ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การภาวนาพุทโธเป็นบ่อบุญถึง ๔ บ่อ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)  (อ่าน 1658 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0

ธรรมโอวาท
ของ
พระวิสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ






การที่เรามานั่งภาวนา “พุทโธๆ”
โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างเดี๋ยวนี้
จัดว่าเป็นบ่อบุญถึง ๔ บ่อ เหมือนกับเรายิงนกทีเดียวแต่ได้นกตั้งหลายตัว
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การภาวนาเป็นมหากุศลอันเลิศ
ที่ว่าเราได้บุญถึง ๔ บ่อนั้น คืออะไรบ้าง


ประการที่ ๑ เป็น “พุทธานุสติ”

เพราะขณะที่เรากำหนดลมและบริกรรมว่า “พุทโธๆ” นั้น
เราได้น้อมเอา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ
เข้าไปไว้ภายในใจของเราด้วย

พุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงกว่าสิ่งอื่นใด
เมื่อได้น้อมเขาไปในตัวเราแล้วก็เกิดความปีติ อิ่มเต็ม เย็นอกเย็นใจ
ความเบิกบานสว่างไสวก็มีขึ้นในดวงจิตของเรา
นี่นับว่าเป็นกุศลส่วนหนึ่งที่เราได้รับจากบ่อบุญอันนี้

ประการที่ ๒ เป็น “อานาปานสติ”

เพราะลมหายใจที่เรากำหนดอยู่นี้
เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิต และมีสติตื่นอยู่ ไม่ลืม ไม่เผลอ
ไม่ยื่นออกไปข้างหน้า ไม่เหลียวมาข้างหลัง
ไม่คิดไปในสัญญาอารมณ์อื่นนอกจากลมหายใจอย่างเดียว
มีความรู้อยู่แต่ในเรื่องของกองลมทั่วร่างกาย

วิตก ได้แก่ การกำหนดลม
วิจาร ได้แก่ การขยายลม


เมื่อลมเต็มอิ่มและมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา
นิวรณ์ทั้งหลายที่เป็นข้าศึกของใจ
ก็ไม่สามารถแทรกซึมเข้ามาทำลายคุณความดีของเราได้
จิตก็จะมีความสงบนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย
ไม่ตกไปอยู่ในบาปอกุศลอันใดได้
เป็นจิตที่มีอาการเที่ยงตรง ไม่มีอาการวอกแวกและไหลไปไหลมา
มีแต่ความสุขอยู่ในลมส่วนเดียว
นี้ก็เป็นกุศลส่วนหนึ่งที่เราได้รับจากบ่อบุญอันนี้


ประการที่ ๓ เป็น “กายคตาสติ”

เป็น “กาเย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ด้วย
เพราะลมหายใจเป็นตัวชีวิต เป็นตัวกายใน
เรียกว่า พิจารณากายในกาย (ธาตุ ๔ เป็นตัวกายนอก)
คือเมื่อเราได้กำหนดลมเข้าไปในส่วนต่างๆ ของร่างกายทุกส่วนแล้ว
เราก็จะมีความรู้เท่าทันถึงสภาพอันแท้จริงของร่างกาย
อันประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
ว่าเมื่อเกิดความกระเทือนระหว่างลมภายนอกกับธาตุเหล่านี้
แล้วได้มีอาการและความรู้สึกเป็นอย่างไร

ร่างกายเคลื่อนไหว แปรเปลี่ยน ทรุดโทรม และเกิดดับอย่างไร
เราก็จะวางใจเฉยเป็นปกติ เพราะรู้เท่าทันในสภาพธรรมดาเหล่านี้
ไม่หลงยึดถือในรูปร่างกายว่าเป็นตัวตน
เพราะแท้จริงมันก็เป็นเพียงธาตุแท้ ๔ อย่างที่ผสมกันขึ้น
และเมื่อพิจารณาแล้ว ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูลตลอดทั่วร่างกาย
ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ ตลอดทั้งอวัยวะภายในทุกส่วน
เห็นดังนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย สลดสังเวชขึ้น
ทำให้หมดความยินดียินร้ายในรูปร่างกาย ใจก็เป็นปกติ
นี่ก็เป็นกุศลส่วนหนึ่งที่เราได้รับจากบ่อบุญอันนี้


ประการที่ ๔ เป็น “มรณานุสติ”

ทำให้เรามองเห็นความตายได้อย่างแท้จริง
ด้วยการกำหนดลมหายใจ

เมื่อก่อนนี้เรานึกว่าความตายนั้นจะต้องมีอยู่กับคนไข้อย่างนั้น
โรคอย่างนี้ แต่หาใช่ความตายอันแท้จริงไม่
แท้จริงมันอยู่ที่ปลายจมูกของเรานี่เอง มิได้อยู่ไกลไปจากนี้เลย

ถ้าเลยออกไปจากปลายจมูกแล้วก็ต้องตาย
ทั้งนี้ให้เราสังเกตดุลมที่หายใจเข้าออก ก็จะเห็นได้ว่า
ลมนี้เลยจมูกออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีก เราต้องตายแน่
หรือถ้าลมเข้าไปในจมูกแล้วไม่กลับออกมา ก็ต้องตายเหมือนกัน
เมื่อเรามองเห็นความตายมีอยุ่ทุกขณะลมหายใจเข้าออกเช่นนี้
เราก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัวอยู่เสมอ
ไม่เป็นผู้ลืมตาย หลงตาย เราก็จะตั้งอยู่ในความดีเสมอไป
นี่ก็เป็นกุศลส่วนหนึ่งที่เราได้รับจากบ่อบุญอันนี้

 

คัดลอกเนื้อหาจาก
พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร. แนวทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๒.
พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : ขุมทองอุตสาหกรรมและการพิมพ์,


ที่มา  http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=39800




บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ