ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นิพพานํ ปรมํ สุขํ | ความสุขที่สมบูรณ์ ดูอย่างไร.?  (อ่าน 408 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ความสุขที่สมบูรณ์ ดูอย่างไร.? ธรรมะโดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงความสุขอย่างสูงสุดไว้ดังนี้...ทีนี้ก็มาถึงลักษณะของความสุขอย่างสูงสุด ความสุขตามหลักพระพุทธศาสนาพูดรวบรัดทีเดียว ก็คือ นิพพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นความสุขที่สูงสุด

ตอนนี้เมื่อพัฒนาความสุขมาจนแตะหรืออ้างอิงพาดพิงถึงความสุขอย่างสูงสุดแล้ว ก็ควรจะรู้ว่าความสุขสูงสุดมีลักษณะอย่างไร เผื่อจะเอาไว้ใช้ตรวจสอบความสุขของเราว่าเข้าในแนวทางที่ถูกต้องไหม มีทางที่จะพัฒนาดีขึ้นไปได้ไหม อย่างน้อยก็จะได้ใช้เป็นแนวในการปรับปรุงความสุขของเราให้มีคุณภาพดีขึ้น มีคุณให้มาก มีโทษให้น้อย แล้วตัวเราเองก็จะปฏิบัติต่อความสุขที่มีอยู่ได้ถูกได้ดีขึ้นด้วย

ลักษณะง่าย ๆ ของความสุขอย่างสูงสุด หรือความสุขที่สมบูรณ์ที่พอจะปรากฏออกมาให้พูดถึงได้ ก็คือ

1. เป็นสุขตลอดเวลา ไม่ต้องหา เป็นคุณสมบัติประจำ มีอยู่กับตัว
2. เป็นสุขอิสระ ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไร ๆ เช่น ไม่อาศัยสิ่งเสพ
3. เป็นสุขล้วน บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีทุกข์แฝงหรือค้างคาเหลืออยู่เลย

@@@@@@

ข้อแรก. ความสุขอย่างสูงสุดนั้นมีอยู่ในตัวตลอดเวลา เพราะเป็นคุณสมบัติของชีวิตไปแล้ว เป็นของประจำตัว เมื่อมีอยู่ข้างในของตัวเอง มีอยู่กับตัวแล้ว ก็ไม่ต้องหา เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า จะเสด็จไปไหน จะจาริกรอนแรมไปกลางป่า บนเขา มีคนหรือไม่มีใคร อย่างไรก็มีความสุข เพราะความสุขเป็นคุณสมบัติอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาแล้ว

ข้อสอง. เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไร ๆ เป็นสุขที่อยู่กับตัวเอง จึงเป็นอิสระ เป็นไทแก่ตัว ตรงข้ามกับกามสุขที่เป็นสุขแบบพึ่งพาเต็มที่ แล้วปัญหาทั้งหลายก็เกิดขึ้นมาเพราะการที่ต้องพึ่งพากาม ต้องพึ่งพาวัตถุนี่แหละ

กามสุข หรือสามิสสุขนั้น (เรียกให้สะดวกลิ้นไทยว่า “อามิสสุข” ก็ได้) เป็นสุขที่ขึ้นต่อสิ่งเสพ อาศัยของรักของชอบข้างนอก ไม่เป็นอิสระกับตัวเอง อย่าง รูป รส กลิ่น เสียง ของสัมผัสทั้งหลาย เราต้องขึ้นกับมันทั้งนั้น คือจะมีสุขได้ ก็ต้องพึ่งมัน ต้องอาศัยมัน ต้องไปเที่ยวหาเอามาและครอบครองไว้ ต้องคอยดูแลให้ดี ต้องคุ้มครองป้องกัน หวงแหนหนักเหนื่อยกับมัน ตัวเองก็ไม่เป็นอิสระ แล้วก็ทำให้ขัดแย้งกัน ต้องแย่งชิงกับคนอื่น เป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน

แต่เมื่อเราพัฒนาความสุขที่เป็นอิสระขึ้นมาได้ ตัวเองก็มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพา แล้วก็ไม่ต้องแย่งชิงเบียดเบียนกัน

ข้อสาม. เป็นความสุขที่สมบูรณ์ ลักษณะที่สมบูรณ์ก็คือ ไม่มีทุกข์แฝง ไม่มีอะไรรบกวนหรือค้างคาระคาย คนในโลกจำนวนมากบอกว่าเขามีความสุข แต่ลึกลงไป ยังมีทุกข์หรือมีเหตุแห่งทุกข์แฝงอยู่ เช่น มีกังวล หวั่นใจ หวาด ระแวง ห่วง ค้างคาระคายใจ บ้างก็มีอาหารเหงา หงอย อ้างว้าง ว้าเหว่ บอกว่ามีความสุข แต่เสวยสุขเหล่านั้นไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่ได้สุขเต็มที่

ทีนี้ พอหมดเหตุแห่งทุกข์ในตัวแล้ว ก็มีความสุขสมบูรณ์เต็มที่ ไม่มีทุกข์อะไรจะเหลือจะแฝง ที่จะมารบกวนระคายใจ จะเสวยสุขอื่นอะไร ก็ได้ความสุขนั้นเต็มที่ เป็นความสุขอยู่แล้วในตัวด้วย และทำให้พร้อมที่จะเสวยสุขอื่นอย่างเต็มอิ่มด้วย

เหมือนอย่างพระอรหันต์ซึ่งมีสุขประเภทสมบูรณ์นี้ อย่างที่ว่ามีความสุขอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นคุณสมบัติอยู่ในตัว ทั้งที่สุขอยู่แล้วนี้ พร้อมกันนั้นท่านก็เสวยความสุขอย่างอื่นด้วยตามปรารถนา และได้ความสุขจากภาวะแห่งความสุขอันนั้นเต็มที่

ดังเช่นพระอรหันต์อยู่ว่าง ๆ ไม่มีกิจอะไรจะพึงทำ ท่านก็เข้าฌาน 4 เสวยฌานสุข เรียกว่าเอาฌาน 4 เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร แปลว่า เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และในเวลาที่เสวยฌานสุขนั้น ท่านก็สุขเต็มที่จากฌาน เพราะไม่มีอะไรแฝงระคายในใจ ต่างจากพวกมนุษย์ปุถุชนที่ยังมีเชื้อแห่งทุกข์แฝงอยู่ในใจ ถึงได้ฌานเข้าฌานอะไร ก็ยังมีเชื้อทุกข์แฝงอยู่ข้างใน ไม่โล่งไม่โปร่งแท้ นี่แหละเป็นความแตกต่างอันหนึ่ง


@@@@@@

ย้ำอีกทีว่า สุขสูงสุดนี้ทั้งสมบูรณ์เป็นความสุขในตัวด้วย และทำให้มีความพร้อมที่จะเสวยสุขอื่นได้เต็มที่ด้วย เมื่อเป็นผู้พร้อมอย่างนี้แล้ว จะเสวยสุขอะไรก็ได้

ลองดูในมาคัณฑิยสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเราไม่บรรลุสุขที่สูงอันประณีตนี้ เราก็รับประกันตัวไม่ได้ว่าเราจะไม่หวนกลับมาหากามสุข แต่เพราะเราได้เข้าถึงความสุขที่ประณีตนี้แล้ว ก็เลยไม่มีความคิดที่จะเสพเสวยกามสุขนั้น นี่คืออย่างไร

ถ้าจะอุปมา ก็เหมือนกับผู้ใหญ่มาเห็นเด็กเล่นขายของ ก็ไม่รู้สึกลงมาว่าทำอย่างนั้นจะมีความสุข ที่ไม่เสวยสุขนั้นไม่ใช่เพราะว่าทำไม่ได้ แต่เพราะว่าจิตใจมันไปเอง มันเป็นพัฒนาการในทางความสุขตามภาวะของจิตใจที่จะเป็นไปอย่างนั้น

แต่ทั้งนี้ท่านมีความพร้อมที่จะเสวยสุขได้เต็มที่อย่างไม่มีอะไรค้างคาระคายเคืองใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นสุขที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์ ก็เลยเท่ากับสรุปอีกทีว่า ทั้งสุขตลอดเวลา เพราะว่ามีสุขประจำอยู่ในตัว และจะเสวยสุขอะไรอีกก็ได้แล้วแต่ปรารถนาได้เต็มที่ เพียงแต่ว่าพัฒนาการมันเป็นไปเองที่จะไม่ไปเสวยสุขอย่างนั้นอย่างนี้

 

ที่มา : ความสุข ทุกแง่ทุกมุม โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
Photo by : Pablo Heimplatz on Unsplash
Secret Magazine (Thailand) ,IG @Secretmagazine
ขอบคุณ ; https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/168945.html
By ying ,9 August 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ