ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
  • สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน
แสดงกระทู้
This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.
    Messages   Topics Attachments  

  Messages - raponsan
หน้า: [1] 2 3 ... 692
1  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ตารางแห่พระภูเก็ต 2566 มัดรวมทุกอย่างที่ต้องรู้ก่อนไปถือศีลกินผัก เมื่อ: วันนี้ เวลา 07:19:03 am
.



ตารางแห่พระภูเก็ต 2566 มัดรวมทุกอย่างที่ต้องรู้ก่อนไปถือศีลกินผัก

เปิดตารางแห่พระภูเก็ต 2566 ซึ่งจะจัดตลอดเทศกาลกินเจ เริ่ม 16-23 ตุลาคมนี้ เช็กทุกอย่างที่ต้องรู้ก่อนไปงาน ที่นี่!

ประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นประเพณีเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปีแล้ว ด้วยความโดดเด่น จึงมีการจัดงานต้อนรับเทศกาลกินเจอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ ปี โดยมีศาลเจ้าในจังหวัดภูเก็ตมากกว่า 30 แห่งที่ร่วมจัดประเพณีถือศีลกินผักนี้ และมีพิธีกรรมต่างๆ ตลอด 9 วัน 9 คืน

แต่พิธีกรรมในครั้งนี้ จะมีตารางการจัดงานอย่างไรบ้าง ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี ขออาสารวบรวมมาให้ดูกันดังนี้




รู้จัก “ประเพณีถือศีลกินผัก”

ประเพณีถือศีลกินผัก มาจากความเชื่อในลัทธิเต๋า ซึ่งนับถือบูชาเทวดาเทพเจ้าวีรบุรุษเป็นประเพณที่สืบทอดต่อกันมาจากชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 หรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี (ปีนี้ตรงกับ 15-23 ตุลาคม 2566)

นอกจากนี้ ประเพณีนี้ยังได้รับการประกาศจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2561 ประเภท รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลักษณะมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ด้านการปฏิบัติ ทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล

เปิดตารางพิธีกรรมของแต่ละศาลเจ้า

ภายในงานจะมีขบวนแห่อ๊าม (ศาลเจ้า) ในภูเก็ตกว่า 30 อ๊าม และมีพิธีอิ้วเก้ง (แห่พระ) พิธีโก้ยห่าน (สะเดาะเคราะห์) พิธีโก้ยโห้ย (ลุยไฟ)และ พิธีองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ (ส่งพระ)




พิธีฮั้วเก้ง (พิธีแห่พระ)

เป็นการออกเยี่ยมขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ เพื่ออวยพรให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนธงและป้ายชื่อแห่นำหน้า ต่อด้วยเสลี่ยงเล็ก (ไฉ้เปี๋ย) จากนั้น เป็นขบวนของหนิ่วสั่ว (ร่มฉัตรจีน) ต่อด้วย ตัวเหลี้ยน (เสลี่ยงใหญ่) ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านและคุกเข่าอยู่ในอาการสงบนิ่งเพื่อรับพร จากองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป

พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเศราะห์)

พิธีกรรมนี้ทำที่อ๊าม โดยผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ต้องตัดกระดาษเป็นรูปตัวเองพร้อมเงินตามศรัทธาและต้นกุ้ยช่าย 1 ต้น เดินข้ามสะพาน ให้ผู้ประทับทรงประทับตราด้านหลังของเสื้อที่สวม เรียกว่า "ต๊ะอิ่น" หมายถึงผู้ที่ผ่านการสะเดาะเคราะห์แล้ว ทั้งนี้ การข้ามสะพานเปรียบเสมือนการเดินทางเข้าสู่ชีวิตใหม่

พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ)

เป็นพิธีกรรมเพื่อชำระพลังไม่ดีออกจากร่างกาย  ผู้ร่วมพิธีกรรมต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด

พิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ (พิธีส่งพระ)

ในคืนวันสุดท้ายของประเพณีจะมีการส่งองค์หยกอ๋องซ่งเต่ ซึ่งมักส่งกันที่หน้าเสาโกเต้งช่วงเวลา 22:30 น. กลับสวรรค์ หลังจากนั้นก็ส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ (ส่วนใหญ่จะส่งที่ชายทะเลสะพานหิน) เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในอ๊ามต้องดับสนิท และปิดประตูใหญ่

พิธีส่งพระ ถนนทุกสายในตัวเมืองภูเก็ต จะเต็มไปด้วยประชาชนที่มาส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่กลับสู่สวรรค์ เป็นพิธีที่ต้องมาชม โดยเฉพาะช่วงถนนถลาง ถนนภูเก็ต วงเวียนหอนาฬิกา และเส้นทางไปจนสุดสะพานหิน

แผนที่ศาลเจ้ารอบภูเก็ต




เส้นทางขบวนแห่พระ













ขอขอบคุณ :-
ภาพและข้อมูลจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
website : https://www.pptvhd36.com/travel/thailand/207140
โดย PPTV Online | 3 ต.ค. 2566
2  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / รู้จัก 'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์' กับอุทยานแห่งชาติ เมื่อ: วันนี้ เวลา 07:06:45 am
.



รู้จัก 'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์' กับอุทยานแห่งชาติ

รู้จัก "การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์" กับอุทยานแห่งชาติ อีกหนึ่งการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ เที่ยวสุขใจ ไร้คาร์บอน

การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่การท่องเที่ยวที่เน้นแต่ปริมาณ อาจไม่ได้แปลว่าจะทำให้ ธุรกิจการท่องเที่ยว ยั่งยืน ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวมุ่งใส่ใจสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม วัฒนธรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กำลังเป็นการท่องเที่ยวกระแสหลักในอนาคตของประเทศ อีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังเกิดขึ้นมี "Carbon Footprint" การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

รู้จักการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

"อุทยานแห่งชาติ" เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของใครหลายคน แต่ปัจจุบันบ่อยครั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเสพธรรมชาติ กลับได้สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมทั้งโดยรู้ตัวและโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อปัจจุบันการท่องเที่ยวแนวคุณภาพ เป็นเป้าหมายที่ทั่วโลกกำลังได้รับความสำคัญ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) ผนึกกำลังร่วมผลักดัน "ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามเส้นทางการท่องเที่ยวของกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน" ด้วยเป้าหมายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ให้มุ่งสู่ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เน้นการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว และสร้างจิตสำนึกทางการท่องเที่ยว




ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวปีละ 20-30 ล้านคน กล่าวได้ว่า ประชากรแฝงที่เข้ามาใช้ทรัพยากรไทย รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย ล้วนเป็นภาคส่วนสำคัญในการใช้ทรัพยากรจำนวนไม่น้อย ขณะที่กิจกรรม ลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การปลูกต้นไม้ การนำขยะหรือของเสียมาเป็นขยะปุ๋ยหมักไม่ได้ปล่อยเน่าเสีย การใช้รถพลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนหลอดไฟ LED หรืออีกส่วนถ้าต้องการชดเชยให้เป็นศูนย์ จำเป็นต้องหาซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย

ท่องเที่ยวอุทยานฯ คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานยกระดับบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพอุทยานแห่งชาติสีเขียวสู่ระดับสากล ณ อุทยานแห่งชาติแม่วาง และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสีเขียวต้นแบบที่มี 3 แห่ง นอกเหนือจากอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รวมทั้งพื้นที่เครือข่ายอุทยานแห่งชาติสีเขียว 9 แห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ และอุทยานแห่งชาติเขาค้อ

ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า บทเรียนในการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นต้นแบบที่ดีในการนำไปพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล




ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า สสส. เป็นภาคีสำคัญสร้างให้เกิด การท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและความร่วมมือ เป็นการมองเห็นจุดแข็งและศักยภาพ สสส.ในการจะสร้างกระบวนการรับรู้ให้กับพี่น้องชุมชม หรือส่วนผู้ประกอบการเอง



ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. เผยว่า สสส. มาจับงาน Green Tourism เนื่องจากพบว่าในหลายพื้นที่ ชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญในการลดปัญหาเรื่องการเผา การเกษตร ที่ทำให้เกิดวิกฤติ PM 2.5 และโรคต่างๆ ทางสุขภาพ จึงมองเห็นการเชื่อมโยงขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การสร้าง Mindset และข้อมูลวิชาการ สามารถจัดการปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ โดยมีส่วนร่วมหลายชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ แต่การถูกมองเป็นพื้นที่สร้างปัญหาก็จะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชน นักท่องเที่ยว และภาคสังคมโดยรวมเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างมีทิศทาง มีความรู้ข้อมูลวิชาการที่รองรับว่าพื้นที่เขาปลอดภัยจากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะจากการท่องเที่ยว



จากอุทยานฯ ขยายสู่รอบรั้วเครือข่ายท่องเที่ยว

ผศ.ดร.สุขทัย พงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา เสริมว่า ในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าและร้านอาหารในบริเวณอุทยาน ได้มีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมประกอบอาหาร และการจัดทำเมนูอาหารคาร์บอนต่ำของแต่ละร้านค้า ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่พักในบริเวณอุทยาน ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นห้องพักสีเขียว มีกิจกรรมสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีผู้ประกอบการที่พักที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานหรือพลังงานสะอาดและการจัดการขยะอินทรีย์และอื่นๆ ซึ่งทำให้ภาพรวมของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 214.5 tCO2eq

สมศักดิ์ เสกสรรวรกุล ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกษตรเกษตรที่พักดอยอินทนนท์ เล่าว่าพวกเขาได้รับการเรียนรู้กระบวนการตั้งแต่การคัดแยกขยะ การบริหารจัดการนักท่องเที่ยว และการคำนวณคาร์บอนเครดิต หลังทำท่องเที่ยวมาประมาณสิบกว่าปี เขาเผยถึงแรงจูงใจที่ทำให้เบนเข็มทิศมาสู่การเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวสีเขียว เข้าร่วมกับโครงการว่าการทำการท่องเที่ยวยั่งยืนในปัจจุบัน เพราะในพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนในชุมชนต้องคิดหนัก เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังกระทบกับเศรษฐกิจในกระเป๋าตัวเอง เพราะเมื่ออากาศเสีย สิ่งแวดล้อมไม่ดี นักท่องเที่ยวก็ไม่มา ถามว่าทำไมถึงเปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงธรรมชาติ เพราะทำแบบเดิมมันก็ดีอยู่แล้ว ได้เงินเหมือนกัน เพราะเราอยากให้มันยั่งยืน อยากให้เราก้าวกระโดดไปอีกขั้น ก็เลยมีการต่อยอดเน้นความเป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น

"เรื่องหนึ่งที่เจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเรื่อง PM 2.5 ช่วงนั้นเราทำ ธุรกิจท่องเที่ยว แต่ชุมชนข้างบ้านเขามีการเผาป่า นักท่องเที่ยวที่มาพักเขาเก็บกระเป๋ากลับบ้านเลย ทำให้ชุมชนได้คิดว่า ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวมาเราก็ไม่ได้เงินสิ ซึ่งตอนนี้ทางชุมชนเองก็มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด คอยจับตาคนไม่ดีที่มาเผาป่า หน่วยลาดตระเวนของชุมชนก็ช่วยเจ้าหน้าที่ หรืออย่างเรื่องบริหารจัดการ เมื่อก่อนต่างคนต่างทำ ไม่มีการจัดการอะไรทั้งขยะไม่คัดแยก ไฟฟ้าไม่รู้บริหารจัดการ พื้นที่ก็ขยายจัดการให้มันเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เลยอยากให้เราเห็นว่าถ้าเราทำอีกแนวหนึ่งจะเป็นอย่างไรบ้าง" สมศักดิ์ กล่าว




"ฟิน อินดอย" ฟินได้ไม่ต้องทำร้ายสิ่งแวดล้อม

พิจิตร แซ่วะ เจ้าของ "ฟิน อินดอย" ที่พักเชิงธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ที่มีจุดยืนลดการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย เปลี่ยนมาเป็นใช้อย่างคุ้มค่าและเท่าที่จำเป็น เขาเน้นรับเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาเที่ยวแบบธรรมชาติ รักความสงบ ไม่เน้นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเกินกว่าเหตุเป็นหลัก

เขาเล่าว่าสาเหตุที่ต้องมีกฎระเบียบค่อนข้างเยอะ เพราะมีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มชอบปาร์ตี้และรักสงบ ซึ่งกลุ่มเน้นปาร์ตี้มักสร้างปัญหาทั้งส่งเสียงดัง ดื่มสังสรรค์เมามายแล้วทะเลาะกัน แถมพอ Check out กลับไปก็ยังทิ้งขยะไว้มหาศาลให้ต้องจัดการ บางรายต้องเก็บทิ้งมากถึง 1-2 ถุงดำขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่ชอบเที่ยวธรรมชาติ มักมีขยะไม่เยอะบางทีที่พัก 4-5 หลังเก็บได้แค่ 1 ถุง เท่านั้น

เมื่อพบว่าธุรกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวแบบเดิมนั้นสร้างปัญหามากกว่า ทำให้เริ่มสนใจเปลี่ยนแนวทางมาเน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่ชอบความสงบและต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริงมากขึ้น อาทิ การใช้ไฟ เปลี่ยนเป็นโซลาเซลล์ ส่วนผลิตภัณฑ์ในห้องถ้าลูกค้าต้องการจะใช้ให้ขอได้ แต่เลือกไม่วางไว้ในห้อง เพราะพบว่า ลูกค้าบางรายไม่ใช้แต่แกะเล่นทำให้เสียของก็เยอะ ภาชนะโฟมพลาสติกที่เคยใช้ก็เปลี่ยนเป็นถ้วยกระดาษแทน ลูกค้ารายใดนอนพักหลายคืนและขอไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอนเราจะลดให้เขา 10%




เปิดโพยเมนู Signature กินอย่างไรไม่ผลิตคาร์บอนสูง

ส่วนที่ "แม่วินเกสต์เฮาส์ แอนด์ รีสอร์ท" และ "แม่วินคาเฟ่" ยังได้ปรุงเมนู "ผัดไทสูตรคาร์บอนต่ำ" อีกหนึ่งเมนูยอดฮิตที่เสิร์ฟให้กับนักท่องเที่ยวที่มาพำนัก

ผศ.ดร.กอบสุข กล่าวเสริมว่า คำจำกัดความของเมนู Zero Carbon นั้นไม่ยุ่งยาก แท้จริงประกอบด้วยวัตถุเรียบง่าย มีอะไรก็ใส่แบบนั้น สรุปสั้นๆ คือการกินอาหารตามฤดูกาลและท้องถิ่น ขอเพียงเป็นวัตถุดิบหาง่าย ไม่ต้องหรูหรา ไม่ต้องขนส่งมาจากแดนไกลให้เปลืองทรัพยากรและพลังงาน เพิ่มคาร์บอนโดยใช่เหตุ ใครมีอะไรก็หยิบจับมาปั้นเป็นสูตรอาหารสไตล์คาร์บอนต่ำ อีกทั้งยังเป็นเมนูที่ใครก็ทำได้

รู้จัก 'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์' กับอุทยานแห่งชาติ รู้จัก 'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์' กับอุทยานแห่งชาติ รู้จัก 'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์' กับอุทยานแห่งชาติ






Thank to : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1091720
03 ต.ค. 2566 เวลา 16:59 น.
3  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ทำไมรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่ควรผ่ากลาง “อยุธยา” และ “อโยธยา” เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:45:04 am
.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ภาพ รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพฯ-อยุธยา เมื่อ 26 มี.ค. 2439 แขวนอยู่เห็นเด่นชัดในสถานีรถไฟอยุธยา


ทำไมรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่ควรผ่ากลาง “อยุธยา” และ “อโยธยา”

ชายในเสื้อยืดสีดำยืนอยู่ริมแม่น้ำ จากฝั่งวัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดเก่าแก่ของอยุธยา พลางชี้ให้คณะหญิงชาย-หนุ่มสาว หลายสิบชีวิต มองไปยังทัศนียภาพงดงามริมน้ำ ที่ในอนาคตอาจถูกบดบังด้วยเสาตอม่อ และสถานีรถไฟความเร็วสูงที่จะมีขนาดเท่าตึกสูงหลายชั้น

“อะไรที่บดบังภูมิทัศน์ บดบังความโดดเด่นของอารยธรรมมนุษยชาติ ก็ถูกถอดออกจากมรดกโลกได้” ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี บอกกับคณะทัวร์ที่ไม่ได้มา จ.อยุธยา เพื่อท่องเที่ยว แต่มาสำรวจความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากกระทรวงคมนาคม เดินหน้าสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ตามแผนเดิม



ที่มาของภาพ, Thai News Pix ,คำบรรยายภาพ : ศิริพจน์ ระบุว่า สถานีรถไฟและตอม่อทางรถไฟความเร็วสูง จะสูงเท่ากับโรงแรมแห่งนี้ ที่อยู่ตรงข้ามวัดพนัญเชิง

ทำไมทางรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ที่อยู่ห่างจากแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 1.5-2 กิโลเมตร ถึงทำให้ไทยเสี่ยงสูญเสียเมืองมรดกโลกแห่งนี้ไป ศิริพจน์อธิบายว่า เพราะเส้นทางรถไฟฯ แม้จะอยู่ห่างจาก “พื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น” (Core Zone) แต่ยังอยู่ใน “แนวกันชน” (Buffer Zone) ของแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

คณะกรรมการอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก จึงมีความกังวลและเตือนมาถึงรัฐบาลไทยเมื่อปี 2564 ว่า เมืองเก่าอยุธยา “อาจถูกถอดออกจากมรดกโลก” โดยให้ทางเลือกว่า

    - ก่อสร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก
    - เปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยอ้อมพื้นที่ปริมณฑลของเขตที่ประกาศขึ้นเป็นมรดกโลกของเกาะเมืองอยุธยา

ทางรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 1 “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ซึ่งจะเชื่อมเข้ากับ ระยะที่ 2 “นครราชสีมา-หนองคาย” ติดต่อกับโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่เปิดให้บริการไปแล้ว

โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ถูกตีตกโดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2557 ต่อมาเกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งได้ฟื้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทย-จีน ตามเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ใช้มาตรา 44 เมื่อปี 2560 ยกเว้นกฎหมายและระเบียบตรวจสอบ ให้เดินหน้าโครงการต่อไป



ที่มาของภาพ, สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2566 ว่า รางรถไฟความเร็วสูงจะไม่ก่อปัญหาต่อสถานะมรดกโลกของอยุธยา เพราะสร้างบน “แนวรถไฟเดิม” และตำแหน่งสถานีก็ห่างจากพื้นที่นครประวัติศาสตร์ พร้อมระบุว่าในขั้นต้นจะเดินหน้า “สร้างระบบรางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปก่อน จะไม่สร้างสถานีจอดรถอยุธยาจนกว่าจะมีความสรุป”

แต่ในสายตานักวิชาการหลายคน แค่การสร้างรางรถไฟนั้น ก็เหมือนการขุดทำลายประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า “ต้นกำเนิดคนไทยและประเทศไทย” เพราะเส้นทางรถไฟนั้น จะ “ผ่ากลาง” พื้นที่ที่เรียกว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” หรือ “อโยธยา” ที่มีหลักฐานเชื่อกันว่า เป็นรากฐานก่อกำเนิดอยุธยา และความเป็นไทยมาถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับ ศิริพจน์ ที่เชื่อว่าหากในสมัยรัชกาลที่ 5 พระผู้พระราชทานกำเนิดกิจการรถไฟในประเทศไทย กำเนิดแนวคิดเรื่องการบูรณะโบราณสถาน "ผมเชื่อว่า รัชกาลที่ 5 จะไม่สร้างทางรถไฟทับเมืองโบราณอโยธยา ไม่ทำหรอก"



ที่มาของภาพ, Handout , คำบรรยายภาพ : เส้นสีแสดง แสดงให้เห็นจุดที่ทางรถไฟความเร็วสูงจะ "ผ่า" กลางอโยธยา

*หมายเหตุ : แนวคิดการบูรณะโบราณสถานเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (2457-2461) จากการทิ้งระเบิดทำลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

**กิจการรถไฟไทยได้เริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2439

สุโขทัย... ไม่ใช่ “อาณาจักร” แรกของไทย.?

ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ มักจะพร่ำสอนเสมอว่า “สุโขทัย” เป็นอาณาจักรแห่งแรก หรือราชธานีแห่งแรกของไทย จนกระทั่งปี 2562 สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งข้อสังเกตว่า กรมศิลปากร ได้เปลี่ยนคำเรียกเหล่านี้ เป็น “รัฐสุโขทัย” ไม่กล่าวถึงว่าเป็น "ราชธานีแห่งแรก" - "อาณาจักรแห่งแรก ๆ" ตามงานนิทรรศการ หรือหนังสือของกรมศิลปากร อีกต่อไป

เขามองว่า การกำหนดให้กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก มีเป้าหมายเพื่อ “โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองชาตินิยม” ให้เกิดการ “คลั่งเชื้อชาติ” ด้วยการสร้าง “รัฐในอุดมคติ” จนกระทั่งเริ่มปรากฏหลักฐานทางวิชาการ ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา ที่ขัดแย้งกัน

แล้วราชธานีแห่งแรกของไทย คือที่ไหน? นักเขียนเจ้าของคอลัมน์ “สยามประเทศไทย” อธิบายตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และพงศาวดารว่า คือ "อโยธยา" โดยบุคคลแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5



ที่มาของภาพ, กรมศิลปากร , คำบรรยายภาพ : รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา “โบราณคดีสโมสร” เมื่อ 30 พ.ย. ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450)

ย้อนไปเมื่อครั้งพระองค์สถาปนา “โบราณคดีสโมสร” เมื่อ 30 พ.ย. ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ทรงมีพระราชดำรัส แปลความเป็นภาษาปัจจุบันได้ว่า “อยุธยาคือเมืองใหม่ของอโยธยา (กรุงศรีอยุธยาฤาอโยชฌิยา) ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก มีวัดวาอารามสำคัญๆ ได้แก่ วัดพนัญเชิง, วัดใหญ่ชัยมงคล, วัดอโยธยา (วัดเดิม), วัดกุฎีดาว, วัดมเหยงคณ์ เป็นต้น ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาได้ทรงปฏิสังขรณ์แทบทั้งนั้น”

“สังคมไทยถูกหลอกตลอดเวลา 100 ปีที่ผ่านมา... ประวัติศาสตร์แห่งชาติ แต่งเหมือนนิยาย ขายเหมือนข่าวปลอม” สุจิตต์ กล่าว



ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : สุจิตต์ ยังหยิบยกบุคคลสำคัญอีกหลายคน ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอโยธยา มาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ผู้คุมงานขุดค้นและบูรณะพระราชวังโบราณอยุธยา ถวายรัชกาลที่ 5, ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, จิตร ภูมิศักดิ์ อดีตนักปราชญ์ประชาชน, พเยาว์ เข็มนาค อดีตหัวหน้าช่างสำรวจโบราณคดี กรมศิลปากร

ย้อนกลับมาที่คณะทัวร์ ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่รับบทไกด์พิเศษได้นำคณะมาถึงวัดใหญ่ชัยมงคล ก่อนบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ พระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ปฐมกษัตริย์ของอยุธยา ได้โปรดเกล้าให้ขุดศพ “เจ้าแก้ว-เจ้าไท” ซึ่งทิวงคต (เสียชีวิต) จาก “อหิวาตกโรค” ขึ้นมาเผา โดยสถานที่ปลงศพนั้น ให้สถาปนาเป็นพระอารามชื่อวัดป่าแก้ว ซึ่งต่อมาคือ วัดใหญ่ชัยมงคล


ที่มาของภาพ, Thai News Pix คำบรรยายภาพ : วัดใหญ่ชัยมงคล แต่เดิมชื่อ "วัดป่าแก้ว"

ศิริพจน์ ตั้งคำถามว่า คำว่า “โรคห่า” ที่คนไทยตีความว่าเป็น อหิวาตกโรค แท้จริงแล้วคือ “กาฬโรค” หรือที่ยุโรปเรียกว่า “ความตายสีดำ” (พ.ศ. 1890-1894) เพราะช่วงปี 1893 ที่พระเจ้าอู่ทอง “ทรงหนีโรคห่า” มาสถาปนากรุงศรีอยุธยา ประจวบเหมาะกับที่หายนะกาฬโรคในยุโรป กำลังบรรเทาลงพอดี

เขายังหยิบยกพงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ว่า แท้จริงนั้น พระเจ้าอู่ทองไม่ได้อพยพหนีจากสุพรรณบุรีหรือลพบุรีมาตั้งอาณาจักรอยุธยา แต่เป็นการย้ายจาก “อโยธยา” ไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ แล้ว “ขวัญเมืองใหม่” หรือแก้เคล็ดเปลี่ยนชื่อ เป็น “อยุธยา” เท่านั้น ซึ่งเป็นหลักฐานว่า อโยธยา เป็นราชธานีก่อนอยุธยา และมีมาก่อนสุโขทัยเสียอีก

ถึงจุดนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ “The rise of Ayudhya” (2517) ในฐานะผู้ร่วมคณะทัวร์เดียวกันนี้ แสดงความเห็นว่า “ถ้าเราเอาเรื่องประวัติศาสตร์โลก (กาฬโรคในยุโรป) มาประยุกต์กับประวัติศาสตร์ไทย… ผมอยากเชื่อว่า กาฬโรคต้องระบาดแรงมากในอุษาคเนย์ อาณาจักรนครวัดนครธมอาจล่มเพราะกาฬโรค และอยุธยาขึ้นมาได้เพราะกาฬโรค”



ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ อยากเชื่อว่า อยุธยาขี่กระแสมาจากกาฬโรคระบาดในอุษาคเนย์

ทำลายมรดก-ชุมชน.?

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เดินชมสถานีรถไฟอยุธยา ในตำบลไผ่ลิง ในช่วงก่อนบ่าย ซึ่งมีคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก หรือรอเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่น ๆ

ท่ามกลางภาพม้านั่งทรงกลม เจ้าหน้าที่โบกธงให้สัญญาณ และรถไฟที่เคลื่อนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ มองหา คือภาพเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพฯ-อยุธยา เมื่อ 26 มี.ค. 2439 ซึ่งแขวนอยู่เห็นเด่นชัดภายในสถานีรถไฟ



ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : บรรยากาศคึกคักที่สถานีรถไฟอยุธยา

และเมื่อได้ทราบถึงแผนการสร้างสถานีรถไฟคร่อมทับสถานีรถไฟอยุธยา ที่มีสถานะเป็น “โบราณสถาน” เขาขอตั้งคำถามว่า

“คุณจะทำสถานีใหญ่โตมโหฬาร บังอาจสามารถที่จะสร้างอะไรมาคร่อมทับ สถานีที่รัชกาลที่ 5 และพระพันปี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) มาเปิดได้หรือไม่ ผมอยากจะถาม” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว



ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในบทบาทไกด์ทัวร์

ข้ามทางรถไฟไปยังฝั่งตรงข้าม เป็นที่ตั้งของศาลหลวงพ่อคอหัก ศิลปะสมัยทวารวดีที่อยู่ ณ จุดนี้มาหลายร้อยปี และอาจเป็นหลักฐานถึงชุมชนยุคก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่หากมีการเดินหน้าสร้างสถานีรถไฟ ศาลแห่งนี้ก็ต้องถูกย้ายไป เช่นเดียวกับชุมชนหลายสิบครัวเรือนบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

“ได้ข่าวว่าจะเวนคืนไปถึงถนนที่จะไปถึงวัดประดู่... รื้อหมดเลย ประชาชนเขาไม่ยอมหรอก” สัมพันธ์ โสภณนิติธรรม อดีตพนักงานฝ่ายทรัพย์สินที่ดินการรถไฟ ที่อาศัยอยู่บนที่ดินของการรถไฟมาตั้งแต่เกิด บอกกับบีบีซีไทย

“คนอยุธยาอยากได้รถไฟความเร็วสูง แต่ถ้ามีปัญหาแบบนี้ เบนเส้นทางก็ได้นี่” เขากล่าวต่อ



ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ชุมชนข้างศาลหลวงพ่อคอหัก คงต้องย้ายออก หากมีการสร้างสถานีรถไฟคร่อมทับสถานีเก่า เช่นเดียวกับอีกหลายชุมชน

ประเด็นเรื่องการสร้างเส้นทางและสถานีรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางอยุธยา กลายเป็นประเด็นถกเถียงกว้างขวาง หลัง เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล โพสต์ว่า “ประชาชนคนไทยต่างลุ้นกับกรณี ศรีเทพ จะได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่อยุธยาที่เป็นอยู่แล้ว กำลังจะถูกถอด เพราะรถไฟความเร็วสูงผ่ากลางเมือง” โดยมีผู้คนจำนวนไม่น้อย มาแสดงความเห็นสนับสนุนการสร้างทางรถไฟ

ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.อยุธยา พรรคก้าวไกล ก็ออกมาคัดค้านโครงการเช่นกัน โดยเขาบอกกับบีบีซีไทยว่า ภาครัฐประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลต่าง ๆ กับประชาชนในอยุธยาถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงน้อยมาก เขาและพรรคก้าวไกลจึงต้องการนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วน

“เราหวังดี เพื่อให้พี่น้องชาวอยุธยาทราบข้อมูลมากขึ้นว่า เมืองในอนาคตที่จะเป็นเมืองในฝันของชาวอยุธยาจะเป็นอย่างไร อะไรคือการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดกับชาวอยุธยา” ทวิวงศ์ สส.ชายอายุน้อยที่สุด ในวัย 27 ปี กล่าว

เขายังขอเสริมจุดยืนของเขาและพรรคก้าวไกลว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างรถไฟความเร็วสูง ในเวลานี้ เพราะ “ประเทศไทยต้องการเส้นเลือดฝอย ก่อนจะมีเส้นเลือดใหญ่”



ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.อยุธยา พรรคก้าวไกล มาร่วมสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลกับคณะทัวร์

คุณค่าอยุธยา... ที่ไม่ใช่มรดกโลก

ย้อนไปเมื่อปี 2564 ที่ยูเนสโกได้แจ้งคำเตือนถึงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ที่อาจทำให้อยุธยาถูกถอดสถานะมรดกโลก เป็นปีเดียวกับที่ ลิเวอร์พูลในสหราชอาณาจักร ถูกถอดออกจากสถานะมรดกโลก เพราะโครงการพัฒนาหลายแห่ง รวมถึงการสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ของสโมสรเอฟเวอร์ตัน ทำให้คุณค่าของพื้นที่แม่น้ำเมอร์ซี ที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองถดถอยอย่างร้ายแรง

กรณีคล้ายกันเกิดขึ้นในปี 2552 เมื่อยูเนสโกได้ถอด “ที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาแม่น้ำเอลเบอ เมืองเดรสเดน” ของเยอรมนี ออกจากบัญชีมรดกโลก เพราะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

นี่คือกรณี “อดีตมรดกโลก” ที่ ศิริพจน์ หยิบยกขึ้นมาเตือนว่า ไทยไม่ควรชะล่าใจ “ถ้าเขาไม่ถอด เขาจะเตือนทำไม แล้วอยุธยาโดนเตือนมา 3 ครั้งแล้ว” ศิริพจน์ บอกกับบีบีซีไทย “แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่ารัฐไทยจะแคร์หรือเปล่า แต่คนที่ทำงานสาขาโบราณคดีจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้”



ที่มาของภาพ, Thai News Pix , คำบรรยายภาพ : จากขวาไปซ้าย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการเสวนา

นั่นจึงนำมาสู่การเสวนาในชื่อ “มรดกเผด็จการ ม.44 ทำลายมรดกโลก อโยธยา” เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่รวมนักวิชาการสาขาต่าง ๆ มาแสดงความเห็นถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงตัดผ่านอยุธยา โดยย้ำจุดยืนของผู้ร่วมเสวนาทุกคนว่า “ต้องการรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา แต่ไม่อยากให้ทำลายเมืองเก่า และคุณค่าทางประวัติศาสตร์”

บีบีซีไทย สรุปความเห็นของวงเสวนา ได้ดังนี้

ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

“มาตรา 44 ปิดปาก การโต้แย้งถกเถียงใด ๆ รวมถึงการศึกษาเมืองโบราณอโยธยา” พร้อมยกตัวอย่างโครงการก่อสร้างที่จอดรถใต้สนามหลวงของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หลายสมัย ที่ต้องล้มเลิกไป เพราะคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ประเมินว่ามีความเสี่ยงกระทบกระเทือนโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่อยู่ใต้ท้องสนามหลวง ดังนั้น ทำไมการสร้างทางรถไฟและสถานีรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา ถึงได้มองข้ามจุดนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

“เรารู้เราเห็นสิ่งที่มันจะถูกทำลายอยู่ตรงหน้า โดยหน่วยงานรัฐ... จะยังมีใครนั่งรถไฟมาลงอยุธยาอีกไหม ถ้าไม่ใช่มรดกโลก ไม่มีความเป็นเมืองที่น่าเที่ยวอีกต่อไป เพราะมนต์ขลังหรือความเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ได้หายไปแล้ว”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ในเชิงกฎหมายนั้น การพัฒนาเมืองไม่เพียง “ทำให้พื้นที่หรือกายภาพเจริญขึ้นอย่างเดียว แต่ต้องครอบคลุมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย” ดังนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อธรรมชาติ คุณภาพชีวิต และอื่น ๆ



ที่มาของภาพ, หนังสือเมืองโบราณ , คำบรรยายภาพ : หนังสือเมืองโบราณ ฉบับปี 2560 ว่าด้วย "อโยธยาศรีรามเทพนคร"

ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งถือเป็น HIA ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยปรึกษากับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผอ.ศูนย์การประชาสัมพันธ์ รฟท. เปิดเผยกับสื่อ รวมถึงมติชนว่า การทำ HIA จะประเมินผลกระทบต่อมรดกโลกใน 3 ด้าน คือ ทัศนียภาพ กายภาพ และสังคม-เศรษฐกิจ รวมถึงการเสนอแนวทางพัฒนาที่เหมาะสม แต่ยังยืนยันว่า การดำเนินการก่อสร้างจะใช้เฉพาะพื้นที่เขตรถไฟเดิม ไม่กระทบต่อมรดกโลก หรือพื้นที่ของประชาชนแต่อย่างใด

สำหรับ ผู้ยืนยันว่า “สนับสนุนรถไฟความเร็วสูงในอยุธยา” อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ เขามองว่าการก่อสร้างทางรถไฟผ่ากลาง “อโยธยา” จะทำให้คนไทยเสียโอกาสในการสำรวจคำอธิบายใหม่ว่า “คนไทยเป็นใครและมาจากไหน”

“สังคมไทยต้องร่วมกันอนุรักษ์อโยธยา” เขากล่าวในวงเสวนาเดียวกัน “สำหรับผม อโยธยาเป็นเมืองไทยแห่งแรก เป็นเมืองต้นกำเนิดเมืองไทย และภาษาไทย เป็นต้นกำเนิดสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และประเทศไทย”

“แล้วจะทำลายอโยธยาทำไม... จะทำลายต้นกำเนิดความเป็นคนไทยทำไม”






Thank to :-
website : https://www.bbc.com/thai/articles/cz5elnpxj3lo
Author, เรื่อง : ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / ภาพ : ภานุมาศ สงวนวงศ์
Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย | 3 ตุลาคม 2023
4  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ความซับซ้อนของเขาวงกต แห่งประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ: ตุลาคม 03, 2023, 07:06:56 am

.



ความซับซ้อนของเขาวงกต แห่งประวัติศาสตร์ไทย

ทั้ง “ประวัติศาสตร์” และความเป็น “ชาติ” ของไทย ถูกสร้าง และยังผลิตซ้ำโดยรัฐอยู่บ่อยครั้งโดย หลวงวิจิตรวาทการ เมื่อครั้งรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งสองสมัยเลยนะครับ

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯ เพราะเป็นนายกฯ คนก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนี้ ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ ต่อเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ

จนกระทั่งวันที่ 16 ธันวาคม ปีเดียวกัน ได้มีการประกาศให้ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการดำรงตำแหน่งในครั้งนั้น โดยมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นหัวหอกสำคัญในกิจการด้านวัฒนธรรมของรัฐบาล

กล่าวโดยสรุป ในช่วงเวลาที่จอมพลชื่อแปลกคนนี้ ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก ระหว่างปี พ.ศ.2481-2487 นั้น หลวงวิจิตรวาทการได้ใช้ประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมีรูปแบบต่างไปจากประวัติศาสตร์แบบประเพณีนิยมของไทย ที่มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้นำและตัวอย่างสำคัญ ซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มาเป็นพื้นฐานสำคัญในการนิยาม “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย”

เพราะสิ่งที่หลวงวิจิตรวาทการเน้นย้ำที่สุดก็คือ “ชาติไทย” เป็นชาติของคน “เชื้อชาติไทย”


@@@@@@@

หลวงวิจิตรวาทการได้เคยจำกัดนิยามความหมายคำว่า “เชื้อชาติ” ตามความเห็นของท่านเอาไว้ว่า

“คำว่าเชื้อชาติ หรือ Race หมายถึงการที่มนุษย์มีเชื้อสาย ภาษา วัฒนธรรม ขนบประเพณี และชีวิตความเป็นอยู่อย่างเดียวกัน…ชาติ…คือส่วนรวมของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ร่วมโชคชะตากัน”

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ อีกหนึ่งหญิงนักประวัติศาสตร์ ซึ่งทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับหลวงวิจิตรวาทการ กับการสร้างความเป็นไทย ไว้มากเสียจนเรียกได้ว่าเป็นผู้ชำนัญการเฉพาะทาง จะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ในรัฐบาลจอมพล ป. 1 เอาไว้ว่า

“ในทศวรรษ 2480 นี้ (คือสมัยที่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก) หลวงวิจิตรวาทการไม่ได้เน้นความเจริญทางศิลปะของไทยแต่โบราณ (ตามอย่างประวัติศาสตร์สกุลสมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพ) แต่เปลี่ยนมาเน้น ‘นิสสัย’ หรือ ‘จิตใจ’ หรือ ‘ศีลธรรม’ ของคน ‘เชื้อชาติไทย’ สามารถสร้าง ‘ชาติไทย’ ให้เป็น ‘ชาติอารยะ’ และเป็น ‘มหาอำนาจในแหลมทอง’ ได้สำเร็จ”

ในบางยุคสมัย ประวัติศาสตร์จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบงการ และหล่อหลอมคนในชาติ ให้มี “จิตใจ” และ “นิสัยใจคอ” ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเอื้อต่อความเจริญของชาติ (ตามทัศนะ หรือ “ข้ออ้าง” ของชนชั้นนำ)

@@@@@@@

เฉพาะกรณีของหลวงวิจิตรวาทการนั้น อ.สายชล ได้อธิบายว่า

“ได้ใช้วิธีนำคุณลักษณะเหล่านี้ใส่เข้าไปในบริบทสมัยสุโขทัย เพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘คนไทย’ ในอดีต ได้เคยมีคุณลักษณะเหล่านี้จริง”

ในขณะเดียวกัน ความเป็นไทยอย่างนี้ก็เบียดขับเอาความเป็นอื่นออกไปด้วยนะครับ

เพราะในเมื่อ “ชาติ คือส่วนรวมของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน” คนเชื้อชาติอื่นก็ย่อมไม่ใช่คนในชาติไทย ยิ่งไม่ใช่ผู้ที่ “ร่วมโชคชะตากัน” กับคนเชื้อชาติไทยอีกด้วยแน่

และยิ่งแน่นอนอีกด้วยว่า มี “จิตใจ” และ “นิสัยใจคอ” ที่ต่างไปจากคนไทย (เป้าประสงค์ใหญ่ในสมัยนั้นมุ่งไปที่คนจีนที่มีอยู่มาก และแม้ว่าโดยพื้นเพ หลวงวิจิตรวาทการจะเป็นลูกจีนด้วยก็ตาม)

“ประวัติศาสตร์” ที่ผูกพันกับ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” แบบนี้ สำคัญเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายของรัฐบาล “ท่านผู้นำนิยม” ของจอมพล ป. เพราะในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งท่านผู้นำของชาติไทยอยู่นั้น ได้ออก “รัฐนิยม” จำนวน 12 ฉบับ ที่มีเนื้อหาไล่มาตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย (ตามเชื้อชาติของคนในชาติ) วัฒนธรรมความเป็นอยู่ การแต่งกาย เพลงชาติ ฯลฯ

แน่นอนว่า ในกรณีนี้ประวัติศาสตร์ มีบทบาทเป็นเครื่องมือให้รัฐสามารถบงการร่างกาย, จิตใจ และนิสัยใจคอของประชาชนภายในรัฐ เพื่อเอื้อต่อความเจริญของชาติตามทัศนะ หรือ “ข้ออ้าง” ของคนชั้นนำนั่นเอง


@@@@@@@

จอมพล ป.ก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2487 เนื่องจากเกือบนำประเทศตกเป็นผู้แพ้สงคราม เพราะประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (แต่ก็ที่ทราบกันดีว่า ไทยโชคดีเป็นอย่างมาก ไม่ตกเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย)

และแม้จะต้องโทษจำคุก อันเป็นผลจากการเป็นผู้นำประเทศครั้งแรก แต่จอมพล ป.ก็ยังมีบารมีพอที่จะทำให้นายทหารบางกลุ่ม ซึ่งนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ กระทำการรัฐประหาร แล้วเชิญจอมพลท่านกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกสมัยหนึ่ง เมื่อเรือน พ.ศ.2491

แต่ “ความเป็นไทย” ในรัฐบาลจอมพล ป. 2 ที่ยังคงมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหอกทางด้านวัฒนธรรมเหมือนเดิม กลับไม่เน้นย้ำที่ “เชื้อชาติไทย” เหมือนในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.สมัยแรก

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่จอมพล ป.ไม่สามารถยึดครองอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จเหมือนเมื่อครั้งรัฐบาลจอมพล ป. 1 เพราะในสถานการณ์ “สงครามเย็น” ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้จอมพลท่านนี้ต้องพยายามร้องหาความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์

สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ นอกเหนือจากต้องสร้างดุลอำนาจระหว่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองของจอมพล ป. ซ้ำยังมีอิทธิพลอย่างสูงในรัฐสภา เป็นหัวหอกสำคัญในการฟื้นฟู “จารีตนิยม” และ “กษัตริย์นิยม” ที่ถูกหลายฝ่ายทำให้กลับมามีพลังสูงขึ้นมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (โดยเฉพาะหลังเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อเรือน พ.ศ.2489)

@@@@@@@

จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการจึงต้องหันกลับมาเชิดชูภาพตัวแทนของ “ความเป็นไทย” ที่โดดเด่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ “พระพุทธศาสนา” และ “พระมหากษัตริย์” เพื่อลดแรงเสียดทานจากขั้วจารีตนิยม พร้อมๆ กับที่เน้นย้ำถึงอันตรายของลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อสถาบันกษัตริย์ และพระพุทธศาสนา

ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. 2 นั้น หลวงวิจิตรวาทการจึงเพียรพยายามจะชี้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่า หากคอมมิวนิสต์ยึดประเทศไทยได้แล้ว ความเป็นไทยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนาจะต้องถูกทำลายลงไปอย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกัน จอมพล ป.เองก็ดูจะปรับตัวให้กับแนวคิดแบบจารีตนิยมได้ดี ด้วยการดึงตัวเองเข้ากับพ่อขุนรามคำแหง และอุดมคติของความเป็นสุโขทัย ที่ถูกสร้างภาพให้เป็นขุดกำเนิดของอาณาจักรของคนไทย ซ้ำยังเป็นราชธานีแห่งแรกอันยิ่งใหญ่ของผู้ที่มีเชื้อชาติไทยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อพรรคการเมืองว่า “เสรีมนังคศิลา” การอุปถัมภ์พุทธศาสนา การจัดแสดงละครเวทีเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ไปจนถึงการบูรณะซ่อมแซมเมืองเก่าสุโขทัย

ถึงแม้ว่า จอมพล ป. ดูจะไม่โปรดปรานนัก กับการให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างนี้ เพราะไม่ต้องการให้สถาบันมีอำนาจเหนือผู้นำประเทศ จนทำให้หลวงวิจิตรวาทการได้ทำงานใกล้ชิดกับจอมพลชื่อแปลกท่านนี้น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ก็ทำให้จารีตนิยมแบบเก่ากลับเข้ามาอยู่ใน “เขาวงกตของประวัติศาสตร์ไทย” นับแต่นั้นเป็นต้นมา จะต่างจากเดิมก็เพียงแต่ ไม่ได้เป็นเขาวงกตที่สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ของชนชั้นสูงเพียงอย่างเดียวเหมือนแต่เดิม เพราะในหลายครั้งก็ยังสวมเครื่องแบบลายพรางของทหาร เพื่อคอยเฝ้าระวังภัยให้กับอธิปไตยของอุดมการณ์ชาตินิยมไทย จนทำให้เขาวงกตของประวัติศาสตร์ไทยทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา •


 



ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_713964
5  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง : ตบะ คืออะไร.? ในพุทธศาสนา เมื่อ: ตุลาคม 03, 2023, 06:57:48 am


(ต่อจากด้านบน) เมื่อ ตบะ หมายถึง สิ่งขจัดความชั่วร้ายออกจากใจ อะไรก็ตามที่ปฏิบัติแล้วสามารถเผาความชั่วให้มอดดับไปได้ เรียกว่าตบะทั้งนั้น เช่น ขันติ ความอดทน ศีล การควบคุมกาย-วาจาให้เรียบร้อย

แต่ที่ท่านเน้นมากในกรณีนี้ คือ ความพากเพียร หรือความขยันนั้นแล พระพุทธศาสนาเน้นมากคือความเป็นคนขยัน ไม่เคยสอนให้คนขี้เกียจ

ส่วนที่ใครมักพูดว่า พุทธศาสนาสอนความมักน้อยสันโดษ สอนอนัตตา ความไม่มีตัว ไม่มีตน ทำให้คนขี้เกียจ เพราะอะไรๆ ก็ให้มักแต่น้อย ไม่ให้มักมาก แล้วคนมันจะสร้างจะสรรค์อะไร หรือไอ้นั่นก็ไม่ใช่ของเรา ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างล้วนอนิจจังไม่เที่ยงทั้งนั้น แล้วจะมาสร้าง มาทำทำไมให้เมื่อย ปล่อยเลยตามเลยไม่ดีกว่าหรือ ว่าแล้วก็ไม่ทำอะไร ขี้เกียจตัวเป็นขน นั่นมันเป็นความเข้าใจผิดขอรับ

"สันโดษ" มิได้แปลว่า มักแต่น้อย ไม่สร้างสรรค์ "สันโดษ" หมายถึง ความพากเพียรพยายามทำจนเต็มที่ได้ผลสำเร็จมาแล้ว ภาคภูมิใจในผลงานของตนแล้วก็เป็นเหตุให้สร้างสรรค์อีกต่อไป

ส่วนสอนอนัตตา ก็เพื่อให้เข้าใจความจริงแท้ว่า ทุกอย่างจริงๆ แล้วมันเป็นไปตามกฎธรรมดา มีเกิด มีดับสลาย หาตัวตนที่แท้จริงมิได้ เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้วจะได้ไม่ยึดมั่นเกินกว่าเหตุ ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต จุดมุ่งหมายของการสอนอนัตตาอยู่ตรงนี้ขอรับ

@@@@@@@

ความพากเพียร ท่านสอนไว้ตั้งแต่ระดับแรกเลย คนจะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ

ประการแรกสุด คือ ต้องขยันหมั่นเพียร ขยันทำงาน ทำมาหาเลี้ยงชีพ สู้อุปสรรคน้อยใหญ่ไม่ท้อถอย , หาเงินหาทองมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต , หามาได้แล้วก็รู้จักเก็บออมไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย, แค่นั้นยังไม่พอ ต้องรู้จักคบหาสมาคมกับคนดีที่เอื้อต่ออาชีพของตน คนทำงานถ้าริคบนักเลงการพนัน ถึงหาได้วันละแสนก็เป็นหนี้วันละล้าน หายนะอย่างเดียว ไม่มีทางเจริญ , นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักดำรงชีวิตพอเหมาะพอสมกับสถานภาพความเป็นอยู่ของตนอีกด้วย

ทำได้ตามนี้รับรองตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ต่อให้คุณยากจนเพียงใดในขณะเริ่มต้น ไม่ช้าไม่นานก็จะกลายเป็นผู้มีอันจะกิน และมีมากจนกินไม่หมดแน่นอน

เห็นไหมครับ เพียงแต่คุณมี “ความขยัน” เป็นจุดเริ่มตัวเดียวก็จะชักนำคุณเดินมาสู่ถนนแห่งความสำเร็จอย่างมั่นใจ


@@@@@@@

สูงขึ้นไปกว่านั้น การจะบรรลุมรรคผลพ้นทุกข์ได้ ก็ต้องเริ่มที่ความขยันเหมือนกัน บวชมาแล้ว ถ้า “ฉันเช้าแล้วเอน ฉันเพลแล้วนอน ตอนเย็นพักผ่อน ตอนค่ำจำวัด” ไม่มีทางบรรลุอะไรได้ นอกจากบรรลุ “ความขี้เกียจ” เป็นเครื่องหมายแห่งความอัปยศ

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ศาสนาของพระองค์เป็นศาสนาของคนขยัน"
พระองค์จะขนาบแล้วขนาบอีก ทุบแล้วทุบอีก กระตุ้นเตือนให้สาวกของพระองค์พากเพียรฝึกฝนตน ดุจช่างหม้อทุบดินเหนียวแล้วๆ เล่าๆ เพื่อให้ได้รูปทรงหม้อที่งดงาม

พระองค์มิได้สรรเสริญการนิ่งอยู่กับที่ หากแต่ทรงสรรเสริญการพัฒนาตนให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น คนเกียจคร้านอ่อนแอ ไม่แน่จริง อยู่ในศาสนาของพระองค์ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็เป็น “กาฝาก” คอยบ่อนไช สร้างความมัวหมองแก่พระศาสนา ดังที่ได้เห็นได้ยินเป็นที่แสลงตาแสลงหูเป็นครั้งคราว

ก่อนจบขอฝากพุทธวจนะเป็นคติเตือนใจว่า
“เราไม่มองเห็นธรรมอะไร ที่สามารถบันดาลให้บุคคลสมหวังในสิ่งที่ต้องการได้ เท่ากับความพากเพียรไม่ท้อถอย”

อีกบทหนึ่งว่า
“เมื่อได้เพียรพยายามแล้ว ถึงตายก็ชื่อว่า ตายอย่างไม่เป็นหนี้ใคร”

ใครมีความสุขกับการเป็นหนี้จนชาติหน้าก็ใช้ไม่หมด ก็จงเป็นคนขี้เกียจไปเถอะครับ





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4-10 ธันวาคม 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก | เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2563
บทความ : ตบะ คืออะไร ในพุทธศาสนา.? | สูตรสำเร็จในชีวิต (40) : ตบะ
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_378176
Photo : pinterest
6  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ตักบาตร หรือ ใส่บาตร คำใดถูกต้อง เมื่อ: ตุลาคม 03, 2023, 06:21:36 am





ตักบาตร หรือ ใส่บาตร คำใดถูกต้อง

เมื่อสายบุญถวายอาหารให้พระภิกษุสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตยามเช้า เรียกว่า "ตักบาตร" หรือ "ใส่บาตร"  กันแน่ คำใดถูกต้อง หลายคนคงสงสัย เพราะปัจจุบันเรียกกันทั้งสองแบบ และส่วนใหญ่เข้าใจว่า “ใส่บาตร” เป็นคำที่ถูกต้องเพราะเป็นคำตามกิริยาการใส่ของลงไปในบาตรพระ

แต่แท้จริงแล้ว คำว่า “ใส่บาตร” เป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในภายหลัง ไม่มีบรรจุอยู่ในพจนานุกรม คำเดิมที่ถูกต้องคือ “ตักบาตร”  ซึ่งคำว่า “ตัก” คำนี้ ไม่ใช่ การตัก ที่หมายถึง เอาภาชนะช้อนสิ่งของขึ้นจากที่เดิม เช่น ตักน้ำ ตักแกง ตักดิน อย่างที่เราใช้กันอยู่ แต่เป็นคำเทียบกับภาษาเขมรว่า “ฎาก่” แปลว่า วางลง

ตักบาตร จึงหมายความโดยตรงว่า เอาของใส่บาตรพระ

สำนวนไทยที่เกี่ยวข้องจึงใช้คำว่า “ตักบาตร” เช่น ตักบาตรอย่าถามพระ หมายความว่า จะให้อะไรแก่ผู้ที่เต็มใจรับอยู่แล้ว ไม่ควรถาม รวมถึงประเพณีงานบุญต่าง ๆ ที่สืบทอดมาช้านานใช้คำว่า "ตักบาตร" เป็นหลัก เช่น ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน เป็นต้น

สรุปได้ว่า คำที่ถูกต้องแบบดั้งเดิม คือ ”ตักบาตร” เช่น “วันนี้วันพระ มาทำบุญตักบาตรด้วยกันไหม”  “ตักบาตรยามเช้าสร้างกุศลผลบุญ”

แต่การใช้คำว่า “ใส่บาตร” เช่นที่คุ้นชินในปัจจุบัน ก็ไม่นับเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด ด้วยเป็นคำสามัญที่ใช้เรียกตามกิริยา ทั้งมีเจตนาสร้างกุศลผลบุญไม่ต่างกัน





ขอขอบคุณ :-
ข้อมูล : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
Uranee Th. : ผู้เขียน | 29 ก.ย. 66 (01:36 น.)
website : https://www.sanook.com/horoscope/262607/
7  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ศรัทธา "ท้าวเวสสุวรรณ" ธุรกิจรุ่ง หายป่วยอัศจรรย์ เมื่อ: ตุลาคม 03, 2023, 05:49:40 am




ศรัทธา "ท้าวเวสสุวรรณ" ธุรกิจรุ่ง หายป่วยอัศจรรย์

การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเราไปขอ “พลัง” แต่ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราลงมือทำ อยู่ที่จิตของเรา อาจจะกล่าวได้ว่าถ้าจิตเราไม่ดีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันก็จะไม่ดี เราต้องคิดดี ทำดี... แล้วทุกอย่างมันก็จะดี ท่านก็จะมาช่วย มาเติมส่วน ผลักดันให้เรามีกำลังใจ

ถ้าไปไหว้...ไปขอ...แต่ตัวเองไม่ทำงานมันก็ไม่สำเร็จอย่างแน่นอน ตรงกันข้าม...ถ้าเราลงมือทำแล้วมีพลังช่วย ก็สำเร็จสมหวังได้ตามประสงค์

ใครคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่โชคดี ปลูกผักในบ้านก็มีของกินแล้ว ประเทศเราไม่ใช่ทะเลทราย เราปลูกอะไรก็งอกงาม ขอเพียงเราขยันทำมาหากินและการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือการเติมพลังใจให้ชีวิตเรา เป็นการเสริมด้านกำลังใจ ขอให้เรามีความเชื่อมีความศรัทธาอย่างจริงใจ”




“ท้าวเวสสุวรรณ” หรือ “ท้าวกุเวร” ความเชื่อเล่าขาน ท่านเป็นถึงหนึ่งในท้าวจตุมหาราชผู้ครองสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา แล้วก็ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า “ธนบดี”

ซึ่งหมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในทรัพย์ธเนศวร ผู้เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งยักษ์, มยุราช...เจ้าแห่งกินนร, อิจฉาวสุ...ความมั่งมีได้ตามใจ, รากษเสนทร์...ผู้เป็นใหญ่ในพวกรากษส, ท้าวกุเรปัน ฯลฯ

หนึ่งในตำนานอดีตชาติของท้าวกุเวร... พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า “กุเวร” เป็นคนใจดีมีเมตตา ทำไร่อ้อยแล้วเอามาบีบทำน้ำอ้อยขายยึดอาชีพสุจริตเป็นนิจศีล ทำไปเรื่อยๆกิจการรุ่งเรืองเป็นเจ้าของหีบยนต์บีบอ้อย 7 เครื่อง จึงสร้างบ้านพักสำหรับคนเดินทาง บริจาคน้ำอ้อยให้เป็นทานแก่ผู้คนที่ผ่านไปมาตลอดทั้งชีวิต

ด้วยอำนาจกุศลผลบุญที่พราหมณ์กุเวรได้ทำ หนุนนำให้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานามว่า “กุเวรเทพบุตร” ต่อมาได้รับการเทวาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นผู้ดูแลพระนครสวรรค์ชั้นที่ 1 ด้านทิศเหนือ และได้พระนามใหม่ว่า “ท้าวเวสสุวรรณ”




กล่าวกันว่า... “คฑาวุธ” ของท้าวเวสสุวรรณนั้นถือเป็นยอดแห่งศัสตราวุธที่มีอานุภาพมหาศาลยิ่งนัก สามารถทำลายโลกใบนี้ได้เป็นจุณในพริบตาเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า...ตามวัดวาอารามต่างๆหน้าโบสถ์ วิหารจะมีท้าวเวสสุวรรณยืนเฝ้าตระหง่าน ด้วยเชื่อกันว่าจะคอยปกป้องสมบัติล้ำค่า ของมีค่าโบราณและอีกนัยหนึ่งก็แฝงไปด้วยหน้าที่ เป็นเทพผู้ที่ทำหน้าที่คอยพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาสืบต่อไปตราบนานเท่านาน

@@@@@@

ช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา ... หลายๆธุรกิจสะดุดไม่ราบรื่น พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลายสักระยะนึงก็เริ่มฟื้นขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีปัญหาติดๆขัดๆไม่สะดวกคล่องเท่าใดนัก จนอาจจะเรียกได้ว่าวิกฤติจริงๆ

ศิริญา เทพเจริญ เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เล่าว่า สิ่งที่ทำตลอดในช่วงนั้นคือการไปไหว้ขอพรท่าน “ท้าวเวสสุวรรณ” คือ “ทศกัณฐ์” กับ “สหัสเดชะ” ยักษ์ 2 ตนคอยเฝ้าประตู

เชื่อไม่เชื่อกันอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ขอเล่าให้ฟังว่าท่านก็มาบอกในนิมิต...ไปเข้าฝันเด็กนักแสดงที่จะมารำถวายพร้อมกันทุกคนว่า “เราคือท้าวเวสสุวรรณไม่ใช่ยักษ์” ให้เรียกเสียใหม่แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น




สุดท้ายเราก็รอดมาจนได้ เมื่อถึงเวลาฟ้าเปิดก็มีกลุ่มนักลงทุนจีนมาร่วมลงทุนกับเรา เรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์เหมือนกัน เพราะตอนนั้นเราก็เครียดมาก แต่ในที่สุดมันก็รอดจนได้

“เขาเข้ามาถือหุ้น 50% และมาลงทุนเพิ่มในกลุ่มธุรกิจด้วย”

 เรื่องราวต่อจากนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล เธอเล่าให้ฟังอีกว่า...เราเป็นคนธรรมดา ตาเรามองไม่เห็นท่านหรอก แต่ท่านเห็นหมดทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต...ท้าวเวสสุวรรณที่นั่น (เลเจนด์สยาม) ท่านก็มาในนิมิตเหมือนกันตั้งแต่วันเปิดงาน สร้างภาพให้เห็นเลยว่างานจะเปิดอย่างไร หรือบางงานท่านก็มาเตือนว่าอย่าทำเลย

“บางทีนอนอยู่กลางวันเหมือนมีใครกระตุกขาลากออกที่นอนบนโซฟาเลย ครั้งหนึ่งจะจัดงานแล้วมีทีมงานหนึ่งเข้ามารับงาน แต่ก็เหมือนว่าเราจะโดนหลอก ท่านก็มาเตือน แต่เราก็ดื้อทำ (หัวเราะ) สุดท้ายก็โดนจริงๆ”




ไม่เชื่อก็อย่าได้ลบหลู่ทีเดียว...สุดท้ายตอนนี้ไม่เอาแล้ว ทำอะไรก็ถามท่านก่อนให้ท่านมาดลใจบอกเราเอง ไม่อยากคิดอะไรเองแล้ว นอกจากนี้จากประสบการณ์ของคนที่อยู่ใกล้ตัวเราต้องบอกว่า ทุกคนขอพรท่านท้าวเวสสุวรรณแล้วประสบผลสำเร็จทุกคน...ทุกราย...ทุกเรื่อง

“บางคนมีเหตุต้องผ่าตัดเข่า แต่เขาไม่อยากผ่าก็มายกมือไหว้ขอพรท่านท้าวเวสสุวรรณปรากฏว่า...กลับไปหายไม่ต้องผ่า จนเขาก็ย้อนกลับมาไหว้ขอบคุณและเล่าให้ฟัง”

@@@@@@

คาถาบูชาประจำวัน “ท้าวเวสสุวรรณ” หรือ “ท้าวกุเวร”

ตั้งนะโม 3 จบ ...อิติปิโสภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มรณังสุขัง อะหังสุคะโต นะโมพุทธายะ




ท้าวเวสสุวรรณโณ จตุมหาราชิกา ยักขะพันตา ภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโมพุทธายะ

คัมภีร์เทวภูมิกล่าวย้ำศรัทธายิ่งใหญ่ ด้วย “ท้าวเวสสุวรรณ” ได้บำเพ็ญเพียรบารมีมานานหลายพันปี รับพรจากพระอิศวร พระพรหมให้เป็นเทพแห่งความร่ำรวย คัมภีร์โบราณจึงมีบันทึกไว้ว่า...ผู้ใดหากมีหวังตั้งประสงค์อยากที่จะมีความเจริญในด้านลาภยศ สรรเสริญ ทรัพย์สินเงินทอง กระทั่งอำนาจวาสนาแล้วล่ะก็




...ให้ไปหาบูชารูป “ท้าวเวสสุวรรณ” หรือ “ท้าวกุเวร”

ต้องย้ำกันจริงๆอีกครั้งว่า... “ท้าวเวสสุวรรณ” นั้นเป็นมหาเทพแห่งความร่ำรวย มั่งคั่ง ผู้เป็นเทพที่รักษาสมบัติของเทวโลก อีกทั้งยังมีอำนาจปกครองดูแลยักษ์ ภูตผีปีศาจทั้งหลาย...มีพลังอำนาจบารมีมากยิ่ง




ผู้คนไม่น้อยเชื่อศรัทธากันว่าเมื่อบูชา “ท้าวเวสสุวรรณ” แล้ว จักได้รับความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตัวอย่างไม่ขาด ทั้ง....ลาภยศ สรรเสริญ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนาบารมี ที่แม้เกิดขึ้นได้ยากยิ่งก็จักมีเข้ามาในชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่ออย่างไรขอโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

                           รัก-ยม


คลิกอ่านคอลัมน์ "เหนือฟ้าใต้บาดาล" เพิมเติม




Thank to : https://www.thairath.co.th/news/local/2725652
17 ก.ย. 2566 05:48 น. | ข่าว > ทั่วไทย > รัก-ยม
8  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ศรีเทพ ต้นทางความศักดิ์สิทธิ์ ของความเป็นทวารวดีในสยามประเทศไทย เมื่อ: ตุลาคม 02, 2023, 06:26:49 am




ศรีเทพ ต้นทางความศักดิ์สิทธิ์ ของความเป็นทวารวดีในสยามประเทศไทย

ในบทความเรื่อง “Wen Dan And Its Neighbours : The Central Mekong Valley in the Seventh and Eighth Centuries” (อาจแปลชื่อบทความเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า เวียงจันทน์กับเพื่อนบ้าน : หุบเขาลุ่มน้ำแม่โขงตอนกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 7-8) ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารจีนโบราณอย่าง ทัตสึโอะ ฮาชิโนะ (Tatsuo Hoshino) ในหนังสือ Breaking New Ground in Lao History : Essays on the Seventh to Twentieth Centuries (ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ลาว : ข้อเขียนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-20) ซึ่งตีพิมพ์มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2545

มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอะไรที่เรียกว่า “ทวารวดี” และ “เมืองศรีเทพ” ซึ่งเพิ่งจะได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย เมื่อเร็วๆ นี้ โดยแบ่งออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

@@@@@@@

1. ในพงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับใหม่ (ซินถังซรู) เรียก “ทวารวดี” ว่า “ตัวเหอหลัว” (Duo He Luo) ใช้เวลาเดินทางจากเมืองกวางโจวเป็นเวลา 5 เดือน ถูกมองว่าเป็นรัฐที่มีระบบการปกครองแบบมีศักดินาหลักรัฐหนึ่ง ทางตะวันตกของทวารวดีติดกับทะเล ทางตะวันออกติดกับเจนละ มีศรีจนาศะ (เจียหลัวเชอฝู, Jia Luo She Fu) อยู่ทางเหนือ และมีเมืองพานพาน (Pan Pan) อยู่ทางใต้

หนังสือซินถังซรูที่ว่านี้ แม้จะมีชื่อว่าเป็นพงศาวดารของราชวงศ์ถัง แต่ก็ไม่ได้ถูกแต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ถังหรอกนะครับ เพราะเป็นหนังสือที่ถูกจักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้มีพระราชโองการให้เรียบเรียงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถังขึ้นใหม่ โดยให้สอบทานกับหลักฐานต่างๆ ให้มีความถูกต้องที่สุด โดยเริ่มเรียบเรียงใน พ.ศ.1587 และเขียนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.1603 ต่างหาก ด้วยภูมิหลังอย่างที่ว่านี้ จึงทำให้หนังสือโบราณดังกล่าว มีความน่าเชื่อถือมากพอสมควรเลยทีเดียว

2. ในหนังสือต้าถังซียู่จี (Da Tang Xi Yu Ji) ชี้ให้เห็นว่า ที่ตั้งของทวารวดีระยะแรกควรจะอยู่แถบแม่น้ำบางปะกง ดังนั้น จึงน่าจะเป็นเมืองศรีมโหสถ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต จ.ปราจีนบุรี แต่ฮาชิโนะเชื่อว่า ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1400 ลงมา) น่าจะย้ายไปอยู่ที่ลพบุรี ทั้งนี้ ฮาชิโนะไม่ได้อ้างถึงหลักฐานเอกสารของจีนใดๆ เอาไว้ ดังนั้น ข้อความตอนนี้จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของเขาเท่านั้น

และสุดท้ายข้อ 3. เอกสารจีนบางชิ้น (ฮาชิโนะไม่บอกว่าคือชิ้นไหนบ้าง) ชี้ให้เห็นว่า ศรีจนาศะ (เจียหลัวเชอฟู) ที่แต่เดิมอยู่ที่เมืองเสมา ในเขต อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา แต่ต่อมาได้ถูกทวารวดีรุกราน จนทำให้ต้องทิ้งอำนาจของตนเองในเขตที่ปัจจุบันคือ นครราชสีมา ไปอยู่ที่ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเขาเชื่อว่าคือเมืองที่เอกสารจีนโบราณเรียกว่า เชียนจีฟู หรือกานจีฟู (Qian/Gan Zhi Fu)

ความตอนนี้ฮาชิโนะเทียบความจากจารึกบ่ออีกา ซึ่งพบที่เมืองเสมาเอง และพงศาวดารซินถังซรูที่บอกว่า เจียหลัวเชอฟู อยู่ทางเหนือของตัวเหอหลัว ซึ่งฮาชิโนะเชื่อว่าคือเมืองศรีมโหสถ ดังนั้น เขาจึงชี้ไปที่เมืองเสมาว่าคือ เมืองศรีจนาศะ นั่นเอง


@@@@@@@

ดังนั้น ถ้าจะว่ากันตามข้อเสนอของฮาชิโนะ ซึ่งอ้างอิงอยู่บนเอกสารจีนโบราณเป็นหลักนั้น “เมืองศรีเทพ” ก็ไม่ใช่ “ทวารวดี” หรอกนะครับ อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์สัญชาติญี่ปุ่นคนนี้ ก็ต่างไปจากข้อสันนิษฐานดั้งเดิมเกี่ยวกับศูนย์กลางของทวารวดีอยู่มากเลยทีเดียว

เพราะคำอธิบายเกี่ยวกีบ “ทวารวดี” ที่ทรงอิทธิพลที่สุดน่าจะมาจาก นักอ่านจารึกของอุษาคเนย์โบราณคนสำคัญชาวฝรั่งเศสอย่าง ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (Goerge C?d?s) ที่ได้เสนอเอาไว้เมื่อ พ.ศ.2472 ว่า ทวารวดีเกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุในพุทธศาสนา แบบที่เขาเรียกว่า “ก่อนเขมร” ซึ่งพบที่ลพบุรี และนครปฐม

และก็ดูเหมือนว่า เป็นเซเดส์นี่แหละ ที่เริ่มเรียก “ทวารวดี” ว่าเป็น “ราชอาณาจักร” (เซเดส์ใช้คำในภาษาฝรั่งเศสว่า royaume) อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับข้อสรุปของเขาที่ว่า ทวารวดีนั้นเป็นอาณาจักรของพวกมอญ เนื่องจากมีการพบจารึกภาษามอญอยู่มาก

น่าสนใจว่า เซเดส์นั้นเคยรับราชการอยู่ในสยาม และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดอยู่กับบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นับสิบปี และยังได้ช่วยกันลำดับยุคสมัยของประวัติศาสตร์ของไทย ที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยทวารวดี ไล่เรียงมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ดังนั้น ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับทวารวดีของท่าน จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในประเทศไทย

@@@@@@@

จุดสุดยอดของกระบวนการสร้าง “อาณาจักรทวารวดี” ขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยนั้น เกิดขึ้นจากการขุดพบเหรียญเงินสองเหรียญในโถขนาดเล็ก ที่บริเวณซากเจดีย์โบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของวัดพระประโทณ จ.นครปฐม ราว 1 กิโลเมตร เมื่อ พ.ศ.2486

ในเหรียญเงินทั้งสองดังกล่าว มีจารึกกำกับอยู่ด้วย ซึ่งเซเดส์ได้ถ่ายทอดและแปลความออกมาเมื่อ พ.ศ.2506 ว่า “ศรีทวารวตีศวรปุณยะ” หรือ “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดของเซเดส์ว่า มีอาณาจักรทวารวดีอยู่ที่นครปฐม

อย่างไรก็ตาม เหรียญเงินจากนครปฐมทั้งสองชิ้นที่ว่านี้ ไม่ได้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ และถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเลยก็คือ เป็นของที่ได้จากการขุดหาของเก่าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถยอมรับถึงที่มาของวัตถุ ตลอดไปจนถึงว่าเป็นโบราณวัตถุของแท้หรือไม่?

ถึงแม้ว่า ต่อมาจะมีการค้นพบเหรียญที่มีจารึกข้อความเดียวกันนี้ ในเมืองโบราณแห่งอื่นๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ซึ่งพบโบราณวัตถุสถานแบบที่นักโบราณคดีกำหนดเป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดีอีกหลายแห่ง จนชวนให้เชื่อใจได้มากขึ้นว่าเหรียญเงินทั้งสองชิ้นจากนครปฐมนั้นน่าจะเป็นของแท้ดั้งเดิม เพราะมีหลักฐานประเภทเดียวกันที่ใช้เปรียบเทียบได้จากแหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ

แต่นั่นก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ทวารวดี ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นครปฐม เพราะก็เจอเหรียญแบบเดียวกันในเมืองอื่นๆ ด้วย เพราะหมายความว่า หากใช้วิธีการแปลความจากข้อมูลหลักฐานแบบเดียวกันนี้ เมืองอื่นที่พบเหรียญทำนองนี้ก็สามารถเป็นทวารวดีได้ด้วยเช่นกัน


@@@@@@@

ข้อเสนอที่น่าสนใจชิ้นหลังสุดมาจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่เสนอว่า “ทวารวดี” ก็คือ “เมืองศรีเทพ” เหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ อ.พิริยะ เสนออย่างนี้เป็นเพราะว่า ที่เมืองศรีเทพนั้นมีการต้นพบรูปประติมากรรมพระกฤษณะลอยตัวขนาดใหญ่อยู่หลายชิ้น และถ้าจะว่ากันตามปรัมปราคติของพ่อพราหมณ์แล้ว พระกฤษณะนั้นเป็นกฤษณะผู้ครองเมืองทวารกา หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “เมืองทวารวดี” นั่นแหละครับ

ดังนั้น เมืองศรีเทพซึ่งเป็นเมืองที่พบรูปพระกฤษณะอยู่หลายองค์ ในขณะที่แคนดิเดตเมืองศูนย์กลางของทวารวดีเมืองอื่นๆ นั้น กลับไม่ค้นพบรูปพระกฤษณะเลย อ.พิริยะ ท่านก็เลยสรุปว่า “ศรีเทพ” นี่แหละคือศูนย์กลางของ “ทวารวดี”

ถึงแม้ว่า รูปสลักเล่าเรื่องของพระกฤษณะยังมีปรากฏอยู่ตามชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยในหลายๆ สถานที่ ซึ่งโดยมากจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอมโบราณ ไม่ว่าจะเป็นบนทับหลัง หน้าบัน หรือส่วนอื่นๆ โดยพบกระจายตัวอยู่ในปราสาทแบบขอม ทั้งที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำมูล ในภาคอีสานตอนล่างของไทย (หรือที่เรียกในเอกสารจีนโบราณว่า เจนละบก) และในเขตที่ราบลุ่มตนเลสาปเขมร ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน (คือ เจนละน้ำ ในเอกสารจีนโบราณ) โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องตามตำนานฝ่ายภาควัต (นิกายย่อยในไวษณพนิกาย ที่นับถือคัมภีร์ภาควัตปุราณะเป็นสำคัญ) แต่ที่เล่าเรื่องพระกฤษณะ ในมหาภารตะก็มี ที่สำคัญคือ ภาพสลักเล่าเรื่องสงครามบนทุ่งกุรุเกษตร ที่ระเบียงคต ปราสาทนครวัด

อย่างไรก็ตาม เรื่องของกฤษณะ ทั้งตำนานของฝ่ายภาควัต และในมหาภารตะ คงจะถูกเล่าปนๆ กัน โดยถือว่าเป็นอวตารของพระนารายณ์เหมือนกัน และคือพระกฤษณะองค์เดียวกันมาตั้งแต่ในอินเดียแล้ว

เรื่องของพระกฤษณะยังปรากฏในจารึกขอมอีกหลายหลัก โดยบางหลัก เช่น จารึกตระพังรุน ก็แสดงให้เห็นว่า ชาวเขมรโบราณรู้จักปรัชญาเกี่ยวกับพระกฤษณะ ตามแนวคิดในคัมภีร์ภควัตคีตาอีกด้วย

@@@@@@@

สรุปง่ายๆ ว่า ในเขตประเทศไทยนั้น มีเฉพาะเมืองศรีเทพ ที่มีการสร้างรูปพระกฤษณะลอยตัวขนาดใหญ่ อันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับพระกฤษณะ ผู้เป็นใหญ่แห่งเมืองทวารวดีเป็นพิเศษนั่นเอง

ข้อความตอนนี้อาจจะดูขัดกับหลักฐานจากเอกสารจีนที่ฮาชิโนะนำเสนอ แต่ก็ต้องอย่าลืมด้วยว่า ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงการตีความของฮาชิโนะเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ฮาชิโนะได้เสนอว่า ในภายหลังศูนย์กลางของเมืองทวารวดีได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองละโว้ก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก

เพราะว่าได้มีการค้นพบจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี ซึ่งกำหนดอายุจากรูปแบบตัวอักษรได้อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1400-1500 มีข้อความกล่าวถึง การปรนนิบัติพัดวีเทวรูปที่มีชื่อเรียกในจารึกว่า “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” ในฐานะของ “พระเชษฐบิดร” คือ “ผีบรรพชน” ของเมือง

โดยคำว่า “วาสุเทพ” นั้น เป็นชื่อบิดาของอวตารปางสำคัญของพระนารายณ์คือ “พระกฤษณะ” ผู้เป็นกษัตริย์ครองเมืองทวารวดี (หรือ ทวารกา) แต่หลายครั้งก็หมายถึงตัวพระกฤษณะเอง โดยมักปรากฏใช้เรียกควบคู่กันว่า “วสุเทวะกฤษณะ” อยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้น ชื่อ “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” ในจารึกศาลเจ้าลพบุรีนี้ จึงมีความเกี่ยวข้องกับ “พระกฤษณะ” ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเมืองลพบุรีนั้น เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายวัฒนธรรม “ทวารวดี” คือเมืองของพระกฤษณะ

น่าเชื่อว่า “ทวารวดี” คือชื่อศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มสายราชวงศ์ที่เชื่อว่า ตนเองสืบสายมาจากพระกฤษณะ ดังมีหลักฐานการนับ คือ อวตารของพระนารายณ์องค์นี้ อย่างเข้มข้นเก่าแก่สุดในไทยอยู่ที่เมืองศรีเทพ ต่อมาสายราชวงศ์นี้คงจะถือครองเมืองละโว้ คือ ลพบุรีเป็นศูนย์กลางใหม่ ดังปรากฏการนับถือ “พระวาสุเทพ” ในฐานะพระเชษฐบิดร อยู่ในจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี

ในทำนองเดียวกับที่กรุงรัตนโกสินทร์ ถือว่าตนเองสืบทอดความเป็นอยุธยา  ซึ่งก็คือ เมืองของอีกหนึ่งอวตารสำคัญของพระนารายณ์ คือ “พระราม” และเรียกกษัตริย์ผู้ครองเมืองว่า “รามาธิบดี” นั่นเอง •






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.256
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_715866
9  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ศรีเทพ เก่ากว่าสุโขทัย เมื่อ: ตุลาคม 02, 2023, 05:39:45 am




ศรีเทพ เก่ากว่าสุโขทัย

เมืองศรีเทพมีอายุเก่าแก่กว่า “สุโขทัยราชธานีแห่งแรก” ตั้งอยู่บริเวณชุมทางคมนาคมของดินแดนภายในระหว่างแม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำโขง-ชี-มูล, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นชุมทางรับ-ส่งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างลุ่มน้ำมูล บนที่ราบสูง กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา บนที่ราบลุ่มต่ำ

[เมืองศรีเทพ ราว พ.ศ.1000 เมืองสุโขทัย ราว พ.ศ.1700]



เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เมืองศรีเทพ อยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตก ราว 15 กิโลเมตร เป็นหลักฐานความเชื่อสมัยหลังเรื่องภูเขาทองทั้งที่อยุธยาและกรุงเทพฯ (เขาถมอรัตน์ หมายถึง เขาหินแก้ว, ถมอ แปลว่า หิน, รัตน แปลว่า แก้ว)

ก่อนศรีเทพ

มีชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกทำนาทำไร่ “ข้าวเหนียว” เลี้ยงสัตว์ นับถือศาสนาผี มีแหล่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เขาถมอรัตน์ (เขาหินแก้ว) ราว 3,000 ปีมาแล้ว ไม่อยู่โดดๆ เพราะมีเครือข่ายกว้างขวางถึงชุมชนคราวเดียวกันอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่

ชุมชนลำตะคอง บริเวณที่ราบสูง (ต่อไปจะเป็นเมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา)
ชุมชนลุ่มน้ำลพบุรี บริเวณที่ราบลุ่ม (ต่อไปจะเป็นเมืองละโว้ อ.เมือง จ.ลพบุรี)

เริ่มแรกชุมชนอยู่บนเส้นทางการค้า “ทองแดง” ข้ามภูมิภาค เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม “สุวรรณภูมิ” ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.500

ทองแดงจากแหล่งใหญ่ลุ่มน้ำโขง ขนผ่านลุ่มน้ำป่าสักไปทางทิศตะวันตก ผ่านที่ราบลุ่มดอนไปลงแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง แล้วข้ามช่องเขาลงไปอ่าวเมาะตะมะถึงอินเดีย

เริ่ม “ทวารวดี” ศรีเทพ

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธจากอินเดีย แผ่ไปกับการค้าขยายตัวมากขึ้นถึงชุมชนเมืองบริเวณชุมทางป่าสัก ผสมศาสนาผี รวมเป็น ผี-พราหมณ์-พุทธ ราว พ.ศ.1000

จัดระเบียบสังคมที่มีคนหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ แล้วเกณฑ์แรงงานขุดคูน้ำคันดินมี 2 ส่วน

1. รูปกลม (เมืองใน) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ฝังศพหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (chiefdom) และคุ้มหลวงของชนชั้นนำ
2. รูปรียาว (เมืองนอก) เป็นพื้นที่ทั่วไป เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของเครือข่ายชนชั้นนำ

เครือข่ายศรีเทพ ได้แก่ ชุมชนลำตะคอง และชุมชนลุ่มน้ำลพบุรี ก็มีคูน้ำคันดิน ลักษณะ 2 ส่วนเหมือนกัน

ประชาชน กินข้าวเหนียว มีกับข้าว “เน่าแล้วอร่อย” คนหลายชาติพันธุ์พูดหลายชาติภาษา ได้แก่ มอญ-เขมร, มลายู-จาม, ไท-ไต (ไม่ไทย) และมีจากอินเดีย, จีน

ทวารวดีศรีเทพ และเครือข่ายละโว้-เสมา พบในเอกสารจีน (ของพระถังซัมจั๋ง) ว่า “โตโลโปตี” หมายถึง “ทวารวดี”

[“ทวารวดี” อยู่นครปฐม เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนอันเกิดจากอคติทางวิชาการโบราณคดีไทย เพราะหลักฐานจีนระบุตำแหน่งบริเวณศรีเทพ-ละโว้]

ประติมากรรม ในศรีเทพมีเทวรูปและพระพุทธรูป แต่ที่สำคัญมากคือพระนารายณ์, พระสุริยเทพ, พระกฤษณะ (เจ้าเมืองทวารวดีในคัมภีร์อินเดีย) ในละโว้มีจารึกเอ่ยนาม “วาสุเทพ” เป็นบรรพชนของพระกฤษณะแห่งทวารวดี



ชาวเมือง “ทวารวดี” ศรีเทพ “ไม่ไทย” แต่เป็นบรรพชนคนไทยกลุ่มหนึ่ง [ภาพเมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (จาก Facebook เพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)]

เริ่มวัฒนธรรมขอม

คนพูดภาษาเขมรมีอำนาจในบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก หรือบริเวณเมืองศรีเทพ-เมืองละโว้ ถูกคนอื่นเรียกว่า “ขอม” เชื่อมโยงอำนาจกับรัฐทางโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) ในกัมพูชา หลัง พ.ศ.1500

สร้างพระปรางค์ไว้กลางเมืองศรีเทพ (คราวเดียวกับปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง, ปราสาทเมืองศรีสะเกษ ลุ่มน้ำมูล) และมีปรางค์สองพี่น้อง ฯลฯ

[ต่อไปข้างหน้าพระปรางค์เมืองศรีเทพจะเป็นต้นแบบให้พระปรางค์เมืองละโว้ และเมืองอโยธยา-อยุธยา สืบมาด้วยการประสมประสานปรางค์อื่นๆ จนเป็นพระปรางค์วัดอรุณฯ กรุงเทพฯ]



ปรางค์ประธานเมืองศรีเทพ เป็นต้นแบบพระปรางค์ในอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ เป็นหลักฐานความสืบเนื่องของวัฒนธรรมเมืองศรีเทพถึงประเทศไทยทุกวันนี้ (ภาพจากทอดน่องท่องเที่ยว เมื่อ พ.ศ.2562)

หลังศรีเทพ

ลักษณะการค้าเปลี่ยนแปลงจึงมีศูนย์กลางใหม่ใกล้ทะเลสมุทรอ่าวไทยที่อโยธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เมืองศรีเทพกับเมืองเสมาลดความสำคัญลง จนร่วงโรยแล้วรกร้าง ราวหลัง พ.ศ.1700

ประชาชนจากเมืองศรีเทพโยกย้ายหลักแหล่งไปอยู่ศูนย์กลางใหม่ที่เมืองอโยธยา พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า นานไปก็พูดในชีวิตประจำวัน แล้วกลายตนเป็นไทย •

 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_715557
10  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / "อุ อา กะ สะ"..สวดแล้วรวย คาถาบูชาครุฑอำนาจบารมี เมื่อ: ตุลาคม 02, 2023, 05:25:05 am
.



"อุ อา กะ สะ"..สวดแล้วรวย คาถาบูชาครุฑอำนาจบารมี

คาถาบูชาพญาครุฑ เป็นอีกหนึ่งคาถาบูชาที่หลายๆคนยึดปฏิบัติ ด้วยความรู้สึกเป็นที่พึ่งทางใจ ด้วยความเชื่อว่า “องค์พญาครุฑ” เป็นจ้าวแห่งเวหาและเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ตามคติความเชื่อของพราหมณ์...ฮินดู ทำให้มีผู้คนไม่น้อยที่เลื่อมใสบูชาพญาครุฑ

เพราะเชื่อว่า...จะช่วยเสริมบารมี บันดาลความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

คาถาบูชาพญาครุฑแบบย่อที่ผู้บูชามักสวดสั้นๆเมื่อต้องเดินทาง หรือใช้สวดคาถาบูชาพญาครุฑห้อยคอสำหรับผู้ที่พกพาองค์ขนาดเล็กๆ ติดตัวไปทุกหนแห่งเพื่อปัดเป่าภยันตราย

ตั้งนะโม 3 จบ...คะรุปิจะ กิติมันตัง มะ อะ อุ โอมพญาครุฑ รุจ รุจ แล้วรวย นะได้เงิน นะได้ทอง นะเจริญ นะมั่นคง นะได้ทรัพย์ นะเมตตา อิติปิโสภะคะวาพระพุทธเจ้าสั่งมา พญาครุฑล้างอาถรรพณ์ อิติคงเนื้อ อิติคงหนัง พญาครุฑยันติ อภิปูยาจามิ




พญาครุฑจะผุด มนุษย์จะเกิด พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด องค์พระพุทธเจ้าย่างบาท นะปัจจะโยโหนตุ

หรือจะเป็นคาถาบูชาพญาครุฑ แบบย่อ...โอมพญาครุฑจะเห็นผลหลีกไปให้พ้น พญาหนจะเดินทาง เคาะงอ เคาะงอ โอม คะรุทา โอม คะรุทา โอม คะรุทา ครุฑโธ ครุฑธา ปฏิเสวามิ (สวด 3 จบ)

ทั้งยังเชื่อศรัทธาเป็นอย่างยิ่งด้วยว่าคาถาบูชาครุฑนั้นยังสามารถลบล้างอาถรรพณ์ปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้ภูตผีหรือสัตว์ร้ายเข้ามารุกราน เพราะเกรงกลัวในอำนาจบารมีของพญาครุฑ

กระนั้นแล้วคาถาบูชาพญาครุฑ ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล สำหรับผู้ที่จะนำไปใช้ให้เกิดผลสูงสุดคือ ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม คิดดี ทำดี ที่สำคัญ...ต้องมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เนื่องจากองค์พญาครุฑเป็นเทพผู้มีความกตัญญูต่อมารดาอย่างสูงสุดนั่นเอง

@@@@@@

“พอ” เป็นสิ่งหายาก ในหมู่คน “โลภ”
“นิ่ง” เป็นสิ่งหายาก ในหมู่คน “โกรธ”
“หยุด” เป็นสิ่งหายาก ในหมู่คน “หลง”
ธรรมมะเท่านั้น ที่ช่วยท่านได้


พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้กล่าวถึงไว้เกี่ยวกับ “ความพอดีของชีวิต” ...ความคิดว่าพอ คิดให้รู้จักพอ ผู้รู้จักพอจะเป็นผู้ที่มีความสบายใจ

ส่วนผู้ไม่รู้จักพอจะเป็นผู้ร้อนเร่าแสวงหาไม่หยุดยั้ง...“ความไม่รู้จักพอมีอยู่ได้แม้ในผู้เป็นใหญ่เป็นโตมั่งมีมหาศาล และความรู้จักพอก็มีได้แม้ในผู้ยากจนต่ำต้อย”




คนเกิดวันอาทิตย์...ได้ชื่อว่าเป็นคนกตัญญู สำนึกบุญคุณอยู่เสมอและเป็นคนตรง เชื่อคนง่าย ไว้ใจคน กรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดมักทำบุญกับคนไม่ขึ้น ส่งผลกระทบเรื่องเงินๆทองๆ...

คนเกิดวันจันทร์...ขี้น้อยใจ ใจอ่อน เปิดเผย กรรมติดตัวเป็นเรื่องความรัก หาคู่ยาก มีปัญหา อุปสรรคหลากหลาย

คนเกิดวันอังคาร...จริงใจ กล้าคิด ช่างจินตนาการ กรรมติดตัวมักจะชอบโดนเอาเปรียบ ถูกใส่ร้าย

คนเกิดวันพุธ...คุยเก่ง ช่างเจรจา กรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดทำให้คนอื่นชอบ รักโดยไม่ได้ตั้งใจ




คนเกิดวันพฤหัสบดี...ดวงดี แต่กรรมที่ติดตัวคือเข้ากับคนยาก

คนเกิดวันศุกร์...มีบุญเก่าหนุนนำ แต่กรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดมักหาความสุขแท้จริงไม่ได้...

ส่วนคนที่เกิดวันเสาร์...เป็นคนตรง รักจริงสมองดี กรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดคือความสูญเสีย ทำดีเกิดผลเด่นยาก

แก้กรรมกันด้วยเหตุและผล ทำความดีเสมอต้นเสมอปลาย จับต้นชนปลายทางเดินชีวิตให้ดีๆ แบบไม่งมงายจนเกินไป ให้เร่งรี่ “ทำบุญ” สร้าง “ความดี” ชดเชยให้เจ้ากรรมนายเวร

@@@@@@

“อุอากะสะ อากะสะอุ กะสะอุอา สะอุอากะ” สวด 5 จบ

ข้างต้นนี้คือคาถา “หัวใจมหาเศรษฐี” เชื่อศรัทธากันอย่างยิ่งว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก

หากผู้ใดก็ตามได้น้อมนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เคร่งครัดเป็นประจำทุกเช้าก่อนออกจากบ้านจักมีความโชคดี มีเส้นทางชีวิตดำเนินเป็นไปอย่างมีความสุข อีกทั้งบนเส้นทางชีวิตของท่านก็จักเต็มไปด้วยทรัพย์สินเงินทอง นับรวมไปถึงเกียรติยศ ชื่อเสียง




ทว่าคาถาที่ว่าศักดิ์สิทธิ์นี้ แฝงนัยซ่อนไว้ซึ่งเนื้อแท้แห่งความหมาย ที่ผู้น้อมนำนั้นต้องปฏิบัติตนให้ตรงตามนั้นด้วย ประหนึ่งว่าผู้นั้นต้องเข้าใจความหมายอันถ่องแท้ ในคาถา...หัวใจมหาเศรษฐีนั้นเอง

การสวดจึงไม่ใช่แค่การสวดเท่านั้น หรือหวังว่าจะสวดแล้วรวย สวดแล้วชีวิตจะดี๊ดี...หากแต่ต้องเข้าใจถึงความหมาย กระทั่งนำไปสู่การปฏิบัติตัว จึงจักสำเร็จสมดังใจปรารถนาตามบทคาถานี้ได้

ตอกย้ำทำความเข้าใจกันแบบสั้นๆง่ายๆอีกครั้ง...ก็คือ

“ขยัน หมั่นรักษาความเพียร คบหาคนดีเป็นมิตร มีชีวิตพอเพียง...หาให้มาก ให้น้อย”...หัวใจคาถามหาเศรษฐีเป็นเช่นนี้ ประหนึ่งว่า “มหาเศรษฐี” ที่ว่านี้ ก็คือ...“ผู้ประเสริฐที่สุดสมใจ มั่งมีเงินทองมหาศาลดั่งมหาเศรษฐีทั้งปวง”




ท่าน ว.วชิรเมธี เคยเขียนสะท้อนความหมายของ “เศรษฐี” เอาไว้ว่า “...เป็นคนใจบุญ คนมีคุณธรรมที่ประเสริฐเลิศล้ำ” ส่วนคนที่มีทรัพย์มากนั้น เขาเรียกว่า “มหาวาณิช”

เมื่อเป็นเช่นนั้น “คนรวย” กับ “เศรษฐี” จึงต่างจาก “มหาวาณิช” ...พ่อค้าสามารถเป็นเศรษฐีได้ถ้ารู้จักเปลี่ยนทุนให้เป็นธรรม “ธุรกิจครอบครัว”...ที่จะยั่งยืนนอกจากจะทำให้ธุรกิจเติบโตมีความเป็นมหาวาณิชแล้ว มีความจำเป็นที่ต้องเป็นเศรษฐีด้วย สิ่งสำคัญของหัวใจเศรษฐีก็คือความรุ่งเรืองใน “ธรรม” หรือ “จริยธรรม”




“อุ อา กะ สะ”...“หัวใจเศรษฐี” อ่านตรงตัวตามที่เขียน คือ อุ อา กะ สะ

“อุ” = ขยันหา

“อา” = รักษาดี

“กะ” = มีกัลยาณมิตร

“สะ” = เลี้ยงชีวิตเหมาะสม

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

                                รัก-ยม


คลิกอ่านคอลัมน์ "เหนือฟ้าใต้บาดาล" เพิมเติม




Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2727520
24 ก.ย. 2566 09:16 น. | ไลฟ์สไตล์ > วัฒนธรรม > รัก-ยม
11  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ททท. ปลุกกระแสท่องเที่ยวสายมู สนับสนุน E-Book โปรโมท 60 สถานที่แห่งศรัทธาทั่วไทย เมื่อ: ตุลาคม 01, 2023, 08:42:37 am




ททท. ปลุกกระแสท่องเที่ยวสายมู สนับสนุน E-Book โปรโมท 60 สถานที่แห่งศรัทธาทั่วไทย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ส่งเสริมกระแสการท่องเที่ยวสายมูในประเทศไทย เน้นโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับศรัทธาและวัฒนธรรม 60 แห่ง สนับสนุนการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “Connecting to Spiritual Thailand” เพื่อมุ่งสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องราวทางจิตวิญญาณและศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสายมูเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า

การท่องเที่ยวเชิงศรัทธากำลังเป็นที่สนใจในตลาดโลก ตามรายงานข้อมูลจาก Future Market Insight ในปี 2566 ได้รายงานว่า การท่องเที่ยวมีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ททท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของกระแสการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณและการเติบโตของ "เศรษฐกิจสายมู" ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างมาก จึงมุ่งสนับสนุนเครื่องมือสื่อสารรูปแบบใหม่ ผ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-book ภายใต้คอนเซ็ปท์ “Connecting to Spiritual Thailand” เพื่อสร้าง Soft power ของประเทศไทยในระดับสากล ตลอดจนเปิดตลาดกลุ่มใหม่เพื่อดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศ




ทั้งนี้ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ "Connecting to Spiritual Thailand" จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจและอธิบายถึงความเชื่อ ของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณต่างๆ แก่ชาวต่างชาติ ให้เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของความศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธา รวมถึงประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ขยายความหมายและเหตุผลว่าทำไมนักท่องเที่ยวชาวไทย ถึงให้ความศรัทธาและเดินทางไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ หรือสถานที่นั้นๆ ในแง่วัฒนธรรมที่หลอมรวมกลายเป็นวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค ของประเทศไทยที่น่าสนใจในความแตกต่างและความหลากหลาย สะท้อนถึงพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันระหว่าง ความเชื่อกับศาสนานำมาเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางในเส้นทางแห่งความศรัทธาให้ นักท่องเที่ยว

โดยรวบรวมข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวสายมูเตลูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรวม 60 แห่ง โดยเน้นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทั้งในเมืองหลัก และจังหวัดเมืองรอง เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการท่องเที่ยวในเขตเมืองรองเพิ่มขึ้น โดยเน้นการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจและมีคุณค่า พร้อมทั้งภาพถ่ายที่งดงามเพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสประสบการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเนื้อหาประกอบด้วยการแนะนำสถานที่ด้วยภาพถ่ายประกอบแผนที่การเดินทาง และสร้างเนื้อหาบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้าใจในแต่ละสถานที่ และทำให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนในการไปเยี่ยมชมได้ง่าย ได้รับข้อมูลที่สร้างความเข้าใจที่มากขึ้นในแง่ประวัติศาสตร์และความเป็นมาว่าทำไมสถานที่นี้จึงถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับรายละเอียดวิธีการเคารพบูชา การอธิษฐานขอพร หรือการภาวนาที่ถูกต้อง ณ สถานที่แต่ละแห่งนั้น




ทั้งนี้ สถานที่ท่องเที่ยวสายมูที่แนะนำภายใน E-book เล่มนี้ ได้แก่ ศาลหลักเมือง ศาลพระพรหมเอราวัณ วัดศรีมหามาเรียมมัน (วัดแขก) ศาลแม่นาคพระโขนง ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี วัดสมานรัตนาราม วัดโพรงอากาศ (พระอาจารย์สมชาย) อุทยานพระพิฆเนศ องค์ยืน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราสาทสัจธรรม พัทยา จังหวัดชลบุรี วัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม วัดทับศิลา จังหวัดกาญจนบุรี วัดป่าพุทธาราม จังหวัดราชบุรี ศาลพุ่มพวง จังหวัดสุพรรณบุรี สวนสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ และวัดพระธาตุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่

วัดบ้านปาง (วัดครูบาศรีวิชัย) จังหวัดลำพูน ศาลหลักเมือง จังหวัดเชียงราย อุทยานไทรงาม พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ศาลปู่พญานาค อนันตนาคราช จังหวัดมุกดาหาร พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม สะดือแม่น้ำโขง วัดภูทอก และถ้ำนาคา จังหวัดบึงกาฬ คำโชนด จังหวัดอุดรธานี วัดถ้ำเอราวัณ จังหวัดหนองบัวลำภู ถ้ำพระยานคร เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หอพระอิศวร วัดเจดีย์ไอ้ไข่ หลวงปู่ทวด เกาะนุ้ยนอก จังหวัดนครศรีธรรมราช และวัดถ้ำเสือ จังหวัดกระบี่




นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สามารถดาวน์โหลด และอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ "Connecting to Spiritual Thailand" ได้ฟรีโดยสามารถสแกน QR CODE หรือเข้าชมที่ https://www.agoda.com/travel-guides/thailand/spiritual-thailand-e-book-guide-to-thailand-temples หรือ https://www.palotaidesign.com/publishing ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป




Thank to : https://www.sanook.com/travel/1442467/
PR News : สนับสนุนเนื้อหา | 28 ก.ย. 66 (16:18 น.)
12  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ตักบาตรน้ำผึ้ง บุญโอสถอุดมโชคลาภ ประเพณีชาวไทยรามัญ เมื่อ: ตุลาคม 01, 2023, 08:20:55 am




ตักบาตรน้ำผึ้ง บุญโอสถอุดมโชคลาภ ประเพณีชาวไทยรามัญ

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ)  จัดขึ้นทุกวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ด้วยชาวมอญมีความเชื่อมาจากพุทธศาสนาว่า การทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งถวายแด่พระสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก อุดมไปด้วยโชคลาภ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า

ที่มาของความเชื่อ ตักบาตรน้ำผึ้ง

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ)  สืบทอดกันมาช้านาน โดยเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อของชาวมอญที่เชื่อว่า น้ำผึ้งเป็นยารักษาโรคได้ โดยในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับน้ำผึ้งและน้ำอ้อยมาบริโภคเป็นยาได้ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีรสหวาน ย่อยง่าย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ชาวมอญจึงเชื่อว่า การถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ เปรียบเสมือนการถวายสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ที่มีพระคุณ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อสิ่งที่ตนเคารพศรัทธา

หลังพุทธศตวรรษที่ 16 ที่ชนชาติพม่าได้ขยายอิทธิพลลงมาทำให้ชาวมอญต้องอพยพมาสู่ดินแดนภาคกลางของไทย พร้อมกับได้นำศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของตนเองตามมาด้วย รวมถึงประเพณีความเชื่อเรื่องการตักบาตรน้ำผึ้งอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญนี้สืบทอดมากันมาช้านาน โดยกำหนดจัดขึ้นช่วงวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ชาวมอญมีความเชื่อว่า การทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งถวายแด่พระสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก อุดมไปด้วยโชคลาภ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า น้ำผึ้งถือเป็นยาที่พระสงฆ์นำไปใช้ในยามจำเป็น ทำให้สุขภาพแข็งแรง ดังหลายตำนานสืบต่อกันมา



ภาพจำลองเหตุการณ์เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกขกิริยา

น้ำผึ้ง พระโอสถพระพุทธเจ้า

น้ำผึ้งปรากฏในพุทธประวัติสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยาแล้ว พระพลานามัยยังไม่ฟื้นคืนดังเดิม วันหนึ่ง นางสุชาดานำข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมเจือน้ำผึ้ง) มาถวาย ก็ปรากฏว่าพระวรกายฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็ว มีพระปรีชาญาณจนตรัสรู้ได้ในที่สุด

ทั้งยังมีคราวหนึ่ง ในช่วงเดือน 10 พระภิกษุร่างกายชุ่มด้วยน้ำฝน ต้องเหยียบย่ำโคลนตม เกิดอาพาธอาเจียนหลายรูป กายซูบเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส และน้ำมันพืชได้ในยามวิกาล โดยถือเป็นยารักษาโรคและบำรุงร่างกาย การตักบาตรน้ำผึ้งจึงเป็นการถวายเภสัชทาน บำรุงสุขภาพภิกษุสงฆ์ เป็นการสืบต่อพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง จึงยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมา



บรรยากาศงานบุญประเพณี ตักบาตรน้ำผึ้ง

ตักบาตรน้ำผึ้ง มีอานิสงส์มาก

ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้ามีพระปัจเจกโพธิรูปหนึ่งอาพาธ ประสงค์ที่จะได้น้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อบำบัดอาการอาพาธ วันหนึ่งได้ไปบิณฑบาตในชนบทใกล้ชายป่า ขณะที่พระปัจเจกโพธิกำลังโปรดสัตว์ อยู่นั้นได้พบชายชาวบ้านป่าเกิดกุศลจิตขึ้น ชายผู้นั้นหวังที่จะถวายทานแด่พระปัจเจกโพธิ แต่ด้วยตนเองยากจนไม่มีอาหารอื่นใดจะถวายพระนอกจากน้ำผึ้งจำนวนหนึ่ง

ด้วยจิตศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นและสูงส่งของชายผู้นั้น เมื่อรินน้ำผึ้งลงในบาตรของพระปัจเจกโพธิ เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์คือ น้ำผึ้งเกิดเพิ่มพูนขึ้นจนเต็มบาตรและล้นบาตรในที่สุด ขณะนั้นมีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งกำลังทอผ้าเห็นน้ำผึ้งล้นบาตร ด้วยจิตศรัทธาในพระปัจเจกโพธิ เกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือพระ จึงรีบนำผ้าที่ทอแล้วถวายแด่พระปัจเจกโพธิเพื่อซับน้ำผึ้งที่ล้น

ชายผู้นั้นอธิษฐานด้วยอานิสงส์แห่งการถวายน้ำผึ้งเป็นทานขอเป็นพลังปัจจัยให้ได้เกิด เป็นผู้มั่งคั่งเป็นผู้มีอำนาจ ส่วนหญิงที่ถวายผ้าได้อธิษฐานขอให้ได้เกิดเป็นผู้ที่มีความงามและมีโภคยทรัพย์

ต่อมาเมื่อทั้งสองมรณะแล้วได้อุบัติใหม่ในโลกมนุษย์ชายผู้ถวายน้ำผึ้งได้บังเกิดเป็นพระราชาผู้มีความเข้มแข็ง และมั่งคั่ง ส่วนหญิงผู้ถวายผ้าได้บังเกิดเป็นธิดาของพระราชาอีกเมืองหนึ่ง มีความงามและความมั่งคั่งเช่นกัน


พระสีวลีพระสีวลี

น้ำผึ้ง ในพุทธประวัติ "พระสีวลี”

นอกจากนี้การถวายทานด้วยน้ำผึ้งยังมีตำนานปรากฏในพุทธประวัติ "พระสีวลี” พุทธสาวกของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกย่องให้เป็นภิกษุที่เป็นเลิศด้านลาภบารมี

ในอดีตชาติหนึ่งนั้นพระสีวลีเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี แต่เป็นผู้ขยันขันแข็งด้านการถวายทาน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเมืองสมัยนั้นนิยมถวายทานแข่งกับพระราชา โดยชาวเมืองเห็นว่าน้ำผึ้งกับเนยแข็งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในทานของพวกเขา จำเป็นต้องจัดหามาถวายทานให้ได้เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าพระราชา ดังนั้นจึงแต่งตั้งคนดูต้นทาง ให้สอดส่องสังเกตหน้าประตูเมืองว่ามีใครมีของสองสิ่งนี้ติดตัวมาบ้าง

ขณะเดียวกัน สีวลีหนุ่มก็กำลังเดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยเนยแข็งเพื่อนำไปแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งระหว่างทางเขาได้พบรวงผึ้งขนาดเท่างอนไถที่ไม่มีผึ้งอาศัยอยู่ จึงนำติดตัวไปด้วย เมื่อผ่านประตูเมืองคนดูต้นทางไม่รอช้าเข้าเจรจาขอซื้อเนยแข็งกับรวงผึ้งทันทีในราคา 1 กหาปณะ (4 บาท) แต่สีวลีหนุ่มคิดว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป จึงต้องการจะสืบต้นสายปลายเหตุให้รู้แน่ เขาจึงโก่งราคาไปเรื่อยๆ จนสูงถึง 1,000 กหาปณะ จึงได้สอบถามจนได้ความตามต้น สีวลีหนุ่มจึงตัดสินใจไม่ขาย แต่จะขอใช้น้ำผึ้งกับเนยแข็งนี้ร่วมทำบุญกับชาวเมืองด้วย ทั้งยังตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญนี้ทำให้ตนเป็นเลิศด้านลาภยศในอนาคตด้วย

    • บทสวดบูชา คาถาขอบารมีพระสีวลี เถระผู้มีลาภมาก
    • คาถาขอลาภเรียกทรัพย์ "พระสิวลี" โดย หลวงพ่อเกษม เขมโก

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 

จากตำนานและความเชื่อนี้ ทำให้ชาวมอญได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ตามแบบอย่างที่พระสีวลีเคยทำในชาติก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ในปัจฉิมชาติ ที่ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภมากนั้น ก็เป็นเพราะว่า ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งนั้นจะเป็นทางที่จะทำให้ผู้ที่ถวายจะมีโชคมีลาภ เหมือนกับพระสีวลี หากไม่สมหวังในชาตินี้ ในชาติหน้านั้นก็คงจะได้อย่างแน่นอน



บรรยากาศงานบุญประเพณี ตักบาตรน้ำผึ้ง

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  โดยก่อนวันพิธีตักบาตรน้ำผึ้ง ชาวบ้านจะเตรียมทำข้าวต้มเพื่อไปทำบุญ แต่ละบ้านจะทำข้าวต้มไม่เหมือนกัน เช่น ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มคลุก ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยนมีลักษณะลูกกลมห่อด้วยยอดจาก จะทิ้งหางยาว ข้าวต้มคลุกมีลักษณะลูกใหญ่และยาวห่อด้วยยอดจากเวลาทานต้องหั่นเป็นชิ้นคลุกด้วยน้ำตาลทราย เกลือ และมะพร้าวขูด ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัดมีลักษณะเป็นยาวข้างในใส่ถั่วดำและกล้วยห่อด้วยใบตองหรือใบจากก็ได้ประกบคู่แล้วมัดด้วยยอดจากฉีกครึ่ง เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ทำข้าวต้มมัดหรือข้าวต้ม ชาวบ้านจะให้ลูกหลานนำข้าวต้มนั้นไปส่งตามบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ

ปัจจุบันประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งในปัจจุบันยังคงมีให้เห็นในวัดของชุมชนชาวมอญหลายแห่งในประเทศไทย เช่น วัดบางน้ำผึ้งใน จังหวัดสมุทรปราการ วัดสโมสร จังหวัดนนทบุรี และวัดศรัทธาธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม             

นอกจากพุทธศาสนิกชน จะนำอาหารและข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มลูกโยนไปทำบุญที่วัดกันตามปกติแล้ว ตามประเพณีดั้งเดิมจะนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์ พร้อมด้วยน้ำตาลทรายกับผ้าแดงผืนเล็กติดตัวไปด้วย โดยจะตักหรือรินน้ำผึ้งใส่ในบาตรจำนวน 32 ใบ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนอาการของมนุษย์ปกติ โดยต้องเป็นน้ำผึ้ง เดือนห้าแท้ ไม่ควรเป็นน้ำผึ้งผสม เพราะจะทำให้น้ำผึ้งบริสุทธิ์เสื่อมคุณภาพ ขณะที่น้ำตาลจะใส่ในฝาบาตร และผ้าแดงจะวางไว้หลังบาตร...

ผ้าแดงนี้ก็มีที่มาจากหญิงทอผ้าผู้ใช้ผ้าช่วยซับน้ำผึ้งจนเกิดเป็นอัครมเหสีในชาติต่อมาตามตำนานนั่นเอง





ขอขอบคุณ :-
ข้อมูล : ธันวดี สุขประเสริฐ (2559), ตักบาตรน้ำผึ้ง, ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร,มูลเหตุของประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง (2564), กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ภาพ : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
Uranee Th. : ผู้เขียน | 28 ก.ย. 66 (18:10 น.)
website : https://www.sanook.com/horoscope/262595/
13  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พระอาจารย์ธรรมโชติ ค่ายบางระจัน ศรัทธาเข้มขลัง! วัดโพธิ์เก้าต้น เมื่อ: ตุลาคม 01, 2023, 08:10:26 am




พระอาจารย์ธรรมโชติ ค่ายบางระจัน ศรัทธาเข้มขลัง! วัดโพธิ์เก้าต้น

ยามศึกสงคราม พระท่านก็เป็นลูกชาวบ้าน ห่วงบ้านเมืองเหมือนชาวบ้าน ช่วยด้านขวัญกำลังได้ก็ช่วยไป บางรูปเกินเลยไปถึงขั้นนำทัพสู้รบก็มี

สงครามไทย-พม่ารอบสอง...พระอาจารย์ที่คนไทยรู้จัก ก็หลายรูป กิเลน ประลองเชิง บันทึกไว้ในคอลัมน์ “ชักธงรบ” เมื่อหลายปีล่วงมาแล้ว ในบรรดาชุมนุมน้อยใหญ่ ที่ก่อตัวขึ้นไล่เลี่ยกับการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 นั้น ชุมนุมบ้านบางระจันกับชุมนุมเจ้าพระฝางมีพระภิกษุเข้ามามีบทบาทสำคัญ

พระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งบางระจัน เจ้าพระฝาง เหมือนกันตรงเป็นพระที่มีพลังจิตตานุภาพ ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากชาวบ้าน ต่างกันตรงที่เจ้าพระฝางเป็นผู้นำ ห่มจีวรแดงแบบพระ นำรบทัพจับศึกเอง..ขณะพระอาจารย์ธรรมโชติ ขีดวงตัวเองว่า “เป็นพระ” ช่วยชาวบ้านได้แค่สร้างขวัญกำลังใจ




พงศาวดารเขียนว่า ชื่อเสียงพระอาจารย์ธรรมโชติกระเดื่องดังมาแต่ครั้งอยู่วัดเขานางบวช เดิมทีวัดนี้ผู้รู้บอกว่า อยู่แขวงเมืองสุพรรณบุรี แต่ต่อมาก็พบว่า วัดเขานางบวช แขวงเมืองสิงห์บุรีก็มี อยู่ห่างบ้านบางระจัน 3 กิโลเมตรเท่านั้น

ตอนเริ่มศึกบางระจัน พระอาจารย์ธรรมโชติจำพรรษาอยู่วัดโพธิ์เก้าต้น เมื่อนายแท่นกับพวกฆ่าพม่าตายแล้ว ก็หนีไปพึ่งท่าน เหตุการณ์ตอนนั้น ถ้าพระอาจารย์ถือว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ หลีกไปจำพรรษาที่วัดอื่นเสียก็คงได้..แต่พระอาจารย์ธรรมโชติ ท่านก็ใช้วิชา...ทำ ตะกรุด สายสิญจน์ ประเจียด

สร้างความเชื่อมั่นว่าอยู่ยงคงกระพัน เพิ่มขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน ใช้แค่ขวาน มีด ไม้...ฯลฯ ทำสงครามกับพม่า สู้พม่าได้ยาวนานถึง 4 เดือน

มีคนสงสัย ก็เมื่อของขลังของพระอาจารย์ทำให้อยู่ยงคงกระพันได้ เหตุไฉนจึงรบแพ้พม่าเล่าพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ไขเหตุของความไม่คงกระพัน อันนำมาสู่ความพ่ายแพ้ในเดือน 8 ว่า...



“แรกนั้น (วัตถุมงคล) มีคุณอยู่คง แคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่ ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมาก สำส่อน ที่นับถือแท้บ้าง ไม่แท้บ้าง ก็เสื่อมตบะเดชะลง”

ในช่วงเวลาการสู้กับพม่า พงศาว ดารเขียนว่า ชาวบ้านบางระจัน ก่อวีรกรรมฆ่าทหารพม่าตายถึง 3 พันคน จนเมื่อถึงวาระสุดท้าย...วันจบสิ้น ค่ายบางระจันถูกเผา ชาวบ้านบางระจันถูกฆ่าไปกว่าพัน

@@@@@@

“วีรชนชาวบ้านบางระจัน” ผู้หาญกล้าได้ประกอบวีรกรรมพลีชีวิตต่อสู้กับกองทัพพม่า ข้าศึกที่รุกรานเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยเป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้...ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตก กองทัพพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาโดยมีเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพได้ให้กองทหารพม่าไปปล้นทรัพย์และจับชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญ

พวกชาวบ้านพากันโกรธจึงคิดแก้แค้น ผู้นำชาวบ้านซึ่งมี นายดอก นายทองแก้ว ได้ลวงทหารพม่าไปฆ่าเสียหลายนายแล้วพากันมายังบ้านบางระจันสมทบกับชาวบ้านบางระจัน

ซึ่งมี นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทอง แสงใหญ่ ขุนสรรค์ พันเรือง...เป็นผู้นำ



ได้รวบรวมกำลังชายฉกรรจ์กว่า 400 คนตั้งค่ายขึ้น ณ บ้านบางระจัน เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่าและได้นิมนต์ “พระอาจารย์ธรรมโชติ” ผู้เรืองวิทยาคมมาเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน

เมื่อกองทัพพม่ารู้เรื่อง “ค่ายบางระจัน” ก็จัดกองทัพมาปราบแต่ก็แตกพ่ายไปถึง 7 ครั้ง

“สระน้ำศักดิ์สิทธิ์”...หรือที่เรียกกันติดปากว่า “สระน้ำพระอาจารย์ธรรมโชติ” อีกศูนย์รวมศรัทธาที่เกี่ยวโยงกับการ “หาบน้ำแก้บน” ด้วยมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่มาบนบานศาลกล่าวในที่แห่งนี้แล้ว สำเร็จสมดังหวังปรารถนาก็จะต้องมาแก้บนด้วยการหาบน้ำถวายท่านตามจำนวนหาบที่บนเอาไว้กับท่านพระอาจารย์




จะเห็นได้ว่าไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็มักจะเห็นมีคนมาหาบน้ำเพื่อแก้บนแทบจะไม่เคยขาด ขันเป็นร้อยๆใบ ไม้หาบอีกนับไม่ถ้วนสะท้อนให้เห็นถึงกระแสศรัทธาได้เป็นอย่างดี

เล่าลือกันว่า...มีบางคนต้องมาแก้บนหาบน้ำถึง 1,000 หาบเลยทีเดียว จะเป็นความสำเร็จในเรื่องใดนั้น ไม่เป็นเรื่องที่บอกกล่าวเล่าต่อๆกันมา แต่ที่แน่ๆคงจะคุ้มเป็นหนักหนากับผลที่ผู้แก้บนได้รับกลับไป

ส่วนใหญ่...ก็จะมาบนกันเรื่องของหาย คนหาย แต่ที่ขึ้นชื่อมากๆก็จะเป็นเรื่องขอให้ลูกชายไม่โดนทหาร...เรื่องดังกล่าวนี้ใครมาก็มักจะสมหวังดั่งใจเสมอ




หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน เคยเล่าไว้ว่า เมื่อก่อนที่ค่ายเฮี้ยนมาก มีผู้ตักน้ำในสระพระอาจารย์ธรรมโชติไปใส่หม้อน้ำรถ...ก็เกิดระเบิดเลย ใครลักอะไรไปต้องนำไปคืน ใครจะไปเอาอิฐหมายเพื่อเป็นสิริมงคลนั้น สุดท้ายก็ต้องเอาไปคืนหมด แต่ก็มีคนอยากได้เสมือนเป็นการลองของ...

ทว่า...หลายเรื่องราวเล่าขาน ผู้ที่เก็บอิฐไป...บางคนก็ประสบอุบัติเหตุ เคราะห์ร้าย บางคนเอาไปไว้ในบ้านตกดึกก็กลับกลายมี เสียงผู้คนครวญครางร้องกันกระหึ่ม จนต้องเอามาคืน

@@@@@@

เกิดมาใครไม่ม้วย มีไฉน บางระจันม้วยสม ศักดิ์ม้วย

ม้วยด้วยเกียรติเกรียงไกร เกริ่นเกริก ออมยศยอมม้วยด้วย ค่าแพง

ค่ายบางระจัน...เสียแก่พม่า เมื่อวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปี 2309...



ลูกหลานบางระจันร่วมงานรำลึกวีรชนค่ายบางระจัน ณ วิหารหลวงพ่อพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น หมู่ 8 ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน...ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลและอธิษฐานจิตอุทิศถวาย “หลวงปู่ธรรมโชติ” และ “วีรชนค่ายบางระจัน” อันศักดิ์สิทธิ์

คำบูชา...วีรชนค่ายบางระจัน ตั้งนะโม 3 จบ ระจัน สัมปะติ โยธะ โสกะติยัง สยาม กะติยัง สยาม กิตติยานัง เอหัง สยาม พังยะ กายัง กาสัง กาติ นิติ สันยะ ประนัง นะตายัง

ข้าพเจ้าชื่อ.................นามสกุล.......................

ระจัน เทวา สาระจัน เทวา ระจัน กำมะสา กิตติ อุติ สัมปันโน สัมปันนัง สัมปันหัง เทวา ทะตินัง ทะติหัง การะนัง กะเตยะสา กะเตยะสา กะเตยะสา ระจันสาธุ ระจันสาธุ ระจันสาธุ




“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

                           รัก-ยม


คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม





Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2722057
3 ก.ย. 2566 07:05 น. | ไลฟ์สไตล์ > ไลฟ์ > รัก-ยม
14  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ปัดเป่า พ้นทุกข์ เจ็บป่วย เมื่อ: กันยายน 30, 2023, 08:31:16 am




พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ปัดเป่า พ้นทุกข์ เจ็บป่วย

“....การได้หายใจ ทำให้คุณมีชีวิต...การหายใจเป็น ช่วยให้ชีวิตเป็นสุข ส่วนการหายใจอย่างมีสติแบบพุทธ คือหนทางชีวิตที่พ้นทุกข์ได้จริง”

แม้จะไม่ตั้งใจ แม้หลับใหลอยู่ ร่างกายก็มีระบบอัตโนมัติในการดูดลมเข้าและพ่นลมออก และนั่นก็คือการหายใจเพื่อให้มีชีวิตรอด ทุกชีวิตพยายามรักษาตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องออกแรงคิดแต่อย่างใด

แต่การสร้างอัตโนมัติใหม่...เริ่มจากการมีศิลปะผ่อนสั้นผ่อนยาว

“รู้จักดื่มด่ำกับลมหายใจที่นิ่มนวล ทำความผ่อนคลายให้ร่างกายและทำความสบายให้จิตใจ คือหนทางรอดชีวิตอย่างเป็นสุข ไม่ใช่แค่รอดเพื่อเจอทุกข์นานาไปวันๆ”




หลังจากหายใจอย่างเป็นสุขได้ แล้วตั้งมุมมองให้ตรงตามจริง เห็นว่าลมเข้าแล้วต้องออกเป็นธรรมดา...เห็นว่าแม้เกิดสมาธิ ...กายใจระงับความกวัดแกว่ง...ลากลมยาวได้อ่อนโยนแสนสุข

ในที่สุดร่างกายก็ปรับเปลี่ยน...ลากลมได้สั้นลง ไม่สดชื่นเป็นสุขคงเส้นคงวาตลอดไป จิตใจเคยนิ่งนานแค่ไหนก็กลับมาฟุ้งได้

เมื่อเจริญสติ โดยหายใจจนสติเจริญ ย่อมได้ ชื่อว่าเห็นแก่นชีวิต เห็นลมหายใจ เห็นจิตวิญญาณ เป็นของชั่วคราว...เปลี่ยนจากสิ่งหนึ่ง ไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อนั้นอุปาทานย่อมขาดที่ตั้ง

และนั่นเอง เรื่องวุ่นวายภายนอก ย่อมรบกวนจิตใจภายในไม่ได้ เหลือแต่จิตเป็นอิสระจากการรบกวนอยู่ทุกข์จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง!

Cr. เฟซบุ๊กเพจ “Dungtrin” 5 กันยายน 2566

@@@@@@

“ความเชื่อ” ของ “มนุษย์” คือการยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นจริง บางครั้งความเชื่อก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเหตุผลประกอบ อย่างที่เราๆท่านๆหลายคนเชื่อในเรื่องฤกษ์ยาม วันเวลา ตกฟาก เครื่องรางของขลัง ...อีกทั้ง “ปาฏิหาริย์” สิ่งยึดเหนี่ยวตามที่ต่างๆที่ให้ “คุณ” แก่ตนได้

อาทิ เชื่อกันว่า...ทำบุญไหว้พระ ถวายพวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียนบูชา หากตายไปแล้วเกิดชาติหน้าก็จักอุดมด้วยลาภยศชื่อเสียง

มีโอกาสได้ทำบุญ ...สร้างโบสถ์ สร้างวิหารสืบต่อพระพุทธ ศาสนา เกิดชาติหน้าจะมีวาสนา บารมีมากมายเหลือคณา หรือทำบุญสวดมนต์ก็มีความเชื่อกันว่าจะทำให้มีสติปัญญาแหลมคม




ทำบุญน้ำมันตะเกียง...จะทำให้ชีวิตโชติช่วง ชัชวาล เจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียงโด่งดังดั่งเปลวไฟ คิดพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน เกิดชาติหน้าว่ากันว่าจะมีบารมี วาสนา มีชีวิตความเป็นอยู่สุขสมบูรณ์พร้อมสรรพ

“บุญ” คือการกระทำดีตามหลักคำสอนในศาสนา ความเชื่อเกี่ยวกับบุญทำให้เราๆ ท่านๆ ทำบุญมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับศรัทธาในหัวใจของผู้ใจบุญแต่ละคน

พลเอกนายแพทย์บุญลือ วงษ์ท้าว ประธานมูลนิธิพระพุทธอโรคยา มหาลาโภ ฝากบอกบุญใหญ่ โครงการจัดสร้างพระพุทธอโรคยา มหาลาโภ รุ่นสมปรารถนา ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว

เพื่อหารายได้สมทบทุนโครงการจัดสร้างพุทธอุทยาน “พระพุทธอโรคยา มหาลาโภ” ณ หมู่ที่ 15 ถนนมิตรภาพ กม.ที่ 168 ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา

ซึ่งจะเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธอโรคยา มหาลาโภ” ขนาดหน้าตัก 12 เมตร สูง 25 เมตร หล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ แบบประยุกต์ศิลปรัตน โกสินทร์ พุทธลักษณะพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา




ที่สำคัญที่นี่ยังจะใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้

ฝึกปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “มูลนิธิพระพุทธอโรคยา มหาลาโภ” โทร.08-9221-3666,  08-2225-9525

@@@@@@

“พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในเอเชียนับกว่า 400 ปีหลังพุทธกาลของเมืองไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างนครวัดนครธม จะเห็นตามเส้นทางที่สร้าง “อโรคยศาล” ที่เป็นสถานที่รักษาพยาบาลเกี่ยวกับสุขภาพมีประมาณ 100 กว่าแห่ง

น่าสนใจว่ามี “อโรคยาสถาน” อยู่ในเมืองไทยกว่า 20 แห่งด้วยกัน...ทุกแห่งจะมี “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” ตั้งเป็นประธานในสถานที่นั้น ให้ประชาชนได้กราบสักการบูชาและขอพร




“พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” ถือว่าเป็นสัมโภคกาย เป็นกายที่ไม่มีตัวตน เป็นองค์สมมติ เป็นพระพุทธเจ้าประจำทิศตะวันออก หมายถึง...การเกิด การที่ให้แสงสว่าง

...จะประทานพรให้กับพวกเราเรื่องรักษาเยียวยาทั้ง “กาย” และ “ใจ” ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาลหลังพุทธกาลแล้ว อาจารย์วันชัย รวยอารี กรรมการดำเนินการ เคยกล่าวไว้ว่า การขอพรไม่ใช่เรื่องงมงาย การที่เรามีศรัทธาในพระท่านและมีจิตที่ตั้งมั่นจะทำให้เกิดพลัง และการที่เรามีพลัง มีจิตใจที่ดี

ผลต่อเนื่องก็มี ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะทำให้การรักษาดีขึ้นได้ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า” จะเสริมพลังศรัทธาเยียวยากาย...ใจพระคาถาบูชา “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพุทธเจ้า”

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ) นะโม ภะคะวะเต ไภษัชเย คุรุไวฑูรยประภา ราชายะ ตะถาคะตายะ ระทะเต สัมยัก สัมพุทธายะ ไภเษชะเย ไภเษชะยะ สะมุระคะเต สะวาหายะ




“ค่าของคนมิได้นับเพราะทรัพย์มาก หรือนับจากรูปลักษณ์สมศักดิ์ศรี...หากเกิดแต่คุณงามและความดี ผลงานที่จรรโลงให้โลกไพบูลย์”

...“อย่าดูหมิ่น บาปกรรม ว่าทำน้อย น้ำหยดบ่อยลงกระถางเต็มอ่างได้ แม้บาปกรรมทำบ่อยบ่อยน้อยเมื่อไร ท่วมทับใจโง่งม สั่งสมกรรม”...“เร่งช่วยตัว ดีกว่า อย่างร้องแย่ หาทางแก้ ได้คล่อง ต้องขยัน สะสมทรัพย์ ทับทวี ดีทุกวัน เงิน ป้องกัน โรคแย่ แน่จริงๆ” ปิดท้ายด้วยธรรมะสะท้อนชีวิตสัตว์โลก แม้ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม แต่ไม่น้อยหลายชีวิตก็ยังหิ้วติดอยู่กับกิเลสไม่กลัวกรรมจะตามทัน

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

                                 รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหนือฟ้าใต้บาดาล" เพิมเติม




Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2723798
10 ก.ย. 2566 05:50 น. | ไลฟ์สไตล์ > ไลฟ์ > รัก-ยม
15  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เรียกครูผู้หญิงว่า "แม่" มาจากระบบเครือญาติดึกดำบรรพ์ เมื่อ: กันยายน 30, 2023, 08:23:00 am



ภาพวงจรปิดจากกรณีที่ครูโรงเรียนดัง ย่านรามคำแหง ใช้ความรุนแรงกับนักเรียน เพราะไม่ยอมเรียกครูว่า แม่ : ที่มา มติชนออนไลน์


เรียกครูผู้หญิงว่าแม่ มาจากระบบเครือญาติดึกดำบรรพ์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ความรู้มีในหมู่บ้าน ปริญญามีในมหาวิทยาลัย”

ตีความได้หลายอย่าง แต่ในที่นี้หมายถึงดั้งเดิมการศึกษาไทยมาจากระบบเครือญาติในชุมชนหมู่บ้าน จึงมีประเพณีเรียกคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน “นับญาติ” (แม้ไม่เป็นญาติ) ว่าพี่ป้าน้าอาพ่อแม่ปู่ย่าตายาย

(1.) ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งในชุมชนหมู่บ้าน มีความรู้ความชำนาญพิเศษ เช่น ถลุงโลหะ, ตีหม้อ, ทอผ้า, ดีดสีตีเป่าและร้องรำทำเพลง เป็นต้น

(2.) ผู้ต้องการเรียนรู้อย่างใดย่างหนึ่ง ต้องฝากเนื้อฝากตัวเป็นผู้รับใช้ในครอบครัว แล้วเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในครอบครัวนั้น ซึ่งหมายความว่าต้องกินอยู่และซุกหัวนอนกับครอบครัวนั้น (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)

(3.) ครอบครัวดังกล่าว โดยปกติผัวเป็นผู้สอนวิชา เมียเป็นผู้ดูแลชีวิตประจำวัน  หุงหาอาหารให้กินรวมกัน ผู้ไปขอเรียนวิชาแล้วอาศัยอยู่ด้วยจะทำตนเสมือนลูก จึงเรียกผู้สอนวิชาคือครูว่าพ่อ ส่วนเมียครูเป็นแม่ และเคารพนับถือสืบเนื่องจนกว่าจะตายจากกัน

(4.) การเรียกครูว่าพ่อหรือแม่ยังสืบประเพณีมาจนปัจจุบันในการเรียนการสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทย พบในกรมศิลปากรและสถาบันอื่นๆ หลายแห่ง รวมทั้งกลุ่มเอกชนทั่วประเทศ

(5.) การศึกษาสมัยใหม่มีระบบโรงเรียนทั้งอยู่ในวัดและอยู่นอกวัด เรียกผู้สอนทั้งชายและหญิงว่าครู, อาจารย์ ไม่เรียกพ่อ, แม่ (ยกเว้นถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาแกมบังคับให้เรียก)

(6.) ครู-อาจารย์ผู้หญิงส่วนหนึ่งยังสืบความคิดตกค้างจากประเพณีเดิม ต้องการให้นักเรียนเรียกตนว่าแม่ (แต่อาจมีเหตุผลอื่น เช่น ไม่มีลูก และอยากมีลูก)

(7.) แม่ ในภาษาไทย มีต้นตอจากคำว่า เม ในภาษาเขมร แปลว่า หัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ, แม่น้ำ, แม่เหล็ก เป็นต่น

[ผู้รู้ทางนิรุกติศาสตร์บางคนมีความเห็นน่าเชื่อว่า เม ภาษาเขมร กลายคำเป็นไทยว่า เมีย ก็ได้ เพราะเมียเป็นใหญ่ในครอบครัวเหมือนแม่]

(9.) ตอนเรียนประถมที่โรงเรียนประชาบาลบ้านนอก (ในดง) ไม่พบประเพณีให้นักเรียนเรียกครูว่าแม่ ผมและเพื่อนๆ จึงไม่เคยเรียกครูว่าแม่

(10.) เมื่อเข้ากรุงเทพฯ เรียนมัธยม (ก่อน พ.ศ. 2500) ในโรงเรียนวัดแห่งหนึ่ง ครูส่วนมากไม่ให้นักเรียนเรียกแม่ แต่ครูบางคนต้องการให้นักเรียนเรียกตนว่าแม่

ตอนนั้นผมเป็นเด็กวัดและมาจากบ้านนอก ไม่กล้าเข้าใกล้ครูที่นักเรียนชาวกรุงแย่งกันเรียกแม่ ผมเลยไม่มีครูเป็นแม่ ไม่เคยเรียกครูว่าแม่ แต่ไม่เคยถูกตบ





ที่มา : มติชนออนไลน์
ผู้เขียน   : สุจิตต์ วงษ์เทศ | วันที่ 29 กันยายน 2566 - 17:00 น.   
website : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4206204
16  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / “วัดเจดีย์หลวง” จ. เชียงใหม่ วัดกลางเมืองสำคัญที่ “ครูบาศรีวิชัย” ไม่เลือกบูรณะ เมื่อ: กันยายน 30, 2023, 08:11:55 am





“วัดเจดีย์หลวง” จ. เชียงใหม่ วัดกลางเมืองสำคัญที่ “ครูบาศรีวิชัย” ไม่เลือกบูรณะ

“ครูบาศรีวิชัย” ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” หรือผู้มีบุญญาธิการสูงส่งที่สะสมไว้ข้ามภพข้ามชาติ ครูบาศรีวิชัยได้รับการยกย่องเชิดชูจากชาวเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากท่านได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมเหลือคณานับ อย่าง สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ทั้งยังบูรณะวัดต่าง ๆ มากมาย เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัย, วัดพระเจ้าตนหลวง, วัดพระสิงห์ ทว่ามีอยู่วัดหนึ่งที่ครูบาศรีวิชัยไม่บูรณะ นั่นคือ “วัดเจดีย์หลวง” จ. เชียงใหม่ แม้จะเป็นวัดที่สำคัญอย่างมากก็ตาม

“วัดเจดีย์หลวง” หรือในอดีตคือ “วัดโชติการาม” ว่ากันว่าชื่อของวัดแห่งนี้มีที่มาจาก 2 เรื่องเล่า บ้างก็ว่าเกิดจากอุบาสกผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในพระธาตุเจดีย์แห่งนี้มาก จนนำผ้าชุบน้ำมันมาจุดเป็นประทีปจนลุกโชติช่วง บ้างก็ว่าเป็นเพราะความสูงใหญ่ของเจดีย์ที่คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวลุกโชติช่วง จึงทำให้ได้ชื่อว่าวัดโชติการาม

ส่วนประวัติวัด หากอ้างอิงตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เชื่อว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1934 โดยพญาแสนเมืองมา โปรดฯ ให้สร้างขึ้นกลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อบรรจุพระบรมธาตุและอุทิศพระราชกุศลแด่พญากือนา พระราชบิดาของพระองค์ แต่ท้ายที่สุดพญาแสนเมืองสวรรคตไปก่อน จึงทำให้พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี มเหสี ทรงสานงานต่อจนเสร็จสมบูรณ์

เรื่องราวที่ถ่ายทอดในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่มีเพียงเท่านี้ ทว่าปรากฏเหตุการณ์ต่อมาใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” วรรณกรรมพุทธศาสนาภาษาบาลี กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2022 พระเจ้าติโลกราช โปรดฯ ให้ หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างเอก เติมแต่งพระเจดีย์องค์นี้ให้ใหญ่ขึ้น ทั้งยังเปลี่ยนรูปแบบทรงเจดีย์ จาก 5 ยอด เป็นยอดเดียว หรือที่เรียกว่าเจดีย์ “ทรงกระพุ่มยอดเดียว” ซึ่งเป็นที่นิยมมากช่วงพุทธศตวรรษที่ 21



ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ Wat Chedi Luang Chiang Mai

เจดีย์ประจำวัดแห่งนี้ยังมียอดคล้ายคลึงกับกู่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าติโลกราช ในอดีตมีความสูงถึง 80 เมตร จนได้รับการขนานนามว่า “ราชกูฏ” หรือ “กู่หลวง” ทว่าสมัยพระนางจิรประภาเทวี เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง จึงทำให้ยอดของเจดีย์หักโค่นลงเหลืออย่างที่เห็นในปัจจุบัน

วัดเจดีย์หลวง เรียกได้ว่าเป็นพุทธสถานแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็น “วัดกลางเมือง” สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายใหม่จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาเชียงใหม่ ซึ่งวัดเจดีย์หลวงถือเป็นศูนย์กลางของธรรมยุติกนิกายในเชียงใหม่

เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้วคงจะทราบได้ว่า “วัดเจดีย์หลวง” มีความสำคัญอย่างมาก แล้วทำไม “ครูบาศรีวิชัย” จึงไม่เลือกบูรณะเจดีย์หลวง?

จากการสันนิษฐานของนักวิชาการหลายคน คาดว่าเป็นเพราะวัดเจดีย์หลวงเป็นศูนย์กลางของธรรมยุติกนิกายใหม่จากกรุงเทพฯ ในเชียงใหม่ เข้ามาพร้อมกับอำนาจทางการเมือง และนั่นอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันสงฆ์ในล้านนา ซึ่งการแปรเปลี่ยนนี้ส่งผลให้ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์หลายครั้ง จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่คาดได้ว่าทำไมท่านถึงไม่บูรณะวัดเจดีย์หลวง

อ่านเพิ่มเติม :-

    - ครูบาศรีวิชัย : “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” กับความขัดแย้งในคณะสงฆ์
    - เปิด UNSEEN “วัดป่าสัก” โบราณสถานที่มีปูนปั้นสวยที่สุดในยุคต้นล้านนา






อ้างอิง :-
สุรชัย จงจิตงาม. ล้านนา Art & Culture. กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, 2555.
https://www.silpa-mag.com/history/article_14296
http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~cturdsak/kuba.htm

ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2566
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_118314
17  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / อันซีน.! เปิดให้ชมครั้งแรกด้านในเจดีย์ วัดพิชัยสงครามสมุทรปราการ เข้มขลังดูขนลุก เมื่อ: กันยายน 29, 2023, 07:43:21 am
.



อันซีน.! เปิดให้ชมครั้งแรกด้านในเจดีย์ วัดพิชัยสงครามสมุทรปราการ เข้มขลังดูขนลุก

วัดพิชัยสงคราม หรือวัดนอก หนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญของจังหวัดสมุทรปราการ ในเขตเมืองปากน้ำ เมืองเก่าดั้งเดิมของสมุทรปราการนั่นเอง





วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และอยู่คู่กับเมืองสมุทรปราการมาอย่างยาวนาน ภายในวัดยังปรากฏร่องรอยของประวัติศาสตร์ให้ประชาชนได้เข้ามาเยี่ยมชมอยู่มากมาย ทั้งโบสถ์เก่าแก่ และพระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงระฆังที่ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามกระเบื้อง





ซึ่งในตอนนี้ทางวัดได้มีการพัฒนาและเปิดให้ประชาชนได้เข้าเยี่ยมบรรยากาศภายในพระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงระฆังที่ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามกระเบื้อง เป็นครั้งแรก โดยได้มีการสร้างทางเข้าสู่องค์พระเจดีย์ให้ประชาชนได้เข้าไปเยี่ยมชมด้านใน





สำหรับภาพบรรยากาศภายในพระเจดีย์นั้น ต้องบอกเลยว่าดูมีความเก่าแก่และเข้มขลังเป็นอย่างมาก ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป และเราสามารถเดินผ่านอุโมงค์เข้าไปสู่จุดศูนย์กลางของพระเจดีย์ได้ด้วย โดยภายในจะมีลักษณะกลวงมองเห็นไปได้ถึงยอดเจดีย์ด้านบนเลย





ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งมุมอันซีนของสมุทรปราการที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยมีโอกาสได้มาสัมผัส หากมีโอกาสมาเที่ยวสมุทรปราการลองแวะมาชมเป็นบุญตากันครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่ตั้ง : 29 ถนนประโคนชัย เมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/U5Csx3XoZmVNpEYN8
เวลาเปิด - ปิด : 7.00 - 20.00 น.
ชมภาพทั้งหมดได้ที่ : https://www.sanook.com/travel/1442379/gallery/




ขอขอบคุณ :-
Peeranut P. : ผู้เขียน | 24 ก.ย. 66 (13:10 น.)
website : https://www.sanook.com/travel/1442379/
18  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / อัปเดตภาพสกายวอล์ค หลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปแกะสลักจากหน้าผาหินใหญ่สุดในไทย.! เมื่อ: กันยายน 29, 2023, 07:36:48 am




อัปเดตภาพสกายวอล์ค หลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปแกะสลักจากหน้าผาหินใหญ่สุดในไทย.!

ข่าวดีสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวสุพรรณบุรี เพราะในตอนนี้การก่อสร้างสกายวอล์คที่วัดเขาทำเทียมหลวงพ่ออู่ทอง ในตอนนี้ได้พัฒนาไปจนใกล้จะสำเร็จแล้ว







โดยสกายวอล์คนี้จะเป็นสะพานกระจกที่ลัดเลาะไปตามสันเขา ให้ทุกคนได้ขึ้นไปชมวิวสวยๆ จากมุมสูงกัน คาดว่าหากเปิดให้เข้าเที่ยวเมื่อไหร่จะกลายเป็นสะพานกระจกที่ยาวที่สุดของเมืองไทยทันที



สำหรับหลวงพ่ออู่ทอง หรือ พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมินี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีความวิจิตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากหน้าผาหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองไทยด้วย





หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี ลองแวะไปเยี่ยมชมความสวยงาม และกราบไหว้ขอพรกันได้ทุกวันครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่ตั้งพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ : ตำบล อู่ทอง อำเภอ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/9Eada4iRyjR4QZZE7
ติดต่อ : 035-525863-4, 035-525867, 035-525880 (ททท.สุพรรณบุรี-อ่างทอง)
ชมภาพทั้งหมดได้ที่ : https://www.sanook.com/travel/1442391/gallery/





ขอขอบคุณ :-
ภาพ : กิตติศักดิ์ มีพูล
Peeranut P. : ผู้เขียน | 25 ก.ย. 66 (13:54 น.)
website : https://www.sanook.com/travel/1442391/
19  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / "ศาลตายาย" ศรัทธาแห่ง "โลกทิพย์" เกษตรกรบ้านยายดา จังหวัดระยอง เมื่อ: กันยายน 29, 2023, 07:29:37 am




"ศาลตายาย" ศรัทธาแห่ง "โลกทิพย์" เกษตรกรบ้านยายดา จังหวัดระยอง

ชีวิตเกษตรกรทำสวนผลไม้ตะวัน ออกนั้นน่าศึกษา...ตรงพอถึงฤดูผลไม้ทีผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้เพียงดราม่าหน้าฉาก ชีวิตจริงหลังเวที...ชาวสวนก็ไม่ต่างอะไรกับคนอาชีพอื่น คือมีความเชื่อและศรัทธาในมิติที่มองไม่เห็น ทว่าสัมผัสได้ด้วยจิตกับความรู้สึก

กรณีเฉกเช่น “ชาวบ้านยายดา” ชุมชนระดับหมู่บ้าน 1 ใน 16 แห่ง ขององค์การบริหารส่วนตำบลตะพง อ.แกลง จ.ระยอง ห่างเมือง 10 กิโลเมตร มีประชากรแค่ 645 คน...คนบ้านนี้เกือบ 100% ทำสวนปลูกทุเรียนราชาผลไม้ มังคุดราชินีคู่กัน แล้วลงเงาะ ลองกอง ระกำพันธุ์สุมาลี-เนินวงแถมลงกอระกำเปรี้ยวเป็นรั้วธรรมชาติไว้รอบสวนกำบังคลื่นลมพัดใส่ช่อขณะติดดอกกับช่วยป้องกันลำต้นมิให้ล้มด้วยทานแรงลมไม่ไหว

น่าสนใจว่าผลพลอยได้ก็คือเก็บลูกมาโขลกกินเป็น “น้ำพริกระกำ” ยิ่งได้กินกับข้าวสวยร้อนๆ ...อร่อยอย่าบอกใครเชียว...แน่นอนว่าทุกๆปีชาวสวนถิ่นนี้ไม่ว่ารุ่นไหนๆก็ต้องทนเหนื่อยสารพัด ไหนจะขยี้ตาตื่นแต่ไก่โห่มาเข้าน้ำ พอสายดายหญ้าใส่ปุ๋ยพ่นเคมีป้องกันศัตรูพืช จนได้ผลผลิต ...ยังเหนื่อยกับการตัดเก็บใส่ท้ายรถกระบะไปเร่ขายยังตลาดมีพ่อค้าคนกลางสุมหัวรอกดราคาต่ำติดดินอยู่ตรงนั้น...




“ไม่ขายก็ไม่ได้เพราะตัดมาแล้วจะเก็บกลับก็ใช่ที่ อีกอย่างเกรงข้ามคืนราคาจะตก”

ชาวสวนทุกสมัย...จึงทนก้มหน้ารับสภาพไปเพื่อเลี้ยงครอบครัวให้พอมีกินมีใช้ ได้ร่ำเรียนหนังสือหาที่ยืนในสังคม...ครั้นหวังพึ่งหน่วยงานของรัฐช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากก็ “ยาก”...จนบางครั้งสุดกลั้นต้องชวนกันแบกผลผลิตออกมาเทประจานมันเสียเลย

คนละแวกบ้านยายดาจึงมองว่า ...ทางออกที่ดีที่สุดเวลานั้นไม่มีทางใดจะดีกว่าการสวดมนต์ภาวนา ขอแรงหนุนนำสภาพจิตใจจากผีป่า ผีเรือน และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วให้ช่วยคุ้มครองและห่วงใยลูกหลานเกษตรกรให้ไร้ทุกข์ห่างโศก

0 0 0 0




มนัส โพธิ์แก้ว วัย 67 ปี ทำ “สวนยายดา” บนเนื้อที่ 40 ไร่กับป้าชื่นคู่ทุกข์คู่ยาก เล่าให้ฟังว่าเกษตรกรที่นี่เป็นชาวพุทธ มีวัดยายดาอยู่คู่ชุมชนมานาน “แต่ก็เชื่อว่ามีผีป่า ผีเรือน คอยดูแลลูกหลานอยู่ตลอด ทุกปีที่ทำสวนให้ได้ผลดังใจหรือเดินทางใกล้ไกลจากเรือน มักจุดธูปบอกกล่าวขอให้คลาดแคล้วแล้วรอดปลอดภัย...เป็นการปฏิบัติที่ยึดถือกันมา”

ลุงมนัสหยิบคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นให้รู้อีกว่า...แถบนี้เคยเป็นทะเลมีสำเภาจีนนำพ่อค้าเข้ามาค้าขาย แล้วเกิดประสบเหตุเรือล่มจมลงทำให้สำเภาลำนั้นเกิดปาฏิหาริย์กลายเป็น “เขาสำเภาคว่ำ” อยู่ในเขตชุมชนเขาสำเภาคว่ำ ต.กระแจะ อ.นายาย อาม จ.จันทบุรี ตามความเชื่อของคนยุคนั้น

ยังขยายเรื่องราวต่อไปอีกว่า...ท้องสำเภาที่อับปางต่างเรียกกันว่า “กะโพงเรือ” มีกะโพงนอก-กะโพงในทำให้นานๆเข้าคนยองเรียกเพี้ยนเป็น “ตะพง” ชื่อตำบลและตลาดขายผลไม้นักท่องเที่ยวจนทุกวันนี้




ตำนานกึ่งนิทานโบราณบ้านยายดาอีกฉบับเล่าไว้ว่า... “คนเฒ่าคนแก่เขาเชื่อในเรื่องที่นี่เคยมีภูเขาลูกหนึ่งตั้งอยู่กลางทะเล ต่อมาน้ำทะเลเกิดแห้งสนิทจนเหลือแต่ที่ดินบริเวณรอบๆตลอดเชิงเขา พลันกลายเป็นแผ่นดินผืนงามและกว้างใหญ่ในที่สุด”

เวลานั้น...มีกระทาชายนายหนึ่งชื่อ “พุด” เขาว่าฐานะร่ำรวยมหาศาลเป็นเจ้าของอาณาจักรริมทะเลกับท้องทะเลอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาของภาคตะวันออก นายคนนี้รู้ข่าวแผ่นดินที่งอกให้สนใจตามประสาคนรวย “อยากรวย” ไม่รู้จบ จึงรีบไปจองที่ดินผืนนั้นทันที... ทำให้บุพเพสันนิวาสพบคู่จิ้นสาวน้อยที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าสวนผลไม้แปลงใหญ่ทำกิน ชะตาดูเหมือนฟ้าจะลิขิตให้เคมีตรงกันระหว่างหนุ่มเศรษฐีทะเลกับสาวชาวสวนผลไม้แปลงใหญ่ในที่สุด...ทั้งคู่ก็ร่วมหอ ลงโรงอยู่กินกันจนแก่เฒ่าวัย “ตา” กับ “ยาย” ด้วยกันทั้งคู่...




นานวันเข้า “ตาพุด” ดูจะ “วัยกลับ” เอาแต่เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมาไม่เป็นอันช่วยทำสวนหากินเหมือนแต่ก่อน ปล่อยให้ “ยายด่าเช่ด” ทั้งเช้า กลางวัน เย็น ในพฤติกรรมที่ไม่เป็นโล้เป็นพายของสามี

จวบกระทั่งทั้งคู่ตายจากกันลูกหลานจึงพากันตั้งฉายา “ตาพุด” ว่า “มาบตาพุด” บ่งบอกถึงผู้มาจากริมฝั่งทะเลหรือปัจจุบันก็คือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปีกหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจสำคัญภาคตะวันออก เรียกสั้นๆว่า “อีอีซี”...ส่วน “ยายด่า” ไปๆมาๆลงตัวที่ “ยายดา” ชุมชมชาวสวนผลไม้ในยุคปัจจุบันนั่นเอง

0 0 0 0

ศรัทธาความเชื่อโลกทิพย์ชุมชนบ้านยายดาต่างรู้คุณถึงสองตายายคู่นี้ พิสูจน์ได้จากการจุดธูปบอกกล่าวขอพรไปลามาไหว้ทุกครั้ง เสมือนหนึ่ง “ตาพุด–ยายดา” เคยมีตัวตนบนโลกจริงมาก่อน




“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว” ลุงมนัส ย้อนความหลังให้ฟัง “หน่วยงานรัฐได้ให้งบพัฒนาท้องถิ่นมาก้อนหนึ่ง เราชาวชุมชนบ้านยายดามีความคิดว่า น่าจะเอาเงินก้อนนี้มาสร้างศาลจำลองรูปตากับยายไว้คู่กัน ตรงปากทางเข้าหมู่บ้านให้ลูกหลานได้กราบไหว้เป็นสิริมงคล”

นี่จึงเป็นที่มาของ “ศาลตายาย” บ้านยายดา โดยรูปปั้นทั้งสองสูงกว่า 2 เมตรขนาดโตเกินคนจริงเล็กน้อย ยืนอยู่ในซุ้มหลังคาสีแดงเปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน ใช้ช่างฝีมือกำหนดรูปร่างหน้าตาท่าทางให้ “ตาพุด” ดูเป็นชาวสวนอารมณ์ดีมีสร้อยประคำคล้องคอ หาบสาแหรกคาดผ้าขาวม้าเคียนพุง ข้าง “ยายดา” ผมสั้นแบบสตรียุคโบราณสีหน้าท่าทางเคร่งเครียดจริงจัง นุ่งซิ่นลายสีฟ้าเข้มงามงดแขนคล้องกระเป๋าบอกสกุลผู้มีอันจะกินยุคนั้น




ส่วนพื้นที่ราบเบื้องหน้า...เป็นรูปปั้นผลไม้ไทยในสวนละแวกนี้ ที่ขาดไม่ได้คือราชาผลไม้อย่างทุเรียนและราชินีคู่คือมังคุด นอกจากนี้ยังมีเงาะ กล้วย กระท้อน ชมพู่ พืชผักสวนครัวจำพวกฟัก มะเขือชนิดต่างๆ

“พอสร้างเสร็จชาวบ้านพร้อมใจจุดธูปอัญเชิญดวงวิญญาณมาสถิตอยู่ภายในศาล โดยไม่มีเครื่องเซ่นบูชาใดๆ เพราะชาวสวนที่นี่ถือว่าทุกคนทำด้วยใจศรัทธามากกว่าการสร้างพิธีกรรมไสยศาสตร์ถวาย”

แต่จากนั้นไม่นาน...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าบริเวณ “ศาลตายาย” มีทั้งน้ำแดง ตุ๊กตาปูนปั้น พวงมาลัยดอกไม้สด วางเต็มลานจากผู้สมหวังดังใจปรารถนานำมาถวาย ซึ่งมีทั้งลูกๆหลานๆ ภายในชุมชนไปจนถึงพ่อค้าตลาดตะพง และนับรวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนตามแรงโฆษณา...“อะเมซิ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

อธิษฐานขอพรทำสวนให้ได้ผลดี ค้าขายราบรื่นร่ำรวยๆ หวังไปถึงโชคลาภ คู่ครองและบุตร

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

                                     รัก–ยม






Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2720258
27 ส.ค. 2566 06:55 น. | ไลฟ์สไตล์ > วัฒนธรรม > รัก-ยม
20  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เทศกาลกินเจ 2566 เริ่มวันไหน รวมข้อห้าม-ข้อควรรู้ ก่อนเตรียมตัวอิ่มบุญ เมื่อ: กันยายน 29, 2023, 07:00:17 am



เทศกาลกินเจ 2566 เริ่มวันไหน รวมข้อห้าม-ข้อควรรู้ ก่อนเตรียมตัวอิ่มบุญ

เทศกาลกินเจ 2566 (ภาษาอังกฤษ : Vegetarian Festival) กลับมาอีกครั้งกับประเพณีประจำปีของคนไทยเชื้อสายจีน ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เพื่อละเว้นการกินเนื้อสัตว์และถือศีลบำเพ็ญบุญ สำหรับปีนี้เทศกาลกินเจ 2566 เริ่มวันไหนและจัดขึ้นเมื่อไร ไทยรัฐออนไลน์รวมเรื่องน่ารู้มาฝากกัน พร้อมทั้งไขข้อสงสัย กินเจห้ามกินอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

เทศกาลกินเจ 2566 เริ่มเมื่อไร ตรงกับวันไหน?

เทศกาลกินเจ 2566 เริ่มขึ้นในวันที่ 15-23 ตุลาคม 2566 โดยเทศกาลกินเจของทุกๆ ปี จะกำหนดตามปฏิทินจันทรคติจีน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ไปสิ้นสุดในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวมเป็นเวลาทั้งหมด 9 วัน 9 คืน

ทั้งนี้ ผู้ที่ถือศีลกินเจบางคนจะนิยม "กินล้างท้อง" ก็คือการเริ่มกินเจล่วงหน้าก่อนกำหนดจริง 1 วัน เพื่อทำให้ร่างกายเริ่มปรับสภาพให้คุ้นเคยก่อน สำหรับใครที่อยากจะกินล้างท้องก็สามารถเริ่มกินเจได้ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2566 ซึ่งจะทำให้เทศกาลกินเจ 2566 ของหลายๆ คน มีกำหนดรวมทั้งหมด 10 วันนั่นเอง

เทศกาลกินเจ 2566 พิกัด เยาวราช-ภูเก็ต-หาดใหญ่ เริ่มวันไหน?

ในทุกๆ ปีจะมีการจัดงานเทศกาลกินเจขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะโซนเมืองและจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านเทศกาลกินเจ ก็จะมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปเยือนเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างดังนี้

เทศกาลกินเจเยาวราช 2566 วันไหน : งานใหญ่ประจำปีของย่านที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากที่สุด คึกคักตลอด 9 วันเต็ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 15-23 ตุลาคม อาหารเจมากมายรวมไว้ที่นี่ เดินทางไปง่ายๆ ด้วย MRT ลงสถานีวัดมังกร ทางออก 1

เทศกาลกินเจภูเก็ต 2566 วันไหน : เรียกอีกชื่อว่าประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต จัดในวันที่ 15-23 ตุลาคม จุดเด่นอยู่ที่พิธีสำคัญต่างๆ ที่จัดขึ้นที่อ๊าม (ศาลเจ้าจีน) ทั่วภูเก็ต ร่วมชมพิธีแห่พระรอบเมือง, พิธีเดินลุยไฟ และพิธีสะเดาะเคราะห์

เทศกาลกินเจหาดใหญ่ 2566 วันไหน : มูลนิธิโรงเจเต๋าบ้อเก็งหาดใหญ่ จะเริ่มจัดงานกินเจตั้งแต่วันที่ 14-24 ตุลาคม มีพิธีเลี้ยงอาหารเทพ, พิธีอัญเชิญพระกิวอ๋องไต่เต่แห่ทั่วเมืองหาดใหญ่ และพิธีบูชาดาวนพราชา 9 พระองค์




ประวัติความเป็นมาของเทศกาลกินเจ 2566

ย้อนกลับไปในอดีตสมัยที่กองทัพแมนจูปกครองจีน มีชาวบ้านรวมกลุ่มกันเป็นกองทหารที่ชื่อว่า "หงี่หั่วท้วง" พวกเขาถือศีล งดกินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน บริกรรมคาถาตามความเชื่อเพื่อเสริมขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับกองทัพแมนจู แต่สุดท้ายก็แพ้พ่าย ผู้นำทั้ง 9 คนถูกจับไปประหารชีวิต ทำให้ต่อมาชาวจีนจะร่วมกินถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมดังกล่าวของผู้กล้าในอดีต

เปิดความหมายของ "ธงเจ" อักษรสีแดงบนพื้นหลังสีเหลือง

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเทศกาลกินเจที่เราเห็นประจำในทุกปีก็คือ "ธงเจ" หรือธงที่มีตัวอักษรภาษาจีน "齋" เขียนด้วยอักษรสีแดง ซึ่งอ่านออกเสียงตามภาษาจีนกลางว่า "ไจ" หมายถึงอุโบสถ สื่อถึงการรักษาศีลและปฏิบัติตัวสำรวมกาย วาจา และใจ รวมถึงเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด ทั้งนี้ หากร้านอาหารใดที่ติดธงเจไว้ ก็สื่อว่าร้านนี้หรือเมนูอาหารนี้ไม่มีอาหารคาวที่ทำจากเนื้อสัตว์นั่นเอง




เทศกาลกินเจ 2566 ห้ามกินอะไรบ้าง.?

     • งดเว้นเนื้อสัตว์, นม, เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์ทุกชนิด
     • งดผักที่มีกลิ่นแรง 5 ชนิด (กระเทียม, หัวหอม, กุยช่าย, กระเทียมโทนจีน, ใบยาสูบ)
     • งดอาหารรสจัด และไม่ใช้ภาชนะปะปนกันกับคนที่ไม่กินเจ
     • งดกินไข่ไก่ เพราะไข่เป็นผลผลิตที่กำเนิดจากสิ่งมีชีวิต
     • งดดื่มสุราและของมึนเมาตลอดการถือศีลกินเจ

เทศกาลกินเจ 2566 กินอะไรได้บ้าง.?

     • คาร์โบไฮเดรตที่ทำจากพืช
     • โปรตีนเกษตร (โปรตีนจากพืช)
     • ไขมันเกษตร (ไขมันจากพืช)
     • เครื่องปรุงรสเจ
     • ผักและผลไม้

ช่วงเทศกาลกินเจ 2566 ควรปฏิบัติตัวอย่างไร.?

     • งดเว้นจากการกินเนื้อสัตว์
     • ทำจิตใจให้สงบ
     • สำรวมกาย วาจา และใจ
     • ไม่พูดจาหยาบคาย
     • ถือศีลห้า นุ่งขาวห่มขาว
     • มีความเมตตาต่อสัตว์ทั้งปวง
     • จุดตะเกียงในศาลเจ้าและโรงเจให้สว่างไสวตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน




สำหรับสายบุญ หากรู้แล้วว่ากินเจ 2566 วันไหน ก็เตรียมพร้อมรับบุญทั่วไทย สามารถร่วมกิจกรรมเทศกาลกินเจ 2566 ได้ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ หรือจะถือศีลกินเจอยู่บ้านเพื่อสำรวมกาย วาจา และใจ นอกจากได้บุญแล้ว ยังถือเป็นการดีท็อกซ์ร่างกายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

     • ประวัติน่ารู้ของ "เทศกาลกินเจ" ประจำปี 2566 มีความสำคัญอย่างไร?
     • คำอธิษฐานก่อนกินเจ 2566 สวดบูชาเจ้าแม่กวนอิม อิ่มบุญ เสริมความเฮง
     • กินเจ 2566 ห้ามกินอะไรบ้าง รวมลิสต์ข้อห้าม รู้ไว้รับรอง "เจไม่แตก"
     • คัดเน้นๆ แคปชั่นกินเจ 2566 มีเธอคนเดียวที่กินใจ แม้ใครๆ จะกินเจ





Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2728683
28 ก.ย. 2566 12:00 น. | ไลฟ์สไตล์ > วัฒนธรรม > ไทยรัฐออนไลน์
21  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ที่มา “พระพุทธรูปทองคำ 21 องค์” บน “พระมาลาเบี่ยง” รัชกาลที่ 1 ทรงสร้าง เมื่อ: กันยายน 29, 2023, 06:30:29 am
.

พระมาลาเบี่ยง ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ 21 องค์


ที่มา “พระพุทธรูปทองคำ 21 องค์” บน “พระมาลาเบี่ยง” รัชกาลที่ 1 ทรงสร้าง

พระมาลาเบี่ยง เป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้น บนพระมาลาเบี่ยงประดิษฐาน “พระพุทธรูปทองคำ” 21 องค์ รายละเอียดต่างๆ ศ. ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ได้เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2538 ดังนี้

พุทธลักษณะของ พระพุทธรูปทองคำ 21 องค์ ที่ประดิษฐานรายรอบพระมาลาเบี่ยง ประกอบด้วยพระพุทธรูปในสองอิริยาบถ คือ พระพุทธรูปประทับยืน [1] และ พระพุทธรูปประทับนั่ง [2]

พระพุทธรูปประทับยืน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพักตร์ค่อนข้างกลม แย้มสรวล ทรงศิราภรณ์เป็นชฎามุกุฏซ้อนกันสามชั้น ทรงกุณฑลรูปตุ้ม ประทับยืนตรงแสดงอภัยมุทราด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงกรองศอ พาหุรัด ทองกร และทองพระบาทจำหลักลาย รัดประคดประดับเครื่องเพชรพลอย มีอุบะขนาดสั้นห้อยประดับกับทั้งมีชายภูษารูปหางปลาห้อยย้อยลงมาเบื้องหน้าทับบนอันตรวาสก

ส่วน พระพุทธรูปประทับนั่ง มีพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปประทับยืน ทรงศิราภรณ์และเครื่องอาภรณ์ละม้ายกับพระพุทธรูปประทับยืน เพียงลดรายละเอียดบางอย่าง เช่น ความอลังการของชฎามุกุฏลงเป็นอาทิ พระพุทธรูปประทับนั่งเหล่านี้ครองอุตราสงค์ห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ด้วยปรากฏขอบอุตราสงค์พาดผ่านพระอังสาซ้ายลงมาทางด้านขวา พระพุทธปฏิมาประทับนั่งทั้งหมดประทับนั่งในท่าวีราสนะ พระชงม์ขวาซ้อนเหนือพระชงฆ์ซ้าย แสดงธยานะมุทราพระหัตถ์ขวาซ้อนเหนือพระหัตถ์ซ้ายกับทั้งในพระหัตถ์นั้นมีสิ่งของบางอย่างทรงถืออยู่



พระมาลาเบี่ยง

พระพุทธรูปทองคำ 21 องค์ [3] รายรอบพระมาลาเบี่ยงนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รับสั่งว่า คนทอดแหได้พบพระพุทธรูปดังกล่าวในลำน้ำมูล แขวงเมืองนครราชสีมา ต่อมาพระยานครราชสีมานำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธรูปเหล่านี้ประดิษฐานรอบ “พระมาลาเบี่ยง” ที่ทรงสร้างขึ้น

สำหรับลักษณะทางประติมานวิทยาเชื่อว่า พระพุทธรูปประทับนั่งซึ่งถือวัตถุบางอย่าง ซึ่งอาจได้แก่หม้อน้ำมนต์ไว้ในพระหัตถ์ อาจหมายถึง “พระพุทธเจ้าไภษัชคุรุไวฑูรยประภา” อันมีความหมายถึง พระพุทธเจ้าผู้มีแสงสว่างประดุจแก้วไพฑูรย์ ผู้เป็นพระพุทธเจ้าที่ทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

ความนิยมนับถือพระพุทธเจ้าองค์นี้เจริญสูงสุดในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยเหตุที่ศิลาจารึกในรัชกาลของพระองค์กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างอโรคยาศาลาเหล่านี้ ทั้งในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือประเทศกัมพูชาและในดินแดนของราชอาณาจักรไทย ซึ่งอโรคยศาลานี้ได้อุทิศถวายพระพุทธเจ้าไภษัชคุรุไวฑูรยประภาทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :-

      • เหตุใดคนโบราณทํา “คอก” แคบๆ ล้อมพระพุทธรูป
      • ทำไม “พระพุทธชินราช” จึงเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมากที่สุด?
      • นิมิตอัศจรรย์ “หยก” ใหญ่ที่สุดในโลกจากแคนาดา สู่พระพุทธรูปหยกวัดธรรมมงคลฯ





เชิงอรรถ :-
[1] ยึดรูปแบบการสะกดตามที่ปรากฏในต้นฉบับ
[2] ยึดรูปแบบการสะกดตามที่ปรากฏในต้นฉบับ
[3] ในหนังสือสาส์นสมเด็จ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุจำนวนพระพุทธรูปรอบมาลาเบี่ยงว่ามี 28 พระองค์

ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 3 มกราคม 2561
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_5438
22  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ไขข้อข้องใจ นั่งสมาธิกับสวดมนต์ ควรทำอะไรก่อนกัน.? เมื่อ: กันยายน 28, 2023, 08:59:58 am




ไขข้อข้องใจ นั่งสมาธิกับสวดมนต์ ควรทำอะไรก่อนกัน.?


การสวดมนต์ และการนั่งสมาธิ เป็นการฝึกฝนจิตใจอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างมีประโยชน์ต่อจิตใจ และร่างกายมากมาย การสวดมนต์เป็นการน้อมนำจิตใจให้สงบ ระลึกถึงคุณงามความดีของพระรัตนตรัย และเจริญสติปัญญา ส่วนการนั่งสมาธิเป็นการฝึกฝนจิตใจด้วยการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่วอกแวก

สำหรับการนั่งสมาธิและการสวดมนต์นั้น อาจจะมีหลายคนสงสัยว่าควรทำอะไรก่อนทำอะไรหลัง วันนี้เรามาไขข้อสงสัยนี้ไปด้วยกัน

ควรนั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ก่อน.?

ในรายการ ธรรมะ 4.0 ทางช่องยูทูป ธรรมมะทำไม พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท) เจ้าอาวาสวัดด่านใน จ.นครราชสีมา แนะนำว่า เพื่อให้จิตสงบไม่ว่าวุ้น ก็ควรที่จะสวดมนต์ก่อน เพราะการสวดมนต์ คือการทำสมาธิในรูปแบบหนึ่ง สวดมนต์ให้รู้สึกว่าร่างกายสบาย ผ่อนคลาย โดยในการสวดมนต์ไม่จำเป็นต้องนั่งพับเพียบเสมอไป เมื่อสวดมนต์ไปแล้วรู้สึกว่าจิตใจแช่มชื่น ก็จึงค่อยนั่งสมาธิต่อได้ หากนั่งสมาธิแล้วรู้สึกเมื่อย ก็สามารถลุกขึ้นเดินจงกรมได้ แล้วจึงค่อยกลับไปนั่งสมาธิต่อ ทำแบบนี้สลับกันไปได้





ขอขอบคุณ :-
ข้อมูล : ธรรมะทําไม
S! Horoscope : สนับสนุนเนื้อหา | 25 ก.ย. 66 (14:21 น.)
website : https://www.sanook.com/horoscope/262287/
23  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดกลางคลองวัฒนาราม โบสถ์สีม่วงสวยอลังการ ที่เจ้าอาวาสสร้างด้วยตัวเอง! เมื่อ: กันยายน 28, 2023, 08:55:50 am





วัดกลางคลองวัฒนาราม โบสถ์สีม่วงสวยอลังการ ที่เจ้าอาวาสสร้างด้วยตัวเอง!

เรียกได้ว่ากำลังเป็นที่ฮือฮาในวงการท่องเที่ยวตอนนี้สำหรับวัดสีม่วงสุดอลังการ วัดกลางคลองวัฒนาราม ต.เจ้าเสด็จ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา





เพราะด้วยความวิจิตรงดงามของโบสถ์สีม่วงที่ประดับประดาด้วยกระจกสี และแสงไฟจนมีความตระการตา กลายเป็นหนึ่งในอันซีนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแล้ว





แต่ในปูมหลังน้อยคนที่จะรู้ว่า โบสถ์สีม่วงแห่งนี้สร้างขึ้นจากฝีมือของเจ้าอาวาสของทางวัด พระใบฎีกาเอกลักษณ์ อาภสฺสโร อายุ 39 ปี มุมานะสร้างโบสถ์ด้วยตนเอง มากว่า 10 ปี จนเกิดเป็นสถานที่ที่สวยงามดั่งเช่นทุกวันนี้

ในทุกวันนี้วัดกลางคลองวัฒนารามได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแล้ว ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปกันเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับชุมชนและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เป็นการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างทรงคุณค่าจริงๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม :-

ที่ตั้ง : ต.เจ้าเสด็จ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/kxkjU5rDyJc21D7T8
เวลาเปิด - ปิด : 7.00 - 18.00 น.




ขอขอบคุณ :-
ภาพ : San Sansanee
Peeranut P. : ผู้เขียน | 27 ก.ย. 66 (09:10 น.)
website : https://www.sanook.com/travel/1442419/
24  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / กรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย เมื่อ: กันยายน 28, 2023, 08:36:22 am
.

ฐานพระปรางค์วัดสมณโกฏฐาราม พระมหาธาตุหลักกรุงอโยธยา


กรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย

“กรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย” อาจารย์ประวัติศาสตร์ เปิดหลักฐาน ‘อโยธยา’ เก่ากว่าสุโขทัย ห่วงหลักฐานถูกทำลาย ยันไม่ได้ต้าน ‘รถไฟความเร็วสูง’ แนะศึกษาผลกระทบรอบด้าน หาทางออกร่วมกัน

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ตนพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ยืนยันว่า ‘อโยธยา’ เก่าแก่กว่าสุโขทัย ต่างจากความเชื่อเดิมที่กล่าวกันว่าสุโขทัยคือราชธานีแห่งแรกของไทย โดยหลักฐานที่พบใหม่ส่งผลให้อโยธยาซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย



รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวว่า เมืองอโยธยาตั้งอยู่ทางตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา ปัจจุบันคือบริเวณสถานีรถไฟอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง มีคูน้ำคันดิน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ราว 1.4×3.1 กิโลเมตร ปรากฏหลักฐานบ่งชี้ว่า อย่างน้อยเมื่อราว พ.ศ. 1750 เมืองอโยธยาถือกำเนิดแล้วตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์พ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาว ร่วมทัพขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง ดังนั้น กรุงสุโขทัยเกิดหลังกรุงอโยธยา

“ภาษาไทยเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นคนไทย พบว่ากรุงอโยธยาใช้ภาษาไทยในพระไอยการเบ็ดเสร็จ หรือกฎหมายลักษณะเบ็ดเตล็ด เขียนเป็นภาษาไทย ประกาศใช้ พ.ศ. 1777 ราว 116 ปี ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา แล้วใช้สืบเนื่องตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ การขุดค้นทางโบราณคดีบางแห่งบริเวณวัดพนัญเชิง พบชุมชนขนาดใหญ่ มีภาชนะดินเผาเคลือบแบบจีนสมัยราชวงศ์หยวน มีอายุราว พ.ศ. 1800 แสดงว่าชุมชนมีก่อนหน้านั้นนานมาแล้ว อาจเป็นร้อยปีก่อนเติบโตเป็นเมืองใหญ่” รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าว

รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวด้วยว่า นอกจากกรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย ยังเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกา ที่ใช้ภาษาไทยแผ่ไปทั้งเหนือและใต้ ปรากฏหลักฐานด้านเอกสารที่กล่าวถึงเมืองอโยธยา ก่อน พ.ศ. 1893 ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้แก่

เรื่องที่ 1 สิหิงคนิทาน ของพระโพธิรังสี ซึ่งรจนาช่วง พ.ศ. 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงราว 140 ปี ยังทรงจำว่า ทิศใต้ของสุโขทัยติดแดนอโยธยา

เรื่องที่ 2 พื้นเมืองเชียงแสน กล่าวถึงเหตุการณ์ พ.ศ. 1835 ว่าพญาเบิกมาขอพลกับอโยธยามาช่วยรบกับพญามังราย อีกทั้งพญาอโยธยายกมาด้วยพระองค์เอง

เรื่องที่ 3 พื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์ พ.ศ. 1817 ตอนที่พญามังรายจะไปตีเมืองหริภุญไชยว่า “พ่อค้าทางบกทางน้ำ เที่ยวมาค้าชุเมืองทางน้ำก็เถิงเมืองธิยา” และเนื้อความตอน พ.ศ. 1840 ขุนครามได้ทูลพญามังรายว่า “หากลวดไปเถิงนครเขลางค์ก็ดีเถิงโยธิยาก็ดี”

เรื่องที่ 4 คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์, ตำนานมูลศาสนา, และตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ได้กล่าวถึงพระสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีลงมาร่ำเรียนที่อโยธยา

@@@@@@@

รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวว่า แม้ว่าเอกสารเหล่านี้ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพระสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีลงมาร่ำเรียนที่อโยธยาเมื่อใด หากแต่ในตำนานมูลศาสนาและตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ระบุตรงกันว่า เมื่อ พ.ศ. 1871 อุทุมพรมหาสวามีกลับถึงนครพัน ข่าวของท่านได้ขจรกระจายไปถึงสุโขทัย พระทั้งสองจึงเดินทางไปขอบวชใหม่กับอุทุมพรมหาสวามี ดังนั้น ก็ชวนให้คิดได้ว่า เหตุการณ์พระมหาสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีมาเรียนที่กรุงอโยธยานั้นก็ควรที่จะเกิดขึ้นก่อน พ.ศ. 1893

“นอกจาก 4 เรื่องข้างต้น ยังมี เรื่องที่ 5 คือ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึง ผขาวอริยพงศ์ชาวอยุธยาได้มาช่วยซ่อมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชที่ชำรุดทรุดโทรมเพราะเมืองร้าง และเมื่อกลับอยุธยาได้ทูลต่อพระเจ้าอยู่หัวเรื่องพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้นิมนต์เปรียญทศศรีชาวหงสาวดีไปนครศรีธรรมราช และใน พ.ศ. 1815 จึงโปรดเกล้าให้นายศรีทนูออกมากินเมืองนครศรีธรรมราช แม้ว่าเหตุการณ์เรื่องฟื้นพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชในตำนานเรื่องนี้จะใช้ชื่อเมืองอยุธยาก็ตาม แต่ก็หมายถึงเมืองอโยธยาก่อน พ.ศ. 1893

ด้วยเหตุนี้เราจึงกลับมาทบทวนว่าเอกสารของพระฝ่ายป่าแดงและพระฝ่ายสวนดอก ซึ่งพระทั้งสองฝ่ายมีข้อขัดแย้ง แต่เหตุใดจึงกล่าวตรงกันถึงพระมหาสุมนเถรลงมาเรียนที่อโยธยา อีกทั้งตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชก็กล่าวอโยธยาหรือกรุงศรีอยุธยาก่อน พ.ศ. 1893 ถ้ากรุงอโยธยาไม่มีจริงเหตุใดตำนานทั้งสองภูมิภาคจึงพร้อมใจกันกล่าวถึงกรุงอโยธยาก่อน พ.ศ. 1893” รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าว

รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวต่อไปว่า กรมศิลปากรขุดแต่งบูรณะวัดขนาดใหญ่สมัยอโยธยาจำนวนมาก และมีอีกมากยังไม่ขุดแต่งเพราะอยู่ใต้ทางรถไฟสมัย ร.5 แต่ที่สำคัญยังไม่เคยขุดค้นศึกษาลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพื่อเข้าใจวิถีชีวิตของประชาชนสมัยอโยธยา ตลอดจนการจัดผังเมืองให้มีเส้นทางคมนาคมทางน้ำ มีแม่น้ำลำคลองไขว้หลายทิศทาง

ล่าสุด มีโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ซึ่งสร้างทับซ้อนทางรถไฟปัจจุบัน และมีสถานีขนาดใหญ่ตรงสถานีอยุธยา เท่ากับทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์กรุงอโยธยา ศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของคนไทย



เมืองอโยธยา มีคูน้ำคันดินทำผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1.4 x 3.1 กิโลเมตร [สำรวจและทำผังโดย พเยาว์ เข็มนาค (อดีตข้าราชการงานโบราณคดี กรมศิลปากร) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562]

ซึ่งมีกลุ่มเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการทำลายหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนไทยและประเทศไทย โดยยืนว่าไม่ได้คัดค้านโครงการรถไฟฯ ไม่ได้ต่อต้านความเจริญที่กำลังเข้ามา แต่ควรผ่านการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และมีทางเลือกอื่นๆ เช่น เบี่ยงออกไปให้พ้นจากพื้นที่เมืองอโยธยา หรือหาทางออกให้สมดุลระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนา

อ่านเพิ่มเติม :-

    • อโยธยากับอยุธยา “คนละเมืองเดียวกัน” : รถไฟความเร็วสูงผ่าซีกเมืองอโยธยา (ไม่ผ่ากลาง)
    • พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ฉบับ มานิต วัลลิโภดม : อโยธยา เก่าแก่กว่าสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา ต้นแบบรัตนโกสินทร์
    • “อยุธยา” เสี่ยงถูกยูเนสโกถอดจากมรดกโลก เพราะ รถไฟความเร็วสูง !?
    • จุดเริ่มต้นของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 26 กันยายน 2566
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_118067
25  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / “ทวารวดี” อยู่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ “นครปฐม-อู่ทอง”.?! เมื่อ: กันยายน 28, 2023, 08:13:19 am
.



“ทวารวดี” อยู่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ “นครปฐม-อู่ทอง”.?!

เมื่อพูดถึง “ทวารวดี” หลายคนคงมีภาพจำจากประวัติศาสตร์กระแสหลักว่า เป็นชื่ออาณาจักรแห่งแรกและเก่าสุดในไทยราวหลัง พ.ศ. 1000 นับถือศาสนาพุทธ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม ทว่าในอีกฟากฝั่งของวงวิชาการกลับไม่เห็นพ้อง และคาดว่า ทวารวดีน่าจะมีศูนย์กลางที่ ลพบุรี-ศรีเทพ มากกว่า นครปฐม-อู่ทอง

ข้อมูลนี้ปรากฏอยู่ในบทความ “‘ทวารวดี’ อยู่ลพบุรี-ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) ไม่อยู่นครปฐม-อู่ทอง (สุพรรณบุรี)” ในมติชนออนไลน์ ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอของนักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ยืนยันและชี้ว่า “ทวารวดี” มีศูนย์กลางที่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ นครปฐม-อู่ทอง อย่างที่เข้าใจกันมาตลอด

ในบทความกล่าวถึงงานนักวิชาการมีชื่อทั้ง 2 คน ได้แก่ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร และ ศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


@@@@@@@

เมืองชื่อทวารวดี กับพื้นที่ที่ไม่แน่ชัด

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายประเด็นนี้ผ่านงาน “ทวารวดี เมืองที่ชุมนุมพระธาตุ” ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 61 ฉบับที่ 1 (มกราคม–กุมภาพันธ์ 2561 หน้า 49-55) ไว้ว่า เมืองชื่อทวารวดีเป็นที่รู้จักในบรรดาแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยมาเนิ่นนาน ทั้งยังเป็นดินแดนโบราณ อย่างน้อยก็ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของประเทศไทยใต้จังหวัดนครสวรรค์ลงมา

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่า พื้นที่แห่งใดคือทวารวดี เพราะแม้จะพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่นักโบราณคดีไทยยุคแรก ๆ เรียกว่า “ศิลปะทวารวดี” แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ที่ตั้งของเมืองชื่อทวารวดีอยู่ที่ใด เพราะวัตถุโบราณเช่นนี้กระจายทั่วไปตามแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี หรือบ้านเมืองสมัยโบราณบนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง เช่น เมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัวที่จังหวัดราชบุรี ฯลฯ

หรือแม้แต่การค้นพบเหรียญที่มีตัวอักษรคำว่าทวารวดีในเมืองโบราณอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และที่อื่น ๆ ก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า สถานที่ที่พบเหรียญนั้นจะเป็นเมืองทวารวดี เพราะจำนวนวัตถุที่พบน้อยมาก ทั้งวัตถุชนิดที่พบยังมีขนาดเล็ก และสามารถพกพาไปได้ทั่วแดน

ดังนั้น จึงไม่สามารถการันตีได้ว่า สถานที่ที่พบวัตถุจะเป็นเมืองทวารวดีตามไปด้วย

@@@@@@@

เบาะแส “ทวารวดี” ในศิลาจารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร คาดว่าทวารวดีน่าจะอยู่ที่ลพบุรี จากการคาดคะเนผ่านหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 2 อย่าง “ศิลาจารึกวัดศรีชุม” จังหวัดสุโขทัย

ในหลักฐานปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติผู้ทำจารึก และเล่าเรื่องการเดินทางแสวงบุญของพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีในพื้นที่ต่าง ๆ มีตอนหนึ่งกล่าวถึงพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีที่ได้เข้าไปซ่อมแซมปูชนียสถานร้างแห่งหนึ่ง บริเวณทิศใต้ของเมืองสุโขทัย โดยกล่าวว่า

“…ลางแห่งที่ชุมนุมพระมหาธาตุเป็นเจ้าอันใหญ่ทั้งหลาย ตรธานเป็นป่าเป็นดง สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีเป็นเจ้า ที่ตนเข้าไปเลิกให้กระทำพระมหาธาตุหลวงคืน พระมหาธาตุด้วยสูง เก้าสิบห้าวาไม่ เหนือพระธาตุหลวงไซร้ สองอ้อมสามอ้อม พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า พยายามให้แล้วจึงก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา สทายปูนแล้วบริบวรณ พระมหาธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวา ขอมเรียกพระธมนั้นแล ๐ สถิต เคริ่งกลางนครพระกฤษณ์ ๐…”

แปลความคร่าว ๆ ได้ว่า พระองค์บูรณะสถูปพระธาตุองค์หนึ่งจนเสร็จสมบูรณ์ และกล่าวถึงสถูปนี้ว่า มีขนาดใหญ่ ซึ่งขอมเรียกว่า “พระธม” แปลตรงตัวว่าพระใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางเมืองของพระกฤษณะชื่อว่า “เมืองทวารวดี” โดยเมืองนี้มีลักษณะพิเศษคือ “เป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุ”


@@@@@@@

“ชุมนุมพระมหาธาตุ” คำใบ้สำคัญ ชี้ “ทวารวดี” อยู่ที่ลพบุรี.?

อาจารย์พิเศษ ระบุด้วยว่า คติเกี่ยวกับการชุมนุมพระธาตุ เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมายาวนานถึงสมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ มีบันทึกอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับอื่น ๆ โดยมีเรื่องเล่าในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนำหนังสือที่เขียนบนใบตาลมาถวายพระเจ้าตาก อ้างว่าเป็นของ “อธิการวัดใหม่” เชื่อว่าเป็นพระพุทธทำนาย มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“…ในพุทธศักราชล่วงได้ 2320 จุลศักราช 1139 ปี พระนครบางกอก [คือกรุงธนบุรี] จะเสียแก่พม่าข้าศึก ให้เสด็จขึ้นไปอยู่ ณ เมืองละโว้ คือเมืองลพบุรีเป็นชุมนุมพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไทย ข้าศึกศัตรูจะทำร้ายมิได้เลย…”

จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 เมืองนั้นเชื่อมโยงกันด้วยความเชื่อเรื่อง “ชุมนุมพระมหาธาตุ” หรือ “ชุมนุมพระบรมธาตุ” ทั้งหากย้อนดูในเรื่องโบราณสถานหรือวัตถุก็พบศิลปะทวารวดีจำนวนมากด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ทั้งสองเมืองนี้มีความเชื่อมโยงกัน และสถานที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมพระมหาธาตุ ดังปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 หรือ จารึกวัดศรีชุม ก็หมายถึงปูชนียสถานเก่าองค์หนึ่งที่มีอยู่ในเมืองละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งก็คือเมืองที่ยืมชื่อเมืองของพระกฤษณะมาใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองทวารวดี”

@@@@@@@

“ทวารวดี” อยู่ใน “เมืองศรีเทพ” .?

ด้าน ศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์” เสนอความเห็นผ่าน เพจ มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ว่าทวารวดีน่าจะมีศูนย์กลางที่ “เมืองศรีเทพ” แม้ว่านักวิชาการหลายคนจะมองว่าเมืองแห่งนี้น่าจะไม่ใช่ศูนย์กลางของทวารวดีก็ตาม เนื่องจากศิลปะโบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างขึ้นในพุทธศาสนา แต่เป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ อย่าง พระกฤษณะ พระวิษณุ ทั้งศรีเทพยังตั้งอยู่ในแม่น้ำป่าสัก ห่างไกลจากแหล่งโบราณสถานสมัยทวารวดีอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณอ่าวไทย

แต่ ศ. ดร. พิริยะ ได้ให้เหตุผลว่า หากเราวิเคราะห์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลป์ จะเห็นว่าศรีเทพเป็นสถานที่โบราณคดีแห่งเดียวที่พบเทวรูปพระกฤษณะ เทพเจ้าในลัทธิไวษณพ ผู้สถาปนากรุงทวารกาหรือทวารวดี ด้านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็พบว่า ทวารวดีเป็นเมืองของพระวิษณุ และเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยา (กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา) ส่วนเรื่องภูมิศาสตร์ ศรีเทพยังตั้งอยู่บนแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ถิ่นฐานเดิมของชาวสยาม

เพราะฉะนั้น “ศรีเทพ” จึงน่าจะเป็นศูนย์กลางของทวารวดีราชธานีแรกของสยาม


อ่านเพิ่มเติม :-
    • วัฒนธรรมทวารวดี ต้นเค้า “เมืองโบราณศรีเทพ” มรดกโลกแห่งล่าสุดของไทย
    • ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เยือน ‘เมืองศรีเทพ’ ถกปมศูนย์กลางทวารวดีจริงหรือ?





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 26 กันยายน 2566
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_118112
อ้างอิง : https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_3089458
26  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / บุกเมืองศรีเทพ การพัฒนาที่โตไม่ทันท่องเที่ยว? เมื่อ: กันยายน 27, 2023, 07:29:42 am
.



บุกเมืองศรีเทพ การพัฒนาที่โตไม่ทันท่องเที่ยว.?

บุกสำรวจ 'เมืองศรีเทพ' มรดกโลกป้ายแดง กับปัญหาการพัฒนาที่ยังโตไม่ทันรับการท่องเที่ยว...

หลังจาก คณะกรรมการมรดกโลก หรือ ยูเนสโก ประกาศให้ 'เมืองโบราณศรีเทพ' และแหล่งต่อเนื่อง ขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้เดินทางไปสำรวจ "เมืองศรีเทพ" จังหวัดเพชรบูรณ์




ค่าเข้าชมเมืองศรีเทพ :

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับเข้าชม ชาวไทย คนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ คนละ 100 บาท และยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมให้แก่พระภิกษุ สามเณร ในพระพุทธศาสนา หรือนักบวชในศาสนาอื่นๆ และหากนำยานพาหนะมาเอง จะต้องเสียค่าจอดรถยนต์ คันละ 50 บาท




เศรษฐกิจคึกคัก :

บริเวณทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีโต๊ะขายของจากชาวบ้าน ที่พากันมาหารายได้ 'พี่ศักดา' ชาวบ้านที่มานั่งขายของตรงทางเข้า บอกกับเราว่า ช่วงหลังจากประกาศ คนมาเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้ขายของได้ดีขึ้น รายได้เริ่มกระจายสู่ชุมชน

ทางด้าน 'ครูต๊ะ' หนึ่งในครูที่พานักเรียนมาออกบูธที่เขาคลังนอก เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า "แต่ก่อนที่นี่จะเงียบมาก ตอนมาบรรจุใหม่ๆ ไม่มีอะไรเลย หลังจากประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็มีคนทยอยเดินทางมามากขึ้น ทางองค์การบริหารได้จัดทำถนน และดูแลความสะอาดเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น และชาวบ้านก็หันมาดูแลรักษาโบราณสถานมากขึ้น"




ปัญหาที่จอดรถ ห้องน้ำ และการจัดการพื้นที่ :

แน่นอนว่าพอมีคนมาท่องเที่ยวเยอะขึ้น ปริมาณรถและผู้คนก็จะมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้วันที่เราเดินทางไปศรีเทพ ดูเหมือนว่า พื้นที่จอดรถของอุทยานฯ จะไม่เพียงพอต่อการรองรับรถยนต์




นอกจากนั้นห้องน้ำของอุทยานฯ ที่อยู่หน้าทางเข้า ก็ยังมีน้อย และอาจจะไม่เพียงพอต่อจำนวนคนที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตเช่นกัน แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสะอาดของห้องน้ำอยู่ตลอด แต่ น้ำที่ใช้ในการกดชักโครกมีสีออกไปทางน้ำตาล ซึ่งทีมข่าวฯ มองว่า นี่เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข



ส่วนเรื่องเศรษฐกิจที่ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า 'ดีขึ้น' ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องแสดงความยินดีด้วยอย่างยิ่ง และสิ่งที่ต้องชื่นชม คือ พ่อค้าแม่ขายทุกคนรักษาความสะอาดของบริเวณนั้นได้ดีทีเดียว แต่ อาจจะต้องมีการจัดระเบียบแผงขายของหน้าอุทยานฯ ให้เรียบร้อยมากขึ้น เพื่อป้องกันการกีดขวางการจราจร



หลังจากสังเกตพื้นที่ด้านหน้าอุทยานฯ เรียบร้อยแล้ว ทีมข่าวฯ ได้ไปขึ้นรถรางเพื่อเข้ามาในเขต อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ด้านในนั้นเต็มไปด้วยผู้คน ที่กำลังชื่นชมร่องรอยอารยธรรมโบราณเหล่านี้

ภายในพื้นที่อุทยานฯ จะมีโบราณสถานหลัก 3 แห่งติดๆ กัน ได้แก่ เขาคลังใน, ปรางค์สองพี่น้อง และ ปรางค์ศรีเทพ โบราณสถานที่สำคัญเหล่านั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากอุทยานฯ




ปัญหาเรื่องการป้องกันโบราณสถาน :

'กนกวรรณ' และ 'ลุงวินัย' สองคนพื้นที่ อ.ศรีเทพ บอกกับทีมข่าวฯ ว่า หลังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมืองนี้ครึกครื้นกว่าเดิม และนักท่องเที่ยวมาเยอะขึ้น แต่ก็ยังมีเรื่องบางอย่างที่ทำให้ทั้งคู่เป็นกังวล...

กนกวรรณ กล่าวว่า เมื่อสักครู่ตอนที่เธอเดินตรงขอบโบราณสถาน ก่อนจะลงมาบนพื้น เธอเผลอเหยียบหินก้อนหนึ่ง แล้วเหมือนหินนั้นจะหลุดออกมา เธอจึงคิดว่าในอนาคตอาจจะต้องไม่ให้คนเดินบนนั้น เพื่อป้องกันความเสียหาย




ด้าน ลุงวินัย พูดถึงเรื่องการดูแลว่า เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ที่จะทำอย่างไรต่อไปกับงานชิ้นนี้ ชาวบ้านไม่มีอำนาจในการดูแลได้ และยังไม่รู้ข้อกำหนดต่างๆ ด้านคนดูแลหรือพนักงานอาจจะยังน้อย จึงทำให้ยังดูแลไม่ทั่วถึง ถึงอย่างนั้นก็ อยากให้ดูแลโบราณสถานให้ดีอยู่เสมอ ไม่อยากให้สูญเสียก่อนแล้วค่อยจัดการ



เหตุการณ์หินหลุดนั้น ดูเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะ 'พี่หนึ่ง' ที่กำลังยืนเฝ้าอุปกรณ์ของทีมงาน ที่มาถ่ายวิดีโอ ณ ศรีเทพ ก็ได้บอกเล่าเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกนกวรรณว่า...

"เท่าที่พี่เห็นตั้งแต่เช้าที่มาถึง คนเดินขึ้นไปเหยียบย่ำกันเยอะมาก เราเห็นกับตาว่ามีคนหนึ่งเหยียบหินแล้วมันเคลื่อนจะหลุดออกมา แต่เขาก็ขยับกลับเข้าที่เดิมนะ

ทางที่ดีไม่ควรจะให้ขึ้นไปเดิน ที่นี่เหมือนยังไม่มีกฎบังคับเรื่องนี้ ยังไม่มีคนคอยดูถึงขนาดนั้น การที่เขาได้เดินดูด้านบนมันก็ดี แต่พี่ว่าอีกหน่อยพัง เพราะว่าคนเหยียบไปย่ำมา" เธอกล่าวกับเราด้วยความกังวล"




พี่หนึ่ง พูดเชิงเป็นข้อเสนอว่า ควรจะมีกฎกติกาการดูแลให้ชัดเจน คนเห็นว่าเป็นพื้นหิน คงคิดว่าเดินได้เลยขึ้นไป แต่ควรตั้งกฎป้องกันว่าให้ดูแค่ข้างนอกดีกว่า…

ส่วน 'ครูต๊ะ' ก็แสดงความห่วงใยต่อโบราณสถานผ่านทีมข่าวฯ ว่า "ไม่ค่อยโอเคที่คนขึ้นไปเดิน หรือไปเหยียบสักเท่าไร เพราะว่าของมันเก่า มันอาจจะพังตอนไหนก็ได้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง และดูแลไปตลอด กลัวแค่จะดูแลกันไม่เต็มที่เท่านั้นแหละครับ ไม่อยากให้ฉาบฉวย"




ปัญหาเรื่องการรับมือนักท่องเที่ยว :

'คุณเปิ้ล' และ 'คุณอ๊อฟ' นักท่องเที่ยวชาวไทยจาก จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่งลงเครื่องกลับจากประเทศอินเดีย และได้เดินทางมาที่ศรีเทพเป็นครั้งแรก

"พอได้มาจริงๆ ก็รู้สึกว่าพื้นที่กว้าง แต่ว่าแต่ละจุดเรายังไม่ค่อยเข้าใจถึงความสำคัญได้มากพอ" คุณอ๊อฟเอ่ย




"จริงๆ ควรจะมีเหมือนป้ายบอกแต่ละจุดว่าคืออะไร เพื่อให้รู้ถึงรายละเอียดที่เพียงพอ แล้วก็อยากให้มีไกด์อธิบายที่โปรมากพอ เหมือนถ้ามีนักท่องเที่ยวหรือต่างชาติเข้ามา การพูดคุยต้องละเอียดหรือสื่อสารกับต่างชาติได้" คุณเปิ้ลกล่าวเสริม

(ปกติแล้วหากได้ไปเที่ยวตามสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ทางอุทยานฯ จะมีการเตรียมแผ่นพับ และคิวอาร์โค้ดไว้ให้ เผื่อนักท่องเที่ยวต้องการข้อมูลที่อาจจะตกหล่นจากไกด์ แต่สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทีมข่าวฯ ไม่พบการแจกแผ่นพับ มีเพียงคิวร์อาโค้ดของแผ่นพับให้แสกนอยู่หน้าทางเข้า - ทีมข่าวฯ)

คุณอ๊อฟ บอกว่า "ไม่อยากให้แตะต้อง หรือเหยียบโบราณสถานนะ เรามองว่ามันสำคัญทุกจุด น่าจะมีการกั้นที่เป็นสัดส่วน"




ความคิดเห็นของทั้งสอง สอดคล้องกับข้อมูลจาก 'คุณเบน' นักท่องเที่ยวจาก จ.สระบุรี เขากล่าวความรู้สึกชื่นชมต่อเมืองศรีเทพให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า เป็นสถานที่ที่แปลกตาจากที่อื่น การปรับภูมิทัศน์ค่อนข้างดี

แต่ยังมี ข้อควรปรับปรุง คือ ความชัดเจนของป้ายบอกทาง หรือป้ายข้ามเข้า ห้ามขึ้น ที่ยังมีขนาดเล็กอยู่ และการให้ข้อมูลของไกด์กับนักท่องเที่ยว ที่เขาเองมองว่ายังไม่เพียงพอ และน่าจะมีข้อมูลที่ลึกว่านี้

นอกจากนั้น คุณเบนยังอยากให้มีการกั้นเขตที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครเหยียบ "ผมก็ไม่รู้ว่ายูเนสโกให้เหยียบไหม แต่จริงๆ มองว่าก็ไม่ควรนะ อุทยานฯ ก็น่าจะต้องดูแลมากกว่านี้ ตรงนั้นยังล้อมไม่ให้เข้าได้เลย ผมมองว่าบริเวณอื่นก็ทำได้ ถ้าเราจะจริงจังกับมัน ก็จัดการไปให้หมดเลย"




สำหรับ ความกังวลของนักท่องเที่ยว และชาวบ้าน อาจจะมีคนตั้งคำถามว่า "เร็วไปหรือไม่" แต่ทีมข่าวฯ กลับคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี นี่แสดงถึงการตื่นรู้และตระหนักต่อมรดกโลกแห่งนี้ เพราะแม้ว่ายูเนสโกจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้ศรีเทพได้ แต่หากเราดูแลกันไม่ดี เขาก็สามารถถอด 'ศรีเทพ' ออกจากรายชื่อมรดกโลกได้เช่นกัน โดยเริ่มต้นจาก "การขึ้นบัญชีรายชื่อในภาวะอันตราย"



อ้างอิงข้อมูลจาก The Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention หรือแนวทางการดำเนินงานเพื่อการดำเนินการตามอนุสัญญามรดกโลก ที่จัดทำขึ้นโดย ยูเนสโก ในหัวข้อ IV.B The List of World Heritage in Danger กล่าวว่า

"ทรัพย์สินที่เป็นมรดกโลกตามกำหนดไว้ในมาตราที่ 1 และมาตราที่ 2 ของอนุสัญญา สามารถขึ้นบัญชีรายชื่อภาวะอันตรายได้ เมื่อพบว่าสภาพทรัพย์สินสอดคล้องกับเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ใน 2 กรณีที่อธิบายไว้ด้านล่าง" โดยทีมข่าวฯ ขอยกเกณฑ์จากข้อ (a) ซึ่งถือเป็นกรณีที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการกระทำของมนุษย์ มาให้ผู้อ่านได้รับทราบในเบื้องต้น




a) อันตรายที่อาจตรวจพบ - ทรัพย์สินต้องเผชิญกับอันตรายเฉพาะเจาะจง และพิสูจน์แล้วว่าอันตรายนั้นใกล้จะเกิดขึ้น ตัวอย่าง:

1) การเสื่อมสภาพอย่างรุนแรงของวัสดุ

2) การเสื่อมสภาพอย่างร้ายแรงของโครงสร้าง และ/หรือ ลักษณะการตกแต่ง

3) การเสื่อมสภาพอย่างร้ายแรงของการเชื่อมโยงทางสถาปัตยกรรม หรือการวางผังเมือง

4) การสูญเสียความถูกต้องทางประวัติศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ




ปัญหาด้านกำลังคนและการคมนาคม :

คำบอกเล่าจากหนึ่งในเจ้าหน้าที่ ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทำให้ทีมข่าวฯ ทราบว่า หลังจากประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนเจ้าหน้าที่และวิทยากรนำชมที่มีเพียงน้อยนิด

สาเหตุที่เจ้าหน้าที่บางคนทำหน้าที่มัคคุเทศก์ แต่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ไม่เพียงพอ เพราะว่าเดิมนั้นไม่ได้ทำหน้าที่นี้โดยตรง แต่เนื่องจากคนขาด จึงต้องดึงฝ่ายอื่นเข้ามาช่วยแทน เจ้าหน้าที่ผู้เล่าสถานการณ์ที่พบอยู่ กล่าวเพิ่มกับทีมข่าวฯ ด้วยน้ำเสียงที่เป็นกังวลว่า "หากมีงบประมาณรอบใหม่เกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่กลับไปทำงานเดิม แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ใหม่มาเพิ่ม ก็จะยิ่งทำไม่ทันเข้าไปอีก"




ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในอุทยานฯ เคยโดนนักท่องเที่ยว 'เหวี่ยง' ใส่มาแล้ว เพราะรถรางมีไม่พอ บวกกับช่วงฝนตกหนัก ทำให้ต้องใช้เวลารอรถนาน พนักงานขับรถรางก็ยังเต็มแบบฝืนๆ ส่วน ลานจอดรถก็ยังไม่พอต่อปริมาณผู้มาเยือน ทำให้เริ่มมีการจอดริมถนน คนโบกรถและยามรักษาการก็ยังไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวมองว่าอุทยานฯ ยังจัดการได้ไม่ดี

แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายกับมรดกโลกน้องใหม่ป้ายแดง แต่เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า "ตอนนี้บางเรื่องยังไม่มีแผนออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็มีการประชุมพูดคุยกันเป็นระยะ ซึ่งต้องรอการสรุปแนวทางต่อไป"




สะพานเดินผ่านโบราณสถานไม่พอ และพื้นดินเละเมื่อฝนตก :

ทีมข่าวฯ เล่าให้เจ้าหน้าที่ฟัง ถึงเหตุการณ์ "หินทางเดินของโบราณสถานจะหลุดออกมา" เจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่า "มันก็แย่เหมือนกัน เพราะเป็นโบราณสถาน แต่เราก็อาจจะต้องแก้ไขโดยการสร้างสะพานให้เขาเดินข้าม"

ไม่ใช่ว่าบริเวณโบราณสถานจะไม่มีสะพานเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวเดินข้าม เพียงแต่สะพานนั้น อาจจะตั้งห่างกันจนทำให้นักท่องเที่ยวไม่สะดวกที่จะเดินไป เห็นได้จากระหว่างที่ทีมข่าวฯ รอรถรางออกตัว…




เจ้าหน้าที่พยายามบอกนักท่องเที่ยวให้เดินลงทางบันไดที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ด้วยความรีบและบันไดอยู่ห่างจากจุดที่ยืนอยู่ จึงทำให้นักท่องเที่ยวพยายามจะลงตรงอื่น

หากใครได้เดินทางไปอุทยานฯ ช่วงที่ฝนตก จะเห็นว่า 'พื้นถนนในอุทยานฯ ค่อนข้างเละ' สาเหตุมาจากเป็นพื้นดินปกติ ไม่ได้มีการเทปูนหรือทำถนนแต่อย่างใด แม้หลายคนจะมองว่าไม่ค่อยสวยงาม แต่เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า

"พื้นที่ถนนอยู่ใจกลางเมืองศรีเทพ ยังมีความสำคัญ และในอนาคตก็อาจจะมีการขุดค้นเพิ่มเติม หากทำถนนก็อาจจะเสียพื้นที่ตรงนั้นไป ตอนนี้หลายคนเลยอาจจะงงว่าทำไมมันเละแบบนั้น แต่ในอนาคตก็ต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น"




การเดินทางสาธารณะที่ยังไม่สะดวก :

วันและช่วงเวลาที่ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่ เราไม่พบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแม้แต่คนเดียว เหตุการณ์นี้ทางเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่า

"ไม่ค่อยมีชาวต่างชาติเดินทางมา อาจจะเพราะว่าไม่มีรถสาธารณะมาถึงตัวอุทยานฯ จะมีเพียงแต่รถโดยสารกรุงเทพฯ-ภูเรือ หรือกรุงเทพฯ-วิเชียรบุรี จะแวะจอดที่ตลาดบ้านกลาง ส่วนรถจากตลาดมาที่อุทยานฯ เห็นมีแต่จักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งราคาก็อาจจะแพงหน่อย ไม่มีรถตู้ หรือรถสองแถวผ่าน"




เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า อยากให้มีรถสาธารณะเพิ่ม เพราะคนก็เรียกร้องกันมาเยอะ ที่ผ่านมาคนเดินทางมาที่นี่น้อย จึงอาจจะไม่คุ้มต่อผู้ลงทุน แต่ตอนนี้คนเดินทางมาเยอะขึ้น คิดว่าทางจังหวัด อำเภอ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็คงจะศึกษาและพัฒนากันต่อไป

ทีมข่าวฯ ได้ลองตรวจสอบราคาของยานพาหนะเพียงอย่างเดียว ที่มีให้บริการตามคำบอกเล่า พบว่าจากตลาดบ้านกลางสู่อุทยานฯ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร มีค่าบริการประมาณ 150 บาท ซึ่งราคาถูกหรือแพงนั้น คงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่าน...

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายจากการคุยกับเจ้าที่หน้าที่ของอุทยานฯ แต่ทีมข่าวฯ เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนและทุกฝ่ายกำลังทำงานหนัก เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง และกำลังหาแนวทางพัฒนา เพื่อปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้นต่อไป...




นายอำเภอเร่งดำเนินการรถรางและมัคคุเทศก์ :

ทีมข่าวฯ ต่อสายตรงหา 'นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์' นายอำเภอศรีเทพ และเล่าความกังวลใจเรื่องโบราณสถานจากนักท่องเที่ยวให้ฟัง นายอำเภอบอกว่า "ในส่วนนี้ เราจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการบูรณะ"



'นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์' นายอำเภอศรีเทพ

ปัญหารถรางและมัคคุเทศก์ ที่ได้พบภายในอุทยานฯ ทางอำเภอทราบเรื่อง และประสานงานทำเรื่องของบกับกรมศิลปากรเรียบร้อย แต่การแก้ปัญหาเบื้องต้นตอนนี้ อาจจะต้องยืมรถรางของอยุธยามาแก้ขัดไปก่อน

ตอนนี้ได้ทำการอบรมมัคคุเทศก์น้อย จำนวน 1,565 คน จากนักเรียน 9 โรงเรียน ซึ่งอาจจะต้องให้อุทยานฯ เปิดการอบรมเพิ่มเติม ให้โรงเรียนส่งนักเรียนที่พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนได้ เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวแล้วไปปรับให้เข้ากับตัวเอง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่อาจจะเดินทางเข้ามาในอนาคต




สำหรับเรื่องการเดินทางสู่อุทยานฯ ตอนนี้ได้ปรับปรุง 2 เส้นทางที่เข้าอุทยานให้เดินทางสะดวกขึ้น ทั้งเรื่องไฟส่องสว่าง และไฟจราจร ในอนาคตอาจจะเพิ่มรถจากตลาดบ้านกลางไปอุทยานฯ เพราะบางคนไม่ได้มาด้วยรถยนต์ส่วนตัว และจะให้หน่วยต่างๆ ร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ เพิ่มที่จอดรถ โดยต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมดูแลตรงนี้ด้วย



ทางด้านการรับมือการท่องเที่ยว นายวีระวัฒน์ เห็นว่า สิ่งสำคัญคือต้องสร้างเอกลักษณ์แต่ละส่วน เช่น ที่พักรูปแบบเดียวกัน ของที่ระลึก หรือลายผ้าประจำอำเภอ ซึ่งตอนนี้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ร่วมสร้างสรรค์ออกแบบ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว



ท่านวีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "อยากให้ประตูด่านแรกของการท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ให้นึกถึงศรีเทพ หรือจะเป็นปราการสุดท้ายหลังจากเที่ยวเพชรบูรณ์เสร็จก็ได้ เราพร้อมรองรับทุกคนอยู่แล้วครับ อยากให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกด้วยกัน"

ผู้ว่าฯ วอนสนับสนุนงบประมาณ :

ด้าน 'นายกฤษณ์ คงเมือง' ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ระบุว่า ทางจังหวัดเคยของบประมาณในการทำพิพิธภัณฑ์ และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไป แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ "ถึงอย่างนั้นเราก็จะผลักดันของบประมาณต่อไป" ผู้ว่ากล่าวสั้น ๆ



'นายกฤษณ์ คงเมือง' ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์

ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ เพื่อรองรับการเติบโตที่จะเข้ามา เบื้องต้น ได้สั่งให้นายอำเภอ และรองผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบดูแล พูดคุย และสอบถามความคิดเห็นจากชาวบ้าน เพื่อสรุปผล และประชุมในระดับจังหวัดต่อไป ส่วนตอนนี้ได้ให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินเขียนผังพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวแล้ว

ส่วนความกังวลของประชาชน ที่มีต่อความสมบูรณ์ของโบราณสถาน ผู้ว่าฯ ให้ความเห็นว่า เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร ที่ทางจังหวัดเข้าไปยุ่งไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อความกังวลนี้ และกล่าวรับเรื่องว่า "ความเสียหายต่อโบราณสถานเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ทางเราจะนำหารือกับกรมศิลปากรต่อไป แต่ในระยะยาวก็ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของกรมศิลปากร ที่จะหาจุดลงตัวให้ได้"




จากความกังวลต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวและคนพื้นที่มีต่อ 'ศรีเทพ' แสดงให้เห็นว่า การตระหนักห่วงใยต่อมรดกโลกเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อรักษาและธำรงคุณค่าจากความพยายามของทุกคนทุกฝ่าย ให้ยังโดดเด่นเป็นสง่าสมชื่อ ศรีเทพ

ทีมข่าวฯ เชื่อว่า ความร่วมมือของหน่วยงานทุกฝ่าย และความพยายามของเจ้าหน้าที่ทุกคน จะทำให้ศรีเทพกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น และผู้คนต่างอยากมาท่องเที่ยว แม้ว่าจากเนื้อข่าว ศรีเทพ ยังมีหลายเรื่องที่รอการปรับปรุง

ถึงอย่างนั้น ก็ยังอยากชวนคนไทยให้ลองไปเยี่ยมเยือน ศรีเทพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและเงินหมุนเวียนให้ประเทศ และไปให้เห็นความยิ่งใหญ่ของมรดกโลกแห่งนี้กับตาของตัวเอง...

                              ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน





Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2727886
26 ก.ย. 2566 06:34 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > THE ISSUE > ไทยรัฐออนไลน์
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
27  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ปริศนาตุ๊กตาหินจีน ‘สตรีถือพัดกับประคำ’ ใช่รูปเคารพ ‘เจ้าแม่กวนอิม’ รุ่นเก่าหรือ เมื่อ: กันยายน 27, 2023, 06:56:08 am




ปริศนาตุ๊กตาหินจีน ‘สตรีถือพัดกับประคำ’ ใช่รูปเคารพ ‘เจ้าแม่กวนอิม’ รุ่นเก่าหรือไม่.?

สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว บนฐานเขียง (ฐานไพที) คือฐานขนาดใหญ่ชั้นล่างสุดของ “สุวรรณเจดีย์” (ปทุมวดีเจดีย์) ภายในกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน

นอกจากจะมีกลุ่มของ “พระศิลาสามองค์” รุ่นเก่าสมัยหริภุญไชยที่ดูประหนึ่งว่ารับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ และดิฉันลองตีความว่าอาจเป็น “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” แล้ว (ด้วยเหตุที่นั่งขัดสมาธิเพชร และทำปางสมาธิ เหมือนกับกลุ่ม “พระอมิตาภะ” ด้านทิศตะวันตกของศาสนสถานบุโรพุทโธ)

ยังพบว่ามีประติมากรรมที่ทำจากหินขนาดเล็กอีกองค์หนึ่ง เป็นรูปสตรี ตั้งแทรกอยู่เป็นลำดับสองจากซ้ายมือ ระหว่างพระหินองค์ใหญ่ที่มุม (องค์ที่มีประภามณฑลด้านหลัง) กับพระหินองค์ย่อม ที่อยู่ถัดไปด้านขวา มองโดยรวมเผินๆ คล้ายว่าเป็นกลุ่มประติมากรรมหิน 4 ชิ้นที่กลมกลืนกัน (ใช้วัสดุหินเหมือนกัน) ทว่าอีกบางมุมกลับดูแปลกแยก ว่าเอาสิ่งที่ขัดแย้งนี้มารวมกันได้อย่างไร



สมัยก่อนจะเห็นประติมากรรมหินทั้งสี่องค์ในระยะไกล ซึ่งตั้งวางเรียงรายบนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์ แต่ปัจจุบันมีทั้งป้ายคำบรรยาย และผ้าห่มองค์พระธาตุพันรอบฐานเขียง แทบจะปิดกั้นการมองเห็นกลุ่มประติมากรรมหินรุ่นเก่าทั้งสี่ชิ้นนี้

พูดง่ายๆ ก็คือ ใครหนอ กล้าเอารูปปั้นผู้หญิงมาแทรกหว่างกลางพระพุทธรูป?

จากหลักฐานภาพถ่ายเก่า อย่างต่ำมีมาแล้วตั้งแต่ปี 2490 ในหนังสือ “พระรอด พระเครื่องสกุลลำพูน” ของ “ตรียัมปวาย” เกจิพระเครื่องชื่อดังรุ่นบุกเบิก ได้เดินทางมาเจาะลึกเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โบราณสถานในลำพูนทุกซอกทุกมุม ได้บันทึกไว้ว่า

ประติมากรรมหิน “สตรี” ที่ดูแปลกแยกนี้ ตั้งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพระหินทั้งสามองค์ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยทั้งหมดย้ายมาจาก “วัดร้างดอนแก้ว” ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง (ปิงเก่า) ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน พร้อมกัน

คำถามคือ ประติมากรรมสตรีขนาดเล็กชิ้นนี้คือรูปอะไร ไทยหรือเทศ เก่าหรือใหม่ มาได้อย่างไร ทำไมจึงถูกจัดวางอยู่ตรงนี้ ใครเป็นผู้นำมารวมไว้กับกลุ่มพระหินสามองค์ที่มีพุทธศิลป์แบบหริภุญไชย?



ประติมากรรมหินรูป “เจ้าแม่กวนอิม” ตามแนวคิดว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่คอยอุปัฏฐาก “พระอมิตาภะ”

สตรีถือพัดกับประคำ คือ “เจ้าแม่กวนกิม” รุ่นเก่า.?

ประติมากรรมสตรีขนาดเล็กชิ้นนี้ อันที่จริงก็มีสภาพไม่ต่างไปจากพระหินสามองค์เท่าใดนัก กล่าวคือถูกเมินเฉย มองข้ามจากสายตาผู้ผ่านทางเสมอ

นักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือน “ปทุมวดีเจดีย์” มักแหงนมองให้ความสนใจเพียงรูปทรง Stepped Pyramid พลางตั้งคำถามว่า เกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับอีกองค์ที่ขนาดใหญ่กว่าในวัดจามเทวี ไม่มีใครเหลียวแลพระหินสามองค์ กับประติมากรรมสตรีจีนขนาดเล็กที่ตั้งเรียงราย 4 องค์นี้ (ด้วยเหตุที่มีการพอกปูนทับจนดูใหม่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในฉบับก่อน)

หรือแม้นจักปรายตามาแลบ้าง ก็มักสรุปในใจว่า เออหนอ! ใครช่างเอาเศษหิน 4 ชิ้นนี้มาประดับที่ฐานเจดีย์ ดูตุ๊กตาหินจีนตัวเล็กนี้ ยิ่งไม่เข้าพวกเอาเสียเลยกับพระหินสามองค์ (ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ดูไม่ออก ว่าเป็นศิลปะที่เก่าถึงสมัยหริภุญไชย ซ้ำยังรับอิทธิพลในสายอินเดียคุปตะอีกด้วย)

ประติมากรรมสตรีชิ้นนี้ สำหรับคนที่พอจะมีความรู้ด้านโบราณคดีอยู่บ้าง ก็จะสรุปในใจว่า น่าจะเป็น “ตัวอับเฉาเรือ” หรือตุ๊กตาซีเมนต์ (เนื้อหิน) ที่ใช้ถ่วงเรือสำเภาจีน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ทรงทำการค้ากับจีน ขาไปเอาสินค้าพวกข้าว ดีบุก ไม้สักไปขาย ขากลับเรือเบาโหวง เพราะซื้อเครื่องถ้วย ผ้าไหมกลับมาถึงราชสำนักสยาม ก็แตกแหลกลาญหมด

ทำให้พ่อค้าจีนจึงนำตัวตุ๊กตาหิน (อันที่จริงหล่อด้วยซีเมนต์) ที่ราคาถูก บรรทุกลงสำเภามาด้วย เพื่อใช้ถ่วงเรือไม่ให้โคลงเคลง



บนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์ มีรูปปั้นตุ๊กตาหินจีนขนาดเล็ก อยู่ลำดับที่ 2 จากซ้าย คนทั่วไปมองข้าม บ้างนึกว่าเป็นเครื่องอับเฉาใช้ถ่วงเรือ

เมื่อถึงสยามเราก็เอาตุ๊กตาหินเหล่านี้มาประดับสวนตามวัด พบได้ทั่วไปที่วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดสุทัศน์ วัดอรุณ เป็นต้น

ตอนแรกดิฉันก็เคยคิดเช่นนั้น ทุกครั้งที่มองตุ๊กตาหินจีนชิ้นนี้ทีไร ใจนึกประหวัดไปถึง “เครื่องอับเฉาเรือ” หรือเครื่องถ่วงน้ำหนักสำเภาสมัยรัชกาลที่ 3 พลางเกิดคำถามว่า “เอ ใครหนอ นำตุ๊กตาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเหล่านี้จากรุงเทพฯ มาประดับให้วัดพระธาตุหริภุญชัย?”

เหตุที่เชื่อเช่นนี้ เพราะบริเวณทางขึ้นหอพระไตรปิฎกของวัด ยังพบ “ตุ๊กตาสิงโตจีน” อีก 1 คู่ ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับสิงโตเครื่องอับเฉาเรือของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยเช่นกัน

ฤๅจะเป็นสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำมาในคราวตรวจราชการมณฑลพายัพ? หรือพระราชชายา เจ้าดารารัศมี นำมาคราวเสด็จนิวัติเชียงใหม่ชั่วคราวในปี 2464? หรือพลตรีเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ นำมาคราวเคยลงไปเข้าเฝ้าฯ ในพิธีถวายน้ำพระพิพัฒน์สัตยา? หรือ…ใครเอ่ย เป็นผู้นำมา

ที่แน่ๆ ประติมากรรมจีนเหล่านี้ ต้องเป็นเครื่องอับเฉาเรืออย่างไม่มีข้อแม้

บุคคลผู้ทำให้ดิฉันเปลี่ยนมุมมองใหม่ ก็คือ “พี่แอ๊ว – ณัฏฐภัทร จันทวิช” อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร (ผู้ล่วงลับ) ท่านเคยเป็นอดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มักแวะมาเสวนาวิชาการกับดิฉันอยู่เสมอ

ปี 2546 พี่แอ๊วได้พานักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเจดีย์ (หรือจะเรียกให้เฉพาะทางเลยก็ได้ว่า “นักเจติยวิทยา”) ชาวออสซี่ ชื่อ ดร.เอเดรียน สน็อตกร๊าด (Prof. Dr. Adrian Snotgrad) มาพบดิฉันที่ลำพูน เพื่ออยากแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสถูปเจดีย์ต่างๆ รวมทั้งประเด็นที่พี่แอ๊วอยากนำเสนอ ดร.เอเดรียน ก็คือ “ตุ๊กตาหินจีน” ชิ้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพระหินสมัยหริภุญไชยสามองค์ บนฐานเขียงปทุมวดีเจดีย์


@@@@@@@

“ดิฉันสงสัยจริงๆ ว่าใครเอาประติมากรรมชิ้นนี้มา เพราะเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิมรุ่นเก่า ถูกต้องตามหลักประติมาณวิทยา ที่ระบุว่าเจ้าแม่กวนอิมสมัยราชวงศ์ถังนั้นจะถือสัญลักษณ์ 2 สิ่งคือ พัดกับประคำ ซึ่งต่อมาสัญลักษณ์ทั้งสองนี้ ค่อยๆ เลือนหายไป รูปเจ้าแม่กวนอิมยุคหลังๆ มักถือสัญลักษณ์สิ่งอื่น”

ดร.เอเดรียน ครุ่นคิดตามสิ่งที่คุณณัฏฐภัทรนำเสนอ จากนั้นเราทั้งสามก็เข้าไปขอข้อมูลจาก “ตุ๊ลุงเจ๋” หรือ พระเจติยาภิบาล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย และเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ที่กุฏิของท่านในคณะหลวง เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประติมากรรมหินจีนดังกล่าว

ได้คำตอบว่า รูปปั้นหินทั้ง 4 ชิ้นนี้ (พระหินสาม + เจ้าแม่กวนอิม) ถูกโยกย้ายใส่ล้อเลื่อนมาพร้อมกันจากวัดร้างดอนแก้ว ไม่ใช่กรมพระยาดำรงหรือเจ้าหลวงจักรคำ ไปนำมาจากรุงเทพฯ แต่อย่างใดไม่ ทั้งหมดอยู่วัดดอนแก้วด้วยกันนานมากแล้ว

“ตอนบูรณะพระหินใหญ่สององค์ครั้งแรก (ปี 2478) ชาวบ้านที่อยู่แถววัดดอนแก้วก็บอกว่า หากจะย้ายพระพุทธรูปหินสององค์ใหญ่ไปไว้ที่อื่น อย่าเอาไปองค์เดียว ต้องยกไปเป็นเซ็ต เพราะท่านมาด้วยกัน 4 องค์ คือพระหินสามองค์กับเจ้าแม่กวนอิมอีกองค์ แต่ทีนี้ช่วงนั้น พระหินองค์เล็กยังไม่ได้ซ่อม (บูรณะตามมาในปี 2483) พระทั้งสี่องค์จึงต้องฝากไว้ที่วัดดอนแก้วก่อน กระทั่งเมื่อบูรณะพระหินครบสามองค์แล้ว เจ้าคุณวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ก็ให้ย้ายพระหินมาทั้งสามองค์ โดยปราชญ์ชาวบ้านแถวนั้นกำชับว่า หากจะย้ายไป ต้องเอาเจ้าแม่กวนอิมไปด้วย”

ประโยคของท่านเจ้าคุณเจ๋ มีความน่าสนใจ 2 ประเด็น

1. ตุ๊กตาหินจีนนี้ ในการรับรู้ของคนลำพูนรุ่นก่อนก็เรียกว่า “เจ้าแม่กวนอิม” กันมานานแล้วล่ะหรือ?

2. ประติมากรรมหินทั้งหมด (3+1) ไปไหนต้องไปด้วยกันเป็นเซ็ต อย่าให้พรากจากกัน เพราะของเดิมเขาอยู่กันเป็นกลุ่ม 4 องค์แบบนี้มานานแล้ว




ตอกย้ำนิกายสุขาวดีในหริภุญไชย.?

นั่นคือข้อมูลเก่าตั้งแต่ 20 ปีก่อน ที่ดิฉันรับทราบด้วยความงุนงง ทั้งจากคุณณัฏฐภัทร และจากท่านตุ๊ลุงเจ๋ จำได้ดีก้องหูไม่รู้ลืม ในคำพูดของพี่แอ๊วที่ว่า

“ฝากดูแลเจ้าแม่กวนอิมให้ดีด้วยนะน้องเพ็ญ ถือพัดกับประคำแบบนี้หายากมากๆ พี่แอ๊วเองก็ไม่ทราบว่าเจ้าแม่กวนอิมรุ่นเก่านี้สร้างเมื่อไหร่ มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ยิ่งองค์เล็กๆ อยู่ด้วย เกรงจะชำรุดสูญหาย น่าแปลกจริงๆ ที่ในดินแดนหริภุญไชย มีการทำรูปเจ้าแม่กวนอิม จัดวางคู่กับพระหินสามองค์ที่รับอิทธิพลศิลปะสมัยคุปตะ?”

ดิฉันก็ไม่รู้ว่าจะปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน อย่างน้อยให้ตัวเองเข้าใจได้อย่างไรดี กระทั่งเพิ่งมานึกเอะใจกับลักษณะท่านั่ง “ขัดสมาธิเพชร” + “ปางสมาธิ” ของพระหินทั้งสามองค์ ว่าน่าจะมีกลิ่นอายแบบพุทธมหายานนิกายสุขาวดี

จึงลองตั้งข้อสมมุติฐานเบื้องต้นดูว่า หากพระทั้งสามองค์นี้ ผู้สร้างตั้งใจสื่อให้เป็น “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” ได้หรือไม่

ความหมายของ “พระอมิตาภะ” คืออะไร คือพระธยานิพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ตามความเชื่อของชาวพุทธมหายาน ที่เริ่มมีแนวคิดนี้จากนิกายวัชรยานในกลุ่มอินเดียเหนือสืบต่อลงไปถึงศรีวิชัย กับอีกสายขึ้นไปยังทิเบต จีน เรียกนิกายแยกย่อยนี้ว่า “นิกายสุขาวดี” เน้นการนับถือพระอมิตาภะพุทธเจ้าเหนือกว่าพระธยานิพุทธเจ้าองค์อื่นๆ

ในทางพุทธมหายาน นิยมทำพระอมิตาภะ นั่งสมาธิประดับบนมวยผมของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” แต่ในสายจีน ทิเบต กลุ่มนิกายสุขาวดีที่นับถือพระอมิตาภะอย่างเข้มข้น จักทำรูปเคารพของพระองค์แยกออกมาเดี่ยวๆ และทำพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประกบคู่อีกองค์


@@@@@@@

บางยุคสมัย นิยมทำพระโพธสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิม เช่น ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะตอนปลาย (ทวารวดีและหริภุญไชยตอนต้นด้วย) มีความเชื่อว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม จักคอยอุปัฏฐาก พระอมิตาภะพุทธเจ้า

ดังนั้น เมื่อทำรูปพระอมิตาภะพุทธเจ้าเสร็จ มักมีรูปโพธิสัตว์กวนอิมในร่างสตรีไว้ด้วยอีกองค์ ให้คอยรับใช้ดูแล โดยกำหนดให้โพธิสัตว์กวนอิมถือพัดกับประคำ

“ถ้ารูปปั้นผู้หญิงองค์เล็กนี้ไม่ใช่เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ใครจะกล้าให้เอารูปผู้หญิงไปตั้งประกบท่ามกลางพระเจ้า (พระพุทธรูป) อันศักดิ์สิทธิ์เล่า คนล้านนาเขาจะฮ้องว่าขึด!” ถ้อยคำของตุ๊ลุงเจ๋ยังอยู่ในความทรงจำ

ดิฉันมิอาจการันตีได้เลยว่า รูปเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากหินชิ้นนี้ สร้างเมื่อไหร่ เก่าถึงยุคไหน ที่แน่ๆ ประเด็นเรื่องตัวอับเฉาเรือจากรัตนโกสินทร์นี่ ตัดทิ้งไปได้เลย

เหตุที่ไม่เคยมีตัวอย่างให้ศึกษาเปรียบเทียบว่าเครื่องแต่งกายชนิดที่มีกระดุมกุ๊นเรียงเป็นสาบหน้าแบบนี้ ในงานศิลปะจีนนั้นนิยมทำกันยุคไหน จะเก่าถึงสมัยราชวงศ์อะไรได้บ้าง ถ้าเป็นเจ้าแม่กวนอิมจริง ท่านเข้ามาอยู่ในลำพูนได้อย่างไร ใครเอามาถวายให้กับวัดดอนแก้ว

สิ่งที่คาใจมากที่สุดคือประเด็น ทำไมจึงกล่าวกันว่า พระหินสามองค์กับเจ้าแม่กวนอิม ห้ามแยกออกจากกันเด็ดขาด ไปไหนต้องไปเป็นกลุ่ม ฤๅทฤษฎีที่ว่า พระหินกลุ่มนี้คือองค์แทนของพระอมิตาภะในนิกายสุขาวดี จักมีเค้าลางว่าน่าจะเป็นจริง เพราะมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมมาสนับสนุน? •

 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน   : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_713903
28  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย เมื่อ: กันยายน 27, 2023, 06:36:52 am

.



อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย

อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย มีหลักฐานเริ่มแรกความเป็นมาของอโยธยาราว พ.ศ.1600-1700 พบวรรณกรรมไทยในอโยธยาราว พ.ศ.1778 แต่สุโขทัยมีพัฒนาการหลังจากนั้นราว 100 ปี

แต่ชนชั้นนำสมัยชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย นับแต่นั้นมาเมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายจากความทรงจำของไทย

กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมากกว่า 100 ปีมาแล้ว จากนั้นถูกสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเพื่อใช้ครอบงำสังคมไทย ผ่านสถานศึกษาทุกระดับ และผ่านสื่อสารพัดทั้งของราชการและของเอกชน ยังมีอิทธิพลสืบเนื่องจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างใหม่เรื่องกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เสมือนเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ หมายถึงคิดต่างไม่ได้ หรือคัดค้านไม่ได้ว่าสุโขทัย “ไม่ใช่” แห่งแรก หากละเมิดหรือคิดต่างจะถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน เท่ากับต้องอยู่ยาก



สุโขทัยเป็นเมืองสมัยหลังอโยธยา แต่ถูกสร้างใหม่เป็น “แดนเนรมิต” สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย สนองการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” (ภาพกลางเมืองสุโขทัย ที่ถูกทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว)

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองแบบประชาธิปไตย มีนักค้นคว้าและนักวิชาการทั้งไทยและสากลศึกษาค้นคว้าวิจัย พบว่ากรุงสุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรกของไทย โดยสรุปดังนี้

(1.) ไม่พบหลักฐานวิชาการสนับสนุนว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

(2.) ที่ว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ถูกสร้างขึ้นลอยๆ เพื่อหวังผลโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติ” เรื่องคนไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์

(3.) กรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย ถูกสร้างทางการเมืองให้เป็น “รัฐในอุดมคติ” แต่วิชาการสากลไม่เชื่อถือ ในที่สุดกรุงสุโขทัยกลายเป็น “แดนเนรมิต” ที่ตลกขบขันของวงวิชาการสากล

กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย มีเหตุจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักฐานวิชาการหลายอย่างเกี่ยวเนื่องกัน ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเหล่านั้น ศรีศักร วัลลิโภดม นักปราชญ์สยามประเทศ (บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ประมวลข้อมูลทั้งหมดเป็นบทความวิชาการเมื่อ 42 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ.2524 เรื่อง ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.2524 หน้า 5-14)

(4.) หลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา สนับสนุนหนักแน่นว่าอโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย ดังนั้น อโยธยาเป็นเมืองตั้งต้นคนไทย, ภาษา ไทย และประเทศไทย

(5.) ชนชั้นนำต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ถ้ายอมรับอโยธยาเป็นเมืองมีอายุเก่าแก่กว่าก็เท่ากับสุโขทัยไม่เป็นราชธานีแห่งแรก ย่อมกระทบเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่เพิ่งสร้าง ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย ฯลฯ ดังนั้น เมืองอโยธยาต้องถูกด้อยค่าและถูกบังคับสูญหายจากความทรงจำ ทำให้สังคมไม่รู้จัก หรือรู้จักน้อยเกี่ยวกับเมืองอโยธยา ด้วยการไม่กล่าวถึงเมืองอโยธยาในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย



อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย พบหลักฐานในอโยธยาว่าเป็นเมืองตั้งต้นคนไทยและภาษาไทย แล้วไฉนจะทำลายเมืองอโยธยาด้วยรถไฟความเร็วสูง? แผนที่พระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน แสดงพื้นที่ในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ที่ตั้งเมืองโบราณทับซ้อนกัน 2 เมือง ได้แก่ (ขวา) อโยธยา (เมืองเก่า) เริ่มมีราว พ.ศ.1600 บริเวณที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง (ซ้าย) อยุธยา (เมืองใหม่) แรกมีราว พ.ศ.1893 (ปรับปรุงจากแผนที่ฯ ของกรมศิลปากร พ.ศ.2558)

สุโขทัยราชธานีแห่งแรก ไม่มีอีกแล้วในหนังสือกรมศิลปากร

“สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทยไม่มีในเล่มนี้” พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร บอกผู้ฟังเมื่อหลายปีมาแล้วในงาน “เปิดตัว” หนังสือสุโขทัยเมืองพระร่วง (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2562) ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เท่ากับจะให้หมายความว่า “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย”

“สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ยังถูกตัดออกไปไม่มีให้เห็นในงานอื่นๆ ของกรมศิลปากร ดังนี้

1. “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ไม่มีให้เห็นอีกแล้วในงานนิทรรศการพิเศษของกรมศิลปากร เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2562

2. “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ไม่มีให้เห็นอีกแล้วในหนังสือเล่มล่าสุดของกรมศิลปากร ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ เรื่อง “นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม-25 ตุลาคม 2562

เมื่อหลายปีก่อน กรมศิลปากรพยายามหลีกเลี่ยงวลี “สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” แต่ไปไม่สุด เพราะยังออกอาการเขื่องๆ อย่างคลุมเครือโดยใช้ข้อความว่า “สุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกที่ถือว่าเป็นอาณาจักรของคนไทย” ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 76)

อาณาจักร เป็นคำแสดงความหมายพื้นที่อำนาจที่มีกว้างขวางเกินประมาณ เช่น อาณาจักรโรมัน เป็นต้น แต่สุโขทัยมีพื้นที่อำนาจแคบๆ ระดับรัฐหรือนครรัฐเท่านั้น (ยังห่างชั้นคำว่าอาณาจักร) แต่ประวัติศาสตร์ไทย มัก “เว่อร์” เรียกอาณาจักรทุกแห่ง นอกจากนั้นช่วงเวลาร่วมสมัยมีหลายรัฐที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง ได้แก่ รัฐหลวงพระบาง เป็นต้น

ตั้งแต่ พ.ศ.2562 กรมศิลปากรไม่เรียกอีกแล้วว่าสุโขทัยเป็น “อาณาจักรแรกๆ” แต่เรียก “รัฐสุโขทัย” (ในหนังสือ นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 39) เท่ากับกลับคืนอยู่ในร่องในรอยทางวิชาการสากล •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_713961
29  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สุโขทัย ‘ไม่ใช่’ ราชธานีแห่งแรก อโยธยา ต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย เมื่อ: กันยายน 26, 2023, 07:19:44 am
.



สุโขทัย ‘ไม่ใช่’ ราชธานีแห่งแรก อโยธยา ต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย

โครงการถไฟความเร็วสูง ต้องมีโครงสร้างฐานรากขนาดใหญ่ผ่าเมืองอโยธยา ซึ่งเท่ากับทำลายหายสูญความเป็นเมืองต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา และเมืองต้นกำเนิดความเป็นไทย, ภาษาไทย และความเป็นประเทศไทย

แต่สังคมไทยถูกครอบงำด้วยประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” ว่า “กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” หมายถึงต้นกำเนิดความเป็นไทย, ภาษาไทย, อักษรไทย และต้นกำเนิดประเทศไทย

กรุงสุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรกของไทย แต่ถูกสร้างให้เป็นราชธานีแห่งแรกของไทยเพื่อสนองการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” เรื่องนี้ ศรีศักร วัลลิโภดม “นักปราชญ์ร่วมสมัย” (บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ และอดีตอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) มีคำอธิบาย 42 ปีที่แล้ว เมื่อ พ.ศ.2524 จะคัดตัดตอนเฉพาะที่สำคัญมาดังนี้

ประวัติศาสตร์ไทย สมัยก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา ถ้ามองกันตามความก้าวหน้าของแนวคิด ทฤษฎี เทคนิค และวิธีค้นคว้าตามหลักวิจัยในวิชาสังคมศาสตร์แล้วเป็นเรื่องราวที่ล้าสมัย สร้างขึ้นจากหลักฐานที่มีไม่เพียงพอ แต่ว่าตีความหมายเกินเลยไปตามความลำเอียง และแนวการศึกษาที่แคบไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของผู้ที่เรียกว่านักประวัติศาสตร์ในสมัยก่อน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนักประวัติศาสตร์เหล่านั้นท่านเอาแนวความคิดในเรื่องเชื้อชาติเข้าไปปะปนกับเรื่องวัฒนธรรม


@@@@@@@

ปัจจุบันความเชื่อในเรื่องเชื้อชาตินั้น นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เห็นพ้องกันแล้วว่าเป็นความเชื่อที่เหลวไหล พิสูจน์อะไรไม่ได้ แต่มีผลทำให้เกิดความขัดแย้งกีดกันและฆ่าฟันกันในสังคมของมนุษย์ ดังเช่นพวกเยอรมันสมัยนาซีทารุณและฆ่าฟันพวกยิว เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงใคร่เสนอว่าพวกเราซึ่งเป็นนักศึกษาที่ใฝ่หาข้อเท็จจริงควรจะหันมามองประวัติศาสตร์ไทยกันใหม่ และเริ่มทำการค้นคว้าวิจัยกันใหม่…หรือยัง?

การนำเชื้อชาติเข้ามาปะปนกับเรื่องวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ไทยนั้นพอจะแยกปัญหาออกมาเป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน และแต่ละเรื่องก็มีความเกี่ยวเนื่องกันดังต่อไปนี้

(1.) เรื่องการอพยพของชนชาติไทยจากดินแดนประเทศจีนลงสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
(2.) เรื่องประชาชนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยก่อนที่ชนชาติไทยจะอพยพลงมา เป็นชนชาติมอญและเขมร
(3.) เรื่องการก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทยในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน
(4.) เรื่องพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อพยพผู้คนหนีโรคระบาดจากเมืองอู่ทองมาสร้างพระนครศรีอยุธยา

ปัญหาทั้ง 4 เรื่องนี้ สองเรื่องแรกเป็นสาเหตุที่นำเอาความเชื่อในเรื่องเชื้อชาติเข้ามาปนกับวัฒนธรรม ส่วนสองเรื่องหลังเป็นผลที่สืบเนื่องมาจาก 2 เรื่องแรก

@@@@@@@

สุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรก

เรื่องการตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทย ประวัติศาสตร์ตอนนี้มีอย่างย่อๆ ว่าชนชาติไทยอพยพเข้ามาในดินแดนประเทศไทยแล้วแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 มาอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพวกขอม ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงชาวไทยที่อยู่ทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันมีพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ได้ขับไล่ขุนนางขอมที่ปกครองเมืองสุโขทัยได้สำเร็จ แล้วตั้งตัวเป็นอิสระ มีพ่อขุนบางกลางหาวปกครองกรุงสุโขทัย ทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่นั้นมาอำนาจของสุโขทัยก็แผ่ไปทั่วดินแดนในประเทศไทย จึงถือกันว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของเมืองไทย

เรื่องราวประวัติศาสตร์ตอนนี้ นักประวัติศาสตร์ท่านสร้างขึ้นจากข้อมูล 2 อย่างด้วยกัน

   - อย่างแรก เป็นเรื่องสมมุติขึ้นตามความเชื่อในเรื่องเชื้อชาติ และทฤษฎีในเรื่อง ชัยชนะ คือเรื่องที่ว่าคนไทยอพยพเข้ามาในดินแดนประเทศไทย แต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 แล้วเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจขอม เรื่องดังกล่าวนี้ไม่มีอยู่ในหลักฐานทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเลย

   - ข้อมูล อย่างที่สอง คือเรื่องเกี่ยวกับพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนบางกลางหาว และการก่อตั้งกรุงสุโขทัยนั้นมีอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 2 ของกรุงสุโขทัย


@@@@@@@

แต่ในเรื่องราวที่มีอยู่ในศิลาจารึกนั้นไม่มีอะไรเพียงพอเลยที่จะระบุว่าพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัยจากขุนนางขอมที่กรุงกัมพูชาส่งมาปกครองดินแดนในประเทศไทย หรืออีกนัยหนึ่งจารึกไม่ได้กล่าวเลยว่าการรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัย และการขึ้นครองราชย์ของพ่อขุนบางกลางหาวนั้นเป็นการที่คนไทยตั้งตัวเป็นอิสระจากพวกขอม นักประวัติศาสตร์ท่านมีความลำเอียงและเชื่อในเรื่องเชื้อชาติและทฤษฎีแห่งชัยชนะอยู่แล้ว พอพบอะไรในจารึกที่เกี่ยวกับขอมหน่อยก็เลยลากเอาไปเข้าเป็นเรื่องเป็นราวปะติดปะต่อกับสิ่งที่ตนคิดไว้ก่อนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงละเลยข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ในจารึกที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องเสีย

อันที่จริงถ้านักประวัติศาสตร์ท่านไม่หลงในเรื่องเชื้อชาติและทฤษฎีแห่งชัยชนะแล้ว และพิจารณาข้อมูลในศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ 2 และหลักอื่นๆ ตลอดจนเอกสารในด้านตำนานและพงศาวดารให้ดีแล้วก็น่าจะพบเรื่องราวการรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัยของพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวนั้น ตีความได้แต่เพียงว่าเป็นการรบพุ่งชิงบ้านเมืองกันเองในระหว่างบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัยในดินแดนประเทศไทยเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องในเรื่องการที่กรุงกัมพูชามีอำนาจปกครองดินแดนในประเทศไทยไม่ การเกี่ยวข้องกับกรุงกัมพูชานั้นเป็นในด้านไมตรีและการแต่งงานระหว่างกษัตริย์ในดินแดนประเทศไทยกับกัมพูชาเท่านั้น



“แดนเนรมิต” สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย สนองการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” (ภาพกลางเมืองสุโขทัย ที่ถูกทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว)

อยุธยา มีต้นกำเนิดจากอโยธยา

เรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคระบาดมาสร้างพระนครศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ตอนนี้ ต่อเนื่องมาจากประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย พอสรุปได้โดยย่อว่าในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ของชาวทางใต้กรุงสุโขทัยที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันมีพระเจ้าอู่ทองทรงครองอยู่ ณ เมืองอู่ทอง ได้รวบรวมผู้คนไว้มีกำลังกล้าแข็ง ตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงสุโขทัย

ต่อมาเมื่อเมืองอู่ทองเกิดกันดารน้ำมีโรคระบาดผู้คนล้มตาย พระเจ้าอู่ทองต้องทรงอพยพผู้คนมาสร้างเมืองใหม่ในเขตเมืองอโยธยาร้าง ซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่านของขอมอยู่ก่อน ทรงสร้างเมืองอยู่ 3 ปี ก็แล้วเสร็จใน พ.ศ.1893 ขนานนามราชธานีว่ากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยามีอำนาจแผ่ขยายอาณาเขตกว้างขวางในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) นั้น ปรากฏมีหัวเมืองขึ้นมากมายสามารถยกกองทัพไปปราบปรามอาณาจักรกัมพูชาไว้ได้ แม้ทางกรุงสุโขทัยเองสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยยังต้องทรงขอเป็นไมตรีด้วย


@@@@@@@

ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้ ถ้าหากนักประวัติศาสตร์ท่านไม่ งมงายในเรื่องทฤษฎีแห่งชัยชนะจนเกินไปแล้ว และหันมาศึกษาแปลความกันตามหลักฐานที่ศิลาจารึก ตำนาน พงศาวดาร ตลอดจนลักษณะตำแหน่งที่ตั้งของโบราณสถานวัตถุและเมืองโบราณแล้ว ท่านก็น่าจะพบว่ากรุงศรีอยุธยานั้นเป็นแคว้นหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามานานแล้วก่อนการสร้างเมืองอยุธยาเสียอีก เป็นแคว้นที่มีวัฒนธรรมศิลปกรรมในทางพุทธศาสนาคติหินยานสืบเนื่องเรื่อยมาแต่สมัยทวารวดีและลพบุรี

ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งเลยว่าพระเจ้าอู่ทองตลอดจนผู้คนของพระองค์ที่เป็นชาวอยุธยานั้น เป็นชาวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนขอมทางตอนใต้ของกรุงสุโขทัยแล้วขับไล่ขอมออกไป และต่อมาก็ประกาศเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงสุโขทัย

ถ้าหากเราเชื่อว่าแต่เดิมมีพวกมอญและขอมครอบครองดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อนแล้ว พระเจ้าอู่ทองและประชาชนของท่านก็น่าจะเป็นลูกหลานของพวกมอญและขอมนั้น คงไม่ใช่คนไทยที่อพยพมาจากดินแดนในเมืองจีนอย่างแน่นอน

สรุปแล้ว สุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรกของไทย จึงไม่เป็นแหล่งกำเนิดอะไรๆ ที่เป็นไทยๆ เพราะอโยธยาต่างหากที่เป็นต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย ดังนั้น เมืองอโยธยามีความหมายสำคัญมากต่อความเป็นประเทศไทย •

 




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กันยายน 2566
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_712280
30  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เตรียมจัด “นั่งสมาธิ” บันทึกสถิติโลก งานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุฯ เมื่อ: กันยายน 26, 2023, 06:54:25 am




เตรียมจัด “นั่งสมาธิ” บันทึกสถิติโลก งานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุฯ

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เตรียมจัดงาน สมโภชพระอาราม ครบ 338 ปี วันที่ 27 ธ.ค.2566 – 2 ม.ค.2567

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีการแถลงข่าวสมโภชพระอาราม ครบ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  โดยพระพรหมวชิราธิบดี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ กล่าวว่า  ปี 2566นี้ วัดมหาธาตุฯ จะมีอายุครบ 338 ปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ผู้ได้สร้างวัดมหาธาตุฯให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของอนุชนคนรุ่นหลัง เป็นจุดเริ่มต้นของการสอนวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน 4

ดังนั้นคณะสงฆ์วัดมหาธาตุฯ และคณะศิษยานุศิษย์จึงจัดให้มีการสมโภชพระอารามขึ้น ในวันที่ 27 ธ.ค.2566 – 2 ม.ค.2567 ภายใต้ชื่อ “งานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนาพระอารามแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2326 เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎก มีการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยแห่งแรกขึ้น นับเป็นวัดแรกที่ใช้นาม “วิทยาลัย” ในประเทศไทย จากมหาธาตุวิทยาลัย สู่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

การจัดงานดังกล่าวเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา ใน ปี 2567 และเพื่อรำลึกถึงบูรพพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์และเหล่าบูรพาจารย์ ที่ได้สร้างและทำนุบำรุงวัดมหาธาตุฯ ให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ภายในงานจะมีการปฏิบัติธรรมเจริญจิตตภาวนา กิจกรรมสั่งสมเสบียงบุญ สวดมนต์ข้ามปี เจริญสมาธิพร้อมกันทั่วโลก หรือการนั่งสมาธิที่มีจำนวนคนเข้าร่วมมากที่สุดในโลกเพื่อบันทึกสถิติลงใน Guinness World Records ด้วย


@@@@@@@

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ.ร่วมสืบสานให้วัดมหาธาตุฯ เป็นจุดหมายแห่งการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ ภายในวัดมี 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัด ได้แก่

- พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ (พระเจดีย์ทอง)
- พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานใหญ่ในพระอุโบสถ
- บวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- พระประธานศิลาแลง (หลวงพ่อหิน) พระประธานในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุ) ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารหลวง
- และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งพระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ มาปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุฯ เมื่อปี 2361 ปัจจุบันมีอายุ 205 ปี     

นางฐนิวรรณ กุลมงคล กรรมการอำนวยการจัดงาน กล่าวว่า ภายในงานสมโภชพระอารามหลวงครบ 338 ปี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีการจัดการแสดง ILLUMINATE LIGHTING SHOW โดยการใช้แสง สี และ MAPPING ใน Concept “การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา : JOURNEYING THROUGH LIGHT OF WISDOM”

การแสดง  ILLUMINATE WITH THAI JAZZ CONCERT ดนตรีที่เชื่อมโยงความงามของวัฒนธรรมไทย ประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความผูกพันและศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนากับสังคมไทยใน Concept “MINIMAL MUSIC” : ดนตรีเล่าเรื่อง โดยเป็นการจัดการแสดง คอนเสิร์ตผสมผสานกับ Mapping Laser Building ลงไปที่ตัวอาคารตามจังหวะเสียงดนตรี

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่องงานของพระธรรมทูต , นิทรรศการทางการศึกษาของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ และการจัดแสดงนิทรรศการ 338 ปี วัดมหาธาตุฯ 





Thank to : https://www.dailynews.co.th/news/2751593/
25 กันยายน 2566 19:32 น. | การศึกษา-ไอที   
31  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดมหาธาตุฯ แถลงข่าวจัด งานสมโภชพระอารามหลวง 338 ปี เมื่อ: กันยายน 26, 2023, 06:47:32 am




วัดมหาธาตุฯ แถลงข่าวจัด งานสมโภชพระอารามหลวง 338 ปี
เตรียมพบงานบุญใหญ่ ส่งท้ายปี วัดมหาธาตุฯ แถลงข่าวจัด งานสมโภชพระอารามหลวง 338 ปี วางการแสดงสุดอลังการ รับนักท่องเที่ยว

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร แถลงข่าวการจัดงานสมโภชพระอารามหลวง ครบ 338 ปี โดยมี พระพรหมวชิราธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วยผู้แทนจากหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันจัดงานในปี 2566 นี้ เช่น ททท. กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม, สน.ชนะสงคราม, สำนักนายกฯ, กรมการศาสนา, กทม.




ไฮไลท์สำคัญสำหรับการจัดงานในปีนี้ ทางคณะผู้จัดงานเตรียมการแสดง แสง Illuminate lighting show ซึ่งจะเป็นการใช้ สี แสง มา Mapping ในคอนเซ็ป Journeying through light of wisdom หรือ การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา

การแสดงดนตรีเชื่อมโยงวัฒนธรรมไทย ผ่านดนตรีแจ๊ส ในการแสดงชุด Illuminate with thai jazz concert หัวข้อดนตรีเล่าเรื่อง ในคอนเซ็ป Minimal Music เครื่องดนตรีน้อยแต่เห็นภาพและสร้างสรรค์ ซึ่งจะถ่ายทอดผ่านการ Mapping แสง สี ไปที่ตัวอาคาร เคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี




นอกจาก 2 การแสดงข้างต้น ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมอีกหลากหลาย, มีตลาดย้อนยุค, มีตลาดงานคร๊าฟ, การสวดมนต์ข้ามปีในวันขึ้นปีใหม่ ตอนนี้วางแผนเบื้องต้นไว้ว่า ในงานจะมีมัคคุเทศน์ หลายภาษาคอยให้ความรู้เกี่ยวกับวัดด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 66 - 2 ม.ค. 67 รวม 7 วัน

งานนี้ ทางคณะผู้จัดการ หมายมั่นปั้นมือ ให้สามารถกระจายการรับรู้ถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้นักท่องเที่ยว บอกเล่าวัฒนธรรมอันดีของไทย ในด้านของศาสนา, เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย เปิดให้คนได้ทำความรู้จักกับวัดมหาธาตุฯแห่งนี้มากขึ้น

งานใหญ่ๆแบบนี้ พลาดไม่ได้นะครับ ปักหมุดรอได้เลย




Thank to : https://www.ejan.co/general-news/0c16o8ncys
พิพรรธ ไทยเล็ก (เล็ก อีจัน) | เผยแพร่เมื่อ : 25 ก.ย. 2023, 19:38 1 นาทีในการอ่าน
32  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ขับรถทางไกลแล้วดับเครื่องทันที เครื่องยนต์พังจริงหรือ.? เมื่อ: กันยายน 25, 2023, 08:39:08 am
.



ขับรถทางไกลแล้วดับเครื่องทันที เครื่องยนต์พังจริงหรือ.?

หลายคนมีความเชื่อว่าหากขับรถทางไกล หากจอดรถแล้วไม่ควรดับเครื่องยนต์ในทันที เพราะจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

ความเชื่อดังกล่าวถือเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน ว่าหากขับรถระยะทางไกลๆ หรือใช้รอบเครื่องยนต์สูงเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบที่พบได้ในรถกระบะทั่วไป ควรปล่อยให้เครื่องยนต์อยู่ในรอบเดินเบาประมาณ 2-3 นาทีก่อนดับเครื่องยนต์ มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้เครื่องยนต์หรือแกนเทอร์โบเสียหายได้



ผลจากความเชื่อที่ว่านั้น ทำให้เจ้าของรถบางรายนำรถไปติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า Turbo Timer เพื่อยืดระยะให้เครื่องยนต์ทำงานต่อเนื่องจนถึงเวลาที่ตั้งไว้ จากนั้นเครื่องยนต์จะดับลงเองโดยอัตโนมัติแม้ว่าผู้ขับขี่จะไม่ได้อยู่ภายในรถแล้วก็ตาม

แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการดับเครื่องยนต์ทันทีหลังจากเดินทางไกล จะทำให้เครื่องยนต์หรือเทอร์โบได้รับความเสียหายจากความร้อนสะสมภายในระบบ เนื่องจากปัจจุบันวิศวกรต่างพัฒนาระบบระบายความร้อนมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็นความเชื่อสมัยเก่าที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์เทอร์โบยุคแรกๆ ที่ระบบระบายความร้อนยังไม่ดีพอนั่นเอง

หากคู่มือรถยนต์แต่ละรุ่นไม่ได้ระบุข้อแนะนำว่าต้องติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ภายหลังจากเดินทางไกลแล้วล่ะก็ คงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเสียเวลานั่งรอ 2-3 นาทีจนกว่าจะได้ลงจากรถ หรือซื้อหา Turbo Timer มาติดตั้งให้เสียเงินฟรีๆ (แต่ได้ความสบายใจไปแทน)




นอกจากนี้ การติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ยังเป็นสาเหตุของมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ปิด เช่น ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า หรือภายในอาคารสำนักงาน จะเป็นการเพิ่มปริมาณของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ก๊าซกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น

สิ่งสำคัญแท้จริงที่จะช่วยรักษาเครื่องยนต์ให้มีสภาพดีอยู่เสมอ คือ การนำรถเข้ารับการตรวจเช็คระยะตามที่ผู้ผลิตกำหนด เปลี่ยนถ่ายของเหลวและชิ้นส่วนต่างๆ ให้มีสภาพดีอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้สารแปลกปลอม เช่น หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง, หัวเชื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ยืดอายุเครื่องยนต์อยู่ในสภาพดีไปอีกยาวนานแล้วล่ะครับ


 


Thank to : https://www.sanook.com/auto/79387/
S! Auto : สนับสนุนเนื้อหา | 07 ก.ย. 66 (10:38 น.)
33  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ทำไมเราต้องรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบกันนะ เมื่อ: กันยายน 25, 2023, 08:34:03 am





ทำไมเราต้องรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบกันนะ

ในปัจจุบันเทรนการรักษาสุขภาพได้กลับมาเป็นที่นิยมปฏิบัติกันมากขึ้น หลังจากที่ได้เกิดวิกฤตโรคระบาด ทุกๆคนเริ่มหันมาสนใจพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ ดังคำที่บอกไว้ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร 5 หมู่ที่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพื่อเป็นเป้าหมายของการมีสุขภาพดีกันเถอะ

อาหาร 5  หมู่ มีอะไรบ้าง

อาหาร 5 หมู่ เป็นสารอาหารที่เราทุกคนได้รับจากการบริโภคที่หลากหลายในแต่ละวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็น รวมทั้งเพียงพอต่อร่างกายของเรา ทั้งยังทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ทั้งยังมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะประกอบไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่/ แร่ธาตุ วิตามิน รวมทั้งไขมัน หากร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้จึงจะส่งผลให้ระบบการทำงานภายในร่างกายของคนเราเกิดความผิดปกติได้นั้นเอง

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรามาทำความรู้จักกับอาหารทั้ง 5 หมู่นี้ รวมถึงรายละเอียดอัตราความต้องการสารอาหารที่จำเป็นของร่างกายกันเถอะ

@@@@@@@

สารอาหารของอาหาร 5 หมู่ ประกอบก้วยอาหารชนิดไหนกันบ้างนะ?

สารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายดำรงชีวิต การเจริญเติบโตของคนเราด้วยการกิน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยสร้าง พร้อมทั้งซ่อมแซมในสวนที่สึกหรอของร่างกาย ทั้งยังระบบย่อยอาหาร สารอาหารเหล่านี้สามารถแบ่งได้ ดังนี้

อาหาร 5 หมู่ ประเภท 1 : โปรตีน

ประกอบด้วย เนื้อสัตว์ต่างๆ นม ไข่ ถั่วเมล็ด ถั่วเหลือง

อาหาร 5 หมู่ ประเภท 2 : คาร์โบไฮเดรต

ประกอบด้วย อาหารจำพวกข้าว แป้ง ขนมปัง เผือกมัน น้ำตาล รวมทั้งธัญพืชชนิดอื่นๆที่ไม่ผ่านการขัดสี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง

อาหาร 5 หมู่ ประเภท 3 : เกลือแร่ และแร่ธาตุต่าง ๆ

ประกอบด้วยผักชนิดต่างๆ ดังเช่น ผักกาดขาว ผักบุ้ง ตำลึง แตงกวา ฟักเขียว ฟักทอง แครอท คะน้า

อาหาร 5 หมู่ ประเภท 4 : วิตามิน

ประกอบด้วยสารอาหารที่มาจากอาหารประเภทผลไม้ต่างๆ เช่นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่างๆ รวมถึงผลไม้ที่หาได้ตามท้องตลาด ได้แก่ ส้ม ลูกพีช องุ่น เสาวรส ส้มโอ มะละกอ กล้วย แอปเปิล มังคุด เป็นต้น

อาหาร 5 หมู่ ประเภท 5 : ไขมัน

ประกอบด้วยเนย ครีม ชีส น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันงา น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย

@@@@@@@

ในแต่ละวันควรรับประทานสารอาหาร 5 หมู่ให้ครบได้อย่างไรบ้าง

    • สารอาหารประเภทโปรตีน : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับโปรตีนต่อวัน ระหว่าง 46 – 63 กรัม / ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรรับประทานโปรตีนมากถึง 65  กรัมต่อวัน
    • สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับคาร์โบไฮเดรตต่อวัน ระหว่าง 45 – 65 กรัม
    • สารอาหารประเภทเกลือแร่หรือแร่ธาตุต่างๆ : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับสารอาหารประเภทนี้ ระหว่าง 920 – 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน
    • สารอาหารประเภทวิตามิน : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับสารอาหารประเภทนี้ ระหว่าง 60 มิลลิกรัมต่อวัน / ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรได้รับสารอาหารระหว่าง 70 – 96 มิลลิกรัมต่อวัน
    • สารอาหารประเภทไขมัน : ในวัยผู้ใหญ่ท่านควรได้รับสารอาหารประเภทนี้ ประมาณ 70 กรัมต่อวัน

หากท่านไม่รับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบ จะส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกายบ้าง

เนื่องจากอาหาร 5 หมู่ที่ร่างกายต้องการ มีความจำเป็นต่อการใช้พลังงานจากสารอาหารเหล่านั้น หากเราขาดสารอาหารเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือรับประทานแต่อาหารที่เดิมซ้ำๆเป็นประจำก็อาจจะส่งผลต่อร่างกายของเราได้ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายเมื่อเราขาดสารอาหารจะมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเถอะ

กรณีที่ร่างกายเกิดการขาดสารอาหารในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะส่งผลได้ดังนี้

    • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้ผมร่วง ตัวซีดง่าย ง่วงอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการอยากอาหารมากกว่าปกติ ระบบการขับถ่าย/การย่อยอาหารไม่ดีจนทำให้ท้องผูก บางวันส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือไม่มีสมาธิในการทำงานวอกแวกได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการหายใจ พร้อมทั้งไม่สามารถออกกำลังกายหนักได้ รู้สึกเสียว/ชาในบริเวณข้อต่อของร่างกาย ใจสั่นเป็นลมหมดสติ บางรายอาจจจะหดหู่ถึงกับเป็นรโรคซึมเศร้า สำหรับฝ่ายหญิงจะทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมทั้งผู้ป่วยในเด็กจะทำให้การเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ได้นั้นเอง




กรณีที่ร่างกายขาดสารอาหาร 5 หมู่เป็นระยะเวลานาน หรือบางท่านรับประทานอาหารแบบเดิมซ้ำเป็นประจำจะส่งผลได้ดังนี้

    • ร่างกายเกิดโรคขาดโปรตีน
    • โรคโลหิตจาง
    • โรคตาบอด
    • โรคเหน็บชา
    • โรคปากนกกระจอก
    • โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
    • โรคคอพอก
    • โรคไขมันในเลือดสูง
    • โรคอ้วน
    • โรคหัวใจ

สารอาหาร 5 หมู่ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยที่ร่างกายต้องการ

การรับประทานอาหารก็เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหาร วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันนั้น คือการที่ท่านรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบทุกประเภท ตามเกณฑ์อัตราความต้องการทางโภชนาการของร่างกายที่เหมาะสม โดยเน้นอาหารที่มีคุณภาพ ประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย ดังเช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ขัดสีรวมทั้งการรับประทานอาหารจำพวกแป้งให้เหมาะสม เช่นข้าว ขนมปัง เป็นต้น และอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไข่ และนมได้อย่างลงตัว

เพื่อให้หลายท่านๆได้สามารถคำนวณการรับประทานอาหาร 5 หมู่ ให้ครบนั้น เรามาดูข้อมูลสารอาหารที่ร่างกายควรจะได้รับ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้สุขภาพแข็งแรงกันเถอะ

@@@@@@@

สำหรับวัยทารก อายุระหว่าง

    • แรกเกิดจนถึง 6 เดือน : การรับประทานนมแม่จึงเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในวัยนี้
    • 6 เดือนจนถึง 1 ปี: เริ่มให้อาหารบดละเอียดทีละชนิด เพื่อให้ทารกได้รู้จักการบดเคี้ยว รวมถึงคุณแม่จะได้สังเกตอาการแพ้อาหารชนิดต่างของบุตร

สำหรับวัยเด็ก จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วงวัย

1. เด็กวัยก่อนเรียน อายุระหว่าง 1 ปีจนถึง 5 ปี

    • ควรจัดอาหารเป็นมื้อเล็กๆ ให้บุตรของท่านได้ฝึกการกินผัก โดยแบ่งขนาดของผักเป็นชิ้นเล็กๆแทรกในระหว่างอาหาร 5 หมู่หรืออาหารว่างที่มีประโยชน์  รวมถึงฝึกให้บุตรของท่านได้ฝึกหยิบจับอาหาร กล้าลอง กล้าเลอะ

2. เด็กวัยเรียน อายุระหว่าง 6 ปีจนถึง 12 ปี

    • ควรรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบทุกประเภท โดยให้ความสำคัญกับมื้อแรกของวัน / อาหารเช้า ซึ่งเด็กในวัยนี้มักจะเลือกอาหารที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายทั้งใน และนอกโรงเรียน รวมถึงบริเวณใกล้เคียงกับที่พักอาศัย เพื่อให้เด็กได้รับรู้ความสำคัญของโภชนาการต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัยได้ในช่วงระยะเวลานี้

สำหรับวัยรุ่น

    • เป็นวัยที่ต้องการอาหารที่ให้พลังงานสูง พร้อมทั้งให้คุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน ซึ่งวัยรุ่นมักจะให้ความสำคัญในการรักษารูปร่าง แต่ไม่ควรงดอาหารเพื่อลดน้ำหนักในการรักษาสัดส่วนที่ต้องการ ทางออกที่ดีที่สุดจึงเป็นการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอนั้นเอง

สำหรับวัยผู้ใหญ่

    • ควรเลือกรับประทานข้าว / แป้งที่ไม่ขัดสี ดังเช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท รวมถึงธัญพืชต่างๆ  และอาหารที่สามารถให้โปรตีนพอประมาณ มีไขมันมีการปรุงแต่งอาหารแทรกเล็กน้อย  พร้อมทั้งควรควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับส่วนสูงของแต่ละบุคคล

สำหรับผู้สูงอายุ

     • ท่านควรรับประทานอาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย ทั้งให้คุณค่าทางโภชนาการสูงคุณค่าทางอาหาร 5 หมู่ครบถ้วน ควรเลือกโปรตีนจากไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ พร้อมทั้งสามารถบำรุงกระดูกด้วยนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ รวมถึงผักใบเขียวเข้มเป็นประจำ

@@@@@@@

สรุป

การทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบในแต่ละประเภทต่อวันนั้น จึงจะช่วยให้ร่างกายของท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีความปกติต่อการย่อยอาหาร ส่งผลให้ท่านมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค ทั้งยังไม่ส่งผลให้ท่านเกิดโรคที่ไม่พึงประสงค์เช่นโรคอ้วน หรือไขมันในเลือดสูง จนต้องเข้ารับการรักษาให้ยางยาก แต่การที่จะรักษาสุขภาพให้แข็งแรงได้นั้น ท่านควรออกกำลังควบคู่กับการรับประทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบด้วยนั้นเอง






Thank to : https://www.silpa-mag.com/news/article_116872
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ.2566
34  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / กฎหมายเพื่อรักษาพระศาสนา เมื่อ: กันยายน 25, 2023, 07:11:23 am


ภาพในอดีต ผมบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ คือเมื่อ ๔ ปีมาแล้ว


กฎหมายเพื่อรักษาพระศาสนา

โปรดทราบก่อนว่า ภาพประกอบเรื่องนี้ไม่ใช่ภาพปัจจุบันนะครับ เป็นภาพในอดีต ผมบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ คือเมื่อ ๔ ปีมาแล้ว จนถึงวันนี้ จังหวัดบึงกาฬมี “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัด” เรียบร้อยไปแล้ว หรือเป็นอย่างไรไปแล้ว ผมไม่ทราบ ใครรู้ข่าว เอามาบอกเล่าสู่กันฟังบ้างก็จะเป็นการดี เมื่อตอนที่มีภาพนี้ปรากฏในเฟซบุ๊ก ผมแสดงความคิดเห็นไปแล้วเล็กน้อย วันนี้ขออนุญาตนำมาขยายความ ดังต่อไปนี้

@@@@@@@

บึงกาฬโมเดล บึงกาฬประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัด

ขออนุโมทนาสาธุอย่างยิ่งกับจังหวัดบึงกาฬครับที่ประกาศออกมาอย่างนั้น ปัญหาที่ควรจะมีคำตอบที่ชัดเจนก็คือ-ถ้าเกิดมีคนหัวหมอร้องถามขึ้นมาว่า ประกาศแบบนี้มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า.? เราจะตอบว่าอย่างไร.? อย่าให้กลายเป็นว่า-จังหวัดไหนอยากประกาศก็ประกาศไป แต่ไม่มีผลตามกฎหมาย

คนส่วนมากจะรู้สึก จะคิด หรือจะเข้าใจกันว่า ประเทศเราเป็นเมืองพุทธมาตลอดเวลาอยู่แล้ว อย่างกรณีเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็มีคนบอกว่า ชาติของเรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปบัญญัติอะไรอีก

ความคิดเห็นหรือทัศนะแบบนี้แหละครับ คือทางมาแห่งมหันตภัยของพระศาสนา เรื่องนี้พอจะเทียบเคียงให้เข้าใจได้ชัดๆ-เหมือนสามีภรรยา สมมุติว่า ภรรยาคนที่ ๑ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย สามีไปมีภรรยาคนที่ ๒ และจดทะเบียนสมรส

ภรรยาคนที่ ๑ จะมามัวนอนใจไม่ได้เลยว่ายังไงๆ ฉันก็เป็นภรรยาอยู่แล้ว ฉันเป็นภรรยามาก่อนเธอ ที่นอนใจไม่ได้ก็เพราะกฎหมายรับรองเฉพาะภรรยาที่จดทะเบียน จะเป็นภรรยามาก่อนหรือเป็นทีหลัง กฎหมายไม่รับทราบ กฎหมายรับทราบเฉพาะภรรยาที่จดทะเบียน ภรรยาที่จดทะเบียนมีสิทธิ์ ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนหมดสิทธิ์ นี่คือข้อเท็จจริง

กรณีศาสนาประจำจังหวัดหรือศาสนาประจำชาตินี่ก็ทำนองเดียวกัน เรานอนใจว่าเราเป็นพุทธอยู่แล้ว บ้านเมืองเราผู้คนนับถือศาสนาพุทธตั้งมากมาย แต่ถ้าวันหนึ่งมีกฎหมายออกมาว่า “ประเทศไทยมีศาสนา x (ซึ่งไม่ใช่พระพุทธศาสนา) เป็นศาสนาประจำชาติ”

ศาสนาพุทธก็จอดสนิท ทั้งๆ ที่มีผู้คนนับถืออยู่เต็มบ้านเต็มเมืองนั่นแหละ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเราอยู่ในระบบนิติรัฐ คือถือกฎหมายเป็นสำคัญเรื่องแบบนี้ก็คือที่เรารู้จักกันในคำว่า นิตินัย-พฤตินัย นั่นเองเวลานี้นิตินัยสำคัญที่สุด ระบบราชการทั้งหมดอยู่ภายใต้นิตินัย

@@@@@@@

สมมุติว่ามีกฎหมายหรือมีระเบียบกำหนดไว้ว่า “ผู้นับถือศาสนา x เดินทางไปแสวงบุญต่างประเทศ รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนอย่างนี้ๆ ตั้งแต่ไปจนกลับ” ถ้ามีกฎหมายหรือมีระเบียบกำหนดไว้แบบนี้ หน่วยราชการไหนเกี่ยวข้องก็ต้องสนับสนุนทั้งหมด แม้แต่คนที่ไม่ได้นับถือศาสนา x ถ้ามีตำแหน่งฐานะเกี่ยวข้อง ก็ต้องสนับสนุน ไม่สนับสนุน ผิดกฎหมาย นี่คือผลที่เกิดตามมาจากการที่มีกฎหมายรองรับ

และตรงจุดนี้แหละที่คนส่วนมากยังไม่ได้ตระหนักสำนึกกัน คนส่วนมากยังมัวนอนใจว่าเราเป็นพุทธอยู่แล้ว พุทธเรามีมากกว่า จะต้องไปกลัวอะไร และคนส่วนมากที่ยังไม่ตระหนักสำนึกในเรื่องนี้ก็คือบรรดา “ชาววัด” ทั้งหลาย โดยเฉพาะชาววัดที่มีตำแหน่งเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป จนกระทั่งถึงกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นที่สุด

ขอถวายไว้เป็น “กิจของสงฆ์” อย่างสำคัญที่สุด คือ กิจการพระศาสนาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หาทางทำให้มีกฎหมายรองรับไว้ก่อน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ชาวบ้านก็ต้องช่วยด้วย แต่เรื่องนี้ชาววัดต้องเป็นหลัก

ผมไม่ทราบว่าใน มจร และ มมร มีคณะหรือมีภาควิชานิติศาสตร์หรือเปล่า ถ้ายังไม่มี ก็สมควรเปิดให้มี ถ้ามีอยู่แล้วก็ยิ่งดี แต่ต้องวางเป้าหมายไว้ให้ชัดว่า เราจะเปิดสอนวิชานี้เพื่ออบรมบ่มเพาะให้ชาววัดมีวิสัยทัศน์ทางกฎหมายที่กว้างไกลและทันเกม เพื่อใช้กฎหมายรักษาพระศาสนาเป็นสำคัญ อย่าคิดเพียงแค่-จะได้มีวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกสาขาหนึ่ง เหมือนกับที่ชาวบ้านเขาเรียนกันอยู่แล้ว

ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของพระศาสนาที่จะได้มาจากกฎหมาย เราก็ปล่อยโอกาสดีๆ ให้หลุดหายไปทุกวัน และถ้าผู้บริหารการพระศาสนาไม่ตระหนักถึงภัยที่จะมาจากกฎหมาย พระศาสนาก็ฉิบหายได้เร็วพลัน


                  พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
                  ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕ , ๑๗:๑๗





Thank to : https://dhamtara.com/?p=26831
Admin : suriyan bunthae , 1 พฤษภาคม 2023
35  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / คณกโมคคัลลานสูตร ว่าด้วย ข้อศึกษาและข้อปฏิบัติโดยลำดับ เมื่อ: กันยายน 24, 2023, 07:43:26 am





คณกโมคคัลลานสูตร ว่าด้วย ข้อศึกษาและข้อปฏิบัติโดยลำดับ

เหตุการณ์ : พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะถามพระพุทธเจ้าถึงการศึกษาและปฏิบัติโดยลำดับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบ พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะ ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนไตรเป็นสรณะ

สำหรับผู้ที่ไม่รู้จะศึกษาและปฏิบัติอย่างไร พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงการศึกษาและการปฏิบัติโดยลำดับไว้ในพระสูตรนี้ เหมาะกับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติตามลำดับด้วยตนเอง

@@@@@@@

การศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ สำหรับภิกษุที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุพระอรหัตมรรค 

     ๑. เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ฯ
     ๒. เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์  บุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
     ๓. เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ
     ๔. เธอจงเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่
     ๕. เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
     ๖. เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า ละอภิชฌาในโลกแล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาได้ ละนิวรณ์ ๕ ได้
     ๗. เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุรูปฌาณ ๔

ส่วนภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพ ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบายในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ


@@@@@@@

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า สาวกของพระองค์ เมื่อพระองค์ให้โอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ ย่อมยินดีนิพพาทุกรูปทีเดียว หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี

พระผู้มีพระถาคตรัสว่า แม้นิพพานก็ยังดำรงอยู่ ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่ ผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่ แต่สาวกของพระโคดมผู้เจริญเพียงส่วนน้อยยินดีนิพพาน บางพวกถึงโดยสวัสดี บางพวกก็ไม่ยินดี จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม ในเรื่องนี้จะทรงทำอย่างไรได้ ทรงเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้







ขอขอบคุณ :-
อ้างอิง : คณกโมคคัลลานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๙๓-๑๐๔ หน้า ๖๒-๖๗
websit : https://uttayarndham.org/node/1321
36  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / รับกระแส อุทยานศรีเทพมรดกโลก นทท.แห่เข้าชม มัคคุเทศก์-ห้องน้ำ ไม่พอให้บริการ เมื่อ: กันยายน 24, 2023, 07:32:54 am




รับกระแส อุทยานศรีเทพมรดกโลก นทท.แห่เข้าชม มัคคุเทศก์-ห้องน้ำ ไม่พอให้บริการ

ทุบสถิติ.! นทท.รับกระแสศรีเทพมรดกโลก แห่เข้าชมโบราณสถานแน่น มัคคุเทศก์-ห้องน้ำไม่พอให้บริการ

เพชรบูรณ์-นายสิทธิชัย พูดดี หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเราเพิ่มขึ้นตั้งแต่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เข้ามาจัดกิจกรรมโบราณสถานเขาคลังนอก ทำให้คนรู้จักเมืองศรีเทพเยอะขึ้นมาก จากนั้นปริมาณของนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนวันนี้นักท่องเที่ยวเข้าชมโบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเยอะมาก คาดว่าวันนี้น่าจะทะลุ 3,000 คน โดยทุบสถิติที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อวานนี้จำนวนนักท่องเที่ยว จำนวน 2,800 คน ประกอบกับในช่วงนี้อธิบดีกรมศิลปากร ประกาศงดเว้นค่าเข้าชม ทำให้นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันบริการรถราง หรือมัคคุเทศก์ที่เราเตรียมไว้มีไม่เพียงพอ

สาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอุทยานในช่วงนี้อาจเพราะว่าความตื่นเต้นที่เมืองโบราณศรีเทพได้เป็นมรดกโลก จึงอยากเข้ามาสัมผัสครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตนี้ โดยเฉพาะผู้คนอาจจะจดจำเมื่อคราวอยุธยาหรือสุโขทัยไม่ค่อยได้ เนื่องจากว่างเว้นบรรยากาศแบบนี้มาถึง 31 ปี กระทั่งล่าสุดเมืองศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทุกคนจึงอยากมาชื่นชมกัน และโอกาสนี้ก็เป็นไปได้ที่จะต่อไปจนถึงสิ้นปี เพียงแต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวอาจจะไม่เท่ากับการเปิดเข้าชมฟรีในช่วงนี้

“แต่ยังไงเราก็ต้องดูในส่วนของการเข้าชมของนักท่องเที่ยวประจำวัน ประกอบอย่างใกล้ชิดว่าจะมีอะไรวางแผนการทำงาน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยในระยะกลางเราวางแผนจะซ่อมศูนย์ข้อมูล และเพิ่มปริมาณห้องน้ำ เพราะตอนนี้ไม่เพียงพอ ส่วนระยะสั้น หากนักท่องเที่ยวมีปริมาณมากจริงๆ อาจจะต้องประสานกับทางท้องถิ่นเพื่อให้สนับสนุนรถบริการห้องน้ำเพิ่มในบางวาระ ส่วน ณ วันนี้ยอมรับว่าปริมาณห้องน้ำมีไม่เพียงพอ ซึ่งนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเข้าคิวรอ อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกขึ้น” นายสิทธิชัยกล่าว
















Thank to : https://www.matichon.co.th/region/news_4195330
วันที่ 23 กันยายน 2566 - 17:20 น.
37  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เชื่อผิดมาตลอด.! เกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำให้ แต่ควรทำแบบนี้ เมื่อ: กันยายน 24, 2023, 06:44:50 am





เชื่อผิดมาตลอด.! เกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำให้ แต่ควรทำแบบนี้

ได้ยินกันจนชินหู เกลียดใครให้กรวดน้ำให้ ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดทุเลาความโกรธแค้นในใจของตนเองบ้าง หรือได้ผลบุญช่วยลดการกระทำร้าย ๆ ของเขาต่อตนเองบ้าง บางคนก็กรวดในทำนองสาปส่งระบายความอาฆาตแค้นในใจ เรื่องนี้มาทำความเข้าใจกันใหม่ โหรรัตนโกสินทร์บอกเลยว่า “เกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำให้” เพราะเหตุนี้

“เกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำ เค้าจะยิ่งทรงพลังยิ่งมีอิทธิฤทธิ์”

ปกติหลังทำบุญทำทาน จะมีบทสวดที่ตัดมาจากพระไตรปิฎก เรียกสั้นๆ “ยะถาให้ผี สัพพีให้คน”

บทยถา อุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณผู้ล่วงลับ
บทสัพพี อวยพรให้ผู้ถวายทานปราศจากอันตราย

ดังนั้น ถ้าเกลียดใครอย่าไปกรวดน้ำ เค้าจะยิ่งเกลียดเราหนักขึ้น เหมือนไปล้อเล่นว่าเค้าตาย..

หลวงพ่อจรัญ สอนว่า “การให้อภัย เป็นทานชั้นยอดเหนือทานใดๆ” ไม่ใช่เป็นการให้โอกาสผู้อื่นเท่านั้น แต่เป็นการให้โอกาสตัวเราเอง หลุดพ้นจากความทุกข์ใจ ไม่ถูกไฟแห่งความโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทเผาไหม้..
บทแผ่เมตตา ช่วยให้จิตใจสงบสุข..

คนที่จะ “แบ่งของ”ให้ใคร อย่างน้อยต้องมีสิ่งนั้นอยู่บ้าง คือต้องมีความเมตตา ตั้งใจจะยุติความบาดหมางด้วยใจจริง


@@@@@@@

บทแผ่เมตตาให้ตัวเอง

อะหัง สุขิโต โหมิ
อะหัง นิททุกโข โหมิ
อะหัง อะเวโร โหมิ
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ

คำแปล

ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พ้นจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด

บทแผ่เมตตาทั่วไป

สัพเพ สัตตา
อะเวราโหนตุ
อัพ๎ยาปัชฌาโหนตุ
อะนีฆาโหนตุ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ

คำแปล

สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากโรคภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด


 


Thank to : https://www.sanook.com/horoscope/262135/
โหรรัตนโกสินทร์ : สนับสนุนเนื้อหา | 22 ก.ย. 66 (15:20 น.)
38  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / จาก ‘ศรีเทพ’ สู่ ‘อุทยานธรณี’ เมื่อ: กันยายน 24, 2023, 06:32:42 am



จาก ‘ศรีเทพ’ สู่ ‘อุทยานธรณี’

นาทีนี้ไม่มีเรื่องใดจะน่ายินดีมากไปกว่า การได้รับการประกาศให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” ขึ้นเป็นเมืองมรดกโลก โดยเป็นมรดกโลกลำดับที่ 7 ของไทย

นางสาวญาติกา แก้วบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก กล่าวว่า เมืองโบราณศรีเทพ นอกจากจะเป็นเมืองที่กว้างใหญ่ไพศาลมากแล้ว ยังเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นพิเศษยิ่งกว่าพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ มีร่องรอยทางโบราณคดีหลายยุคหลายสมัยอยู่ในสถานที่เดียวกัน นั่นคือ

โครงกระดูกมนุษย์ปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5-10 จนมาเป็นสมัยที่ก่อตั้งเป็นรัฐแรกเริ่ม ที่ปรากฏมีศิลาจารึกอักษรปัลลวะ และเทวรูปเคารพฮินดูรุ่นเก่าพุทธศตวรรษที่ 11-12 และมีโบราณสถานทางพุทธศาสนาสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 จนกระทั่งมีโบราณสถานศาสนาฮินดูสมัยขอมประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-18 แล้วจึงล่มสลายกลายเป็นเมืองร้างไป ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ปรากฏร่องรอยที่มีมนุษย์มาตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บริเวณนี้ จะมีเวลาต่อเนื่องทางวัฒนธรรมกันมายาวนานนับ 1,000 ปี




เมืองโบราณศรีเทพ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO นั้น มี 3 บริเวณด้วยกัน คือ บริเวณภายในเมือง ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทั้งเมืองในและเมืองนอก ซึ่งจะมีโบราณสถานที่สำคัญคือ เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และหลุมฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ฯลฯ บริเวณเขาคลังนอก มหาสถูปทวารวดี รูปแบบมณฑลจักรวาล และเจดีย์บริวาร ที่อยู่นอกเมือง และเขาถมอรัตน์ ที่มีผนังถ้ำด้านบน แกะสลักเป็นพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ สมัยทวารวดี



คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของเมืองโบราณศรีเทพนั้น นอกจากจะมีโบราณวัตถุและโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาความชาญฉลาดของคนสมัยโบราณ ในการบริหารจัดการน้ำที่นำมาใช้ในตัวเมือง และการที่เลือกเอาบริเวณเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีคุณลักษณะของพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพิเศษและเป็นศูนย์กลางการติดต่อกันของชุมชนโบราณระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ให้เป็นที่ตั้งหลักแหล่งต่อเนื่องกันมาช้านาน

จนปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า มีอารยธรรมหลายยุคหลายสมัยซ้อนทับต่อเนื่องกันมาในสถานที่เดียวกัน และด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดการพัฒนาฝีมือช่างในศิลปะด้านต่าง ๆ เป็นของตัวเองที่เรียกกันว่า “สกุลช่างศรีเทพ” จึงสมควรและเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์เมืองโบราณศรีเทพให้เป็นมรดกโลก




นอกจากเมืองโบราณศรีเทพแล้ว เพชรบูรณ์ยังมีมหัศจรรย์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาอย่าง “อุทยานธรณีเพชรบูรณ์” ด้วย เพราะความที่ตั้งอยู่ในแนวเคลื่อนตัวเข้าหากันของอนุทวีป คือ อินโดไชน่า ทางตะวันออก และ ชาน-ไทย ทางตะวันตก จึงเกิดสิ่งมหัศจรรย์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่หลากหลายขึ้นมามากมาย โดยกระจายไปทั่วพื้นที่บนแผ่นดินเพชรบูรณ์ทั้งหมด 22 จุด

อาทิ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ถ้ำบันทึกโลก บ้านห้วยลาด ผารอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์อาร์โคซอร์ บ้านนาพอสอง แคนยอนน้ำหนาว มหัศจรรย์เปลือกโลก หลังวัดโคกมน เลยดั้น ลานหินมหัศจรรย์ บ้านห้วยกะโปะ ผาแดง แหล่งรอยเลื่อน ขอบเปลือกโลก บนเขาริมทางหลวง 12 จุดชมวิวถ้ำผาหงส์ ชมร่องรอยการเคลื่อนตัวเข้าหากันของ 2 เปลือกโลก เขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว สะพานห้วยตอง สะพานเชื่อมแผ่นดิน บนทางหลวง 12

ฟอสซิลปลาน้ำจืด บ้านหนองปลา และบ้านท่าพล น้ำตกธารทิพย์ ชั้นหินจากทะเลเป็นภูเขา โนนหัวโล้น หล่มสัก ประติมากรรมธรรมชาติ ภูเขาหินปูนปะการัง บ้านเขาเพิ่มพัฒนา ถ้ำผาโค้ง ผาเจ็ดสี บ้านโนนตูม หอยตะเกียง 280 ล้านปี บ้านวังปลา และบ้านซับชมภู ฟิวซูลินิด คตข้าวสาร วัดถ้ำเทพบันดาล บ้านลำจังหัน และสำนักสงฆ์เต็มสิบ น้ำตกเสาหินอัคนี น้ำตกซับพลู บ้านซับเจริญ สุสานหอยน้ำจืด 15 ล้านปี บ้านน้ำเดือด บ่อน้ำเดือดบ่อน้ำผุด บ้านน้ำเดือด ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ บ้านยางจ่า และบ้านซับชมภู ท่อนไม้กลายเป็นหิน บ้านท่าพล หินคลอน ไข่พญานาค วัดโนนน้ำทิพย์ ไดโนเสาร์น้ำหนาว และพิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์




ไปตระเวนไม่ครบสามารถเข้ามาชมที่ พิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารี ซึ่งแหล่งเรียนรู้ที่จัดแสดงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ในทุก ๆ ด้าน โดยเป็นส่วนที่มีการสะสม จัดเก็บและจัดแสดง วัตถุที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา ที่มีการค้นพบในพื้นที่เพชรบูรณ์ เช่น ซากฟอสซิล ซากดึกดำบรรพ์ หินและวัตถุทางธรณีวิทยา ฯลฯ

และหากไปเพชรบูรณ์ช่วงเดือนตุลาคมนี้ ชวนแวะไปร่วมงาน “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2566” ณ พุทธอุทยานเพชรบุระ วัดไตรภูมิ และวัดโบสถ์ชนะมาร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ 10-19 ตุลาคม 2566






หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีตำนานเล่าขานมากว่า 400 ปี เมื่อชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสักได้พบเหตุอัศจรรย์ขึ้น คือ กระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดันเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งเป็นวันประเพณีสารทไทย

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวได้หายไป ชาวบ้านต่างพากันตามหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกำลังดำผุดดำว่ายอยู่กลางแม่น้ำป่าสักบริเวณที่พบ จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิอีกครั้งหนึ่ง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา”

หลังจากนั้นต่อมาในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากโรคระบาดคุกคาม.





Thank to : https://www.dailynews.co.th/news/2742651/
23 กันยายน 2566 ,12:00 น. | อาหาร-ท่องเที่ยว, ไลฟ์สไตล์   
39  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / กึสุ โลกสฺมิ ชาคโร - อะไรหนอ.? เป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก.!! เมื่อ: กันยายน 23, 2023, 08:19:18 am
.



สติ โลกสฺมิ ชาคโร (บาลีวันละคำ 3,984)



เรียนบาลีจากคำผิด

"สติ โลกสฺมิ ชาคโร"  คำบาลีที่ยกขึ้นตั้งข้างต้นเป็น “คาถา” 1 บาท หรือ 1 วรรค คำว่า “คาถา” หมายถึงบทร้อยกรองในภาษาบาลี อย่างที่พูดในภาษาไทยว่า กาพย์กลอนโคลงฉันท์

“คาถา” นั้น ในบาลีนิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์” แต่อาจแยกความหมายได้ดังนี้ :-

    - เมื่อหมายถึงบทร้อยกรองทั่วไปในภาษาบาลี เรียกว่า“คาถา”
    - เมื่อหมายถึงชนิดหรือประเภทของบทร้อยกรองนั้นๆ (ชนิดหรือประเภทของคาถา) เรียกว่า “ฉันท์”

“ฉันท์” นั้นมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ฉันท์ทุกชนิดมีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานกลางเหมือนกัน คือ 4 บาท เป็น 1 บท (ในภาษาไทย คำว่า “บาท” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วรรค”)

ความแตกต่างของฉันท์แต่ละชนิดกำหนดด้วย (1) จำนวนพยางค์ใน 1 บาท และ (2) ลำดับคำที่เป็นครุหรือลหุในแต่ละบาท คือในแต่ละบาท คำที่เท่าไรต้องเป็นครุ คำที่เท่าไรต้องเป็นลหุ ข้อกำหนดว่าด้วยคำ ครุ-ลหุ นี้ เรียกว่า “คณะฉันท์” รู้ไว้คร่าวๆ เท่านี้ก่อน ผู้สนใจพึงศึกษารายละเอียดต่อไป

คำบาลีที่ยกขึ้นตั้งข้างต้นเป็นคาถาชนิดที่มีชื่อว่า “ปัฐยาวัตฉันท์” ฉันท์ชนิดนี้มีกำหนดว่า 1 บาทมี 8 พยางค์ (โปรดนับพยางค์ในคำบาลีข้างต้นนั้นดู)

ข้อความที่เป็นคาถาหรือฉันท์นั้น ถ้าอ่านในเล่มคัมภีร์จะรู้ได้ง่าย เพราะคัมภีร์ที่พิมพ์เป็นเล่มนิยมแบ่งวรรค แบ่งบรรทัด ให้เห็นได้ชัดเจนว่าข้อความนั้นเป็นคาถา แต่ถ้ายกเฉพาะบาทคาถามาเขียนเป็นต่างหาก ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีหรือนักเรียนบาลีที่ยังเรียนไม่ถึงวิชาแต่งฉันท์ ก็อาจจะไม่รู้ว่า คำบาลีที่เห็นนั้นเป็นคาถาหรือว่าเป็นคำธรรมดา

“สติ โลกสฺมิ ชาคโร” เป็นคาถาปัฐยาวัตฉันท์ 1 บาทหรือ 1 วรรค เขียนแบบคำอ่านเป็น “สะติ โลกัส๎มิ ชาคะโร”


@@@@@@@

ศึกษาศัพท์

(๑) “สติ” อ่านว่า สะ-ติ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส) : สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า
            (1) “กิริยาที่ระลึกได้”
            (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้”
            (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”

“สติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า...
“สติ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, เช่น ได้สติ ฟื้นคืนสติ สิ้นสติ, ความรู้สึกผิดชอบ เช่น มีสติ ไร้สติ, ความระลึกได้ เช่น ตั้งสติ กำหนดสติ. (ป.; ส. สฺมฺฤติ).”

(๒) “โลกสฺมิ” อ่านว่า โล-กัด-สมิ , สฺ ออกเสียงครึ่งเสียง ถ้าอ่านแยกพยางค์เด็ดขาดเพื่อนับจำนวนพยางค์ ก็อ่านว่า โล-กัด-มิ เป็น 3 พยางค์ แต่เวลาอ่านจริง –มิ มีเสียง สะ นำหน้าครึ่งเสียง คือไม่ใช่ สะ-มิ แต่เป็น สฺมิ คล้ายกับจะออกเสียงว่า สิม แต่ปลายเสียงเป็น -มิ

    “โลกสฺมิ” รูปคำเดิมเป็น “โลก” อ่านว่า โล-กะ รากศัพท์มาจาก 
     (1) ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ : ลุชฺ > ลุก > โลก + ณ = โลกณ > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป”
     (2) ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + อ (อะ) ปัจจัย แปลง จ เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ : ลุจฺ > ลุก > โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป”
     (3) โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ; ตั้งอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย : โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างอันเขาเห็นอยู่” (2) “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”

“โลก” (ปุงลิงค์) มีความหมายดังนี้
(1) ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น
(2) สิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
(3) สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
(4) ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”
(5) วิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
(6) ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น – ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า...
“โลก, โลก– : (คำนาม) แผ่นดิน, โดยปริยายหมายถึงหมู่มนุษย์ เช่น ให้โลกนิยม; ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก โลกพระอังคาร; (คำที่ใช้ในภูมิศาสตร์) ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๕ ในระบบสุริยะ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ลักษณะอย่างรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ศูนย์สูตรยาว ๑๒,๗๕๕ กิโลเมตร ศูนย์กลางที่ขั้วโลกยาว ๑๒,๗๑๑ กิโลเมตร มีเนื้อที่บนผิวโลก ๕๑๐,๙๐๓,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร. (ป., ส.).”

บาลี “โลก” (โล-กะ) แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โลกสฺมิ” แปลว่า “ในโลก”

โปรดเปรียบเทียบ
“โลก” (โล-กะ) แปลว่า “โลก”
“โลกสฺมิ” แปลว่า “ในโลก”

(๓) “ชาคโร” อ่านว่า ชา-คะ-โร รูปคำเดิมเป็น “ชาคร” อ่านว่า ชา-คะ-ระ รากศัพท์มาจาก “ชาครฺ” (ธาตุ = สิ้นความหลับ) + อ (อะ) ปัจจัย : ชาครฺ + อ = ชาคร แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ตื่นตัว” หมายถึง ตื่น, เฝ้าสังเกต, คอยเอาใจใส่, ระวังระไว, ตั้งตาคอยดู (waking, watchful, careful, vigilant)

“ชาคร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ชาคโร”

หมายเหตุ : “ชาคร” มักใช้เป็นคุณศัพท์ (วิเสสนะ) แต่ใช้เป็นคำนามก็มี “ชาคร” ที่ใช้เป็นคำนามเป็นทั้งปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์




ขยายความ

“สติ โลกสฺมิ ชาคโร” (สะติ โลกัส๎มิ ชาคะโร) แปลว่า “สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก”

ข้อความเต็มของคาถาบทนี้อยู่ในปัชโชตสูตรในพระไตรปิฎก ขอนำข้อความเต็มๆ มาแสดงไว้ในที่นี้เป็นการศึกษาเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้

(เทวดาทูลถามว่า)
กึสุ โลกสฺมิ ปชฺโชโต - อะไรหนอเป็นแสงสว่างในโลก
กึสุ โลกสฺมิ ชาคโร - อะไรหนอเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
กึสุ กมฺเม สชีวานํ - อะไรหนอเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน
กึสุ จสฺส อิริยาปโถ - อะไรหนอเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา
กึสุ อลสํ อนลสญฺจ มาตา ปุตฺตํว โปสติ - อะไรหนอย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร
กึสุ ภูตา อุปชีวนฺติ เย ปาณา ปฐวึ สิตาติฯ - เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยอะไรหนอเลี้ยงชีวิต

(พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า)
ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต - ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
สติ โลกสฺมิ ชาคโร - สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
คาโว กมฺเม สชีวานํ - ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน
สีตสฺส อิริยาปโถ - ไถเป็นเครื่องต่อชีวิตของเขา
วุฏฺฐิ อลสํ อนลสญฺจ มาตา ปุตฺตํว โปสติ - ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง เหมือนมารดาเลี้ยงบุตร
วุฏฺฐึ ภูตา อุปชีวนฺติ เย ปาณา ปฐวึ สิตาติฯ - เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีวิต

________________________________________
ที่มา : ปัชโชตสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 217, 218

@@@@@@@

แถม

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ โปรดดูภาพประกอบเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ ภาพประกอบเป็นภาพปกหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว โปรดดูข้อความบรรทัดบนสุดที่ปรากฏบนปกเปรียบเทียบกับข้อความที่นำมาจากพระไตรปิฎก และที่อธิบายมา ท่านสามารถบอกได้หรือไม่ว่าข้อความบนปกหนังสือผิดพลาดคลาดเคลื่อนตรงไหน เรื่องนี้ไม่ใช่การจับผิด แต่เป็นการถือโอกาสเรียนบาลีจากคำผิด

สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ ถ้อยคำภาษาหรือข้อธรรม เมื่อมีการพูดผิด เขียนผิด นำมาแสดงผิด ก็มักไม่มีใครสนใจหรือติดใจที่จะชี้แจงแก้ไข มักอ้างว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เหตุผลสำคัญคือเพราะเกรงกลัวคำประณามที่จะตามมาว่า “ดีแต่เที่ยวตำหนิคนอื่น” หรือ “ดีแต่เที่ยวจับผิดชาวบ้าน”

สังคมเรามาถึงขั้นที่แยกไม่ออกบอกไม่เป็นแล้วว่า อย่างไรคือจับผิด อย่างไรคือชี้โทษ เพราะฉะนั้น ความวิปริตทั้งทางโลกและทางพระศาสนาก็นับวันจะแพร่หลายขยายตัวออกไปทุกทีๆ และสักวันหนึ่งก็จะถึงขั้นที่แยกไม่ออกบอกไม่เป็นว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรชั่วอะไรดี อะไรควรเว้นอะไรควรทำ เห็นสิ่งควรทำเป็นสิ่งควรเว้น และเห็นสิ่งควรเว้นเป็นสิ่งควรทำ และเมื่อถึงวันนั้น มนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกันแบบ-ไม่ต่างไปจากสัตว์

ดูก่อนภราดา.! เห็นการชี้โทษเป็นการจับผิด คือให้สิทธิ์คนสร้างความวิปริตได้อย่างเสรี




Thank to : https://dhamtara.com/?p=27187
บาลีวันละคำ (3,984) | admin : suriyan bunthae | 24 สิงหาคม 2023
40  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ซินโครตรอนถอดสูตร’ทำอิฐ’เมืองโบราณศรีเทพ พบล้ำลึก ยากเลียนแบบ-หาสิ่งทดแทน เมื่อ: กันยายน 22, 2023, 09:19:47 am




ซินโครตรอนถอดสูตร’ทำอิฐ’เมืองโบราณศรีเทพ พบล้ำลึก ยากเลียนแบบ-หาสิ่งทดแทน

ซินโครตรอนร่วมอนุรักษ์มรดกโลก “เมืองโบราณศรีเทพ” ถอดสูตรอิฐยุคก่อนประวัติศาสตร์

นับเป็นอีกความภาคภูมิใจสำหรับชาวไทยเมื่อ “เมืองโบราณศรีเทพ” ใน จ.เพชรบูรณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ซึ่งก่อนมีการประกาศข่าวดีนี้ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมศึกษาก้อนอิฐโบราณเพื่อผลิตอิฐสูตรโบราณสำหรับการบูรณะโบราณสถาน

นครราชสีมา – วันที่ 21 กันยายน ดร.วุฒิไกร บุษยาพร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า

    “เมืองโบราณศรีเทพมีจุดเด่นที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อประมาณเดือน มี.ค.66 คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ พร้อมด้วยนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งขุดสำรวจเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และได้พบปัญหาในบูรณะโบราณสถานที่เพิ่งขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้”






“อิฐโบราณศรีเทพเหมือนอิฐโบราณทั่วไป คือเป็นอิฐดินเผาผสมแกลบ แต่ในการบูรณะเราใช้อิฐยุคปัจจุบันไปใช้ ซึ่งพบว่า ก่อปัญหาต่อโบราณสถาน เนื่องจากมีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นยาแนว และปูนซีเมนต์นี้ไปขวางเส้นทางการระบายความร้อนและความชื้น จึงเก็บความชื้นไว้ทำให้วัตถุที่นำไปซ่อมแซมเกิดการผุกร่อน ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลให้อิฐของเก่าในโบราณสถานเสียหายไปด้วย ขณะที่อิฐโบราณจะใช้ยาแนวที่มีส่วนผสมของปูนหมักและดินสอพอง ซึ่งมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นได้ดี แต่เรายังไม่พบสูตรการผลิตอิฐโบราณและยาแนวโบราณของเมืองโบราณศรีเทพ” ดร.วุฒิไกร ระบุ

ทั้งนี้ ดร.วุฒิไกร และทีมวิจัยวางแผนในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์อิฐโบราณ และจะเริ่มศึกษาอิฐของเจดีย์รายที่อยู่ถัดจาก “เขาคลังนอก” โบราณสถานขนาดใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์รายที่รอบๆ และอยู่ในมีทิศที่ชี้ตรงไปเขาถมอรัตน์ โดยจะถอดสูตรอิฐโบราณเพื่อผลิตขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นที่ใกล้เคียงของเดิมหรือดีกว่าเดิม ตั้งเป้าใช้ดินเหนียวด่านเกวียนของ จ.นครราชสีมา สำหรับผลิตอิฐสูตรโบราณ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ชุมชนด่านเกวียนด้วย









Thank to : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4190936
วันที่ 21 กันยายน 2566 - 10:42 น.   
หน้า: [1] 2 3 ... 692