ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บางยี่เรือ บางอะไร.?  (อ่าน 225 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
บางยี่เรือ บางอะไร.?
« เมื่อ: พฤษภาคม 28, 2023, 07:16:22 am »
0


อุโบสถวัดบางยี่เรือเหนือ หรือ วัดบางยี่เรือใน ปัจจุบันคือ วัดราชคฤห์วรวิหาร (ภาพจาก http://www.watrajkrueh.com


บางยี่เรือ บางอะไร.?

คำ “บางยี่เรือ” มีปรากฏในจดหมายเหตุเก่า ดังนี้

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) :-

“ณ วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนอ้าย เสด็จไปบำเพ็ญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือ, แล้วทรงพระประสาทเลื่อมใสศรัทธาอุทิศถวายเรือขมวดยาปิดทองคำทึบหลังคาสีสักหลาดเหลืองลำหนึ่ง คนพาย 10 คน, พระราชทานเงินตราคนละ 2 ตำลึง และพาเข้าให้บวชเป็นปะขาว.”

“ณ วันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย เชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวงลงเรือแห่แต่ฉนวนน้ำเข้าไปพระเมรุวัดบางยี่เรือใน นิมนต์พระสงฆ์ สบสังวาสหมื่นหนึ่ง ถวายพระมหาทานเป็นอันมาก. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงศีล บำเพ็ญพระธรรมแรมอยู่พระตำหนักวัดบางยี่เรือนอก 5 เวน, แล้วให้ทำกุฏิถึง 120 กุฏิ แล้วให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและพระเจดีย์ วิหาร. คูริมพระอุโบสถนั้นให้ขุดลงแล้วปลูกบัวหลวง, ชำระแผ้วถางให้กว้างออกไปกว่าแต่ก่อน แล้วอาราธนาพระสงฆ์ฝ่ายคณะวิปัสสนามาอยู่ ณ กุฏิซึ่งทำถวาย.”

“ณ วันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 เพลา 2 ยามเสือเข้ามากินเขมรชายซึ่งเฝ้าสวนวัดบางยี่เรือ พระเจ้าลูกเธอและเจ้าพระยาจักรี พระยายมราช ข้าหลวง ออกไปวางยาเบื่อเสือกินเมาอยู่ จึงแต่งคนเข้าไปแทงเสือนั้นตาย.”

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความเหมือนกันหมดกับฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เว้นแต่ตรง “วัดบางยี่เรือนอก” เป็น “วัดบางยี่เรือใต้”.

นิราศนรินทร์ :-
   “จากมามาลิ่วล้ำ   ลำบาง
    บางยี่เรือลาพลาง   พี่พร้อง
    เรือแผงช่วยพานาง   เมียงม่าน มานา
    บางบ่รับคำคล้อง   คล่าวน้ำตาคลอ”

@@@@@@@

แต่บางนี้อยู่ที่ไหน

ตำนานพระอารามหลวงซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์ ณ อยุธยา) แต่งและพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2466 กล่าวว่า :-

“วัดจันทาราม อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ ริมปากคลองบางยี่เรือ เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดบางยี่เรือกลาง”

ตำนานพระอารามหลวงบอกให้เรารู้ว่า “บางยี่เรือ” อยู่ในคลองบางกอกใหญ่

“คลองบางกอกใหญ่” ก็คือคลองที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า “คลองบางหลวง” บางกอกใหญ่ เป็นชื่อที่คู่กับ “บางกอกน้อย” มาแต่เดิม, เพราะคำ “บางกอก” มีเอ่ยถึงมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว. คำ “บางหลวง” อาจมาเกิดขึ้นในสมัยเมื่อมาตั้งกรุงธนบุรีก็ได้. นายนรินทร์ธิเบศร์มหาดเล็กวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 2 ผู้แต่งนิราศนรินทร์ เมื่อเดินทางมาถึงปากคลองก็กล่าวว่า :-

   “มาคลองบางกอกกลุ้ม   กลางใจ
    ฤาบ่กอกหนองใน   อกช้ำ
    แสนโรคเท่าไรไร   กอกรั่ว ราแม่
    เจ็บรักแรมรสกล้ำ   กอกร้อยฤาคลาย”

แต่พระยาตรังกวีสมัยเดียวกันกลับเรียก “บางหลวง” (ในนิราศลำน้ำน้อย) :-

   “บางหลวงคลองน้ำวิ่ง   วนวง
    ขนานขนัดแพพวนเหนียว   หน่วงฝั้น”

มีพื้นที่อยู่พื้นที่หนึ่ง แถวริมคลองบางหลวงหลังวัดกัลยาณ์ ยังมีชื่อเรียกกันว่า “บางหลวง”.

แต่อย่างไรก็ตาม คำ “บางกอกใหญ่” กลับได้เป็นชื่อเขต (อำเภอ) คือ “เขตบางกอกใหญ่” แต่ท้องที่ “บางหลวง” กลับเป็น “แขวงวัดกัลยาณ์”.

@@@@@@@

“บาง” แปลว่า ทางน้ำ หรือ คลอง.

พึงสังเกต พื้นที่ที่ไม่มีคลองจะไม่มีคำว่า “บาง” เลย, แต่จะเป็น “บ้าน”. เช่น บ้านใหม่, บ้านทวาย, บ้านขมิ้น บ้านหามแห (กาฬสินธุ์), บ้านโคกใหญ่ (สระบุรี) ฯลฯ.

คลองที่มีน้ำชนกันกลางคลองก็เรียก “คลองบางน้ำชน”, คลองที่มีต้นลำภูมากก็เรียก “คลองบางลำภู” คลองที่มีต้นจากมากก็เรียก “คลองบางจาก”, คลองที่มีคนรักกันมากก็เรียก “คลองบางรัก”.

คำว่า “คลองบางยี่เรือ” นี้ถ้าไม่มีตำนานพระอารามหลวงบันทึกไว้อาจไม่มีใครรู้จักแล้วก็ได้ เพราะปัจจุบันเขาเรียกกัน “คลองสำเหร่”, คือเอาชื่อปากคลองด้านใต้มาเรียกปากคลองด้านเหนือด้วย. คลองนี้ด้านใต้ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาคู่กับคลองบางไส้ไก่เหนือสะพานกรุงเทพมาประมาณกิโลเมตรเศษ. ด้านเหนือมาออกคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่.

วัด 3 วัดตรงพื้นที่นี้ได้ชื่อไปจากคลองนี้คือ วัดบางยี่เรือเหนือ, วัดบางยี่เรือกลาง, วัดบางยี่เรือใต้, ที่ขนาบปากคลองจริงๆ นั้นมีเพียง 2 วัดคือ วัดบางยี่เรือกลาง กับวัดบางยี่เรือใต้ วัดบางยี่เรือกลางอยู่ปากคลองด้านเหนือ, วัดบางยี่เรือใต้อยู่ปากคลองด้านใต้, ที่เรียกวัดปากคลองด้านเหนือว่า “วัดบางยี่เรือกลาง” ก็เพราะอยู่กลางระหว่างวัดบางยี่เรือเหนือ กับวัดบางยี่เรือใต้,

@@@@@@@

วัดทั้ง 3 วัดนี้ปัจจุบันมีชื่อใหม่ทั้งนั้น ปรากฏประวัติย่ออยู่ในตำนานพระอารามหลวงดังนี้ :-

“วัดราชคฤห์ อยู่คลองบางกอกใหญ่เหนือ วัดจันทาราม เดิมชื่อวัดบางยี่เรือเหนือ. เป็นวัดโบราณเจ้ากรุงธนบุรี, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) สร้างใหม่, ถึงรัชชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชคฤห์”.

“วัดจันทาราม อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ ริมปากคลองบางยี่เรือ เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดบางยี่เรือกลาง, พระยาสุรเสนาสร้าง, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดจันทาราม”

“วัดอินทาราม อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ฝังใต้ เดิมชื่อวัดบางยี่เรือใต้. เป็นวัดโบราณ เจ้ากรุงธนบุรีปฏิสังขรณ์. ถึงรัชชกาลที่ 3 พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) ปลัดบาญชีกรมมหาดไทยสถาปนาใหม่, ภายหลังพระราชทานนามว่า วัดอินทาราม.”

วัดราชคฤห์ นั้นปากชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดมอญ”, ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทได้อาราธนาพระมอญมาครอง. ส่วนวัดจันทารามนั้นปากชาวบ้านเรียก “วัดกลาง” เฉยๆ, และวัดอินทาราม ชาวบ้านก็เรียก “วัดใต้” ห้วนๆ เช่นกัน.

จะเห็นว่าแม้เอกสารโบราณด้วยกันก็ยังเรียกไม่ตรงกัน, แล้วอะไรจะถูก.

ถ้าจะถามผม ผมก็ตอบว่า ก็ถูกด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ เพราะมันเป็นคำเรียกคนละสมัย คือเมื่อครั้งยังไม่มีกรุงธนบุรีนั้น เขาเรียกกันตามสายน้ำ. คือแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมันไหล (มาแต่เหนือ) เข้ามาแต่คลองบางกอกน้อยแล้วมาออกปากคลองบางกอกใหญ่, ถ้าคุณลอยเรือมาตามลำน้ำคุณก็จะถึงวัดมอญหรือวัดราชคฤห์ก่อน เพราะอยู่เหนือกว่า จึงเป็น “บางยี่เรือเหนือ” ส่วนวัดอินทาราม นั้นถึงทีหลังเพราะอยู่ใต้น้ำ จึงเป็น “บางยี่เรือใต้”

พอมาตั้งกรุงธนบุรีปุ๊บ คุณแล่นเรือเข้าไป แต่ปากคลองด้านกรุงอยู่ คุณก็จะถึงวัดใต้ก่อน, วัดใต้จึงเป็น “บางยี่เรือนอก” ส่วนวัดมอญนั้นอยู่ลึก-ในเข้าไปอีก จึงเป็น “บางยี่เรือใน”.

วัดจันทารามนั้นไม่มีปัญหา, ไม่ว่าจะมาจากทางไหนก็อยู่กลางทั้งนั้น จึงเป็น “บางยี่เรือกลาง”.


@@@@@@@

คำ “บาง” ก็แปลไปแล้ว, อยู่แต่ “ยี่เรือ” จะแปลว่าอะไร

ตามเอกสารของทางราชการคือ เขตธนบุรีพิมพ์เผยแพร่นั้นบอกว่า

“ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน ใช้เรือสำเภารับ-ส่งสินค้าในบริเวณใกล้เคียงกับวัดราชคฤห์ มีพระญาติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 2 คน นำเรือสำเภามาจอดอยู่เป็นประจำ จึงเรียกตำบลนี้ว่า ‘บางยี่เรือ’. คำว่า ยี่ แปลว่า สอง. ในสมัยโบราณ มักนิยมเรียกท้องถิ่นหนึ่งๆ ว่า ‘บาง’ จึงเรียกบริเวณแถบนั้นว่า ‘บางยี่เรือ’”.

ประวัติของทางการเขตธนบุรีนี้ ผมขอคัดค้าน ว่าไม่จริง, ไม่ถูก, ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ :-

1. เรื่องพระญาติของพระเจ้ากรุงธนบุรี 2 คนนำเรือสำเภามาจอดเป็นประจำ
    ก. ญาติ 2 คนนี้ไม่เคยปรากฏในจดหมายเหตุใดเลย.
    ข. แต่ก่อนนี้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก, เรือ-แพย่อมจอดกันเต็มแม่น้ำลำคลอง, เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่เรือ 2 ลำจอดจนเป็นที่สังเกตของผู้คนจนเป็นเหตุให้เกิดคำว่า “ยี่เรือ” ขึ้น.
    ค. แถววัดราชคฤห์ไม่เคยมีร่องรอยว่าจะเป็นท่าจอดเรือขนส่งสินค้าเลย, ถ้าหากว่าแถวนี้เป็นย่านเจริญถึงขนาดนั้น คงไม่มีเรื่องเสือเข้ามากินคนเฝ้าสวนที่วัดบางยี่เรือใต้แน่.

2. คำ “ยี่” ไม่เคยมีแปลว่า 2. “ลูก 2 คน” ไม่เคยมีใครพูดว่า “ยี่ลูก”. ยี่ แปลว่า ที่ 2, ลูกคนที่ 2 เรียกลูกยี่ อย่างเช่น “เจ้ายี่พระยา” เป็นต้น เดือนยี่ คือ เดือนที่ 2. ยี่สิบ คือ สิบที่ 2.

3. คำว่า “บาง” เป็นคำเรียกท้องถิ่นก็แต่เฉพาะท้องถิ่นที่มีลำคลองเท่านั้น ถ้าท้องถิ่นใดไม่มีลำคลองก็จะเรียกว่า “บ้าน” ดังตัวอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

@@@@@@@

เจ้าคุณพระพิพัฒน์ธรรมคณี เจ้าอาวาสวัดราชคฤห์ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เคยมีผู้ใหญ่มาเล่าให้ท่านฟังว่า พื้นที่ตรงนี้เคยมีกองมอญน้อยๆ จะตามกองทัพมาแต่สมัยไหนไม่ทราบ อพยพเข้ามาอยู่, จึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ตามภาษาของเขาว่า “ยิรัว” แล้วคนไทยเราฟังไม่เข้าใจจึงเรียกเพี้ยนเป็น “ยี่เรือ” เหมือนอย่าง เซอร์ เจมส์บรุค เราก็เรียกเพี้ยนไปเป็น เยสัปรุษ บ้าง เยี่ยมบุกรุก บ้าง อย่างนั้น.

ผมเชื่ออย่างที่พระท่านว่าครับ เพราะ

1. วัดนั้นเป็นหลักฐานอย่างดี แสดงว่าวัดนี้แต่เดิมคงเป็นวัดรามัญนิกายมาก่อน สมเด็จกรมพระราชวังบวรท่านจึงทรงนิมนต์พระรามัญมาครองพร้อมๆ กับวัดตองปุ (วัดชนะสงคราม) และวัดที่สามโคก จังหวัดปทุมธานี. อนึ่ง คนมอญพม่านั้นจะอพยพไปไหนเขาจะเอาพระไปด้วย เมื่อรัชกาลที่ 1 พระยาทวายอพยพมาอยู่กรุงเทพฯ โปรดให้ไปอยู่แถวคอกกระบือ (แถวยานนาวา) ก็เอาพระมาด้วย. อนุสรณ์ในคราวนี้ก็คือวัดปรกในตรอกบ้านทวาย นั่นไง (ปัจจุบันเรียกตรอกวัดดอน หรือซอยดอนกุศล) ที่ลำปางก็มีอยู่หลายวัดที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งชาวพม่าเข้ามาทำไม้

2. ใครๆ คงจะเคยได้ยินภาษิตมอญที่ว่า “เจี๊ยะเปิงยิๆ…” ซึ่งแปลว่า กินข้าวน้อยๆ นะครับ, ยิ แปลว่า น้อย และ รัว ก็แปลว่า กอง

สุดท้ายนี้ก็ขอแก้คำผิดข้างต้นที่ผมบอกว่า “คลองที่มีคนรักกันมากเรียก คลองบางรัก” คงจะไม่ยังงั้นมั้ง เพราะไม่ว่าคลองไหนๆ คนมันก็รักกันทั้งนั้น แท้จริงแล้วคงจะเป็นว่า มีต้นรักมาก นั่นเอง


อ่านเพิ่มเติม :-

    - ที่มาเขต “บางซื่อ” กับตำนานเรื่องเล่าพระเจ้าอู่ทองเอาทองมาซ่อนในย่านคนซื่อ
    - เปิดที่มา ชื่อเขต “บางกะปิ” เกี่ยวอะไรกับของกินอย่าง “กะปิ” ไหม?






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2540
ผู้เขียน : ภาษิต จิตรภาษา
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 28 กันยายน 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_93927
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ