ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ศึกพระพุทธสิหิงค์  (อ่าน 1187 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ศึกพระพุทธสิหิงค์
« เมื่อ: มีนาคม 16, 2023, 05:52:54 am »
0




ศึกพระพุทธสิหิงค์ (1) | ว่าด้วยปูมหลังของ ‘สิหิงคนิทาน’

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 ดิฉันและคุณธีรวุธ กล่อมแล้ว ในนาม “ฉันลุกแพร่มา” ช่วยกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเสวนาทางคลับเฮาส์ เปิดประเด็นในหัวข้อที่สำคัญยิ่ง “พระพุทธสิหิงค์ ต่างเมืองต่างมี ต่างกันอย่างไร?”

ระหว่าง 19.00-21.30 น. ตลอดช่วงเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังสดนับพัน พร้อมกับคำถามนับร้อย

วิทยากรวันนั้นประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้รู้เรื่องพระพุทธสิหิงค์จากหลายหลากสถาบันร่วม 10 ท่าน สารพันหัวข้อที่ต่างคนต่างหยิบยกปมปริศนาเกี่ยวกับพระพุทธปฏิมาองค์สำคัญมาสาธยายถกแย้ง

ในตอนแรกนี้ดิฉันขอนำเสนอถึงที่มาที่ไปของวรรณกรรมเรื่อง “สิหิงคนิทาน” ก่อน โดยวิทยากรคนแรกที่เปิดประเด็นคือ “คุณเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี” นักวิชาการอิสระด้านล้านนาศึกษา เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองแปลกออกไปจากแนวคิดเดิมๆ




“สิหิงคนิทาน” พระโพธิรังสีคือใคร.?

เฉลิมวุฒิเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงผลงานของอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้านประวัติศาสตร์ล้านนาให้แก่เขาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่คือ ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีราชบัณฑิต ว่าอันที่จริงอาจารย์อรุณรัตน์ได้เขียนบทความเรื่อง “ข้อคิดใหม่เกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์” มานานกว่า 12 ปีแล้ว (นับถึงปัจจุบันบวกไปอีก 2 ปีรวมเป็น 14 ปี) แต่น่าเสียดายที่บทความชิ้นดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวงที่ไม่กว้างนัก

อนึ่ง ในรายการคลับเฮาส์นี้เขาไม่ได้ตั้งใจจะมาพูดขยายความซ้ำถึงข้อเขียนของอาจารย์อรุณรัตน์ เนื่องจากทุกคนสามารถค้นหาอ่านได้ในเน็ต

แต่เขาต้องการวิเคราะห์ถึง “ปูมหลังของสิหิงคนิทาน” ซึ่งรจนาโดยพระภิกษุล้านนาเมื่อ 500 กว่าปีที่ผ่านนามนาม “พระโพธิรังสี”

สิหิงคนิทานถือเป็นตำนานเรื่องเก่าแก่สุดที่กล่าวถึง “พระพุทธสิหิงค์” ก่อนที่ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) และ ศ.ร.ต.ท.แสง มนวิทูร จะแปลเป็นภาษาไทยกลาง จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร ใช้ชื่อว่า “ตำนานพระพุทธสิหิงค์ และ “นิทานพระพุทธสิหิงค์” ตามลำดับนั้น เคยมีการแปลเป็นภาษาล้านนามาก่อนแล้ว และมีการคัดลอกต่อๆ กันมา

ฉบับที่เรารู้จักกันดีคือ ฉบับที่เขียนด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนาของพระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโณ แห่งวัดหอธรรม (ส่วนหนึ่งของวัดเจดีย์หลวง) ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย “อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” ในชื่อว่า “ตำนานพระสิงห์เจ้า”

ส่วนฉบับที่สำนักพิมพ์ศรีปัญญานำผลงานของสงวนไปพิมพ์ล่าสุด รวมเล่มในหนังสือ “ประชุมตำนานล้านนาไทย” ใช้ชื่อว่า “ตำนานพระสิงห์พุทธปฏิมาเจ้า”

เฉลิมวุฒิกล่าวว่า ถือว่าเป็นโชคดีมากที่มีการแปลควบคู่กันมาแล้วทั้งสองเวอร์ชั่น คือทั้งฉบับล้านนาและฉบับไทยกลาง ทำให้เกิดการตรวจสอบเนื้อหาได้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น

พระโพธิรังสีคือใคร? ไม่มีเอกสารเล่มใดระบุว่าท่านรจนา “สิหิงคนิทาน” ในปีศักราชไหน แต่ที่แน่ๆ ต้องเขียนก่อนปี พ.ศ.2000 อย่างแน่นอน เนื่องจากเนื้อหาในสิหิงคนิทานมีการทำนายว่า “เมื่อถึง พ.ศ.2000 พระพุทธสิหิงค์จะเสด็จกลับลังกา”

คำทำนายจะจริงเท็จอย่างไรค่อยว่ากัน เพราะคำว่า “ลังกา” ในตำนานนั้น ผู้แต่งตั้งใจจักให้หมายถึงประเทศศรีลังกา หรือมีนัยยะซ่อนเร้นต้องการระบุถึงสถานที่อื่นใดกันแน่ เราไม่อาจทราบได้

อย่างน้อยที่สุดข้อความดังกล่าวสะท้อนว่า พระโพธิรังสีต้องรจนาเรื่องนี้ขึ้นก่อน พ.ศ.2000 จึงเชื่อกันว่า ท่านน่าจะเป็นพระภิกษุที่มีอายุคาบเกี่ยวระหว่าง 3 รัชกาล จากสมัยพระญากือนา พระญาแสนเมืองมา และเลื่อนชั้นเป็นพระผู้ใหญ่ในสมัยพระญาสามฝั่งแกน ท่านน่าจะเริ่มชราหรืออาจมรณภาพในรัชกาลนี้ด้วย (ไม่มีบันทึกหลักฐานของพระรูปนี้ว่าชาตะ-มรณะในปีไหน คงเหลือแต่ผลงานของท่านเท่านั้น)

เฉลิมวุฒิกล่าวว่า พระโพธิรังสีน่าจะเป็นพระภิกษุที่เคยบวชในนิกายดั้งเดิมของล้านนา หมายถึงนิกายเก่าที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย ก่อนที่จะมีนิกายสวนดอกในสมัยพระญากือนา และต่อมาเกิดนิกายป่าแดงในสมัยพระญาแสนเมืองมา

การที่เฉลิมวุฒิสันนิษฐานเช่นนี้ก็เพราะพระโพธิรังสีระบุว่า มูลเหตุที่ท่านรจนาสิหิงคนิทานนี้ก็เนื่องมาจากได้รับอาราธนาจาก “พระสาครสามี” แห่งนิกายสวนดอกให้ท่านช่วยรจนา

พระสาครสามีน่าจะเป็นคนละรูปกับเจ้าอาวาสวัดสวนดอกลำดับที่ 9 ที่ชื่อคล้ายกันว่า พระมหาญาณสาครเถระ ซึ่งปกครองวัดสวนดอก พ.ศ.2012 อันเป็นศักราชที่เลยปี 2000 ไปแล้ว เนื่องจากสิหิงคนิทานต้องรจนาก่อนหน้านั้น

สะท้อนว่าพระโพธิรังสีน่าจะสังกัดอีกนิกายหนึ่งซึ่งไม่ใช่สวนดอก แต่ก็ไม่ใช่ป่าแดง (เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พระในนิกายสวนดอกจักไปขอร้องให้พระนิกายป่าแดงคู่ขัดแย้งกันช่วยรจนาคัมภีร์) นิกายนั้นย่อมหนีไม่พ้น “นิกายเชื้อเก่าหริภุญไชย” หรือนิกายดั้งเดิม




พระเจ้าไม้แก่นจันทน์ สัญลักษณ์นิกายเชื้อเก่า.?

ก่อนจะโฟกัสประเด็นพระพุทธสิหิงค์ เฉลิมวุฒิตั้งข้อสังเกตที่ทุกคนมองข้ามไป นั่นคือช่วงต้นของสิหิงคนิทานมีการกล่าวถึง “พระเจ้าไม้แก่นจันทน์” ว่าเคยประดิษฐานที่พะเยา ซึ่งการจะเข้าไปนมัสการพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไม่ใช่เรื่องง่าย อยู่สถานที่ที่ปิดบังซ่อนเร้น อนุญาตให้เข้าถึงได้เฉพาะคนที่รู้จักกันเท่านั้น

ต่อมามีพระเถระจากลำปางรูปหนึ่งขอเข้าไปสักการะ และขอลูบเนื้อพระเจ้าแก่นจันทน์ จนกลิ่นไม้แก่นจันทน์ติดสบงจีวรของท่านกลับมา เมื่อเดินทางผ่านเชียงใหม่ ทำให้มีผู้ทราบว่าพระรูปนี้ได้ไปกราบไหว้พระเจ้าแก่นจันทน์มา และระบุข้อความคล้ายนัยยะว่า ยังมีอีกนิกายหนึ่งซึ่งถูกซุกซ่อนไว้ นั่นคือนิกายดั้งเดิม

เฉลิมวุฒิขอละประเด็นเรื่องพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไว้ก่อน หากมีโอกาสคงได้คุยกันอีกครั้งในปริศนาดังกล่าว เนื่องจากหัวข้อเสวนากำลังจะมุ่งเน้นไปที่ปริศนาของพระพุทธสิหิงค์



พระพุทธสิหิงค์ สัญลักษณ์นิกายสวนดอก

อย่างไรก็ดี เฉลิมวุฒิอธิบายว่า การที่ต้องเกริ่นถึงพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ และต่อไปต้องกล่าวถึงพระแก้วมรกตด้วยนั้น ก็เนื่องมาจากเขาเชื่อว่า

พระพุทธสิหิงค์ น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของนิกายสวนดอก พระแก้วมรกตน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของนิกายป่าแดง และพระเจ้าไม้แก่นจันทน์น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของนิกายดั้งเดิม แนวคิดนี้ตรงกับที่ดิฉันเคยเสนอไว้เมื่อ 10 ปีก่อนในคอลัมน์นี้แล้ว จักแตกต่างกันก็ตรงที่ดิฉันมองว่า พระแก้วขาวเสตังคมณีน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของนิกายดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากหริภุญไชย

การที่เฉลิมวุฒิสันนิษฐานเช่นนี้ ก็เพราะเห็นว่าตอนที่พระโพธิรังสีเขียนเรื่องสิหิงคนิทานนั้น ท่านเขียนแบบเปิดเผย เชิดชูพระพุทธสิหิงค์อย่างเต็มที่ แสดงว่าต้องเขียนในสมัยพระญาสามฝั่งแกนที่นิยมในนิกายสวนดอก

และเฉลิมวุฒิตั้งข้อสังเกตว่า สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ จากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย คล้ายกับว่านิกายสวนดอกเป็นนิกายมาตรฐานที่ชาวล้านนายอมรับมากที่สุด ไม่ค่อยซับซ้อน

ในขณะที่พระเจ้าไม้แก่นจันทน์ก็มีความลึกลับ สถานที่เก็บก็เข้าถึงยากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ยิ่งพระแก้วมรกตด้วยแล้ว สามัญชนคนธรรมดายิ่งไม่มีสิทธิ์ได้เคารพกราบไหว้ เหมือนเป็นของสูงศักดิ์เกินเอื้อม

@@@@@@@

พระญาสามฝั่งแกน จามเทวีวงส์ จารึก ลพ.9

เฉลิมวุฒิพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิรังสี กับพระญาสามฝั่งแกน และมหาเทวี ผู้เป็นพระราชมารดาขององค์ กับวรรณกรรมอีกเล่มหนึ่งคือ “จามเทวีวงส์ พงศาวดารเมืองหริปุญไชย” ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบแดงอีกเล่มที่ท่านพระโพธิรังสีร้อยเรียง ว่าจามเทวีวงส์นี้ น่าจะมีส่วนในเชิงยกยอพระเกียรติของพระมหาเทวีองค์นี้ว่ามีความยิ่งใหญ่ ในทำนองเดียวกันกับพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญไชย

นอกจากนี้แล้ว เฉลิมวุฒิมองว่า พระญาสามฝั่งแกนเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักสำคัญ คือ ลพ.9 เรียกจารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร จารึกหลักนี้เขียนลำดับรายชื่อกษัตริย์ราชวงศ์มังรายไว้ แต่ไม่มีชื่อของท้าวน้ำถ้วมผู้เคยนั่งเมืองเชียงใหม่ และแน่นอนว่าไม่มีชื่อท้าวมหาพรหมผู้นั่งเมืองเชียงราย

ทั้งๆ ที่ท้าวมหาพรหมเป็นคนแรกที่ได้รับพระพุทธสิหิงค์กับพระแก้วมรกตมาจากกำแพงเพชร?

ท้าวมหาพรหมมีศักดิ์เป็นอนุชาของพระญากือนา มีสถานะเป็นอาของพระญาแสนเมืองมา และเป็นชั้นพระอัยกา (ภาษาชาวบ้านเรียก ปู่น้อย) ของพระญาสามฝั่งแกน

สมัยที่พระญากือนานั่งเมืองเชียงใหม่ ท้าวมหาพรหมนั่งเมืองเชียงราย เมื่อท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์พร้อมพระแก้วมรกตมาจากเมืองกำแพงเพชรแล้ว ทำไมกลับยินยอมมอบพระพุทธสิหิงค์ให้พระญากือนาที่ครองราชย์ ณ เมืองเชียงใหม่โดยง่าย

เฉลิมวุฒิตั้งคำถามว่า ตอนที่พระโพธิรังสีเขียนสิหิงคนิทานนั้น มีพระแก้วมรกตอุบัติขึ้นแล้วหรือยังในล้านนา? หมายความว่า ช่วงที่ท่านรจนาสิหิงคนิทานนั้น พระพรหมราชปัญญาเถระ ยังไม่ได้รจนาตำนานเรื่องพระแก้วมรกตหรือใช้ชื่อว่า “รัตนพิมพวงศ์” มิใช่หรือ?

แต่ในตำนานเล่มอื่นๆ ที่แต่งขึ้นหลังจากนั้น เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งรจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ สมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ.2060 กลับระบุว่า ระหว่างพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ ที่ท้าวมหาพรหมได้มาจากกำแพงเพชรนั้น เมื่อพระญากือนาทราบข่าว ทรงขอทั้งพระแก้ว-พระสิงห์ทั้งสององค์เลย แต่ท้าวมหาพรหมไม่ให้พระแก้ว ให้เฉพาะพระสิงห์

ส่วนรัตนพิมพวงศ์ระบุว่า ท้าวมหาพรหมสมัครใจเองที่จะเลือกพระแก้วมรกต และยกพระพุทธสิหิงค์ให้พระเชษฐากือนา

สะท้อนให้เห็นว่า ยุคที่เขียนชินกาลมาลีปกรณ์นั้น นิกายสวนดอกกับป่าแดงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง นิกายป่าแดงจำต้องหนีไปเชียงราย? เช่นเดียวกับนิกายดั้งเดิมก็ต้องจรลีไปเส้นพะเยา-ลำปาง หากเรามองผ่านเส้นทางการเคลื่อนย้ายพระเจ้าไม้แก่นจันทน์

ในเมื่อพระญาสามฝั่งแกนสมาทานนิกายสวนดอกอย่างออกหนอกหน้า ย่อมขับไล่นิกายป่าแดงออกไปจากเชียงใหม่จนหมดสิ้นเป็นธรรมดา ฉะนี้แล้วจึงไม่ต้องแปลกใจแต่อย่างใด หากตำนานพระแก้วมรกตจะระบุว่า สมัยพระญาสามฝั่งแกนนั้น ช้างได้นำพาพระแก้วมรกตจากเชียงรายมาไว้ที่ลำปางนานถึง 32 ปีโดยไม่ยอมเข้าไปเมืองเชียงใหม่!

ชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งโปรฝ่ายป่าแดงพรรณนาถึงความอนารยะของพระญาสามฝั่งแกนไว้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ว่า

“พระองค์มีใจฝักใฝ่ในพุทธศาสนาน้อยนัก โปรดให้เซ่นสังเวยบูชาภูเขา ป่า แม่น้ำ ด้วยโคและกระบือ ประชาชนที่อยู่ภายใต้พระองค์ได้ชื่อว่า ยักขทาส” หมายถึงทาสแห่งยักษ์ •




 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566
URl : https://www.matichonweekly.com/culture/article_651444
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 16, 2023, 06:06:21 am »
0




ศึกพระพุทธสิหิงค์ (2) : พระขนมต้ม คู่บ้านคู่เมืองพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช

วิทยากรท่านที่สองที่ร่วมเปิดประเด็นคือ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช ปัจจุบันเป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนให้พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกโลก

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นไว้ 4 ประเด็นคือ

1. พระพุทธสิหิงค์กับตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
2. พระพุทธสิหิงค์ในชินกาลมาลีปกรณ์
3. รูปแบบพระขนมต้มของพระพุทธสิหิงค์
4. พระพุทธสิหิงค์ภาคพิสดารที่วัดอินทคีรี




พระพุทธสิหิงค์ กับตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า เรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์นั้นปรากฏในตำนานที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราชสองฉบับหรือสองสำนวน

ฉบับแรกคือ ตำนานการสร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

กับอีกฉบับคือ ตำนานการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งสองฉบับระบุศักราชไว้ตรงกันคือ พ.ศ.1719 (มหาศักราช 1098)

ฉบับแรกนั้นมีการกล่าวถึง พญาศรีธรรมาโศกราชโปรดให้ทำอิฐทำปูนก่อพระมหาธาตุขึ้นที่หาดทราย ณ บริเวณที่มีชเลรอบ ครั้งนั้นยังมีพระสิหิงค์ล่องชเลมาจากกรุงลังกา มาถึงหาดปีนัง และมาถึงหาดทรายแก้ว สถานที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์นั้น

ตำนานอีกฉบับหนึ่งกล่าวว่า พญาศรีธรรมโศกได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช อัครมเหสีของพระองค์ชื่อนางสังขเทวี พร้อมด้วย พญาพงศากษัตริย์ และบาคู ก็ตริกันด้วยมหาพุทธคัมเภียร ซึ่งจะทำอิฐทำปูนก่อพระมหาธาตุ จึ่งรู้ข่าวว่าพระสิหิงค์เสด็จมาจากลังกา แลล่องน้ำมา มีผีพรายเงือกงูฉลามประคองตามหลัง พระสิหิงค์ลอยมาถึงเมืองเกาะปีนัง แล้วถึงเกาะแก้วเจ้าไทนั้น

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า รายละเอียดในตำนานทั้งสองสำนวนนั้นอาจต่างกันไปบ้างตามแต่ผู้รจนา ทว่า กล่าวโดยสรุปแล้วมีสิ่งที่เหมือนกันจับใจความได้ว่า

“มีพระพุทธสิหิงค์ปรากฏขึ้นครั้งแรกในขณะที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชกำลังโปรดให้สร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช”




ส่วนเส้นทางของพระพุทธสิหิงค์ที่ตำนานทั้งสองระบุว่าจากลังกา ผ่านปีนัง และมาถึงหาดทรายแก้ว จะเดินทางมาอย่างไรนั้น นักวิชาการในท้องถิ่นให้ความเห็นไว้สองกระแส

กระแสแรกว่า จากทะเลอันดามัน น่าจะผ่านมาทางช่องแคบมะละกา ทำให้สามารถขึ้นสู่ชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู คือที่นครศรีธรรมราชได้ง่ายกว่าเดินบก

อีกกระแสหนึ่งเห็นว่า เมื่อถึงปีนังแล้ว อาจนำพระพุทธสิหิงค์ผ่านมาทางเมืองตรัง เป็นการเดินบกแล้วตัดมายังฝั่งทะเลตะวันออกที่นครศรีธรรมราช

ผศ.ฉัตรชัยเห็นว่า ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสองเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางใดก็แล้วแต่ ตำนานทั้งสองสำนวนนี้ชี้ให้เห็นถึง ความผูกพันกันชนิดแยกไม่ออกระหว่างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชกับพระพุทธสิหิงค์ เนื่องจากสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน

อีกนัยหนึ่ง การปรากฏขึ้นของพระพุทธสิหิงค์ก็ดี พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชก็ดี แท้ที่จริงแล้วเป็นสัญลักษณ์แห่งการรับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากลังกามาสถาปนาในแผ่นดินนครศรีธรรมราชอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ตอนต้นนั่นเอง และจากนั้นลัทธินี้ก็ได้แผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคใกล้เคียง


พระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช เครดิตภาพจากเว็บ นครออนไลน์

พระพุทธสิหิงค์ในชินกาลมาลีปกรณ์

ชินกาลมาลีปกรณ์ รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระพระภิกษุชาวล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ในบทที่ใช้ชื่อว่า “พระสีหลปฏิมา” มีการกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ และกล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราช

พระโรจน์เจ้า (หลายท่านสันนิษฐานว่าหมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ใคร่จะเห็นมหาสมุทร จึงแวดล้อมด้วยทหารหลายหมื่นเสด็จล่องใต้ไปตามลำน้ำน่าน จนกระทั่งถึง สิริธัมนคร (เป็นชื่อภาษาบาลีของนครศรีธรรมราช)

ได้ยินว่าพระเจ้าสิริธัมครองราชย์ในเมืองนั้น พระองค์ทรงทราบว่าพระโรจน์เสด็จมา จึงเสด็จออกไปต้อนรับเป็นอย่างดีแล้ว จากนั้นตรัสเล่าให้พระโรจน์ฟังว่า พระสีหลปฏิมา (หมายถึงพระพุทธสิหิงค์) นี้มีความอัศจรรย์ในลังกาทวีปตามที่ได้สดับมา พระโรจน์เจ้าทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสถามว่าเราจะไปที่นั้นได้ไหม พระเจ้าสิริธัมตรัสว่า ไปไม่ได้

เหตุเพราะมีเทวดา 4 ตน ชื่อสุมนเทวราช 1 รามเทวราช 1 ลักขณาเทวราช 1 ขัตตคามเทวราช 1 มีฤทธิ์เดชมากรักษาเกาะลังกาไว้เป็นอย่างดี เมื่อเป็นดังนั้น สองกษัตริย์จึงส่งทูตไปยังลังกาทวีป ครั้นแล้วพระโรจน์เจ้าก็เสด็จกลับเมืองสุโขทัย

ผศ.ฉัตรชัยอธิบายว่า ความที่ยกมาตอนนี้สะท้อนว่าสุโขทัยเริ่มมีความสนใจพุทธเถรวาทสายลังกาวงศ์เป็นอย่างมาก โดยรับผ่านจากนครศรีธรรมราช

หลักฐานที่ปรากฏถึงความสัมพันธ์ระหว่างนครศรีธรรมราชกับลังกาที่สอดรับกับชินกาลมาลีปกรณ์ก็คือ ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราชมีเทวดา 4 ตนเฝ้ารักษาพระบรมสารีริกธาตุอยู่จริง พบในวิหารม้า นั่นคือเทวดาคู่แรกนั่งชันเข่าถือพระขรรค์อยู่ที่บันไดตอนบนทางเข้าสู่พระมหาธาตุ มีชื่อว่าขัตตคาม (ขัตตุคาม) กับรามเทพ หรือที่เรียกเพี้ยนเป็น “จตุคาม-รามเทพ” ปรากฏการณ์อันโด่งดังราวทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา

และอีกคู่คือทวารบาลที่บานประตูทางเข้า แม้ไม่มีชื่อสลักเหมือนคู่แรก แต่จากลักษณะของเทพาวุธนั้น มีความคล้ายคลึงกับศาสตราวุธของลักขณา และสุมนเทพที่สถิต ณ ศรีลังกา

น่าสนใจว่า ชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึงเทวดา 4 ตนที่เฝ้ารักษาพระพุทธสิหิงค์ในเกาะลังกา โดยชินกาลไม่ได้บอกว่าเทวดา 4 ตนนี้ ทางนครศรีธรรมราชรับคติมาแล้วด้วยหรือไม่

แต่กลับปรากฏว่าวัดพระมหาธาตุฯ นครศรีธรรมราช รับคติเทวดาทั้ง 4 ตนนี้มาจากลังกาอย่างเป็นรูปธรรม แม้ปัจจุบันจะถูกนำไปเฝ้าพระบรมธาตุ ไม่ได้เฝ้าพระพุทธสิหิงค์ก็ตาม



พระพุทธรูปสกุลช่างขนมต้ม ทำตามอย่างพระพุทธสิหิงค์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

รูปแบบพระขนมต้มของพระพุทธสิหิงค์

ระหว่างตำนานและพุทธศิลปะนั้น ผศ.ฉัตรชัยมองว่าค่อนข้างขัดแย้งกันอยู่ ในขณะที่ตัวองค์พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชนั้น มีรูปแบบที่เก่าแก่จริงสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18

ในทางกลับกัน พระพุทธสิหิงค์ของนครศรีธรรมราช องค์ที่ประดิษฐาน ณ หอพระ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น กลับไม่ใช่งานพุทธศิลป์ในพุทธศตวรรษที่ 17-18

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ กำหนดอายุพระพุทธสิหิงค์ที่เมืองนครศรีธรรมราชไว้ว่า เก่าไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 21

พุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์ฉบับนครศรีธรรมราชเป็นอย่างไร ไฉนจึงถูกกำหนดอายุไว้เพียงช่วง พ.ศ.2000 ลงมา และทำไมจึงถูกเรียกว่า “พระขนมต้ม”

ผศ.ฉัตรชัยพรรณนาว่า ลักษณะโดยรวมอาจดูคล้ายกับ “พระสิงห์ 1” หรือ พระพุทธสิหิงค์ฉบับล้านนา กล่าวคือ พระพักตร์กลม พระหนุเป็นปม เกตุดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วนคล้ายราชสีห์ นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย

สิ่งที่แตกต่างไปจากล้านนาคือ ชายสังฆาฏิของพระพุทธสิหิงค์นครศรีธรรมราช ไม่ได้ทำปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบอยู่เหนือพระถัน แต่ทำเป็นริ้วแฉกซ้อนกันหลายริ้ว

วรกายที่อวบอ้วนก็เช่นกัน ของล้านนาแม้จะบ่าใหญ่เอวเล็ก แต่ก็ไม่ดูล่ำสันเน้นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ผิดกับของที่นครศรีธรรมราช ด้วยเหตุนี้ จึงมาเรียกกันภายหลังว่า “พระขนมต้ม” หรือ พระพุทธปฏิมารูปแบบขนมต้ม

เหตุไรพระพุทธสิหิงค์ทั้งของล้านนาและของนครศรีธรรมราช จึงนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย ไม่นั่งขัดสมาธิราบปางสมาธิ แบบพระพุทธรูปลังกาที่นิยมกัน ในเมื่อเชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์มาจากลังกา เดี๋ยวจักค่อยๆ เฉลย ในตอนต่อๆ ไป



พระพุทธสิหิงค์วัดอินทคีรี (วัดบ้านนา) นครศรีธรรมราช พระพักตร์คล้ายศิลปะลังกามากที่สุด เคดิตภาพจากเว็บ นครออนไลน์

พระพุทธสิหิงค์ภาคพิสดารที่วัดอินทคีรี

ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า รูปแบบพระขนมต้มของพระพุทธสิหิงค์ในนครศรีธรรมราช ได้กลายเป็นที่นิยมชมชอบของชาวพุทธทั่วภาคใต้ไปโดยปริยาย มีการจำลองแบบไปสร้างทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งใหญ่-เล็กกว่าองค์จริง ซึ่งองค์จริงมีขนาดหน้าตักกว้างแค่ 14 นิ้ว บ้างสร้างขนาดมหึมาตามภูเขาหลายจังหวัดทางภาคใต้

มีพระพุทธสิหิงค์อยู่องค์หนึ่ง ผศ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ดูเก่าและละม้ายคล้ายคลึงกับพระพุทธสิหิงค์องค์คู่บ้านคู่เมืองที่เก็บรักษาไว้ในศาลากลางมากที่สุด นั่นคืออยู่ที่วัดอินทคีรี หรือวัดบ้านนา

หลายคนทักว่าพระพักตร์ค่อนไปทางศิลปะลังกายิ่งกว่าพระพุทธสิหิงค์องค์ใดๆ ทั้งหมดในสยามประเทศด้วยซ้ำ

มีนิทานในท้องถิ่นที่เล่ากันถึงปาฏิหาริย์ของพระพุทธสิหิงค์ที่วัดอินทคีรี ไว้อย่างค่อนข้างพิสดาร อันเป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์แต่อย่างใด นั่นคือ

กล่าวกันว่า เมื่อพระโรจน์เจ้าเสด็จมาที่เมืองสิริธัมนคร ได้ขอพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ไปไว้ที่สุโขทัย พระเจ้าสิริธัมไม่อยากให้เพราะเห็นว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง แต่ครั้นจะปฏิเสธตรงๆ ก็อาจจะทำให้ผิดใจกันกับกษัตริย์สุโขทัย จึงบอกว่ายังไม่สามารถให้ได้ตอนนี้ ขอทำจำลองไว้ก่อน เดี๋ยวจะส่งตามไปให้ภายหลัง

จากนั้น ชาวเมืองสิริธัมนครก็เกรงว่าพระโรจน์จะยกทัพมาทวง จึงมีการเอาไปซุกซ่อนตามที่ต่างๆ บ้างว่าโยนในสระน้ำ บ่อน้ำ แนวป่า เถื่อนถ้ำ กระทั่งกาลเวลาผ่านไป 700 กว่าปี พระพุทธสิหิงค์องค์ดังกล่าวจึงยังคงอยู่ที่วัดบ้านนา (อินทคีรี) จวบจนวันนี้

เป็นการขยายความอย่างค่อนข้างพิสดารทีเดียว ชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าของชาวล้านนาว่าพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์ ช่วงที่ทางสยามจะมาเอาไป ได้มีการซ่อนองค์จริง โยนลงบ่อดินบ้าง ซ่อนในถ้ำอุโมงค์ใต้เจดีย์บ้าง แล้วเอาองค์ปลอมมาให้แทน ซึ่งมุขปาฐะนี้จักได้กล่าวรายละเอียดในตอนต่อๆ ไป

เรื่องราวจักจริงเท็จเช่นไรมิอาจอาจทราบได้ แต่ทั้งหมดสะท้อนว่า ทุกคนทุกชุมชนต่างหวงแหนพระคู่บ้านคู่เมืองของตน •


 

ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มีนาคม 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_652914
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มีนาคม 16, 2023, 06:25:34 am »
0





ศึกพระพุทธสิหิงค์ (3) : ท้าวมหาพรหมนำพระพุทธสิหิงค์มาเชียงราย

เมื่อเอ่ยถึงพระพุทธสิหิงค์ เชื่อว่าทุกท่านจะโฟกัสไปที่ 3 องค์

1. ในวิหารลายคำ ทิศใต้ของวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
2. หอพระ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช และ
3. องค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า กรุงเทพฯ

น้อยคนนักที่จักรู้ว่าแท้จริงแล้ว “พระพุทธสิหิงค์” ก็มีความเกี่ยวข้องกับเมืองเชียงรายอย่างแนบแน่นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น วิทยากรในคลับเฮาส์คนที่ 3 ที่ดิฉันเชิญมาร่วมเสวนาก็คือ “คุณอภิชิต ศิริชัย” นักวิชาการอิสระด้านล้านนาศึกษา เป็นชาวเชียงราย

คุณอภิชิตร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล 4 ประเด็นคือ

1. บทบาทของท้าวมหาพรหมผู้นำพระพุทธสิหิงค์มาจากกำแพงเพชร
2. พระพุทธสิหิงค์ที่เชียงรายมี 2 องค์
3. การทวงคืนพระพุทธสิหิงค์สู่เชียงใหม่ของพระญาแสนเมืองมา
4. พระพุทธสิหิงค์น้อยองค์ปัจจุบัน ณ วัดพระสิงห์เชียงราย ตกลงได้มาจากไหน.?



พระพุทธสิหิงค์น้อย ในวิหารแก้ว (วิหารพระพุทธสิหิงค์) วัดพระสิงห์ เชียงราย อัญเชิญมาจากเชียงใหม่ช่วงฟื้นเมืองเชียงรายจากพม่า

อำนาจของท้าวมหาพรหม

คุณอภิชิตกล่าวว่า เรื่องที่จะพูดต่อไปนี้ เชื่อว่าค่อนข้างอันซีนสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะพระสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์ในเชียงรายนั้น เป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องที่ปรากฏให้ได้ยินบ่อยนัก

ก่อนอื่นขอปูพื้นด้วยคำถามที่ว่า “ท้าวมหาพรหมคือใคร?”

ในเมื่อท้าวมหาพรหมเป็นคีย์แมนคนสำคัญ ผู้นำเอาพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาจากกำแพงเพชร ซ้ำไม่ได้เอามาแค่องค์เดียว ทว่า ยังเอามาคู่กับพระแก้วมรกตอีกด้วย ความกล้าหาญชาญชัย หรือความสามารถในการนำพระพุทธรูปคู่บ้านคูเมืององค์สำคัญจากเมืองทางใต้ล้านนาขึ้นมาได้ แสดงว่าพระองค์ต้องไม่ธรรมดา!

ประวัติของท้าวมหาพรหมแบบตรงๆ ก็ไม่ได้มีบันทึกไว้มากนัก ทราบกันแค่ว่า ขณะที่พระญากือนา พระเชษฐาของพระองค์ปกครองเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์ก็ปกครองเมืองเชียงรายตีคู่กันมา

เชียงรายในยุคของท้าวมหาพรหมนั้น แตกต่างไปจากเชียงรายในยุคพระญามังราย (ช่วงก่อนที่มังรายจะไปยึดลำพูนแล้วสร้างเชียงใหม่) ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ทั้งยังแตกต่างไปจากยุคของพระญาไชยสงคราม กษัตริย์ล้านนาลำดับที่สอง ซึ่งไม่ประสงค์จะนั่งเมืองที่เชียงใหม่ แต่หวนกลับมานั่งเมืองที่เชียงราย พระญาไชยสงครามก็มีอำนาจแถบเชียงรายในบางแว่นแคว้น

หันไปมองกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 3 คือพระญาแสนพู (แสนภู) รับราชสมบัติที่เชียงราย แต่กลับไม่โปรดที่จะประทับที่นั่น พระองค์ไปสร้างราชธานีใหม่ที่เชียงแสนแทน

เมื่อกล่าวถึงจุดนี้ คุณอภิชิตตั้งข้อสังเกตว่า การย้ายที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินไปๆ มาๆ เป็นว่าเล่น จากเมืองโน้นไปเมืองนี้ เมืองนี้ไปเมืองนั้น ในช่วงสั้นๆ แค่เพียง 3 รัชกาล สะท้อนให้เห็นว่า เสถียรภาพของอาณาจักรล้านนาในช่วงต้นราชวงศ์มังรายยังไม่ดีพอเท่าใดนัก

หลังจากนั้นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 4 คือพระญาคำฟู ยังคงประทับที่เชียงแสน หลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว พระญาผายู กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 5 ก็ย้ายเมืองหลวงกลับไปอยู่ที่เชียงใหม่อีกรอบ จากนั้นมาเชียงใหม่ก็กลายเป็นราชธานีถาวรจวบจนยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่มีการฟื้นฟูล้านนาอีกครั้ง

พระญากือนา กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 6 ประทับที่เชียงใหม่ แต่งตั้งให้ท้าวมหาพรหม อนุชานั่งเมืองที่เชียงราย

ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าอำนาจของท้าวมหาพรหมมีครอบคลุมไปถึง 5 หัวเมืองสำคัญคือ เชียงราย เชียงแสน เมืองฝาง เมืองหาง และเมืองสาด กล่าวคือ แม้จะมีสถานะเป็น “อุปราช” แต่ก็มีอำนาจล้นเหลือ มากพอที่จะท้ารบ และคานอำนาจกับพระเชษฐากือนาได้สบายๆ เลยทีเดียว

อะไรเป็นสาเหตุให้ท้าวมหาพรหมสามารถอัญเชิญพระคู่บ้านคู่เมืองของกำแพงเพชรขึ้นมายังเชียงรายพร้อมกันได้ถึงสององค์? ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ไม่มีเครือญาติหรือฐานกำลังในเขตสุโขทัยแต่อย่างใด เป็นประเด็นที่น่าคิด และต้องศึกษากันต่อไป

เมื่อนำพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาแล้ว พระองค์มีความตั้งใจจะถวายพระพุทธสิหิงค์ให้แก่พระเชษฐากือนา ทว่าห้วงเวลานั้น พระญากือนามีพระราชประสงค์จะสร้างคูหา (ซุ้ม) สำหรับเป็นที่ประทับพระพุทธสิหิงค์ให้แล้วเสร็จเสียก่อน

เป็นเหตุให้ท้าวมหาพรหม จำต้อง “รับฝาก” แล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน “เป็นการชั่วคราว” ที่เชียงราย

ดิฉันเห็นว่าข้อความในตำนานช่วงนี้มีอะไรทะแม่งๆ อยู่ไม่น้อย ลำพังเพียงแค่ยังไม่มีมณฑปโขงพระพุทธรูป ก็ถึงกับยินยอมให้อนุชานำพระพุทธสิหิงค์ไปเชียงรายก่อนเลยล่ะหรือ ทำไมไม่เก็บรักษาในหอพระแห่งใดแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ก่อนก็ได้

แล้วที่เชียงรายเล่า แน่ใจได้อย่างไร ว่าท้าวมหาพรหมจักนำเอาพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานในซุ้มมณฑปอันอลังการขณะที่รอ ในเมื่อพระองค์ก็เพิ่งได้รับพระพุทธรูปและเพิ่งเสด็จกลับจากกำแพงเพชร?

การนำเอาพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เชียงรายของท้าวมหาพรหมนั้น จึงน่าจะมีเงื่อนงำอะไรบางอย่างมากกว่าที่ตำนานเขียน



พระพุทธสิหิงค์น้อย วัดพระสิงห์ เชียงราย ด้านข้าง

พระพุทธสิหิงค์มี 2 องค์

คุณอภิชิตกล่าวต่อไปว่า เมื่อท้าวมหาพรหมนำพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมายังเชียงรายแล้ว ก่อนจะสร้างวัดพระสิงห์ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ในเชียงราย ท้าวมหาพรหมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปทำพิธีอบรมสมโภชก่อน ณ เกาะดอนแท่นกลางแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงแสน

เกาะดอนแท่นนี้ถือเป็น “สังฆมณฑล” ของเมืองเชียงแสน เทียบได้กับบุปผารามสวนดอกที่เป็นสังฆมณฑลของเมืองเชียงใหม่ สถานที่ซึ่งพระญากือนาทรงอุปถัมภ์ ในขณะที่สวนดอกมีพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยเป็นสังฆราชา ณ สังฆมณฑลเกาะดอนแท่นก็มีพระสิริวังโสเป็นสังฆราชา

ท้าวมหาพรหมและพระสิริวังโสทำการสมโภชพระพุทธสิหิงค์ ณ เกาะดอนแท่นถึง 7 วัน จึงอัญเชิญกลับมายังวิหารหลวงเมืองเชียงราย หลังจากนั้นทำการจำลองหล่อทองสำริดพระพุทธสิหิงค์ โดยให้ช่างมาปั้นกำหนดสัดส่วน ขนาด รูปร่าง รูปทรง เหมือนกันกับองค์จริงที่นำมาจากกำแพงเพชรทุกประการ

เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็อัญเชิญองค์จำลองไปอบรมสมโภชที่เกาะดอนแท่นเหมือนกับที่กระทำพิธีให้องค์จริงดั้งเดิมด้วย แสดงว่า ณ ช่วงนั้น มีพระพุทธสิหิงค์เกิดขึ้นที่เชียงราย 2 องค์แล้ว ข้อสำคัญพุทธลักษณะย่อมต้องเหมือนกันทุกประการอีกด้วย



มณฑปโขงพระเจ้า ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์น้อย วัดพระสิงห์ เชียงราย เคดิตภาพประกอบทุกภาพในตอนนี้จากเฟซบุ๊ก คุณนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ

ศึกอา-หลาน ชิงพระพุทธสิหิงค์

เหตุการณ์ตัดไปถึงตอนที่พระญากือนาสวรรคต ก่อนหน้านั้นไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าพระองค์จะมาทวงคืนพระพุทธสิหิงค์เลย จนกระทั่งถึงสมัยพระญาแสนเมืองมา โอรสของพระญากือนาผู้ขึ้นครองเชียงใหม่ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

สร้างความไม่พอใจให้แก่ท้าวมหาพรหมยิ่งนัก ด้วยเห็นว่าพระองค์เป็นอนุชาของพระญากือนา มีความเหมาะสมกว่าทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ จึงบุกชิงราชสมบัติจากหลานที่เชียงใหม่ แต่ไม่สำเร็จ ก่อนกลับเชียงรายจึงแก้เกี้ยวด้วยการเสไปกวาดต้อนผู้คนและสมบัติจากเมืองหริภุญไชย อย่างน้อยก็ไม่ได้กลับเชียงรายมือเปล่า!

หลังจากนั้น พระญาแสนเมืองมาก็บุกขึ้นมาสู้รบกับพระเจ้าอามหาพรหมที่เชียงราย ตำนานบางเล่มบอกว่าท้าวมหาพรหมมีเครือข่ายมากมายไปขอพึ่งบารมีจากทางอยุธยาให้ขึ้นมาช่วย บ้างว่าต่อสู้กันด้วยคาถาอาคม

ในที่สุดฝ่ายท้าวมหาพรหมปราชัย พระญาแสนเมืองมาจึงโปรดให้นำเอาพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เชียงใหม่ ตำนานไม่ได้บอกว่าเอาองค์จริงหรือองค์จำลองไป แต่เชื่อได้ว่า โดยอำนาจของกษัตริย์เชียงใหม่ที่เหนือกว่าเชียงรายในขณะนั้น ย่อมเอาองค์จริงไปนั่นเอง

คุณอภิชิตกล่าวว่า น่าเสียดายที่เราไม่พบพระพุทธสิหิงค์จำลองของท้าวมหาพรหมนั้นเลย ซึ่งควรจะมีที่เชียงรายอีกหนึ่งองค์ หากเราได้พบ ก็จะช่วยคลี่คลายปมปริศนาที่นักวิชาการถกเถียงกันยาวนานกว่า 5 ทศวรรษว่า ตกลงแล้วพระพุทธสิหิงค์ ควรมีพุทธลักษณะแบบใดกันแน่

เหตุที่ต่อมาทั้งเชียงรายและเชียงแสนกลายเป็นเมืองร้าง ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ทำให้เรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงราย จึงหล่นหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ลบเลือนจากการรับรู้ของผู้คน



พระประธานในวิหารหลวงวัดพระสิงห์ เชียงราย เป็นพระสิงห์เช่นกัน แต่ไม่ใช่องค์พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์น้อยองค์ปัจจุบัน

คุณอภิชิตกล่าวว่า วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย ที่เราเห็นในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในสภาพดั้งเดิมตั้งแต่สมัยล้านนา รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์องค์จำลองที่ควรมีอายุราว 650 ปี ของท้าวมหาพรหม ก็สูญหายไปแล้ว

เมืองเชียงรายได้รับการฟื้นฟูใหม่ราวปี พ.ศ.2386 เพิ่งจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ วัดพระสิงห์ถือเป็นวัดสำคัญแรกสุดที่ได้รับการบูรณะจากเจ้านายตระกูลเจ้าเจ็ดตน

มีบันทึกว่า พระพุทธรูปที่เรียกกันว่า “พระพุทธสิหิงค์น้อย” องค์ที่ประดิษฐานในวิหารแก้ว หรือวิหารพระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ เชียงรายนั้น

“ถูกอุ้มมาจากเมืองเชียงใหม่” ในช่วงที่ฟื้นเมืองเชียงราย โดยให้นำหน้าขบวน คู่กับพระแก้วขาวเสตังคมณี (พระพุทธสิหิงค์น้อยนี้ไม่ระบุว่านำมาจากวัดใดในเชียงใหม่)

เมื่อทำพิธีสมโภชเมืองเชียงรายเสร็จแล้ว ให้อัญเชิญพระเสตังคมณีกลับคืนวัดเชียงหมั้นที่เชียงใหม่ ส่วนพระพุทธสิหิงค์น้อยให้อัญเชิญเข้าประดิษฐาน ณ วัดพระสิงห์ เชียงราย

เป็นสัญลักษณ์ว่าแม้นพระพุทธสิหิงค์องค์เดิมจะหายไปแล้ว (ช่วงเชียงรายถูกม่านรุกราน) แต่ ณ บัดนี้ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์อีกองค์กลับมาเป็นหลักชัย สถาปนาให้บ้านเมืองมั่นคงดังเดิมแล้ว

เป็นที่มาของการสร้างวิหารแก้ว หรือวิหารพระพุทธสิหิงค์ ในวัดพระสิงห์ เชียงราย แยกออกมาจากวิหารหลักหลังใหญ่ หรือที่เรียกว่าวิหารหลวง

ในพระวิหารหลวงเอง ก็มีพระประธานอีกองค์ เป็นพระสิงห์ขนาดใหญ่ แต่ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาว่าพระสิงห์องค์นี้สร้างเมื่อไหร่ บ้างว่าสร้างใหม่พร้อมวิหารหลวงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ บ้างก็ว่าอาจเป็นของเดิมตั้งแต่ยุคล้านนาตอนปลาย

สัปดาห์หน้า พระพุทธสิหิงค์จากเชียงรายจักเคลื่อนย้ายเข้าไปสู่เชียงใหม่แล้ว เหตุการณ์จะเป็นเช่นไร โปรดติดตาม •


 




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มีนาคม 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/culture/article_654712
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มีนาคม 23, 2023, 07:44:57 am »
0



ศึกพระพุทธสิหิงค์ (4) : จาก ‘ผีสิงเมือง’ สู่พุทธปฏิมา ‘พระสิงห์’

ตอนที่ 4 นี้ วิทยากรคือ “คุณเมธี ใจศรี” ปัจจุบันเป็นข้าราชการสังกัดเทศบาลเมืองลำพูน เป็นลูกศิษย์ที่เคยร่ำเรียนวิชาประวัติศาสตร์ล้านนา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กับ ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว

คุณเมธีกล่าวว่า สิ่งที่เขาจะพูดในเวทีนี้เป็นบทความเรื่อง “ข้อคิดใหม่เกี่ยวกับพระสิงเมืองเชียงใหม่” ซึ่งอาจารย์อรุณรัตน์ได้เขียนไว้ตั้งแต่ 12 ปีก่อน (นับถึง พ.ศ.2566 ก็ 14 ปีแล้ว) โดยคุณเมธีมีส่วนร่วมในการช่วยค้นคว้าข้อมูลให้อาจารย์อรุณรัตน์ด้วย

หัวข้อที่คุณเมธีจะแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์นั้นมีสองประเด็นใหญ่

ประเด็นแรก ตกลงแล้ว พระสิงห์ หรือ พระสิง กันแน่?
ประเด็นที่สอง การหายไปของพระสิงห์ในเชียงใหม่ถึง 4 ครั้ง

ฉบับนี้ น่าจะได้นำเสนอเพียงแค่ประเด็นแรกก่อน เนื่องจากเนื้อหาส่วนนี้ค่อนข้างท้าทาย แปลกใหม่ หาอ่านจากที่อื่นได้ยาก ดิฉันจึงไม่อยากตัดตอนรายละเอียดส่วนปลีกย่อยใดๆ ทิ้งไปเลย

@@@@@@@

ถอดรหัส “ลีเชียงพระ”

ต่อจากฉบับที่แล้ว พระญาแสนเมืองมาได้นำพระสิงห์ หรือพระพุทธสิหิงค์ (ชาวล้านนามักเรียกพระพุทธสิหิงค์ว่า “พระสิงห์”) จากเชียงราย เข้ามาสู่เมืองเชียงใหม่

สถานที่ตั้งพระสิงห์นั้นมีชื่อเรียกเดิมว่า “ลีเชียงพระ” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดพระสิงห์” อย่างเป็นทางการ

ใครที่เคยไปในคูเมืองเชียงใหม่ ย่อมทราบดีว่าวัดพระสิงห์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง คุณเมธีอธิบายว่า “ลี” หมายถึง “กาด-ตลาด” เป็นจุดที่มีผู้คนคลาคล่ำ ส่วน “เชียงพระ” นั้น ไม่ได้หมายถึง “วัดหรือเวียงที่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่” ตามที่เคยมีการตีความกันผิดๆ มาตลอด

ภาษาไทดำ ซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มคนที่ยังรักษาความหมายของคำศัพท์ดั้งเดิม อธิบายว่า “เชียง” หมายถึง “ดง, ป่า, สถานที่สถิตของอารักษ์ที่อยู่กลางเวียง” ส่วน “เชียงพระ” พระคำนี้ ไม่ได้หมายถึงพระสงฆ์ หรือพระพุทธรูป แต่หมายถึง พระเป็นเจ้า คือกษัตริย์

เชียงพระ จึงหมายถึง ดงอารักษ์ที่สิงสถิตผีเมืองเชียงใหม่ โดยคุณเมธีชี้ให้เห็นว่า ประตูสามด้านของเมืองเชียงใหม่ สามารถตัดถนนตรงไปได้เลย ทั้งประตูท่าแพทิศตะวันออก ประตูเชียงใหม่ทิศใต้ และประตูช้างเผือกทิศเหนือ

ยกเว้นแต่ประตูสวนดอกทิศตะวันตกทิศเดียว มี “ดงอารักษ์” หรือวัดพระสิงตั้งขวางถนนอยู่ เวลาตัดถนนต้องอ้อมด้านซ้าย-ขวา ไม่ตัดผ่ากลางวัด แสดงว่าคนโบราณรู้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นจุดที่มีผีเมืองอาศัยอยู่นั่นเอง

แล้วทำไมจึงต้องเอาพระสิงห์จากเชียงรายมาไว้ที่นี่?



พระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 แต่ขัดสมาธิราบ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย องค์ที่นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นต้นแบบให้แก่พระสิงห์ในล้านนา หรือบ้างก็ว่า น่าจะเป็นพระพุทธสิหิงค์องค์จริง

จากผีสิงเมืองสู่วัดพระสิงห์

ในอดีต ดงอารักษ์ หรือลีเชียงพระแห่งนี้ เคยมีหอศาลบรรจุอัฐิ “พระญาคำฟู” มาก่อน พระญาคำฟูคือกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 4 พระองค์สวรรคตด้วยการ “ถูกเงือกทำร้าย” หรือถูกจระเข้กัดนั่นเอง ที่เมืองเชียงคำ (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพะเยา)

พระญาผายู พระโอรส ครองราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 5 ได้อัญเชิญอัฐิของพระราชบิดามาไว้ที่เชียงใหม่ แล้วบรรจุในกู่สถูป ณ ป่าดงกลางเมือง จุดที่เรียกว่า “ลีเชียงพระ” (ต่อมาดงนี้มีตลาดอยู่หน้าอาราม จึงเติมคำว่า ลี) เพื่อให้ผู้คนได้เซ่นสรวงผีอารักษ์เมือง

การนำอัฐิพระญาคำฟูมาไว้ ณ ดงอารักษ์แห่งนี้ ด้วยเคยมีความเชื่อกันมาก่อนแล้วว่า หากมีการสวรรคตแบบฉับพลันทันด่วนของกษัตริย์ ต้องอัญเชิญขึ้นเป็นผีเมือง ดังเช่นกรณีของปฐมกษัตริย์ล้านนา คือพระญามังราย ดังที่ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งแต่ปี พ.ศ.2060 ว่า

  “นบพระวรเชษฐ์ช้อย ศรีสิง
   สาเทพเบญจาจริง จิ่งพร่าย”

แปลความได้ว่า มีการไหว้เทวดา (ภาษาสุภาพ) หรือ ผี (ภาษาชาวบ้าน) ที่เคยสิงสถิตคอยอารักขาเมืองเชียงใหม่ ณ บริเวณลีเชียงพระ

ยิ่งในโคลงพื้นวัดพระสิงห์ ยิ่งระบุชัดถึง “ผีอารักษ์ 2 ตนที่รักษาเมืองเชียงใหม่” ได้แก่ พระญามังราย (สิ้นพระชนม์เพราะถูกฟ้าผ่า) และพระญาคำฟู ซึ่งกษัตริย์สองพระองค์นี้สิ้นพระชนม์แบบปุบปับ ไม่ทันได้ตั้งตัว จึงมีสถานะคล้าย “ผีนัต” ของพม่า

ทั้งศาสตราจารย์อรุณรัตน์ และคุณเมธีเชื่อว่า ที่มาของคำว่า “พระสิงห์” มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ผีสิงเมือง” เริ่มจากการเซ่นสรวงเลี้ยงผีอารักษ์ที่ดงเชียงพระก่อน ต่อมาค่อยๆ แปรสภาพและเปลี่ยนเป็นวัดชื่อ “วัดพระสิงห์”



ที่วัดพระเจ้าเม็งราย (วัดกาละก้อด) ไม่ไกลจากวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ พบพระพุทธรูปแบบพระสิงห์ 1 เขียนจารึกที่ฐานมีคำว่า “พระพุทธสิหิงค์” ประโยคเต็มเขียนว่า “พระองค์นี้คือ พระพุทธสิหิงค์ สร้างโดยพระมหาสังฆราชศรีสัทธรรมา พ.ศ.2013” สะท้อนว่าคำว่า “พระพุทธสิหิงค์” ใช้เรียกกันหลายองค์

กระบวนการแปลง “สิง” เป็น “สิงห์”

คุณเมธีกล่าวว่า ในอดีตมีนักวิชาการหลายท่านพยายามตีความว่า “พระพุทธสิหิงค์” หรือ “พระสิงห์” หมายถึงอะไรกันแน่ สองคำนี้มีความสัมพันธ์กันหรือไม่

ดังเช่น อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร เคยสรุปว่าเป็นภาษามอญโบราณ มาจาก “สฮิงสเฮย” แปลว่าน่าอภิรมย์ยินดี

หรือ ดร.ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน กับ ศ.หม่อมหลวง สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ แห่งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยตีความว่า คำว่าสิหิงค์ มาจากสีห+องค์ หมายถึง สิงห์ แปลว่าพระพุทธรูปมีลักษณะบ่าใหญ่เอวเล็กงามอย่างสิงห์ เหมือนมหาบุรุษ

ในขณะที่ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ ได้เสนอทฤษฎีใหม่ ด้วยการค้นพบศัพท์โบราณในภาษาไทดำว่า “สิง” คำนี้แปลว่า “ด้ำ” หมายถึง โคตรตระกูล/ผีบรรพบุรุษ ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดคือ อาจารย์คำจองฯ เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง ทฤษฎีบ้านเมือง มีการกล่าวถึงคำว่า “สิง/ลอ/เย็ด/เท้า สิง/เลือง/เย็ด/หมอ” คำเหล่านี้ หลายคำยังคงตกค้างอยู่ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย เช่นเรียกบรรพบุรุษว่า ท้าวเลือง

เมื่อพระพุทธรูปได้อัญเชิญมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ต้องมาอยู่ในพื้นที่เดิมที่เคยมีผีอารักษ์เมือง ดังนั้นการมากราบไหว้พระพุทธรูปที่นี่ เท่ากับเป็นการไหว้บรรพกษัตริย์ที่เป็นอารักษ์เมืองไปด้วยในตัว



โกศทองแดง โกศเงิน โกศทองคำ บรรจุพระอัฐิของพระญาคำฟู ขุดพบในยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณะวัดพระสิงห์ ปัจจุบันไม่มีใครทราบว่าอยู่ที่ใด

ถอดแนวคิดพระโพธิรังสี เปลี่ยน “ผี” ให้เป็น “พระ”


คุณเมธีกล่าวว่า การศึกษาเรื่องพระพุทธสิหิงค์ พระสิงห์ พระสิง นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นอะไรที่ทับซ้อนกันอยู่มาก ทั้งในเชิงอักขระคำพ้องเสียงต่างรูป (สิง-สิงห์) ทั้งในเชิงพื้นที่ (ลีเชียงพระ-วัดพระสิงห์) ทั้งในเชิงความเชื่อพื้นถิ่นเรื่องผีกับพุทธศาสนาที่เข้ามาใหม่

อย่างไรก็ดี การจะตีความว่า พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์คืออะไรกันแน่นั้น เราควรขบแนวความคิดหรือนัยยะที่พระโพธิรังสีซุกซ่อนไว้ให้แตกด้วย

เหตุที่พระโพธิรังสีเป็นบุคคลท่านแรกที่หยิบประเด็นเรื่อง พระพุทธสิหิงค์มารจนาในชื่อ “สิหิงคนิทาน” จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ พระรัตนปัญญาเถระ ผู้รจนาชินกาลมาลีปกรณ์ นำไปขยายต่อเรื่อง “พระสีหลปฏิมา”

จากนั้นมายังมีพระภิกษุรุ่นหลังอีกจำนวนมากที่นำขนบการเขียนวรรณกรรมเลียนแบบพระพุทธสิหิงค์ ไปใช้อธิบายการกำเนิดพระพุทธรูปองค์สำคัญ ในทำนองว่าต้องเก่าแก่ไปถึงอินเดีย ลังกา และพระองค์นั้นๆ ต้องเดินทางไกลจากเมืองสู่เมือง

ตามที่คุณเฉลิมวุฒิได้กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ตอนแรกว่า พระโพธิรังสีเป็นพระภิกษุในนิกายดั้งเดิมของล้านนา (นิกายหริภุญไชย/นิกายเชื้อเก่า) แต่ได้รับการอาราธนาจากพระภิกษุในนิกายสวนดอกให้ช่วยเขียนเรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์ให้

คุณเมธีมองว่านิกายดั้งเดิมและนิกายสวนดอกน่าจะเข้ากันได้ดีระดับหนึ่ง คือเป็นนิกายที่เข้าใจความต้องการของมวลชนที่มีความเชื่อเรื่องผี เพราะรากฐานของนิกายสวนดอกก็มาจากรามัญนิกาย ซึ่งแนวคิดของชาวมอญในเมืองเมาะตะมะยุคพระอุทุมพรมหาสามี (ผู้เป็นอาจารย์ของพระมหาสุมนเถระที่นำเอานิกายรามัญมาสถาปนาเป็นนิกายสวนดอกในเชียงใหม่) ก็น่าจะละม้ายคล้ายคลึงกับความเชื่อของชาวมอญหริภุญไชย (นิกายเชื้อเก่า) อยู่บ้างบางส่วน

ทำไมแนวคิดของศาสนาพุทธในล้านนาจวบจนปัจจุบัน จึงยังมีอะไรที่พอจะเชื่อมต่อกับแนวคิดของนิกายดั้งเดิมหริภุญไชยและนิกายสวนดอกได้อยู่มากทีเดียว คุณเมธีตั้งคำถาม

ในขณะที่นิกายป่าแดง ล่มสลายแล้วล่มสลายเลย เป็นเพราะนิกายป่าแดงผูกติดอยู่กับชนชั้นนำ ชนชั้นสูงมากเกินไป เข้าไม่ถึงชาวบ้านใช่หรือไม่?

ดังนั้น เมื่อราชวงศ์ล่มสลาย นิกายป่าแดงก็สูญหายไปตามไปด้วย

คุณเมธีเชื่อว่า พระโพธิรังสีเขียนวรรณกรรมสิหิงคนิทานโดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต้องการแปลงผีให้เป็นพระ “จากผีสิงเมือง” กลายเป็น “พระสิงห์” และจาก “พระสิงห์” กลายเป็น “พระพุทธสิหิงค์” ที่ต้องการตอกย้ำ เน้นความเป็นพุทธลังกาวงศ์ (แม้จะผ่านรามัญวงศ์มาแล้วชั้นหนึ่งก็ตาม)

ช่วงที่พระโพธิรังสีกำลังเขียนสิหิงคนิทานนี้ ตรงกับรัชสมัยพระญาสามฝั่งแกน เป็นช่วงที่กำลังเกิดการปะทะต่อสู้กันอย่างรุนแรงมาก ระหว่างนิกายสวนดอกกับนิกายป่าแดง สังคมสงฆ์ในล้านนาเกิดแรงกระเพื่อมทางความคิดระหว่างเก่า-ใหม่ เป็นช่วงที่พระหนุ่มเณรน้อยยังเติร์กที่เพิ่งกลับมาจากลังกาและเริ่มก่อตั้งนิกายป่าแดง กำลังอยากประลองความรู้กับพระสงฆ์รุ่นพ่อรุ่นปู่อย่างคุกรุ่น

แม้พระโพธิรังสีได้รับอาราธนาจากพระนิกายสวนดอกให้เขียนเรื่องนี้ แต่ท่านก็มีความประนีประนอมสูงมาก โดยที่ท่านต้อง “รักษาความเป็นกลางให้ได้” นั่นคือความพยายามเชื่อมร้อยเรื่องราวระหว่างคติความเชื่อดั้งเดิมเรื่องพระสิงเมือง มาสู่การช่วงชิงพื้นที่ความเป็นนิกาย “สีหล” หรือ “ลังกา” ระหว่างนิกายสวนดอกกับป่าแดง •





 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/culture/article_657410
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 23, 2023, 07:47:01 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มีนาคม 27, 2023, 06:52:18 am »
0




ศึกพระพุทธสิหิงค์ (5) : การหายไปของ ‘พระพุทธสิหิงค์’ จากเมืองเชียงใหม่ถึง 4 ครั้ง


ตอนที่แล้วกล่าวถึงแค่เรื่อง “พระสิงเมือง-ผีอารักษ์เมือง สู่พระสิงห์อันศักดิ์สิทธิ์” นำเสนอโดย “คุณเมธี ใจศรี” ยังค้างอยู่อีกเรื่องหนึ่งจากวิทยากรคนเดิมคือเรื่อง การหายไป 4 ครั้งของพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่

ครั้งแรก สมัยพระเจ้าติโลกราช หายไปอยู่เมืองแสนหวี
ครั้งที่สอง สมัยพระไชยเชษฐา เอาไปเมืองหลวงพระบาง
ครั้งที่สาม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำไปไว้ที่กรุงศรีอยุธยา
ครั้งสุดท้าย สมัยพระเจ้ากาวิละ วังหน้าในรัชกาลที่ 1 อัญเชิญไปไว้ที่กรุงรัตนโกสินทร์

ไทใหญ่เรียกพระพุทธสิหิงค์ว่า “หุ่นผี”

หลังจากที่พระพุทธสิหิงค์ได้รับการประดิษฐานอย่างมั่นคงในวัดพระสิงห์ ซึ่งสร้างขวางประตูสวนดอกด้านทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยพระญาเสนเมืองมา (กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 7) แล้วนั้น ผ่านไปเพียงแค่สองรัชกาล ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช เกิดเหตุการณ์ประหลาดอย่างไม่คาดคิด

นั่นคือ การหายไปของพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก

คุณเมธีให้ข้อมูลว่า ช่วงที่เจ้าเมืองแสนหวีมาถึงเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อได้เห็นพระสิงห์ (ชาวล้านนานิยมเรียกพระพุทธสิหิงค์ว่าพระสิงห์) ก็เกิดความอยากได้ จึงแอบขโมยไป

ชวนให้ต้องขบคิด ตีความกันใหม่ว่า “ขนาด” ของพระสิงห์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ทั้งที่วัดพระสิงห์ และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า ล้วนแต่มีขนาดใหญ่

คำถามคือ การที่ใครสักคนสามารถขนพระสิงห์ใส่ถุงย่ามไปได้โดยง่ายนั้น ขนาดของพระสิงห์ต้องไม่ควรใหญ่โตเกินไปนัก ใช่หรือไม่?

เท่านั้นไม่พอ พระสิงห์ยังมีปาฏิหาริย์อย่างน่าตื่นเต้นอีกด้วย นั่นคือหลังจากที่เจ้าเมืองแสนหวีได้ขโมยพระสิงห์มาจากเชียงใหม่แล้ว พอมาถึงกลางทาง ได้เอาพระสิงห์ไว้ด้านหน้าขี่ม้าไปสักระยะ อยู่ๆ พระสิงห์ก็ย้ายไปอยู่ข้างหลังเอง ครั้นเมื่อตั้งใจจะเอาพระสิงห์ไว้ด้านหลัง พระสิงห์กลับเคลื่อนที่มาอยู่ด้านหน้า!

พอไปถึงโป่งเดือด (น้ำพุร้อน) เจ้าเมืองแสนหวีตั้งใจจะเอา “หุ่นผี” (สะท้อนว่าคนไทใหญ่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ยังไม่น่าจะมีการทำพระพุทธรูปมาก่อน จึงเรียกพระสิงห์ว่า “หุ่นผี”) ไปจุ่มในน้ำพุร้อน จากน้ำที่เดือดปุดๆ ก็กลายเป็นน้ำเย็น

สร้างความประหลาดใจให้แก่คนไทใหญ่ถึงกับอุทานว่า “โอ้โห! หุ่นผีของเมืองยวน (ไทยวน-โยนก คือเชียงใหม่ล้านนา) มันช่างศักดิ์สิทธิ์จริงๆ” เมื่อไปถึงแสนหวีแล้ว จึงทำหอผีเอาไว้บูชา “หุ่นผี” ในลักษณะ “ผีบ้านผีเมือง”

ครั้นพระสงฆ์จากเชียงใหม่คือ “พระมหาญาณคัมภีร์” ผู้สถาปนานิกายป่าแดงทราบว่าพระพุทธสิหิงค์อันตรธานหายไปจากเชียงใหม่โดยชาวแสนหวีขโมย เป็นช่วงจังหวะที่ท่านได้เดินทางไปเผยแผ่พระศาสนาที่แสนหวีพอดี พระสิงห์หรือหุ่นผีองค์นั้นจึงได้กลับคืนสู่เชียงใหม่



พระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์องค์หนึ่ง เคยประดิษฐานบนแท่นแก้วเดียวกันกับพระพุทธสิหิงค์องค์กลาง (ประธาน) ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

พระแก้ว-พระสิงห์ถูกรวบไปล้านช้าง

การหายไปของพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ครั้งที่สอง เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านทราบเรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว เป็นเหตุการณ์ในช่วงปลายราชวงศ์มังราย ตรงกับสมัยพระไชยเชษฐาธิราช ยุวกษัตริย์จากล้านช้าง ผู้ที่ (ตามการอ้างอิงเดิม) ระบุว่ามีพระมารดาเป็นชาวล้านนาชื่อ นางยอดคำทิพย์ (แต่ข้อมูลใหม่ของ ชัยวุฒิ ไชยชนะ และธีรานนท์ โพธะราช พบว่า พระมารดาของพระไชยเชษฐา ก็เป็นชาวล้านช้างเช่นเดียวกับฝ่ายบิดา)

พระไชยเชษฐาได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ รวมทั้งพระแก้วขาวเสตังคมณี และพระพุทธรูปองค์อื่นๆ อีกหลายองค์ไปไว้ที่เมืองหลวงพระบาง โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยจากการรุกรานของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า

ครั้นไปล้านช้างแล้ว พระไชยเชษฐาหาได้เอาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลายองค์กลับคืนมาเมืองเชียงใหม่ไม่ เมื่อขุนนางเชียงใหม่พร้อมใจกันอัญเชิญพระแม่กุจากเมืองนายขึ้นครองเมืองเชียงใหม่แล้ว พระแม่กุได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อพม่า

ในช่วงที่กองทัพพม่าได้ยกทัพไปตีล้านช้าง กองทัพของพระแม่กุได้ร่วมยกทัพไปกับพม่าด้วย ช่วงนั้นเองได้มีการกดดันพระไชยเชษฐาให้คืนพระพุทธสิหิงค์แก่เชียงใหม่

น่าแปลกที่ไม่ขอพระแก้วมรกตคืน ชวนให้ขบคิดได้ว่า พระแม่กุน่าจะมีปฏิปทาต่อศาสนาพุทธนิกายสวนดอก เหตุที่พระแก้วมรกตนั้นเป็นสัญลักษณ์ของนิกายป่าแดง


 
พระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์องค์หนึ่ง เคยประดิษฐานบนแท่นแก้วเดียวกันกับพระพุทธสิหิงค์องค์กลาง (ประธาน) ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

ใครควักพระเนตรพระพุทธสิหิงค์.?

การหายไปของพระพุทธสิหิงค์ครั้งที่ 3 จากเชียงใหม่ เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงนั้นสถานะของเมืองเชียงใหม่อ่อนแอ ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าสลับกับอยุธยา ช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ยกทัพไปตีเชียงใหม่จากพม่านั้น มีเรื่องเล่าในเอกสารฝ่ายอยุธยาว่า

เดิมพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์หันหน้าไปทางใต้ คือหันลงไปทางอยุธยา คล้ายจักสะกดเมืองอยุธยาให้พ่ายแพ้ต่อล้านนา ชาวอยุธยาทราบดีว่าพระสิงห์ทำหน้าที่เป็นเสมือน “พระสิงเมือง” ให้แก่ชาวเชียงใหม่ ดังนั้น หากอยุธยาเอาพระสิงห์ไปจากเชียงใหม่ได้ ก็เท่ากับเป็นการทำลายขวัญ บั่นวิญญาณเมืองของชาวเชียงใหม่ไปในตัว

เอกสารฝ่ายอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตรัสถามพญาแสนหลวง ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ที่พม่าแต่งตั้งในขณะนั้นว่า พระพุทธสิหิงค์นี่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จริงหรือไม่

พญาแสนหลวงตอบว่า “จริง! พระพุทธสิหิงค์สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้มานานแล้วตั้งแต่อยู่ที่เมืองลังกา ทว่าปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ไม่ค่อยมีฤทธิ์แล้ว ตั้งแต่ถูกลักลอบขโมยดวงพระเนตรไป”

ข้อความตอนนี้น่าสงสัยยิ่งนักว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธสิหิงค์เคยถูกควักแก้วตาไปแล้วด้วย โดยใคร เมื่อไหร่ อย่างไร ก่อนหรือหลังจากที่พระไชยเชษฐาเอาไปล้านช้าง? แล้วจริงหรือไม่ที่พระพุทธปฏิมาหลังจากถูกควักพระเนตรแล้วทำให้เสื่อมฤทธี?
 
พบแล้วจุดเริ่มต้น แห่งการนำสิหิงคนิทานย้อนคืนสู่ลังกา

พระพุทธสิหิงค์ประทับเรื่อยมาในกรุงศรีอยุธยา กระทั่งสมัยพระเจ้าบรมโกศ มีสมณทูตจากลังกาเข้ามาสืบพระศาสนา “นิกายสยามวงศ์” ในราชสำนักอยุธยา

ช่วงนี้เองที่มีการให้พระภิกษุลังกาคัดลอกตำนานสิหิงคนิทาน ซึ่งรจนาโดยพระภิกษุชาวล้านนาตั้งแต่ พ.ศ.1900 ปลายๆ (นับย้อนได้ 2 ศตวรรษเศษจากสมัยพระเจ้าบรมโกศ) ไปเป็นภาษาสิงหล

หรือนี่จะเป็นคำเฉลย ที่พระโพธิรังสีทิ้งปริศนาไว้ว่า วันหนึ่งพระพุทธสิหิงค์จะต้องกลับคืนสู่ลังกา หลายคนบอกว่าท่านทำนายพลาด เพราะพุทธสิหิงค์ไม่เคยกลับไปลังกาเลย

หรือว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่กลับไปลังกาในคำทำนายของพระโพธิรังสี หาใช่พระพุทธรูปไม่ หากคือ “ตำนานสิหิงคนิทาน” ของชาวล้านนานั่นเอง

พระพุทธสิหิงค์มาประทับอยู่กรุงศรีอยุธยาระหว่างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ช่วงเสียกรุงให้แก่พม่าครั้งที่ 2

หลังจากที่อยุธยาโดนพม่าล้อม เชียงใหม่ร่วมเป็นทัพหน้าช่วยพม่ารบกับอยุธยาด้วย และช่วงนั้นเองเชียงใหม่ได้รับการตบรางวัลความดีความชอบ สามารถอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับคืนเมืองเชียงใหม่ได้อีกครั้ง

มีข้อสังเกตว่า กว่าจะได้พระพุทธสิหิงค์กลับคืนมาครั้งที่ 2 และ 3 นี้ เชียงใหม่ต้องอาศัยกองกำลังจากพม่าช่วยจัดการกับข้าศึกที่แย่งชิงพระพุทธสิหิงค์ไปทั้งสองครั้ง



แผ่นแบนเนอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมเสวนาทางคลับเฮาส์ ประเด็นพระพุทธสิหิงค์เมื่อสองปีก่อน

วังหน้าเอาพระพุทธสิหิงค์องค์ไหนไป.?

พระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์โปรดให้พระอนุชา คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า คัดเลือกพระพุทธปฏิมาจากวัดพระสิงห์ ลงไปไว้ที่กรุงเทพมหานคร

ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่พระพุทธสิหิงค์หายไปจากเชียงใหม่อีกครั้ง และไม่มีวี่แววเลยว่าจะได้กลับคืนมา

ว่าแต่ว่า องค์ที่วังหน้านำไปนั้น จะใช่พระพุทธสิหิงค์องค์เดียวกันกับที่เจ้าเมืองแสนหวีขโมยไป แล้วสามารถนำใส่ถุงย่าม พาขี่ม้าโลดโผนโจนทะยาน ได้ล่ะหรือ? ในเมื่อองค์ที่วังหน้านำไปนั้นค่อนข้างใหญ่ต้องใช้คนแบกถึง 4 คน

เหตุการณ์ตอนนี้มีผู้เล่าขานสืบต่อๆ กันมา ยืนยันโดย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ปราชญ์ใหญ่ด้านโบราณคดีของสยาม ผู้ล่วงลับ ได้เล่าให้ ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ฟังว่าชาวเชียงใหม่ได้นำพระพุทธสิหิงค์องค์จริงไปซ่อนฝังไว้ใต้พื้นดินในบริเวณวัดพระสิงห์

สอดคล้องกับข้อมูลของอาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ผู้ขี่ม้าจากลำปางมาสอนหนังสือที่เชียงใหม่ ได้เล่าว่า ช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจำพรรษา ณ วัดพระสิงห์นานถึง 13 ปีนั้น ทุกเย็นครูบาฯ จะเดินลงไปในช่องอุโมงค์ใต้พระเจดีย์ เพื่อไปสวดมนต์ต่อหน้าพระพุทธสิหิงค์องค์จริงที่ถูกซ่อนไว้

เรื่องราวนี้จักจริงเท็จอย่างไรไม่อาจทราบได้ สุดท้ายคุณเมธี ใจศรี ให้ข้อสรุปว่า สิหิงคนิทานที่พระโพธิรังสีเขียนนี้ มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองแฝงอยู่ด้วยอย่างมาก โดยเฉพาะตัวละครสำคัญในเรื่องนี้คือ “ท้าวมหาพรหม” ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้นำพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมานั้น

ท้าวมหาพรหมมีบุคลิกของผู้ประสานสิบทิศ ตอนแรกก็เข้ากันได้ดีกับทางสุโขทัย แต่สุดท้ายก็ถูกสกัดปัดขาด้วยกลุ่มการเมืองบางกลุ่มของฝ่ายสุโขทัย ดังนั้น มิใช่ว่าทางเชียงใหม่จะเข้าไปแทรกแซงสุโขทัยแต่เพียงถ่ายเดียวไม่ ข้างฝ่ายสุโขทัยเองก็รุกเข้ามาแทรกแซงการเมืองของล้านนาด้วยเช่นกัน •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_658924
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: เมษายน 06, 2023, 05:55:20 am »
0




ศึกพระพุทธสิหิงค์ (6) : ครั้งหนึ่งพระพุทธสิหิงค์เคยถูกตัดพระเศียร!

ฉบับก่อน ได้กล่าวถึงการหายไปของพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ถึง 4 ครั้ง

บางครั้งเมื่อกลับคืนมาปรากฏว่า “ดวงพระเนตรก็หายไป” เหลือแต่เบ้าตากลวงเปล่า หรือกล่าวภาษาแบบบ้านๆ ก็คือ “ถูกควักลูกตาทิ้ง” ไปหน้าตาเฉย

สามารถตีความได้สองกรณี

1. ผู้เอาไปต้องการอัญมณี (เพชรพลอย หรือมุก) ที่ผู้สร้างซึ่งเป็นระดับกษัตริย์ฝังของมีค่าไว้เป็นแก้วตา

หรือ 2. ทำเพื่อต้องการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ ล้างอาถรรพณ์ ให้พระพุทธสิหิงค์สิ้นฤทธิ์เดช

การควักลูกตาพระพุทธสิหิงค์ไป จึงยังพอเข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้กระทำได้อยู่บ้าง

แต่การตัดเศียรพระพุทธสิหิงค์เพื่อเอาเนื้อโลหะไปหลอมกระดึงสวมคอวัวนี่สิ! จะให้เข้าใจกันอย่างไรดี?

เสมือนเอาเพชรน้ำเอกที่ทุกคนหมายปอง อยู่ๆ ก็เอาไปหลอมให้เป็นเศษเหล็กโหลๆ ราคาถูกซะงั้น

ศึกพระพุทธสิหิงค์ตอนที่ 6 นี้ รายการคลับเฮาส์ของดิฉันและกลุ่ม “ฉักลุกแพร่มา” ได้เชิญวิทยากรผู้เขียนบทความเรื่อง “เมื่อพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงใหม่โดนลอบตัดพระเศียร” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2554 มาให้ข้อมูลเรื่องนี้

ท่านคือ รองศาสตราจารย์ ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต



ในวิหารลายคำวัดพระสิงห์ มีพระประธานสามองค์ องค์กลางคือองค์ที่เคยถูกตัดเศียรไปแล้วซ่อมใหม่ที่กรุงเทพฯ

พระพุทธสิหิงค์องค์จริงอยู่ไหนกันแน่?

อาจารย์เนื้ออ่อนเกริ่นว่า เมื่อได้ฟังผู้เสวนาท่านก่อนๆ ไล่เรียงกันนำเสนอข้อมูลหลายทิศหลายทาง หลายเวอร์ชั่น จึงชักจะเริ่มไม่แน่ใจเสียแล้วว่าพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ตนกำลังจะกล่าวถึงนี้ (หมายถึงองค์ที่ปัจจุบันเป็นพระประธานองค์กลางในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์) จะใช่พระพุทธสิหิงค์องค์จริงหรือไม่?

ด้วยมีข้อสงสัยที่สอดแทรกมาเป็นระยะๆ หลายประการ

นับแต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่อง “ขนาด” ของพระพุทธสิหิงค์ที่ควรจะไม่ใหญ่โตเกินไปนัก

มิเช่นนั้นแล้วเจ้าเมืองแสนหวีจักแอบขโมยใส่ถุงย่ามขี่ม้าทะยานหนีไปได้อย่างไร

ยิ่งหากย้อนไปถึงตอนที่ท้าวมหาพรหมแห่งเมืองเชียงรายยอมมอบพระพุทธสิหิงค์แก่พระญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่มา 1 องค์นั้น ให้องค์ไหนไปเล่า องค์จริงหรือองค์จำลอง?

ไหนจะเหตุการณ์ตอนที่วังหน้านำพระพุทธสิหิงค์ไปจากวัดพระสิงห์สมัยรัชกาลที่ 1 ชาวเชียงใหม่ได้แอบเอาพระสิงห์องค์จริงไปซ่อนอีก?

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาจารย์เนื้ออ่อนจะกล่าวถึงในรายการนี้ จะหมายถึงองค์ที่เป็นพระประธานนั่งกลางบนแท่นแก้วในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์

ตำรวจเชียงใหม่ ร้องทุกข์ต่อสมเด็จฯ กรมดำรง

อาจารย์เนื้ออ่อนได้อ้างอิงถึงเอกสารจดหมายเหตุส่วนบุคคลแฟ้มสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก หมวด สว.2.33 แผนกฎีการ้องทุกข์ ผู้ร้องทุกข์คือรองอำมาตย์เอก หลวงบำรุงนวกร ตำรวจเมืองเชียงใหม่

หัวจดหมายลงวันที่ 25 มีนาคม 2464 (นับแบบปัจจุบันคือปี 2465 เพราะในอดีตเริ่มการขึ้นศักราชใหม่ในเดือนเมษายน) เล่าว่าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2464 ได้มีคนร้ายงัดกุญแจลอบเอาพระเศียรของพระสิงห์ พระสุโท (?) พระเมาลี และพระเทียม (?) ไป

ตำรวจจึงลงไปสอบสวนชาวบ้านที่อยู่หน้าวัดพระสิงห์ชื่อ “นายปัน” ให้ข้อมูลว่า ของเหล่านี้น่าจะไปอยู่ที่บ้านช่างหล่อ (บ้านช่างหล่ออยู่นอกประตูเมืองเชียงใหม่ทางทิศใต้) แล้ว เนื่องจากมักมีคนชอบลักลอบเอาพระพุทธรูปไปขายที่นี่ให้กับนายลุน นายใหม่ และนายป้อม อยู่เสมอ

เมื่อตำรวจเมืองเชียงใหม่ตามไปที่บ้านช่างหล่อ พบว่ากล่นเกลื่อนไปด้วยพระเศียร และองค์พระทองเหลืองจากทั่วสารทิศ ล้วนถูกทำลายเป็นชิ้นส่วนเตรียมนำไปหลอมใหม่เพื่อทำกระดิ่งโค หรือกระดึงวัวสำหรับขายพ่อค้าวัว

สภาพของบ้านช่างหล่อเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ตอนแรกเจ้าของสถานที่ปฏิเสธ ไม่รับรู้ว่าใครเอาชิ้นส่วนพระพุทธรูปเหล่านี้มาวางเมื่อไหร่ อย่างไร แต่ตำรวจพยายามเค้นสอบปากคำชนิดให้ยอมจนมุม

ได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่ลักลอบตัดเศียรพระแล้วนำมาขายชื่อ “นายเซียงคำ” ระบุว่า “สัญชาติลาว” (ตรงนี้น่าสงสัย ว่าเป็นชาวลาวล้านช้างหรือเช่นไร ในเมื่อบางครั้งการรับรู้ของสยามก็เรียกชาวล้านนาว่าลาวเช่นเดียวกันอยู่แล้ว) ร่วมกับคนพื้นเมืองอีก 4 คน ซึ่งเป็นคนในบังคับสยาม

ทั้ง 5 นำชิ้นส่วนพระพุทธรูปมาขายแก่บ้านช่างหล่อในราคา 12 รูเปีย/รูปี (1 บาทเท่ากับ .80 รูเปีย) ในที่สุดตามจับผู้ร้ายทั้ง 5 คนได้ และศาลาพิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี



ภาพถ่ายเก่าของ ดร.โจเซฟ เอฟ. ร็อค นักพฤกษศาสตร์ ถ่ายปี 2464 ก่อนพระพุทธสิหิงค์องค์กลางถูกลักลอบตัดพระเศียร (ขอบคุณภาพจาก รศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว)

เหลือเพียงภาพเก่าของ Dr.Joseph F. Rock

เรื่องราวเกี่ยวกับจดหมายร้องทุกข์มีเพียงสั้นๆ แค่นั้น แต่อาจารย์เนื้ออ่อนพยายามสืบค้นต่อไปถึงภาพถ่ายเก่าของพระพุทธสิหิงค์องค์ประธานในวัดพระสิงห์ ว่าจะพอมีใครถ่ายไว้บ้างหรือไม่

กระทั่งได้ไปพบหนังสือ National Geographic มีการตีพิมพ์ภาพพระพุทธสิหิงค์ก่อนถูกตัดพระเศียร 2 ครั้ง

ครั้งแรกฉบับเดือนมีนาคม 2465 (นับแบบปัจจุบันคือ 2466 แต่อย่าลืมว่ากว่าจะตีพิมพ์ได้ต้องใช้เวลาเป็นปี กล่าวคือ ผู้ถ่ายภาพต้องเดินทางกลับไปแล้ว)

และอีกครั้งภาพนี้ถูกตีพิมพ์ซ้ำอีก 80 ปีถัดมา พ.ศ.2545 ฉบับเดือนตุลาคม

ผู้ถ่ายภาพนี้คือ ดร.โจเซฟ เอฟ. ร็อค (Dr. Joseph F. Rock) นักพฤกษศาสตร์ ประจำกองสำรวจพันธุ์ไม้ของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่มาเสาะหาพืชสมุนไพรพื้นเมืองคือ “ไม้กระเบา” เพื่อนำไปปลูกในรัฐฟลอริดา จากนั้นจะนำไปปรุงยารักษาโรคเรื้อน

ภาพถ่ายนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ เราจะพบพระพุทธรูปนั่งบนแท่นแก้วสามองค์ องค์กลางคือพระประธานก่อนถูกตัดเศียร องค์ซ้ายจากการดูของเรา (หรือองค์ขวาของพระประธาน) เป็นองค์เดียวกันกับที่ถูกย้ายไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ซึ่งดิฉันใช้เป็นภาพประกอบบทความในตอนที่แล้ว

ส่วนองค์ขวามือที่เราเห็น (หรือองค์ซ้ายของพระประธาน) ปัจจุบันยังประดิษฐานที่เดิม

พระราชายาฯ ส่งพระพุทธสิหิงค์ไปบูรณะที่สยาม

การปล่อยให้พระพุทธสิหิงค์เศียรขาดอยู่เช่นนั้น น่าจะเป็นที่ไม่สบายพระทัยแก่เจ้านายฝ่ายเหนือเป็นอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นคือ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเสด็จกลับมาประทับที่เชียงใหม่เป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2457 แล้ว

พระราชชายาฯ มีพระประสงค์ที่จะบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งถูกทิ้งไว้นานด้วยขาดช่าง (ในเมื่อปกติแล้วบ้านช่างหล่อ ประตูเชียงใหม่เคยเป็นแหล่งหล่อพระพุทธรูปย่านสำคัญ แต่กลับมารับซื้อของโจรเสียงเอง รู้ทั้งรู้ว่าเป็นพระเศียรของพระพุทธสิหิงค์ ยังกล้าเอามาหล่อทำกระดึงวัว ดังนั้น เป็นที่แน่ชัดว่า ในเมืองเชียงใหม่ คงยากที่จะไว้ใจใครให้หล่อพระเศียรพระพุทธสิหิงค์ได้อีก)

พระราชชายาฯ จึงปรึกษากับพระยาสุรบดินทร์ พระยาสุรบดินทร์กราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 6 ทรงทราบ เรื่องมาถึงเสนาบดีกระทรวงวัง คือเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เห็นว่าการบูรณะพระพุทธสิหิงค์มีสองทางเลือก คือหนึ่ง ส่งช่างหลวงไปที่เมืองเชียงใหม่ หรือสอง ส่งพระวรกายของพระพุทธสิหิงค์ให้มาซ่อมที่สยาม

ในที่สุดทั้งฝ่ายพระราชายาฯ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เห็นพ้องกันว่าควรเลือกประการหลัง คือขอให้ส่งองค์พระพุทธสิหิงค์ลงมาปฏิสังขรณ์ที่กรุงเทพฯ เมื่อมองด้านเหตุผลทางการเมืองแล้ว ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายมากกว่า

กล่าวคือ ในมุมมองของสยามเชื่อว่าชาวล้านนาย่อมถือว่า เรื่องนี้จักเป็นพระเกียรติคุณ ที่ราชสำนักสยามยินดีรับเป็นองค์อุปถัมภ์พระคู่บ้านคู่เมืองให้แก่ชาวล้านนา อันจะทำให้เชียงใหม่มีความผูกพันกับกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น



พระพุทธสิหิงค์กลางในวัดพระสิงห์ มีการซ่อมพระเศียรใหม่ ซึ่งไม่แนบสนิทกับพระวรกายนัก

วันที่ 10 สิงหาคม 2465 มีมติให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปบูรณะที่กรุงเทพฯ จากนั้นเรื่องราวเงียบหายไปนานมาก

จนกระทั่ง 5 ปีผ่านไปถึงสมัยรัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์จักเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ เพื่อดูความเป็นไปของบ้านเมืองฝ่ายเหนือ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินพระทัยว่าจะแต่งตั้งลูกหลานเจ้านายองค์ใดให้เป็นเจ้าผู้ครองนครต่ออีกบ้าง แต่ละองค์มีความเหมาะสมมากน้อยประการใด

คือช่วงก่อนหน้านั้นมีเจ้านายฝ่ายเหนือหลายพระองค์ถึงแก่พิราลัย โดยที่ตำแหน่งยังว่างอยู่

อาทิ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าหลวงเมืองน่าน พิราลัยปี 2460 (ต้นเดือนเมษายนจึงนับเป็น 2461) เจ้าบุญวาทวงค์มานิตย์ เจ้าหลวงลำปางพิราลัยปี 2465 การที่จะแต่งตั้งเจ้านายแต่ละพระองค์ให้เป็นผู้ครองนครแต่ละแห่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณของแผ่นดินด้วย โดยรวมแล้วประมาณ 3 แสนบาทต่อปี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี พระนางเจ้ารำไพพรรณี จึงตัดสินพระทัยเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรความเป็นไปของหัวเมืองทางล้านนาให้เห็นด้วยพระเนตรของพระองค์เอง

ผู้วางแผนทำหมายกำหนดการเส้นทางแต่ละจุดคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

วันที่ 6 มกราคม 2469 (นับแบบปัจจุบันคือ 2470) คือวันเริ่มต้นออกเดินทางจากสถานีรถไฟจิตรลดา เมื่อเสด็จมาถึงแต่ละเมืองมีการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา นมัสการพระธาตุศักดิ์สิทธิ์องค์สำคัญ เช่น พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุดอยสุเทพ ฯลฯ

ส่วนการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ที่หล่อพระเศียรใหม่และให้ช่างลงรักปิดทองเสร็จแล้ว ได้รับการเคลื่อนย้ายจากโรงหล่อกรมศิลปากรกลับคืนสู่วัดพระสิงห์ นำขึ้นรถไฟจากสถานีหัวลำโพงถึงเมืองเชียงใหม่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2469 (2470) ให้ทันงานปอยหลวง สมโภชเสนาสนะหลังต่างๆ ภายในวัดพระสิงห์ ซึ่งรัชกาลที่ 7 รับเป็นองค์อุปภัมภ์ในการบูรณะหอไตรและพระอุโบสถสองสงฆ์ด้วย

ในที่สุดพระพุทธสิหิงค์องค์กลางบนแท่นแก้วก็กลับคืนสู่เชียงใหม่อีกครั้ง พร้อมพระเศียรองค์ใหม่ ซึ่งอาจารย์จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะล้านนา ได้กล่าวตอนบรรยายให้คณะผู้เข้าอบรมประวัติศาสตร์ล้านนาเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2566 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ฟังว่า

“หากมองพระพุทธสิหิงค์องค์กลางในวิหารลายคำใกล้ๆ เราจะพบว่าตรงช่วงพระศอมีรอยต่อรอยเชื่อมที่มุมบิดเอียงเล็กน้อย ไม่แนบสนิทพอดีนัก ส่วนพระเศียรนั้นก็กล่าวกันหลายกระแส ว่าใช้ต้นแบบมาจากพระสิงห์องค์ใด เป็นเรื่องราวที่น่าสนุก ต้องช่วยกันสืบค้นต่อไป” •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/culture/article_661006
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: เมษายน 06, 2023, 06:23:16 am »
0



ศึกพระพุทธสิหิงค์ (7) : การจำลองพระพุทธสิหิงค์ทั่วล้านนา และทั่วแผ่นดินสยาม

วิทยากรท่านถัดไปคือ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวว่า

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองแบบไปสร้างตามที่ต่างๆ มากที่สุด

ไม่เพียงแต่ในล้านนาเท่านั้น ทว่า ยังทั่วแผ่นดินสยามอีกด้วย

แนวคิดการจำลองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์

ความคิดพื้นฐานของพุทธศาสนิกชนคือ เวลาที่ตนต้องการทำบุญ มักอยากจำลองพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละกลุ่มชน เพื่ออัญเชิญไปไว้ตามสถานที่ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองด้วย

เช่น จำลองไปไว้ในอารามใกล้ๆ บ้าน หรือคราวเกิดศึกสงคราม ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐาน เร่รอนไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ก็มีความคิดที่จะจำลองพระพุทธรูปสำคัญที่ตนเคยกราบไหว้ไปไว้ในสถานที่ใหม่ด้วย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บนแผ่นดินสยาม ผู้เขียนตำนานมักจะเชื่อมโยงประวัติของพระพุทธรูปองค์นั้นๆ ให้เข้ากับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ตัวอย่างสำคัญคือ “พระเจ้าไม้แก่นจันทน์” ตำนานระบุว่าสร้างมาแล้วตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพ ถึงขนาดที่ว่าพระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรพระไม้นั่นมาแล้วด้วย

ทั้งยังตรัสให้คนทั่วไปนำพระเจ้าไม้แก่นจันทน์นี้ไปใช้เป็นต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูป ด้วยเหตุผลที่ว่า อีกไม่นานนักพระพุทธองค์ก็จักปรินิพพานแล้ว จึงขอฝากพระศาสนาไว้กับพระพุทธรูป



พระพุทธสิหิงค์จำลองในวัดพระเจ้าเม็งราย เชียงใหม่ ที่ฐานมีจารึกคำว่า “พระสหิงค์”

ส่วนพระพุทธสิหิงค์ที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับองค์พระศาสดานั้น รศ.ดร.รุ่งโรจน์มองว่ามีความแตกต่างไปจากการผูกเรื่องพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ กล่าวคือ กำหนดให้พระพุทธสิหิงค์อุบัติขึ้นหลังยุคพุทธกาลไปแล้วประมาณ 700 ปี (ตามตำนานสิหิงคนิทาน)

โดยได้รับการยืนยันว่าพระพุทธปฏิมาองค์ที่กำลังจะสร้างขึ้นนี้ มีรูปร่างหน้าตางามงดเหมือนกับพระพุทธเจ้าทุกประการ เนื่องจากสร้างขึ้นตามต้นแบบที่พญานาคเนรมิตตนให้ช่างได้ยล

นาคตนนี้เคยเห็นพระพุทธเจ้ามาแล้ว ด้วยความที่มีอายุยืนยาวมากว่า 700 ปี ทำให้นาคกลายเป็นประจักษ์พยานสำคัญเพียงผู้เดียวที่สามารถพรรณนาถึงพุทธลักษณะของพระพุทธเจ้าได้

เรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์ผูกเรื่องให้เกิดขึ้นในลังกาทวีป (ทั้งๆ ที่ผู้รจนาคือพระภิกษุชาวล้านนา) กำหนดให้ลังกาคือสถานที่หล่อพระพุทธสิหิงค์ ทั้งยังตอกย้ำว่าพระพุทธปฏิมาองค์นี้มีความเหมือนกันกับองค์จริงของพระพุทธเจ้าทุกประการ

ผลที่ได้ตามมาคือ ความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่า ตำนานตั้งใจตั้งต้นนำเสนอประเด็นนี้ จนน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระพุทธสิหิงค์กลายเป็นพระพุทธรูปสำคัญมากที่สุดขึ้นมาทันที นอกเหนือไปจากเหตุผลด้านการเมือง หรือการเชิดชูนิกายสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่งให้เหนือกว่าอีกนิกาย และบริบทอื่นๆ



ฐานพระพุทธสิหิงค์ ที่มีการจารว่า “พระศรีสิทธามหาสังฆราช” สร้าง “พระสหิงค์” ปี พ.ศ.2012

องค์ไหนคือพระพุทธสิหิงค์ในตำนาน?

ประเด็นคำถามนี้ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะฟันธงให้ชัดเจนได้ เหตุที่พระพุทธสิหิงค์มีการพบทั้งที่เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และที่วังหน้า

อย่างไรก็ดี ในเมื่อตำนานสิหิงคนิทานเขียนขึ้นครั้งแรกโดยพระภิกษุเมืองเหนือ ย่อมหนีไม่พ้นว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างพระพุทธสิหิงค์ก็ควรเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างล้านนา ดังที่นิยมเรียกกันว่า พระสิงห์ 1 หรือพระสกุลช่างเชียงแสนระยะเริ่มแรก ด้วยเช่นกัน

ในแง่ของพระพุทธสิหิงค์ล้านนา ไม่มีใครทราบว่าองค์ประธานในวิหารลายคำวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ จะใช่องค์ดั้งเดิมที่มีอายุ 600 ปีในสมัยพระญากือนาหรือไม่ ด้วยเหตุที่มีการโยกย้าย เปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนมือกันบ่อยครั้ง เป็นเรื่องราวที่เราคงสรุปไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่

อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราพอจะอธิบายได้คือ พุทธลักษณะหรืออัตลักษณ์เฉพาะของพระพุทธสิหิงค์ ที่คนโบร่ำโบราณได้ยึดถือและทำจำลองสืบต่อกันมาว่านี่คือพระพุทธสิหิงค์ ก็คือจำเป็นต้องมีองค์ประกอบดังนี้


พระพุทธสิหิงค์น้อย (พระเจ้าทองทิพย์) สร้างโดยพระเจ้าติโลกราช ณ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่

พระพักตร์กลม อมยิ้ม เม็ดพระศกโตขมวดเป็นก้นหอย พระอุระค่อนข้างนูน ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน คุณสมบัติที่โดดเด่นมากที่สุดที่ทำให้พระสิงห์ 1 แตกต่างจากพระพุทธรูปสกุลช่างอื่นทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยคือ

การนั่งขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ลักษณะเช่นนี้สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ของศิลปะแบบพุกามในพม่าที่เข้ามาสู่ดินแดนภาคเหนือ อาจจะรับมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชยตอนปลายแล้วถ่ายทอดต่อสู่สมัยล้านนา หรือหากล้านนาไม่รับจากหริภุญไชย ก็อาจไปรับตรงจากเมืองพุกามเลยก็ได้ (แม้อาณาจักรพุกามจักเริ่มร่วงโรยในยุคที่ล้านนาค่อยๆ เรืองอำนาจก็ตาม)

กล่าวโดยสรุป รศ.ดร.รุ่งโรจน์เห็นว่า รูปแบบที่ถูกต้องของพระพุทธสิหิงค์ควรเป็นพระพุทธปฏิมาล้านนาแบบที่เรียกว่าสิงห์ 1 นั้นชัดเจนแล้ว

ส่วนปริศนาที่ว่า ทำไมพุทธลักษณะเช่นนี้จึงไปปรากฏที่นครศรีธรรมราชในกลุ่ม “พระขนมต้ม” ด้วยเล่า หรือทำไมพระพุทธสิหิงค์ที่วังหน้าจึงนั่งขัดสมาธิราบไม่นั่งขัดสมาธิเพชร

ฉบับนี้ขออุบไว้ก่อน



พระล้านนาสิงห์ 1 ประดิษฐานที่พระระเบียงคต วัดเบญจมบิพตร คำถามคือ จะเรียกว่า “พระพุทธสิหิงค์จำลอง” ได้หรือไม่

พระพุทธสิหิงค์มีการจำลองมากที่สุด

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ในบรรดาพระพุทธรูปสำคัญของประเทศไทย ไม่มีพระพุทธปฏิมาองค์ไหนได้รับการจำลองหรือผลิตซ้ำมากเท่าพระพุทธสิหิงค์อีกแล้ว

เมื่อเทียบกับตำนานพระแก้วมรกต เนื้อหาไม่ได้กล่าวถึงว่ามีการจำลองพระแก้วมรกตให้เป็นหลายองค์แต่อย่างใดเลย รวมทั้งพระพุทธชินราชในพงศาวดารเหนือ ก็ไม่กล่าวถึงการจำลองรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น

ในขณะที่ตำนานสิหิงคนิทาน มีการกล่าวถึง “การจำลองพุทธปฏิมา” อย่างน้อย 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งแรก การจะสร้างพระพุทธสิหิงค์ได้ ต้องจำลองมาจากนาคเนรมิต

ครั้งที่สอง พระมารดาของพระญาณดิศ (เจ้าเมืองกำแพงเพชร) ให้จำลองพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาอีกองค์ เป็นการหล่อถวายคืนสมเด็จพระรามาธิบดี กษัตริย์อยุธยา แล้วนำองค์จริงไปไว้ที่กำแพงเพชร

(หมายเหตุรายละเอียดตอนนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่มาก นอกจากนี้ ตำนานพระพุทธสิหิงค์บางฉบับ ยังเรียกพระญาณดิศเป็นพระญายุทธิษฐิระ เรียกพระรามาธิบดีเป็นพระบรมราชาธิราชอีกด้วย ซึ่งเนื้อความในส่วนนี้ ดิฉัน ผู้เขียนจักทำการวิเคราะห์ต่อไปในบทท้ายๆ หลังจากที่นำเสนอความเห็นของวิทยากรทุกท่านเสร็จหมดแล้ว)



จุดเด่นประการสำคัญของพระพุทธรูปกลุ่มพระพุทธสิหิงค์จำลอง หรือพระสิงห์ 1 คือ การนั่งขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาทสองข้าง ตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะแล้ว ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์มีลายเป็นตาข่ายดอกไม้หรือรูปวงคล้ายธรรมจักร (ภาพจากพระสิงห์ 1 ระเบียงคต วัดเบญจมบพิตร)

ครั้งที่สาม พระภิกษุชาวกำแพงเพชรได้ปั้นหุ่นขี้ผึ้ง จำลองพระพุทธสิหิงค์ จาริกไปถึงเมืองเชียงราย ทำให้ท้าวมหาพรหมเห็นพระพุทธสิหิงค์แล้วบังเกิดความปรารถนาอยากครอบครอง จึงส่งกองทัพมาที่กำแพงเพชร

ครั้งที่สี่ เมื่อท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์จากกำแพงเพชรและนำไปไว้ที่เชียงรายแล้ว ได้หล่อพระพุทธสิหิงค์ใหม่ขึ้นอีกองค์หนึ่ง เพื่อที่ว่าจักต้องนำองค์ที่ได้มาจากกำแพงเพชรไปถวายพระญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ผู้เป็นหลานชาย

กล่าวได้ว่า ตำนานพระพุทธสิหิงค์มีความพิเศษมากกว่าตำนานทุกฉบับ ในแง่ที่ว่ามีการกล่าวถึง “การจำลองพระพุทธรูป” อยู่หลายหน

จุดนี้ถือว่าเป็นเค้าเงื่อนที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นต่อๆ มาได้หรือไม่ กล่าวคือ เวลาที่ได้ฟังตำนาน หรือยามที่นึกถึงพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาคราใด มักเกิดแรงบันดาลใจ ว่าเราควรจำลองพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานในดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของเราบ้างดีกว่า

ดังเช่นชาวนครศรีธรรมราช ในเมื่อทราบว่าตำนานพระพุทธสิหิงค์นั้นระบุว่า ครั้งหนึ่งเคยประทับที่นครศรีธรรมราชมาก่อนที่จะย้ายขึ้นไปยังสุโขทัย กำแพงเพชร เชียงราย จึงเกิดแนวคิดที่จะจำลองพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่นครศรีธรรมราชด้วยเช่นกัน

รายละเอียดเกี่ยวกับการจำลองพระพุทธสิหิงค์แบบขนมต้มของนครศรีธรรมราช จักได้กล่าวถึงอีกครั้งในฉบับหน้า



จุดเด่นประการสำคัญของพระพุทธรูปกลุ่มพระพุทธสิหิงค์จำลอง หรือพระสิงห์ 1 คือ การนั่งขัดสมาธิเพชร แลเห็นฝ่าพระบาทสองข้าง ตามคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะแล้ว ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์มีลายเป็นตาข่ายดอกไม้หรือรูปวงคล้ายธรรมจักร (ภาพจากพระสิงห์ 1 ระเบียงคต วัดเบญจมบพิตร)

พระสิงห์ 1 ทุกองค์ คือพระพุทธสิหิงค์จำลองใช่หรือไม่?

หลักฐานด้านลายลักษณ์ที่มีการจำลองพระพุทธสิหิงค์ในรูปแบบสิงห์ 1 ปรากฏอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปองค์กลางบนแท่นแก้วสูงใหญ่ในวิหารวัดพระเจ้าเม็งราย เชียงใหม่ โดยระบุว่า “พระศรีสิทธามหาสังฆราชสร้าง “พระสหิงค์” (ไม่มีสระอิตรง ส.) พ.ศ.2012″ ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช

การจงใจจารคำว่า “สหิงค์/สิหิงค์” เป็นการยืนยันว่า พระพุทธสิหิงค์ได้รับการจำลองอย่างกว้างขวาง และสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกติกาแต่อย่างใดตั้งแต่สมัยล้านนามาแล้ว

ส่วนพระเจ้าติโลกราชเอง ก็จำลองพระพุทธสิหิงค์ ด้วยการสร้าง “พระพุทธสิหิงค์น้อย” ในรูปแบบพระสิงห์ 1 ถวายวัดพระสิงห์ด้วยวัสดุพิเศษคือ “ทองทิพย์” เมื่อ พ.ศ.2020 ปีที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในเชียงใหม่

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ตั้งคำถามที่ชวนให้น่าขบคิดอย่างยิ่งว่า

“ในเมื่อแนวคิดของคนล้านนาโบราณ นิยมสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองในรูปแบบพระสิงห์ 1 ทำให้เกิดคำถามที่ตามมาคือ แล้วพระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 ของล้านนาที่มีจำนวนมหาศาลนั้น จักถือว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์จำลองหมดทุกองค์ได้หรือไม่

ขอฝากไว้เป็นการบ้าน ซึ่งอาจจะใช่ก็ได้ หรือไม่ใช่ก็ได้”

ฉบับหน้า รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จักมาเฉลยให้ทราบว่า ทำไมพระพุทธสิหิงค์จึงได้รับความนิยมอย่างมากมาย ยิ่งกว่าพระพุทธปฏิมาองค์ใดๆ เมื่อเทียบกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์อื่นๆ เช่น พระแก้วมรกต หรือพระพุทธชินราช

เหตุไฉนพระพุทธสิหิงค์จึงมีผู้เคารพกราบไหว้กันอย่างกว้างขวางและเหนียวแน่น จากเหนือจรดใต้ และจากอดีตจนถึงปัจจุบัน •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 เมษายน 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน   : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_663578
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 06, 2023, 06:29:51 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: เมษายน 15, 2023, 06:48:15 am »
0




ศึกพระพุทธสิหิงค์ (8) : ชาวกรุงศรีอยุธยายืนยัน พระพุทธสิหิงค์นั่งขัดสมาธิเพชร

ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธสิหิงค์ในรายการคลับเฮาส์ของ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ไหลหลั่งพรั่งพรูประดุจสายน้ำ เนื่องจากเป็นประเด็นที่วิทยากรท่านนี้คาใจมานานแล้ว ด้วยเคยตั้งคำถามทุกปริศนามาก่อน ในที่สุดท่านค่อยๆ แกะรอยเงื่อนปมทุกเปลาะ จนได้ข้อสรุปด้วยตัวของวิทยากรเอง

ฉบับก่อน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ได้ปูพื้นถึงแนวคิดเรื่องการจำลองพระพุทธสิหิงค์ทั่วล้านนามาแล้ว ฉบับนี้จักขอข้ามประเด็นต่อเนื่องที่ว่า ทำไมจึงเกิดคติการจำลองพระพุทธสิหิงค์ทั่วภาคกลางนับแต่พระนครศรีอยุธยาลงไปสู่ภาคใต้ของสยามอีกด้วย รวบไปไว้ในฉบับหน้า

เนื่องจากฉบับนี้มีความจำเป็นต้องอธิบายถึงเรื่องที่ว่า พระพุทธสิหิงค์เสด็จลงไปประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้อย่างไร และการรับรู้ของชาวกรุงเก่าที่มีต่อพระพุทธสิหิงค์เป็นเช่นไรบ้าง เสียก่อน

นอกจากนี้แล้ว อยากชวนผู้อ่านย้อนขึ้นไปดูเหตุการณ์สมัยอยุธยาตอนกลางอีกประมาณ 1 ศตวรรษเศษ ว่าทำไมจึงมีการพบร่องรอยของการจำลองพระพุทธสิหิงค์ในกรุงศรีอยุธยาแล้วด้วย ก่อนหน้าที่พระพุทธสิหิงค์องค์จริงจักได้เสด็จมาประทับที่อยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วยซ้ำ

พระสิงห์ 1 เคลื่อนสู่ภาคกลางได้อย่างไร ใครนำมาเป็นบุคคลแรก มีการกระจายตัวกี่ระลอก ล้วนเป็นประเด็นน่าติดตาม



พระสิงห์ 1 สำริดขนาดเล็กในพระอุระของพระมงคลบพิตร จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พบพระสิงห์ 1 ในอุระพระมงคลบพิตร ณ วัดชีเชียงสมัยพระไชยราชา

รศ.ดร.รุ่งโรจน์นำเสนอข้อมูลใหม่ที่เชื่อว่าคนทั่วไปนอกแวดวงโบราณคดี รวมทั้งแม้แต่ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องพระพุทธสิหิงค์จำนวนมากไม่เคยทราบข้อมูลนี้มาก่อน

นั่นคือ มีการค้นพบพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดสกุลช่างล้านนาแบบสิงห์ 1 (หน้ากลม อมยิ้ม องค์อวบอ้วน เม็ดพระศกโต เกตุบัวตูม สังฆาฏิสั้น ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร) องค์ไม่เล็กจิ๋วเกินไปนักจำนวนมาก “ในพระอุระของหลวงพ่อมงคลบพิตร”!

เราจะตีความเรื่องนี้ได้อย่างไร รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้ช่องว่า ควรย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของพระพุทธมงคลบพิตรนี้ให้ดีอีกครั้ง ว่าแรกเริ่มนั้นเคยประดิษฐาน ณ วัดไหน

พบว่าผู้สร้างคือสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ร่วมสมัยกับพระเมืองเกษเกล้า และมหาเทวีจิรประภา แห่งล้านนา) กษัตริย์พระองค์นี้มีกรณียกิจสำคัญคือยกทัพขึ้นไปตีลำพูน-เชียงใหม่ แล้วกวาดต้อนผู้คนลงมา

คำถามคือ พระสิงห์ 1 ในพระอุระพระมงคลบพิตรมาจากไหน ใครสร้าง? เป็นไปได้หรือไม่ว่า กลุ่มคนล้านนาพลัดถิ่นนั้น ได้นำเอาพระพุทธรูปองค์เล็กองค์น้อยแบบสิงห์ 1 ที่ตนเคยนับถือติดตัวมาด้วย

หรือมิเช่นนั้นแล้ว ประชากรชาวลำพูน-เชียงใหม่เมื่ออยู่ในกรุงศรีอยุธยานานเข้า (แม้จะในสถานะเชลยศึกก็ตาม) แต่ยังหวนหา “พระพุทธสิหิงค์” คู่บ้านคู่เมืองที่พวกตนเคยนับถืออยู่ เมื่อมีโอกาสสร้างพระพุทธรูป จึงเอารูปแบบของพระสิงห์ 1 ที่คุ้นชินมาสร้างใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา

ก่อนจะใช้ชื่อ “หลวงพ่อพระมงคลบพิตร” ที่เรารู้จักกันนั้น วัดที่พระไชยราชาสร้างพระพุทธปฏิมาองค์นี้ เคยมีชื่อว่า “วัดชีเชียง” ตรงกับที่พงศาวดารระบุไว้

ต่อมาสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2146 ได้มีการย้ายองค์พระพุทธปฏิมาจากวัดเชียงไปไว้ในตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบันคือ วัดมงคลบพิตร

ส่วนองค์พระสิงห์ 1 องค์เล็กองค์น้อยหลายองค์ที่เคยบรรจุในพระอุระของหลวงพ่อพระมงคลบพิตรนั้น ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (นอกจากนี้แล้วในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ก็พบพระสิงห์ 1 แบบล้านนาขนาดเขื่องด้วยอีกหลายองค์ ดิฉันกับ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ขอสืบค้นที่มาของพระเหล่านี้ก่อนว่าได้มาจากที่ใด อย่างไร แล้วจะนำเสนอให้ผู้อ่านทราบต่อไป)

การนำเอาพระสิงห์ 1 หลายองค์ไปบรรจุไว้ในพระอุระหลวงพ่อพระมงคลบพิตรนั้น กระทำตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยใคร ด้วยเหตุผลใด ไม่มีใครทราบ มารู้กันเอาในช่วงที่กรมศิลปากรทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างมงคลบพิตรราวปี 2478-2479 นี่เอง

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนว่า มีชุมชนชาวล้านนากลุ่มใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยพระไชยราชาแล้ว และแน่นอนว่าชาวล้านนากลุ่มนี้ย่อมขอพื้นที่ในการสร้างพระสิงห์ 1 เพื่อเป็นองค์แทนแห่งการรำลึกถึงพระพุทธสิหิงค์แห่งเชียงใหม่ จนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางของชาวอยุธยาด้วย



พระสิงห์ 1 แบบล้านนา องค์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ยังไม่ทราบที่มาว่าได้มาจากพระอุระพระมงคลบพิตรด้วยหรือไม่

พระพุทธสิหิงค์ยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า หลักฐานจากคำให้การฉบับต่างๆ ไม่ว่า คำให้การของชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด ล้วนแต่อธิบายถึงเหตุผลการเสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรงกันว่า “เพื่อไปเอาพระพุทธสิหิงค์ และพระเจ้าแก่นจันทน์แดง พระคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ มาไว้ในกรุงศรีอยุธยา”

เนื้อหาเช่นนี้สะท้อนถึงอะไร รศ.ดร.รุ่งโรจน์อธิบายว่า

สะท้อนถึงทัศนะของคนในสมัยอยุธยา มองพระพุทธสิหิงค์ (รวมทั้งพระเจ้าไม้แก่นจันทน์) ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์มาก สามารถปกป้องคุ้มครองเมืองเชียงใหม่ไว้ได้อย่างยาวนาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องควรค่าเหมาะสมกับผู้ปกครองบ้านเมืองที่มีบุญญาบารมีด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นแล้ว เชียงใหม่จักเสียเมืองให้แก่พม่าได้อย่างไร

ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ตีเมืองเชียงใหม่ได้จากพม่า (แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานพม่าก็ยึดเชียงใหม่คืนได้อีก) พระองค์ก็ย่อมต้องประกาศตนว่า “เป็นผู้มีบุญญาธิการ มีบารมีสูง จึงสามารถครอบครองพระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไว้ได้”

คำให้การของชาวกรุงเก่า ให้ข้อมูลเรื่องพระพุทธสิหิงค์ไว้อีกหลายจิ๊กซอว์ ซึ่งไม่ปรากฏใน “ตำนานพระพุทธสิหิงค์” หรือ “สิหิงคนิทาน” ฉบับเมืองเหนือ นั่นคือมีการอธิบายว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้หล่อพระพุทธสิหิงค์ขึ้น มีอำนาจวิเศษมาก มีแก้วมณีที่มีอานุภาพฝังพระเนตรไว้ ทำให้พระพุทธสิหิงค์เหาะเหินเดินอากาศได้

ในขณะที่ สิหิงคนิทาน ระบุว่า ผู้หล่อพระพุทธสิหิงค์คือ กษัตริย์ลังกา แต่ด้วยบุญบารมีของกษัตริย์เชียงใหม่ จึงได้พระพุทธสิหิงค์ไว้ครอบครอง เห็นได้ว่า ชาวอยุธยาไม่ได้มองว่าเส้นทางเดินของพระพุทธสิหิงค์จะต้องยาวไกลถึงเมืองลังกา

คำให้การของชาวกรุงเก่า เล่มเดิมกล่าวต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระพุทธปฏิมาสององค์คือพระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าแก่นจันทน์แดงมาไว้ในครอบครองแล้ว ก็ประกาศว่า

“พระพุทธปฏิมากรสององค์เกิดขึ้นได้ และอยู่ในเชียงใหม่ได้ก็ด้วยบารมีของเรา เราจักยอมถวายชีวิตเพื่อดูแลพระพุทธปฏิมากรสององค์นี้”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์วิเคราะห์ว่า การขึ้นมาตีเชียงใหม่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คงมิได้มีเจตนาเพียงแค่มายึดครองพระพุทธปฏิมากรสององค์ดังที่คำให้การของชาวกรุงเก่าเขียนไว้

ในความเป็นจริงแล้ว พระองค์มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองด้วย นั่นคือต้องการกวาดต้อนผู้คนในแถบล้านนาลงมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาด้วยมากกว่า เพราะหากปล่อยไว้จักกลายเป็นฐานกำลังให้แก่กองทัพพม่า

คำประกาศว่าการขึ้นมาเชียงใหม่ เพื่อจะมาเอาพระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าแก่นจันทน์แดงนั้น จึงเป็นเพียงหนึ่งในวัตถุประสงค์ที่ใช้เป็นข้ออ้างเท่านั้น



พระพุทธรูปสกุลช่างอยุธยาทั่วไป นิยมนั่งขัดสมาธิราบ ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระพุทธสิหิงค์ต้องนั่งขัดสมาธิเพชร

คําให้การขุนหลวงหาวัด พรรณนาเหตุการณ์เรื่องพระพุทธสิหิงค์คล้ายคลึงกับคำให้การของชาวกรุงเก่า แต่มีการเพิ่มประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่พบในเอกสารคำให้การของชาวกรุงเก่า นั่นคือ

“พระพุทธสิหิงค์นั้น เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์วิเคราะห์ว่า การขยายความเช่นนี้สะท้อนว่า ในทัศนะของชาวอยุธยามองว่าท่านั่งแบบ “ขัดสมาธิเพชร” เป็นของแปลกตา ผิดหูผิดตายิ่งนักสำหรับความคุ้นชินของชาวอยุธยาและคนในภาคกลาง ถึงกับต้องระบุท่านั่งเช่นนี้ไว้ด้วย

เนื่องจากท่านั่งหลักของพระพุทธปฏิมาทั่วราชอาณาจักรตามวัดต่างๆ ที่ชาวอยุธยารู้จักมักคุ้นคือ “ท่าขัดสมาธิราบ” (พระชงฆ์ข้างหนึ่งจะทับซ้อนอีกข้าง จึงมองไม่เห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง)

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่เอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงจำเป็นต้องระบุเจาะจงไปให้ชัดๆ เลยว่า “พระพุทธสิหิงค์ที่ได้มาจากเชียงใหม่น่ะหรือ ก็คือองค์ที่นั่งสมาธิเพชรไงเล่า?” เป็นการแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระปฏิมาต่างถิ่นที่มาใหม่ และพระปฏิมาพื้นถิ่นของอยุธยา


หลวงพ่อพระมงคลบพิตร ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง

พระพุทธสิหิงค์หน้าตัก 2 เมตร?!

ยังมีคำให้การอีกฉบับหนึ่ง ที่เขียนไว้แตกต่างจากฉบับอื่น คือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เขียนช่วงกรุงแตกจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ต้นฉบับได้จากหอหลวง ระบุว่า พระพุทธสิหิงค์เป็น 1 ใน 8 ของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของกรุงศรีอยุธยา

ระบุว่า “พระพุทธสิหิงค์นั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตัก 4 ศอก”

มาตราวัดปัจจุบัน 4 ศอก = 2 เมตร ต้องถือว่าเป็นพระพุทธปฏิมาที่มีขนาดใหญ่มากทีเดียว ในความเป็นจริงนั้น องค์พระพุทธสิหิงค์ที่เรารู้จักและยอมรับกันสามองค์ ไม่ว่าที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ที่นครศรีธรรมราช และที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า ไม่มีองค์ใดเลยที่มีขนาดหน้าตักใหญ่เช่นนั้น

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ทิ้งท้ายว่า ประเด็นนี้น่าจะมีความคลาดเคลื่อน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ระหว่างเกิดความเข้าใจผิดขณะที่มีการบันทึกเอกสาร หรือหากคำให้การนี้เป็นความจริง กล่าวคือข้อมูลที่บันทึกไว้ไม่คลาดเคลื่อน แสดงว่าพระพุทธสิหิงค์ทั้งสามองค์นั้น ไม่ใช่องค์จริงสักองค์เลยล่ะหรือ?

เรื่องนี้จำเป็นต้องหาคำอธิบายกันต่อไป •


 

 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 เมษายน 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 13 เมษายน พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/culture/article_665215
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: พฤษภาคม 01, 2023, 07:02:06 am »
0




ศึกพระพุทธสิหิงค์ (9) : ชาวกรุงรัตนโกสินทร์ยืนยัน พระพุทธสิหิงค์นั่งขัดสมาธิราบ.?

สัปดาห์ที่แล้ว เราเพิ่งจะเอาหลักฐานมาแสดงกันจะจะว่าชาวกรุงศรีอยุธยายืนยันว่าพระพุทธสิหิงค์ของแท้ต้อง “นั่งขัดสมาธิเพชร” ไปหยกๆ นี่นา

แล้วก็เป็นที่การันตีของทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองจากเหนือจรดใต้ ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ ลงไปสู่ดินแดนภาคกลางแถบกำแพงเพชร ลพบุรี ชัยนาท โคกขาม สมุทรสาคร ยันนครศรีธรรมราช จนถึงเมืองตรัง

คนเมื่อ 600 ปีก่อนจนถึง 200 ปีที่ผ่านมา เมื่อคิดจะจำลององค์พระพุทธสิหิงค์มากราบไหว้บูชาคราใด ต่างล้วนมีภาพในใจว่า พระพุทธสิหิงค์ต้องนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัยทั้งสิ้น

แล้วเกิดอะไรขึ้นเล่า ที่อยู่ๆ ชาวกรุงรัตนโกสินทร์กลับมายืนยันว่า พระพุทธสิหิงค์ของแท้ควร “นั่งขัดสมาธิราบและปางสมาธิ” ต่างหากเล่า!

นี่คืออีกหนึ่งปริศนาที่หนักหนาสาหัส รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คร่ำหวอดเชี่ยวชาญด้านพระพุทธปฏิมาในสยาม ยอมรับว่า นักวิชาการกี่รุ่นๆ ก็ขบประเด็นนี้ไม่แตกกันสักที


พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอัญเชิญจากเชียงใหม่มาประทับที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า

พระพุทธสิหิงค์เมื่อครั้งกรุงเก่า ศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

ย้อนกลับไปมองความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์สมัยยังประดิษฐานที่กรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยาช่วงก่อนจะถูกพม่ายึดครอง ต่อมาชาวเชียงใหม่ที่เป็นทหารร่วมรบให้พม่าจักนำพระพุทธสิหิงค์กลับคืนสู่เชียงใหม่อีกครั้งนั้น

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระพุทธสิหิงค์ได้กลายเป็น 1 ใน 8 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์ปราสาททองสืบต่อมายังราชวงศ์บ้านพลูหลวง จนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2 อย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งที่เป็นพระพุทธปฏิมาที่อัญเชิญมาจากต่างถิ่น แต่กลับได้รับการประดิษฐานให้อยู่ในสถานะสูงส่ง (ที่อาจจะ) เป็นถึงพระประธานของหมู่พระพุทธรูปองค์อื่นๆ ด้วยซ้ำใน “มหาวิหารยอดปรางค์ปราสาท” ของหมู่พระราชมณเฑียร

ในคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมได้พูดถึงพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ว่าหลังจากที่กษัตริย์อยุธยาเสด็จไป “เปลื้องเครื่อง” (เปลี่ยนเครื่องทรงภูษา) ที่ศาลาหน้าวัดหลวงแล้ว (สมัยนั้นก็คือวัดพระศรีสรรเพชญดาญาณ)

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการ “พระพุทธสิหิงค์” บนมหาวิหารปรางค์ปราสาท และประกอบกรณียกิจ สะท้อนให้เห็นว่า จุดที่พระพุทธสิหิงค์ประทับนั้นอยู่ในที่อ่าโอ่ “มโหฬาร” มิใช่ที่ “รโหฐาน” คือมิได้นำไปซุกซ่อนแอบไว้ในหลืบซอกมุมลึกลับคับแคบก็หาไม่

นี่คือความสำคัญขั้นเอกอุของพระพุทธสิหิงค์ในกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย



พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอัญเชิญจากเชียงใหม่มาประทับที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า

วังหน้าอัญเชิญพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบกลับมายังกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่กลับมาภาคกลางอีกครั้ง เนื่องจากล้านนาอยู่ในฐานะประเทศราชของสยาม

ประเด็นสำคัญก็คือ พระพุทธสิหิงค์องค์ที่เชิญมาครั้งนี้ กลับกลายเป็นคนละองค์กันกับองค์ที่เคยประทับในมหาวิหารปรางค์ปราสาท สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาก่อน ซึ่งเอกสารคำให้การฯ ระบุชัดว่าองค์นั้นเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร

สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า พระอนุชาของรัชกาลที่ 1 กลับนำพระพุทธรูปแบบล้านนาที่นั่งขัดสมาธิราบ (ไม่นั่งขัดสมาธิเพชร) ทำปางสมาธิ (ไม่ทำปางมารวิชัย) พระรัศมีเป็นเปลวไฟ (ไม่ใช่เกตุบัวตูม) และชายสังฆาฏิยาวลงมา (ไม่ใช่ชายสังฆาฏิสั้นๆ เหนือพระถัน ปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบ) มาประทับในกรุงรัตนโกสินทร์

พุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์ที่วังหน้าอัญเชิญลงมานี้ แตกต่างไปจากพระพุทธสิหิงค์ทุกองค์ทั่วแผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นสิงห์ 1 และส่งอิทธิพลในรุ่น “พระขนมต้มที่ปักษ์ใต้” แต่องค์นี้วงการนักเลงพระเรียกกันแบบลำลองให้เข้าใจง่ายว่า “พระสิงห์ 2”

เกิดความเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า? บังเอิญ หรือเจตนา? ไฉนสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงยังคงยืนกรานที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั่งขัดสมาธิราบกลับมาไว้ยังกรุงรัตนโกสินทร์?

ไม่มีใครทราบว่าด้วยเหตุผลกลใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ฤๅดีไม่ดีเสียงลือเสียงเล่าอ้างของชาวเชียงใหม่จักเป็นเรื่องจริง ที่ว่าได้มีการนำพระพุทธสิหิงค์องค์จริงไปซ่อน สลับสับเปลี่ยนเอาองค์จำลองมาให้วังหน้าแทน

หรืออาจเกิดจากเจตจำนงของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเอง ที่ตั้งใจจะเลือกองค์นี้มา ด้วยตำนานระบุว่าพระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นในลังกา และเคยประทับที่สุโขทัย กำแพงเพชร ซึ่งพุทธศิลป์แบบลังกาและสุโขทัยนั้น นิยมนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ?

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากทีเดียว ในเมื่อรัชกาลที่ 1 และพระอนุชาวังหน้า ต่างก็เคยเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักอยุธยามาก่อน และแน่นอนว่าย่อมต้องเคยเห็นพระพุทธสิหิงค์องค์เดิมมาแล้ว ช่วงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา อย่างน้อยก็น่าจะสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนเสียกรุง

แล้วเกิดอะไรขึ้น พระพุทธสิหิงค์จึงเปลี่ยนจากนั่งขัดสมาธิเพชร กลายมาเป็นขัดสมาธิราบ? ซึ่งยังคงเป็น “ปมปริศนาใหญ่” ที่นักวิชาการมิรู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น ก็ยังขบไม่แตก



พระพุทธสิหังคปฏิมากร ในวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม สร้างโดยรัชกาลที่ 4 ภาพจากเพจ Arts in Southeast Asia ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถ่ายภาพโดย ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์

พระพุทธสิหิงค์องค์นี้คือองค์จริง ในความเชื่อคนยุคต้นรัตนโกสินทร์

ในหนังสือ “นิพพานวังน่า” (วังหน้า) เป็นหนังสือที่กล่าวถึงพระประวัติของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้มีการพูดถึงพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ว่า วังหน้าท่านได้อัญเชิญลงมาจากเชียงใหม่ และเป็นองค์จริงที่ถูกต้องตามตำนานสิหิงคนิทาน

สิหิงคนิทานได้พรรณนาว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างพระพุทธสิหิงค์เกิดจากพระอรหันต์ชาวลังกาเป็นผู้ดำริ โดยมีคำทำนายว่า พระพุทธสิหิงค์เมื่อหล่อเสร็จ นิ้วจะแหว่งไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปจักบังเกิดผู้มีบุญญาธิการมาทำการซ่อมนิ้วใหม่ให้สมบูรณ์ (ดูรายละเอียดได้ในบทความที่ดิฉันเคยเขียนถึง “ใครต่อนิ้วพระเจ้าดับภัย” ในปริศนาโบราณคดีฉบับก่อนๆ)

หลังจากที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้าแล้ว พระองค์นั่นเองคือบุคคลผู้กระทำการต่อนิ้วที่ชำรุดให้พระพุทธสิหิงค์ หลังจากที่เว้าแหว่งมานานเกือบ 500 ปี

ฉะนี้แล้ว ความเชื่อโดยสนิทใจ การรับรู้อย่างไร้ข้อกังขา ของชาวรัตนโกสินทร์ตอนต้นเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ ยิ่งถูกตอกย้ำให้ชัดแจ้งลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า พระพุทธสิหิงค์องค์จริง ย่อมไม่ใช่องค์ที่นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย แต่ต้องเป็นองค์ที่นั่งขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิแบบลังกา แถมนิ้วมือนิ้วหนึ่งต้องมีรอยตำหนิมาก่อนด้วย



พระพุทธสิหิงค์แบบสิงห์ 1 ที่กำลังจะกลายเป็น “ขนมต้ม” ที่วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร มีจารึกที่ฐานว่าสร้างปี 2232 ตรงกับสมัยพระเพทราชา ระบุว่า “พระญาณโชติได้สถาปนาพระสิหิงค์ พระองค์นี้เป็นทอง 37 ชั่ง ขอเป็นปัจจัยแก่นิพพาน” ภาพจากหนังสือ “ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย” ของ ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์

พระพุทธสิหิงค์หวนกลับมาพบพระแก้วมรกต

เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทถึงแก่ทิวงคตไปแล้ว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ของวังหน้าไปประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันมีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ก่อนแล้ว

ถือเป็นการโคจรมาพบกันอีกครั้ง ระหว่าง “พระแก้ว” กับ “พระสิงห์” ที่ต้องเริดร้างจากดินแดนล้านนา ที่ครั้งหนึ่งพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์เคยประทับอยู่ร่วมกันมาก่อน (หากเชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์องค์ที่วังหน้าอัญเชิญมาคือองค์จริงองค์ดั้งเดิม)

พระพุทธสิหิงค์ประทับในวัดพระแก้วอยู่หลายทศวรรษ จนกระทั่งสิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ 3

รัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกจากพระบรมมหาราชวัง กลับไปประทับที่วังหน้าอีกครั้ง ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะให้ไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ววังหน้า (วัดบวรสถานสุทธาวาส) ด้วยซ้ำ ถึงขนาดให้มีการวาดภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์บนผนังอุโบสถ เตรียมไว้

แต่แล้วมีเหตุให้ไม่อาจนำพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่พระแก้ววังหน้าได้ ต้องเอากลับมาประทับยังพระที่นั่งพุทไธสวรรยฺตามเดิม

อย่างไรก็ดี รัชกาลที่ 4 มีความเลื่อมใสต่อองค์พระพุทธสิหิงค์เป็นอย่างมาก โปรดให้หล่อจำลองไปไว้ตามที่ต่างๆ องค์สำคัญคือที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลของพระองค์ โปรดพระราชนามว่า “พระพุทธสิหังคปฏิมากร”

หรือโปรดให้หล่อถวายแด่องค์พระปฐมเจดีย์ พระพุทธสิหิงค์จำลองของรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่ในซุ้มด้านทิศตะวันออก และอีกองค์อยู่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารขนาดเล็ก

ดังนั้น คำว่าพระพุทธสิหิงค์จำลองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จักไม่ใช่รูปแบบพระสิงห์ 1 หรือแบบขนมต้มอีกต่อไป หากเป็นพระสิงห์ 2 นั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ รัศมีเปลว โดยยึดเอาพระพุทธสิหิงค์ของวังหน้าเป็นต้นแบบ

ฉบับหน้า ดิฉันในฐานะผู้เปิดประเด็นตั้งคำถามต่อวิทยากรหลากหลายท่านนานาทัศนะ จักได้มากล่าวสรุปว่าดิฉันมีมุมมองต่อพระพุทธสิหิงค์อย่างไรบ้าง •






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน   : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/culture/article_667168
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2023, 06:15:59 am »
0




ศึกพระพุทธสิหิงค์ (10) : บางประเด็นคลี่คลาย แต่หลายปมยังคลุมเครือ

เส้นทางอันยาวไกลและแสนสลับซับซ้อนของ “พระพุทธสิหิงค์” ที่ดิฉันได้ถอดคลิปเสียงวิทยากรแต่ละท่าน เป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง 9 สัปดาห์ ณ บัดนี้ก็มาถึงตอนอวสานแล้ว เชื่อว่าผู้ที่เคยฟังการเสวนาเรื่องนี้จากรายการคลับเฮาส์ เมื่อมาอ่านซ้ำแบบช้าๆ ทีละประเด็น น่าจะทำให้ท่านได้ทบทวนองค์ความรู้อย่างรอบด้านอีกครั้ง และเกิดความกระจ่างมากขึ้นกว่าการฟังสด

ดิฉันจะขอสรุปให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมอยู่สองประเด็นหลัก นั่นคือ ประเด็นใดบ้างที่ได้รับการคลี่คลายปมแล้ว กับยังเหลือประเด็นไหนอีกไหมที่ยังคลุมเครือ ที่เราจะต้องช่วยสืบค้นกันต่อไป

ประเด็นที่คลี่คลายปมแล้ว อันที่จริงมีหลายประเด็น แต่ในพื้นที่อันจำกัดนี้ขอนำเสนอ 3 เรื่องหลักๆ คือ
1.ความหมายของคำว่าพระพุทธสิหิงค์-พระสิงห์
2.เส้นทางการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปตามที่ต่างๆ
3.ท่านั่งขัดสมาธิเพชร Vs ขัดสมาธิราบ

ส่วนประเด็นที่ยังคงเป็นปมปริศนา ก็ขอนำเสนออีก 3 ประเด็นหลัก
1.พระพุทธสิหิงค์กับลัทธิลังกาวงศ์ ตกลงสวนดอกหรือป่าแดง?
2.แม่เจ้าเมืองกำแพงเพชรมีสัมพันธ์สวาทกับท้าวสองแควหรือท้าวมหาพรหม?
3.ท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์ยุคพระญากือนาหรือยุคพระญาแสนเมืองมา?

กลุ่มประเด็นหลังที่ยังไม่กระจ่างชัด คงต้องขอยกยอดไปคุยกันต่อในฉบับหน้า เพราะประเมินปริมาณของเนื้อหาแล้ว เนื้อที่ไม่พอแน่ๆ


พระพุทธสิหิงค์จำลององค์ขวามือของเรา (องค์ซ้ายของพระประธาน) ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์เชียงใหม่ ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย ของ ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์

ความหมายของ “สิหิงค์-สีหล-สหิง-พระสิง”

จากเดิมนั้น ผู้รู้ให้นิยามคำว่า “สิหิงค์” ไว้อยู่ 3 ความหมาย แต่หลังจากฟังรายการคลับเฮาส์จบ มีเพิ่มมาอีก 1 นัยยะ

นิยามแรก พระโพธิรังสีผู้รจนา “สิหิงคนิทาน” ราว พ.ศ.1945-1984 (ตัวเลขคร่าวๆ โดยยึดเอาปีครองราชย์ของพระญาสามฝั่งแกนเป็นหลัก) อธิบายว่า “สิหิงค์” มาจาก “สีห + องค์” หมายความว่ามีรูปร่างสง่างามราวราชสีห์

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีของกรมศิลปากร ช่วยปรับแก้ให้ใหม่อีกนิดเป็น “สีห + อิงค” อิงค = Gesture แปลว่าลีลา ท่าทาง มาด เนื่องจากคำว่า “องค” โดยปกติจะแปลว่าอวัยวะ (เพศ)

นิยามที่สอง ปรากฏอยู่ในเรื่อง “สีหลปฏิมา” เป็นบทหนึ่งที่แทรกอยู่ในหนังสือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระปี 2060 ตรงกับสมัยพระเมืองแก้ว เป็นการแต่งขึ้นหลังสิหิงคนิทานประมาณ 1 ศตวรรษ

พระพุทธสิหิงค์ ในความเข้าใจของพระรัตนปัญญาเถระคือ พระพุทธรูปที่มาจากเกาะสิงหล (สีหล) หรือเกาะลังกา สะท้อนถึงความสัมพันธ์ว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความเกี่ยวข้องกับลัทธิลังกาวงศ์อย่างแนบแน่น

นิยามที่สาม ตัวอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์เอง วิเคราะห์ไว้ในหนังสือที่ท่านเขียนให้กับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า คำที่ถูกต้องไม่น่าจะเป็น “สิหิงค์” แต่น่าจะเป็น “สหิง” มากกว่า อันเป็นภาษามอญตกค้างจากยุคหริภุญไชย ที่มักเรียกพระพุทธรูปที่มีความงดงามเห็นแล้วสบายตาสบายใจน่าอภิรมย์ว่า “สฮิง สเฮย”

โดยอาจารย์พิเศษอ้างจารึกที่ฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่งในวัดพระเจ้าเม็งราย เชียงใหม่ที่เขียนว่า “พระสหิง” ไม่ใช่ “พระสิหิงค์”

นิยามที่สี่ หรือนิยามล่าสุด ให้ไว้โดย ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ผ่านการเขียนบทความในวารสารของราชบัณฑิตยสภาพ และถ่ายทอดซ้ำโดยลูกศิษย์ทั้งสองของแม่ครูคือ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี และเมธี ใจศรี ว่า

“พระสิงห์” อันที่จริงหมายถึง “พระสิงเมือง” (ไม่มี ห์) เริ่มต้นจากการนำอัฐิพระญาคำฟูซึ่ง “ตายขึด” หรือสวรรคตแบบไม่ค่อยดี มาเป็นอารักษ์เมืองเชียงใหม่ เป็นการสถาปนาพระพุทธรูปอันเป็นเรื่องราวของ “พุทธ” มาทับซ้อนกับคติการนับถือ “ผี” ของชาวล้านนาที่มีมาแต่ดั้งเดิม

โดยยืนยันว่า แม้แต่ชาวแสนหวีตอนขโมยพระสิงไป ยังเรียกว่า “หุ่นผี”

หมายความว่า คติการบูชา “พระสิงเมือง” หรืออารักษ์เมือง (ดวงวิญญาณพระญาคำฟู) มีมาก่อนแล้ว โดยกู่อัฐิของท่านตั้งอยู่ในวัดลีเชียงพระ ตั้งแต่สมัยพระญาผายู (พ.ศ.1879-1898) ผู้เป็นโอรสของคำฟู สืบมาจนถึงยุคพระญากือนา (พ.ศ.1898-1928)

กระทั่งถึงสมัยพระญาแสนเมืองมาได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงรายมาไว้ที่เชียงใหม่ในช่วงปี 1928-1929 (ปีแรกๆ ที่แสนเมืองมาเสวยราชย์) เป็นการเอาพระสิงห์มาทับที่ จุดที่เคยมีอารักษ์เมืองหรือพระสิงห์เมือง ทำให้วัดลีเชียงพระเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดพระสิง(ห์)”

นิยามทั้ง 4 นัยยะนี้ ดิฉันเห็นว่าควรนำไปศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียด อย่าเพิ่งด่วนตัดนัยยะใดนัยยะหนึ่งทิ้งไปทันที




เส้นทางการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปตามที่ต่างๆ

ประมวลจากทั้งตำนาน + พงศาวดาร + คำให้การ + ประวัติศาสตร์ คือทั้งเรื่องเล่าและเหตุการณ์จริง ลำดับเส้นทางและเกตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ได้ดังนี้

1. ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นในเกาะลังการาว พ.ศ.700

2. อัญเชิญมาไว้ที่นครศรีธรรมราช ปีเดียวกันกับที่สร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช โดยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้มา ตรงกับสมัยพระโรจนราช (สันนิษฐานว่าหมายถึงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ผู้ที่มาเปิดประเด็นว่าลังกามีพระพุทธสิหิงค์ แล้วขอให้ทางนครศรีธรรมราชช่วยไปขอให้จากลังกา

3. อัญเชิญขึ้นมาไว้ที่กรุงสุโขทัย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

4. ย้ายไปอยู่สองแคว (อีกชื่อคือชัยนาท) หมายถึงเมืองพิษณุโลก

5. ย้ายไปอยู่กำแพงเพชร ในสมัยพระญาณดิศ กิตติศัพท์ความงามความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์เป็นที่เลื่องลือ ทำให้ท้าวมหาพรหม (อนุชาของพระญากือนา กษัตริย์เชียงใหม่) เจ้าเมืองเชียงราย ยกทัพมาขอ

6. เจ้าเมืองกำแพงเพชรเกรงว่าเจ้าเมืองสองแควจะโกรธ ขอให้เอาพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เมืองตาก ชั่วคราวก่อน เพื่อรอท้าวมหาพรหมมารับ ณ จุดครึ่งทาง (คือไม่ให้มารับที่กำแพงเพชร)

7. ท้าวมหาพรหมนำไปไว้ที่เชียงราย และพระองค์คือผู้ที่กระทำการต่อนิ้วพระหัตถ์ที่ไม่สมบูรณ์ให้พระพุทธสิหิงค์ (สะท้อนว่าท้าวมหาพรหมคือบุคคลผู้มีบุญญาธิการตามคำทำนายของพระอรหันต์ลังกา)

8. ท้าวมหาพรหมนำพระพุทธสิหิงค์ไปทำพิธีพุทธาภิเษกที่เกาะดอนแท่น กลางแม่น้ำโขง เชียงแสน

9. พระญาแสนเมืองมาต่อสู้กับพระเจ้าอาว์ (ท้าวมหาพรหม) จนชนะ นำพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่

10. เจ้าเมืองแสนหวียุคที่ยังไม่รู้จักพระพุทธรูป ขโมยพระสิงห์จากเชียงใหม่ไปไว้ที่เมืองแสนหวี (หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า องค์ที่เอาไปนี้ขนาดเล็กมากถึงขั้นใส่ย่ามได้ อาจจะเป็นคนละองค์กับพระพุทธสิหิงค์องค์หลักหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ที่เมืองแสนหวียังมีการกราบพระสิงห์กันอยู่ โดยระบุว่าได้มาจากเมืองเชียงใหม่ แสดงว่าไม่มีการนำองค์ที่เรียกว่า “หุ่นผี” กลับคืนเชียงใหม่?)



ภาพสเกตช์พระพุทธสิหิงค์ของเมืองเชียงใหม่ โดย ศ.ยอร์จ เซเดส ตอนแปลชินกาลมาลินีเป็นภาษาฝรั่งเศสปี 2465

11. อย่างไรก็ดี พระพุทธสิหิงค์ (ที่เชื่อว่าเป็นองค์หลัก) ถูกนำกลับมาที่เชียงใหม่อีกครั้ง เอกสารบางเล่มระบุว่าสมัยพระเจ้าติโลกราชอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานในซุ้มจระนำของพระมหาธาตุเจดีย์หลวงกลางเวียงเชียงใหม่ ด้านใดด้านหนึ่ง (น่าจะทิศใต้ เพราะปกติพระพุทธสิหิงค์หันหน้าไปทิศใต้) ประกบคู่กับพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำด้านทิศตะวันออก

12. พระไชยเชษฐาธิราชอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เมืองหลวงพระบาง ล้านช้าง พร้อมพระพุทธปฏิมาสำคัญหลายองค์ อาทิ พระแก้วมรกต พระแก้วขาว พระแทรกคำ ฯลฯ ช่วงที่บุเรงนองรุกรานล้านนา

13. พระแม่กุ กษัตริย์ล้านนาภายใต้การปกครองพม่า ยกทัพไปรับพระพุทธสิหิงค์กลับคืนมาประดิษฐานที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่อีกครั้ง (นำมาแค่พระพุทธสิหิงค์กับพระแก้วขาว แต่ไม่เอาพระแก้วมรกต?)

14. สมเด็จพระนารายณ์มหาราชอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญดาญาณ กรุงศรีอยุธยา ช่วงนี้เอง (รวมทั้งก่อนหน้านั้นในสมัยพระไชยราชา ที่มีการเกณฑ์ชาวล้านนามาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาก่อนแล้ว) ได้เกิดปรากฏการณ์การจำลองพระพุทธสิหิงค์อย่างแพร่หลายทั่วภาคกลาง โดยจำลองย้อนกลับไปสู่ภาคใต้ เกิดรูปแบบ “พระขนมต้ม” เหตุที่ตำนานอ้างว่าพระพุทธสิหิงค์เคยประทับที่เมืองนครศรีธรรมราชมาก่อน

15. ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ทหารเชียงใหม่ที่ร่วมรบกับพม่า นำกลับไปไว้ที่เชียงใหม่อีกครั้ง

16. กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาของรัชกาลที่ 1 อัญเชิญไปไว้ที่วังหน้า ณ พระตำหนักพุทไธสวรรย์ (ทว่า ความเชื่อของชาวเชียงใหม่ ไม่ได้ให้พระพุทธสิหิงค์องค์จริงไป พระพุทธสิหิงค์ยังคงประดิษฐาน ณ วัดพระสิงห์)

17. ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เคียงคู่กับพระแก้วมรกตอีกครั้ง หลังจากวังหน้าทิวงคต

18. ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญกลับมาไว้ที่วังหน้าอีกครั้ง พระพุทธสิหิงค์องค์นี้เรียก “พระพุทธสิหิงค์ของกรุงรัตนโกสินทร์” ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จวบปัจจุบัน

19. ส่วนพระพุทธสิหิงค์องค์ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ถูกคนใจบาปตัดพระเศียรเอาไปขายที่บ้านช่างหล่อ เพื่อทำกระดึงวัว พระราชชายาฯ เจ้าดารารัศมี ปรึกษาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอให้นำพระวรกายลงมาซ่อมต่อพระเศียรใหม่ ที่โรงหล่อกรมศิลปากร ตรงกับสมัยปลายรัชกาลที่ 6 ต่อต้นรัชกาลที่ 7

20. พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ถูกซ่อม ต่อเติมพระเศียรใหม่ถูกนำกลับคืนมายังวัดพระสิงห์อีกครั้ง

นี่เป็นเพียงการสรุปเส้นทางและเหตุการณ์สำคัญอันย่นย่อที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ ฉบับหน้ามาปิดฉากวิเคราะห์ศึกพระพุทธสิหิงค์ตอนอวสาน •





 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_669307
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศึกพระพุทธสิหิงค์
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2023, 06:29:52 am »
0






ศึกพระพุทธสิหิงค์ (จบ) : อวสานแห่งปริศนา แต่หาสิ้นสงสัยไม่

สมาธิเพชร VS ขัดสมาธิราบ

ถ้าจะว่ากันตามตำนานแล้ว หากพระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นในลังกาทวีปจริง พระพุทธปฏิมาก็ควรนั่งขัดสมาธิราบ และควรทำปางสมาธิ อันเป็นพุทธลักษณะยอดนิยมของศิลปะลังกา มิใช่หรือ?

ทว่า ในความเป็นจริง ทั้งพระพุทธสิหิงค์ฉบับล้านนา ฉบับขนมต้มของทางปักษ์ใต้ และพระพุทธสิหิงค์จำลองทั้งหมดของภาคกลาง ไฉนจึงทำพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย อันเป็นศิลปะที่นิยมในแถบอินเดียเหนือสมัยราชวงศ์ปาละ?

สิ่งนี้เองกระมัง ที่น่าจะเป็นมูลเหตุให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ตัดสินพระทัยเลือกเอาพระพุทธสิหิงค์องค์ที่นั่งขัดสมาธิราบและทำปางสมาธิ (แบบลังกา) มาไว้ที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี ในเมื่อตำนานที่เขียนถึงพระพุทธสิหิงค์เล่มเก่าสุดคือ “สิหิงคนิทาน” ของพระโพธิรังสี แต่งขึ้นในดินแดนล้านนา นักวิชาการหลายท่านเห็นว่า เราก็ควรยึดเอา “ศิลปะล้านนา” เป็นข้อยุติในการกำหนดรูปแบบพระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์องค์ปฐมจึงควรนั่งขัดสมาธิเพชรปางวิชัย และจากนั้นเมื่อถูกอัญเชิญลงมายังกรุงศรีอยุธยาหลายระลอก ก็เริ่มมีการจำลองพระพุทธปฏิมาตามศิลปะล้านนา ด้วยท่านั่งขัดสมาธิเพชรสืบมา

คำถามคือ พระพุทธสิหิงค์องค์ที่วังหน้าอัญเชิญมา นั่งขัดสมาธิราบปางสมาธิ (หรือที่นิยมเรียกว่ารุ่นล้านนาสิงห์ 2 เป็นรุ่นที่ทำเลียนแบบศิลปะสุโขทัย ซึ่งสุโขทัยตั้งใจทำเลียนแบบลังกาอีกชั้นหนึ่ง) นี้ ใครเป็นผู้สร้าง สร้างในสุโขทัยหรือในล้านนา เดิมอยู่ที่ไหน ก่อนที่วังหน้าจะมาพบ?



หนังสือวิเคราะห์เรื่องราวพระพุทธสิหิงค์อย่างละเอียด ของอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

พระพุทธสิหิงค์ สวนดอกหรือป่าแดง.?

การตั้งคำถามนี้สืบเนื่องมาจาก ในรายการคลับเฮาส์ อย่างน้อยวิทยากรสองท่านคือ คุณเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี และคุณเมธี ใจศรี เห็นตรงกันว่า ตำนานพระพุทธสิหิงค์เขียนขึ้นใน “นิกายสวนดอก” โดยตัวของพระโพธิรังสีนั้นเป็นภิกษุอีกนิกายหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งสวนดอกและป่าแดง

แต่ท่านได้รับอาราธนาจากพระภิกษุนิกายสวนดอกให้รจนาเรื่องนี้ เพื่อให้พระพุทธสิหิงค์เป็นสัญลักษณ์ของนิกายสวนดอก และต่อมาพระรัตนปัญญาเถระได้รจนาตำนานพระแก้วมรกต เพื่อเป็นองค์แทนของนิกายป่าแดง

ในขณะที่ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ สรุปไว้ในหนังสือเรื่อง “พระพุทธสิหิงค์จริงทุกองค์ ไม่มีปลอม แต่ไม่ได้มาจากลังกา” ว่า พระโพธิรังสีแต่งพระพุทธสิหิงค์ขึ้นเพื่อโปรพระพุทธศาสนานิกายใหม่จากลังกา นั่นคือนิกายป่าแดง

เหตุที่พระรัตนปัญญาเถระจงใจเน้นคำว่า “สีหลปฏิมา” ตอกย้ำชัดถึงความเป็นลังกา ซึ่งนิกายที่ถือว่าตัวเองมาจากลังกาสายตรงบริสุทธิ์ก็คือ “ป่าแดง” มิใช่ “สวนดอก” อาจารย์พิเศษมองว่า สวนดอกเป็นลังกาวงศ์แบบอ้อมๆ ต้องผ่านนิกาย “รามัญวงศ์” ในเมืองพัน เมืองเมาะตะมะ อีกชั้นหนึ่ง

พระพุทธสิหิงค์จึงเป็นสัญลักษณ์ของนิกายป่าแดงมากกว่า ประเด็นนี้ แวดวงวิชาการโบราณคดีล้านนาน่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์เจาะลึกกันอย่างละเอียดอีกครั้ง


พระพุทธสิหิงค์ องค์ประธานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ องค์ที่เคยถูกตัดพระเศียรแล้วซ่อมใหม่

แม่เจ้าเมืองกำแพงเพชรมีสัมพันธ์สวาทกับใคร พระเจ้าอู่ทองหรือท้าวมหาพรหม.?

กําแพงเพชรได้พระพุทธสิหิงค์มาอย่างไร? ทั้งสิหิงคนิทานของพระโพธิรังสี และสีหลปฏิมาของพระรัตนปัญญาเถระ กล่าวเนื้อหาตรงกัน อาจต่างกันที่ชื่อเฉพาะของเจ้าเมืองแต่ละองค์ สรุปได้ดังนี้

หลังจากที่พระพุทธสิหิงค์ประทับ ณ กรุงสุโขทัยอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์พระร่วง มาจนถึงพระญาลิไท ในสมัยของพระญาไสยฦๅไทได้ย้ายพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เมืองพิษณุโลก (ตำนานเรียกว่า สองแคว บ้างเรียกชัยนาท)

หมายเหตุชื่อของพระญาลิไท กับไสยฦๅไทนี้ เป็นการเรียกที่ถูกหรือผิด เป็นอีกประเด็นที่ควรดีเบตกันอย่างละเอียด ตกลงแล้วมีชื่อเรียกอย่างไรกันแน่ ตามที่ อ.ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร และ ดร.ตรงใจ หุตางกูร แห่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เคยเสนอไว้ เอาเป็นว่าในบทความนี้ขอใช้คำว่า พระญาลิไทกับพระญาไสยฦๅไท ตามที่คุ้นชินกันไปก่อน

การย้ายพระพุทธสิหิงค์ของพระญาไสยฦๅไทไปไว้ที่เมืองสองแคว ก็เนื่องมาจากกษัตริย์อยุธยาได้ยกทัพขึ้นมายึดสุโขทัยได้ กษัตริย์องค์ดังกล่าว สิหิงคนิทานเรียก “รามาธิบดี” อาจารย์พิเศษเชื่อว่าหมายถึง พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

เมื่อยึดสุโขทัยได้ พระเจ้าอู่ทองมอบหมายให้โอรสคือ ขุนหลวงพะงั่วปกครองสุโขทัย (ตำนานเรียกขุนหลวงพะงั่วว่า “เจ้าเดช/วัตติเดช”) ทำให้กษัตริย์สุโขทัยคือไสยฦๅไทต้องหนีไปสองแคว เมื่อไสยฦๅไทสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอู่ทองโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากสองแควไปไว้ที่กรุงศรีอยุธยา

อันเป็นการนำพระพุทธสิหิงค์ไปประทับที่อยุธยาครั้งแรก

มีเหตุการณ์ประหลาดคือ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งสิหิงคนิทานเรียก “ญาณดิศ” สีหลปฏิมาเรียก “ติปัญญาอำมาตย์” มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้พระพุทธสิหิงค์มาครอบครอง ถึงขนาดวางแผนการให้ พระมารดาของพระองค์ ผู้มีรูปโฉมโนมพรรณงดงามขั้น “เบญจกัลยาณี” ยอมเอากายเข้าแลก เพื่อให้ได้มาซึ่งพระพุทธสิหิงค์

สิหิงคนิทานเรียก “แม่หลวง” แปลจากภาษาบาลีว่า “มหามาตา” ส่วนสีหลปฏิมาเรียกนางว่า “มารดาของติปัญญา”

โดยญาณดิศส่ง “แม่หลวง” เข้าไปถวายตัวเป็นสนมรับใช้พระเจ้าอู่ทองในราชสำนักอยุธยา พยายามตีสนิทจนเป็นที่โปรดปราน แม่หลวงได้ทีทูลขอพระพุทธปฏิมาสักองค์ไปไว้บูชาที่กำแพงเพชร

พระเจ้าอู่ทองเห็นว่าในกรุงศรีอยุธยามีพระพุทธรูปมากมายหลายองค์ จึงอนุญาตให้นางไปเลือกเอาเองในหอพระ ด้วยนึกไม่ถึงว่าองค์ที่แม่หลวงใช้วิธีติดสินบนกับผู้เฝ้าหอพระด้วยทอง 1 พันชั่ง ก็คือ พระพุทธสิหิงค์

เกิดกระบวนการตามล่าเอาพระพุทธสิหิงค์คืน กองทัพอยุธยายกทัพมาถึงบริเวณปากน้ำโพ นครสวรรค์ สุดท้ายฝ่ายญาณดิศเอาพระพุทธสิหิงค์เข้าเขตลำน้ำปิงแล้ว อยุธยาจึงเอาคืนไม่ได้ แสดงว่าช่วงนั้น สถานะของกำแพงเพชรน่าจะเป็นกึ่งรัฐอิสระ

สิ่งที่ดิฉันสนใจคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กลับระบุว่า ช่วงที่ท้าวมหาพรหมต้องการช่วงชิงบัลลังก์จากหลานคือ พระญาแสนเมืองมานั้น เมื่อสู้หลานไม่ได้ ต้องลงมาขอกองกำลังจากทางใต้ให้ขึ้นไปช่วย

“เจ้าท้าวมหาพรหมลงไปพึ่งพระญาใต้ (หมายถึงเมืองที่อยู่ทางใต้ล้านนาลงไป คือรัฐแถบสุโขทัย สองแคว กำแพงเพชร) ไปมักเมียพระญาใต้… ในขณะนั้น เมียพระญาใต้ลักเอาพระสีหิงค์ให้แก่ท้าวมหาพรหม”

เกิดอะไรขึ้นล่ะหรือ ตกลง “แม่หลวง” มีสัมพันธ์สวาทกับใครกันแน่? ข้อความตอนนี้คล้ายกับจะบอกว่า แม่ของเจ้าเมืองกำแพงเพชรเองก็มีใจปฏิพัทธ์ซึ่งกันและกันกับท้าวมหาพรหม ถึงขนาดแอบเอาพระพุทธสิหิงค์ให้?

ทั้งๆ ที่ตำนานพระพุทธสิหิงค์ทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันว่า กว่ากำแพงเพชรจะได้พระพุทธสิหิงค์มาจากอยุธยานั้น แม่หลวงต้องเอาตัวเข้าแลกเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายให้กับพระเจ้าอู่ทองมาแล้วครั้งหนึ่ง

เราไม่ควรมองข้ามเหตุการณ์เรื่องนี้ว่าเป็น “แค่ตำนาน” ไร้สาระ ดิฉันกลับรู้สึกสนใจเรื่องบทบาทของ “แม่เจ้าเมือง” ที่ถูกบันทึกไว้อย่างน้อยสองครั้งเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธสิหิงค์ ในทำนองว่ามีการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือหรือนางนกต่อเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าสตรีนางนั้นจะเป็นแม่หรือเมียก็ตาม

ซ้ำเมื่อมีศึกจากผู้รุกราน หากประเมินกองทัพแล้วว่าฝ่ายเราสู้ไม่ไหว ก็ให้ผู้หญิงอีกนั่นแหละที่เป็นฝ่ายเสียสละยอมกายยอมตน ยิ่งฝ่ายท้าวมหาพรหม “มักเมียพระญาใต้” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม่หลวงเองก็คงเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องแอบเอาของคู่บ้านคู่เมืองให้ผู้แข็งแกร่งกว่าไปเพื่อแลกกับการมิให้บ้านเมืองต้องเสียเลือดเสียเนื้อ

ตำนานกล่าวต่อไปว่า เมื่อท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์แล้ว นำกลับมาถวายให้ยุวกษัตริย์แสนเมืองมาผู้เป็นหลาน แสนเมืองมาจึงไม่ถือโทษโกรธเคือง ยกเมืองเชียงรายคืนให้พระเจ้าอาว์ท้าวมหาพรหมปกครองดังเดิม



พระพุทธสิหิงค์ ในวิหารลายคำ ภาพปกจากหนังสือที่จัดทำโดยวัดพระสิงห์ เชียงใหม่

ท้าวมหาพรหมได้พระพุทธสิหิงค์ยุคไหน พระญากือนาหรือยุคพระญาแสนเมืองมา.?

สิหิงคนิทานกับสีหลปฏิมา กล่าวตรงกันว่า การได้พระพุทธสิหิงค์ของท้าวมหาพรหมนั้น ได้มาตั้งแต่สมัยพระญากือนายังมีพระชนม์ชีพ โดยที่ท้าวมหาพรหมลงไปกำแพงเพชรเพราะกิตติศัพท์ความงามความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์จำลองที่หล่อขึ้นโดยพระภิกษุรูปหนึ่งนั่นแท้เทียว

หาได้เกี่ยวข้องกับศึกชิงบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ ที่อาสู้หลานไม่ได้หลังพระญากือนาสวรรคต จนต้องหนีไปพึ่ง “พระญาใต้” ตามที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุไว้ แต่อย่างใดไม่

ไม่ว่าพระพุทธสิหิงค์จักขึ้นมาสู่ล้านนาในยุคของพระญากือนาหรือพระญาแสนเมืองมากันแน่ อย่างน้อยที่สุดเอกสารทั้งหมดนี้ช่วยให้เราสามารถอธิบายถึงเหตุการณ์อันอีนุงตุงนังได้ว่า เป็นช่วงที่เมืองเชียงรายกับเชียงใหม่กำลังแย่งชิงอำนาจกันอย่างรุนแรง

เป็นช่วงที่เชียงรายลงไปขอกองกำลังจากสุโขทัยให้ขึ้นมาช่วยรบที่เชียงใหม่ แต่ช่วงนั้นสุโขทัยเองก็แทบล่มสลายแล้ว อันเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่กรุงศรีอยุธยาเริ่มรุกคืบกลืนกินแคว้นสุโขทัย และขยายบทบาทให้เมืองสองแควพิษณุโลกค่อยๆ เติบโตแทนที่

ประเด็นที่ควรวิเคราะห์คือ แล้วเมืองกำแพงเพชรเล่า ตั้งอยู่ ณ จุดยุทธศาสตร์ กึ่งกลางระหว่างสามรัฐใหญ่ คือสุโขทัยที่เคยผูกพันกันมาแต่เก่าก่อน ทว่า ใกล้สูญสิ้นบทบาทแล้ว กับอยุธยาอันเกรียงไกรที่แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาเมืองเหนืออย่างไม่หยุดยั้ง

กำแพงเพชรต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าควรไปสวามิภักดิ์กับทางล้านนา รัฐในลุ่มน้ำปิงเดียวกัน หรือไม่ จึงได้ตัดสินใจยกพระพุทธสิหิงค์ให้ไป

เรื่องราวของตำนานพระพุทธสิหิงค์จึงมิใช่แค่นิทานปรัมปรา หากเป็นภาพสะท้อนของเหตุการณ์ทางการเมืองของรัฐไทยหลายแว่นแคว้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 กำลังช่วงชิงอำนาจกันอยู่อย่างดุเดือด

“ศึกพระพุทธสิหิงค์” ยังไม่จบดีนัก ยิ่งเขียนยิ่งขุดคุ้ยยิ่งเจอปมใหม่ประเดประดังผุดขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ท้าวมหาพรหมนำพระพุทธสิหิงค์มาจากกำแพงเพชร เมืองนี้ประดิษฐานพระแก้วมรกตด้วยเช่นกัน

จึงขอรวบยอดปมปริศนาทั้งหมดทั้งมวลไปไว้ในคราวเดียวกันกับที่ดิฉันจะวิเคราะห์ถึงพระแก้วมรกตอย่างละเอียดอีกครั้ง •


 


 
ขอขอบตุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2566
คอลัมน์ ; ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/culture/article_671690
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ