ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สมาทานศีลที่ใจใช่วาจา และทำบุญให้ได้บุญ  (อ่าน 403 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



สมาทานศีลที่ใจใช่วาจา และทำบุญให้ได้บุญ

คนไทยเป็นคนใจบุญสุนทาน ชอบเข้าวัดทำบุญ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะในฐานะพุทธศาสนิกชนหรืออุบาสกอุบาสิกา  เราควรร่วมกันสืบพระบวรพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ฉันสังเกตเห็น จากคนรอบข้างแล้วแปลกใจสงสัยคือ พวกเขาเข้าใจคำว่า “ศีล” และ “บุญ” มากน้อยแค่ไหน

เพื่อนบ้านของฉันคนหนึ่งมักไปเข้าวัดทำบุญทุกวันพระ เธอชวนฉันไปด้วยบ่อย ๆ แต่ฉันไปด้วยไม่ได้เนื่องจากไม่มีคนเฝ้าร้านให้ ก็ได้แต่อนุโมทนาไปกับเธอ วันหนึ่งเธอมาถามฉันว่า “มีเคล็ดลับอะไรดี ๆ ก็บอกกันบ้างสิ” ฉันงงว่าเรื่องอะไร เธอก็บอกว่า “ใครเขาบอกมาล่ะว่ารับเลี้ยงหมาแมวจรจัดเยอะ ๆ แล้วจะมีโชคลาภ” ฉันจึงได้ถึงบางอ้อ คงเพราะเธอเห็นว่าร้านของฉันคนเข้าเยอะ กิจการดำเนินไปได้ด้วยดี คงเกิดจากการที่ฉันรับเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัดจำนวนมาก ฉันบอกไปตามตรงว่าไม่มีใครบอก ที่ทำไปเพราะความสงสารล้วน ๆ เธอทำหน้าเหมือนคลางแคลงใจ แต่ก็ไม่พูดอะไร

@@@@@@

หลายวันต่อมา เธอร้องไห้โฮมาหาฉันที่บ้านแล้วถามว่า เธอจะบาปไหมที่เธอทำหมาตายไปหนึ่งตัว เนื่องจากมีลูกหมาหลงตัวหนึ่งมายืนอยู่หน้าบ้านเธอ ด้วยความที่เธอไม่ชอบสัตว์ จึงกระทืบพื้นเสียงดังไล่ลูกหมา ลูกหมาตัวนั้นตกใจวิ่งออกถนนแล้วถูกรถทับ ตายไปต่อหน้าต่อตาเธอ

ฉันไม่รู้จะปลอบอย่างไร ได้แต่บอกว่า ฉันเข้าใจว่าคนเราไม่ได้รักสัตว์กันทุกคน แต่อย่างน้อยเราก็ควรมีเมตตา เมตตาธรรมค้ำจุนโลก เราโชคดีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่ควรไปเบียดเบียนเดียรัจฉาน เพราะเขาเกิดมาใช้กรรมมากพอแล้ว

นอกจากนี้ความเมตตายังเป็นข้อแรกในพรหมวิหาร 4 อันเป็นธรรมที่ควรยึดถือปฏิบัติด้วย ได้แก่ เมตตา คือ ปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตา คือ ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข และ อุเบกขา คือ การวางใจเป็นกลาง


Photo by venwardo on Unsplash

หลังจากนั้นไม่นานนัก ฉันก็ได้ฟัง เรื่องราววุ่นวายจากญาติคนหนึ่งซึ่งโทรศัพท์มาปรับทุกข์เรื่องลูกชายของเธอ

ครอบครัวนี้ชอบเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันเกือบทั้งบ้าน ไปถือศีลที่วัดกันคราวละหลายวัน โดยเฉพาะหลานชายของฉันคนนี้ นอกจากมีชื่อเป็นคำศัพท์ทางพุทธศาสนาแล้ว ยังชอบเข้าวัดถือศีลเป็นนิจ บวชเณรภาคฤดูร้อนไม่เคยขาดและทำด้วยความสมัครใจ พ่อแม่ไม่เคยบังคับ อีกทั้งยังเป็นเด็กเรียนดี มารยาทงาม จนได้รับคำชมจากครูประจำชั้นและผู้ใหญ่หลายคนเสมอๆ

แต่แล้ววันหนึ่ง เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อแม่ของหลานพบว่าเงินที่เก็บไว้ใช้ฉุกเฉินจำนวนหลายพันบาทหายไปจากหัวเตียง ทีแรกเธอเข้าใจว่าอาจย้ายที่เก็บแล้วหาไม่เจอเอง แต่เมื่อค้นบ้านแล้วเห็นของเล่นชิ้นหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในห้องของลูกชาย จึงไปคาดคั้นเอาความจริงจากเขา ลูกชายก็ยอมรับและบอกว่าก็แค่เอาเงินไปซื้อของเล่นใหม่ เพราะเคยขอแล้ว แต่แม่ไม่ซื้อให้ เธอทั้งผิดหวังและโมโหจึงตีเขาอย่างแรง เธอมาเล่าให้ฟังว่า ไม่เข้าใจว่าลูกชายที่ทั้งเรียนเก่งและชอบเข้าวัดถือศีลเป็นประจำ จะ “ขโมย” เงินได้อย่างไร

@@@@@@

ฉันบอกว่า การ “จำได้” ก็เรื่องหนึ่ง แต่ความ “เข้าใจ” ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลานฉันท่องศีลข้อที่ 2 ได้ คือ “อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้” ข้ออื่น ๆ ก็ท่องได้ แต่เขาเข้าใจแต่ละข้อมากน้อยแค่ไหน เขาเข้าใจ หรือไม่ว่าคำว่า “ลักทรัพย์” หรือ “ขโมย” แปลว่า เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่อนุญาต คนเป็นพ่อหรือแม่ต้องสอนให้เขาเข้าใจด้วย ไม่ใช่เพียงท่องจำ มิเช่นนั้นการสมาทานศีลของเขาก็เป็นแค่ปากเปล่า ไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย

จากทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ฉันได้คิดว่า เราชาวพุทธที่เข้าวัดถือศีลฟังธรรมนั้นเข้าใจเรื่องบาปบุญมากแค่ไหน เช่น เข้าใจหรือไม่ว่าการทำทาน ซึ่งแปลว่าการให้นั้นจะได้บุญตามเจตนา คือ มีความปีติยินดีก่อนให้ มีความปีติยินดีระหว่างให้ และหลังจากได้ให้แล้ว เกิดความปีติยินดีในการให้ของตน อีกทั้งยังต้องทำบุญหรือให้ทานโดยประกอบด้วยปัญญาและเชื่อในกรรมและผลของกรรมด้วย

การถือศีลทำบุญทำทานเป็นเรื่องดี ทำให้จิตใจสงบผ่องใส ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่สิ่งสำคัญคือ การเข้าใจหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้และน้อมนำไปปฏิบัติ จึงจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้


 

ที่มา : นิตยสาร Secret
เรื่อง : สนิมสร้อย
Image by Jaesung An from Pixabay
Secret Magazine (Thailand) , IG @Secretmagazine
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/inspiration/167944.html
By ying ,5 August 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ