ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : เปรตกันตาระ  (อ่าน 3677 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0



กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : เปรตกันตาระ

สิ่งที่ยุติธรรมที่สุดในโลกนี้คือกฎธรรมชาติ เพราะกฎธรรมชาติตอบสนองต่อทุกๆ คนเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนรวยหรือคนจน เป็นคนมีอำนาจหรือคนธรรมดา ก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด คนที่ร่ำรวยมหาศาลไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้ และคนที่มีอำนาจมากก็ไม่สามารถบังคับให้ทุกๆ สิ่งเป็นไปตามความปรารถนาของตนได้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติหรือตามเหตุปัจจัย เราสร้างเหตุใดไว้ ผลก็ย่อมเกิดมาจากเหตุอันนั้น หากทำกรรมดีย่อมจะได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่วตอบแทน ดังเรื่องที่เคยมีมาแต่ครั้งอดีตกาลว่า

ตอนที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่า ธนปาลกะ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส เป็นคนตระหนี่ขี้เหนียว เป็นนัตถิกทิฏฐิบุคคล (บุคคลที่เห็นว่าผลบุญผลบาปไม่มี บิดามารดาไม่มี ความดีความชั่วไม่มี) จึงไม่เคยให้ทานรักษาศีลเลย

หลังจากตายแล้วจึงไปบังเกิดเป็นเปรตในทะเลทรายชื่อว่า ‘กันตาระ’ มีรูปร่างสูงเท่าลำต้นตาล มีผิวหนังหยาบปูดขึ้น ผมยุ่งเหยิง น่าสะพรึง กลัวมาก ความเป็นอยู่ของเปรตตนนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก อดอยากหิวโหย ไม่ได้กินข้าวแม้แต่เมล็ดเดียว หรือ กระทั่งน้ำสักหยด ตลอดเวลา ๕๕ ปี ลำคอและริมฝีปาก แห้งผาก อำนาจของความหิวกระหาย ทำให้กระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา!!


หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ขณะนั้นมีพ่อค้าชาวกรุงสาวัตถี ได้บรรทุกสินค้าเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางไปยังอุตตราปถชนบทเพื่อขายสินค้า พอขายหมดแล้วก็บรรทุกสินค้าอย่างอื่นกลับมาด้วย เมื่อเดินทางมาถึงแม่น้ำแห้งขอดสายหนึ่งในเวลาเย็น จึงปลดเกวียนพักแรมหนึ่งคืน

ฝ่ายเปรตที่กำลังหิวกระหายอย่างหนักนั้น เดินพล่านไปพล่านมา มองเห็นแม่น้ำจึงรีบตรงดิ่งเข้าไปเพื่อดื่มน้ำ แต่กลับไม่เห็นน้ำเลยแม้แต่หยดเดียว จึงผิดหวังอย่างมากจนหมดเรี่ยวแรง ล้มลงเหมือนต้นตาลรากขาดฉะนั้น

พวกพ่อค้าเห็นเช่นนั้น จึงพากันถามเปรตว่า “ท่านเปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เหลือแต่กระดูกซี่โครง ท่านเป็นใครกันหนอ”


เปรตตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเปรต ผู้ทุกข์ยาก เกิดในยมโลก ตอนมีชีวิตอยู่ได้กระทำกรรมชั่วไว้ หลังจากตายแล้วจึงมาเกิดเป็นเปรตที่มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวและมีแต่ความทุกข์ทรมานเช่นนี้”

เมื่อเปรตบอกเช่นนั้นแล้ว พ่อค้าอยากจะรู้ว่าเขาเคยทำกรรมอะไรไว้ จึงพากันถามถึงกรรมที่เขาได้กระทำมา

เปรตได้เล่าประวัติของตนให้พวกพ่อค้าฟังว่า ในกาลก่อน มีพระนครของพระเจ้าทสันนราช ชื่อว่า เอรกัจฉะ ในอดีตข้าพเจ้าเคยเป็นเศรษฐีอยู่ในพระนครนั้น ชื่อว่า ธนปาลเศรษฐี ข้าพเจ้ามีเงิน ๘๐ เล่มเกวียน และทองคำ แก้วมุกดา แก้ว ไพฑูรย์ มากมายเหลือคณานับ

แม้ว่าข้าพเจ้าจะมีทรัพย์มากมาย แต่ก็ไม่ชอบทำบุญทำทาน จิตใจมีแต่ความตระหนี่ถี่เหนียว หวงแทนทรัพย์สมบัติ เวลาจะรับประทานอาหารก็ต้องปิดประตูห้องเพราะคิดว่า พวกยาจกขอทานทั้งหลายจะมองเห็น แล้วจะเข้ามาขอทรัพย์สมบัติต่างๆ ข้าพเจ้าเป็นคนไม่มีศรัทธา ได้ด่าพวกยาจกขอทาน และห้ามปรามมหาชนที่ทำบุญให้ทานอยู่ตลอดเวลา

ข้าพเจ้าบอกพวกเขาว่า ผลของการให้ทานไม่มี ผลของการสำรวมกาย วาจา และใจ ก็ไม่มี ข้าพเจ้าได้ทำลายสระน้ำ บ่อน้ำต่างๆ ที่มีคนขุดไว้ ทำลายสวนดอกไม้ สวนผลไม้ ศาลา และสะพานที่เขาทำไว้ให้คนเดินในทางที่ลำบาก รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่เขาทำไว้ให้คนพักพิงต่างๆ ข้าพเจ้าไม่ได้ทำคุณงามความดีอะไรไว้เลย ทำแต่กรรมชั่วตลอดชีวิต เมื่อตายจากชาตินั้นแล้ว จึงมาเกิดเป็นเปรตที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน มีความความหิวกระหายตลอดเวลา ๕๕ ปี ไม่ได้กินข้าวแม้แต่คำเดียวและไม่ได้กินน้ำเลยแม้แต่หยดเดียว!!


การรักษาทรัพย์สมบัติไว้โดยไม่ให้แก่ใครๆ และไม่นำไปทำประโยชน์อะไรเลย เป็นความพินาศของสัตว์ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะรู้ว่าการรักษาทรัพย์ไว้โดยไม่ให้แก่ใคร ไม่ทำบุญ ไม่ทำประโยชน์เลยเป็นความพินาศ แต่ข้าพเจ้าก็เก็บรักษาทรัพย์ไว้อย่างดี ทั้งๆ ที่ทรัพย์มีอยู่มากมายก็ไม่ได้ให้ทาน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ก็ไม่ทำที่พึ่งแก่ตน ด้วยอำนาจแห่งผลกรรมนั้นข้าพเจ้าจึงต้องเดือดร้อนในภายหลัง

และหลังจาก ๔ เดือนต่อแต่นี้ไปแล้ว ข้าพเจ้าก็จะตายอีก และจะต้องตกนรกอันเผ็ดร้อนสาหัส มี ๔ เหลี่ยม ๔ ประตู จำแนกเป็นห้องๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกนั้นล้วนแล้วแต่เป็นทองแดง ลุกเป็นเปลวเพลิง แผดร้อนแผ่ไปตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ และเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าจะต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นผลของกรรมชั่ว เพราะฉะนั้นตอนนี้ข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกเสียใจที่จะไปเกิดในนรกอันเร่าร้อนเช่นนั้น

ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้ที่มาประชุมกันในที่นี้ พวกท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วในที่ไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นที่แจ้งหรือที่ลับ ถ้าพวกท่านจักกระทำหรือกำลังทำกรรมชั่วนั้นไว้ แม้พวกท่านจะเหาะหนีไปในที่ไหนๆ ก็ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ขอท่านทั้งหลายจงเลี้ยงมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย หากทำเช่นนี้จึงจะได้ไปเกิดบนสวรรค์และพบความสุข

พวกพ่อค้าเหล่านั้นได้ฟังคำของเปรตแล้วก็พากันเกิดความสลดสังเวช เมื่อจะอนุเคราะห์เปรตนั้น จึงได้ตักน้ำดื่มมา บอกให้เปรตนอนลงแล้วกรอกน้ำเข้าปาก แต่น้ำที่พวกพ่อค้าพากันพยายามเทลงแล้วเทลงอีกก็ไม่ไหลลงสู่ลำคอของเปรตเลย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพลังแห่งกรรมชั่วของเปรตนั่นเอง จึงไม่สามารถระงับความกระหายของตนให้สงบลงได้


พวกพ่อค้าจึงถามเปรตว่า “ท่านได้ความโปร่งใจอะไรบ้างไหม”

เปรตตอบว่า “น้ำที่พวกท่านพยายามเทกรอกปากข้าพเจ้าตั้งมากมายนั้น ไม่มีสักหยดเดียวเลยที่ไหลเข้าไปในลำคอ น้ำเหล่านั้นกลับไหลเข้าลำคอของคนอื่นไปหมด เราคงจะไม่หลุดพ้นจากกำเนิดแห่งเปรตนี้อย่างแน่นอน”

หลังจากพวกพ่อค้าได้ฟังแล้ว จึงเกิดความสังเวชยิ่งนัก พากันถามว่า มีวิธีทางไหนบ้างไหมที่จะช่วยดับความความกระหายของเปรต

เปรตตอบว่า “จะระงับความกระหายได้ก็ต่อเมื่อผลของกรรมชั่วนี้สิ้นไป ขอให้พวกท่านจงช่วยถวายทานแด่พระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต แล้วอุทิศผลบุญนั้นให้แก่เราด้วย หากทำเช่นนั้นเราก็จะพ้นจากความเป็นเปรตและความทุกข์ทรมานนี้ไปได้”

พวกพ่อค้าได้ฟังดังนั้นจึงพากันเดินทางไปกรุงสาวัตถีเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ หลังจากนั้นก็ได้รับสรณคมน์และศีล ได้ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่เปรต

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกเรื่องนี้มาเป็นเหตุ แล้วแสดงธรรมแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ และมหาชน เพื่อให้ละมลทินและคลายความตระหนี่ ละความโลภ เป็นต้น คนที่ได้ฟังธรรมนี้แล้วก็เกิดความปีติยินดียิ่งในการทำบุญให้ทาน จิตใจสามารถละความโลภได้ ชีวิตจึงมีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

.......

จะเห็นว่ากฎแห่งกรรมนั้น ไม่ได้ละเว้นคนมั่งคั่งร่ำรวย ใครก็ตามที่ทำความชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว ความโลภของคนเรานั้นไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีทางที่จะเติมให้เต็มได้ เศรษฐีที่ไม่รู้จักพอ ย่อมไม่มีความสุข เพราะจิตใจที่ถูกรุมเร้าด้วยความโลภนั้น ย่อมไม่มีทางสงบสุข จิตใจจะสงบและมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อรู้จักพอ รู้จักให้ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตาจิตต่อกันและกัน






ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=4&t=19401
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

rainmain

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 323
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: กฎแห่งกรรมในพระไตรปิฎก : เปรตกันตาระ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 23, 2012, 03:55:33 pm »
0
อนุโมทนา สาูธุ
 :25: :25: :25:
บันทึกการเข้า
คิดดี พูดดี ทำดี เป็นกุศล และ กรรมฐาน เป็นมหากุศล นะครับ