามูเอล บีล (Samuel Beal) ใน Si-Yu-ki Buddhist Records of the Western World. Translated from the Chinese of Hiuen Tsiang (A.D, 629) Vol.II หน้า 199-200 พิมพ์โดย Tr?bner & Co., Ludgate Hill กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427) แปลเป็นภาษาไทยโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ]

@@@@@@@
 
โตโลโปตี คือ ทวารวดี

ซามูเอล บีล นักค้นคว้าชาวอังกฤษ (ผู้แปลบันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง) เสนอความเห็นเมื่อ พ.ศ.2427 (แผ่นดิน ร.5) ว่า “โตโลโปตี” ตรงกับคำในภาษาสันสกฤตว่า “ทวารวดี” ต่อมาเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้



พระถังซำจั๋งเดินทางจากจีนสู่อินเดีย มือขวาถือแส้ มือซ้ายถือม้วนคัมภีร์ เป้ที่อยู่ข้างหลังเป็นที่เก็บสัมภาระและหนังสือ ที่แขวนอยู่บนเป้คือตะเกียงส่องทาง (ภาพนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานโตเกียวในญี่ปุ่น) [จากหนังสือ ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง แปลเป็นภาษาไทย โดย ซิว ซูหลุน สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2547]

ตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โตโลโปตีหรือทวารวดี ในบันทึกของพระถังซำจั๋งระบุว่าอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ต่อเนื่องรัฐเก่าแก่ในกัมพูชา)

ต่อมานักค้นคว้าชาวฝรั่งเศส คือ พันตรีลูเนต์ เดอ ลาจองกีเยร์ เสนอเมื่อ พ.ศ.2452 (แผ่นดิน ร.5) ว่าโตโลโปตีหรือทวารวดีตั้งอยู่ จ.ลพบุรี (อยู่ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.2000 ของ ศ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล สมาคมประวัติศาสตร์ฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2535 หน้า 21)

นายมานิต วัลลิโภดม (อดีตข้าราชการกรมศิลปากร) แสดงหลักฐานโบราณคดีสนับสนุนว่าโตโลโปตีหรือทวารวดีอยู่เมืองละโว้ จ.ลพบุรี [พิมพ์ใน
   (1.) แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี (ปอบ.) ของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี มกราคม พ.ศ.2515 และ
   (2.) ศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร กรกฎาคม พ.ศ.2515]

นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการกรมศิลปากร) แสดงหลักฐานโบราณคดีและพงศาวดารตำนานว่า นครพระกฤษณ์ คือ ทวารวดี อยู่เมืองละโว้ จ.ลพบุรี (พิมพ์ในศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ฉบับมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 หน้า 49-55)

นายพิริยะ ไกรฤกษ์ (อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แสดงหลักฐานโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะว่าทวารวดีอยู่เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (ในหนังสือ ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม โดย พิริยะ ไกรฤกษ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2564)

นอกจากนั้นนักปราชญ์และนักวิชาการปัจจุบันแนะนำว่ามีนักวิชาการชาวญี่ปุ่นเชี่ยวชาญเอกสารจีนและเคยสำรวจหลักฐานโบราณคดีลุ่มน้ำโขงและอีสาน มีงานค้นคว้าโดยสรุปว่าทวารวดีมีพื้นที่อยู่ทางฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก [บทความเรื่อง Wen Dan and Its Neighbors : The Central Mekong Valley in the Seventh and Eighth Centuries โดย Tatsuo Hoshino ในหนังสือ Breaking New Ground in Lao History. Silkworm Books 2002 (พ.ศ.2545)]

@@@@@@@

ตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์หนังสือตำนานพุทธเจดีย์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2469) ว่า ทวารวดีมีราชธานีอยู่เมืองนครปฐม ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนามาประดิษฐานบริเวณนี้เป็นแห่งแรกในสยามประเทศ จึงได้รับการยอมรับทั่วไปตั้งแต่บัดนั้นสืบมาจนบัดนี้

หลังจากนั้นนักปราชญ์ฝรั่งเศส ยอร์ช เซเดส์ เสนอความเห็น (เมื่อ พ.ศ.2472 ตรงกับแผ่นดิน ร.7) ว่า โตโลโปตีหรือทวารวดีอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เมืองสุพรรณบุรี, เมืองนครปฐม

 
@@@@@@@

อภิสิทธิ์ทางวิชาการ

ทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองนครปฐมโบราณ หมายความว่าทวารวดีอยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขัดกับข้อมูลในเอกสารจีนของพระถังซำจั๋ง แต่มีฐานะพิเศษแสดงลักษณะอภิสิทธิ์ทางวิชาการ ดังนี้

(1.) ได้รับยกย่องจากชนชั้นนำอำนาจรวมศูนย์ว่าทวารวดีอยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาถูกต้องเป็นที่ยุติทางวิชาการโบราณคดี

(2.) ถูกโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวางให้เชื่อตามแนวคิดนี้จากรัฐราชการรวมศูนย์ผ่านระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วประเทศ และระบบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

(3.) กดทับและปกปิดแนวคิดต่างมิให้แบ่งปันในสถานศึกษาทุกระดับ แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยก็ไม่กล่าวถึงแนวคิดต่างและไม่เปิดช่องให้ศึกษาแนวคิดต่างซึ่งเท่ากับสนับสนุนลักษณะอภิสิทธิ์ทางวิชาการ

 

 

ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2565
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_512078
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 26, 2023, 07:05:28 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

 :96: :96:

เรื่องแนะนำ :-

เมืองศรีเทพ ‘บรรพชน’ ประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=33438.new#new
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ