ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธทาสภิกขุ ยอดนักรบสุญญตา ที่มาของชื่อ ‘พุทธทาส ธรรมทายาทคนแรก’  (อ่าน 394 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




พุทธทาสภิกขุ ยอดนักรบสุญญตา ที่มาของชื่อ ‘พุทธทาส ธรรมทายาทคนแรก’
โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อประมาณ 1 ปีเศษ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ เขต 11 จ.นครศรีธรรมราชและได้ไปกราบนมัสการหลวงปู่ท่านพุทธทาส ณ สวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และได้หนังสือชื่อ “พุทธทาสภิกขุ ยอดนักรบสุญญตา” มา 1 เล่ม และได้อ่านแล้วโดยละเอียดเกิดความปีติมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ควรแก่การเผยแพร่ประเด็น อริยะวิทยาศาสตร์ของพระพุทธเจ้า ที่หลวงปู่ดำริเริ่มสร้างสรรค์จนสำเร็จให้แฟนมติชนและอนุชนรุ่นหลังได้รับทราบ

พุทธศาสนาทั้งหมด มีนิกายต่างๆ มากมายไม่น้อยกว่า 18 นิกาย แต่มีนิกายใหญ่ๆ อยู่เพียงสองนิกายคือ พุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท (หินยาน) และพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน

นิกายเถรวาทและนิกายมหายานแบ่งออกเป็น สยามวงศ์ รามัญวงศ์ มรัมมะระ หรืออมรปุรวงศ์ (ในลังกา) นิกายทวาร นิกาย สุธัมมา นิกายเวคิน (ในพม่า) มี คามวาสี อรัญวาสี หรือ มหานิกายกับ ธรรมยุติกนิกาย

สำหรับมหายานนั้น ยังมีแตกแยกสาขาเป็นนิกายย่อยๆ อีกเป็นอันมาก แม้กระนั้น พระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาได้ ก็ด้วยการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย การประพฤติ การปฏิบัติ และรู้แจ้งเห็นจริงในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ แม้ว่าพุทธศาสนาจะแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ อย่างไรนั่นเป็นเพียงความแตกต่างในเรื่องความประพฤติและความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่จะให้เข้าถึงพุทธภาวะ หรือวิมุติความหลุดพ้นเท่านั้น


@@@@@@

พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้ามีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ ความหลุดพ้น ความสุขสงบสันตินิรันดร์มีปฏิปทาเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นเป็นที่ตั้ง พุทธะที่แท้จริงจึงไม่มีเถรวาท ไม่มีมหายาน ไม่มีธรรมยุติกนิกาย หรือไม่มีมหานิกาย มีเพียงพุทธหนึ่งเดียว

ในทางพุทธศาสนาทุกๆ นิกาย แบ่งกิจการของพุทธบริษัทได้ 3 ขั้น คือ
     1. การเรียนรู้ เรียกว่า“ปริยัติธรรม”
     2. การทำจริงๆ ตามที่เรียนรู้มาแล้วนั้น เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม”
     3. การเก็บเกี่ยวผลอันเกิดจากการทำจริงนั้น เรียกว่า “ปฏิเวธธรรม”

ทั้งสามประการนี้คือจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาและเป็นพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ในบรรดาพระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสียุคนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระธรรมโกศาจารย์แห่งสวนโมกขพลาราม ได้รับการยกย่องอย่างสูงว่า ท่านเป็นพุทธสาวกที่มีความรู้ความสามารถในด้านปริยัติ เป็นพหูสูตในทางพุทธศาสนา แตกฉานในพุทธธรรมของพระพุทธเจ้า

@@@@@@

ท่านเป็นปราชญ์ทางธรรมซึ่งศึกษาค้นคว้าหลักธรรมทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมนั้นและท่านได้นำเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติ คือ การทำจริงๆ ตามที่เรียนรู้มาแล้วนั้น จนกระทั่งบรรลุผลแห่งโพธิจิต ท่านสามารถเก็บเกี่ยวผลอันเกิดจากการทำจริงที่เรียกปฏิเวธ ครบถ้วนตามกิจแห่งพระพุทธศาสนาทั้งสามประการ วิญญาณโพธิสัตว์ของท่านเปี่ยมล้นด้วยอุดมคติอันสูงสุดแห่งโพธิจิต มีเมตตากรุณา นำเอาหลักธรรมสั่งสอนสัตว์ให้ได้รับความสุข มีความกรุณาช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสรรพสัตว์ มีมุทิตาอนุโมทนาและยินดีเมื่อสัตว์พ้นทุกข์ และได้รับความสุข มีอุเบกขา คือ ไม่ยึดถือในความดีที่ท่านได้บำเพ็ญ และไม่หวังในการตอบแทนจากผลแห่งความดีนั้น

ในช่วงระยะเวลายาวนานหลายสิบปีที่ผ่านมา ธรรมทานอันเกิดจากปัญญาอันสะอาด สว่าง สงบ ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ญาณบารมี อิสระดุจเมฆในอากาศอย่างผู้บรรลุธรรม “สุญญาตา” (จิตว่าง) แสงสว่างแห่งธรรมทานของท่านสามรถส่งผลได้เกิดบารมีปณิธานขึ้นในพุทธจักร เกิดแรงดลใจให้พุทธบริษัทเกิดปัญญาในตนเอง มีปฏิปทาแรงกล้าต่อการยินดีในความเป็นผู้ปราศจากทุกข์ หมุนชีวิตของตนเข้าสู่เส้นทางธรรม นับเนื่องไม่ขาดสาย

ท่านพุทธทาสภิกขุมีญาณทัสนะที่ซื่อตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เข้าถึงสุญญตาธรรม นำบุคคลจำนวนมากเข้าสู่ร่องรอยของพระอรหันต์ สามารถทำให้บุคคลผู้บำเพ็ญเพียรละวางสละความยึดมั่นถือมั่นและละอัสมิมานะ ท่านกลายเป็นผู้อยู่เหนือโลก ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำให้เกิด “บุคคลสุญญตา” ขึ้นมาท้าทายสังคมมนุษย์ เพื่อให้โลกแลเห็นความสุขของอริยวิทยาศาสตร์ของพระพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์

นามของพุทธทาสภิกขุปรากฏขึ้นในพุทธจักร เมื่อปี พ.ศ.2475 อันเป็นปีที่ท่านยิงธนูแห่งดวงจิตจากเมืองไปสู่ป่า วัดร้างที่สวนโมกข์ ตำบลพุมเรียง ท่านเป็นผู้ที่ซึมซาบรสพระธรรมในพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์ เนื่องจากบิดามารดาเป็นผู้ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

@@@@@@

ท่านพุทธทาสภิกขุได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ.2469 หลังจากนั้น ท่านก็ได้มีโอกาสเดินทางเข้าศึกษาด้านปริยัติธรรมที่วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ ท่านศึกษาจนจบเปรียญ 3 (สอบเปรียญ 4 ยังไม่ได้) จึงตริตรึกนึกคิดหมุนชีวิตตามรอยพระอรหันต์ เดินทางกลับบ้านเกิดที่พุมเรียง เพื่อใช้ชีวิตปฏิบัติธรรมตามหลักธุดงควัตรของพระพุทธเจ้า

ท่านพุทธทาสได้เลือกสถานที่สัปปายะ ของโบสถ์ร้างในป่าพุมเรียงริมหนองน้ำตระพังจิก ขังชีวิตตนเองอยู่ในป่าแห่งนั้นยาวนานหลายปี โดยปฏิบัติตนถือสันโดษ ตัดขาดจากโลกภายนอกตามพระบาลีมหาสิตปฏิฐานสูตรที่ว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลายเพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมอันสัตว์พึงรู้ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งฯ”

    “ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ทั้งหลาย นั่นเรือนว่างทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท พวกเธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ต้องร้อนใจภายหลังเลย”

พุทธวจนะอันล้ำลึกนี้เปรียบเสมือนเสียงทิพย์แห่งโสต ซึ่งวิ่งวนอยู่ในจิตใจของท่านมหาเงื่อม อินทปัญโญ ซึ่งเป็นชื่อเดิมและฉายาทางพุทธศาสนาของท่าน เมื่อท่านได้ตระหนักในสัจธรรมดังกล่าวนั้นแล้วท่านจึงตั้งปณิธานตามพุทธประสงค์ในครั้งนั้นว่า ข้าพเจ้ามอบร่างกายและชีวิตถวายแก่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุด้วยว่ามานี้ข้าพเจ้าจึงมีชื่อว่า “พุทธทาส”

@@@@@@

ชื่อของท่านพุทธทาส เป็นนามธรรมที่ท่านสมมุติขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการรับใช้พระพุทธเจ้าเมื่อวันที่12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 และท่านก็ได้อุทิศชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติธรรมตามหลักอานาปานสติในพระพุทธศาสนา ศึกษาค้นคว้าหาแก่นพุทธธรรมคำสั่งสอนที่แท้จริงของพระบรมศาสดา ผลจากการปฏิบัติธรรมของท่าน ทำให้ท่านพุทธทาสมีดวงตาสว่างเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวง ท่านได้ใช้ญาณอันหยั่งรู้แทงทะลุพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ประดุจดังได้สดับจากพระโอษฐ์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเนื้อตัวของท่านเอง

เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุได้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ และปัญญาอันสว่าง สงบเย็นแก่ตนแล้ว วิญญาณแห่งโพธิสัตว์ของท่านหวนระลึกนึกถึงความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในโลก ท่านจึงน้อมนำเอาพระธรรมนั้นไปแจกจ่ายเป็นธรรมทานแก่เพื่อนมนุษย์ ประกาศพุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าโดยไม่จำกัดเพศ วัย หรือเชื่อชาติ

ท่านพุทธทาสภิกขุสร้างสวนโมกขพลารามขึ้นที่ป่าวัดร้างตำบลพุมเรียงเป็นแห่งแรก เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ เพื่อรื้อฟื้นการส่งเสริมปฏิบัติธรรมซึ่งย่อหย่อนลงในยุคนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุสร้างสวนโมกขพลารามเป็นอุทยานแห่งการหลุดพ้น เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อกวาดล้างสนิมหรือเสี้ยนหนามเป็นสำนักเผยแผ่ธรรมขั้นสูงของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนดังสวนป่าหรืออารามดั้งเดิมในครั้งพุทธกาล

ในช่วง 10 ปีแรกของสวนโมกขพลาราม กิจกรรมธรรมทานจากคำสอนของท่าน กลายเป็นเสียงปลุกให้พุทธจักรตื่นขึ้นมาสนใจธรรมะอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง มีผู้ที่สนใจในแนวทางการปฏิบัติธรรมของสวนโมกข์เพิ่มขึ้นอย่างมากมายและจริงจัง


@@@@@@

เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุทำหน้าที่ประกาศพุทธธรรมอยู่อย่างเข้มแข็งนั้น ท่านต้องทำงานอย่าโดดเดี่ยวแม้จะมีพระภิกษุสงฆ์ที่เข้าไปปฏิบัติธรรมในสวนโมกข์ หรือเป็นศิษย์รุ่นใหม่ของท่านเกิดขึ้น แต่จะหาสานุศิษย์ที่มีความสามารถสูงส่งในการเผยแผ่พุทธศาสนายังไม่ได้ หนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” เป็นหนังสือพุทธศาสนาเล่มแรกของสยามประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวความคิดของพุทธทาสภิกขุ โดยมีนายธรรมทาส พานิช แห่งคณะธรรมทาน เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา ท่านพุทธทาสภิกขุใช้หนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้เองเป็นสื่อกลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและคำสอนของท่าน

ในระหว่างนั้น มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งนาม ปัญญานันทภิกขุ เกิดขึ้นเป็นพระนักเทศน์ชื่อดังเคยเดินทางเท้าเปล่าจากเมืองไทยไปพม่ากับพระภิกษุชาวอิตาเลียนชื่อ พระโลกนาถ ท่านปัญญานันทภิกขุได้ชื่อว่าเป็นนักเทศน์เทียนดับ คือ สามารถแสดงธรรมได้จบขณะที่เทียนไขซึ่งจุดไว้หนึ่งเล่มดับพอดี ครั้งท่านปัญญานันทภิกขุแตกทัพกับพระโลกนาถมาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น

วันหนึ่งท่านก็ได้หยิบหนังสือพิมพ์พุทธศาสนารายตรีมาสขึ้นมา ตอนนั้นท่านบวชอยู่ในพรรษาที่ 2 แล้ว ท่านปัญญานันทภิกขุอ่านข้อเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุในหนังสือนั้น พบข้อความที่ปลุกใจ เร้าอารมณ์ ให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในด้านเสียสละเพื่อพระพุทธศาสนา แรงดลใจเสียงปลุกดังกล่าวนั้น ทำให้ท่านปัญญานันทะ อดรนทนอยู่ไม่ได้ท่านจึกเดินทางเข้าสู่สวนโมกข์ที่พุมเรียง ขออยู่ปฏิบัติธรรม และศึกษาแนวทางการประกาศพุทธธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ในปี พ.ศ.2476

@@@@@@

การเข้าไปอยู่ในสวนโมกขพลารามของท่านปัญญานันทภิกขุในขณะนั้น ท่านเคยกล่าวไว้ว่าเข้าไปอยู่ในฐานศิษย์ผู้หนึ่ง เพราะท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุอยู่ในฐานะผู้อาวุโสทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ แต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็เรียกท่านปัญญานันทภิกขุว่า น้องท่าน ถือเป็นสหายธรรมผู้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการเสียสละเพื่อพระพุทธศาสนา

ท่านปัญญานันทะได้อยู่กับพุทธทาสภิกขุระยะหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าท่านปัญญานันทะยังขาดพื้นฐานด้านปริยัติ ท่านพุทธทาสจึงแนะนำให้เดินทางไปศึกษาบาลีต่อที่วัดสามพระยากรุงเทพฯ หลังจากนั้นท่านปัญญานันทภิกขุก็ได้ไปอยู่ปีนัง จนกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุขอร้องให้ท่านปัญญานันทะกลับประเทศไทย เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สวนพุทธธรรม เชียงใหม่ประสบความสำเร็จเรื่อยมา

ท่านปัญญานั้นทะนั้นเป็นสหายธรรม เป็นผู้มีชีวิตเพื่อสืบทอดการประกาศพุทธธรรมของพระพุทธเจ้าตามแนวของท่านพุทธทาสดุจเงาตามตัว หากจะเปรียบเทียบอุปมาการศึกสงครามแล้วท่านพุทธทาสภิกขุนั้นเป็นเสนาธิการใหญ่ผู้คิดค้นวางแผนยุทธศาสตร์ ส่วนท่านปัญญานันทะนั้นเป็นผู้นำตำราพิชัยสงครามไปพลิกแพลงในเพลงรบได้ครบกระบวนยุทธ์ และประสบชัยชนะทั่วพุทธจักร

ท้ายสุดนี้จากท่านพุทธทาสภิกขุยอดนักรบสุญญตา แห่งสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้พัฒนาพุทธวิทยาศาสตร์ โดยการเจริญตามรอยพระอรหันต์ จากปี 2575 เป็นต้นมา ได้เกิดท่านปัญญานันทภิกขุจึงเป็นธรรมทายาทคนแรกของท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นพระธรรมทูตรูปแรกที่นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในประเทศไทยและต่างประเทศอีกด้วยครับ



ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/article/news_1618925
วันที่ 11 สิงหาคม 2562 - 13:00 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ