ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เบื้องหลังเรื่องเล่า “พระเจ้าอู่ทอง” ปราบ “นาค” ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา  (อ่าน 422 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ภาพสลักหินที่ปราสาทบายน ในนครธม เชื่อว่าเป็นภาพที่เล่าเรื่องกษัตริย์กับ "นาค" ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2546)


เบื้องหลังเรื่องเล่า “พระเจ้าอู่ทอง” ปราบ “นาค” ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา

ความเชื่อเรื่องนาคแพร่หลายในอุษาคเนย์เป็นเวลายาวนาน ทุกวันนี้ความเชื่อเรื่องนาคยังดำรงอยู่อย่างแรงกล้า สะท้อนผ่านสภาพสังคมและวัฒนธรรม สื่อบันเทิงซึ่งถูกผลิตโดยอ้างอิงความเชื่อกลุ่มนี้ก็ได้รับความนิยม ความสัมพันธ์ระหว่างนาคกับมนุษย์มีทั้งราบรื่นและรุนแรง ส่วนที่รุนแรงก็มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาด้วย

ความเชื่อเรื่องนาคในอุษาคเนย์มีส่วนคล้ายคลึงกับความเชื่อของส่วนอื่นในโลกที่มีลัทธิบูชางู หลักฐานบนภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ที่จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏมีลวดลายรูปงู เป็นเครื่องบ่งบอกเรื่องความเชื่อเรื่องการนับถืองูมาก่อน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างนาคกับมนุษย์ก็มีความขัดแย้ง เห็นได้จากศิลปะและนิทานที่ถูกบันทึกเอาไว้ ทั้งนิทานปรัมปราเรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ในหนังสือพงศาวดารภาคที่ 71 ขณะที่ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาก็เล่าความขัดแย้งระหว่างนาคกับกษัตริย์อีกรูปแบบหนึ่ง

หนังสือ “นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์” เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างนาคกับมนุษย์ที่กรุงศรีอยุธยาก็ถูกเอ่ยถึงในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต

เนื้อหาส่วนนี้เล่าเรื่องนิทานเกี่ยวกับ “พระเจ้าอู่ทอง” ที่ต้องจัดการกับนาคก่อนบูรณะ “เมืองอยุธยา” เรื่องราวเล่าว่า ขณะที่พระเจ้าอู่ทองทรงทราบว่าเกาะที่จะเป็นที่ตั้งเมืองอยุธยาเป็นสถานที่สวยงาม แต่ไม่มีผู้พำนักอาศัย ไม่มีผู้ตั้งเมืองขึ้น พระองค์พบพระฤาษีตนหนึ่งกราบทูลพระองค์ว่า ก่อนหน้านี้มีเมืองที่ชื่ออยุธยาตั้งอยู่ แต่ไม่ได้บอกสาเหตุของการเสื่อมโทรม และทักว่าจะไม่มีใครสร้างเมืองบนเกาะนี้ได้อีก

@@@@@@

    “เหตุผลก็คือมีสถานที่หนึ่งชื่อ Whoo Telenkengh (ผู้เขียนหนังสือตั้งข้อสังเกตว่า อาจหมายถึง วัดตะแลงแกง) ปัจจุบันตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีบ่อซึ่งเป็นที่อาศัยของมังกรดุร้ายตัวหนึ่งซึ่งชาวสยามเรียกว่า นาคราช (Nack Rhaji) เมื่อไรก็ตามที่มังกรตัวนี้ถูกรบกวนก็จะพ่นน้ำลายพิษออกมา ซึ่งทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณนั้นเกิดโรคระบาดเสียชีวิตลงเพราะกลิ่นเหม็น”

พระฤาษีเล่าว่า ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ นอกจากต้องหาฤาษีผู้มีลักษณะเหมือนตัวฤาษีเองทุกประการอีกองค์โยนลงไปให้มังกร ท้าวอู่ทองมีพระบรมราชโองการให้สืบหาฤาษีลักษณะที่ว่าไปทั่วประเทศ สุดท้ายก็ไม่พบ ท้าวอู่ทองไม่ได้บอกข่าวนี้กับผู้ใด

เมื่อเสด็จไปพร้อมกับพระฤาษีไปที่สระที่อยู่ของมังกร พระองค์ทรงเหวี่ยงพระฤาษีลงสระโดยที่พระฤาษีไม่ทันรู้ตัว และถมสระเสีย มังกรตัวนั้นก็ไม่ปรากฏตัวอีก แผ่นดินก็พ้นจากโรคระบาด ท้าวอู่ทองจึงเริ่มบูรณะเมือง และเรียกเมืองนี้ว่า “อยุธยา”


@@@@@@

การวิเคราะห์ของสุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่า นิทานระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อนาคพ่นพิษออกมาทำให้เกิดโรคระบาด พอฆ่านาคแล้วโรคระบาดก็หมดไป เรื่องราวที่พระเจ้าอู่ทองต้องฆ่า “มังกร” (นาค) ก่อนสร้างเมืองได้นั้น นาคในนิทานคือสัญลักษณ์ของโรคระบาดมากกว่าจะสื่อถึงสัญลักษณ์ของคนพื้นเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อม ต้องทำลายล้างก่อนจะสร้างเมืองได้

ขณะที่พระเจ้าอู่ทองในนิทานมีแนวโน้มหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์ละโว้ เมืองลพบุรี ผู้เขียนหนังสือระบุว่า

    “เชื้อสายราชวงศ์ละโว้ย้ายราชธานีจากกรุงละโว้หรือลพบุรีมาอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาหรืออโยธยานานแล้ว คงร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัยจนถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีก็เกิดโรคระบาดซึ่งอาจเป็นกาฬโรคก็ได้ ทำให้มีผู้คนล้มตายมากมาย สมเด็จพระรามาธิบดีต้องทรงสถาปนาเมืองใหม่เพื่อล้างอาถรรพณ์ที่ถูกโรคระบาดคุกคาม แล้วขนานนามว่าพระนครใหม่ว่ากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893”




อ้างอิง : สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2546
เผยแพร่ครั้งแรก: เมื่อ 19 ตุลาคม 2561
เผยแพร่ : วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_21477
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ