ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อัศจรรย์แห่งจิต และธรรมที่ปรุงแต่งจิต  (อ่าน 701 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





อัศจรรย์แห่งจิต และธรรมที่ปรุงแต่งจิต

ในภาพ.....

- ในขณะที่ตา (จักขุวิญญาณจิต) เห็นภาพ ความสามารถของจักขุวิญญาณจิต (จิตที่ทำหน้าที่เห็น) จะเห็นได้เพียงสีต่าง ๆ เท่านั้น แม้ชื่อของสี (ขาว, ดำ, แดง, น้ำเงิน) ก็ยังไม่รู้ด้วย

- แต่พอวิถีทางจักษุดับลง ก็เข้าสู่วิถีทางใจ หรือมโนทวารติดต่อกัน เป็นตทนุวัตติกมโนทวารวิถี คือวิถีจิตที่รับอารมณ์ต่อจากปัญจทวาร (ในที่นี้กำลังพูดถึงจักขุทวาร)

- วิถีทางมโนทวารที่เกิดต่อจากวิถีที่เห็นทางจักขุทวารนั้น จะมี ๔ วิถี คือ

     ๑. อตีตัคคหณวิถี คือวิถีที่ยึดเอารูปารมณ์ที่เกิดทางตาที่ผ่านไปแล้วทางจักขุทวารนั้นมานึกคิด
     ๒. สมูหัคคหณวิถี จิตในทางมโนทวารวิถีนั้น จะรวบรวมภาพ (สีต่างๆ) คือในขณะที่ตามองเห็น วิถีนี้จะรวบรวมภาพทั้งหมด ไม่ได้จับเอาเพียงจุดใดจุดหนึ่ง
     ๓. อัคถัคคหณวิถี วิถีจิตต่อมา จิตจะตีค่าของสิ่งที่ตาเห็นนั้น เป็นอัตถบัญญัติ คือคิดพ้น หรือล่วงเลยไปจากภาพที่อยู่บนกระดาษ กลายเป็นวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาศัยความสัมพันธ์กันของสีต่าง ๆ ที่ปรากฏในแต่ละส่วน ๆ ซึ่งไม่เท่ากัน
     ๔. นามัคคหณวิถี วิถีจิตต่อมาจะรับนามบัญญัติ คือชื่อของรูปร่างที่เห็นว่าเป็นอะไร ดังเช่นในภาพ จิตทางมโนทวาร จะรวบรวมแล้วบอกว่านี่คือ ภาพคน ที่ใส่ชุดว่ายน้ำ เป็นสีดำ สวมหมวกสีแดง มีริมฝีปากสีแดง มีผิวสีขาว ที่จิตคิดได้อย่างนั้น ก็เพราะอาศัยประสบการณ์ อาศัยสัญญาความจำได้หมายรู้ ที่ตนได้พบเห็นและรับรู้มาก่อน คือสิ่งที่จิตเคยเสพคุ้นมาก่อน ให้ปรากฎเด่นชัดที่สุด

@@@@@@@

ด้วยอำนาจของจิตที่เกิด-ดับอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ตามองเห็น เพียงแค่ครึ่ง หรือ ๑ วินาที จิตจะเกิด-ดับ ได้ถึง แสนโกฏิขณะ ประมาณ ๑ ล้านล้านขณะ ถ้าคำนวณเป็นวิถีจิต ก็จะได้ประมาณ ๕๗ ล้านวิถีจิต เพียงพอที่จะทำให้ธรรมทั้งหลาย (เจตสิกธรรม) ได้เข้าไปปรุงแต่งจิต ด้วยอำนาจแห่งความคุ้นเคย หรือประสบการณ์ที่ตนได้เคยเห็นมาแล้ว จากสื่อทางใดทางหนึ่งฯ

นี่ คือความพิสดาร ของจิต และความพิเศษของพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีศาสตร์ใดในโลก สามารถสอนได้ พุทธศาสนาเท่านั้น ที่สามารถบอกได้ว่า “ตา คือจักษุวิญญาณนั้น เห็นได้ รับรู้ได้เพียงแค่สีต่าง ๆ เท่านั้น ไม่สามารถเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้”

ส่วนที่เห็นเป็นรูปร่างได้นั้น เป็นส่วนของจิตที่พ้นจากตา คือจักษุวิญญาณไปแล้ว เป็นจิตที่เกิดทางมโนทวาร เป็นดุจมโนภาพ, หรือจินตภาพ ที่อาศัยประสบการณ์ ความคุ้นเคย ที่ได้สั่งสมมานานแสนนาน ประกอบกันเข้า ทำให้สิ่งที่ตาเห็นนั้น กลายเป็นรูปร่างของคนได้ (ทั้งๆ สิ่งที่เห็น เป็นเพียงสีต่างๆ ที่เข้ม หรือจาง ที่ตัดกันไปมาเท่านั้น)

หากภาพที่ปรากฏนั้น ไปปรากฏแก่พระโยคีบุคคล ผู้เจริญอสุภกรรมฐาน ภาพที่เห็นนั้น ก็จะมีความแตกต่างไปจากความรู้สึกนึกคิดของปุถุชน ผู้ไม่เคยฝึกฝนจิตเกี่ยวกับอสุภกรรมฐาน

ถ้าภาพนี้ ไปปรากฎแก่ผู้ที่กำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้ญาณสูงๆ ภาพที่เห็นนี้ก็จะเป็นเพียงสีต่าง ๆ เท่านั้น ความรู้สึกว่า เป็นคนที่สวยงาม อันจะก่อให้เกิดความยินดีด้วยอำนาจแห่งโลภ-ตัณหา ก็จะไม่มี


     @@@@@@@

     จึงมีคำถามกับนักปฏิบัติว่า “อะไรเอ่ย สิ่งที่เห็นไม่ได้อยาก, สิ่งที่อยาก ไม่ได้เห็น”.?
     คำตอบ ก็คือ ตา คือจักขุวิญญาณ ทำหน้าที่เห็น, และตาก็ทำหน้าที่เห็นเฉยๆ ไม่ได้ทำหน้าที่อยาก, ส่วนโลภะชวนะ เป็นตัวทำหน้าที่อยาก คือติดใจในอารมณ์ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เห็น นี้จึงเรียกว่า “สิ่งที่เห็นไม่ได้อยาก, สิ่งที่อยากก็ไม่ได้เห็น”

ทุกคนอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ จิตของคนเรา ได้มีประสบการณ์ ได้คุ้นเคยกับบัญญัติมานมนานกาเล…ไม่มีความรู้ในปรมัตถ์ พอเห็น หรือได้ยินปุ๊บ บัญญัติปรุงแต่งทันที ตาทั้ง ๆ ที่เห็นได้เฉพาะสีต่างๆ หู ทั้งๆ ที่ได้ยินเพียงเสียงต่างๆเท่านั้น ด้วยความรวดเร็วของจิต ด้วยความเสพคุ้นของจิต ทุกๆครั้งที่เห็น กลายเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เกิดความชอบ ไม่ชอบ และแสดงพฤติกรรมต่ออารมณ์ที่ประกฎนั้นในลักษณะต่างๆ

ทุกครั้งที่หูได้ยิน เพราะอาศัยความเสพคุ้น และประสบการณ์ที่สั่งสมหมักดองมานานในจิตใจกลายเป็นว่า เสียงที่ได้ยินไม่ใช่แค่ได้ยินเฉยๆ แต่กลายเป็นเสียงชื่นชมบ้างเสียงด่าบ้าง เสียงใสร้ายป้ายสีต่างๆบ้าง กลายเป็นว่า เสียงนั้นเป็นสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้น หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการแสดงพฤติกรรมต่างๆออกมา กลายเป็นกรรม ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้าตัวปรุงแต่งดี พฤติกรรมก็อาจจะแสดงออกในทางที่ดี ถ้าตัวปรุงแต่งไม่ดี เป็นอกุศล พฤติกรรมที่แสดงออกมาก็เป็นไปในทางไม่ดี เป็นอกุศล

ข้อปฏิบัติที่สำคัญ คือ สติ เพราะสติ ทำหน้าที่กั้นกระแส คือกระแสแห่งความยินดี ด้วยอำนาจแห่งโลภะ, และความยินร้าย ด้วยอำนาจแห่งโทสะ (สติมา สมฺปชาโน วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ)





ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2019/04/24/อัศจรรย์แห่งจิต-และธรรม/
บทความของ VeeZa ,๒๕ เมษายน ๒๕๖๒
24 เมษายน 2019 posted by admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ