ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วัฒนธรรมอินเดีย ในวรรณกรรมไทย  (อ่าน 225 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
วัฒนธรรมอินเดีย ในวรรณกรรมไทย
« เมื่อ: เมษายน 01, 2023, 05:59:41 am »
0




วัฒนธรรมอินเดีย ในวรรณกรรมไทย

วัฒนธรรมอินเดียแผ่ถึงอุษาคเนย์โดยอาศัยไปกับการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทร หลังจากนั้นภาษาและวรรณกรรรมไทยผสมผสานกับวัฒนธรรมอินเดียผ่านภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์แพร่หลายในกลุ่มชนชั้นนำที่มีไม่มากนักเพื่อผดุงอำนาจพวกตนเหนือคนกลุ่มอื่น ส่วนประชาชนสามัญเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก จึงไม่เข้าถึงภาษาและวรรณกรรมเหล่านั้น

สำเนียงพูดของภาษาไทย (ไท-ไต) ถ้าจะมีสมัยนี้น่าจะเป็น “สำเนียงเหน่อ” แบบสำเนียงพูดกลุ่มคนลุ่มน้ำโขง

ภาษาและวรรณกรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักฐานว่าไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์อย่างแยกมิได้ ทั้งในแง่ดินแดนและผู้คนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องจนปัจจุบัน

ต่อมาภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์เข้าสู่ความก้าวหน้าและทันสมัยด้วยการผสมผสานวัฒนธรรมอินเดียซึ่งแผ่เข้าไปทางทะเลสมุทรโดยอาศัยไปกับการค้าระยะไกล หลังจากนั้นภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์ที่รับวัฒนธรรมอินเดียเข้าไปผสมผสานแข็งแรงแล้วก็ส่งแบบแผนสำคัญให้ไทย คือ ภาษาและวรรณกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ แต่ที่สำคัญมากคือแบบแผนตัวอักษร ได้แก่ อักษรเขมรและอักษรมอญ เป็นต้นแบบอักษรไทยสร้างสรรค์ภาษาและวรรณกรรมไทย

วัฒนธรรมอินเดียในที่นี้มี 2 ความหมาย ได้แก่

1. หมายถึงวัฒนธรรมอินเดียใต้ซึ่งเป็นดินแดนรัฐทมิฬ เป็นต้นแบบการสร้างปราสาทหิน, ตัวอักษรปัลลวะ, มหากาพย์มหาภารตะและรามายณะ (รามเกียรติ์), คำว่าโขน เป็นต้น (คำว่า ทมิฬ ในภาษาทมิฬ แปลว่า คน แต่ในภาษาไทยแปลว่า ดุร้าย, โหดร้าย เพราะรับความหมายจากลังกาซึ่งมีอคติต่อทมิฬเนื่องจากมีความขัดแย้งกัน)

2. หมายถึงวัฒนธรรมดั้งเดิม (ซึ่งคัมภีร์เก่าเรียกชมพูทวีป) ที่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมเปอร์เซีย (อิหร่าน) และวัฒนธรรมกรีก เป็นต้น ที่อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย-กรีก”


@@@@@@@

การเข้าถึงอุษาคเนย์ของวัฒนธรรมอินเดีย

วัฒนธรรมอินเดียเข้าถึงอุษาคเนย์มีลำดับดังนี้

1. สุวรรณภูมิ นักเสี่ยงโชคการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรเข้าถึงดินแดนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์เพื่อขนแร่ธาตุสำคัญไปค้ากับกรีก ได้แก่ ทองแดง, ดีบุก และเทคโนโลยีทองสำริด (ไม่ใช่ทองคำ)

ต่อมาบรรดานักเสี่ยงโชคนานาชาติพากันเรียกดินแดนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ว่า “สุวรรณภูมิ” แปลว่า ดินแดนทอง (ไม่ใช่ทองคำ)

2. อินเดีย-จีน ต่อจากนั้นขยายเส้นทางการค้าไปทางทิศตะวันออกถึงจีน เมื่อค้ากับจีนกว้างขวางทำให้เติบโตเป็นการค้าโลก

3. ศาสนา หลังสุวรรณภูมิเติบโตแล้ว ด้วยเล็งเห็นความมั่งคั่งมหาศาลทางการค้ากับสุวรรณภูมิ ทำให้ศาสนาพุทธจากลังกาแผ่ถึงสุวรรณภูมิ (โดยอ้างอิงความศักดิ์สิทธิ์ย้อนยุคถึงพระเจ้าอโศก)

@@@@@@@

วรรณกรรมของคนชั้นนำ ไม่ใช่คนทั่วไป

ภาษาและวรรณกรรมอินเดียเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธเป็นที่รับรู้ในกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น ส่วนประชาชนคนสามัญเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก เข้าไม่ถึงอักษร, ภาษา และวรรณกรรมเหล่านั้นจากอินเดีย ไม่ว่านิทาน, ชาดก, คัมภีร์ไตรภูมิ, รามายณะ, มหาภารตะ หรืออื่นๆ คนพื้นเมืองจะรู้บ้างสมัยหลังๆ ก็โดยผ่านการบอกเล่าจากนักบวชและผู้รู้อื่นๆ

วัฒนธรรมอินเดียและวรรณกรรมทางศาสนาจากอินเดีย เมื่อถึงอุษาคเนย์ได้ถ่ายทอดสู่คนชั้นนำพื้นเมืองตามประเพณีดั้งเดิมโดยผ่านล่าม (ผู้รู้ด้านนี้เชื่อว่าสมัยนั้นในอินเดียมีตัวอักษร และมีเทคโนโลยีจารใบลานกับเขียนบนผ้า แต่ยังไม่ถูกใช้งานสู่ภายนอก)

คนชั้นนำ หมายถึง หัวหน้าเผ่าพันธุ์ (chiefdom) และเครือญาติ ซึ่งมีทั้งหญิงและชายที่เป็นผู้ชำนาญความรู้ต่างๆ รวมทั้งเป็นหัวหน้าพิธีกรรม ได้รับยกย่องเป็นหมอ ได้แก่ หมอมด, หมอขวัญ เป็นต้น (ไม่ใช่บุคคลทั่วไป)

ถ่ายทอดตามประเพณี หมายถึง ถ่ายทอดแบบดั้งเดิมด้วยวิธีท่องจำปากเปล่าหรือปากต่อปากและตัวต่อตัว มีตัวอย่างสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรียนบาลีแบบท่องจำ, ท่องปาฏิโมกข์, ท่องคาถาสวดมนต์, เรียนดนตรีไทยไม่มีโน้ต ต้องท่องจำทำนองด้วยการ “ต่อเพลง” กับครูทีละท่อนทีละตอนนานหลายวันกว่าจะจบเพลง เป็นต้น

ล่าม หมายถึง ผู้รู้หลายภาษาทั้งภาษาพื้นเมืองอุษาคเนย์และภาษาอินเดีย ทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือแปลคำพูดจากภาษาหนึ่งสู่ภาษาหนึ่ง ซึ่งน่าเชื่อว่าล่ามเป็นชาวมลายู เพราะชำนาญการค้าทางไกลผ่านทะเลสมุทรมาเก่าแก่ก่อนหน้านั้นหลายร้อยหลายพันปี จึงคุ้นเคยภาษาแลกเปลี่ยนติดต่อสนทนากับชาวอินเดียและนานาชาติ [เมื่อถึงสมัยอยุธยา ชาวมลายูได้รับยกย่องเป็นขุนนางข้าราชการชั้นสูงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ดูแลการค้าและติดต่อการค้าตะวันตก (อินเดีย, ตะวันออกกลาง, ยุโรป)]

ข้อความศักดิ์สิทธิ์ขนาดสั้นๆ จะถูกเขียนด้วยตัวอักษรบนวัตถุคงทน เช่น อิฐเผา, แท่งหิน ฯลฯ แล้วติดตั้งอย่างถาวรกับศาสนสถาน เสมือนบอกกล่าวป่าวร้องให้เป็นที่รับรู้แก่ปวงผีและเทวดาอารักษ์ซึ่งสิงสู่อยู่บริเวณนั้น หรือพื้นที่ของอำนาจรัฐนั้น


@@@@@@@

ข้อความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ปัจจุบันนักวิชาการเรียก “จารึก” แล้วมีคำอธิบายว่าเป็น “ประกาศ” ให้คนทั่วไปสมัยนั้นได้อ่านเพื่อรับรู้ข่าวสารทั่วกัน แต่ในสภาพความจริงประชาชนคนทั่วไปสมัยนั้นเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก นอกจากนั้นยังไม่มีโอกาสเข้าถึง “จารึก” ซึ่งอยู่กับศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์อันเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับคนชั้นนำ

อ่าน, ดู, ฟัง ภาษาและวรรณกรรมทางศาสนาจากอินเดียสมัยเริ่มแรกเข้าถึงอุษาคเนย์ แล้วถูกส่งถึงคนจำนวนหนึ่ง (ไม่ถึงคนทั้งหมดทุกระดับสมัยนั้น) ด้วยวิธีต่างกัน 3 อย่าง ได้แก่ อ่าน, ดู, ฟัง ล้วนเป็นข้อมูลความรู้พื้นฐานเพื่อการสร้างสรรค์ภาษาและวรรณกรรมของอุษาคเนย์ รวมทั้งของไทยต่อไปข้างหน้า

อ่านออกเสียง คนจำนวนหนึ่งมีไม่มากเป็นบุคคลพิเศษ “อ่านออกเสียง” ข้อความทางศาสนาที่จารึกไว้ด้วยอักษรและภาษาศักดิ์สิทธิ์ แล้วจดจำบอกเล่าสู่คนต่อไปในแวดวงไม่กว้างใหญ่นัก คนจำนวนไม่มากเหล่านั้นมักเป็นนักบวชที่รู้ภาษาและอักษรจากอินเดีย (คนจำนวนมากหรือเกือบหมดล้วนเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก)

ดูด้วยตา คนกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสดูรูปเล่าเรื่องทางศาสนาซึ่งรู้จักสมัยหลังว่านิทานและชาดก แล้วรู้กันต่อมาว่าเรียกรูปปูนปั้น, รูปสลักหิน

รูปเล่าเรื่องไม่พบทั่วไป แต่มีเฉพาะปูชนียสถานสำคัญของ “รัฐ” ซึ่งสามัญชนคนทั่วไปเข้าถึงยากและยากมากหรือไม่มีโอกาสเลย ได้แก่ ปูนปั้นเจดีย์จุลประโทน เมืองนครปฐมโบราณ (อ.เมืองฯ จ.นครปฐม), เสมาหิน เมืองฟ้าแดดสงยาง (อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์) เป็นต้น

ฟังด้วยหู คนจำนวนไม่น้อยฟังคำบอกเล่าทางศาสนาด้วยคำคล้องจองแบบชาวบ้านจากนักบวช ซึ่งเรียกสมัยหลังว่าสวดหรือเทศน์ เช่น สวดมหาชาติ ที่ต่อไปข้างหน้าถูกพัฒนาเป็นเทศน์มหาชาติ

ฉันท์, กาพย์ ร้อยกรองศักดิ์สิทธิ์จากอินเดีย คือ ฉันท์และกาพย์ เข้าถึงอุษาคเนย์และไทยพร้อมศาสนาสมัยการค้าโลกเริ่มแรก ราวหลัง พ.ศ.1000 พบในจารึกหลายแห่ง เช่น จารึกบนแผ่นอิฐที่สุพรรณบุรี และแท่งหินเรียกจารึกเนินสระบัว อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี (บทสวดมนต์ภาษาบาลีแต่งด้วยฉันท์)

@@@@@@@

วัฒนธรรมอินเดียผดุงอำนาจชนชั้นนำ

วัฒนธรรมอินเดียมีศักยภาพสูงในการเพิ่มพลังทางภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์รวมทั้งไทย เพื่อผดุงอำนาจชนชั้นนำเหนือคนกลุ่มอื่น

อำนาจของราชาหรือกษัตริย์และสถานะของราชาหรือกษัตริย์เสมอด้วยพระพุทธเจ้ามีขึ้นจากระบบความเชื่อซึ่งได้จากวรรณกรรมทางศาสนาของอินเดีย ต่อมามีชื่อเรียกเป็นคติต่างๆ ว่า คติจักรพรรดิราช, คติเทวราช, คติธรรมราช, คติโพธิสัตว์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นพลังให้มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมชั้นสูงของไทยสมัยต่อไป เพื่อสรรเสริญราชาหรือกษัตริย์ และสรรเสริญกรุงซึ่งเป็นที่ประทับและศูนย์กลางอำนาจเหล่านั้น

วรรณกรรมชั้นสูงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อพิธีกรรมตามประเพณีในราชสำนัก ไม่ได้มีขึ้นเพื่อการอ่านทั่วไป (ตามลักษณะปัจเจกอย่างที่มีอ่านกันทุกวันนี้) ดังนั้น ผู้อ่านวรรณกรรมจึงมีจำกัดคัดลอกในกลุ่มคนชั้นสูงจำนวนไม่มาก ส่วนประชาชนพลเมืองทั่วไปไม่รับรู้ เพราะเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

ศาสนาเพื่อการเมือง ศาสนามิได้แยกอยู่อย่างลอยๆ หรือโดดเดี่ยวจากสังคมและการเมือง แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการเมืองหลายพันปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรับจากอินเดียและลังกา (หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์) สืบเนื่องถึงหลังรับจากอินเดียและลังกาตราบจนปัจจุบัน (อินเดียและลังกาใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อขยายการค้าทางทะเลสู่อุษาคเนย์ ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักปราชญ์และนักวิชาการในสากลโลก)


@@@@@@@

อุษาคเนย์ประกอบด้วยคนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ซึ่งแต่ละเผ่าพันธุ์มี “ผี” ของตนเสมือนมี “ร้อยเผ่าพันผี” ต่างขัดแย้งกันเมื่อยกย่อง “ผี” กลุ่มของตนอยู่เหนือ “ผี” กลุ่มอื่น ดังนั้น คนชั้นนำพื้นเมืองเลือกรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธมาใช้งานการเมืองการปกครองเพื่อหลอมคน “ร้อยเผ่าพันผี” มาร่วมนับถือศาสนาและ “ศาสดา” เดียวกัน ซึ่งเป็นศาสนาใหม่ประสมกลมกลืนระหว่างผี, พราหมณ์, พุทธ นับแต่นั้นศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ ถูกใช้งานการเมืองของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (เพศชาย) ในการปกครองคนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000

ศาสนาจากอินเดียมีพลังอำนาจยกฐานะของหัวหน้าเผ่าพื้นเมือง (นักวิชาการบอกว่าตรงกับศัพท์สากลว่า Chiefdom) ขึ้นเป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” จากนั้นศาสนาจากอินเดียทำหน้าที่ผู้พิทักษ์โดยผ่านพิธีกรรมและภาษากับวรรณกรรม

วัฒนธรรมอินเดียเพื่อผดุงอำนาจชนชั้นนำและเป็นสาระสำคัญของภาษาและวรรณกรรมไทย คือข้อมูลความรู้หลายอย่างเป็นแกนหลักทางศาสนา-การเมือง ได้แก่ กำเนิดโลกและมนุษย์, จักรพรรดิราช, สมมุติราช, เทวราช, มหาภารตะ-รามายณะ •


 

 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/culture/article_658675
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ