ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คำว่า “อารมณ์ขัน” ไม่มีในคำสอนของพุทธฯ จะอธิบายข้อนี้อย่างไร.?  (อ่าน 1147 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


 :49: :49: :49: :49:


คำว่า “อารมณ์ขัน” ไม่มีในคำสอนของพุทธฯ จะอธิบายข้อนี้อย่างไร.?

นานๆไป คำพูดอย่างนี้ จะกลบเกลื่อนความหมายที่แท้จริงในทางพุทธศาสนา ยิ่งผุู้ที่พูดเป็นภิกษุด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดการไคว่เขว เข้าใจผิด และก่อให้เกิดสัทธัมมปฏิรูป (สัทธรรมเทียม) ขึ้น

@@@@@@

ถ้าจะอธิบายคำว่า “อารมณ์ขัน” ให้เข้ากับคำสอนทางพุทธฯ ก็พออธิบายได้ว่า

“อารมณ์ (สิ่งที่จิตเข้าไปรับรู้) อะไรก็แล้วแต่ ที่บุคคล(จิต)เข้าไปรับรู้แล้ว ก่อให้เกิดความรื่นเริง,บันเทิงใจ,ก่อให้เกิดความโสมนัส, ยินดี และก่อให้เกิดการหัวเราะ(ขบขัน) อารมณ์นั้น ก็ชื่อว่า “อารมณ์ขัน” (อาจจะเทียบได้กับอธิบดีอารมณ์) คืออารมณ์อันเป็นที่ตั้ง, หรือเป็นเหตุให้บุคคลเกิดการขบขัน แล้วก็แสดงออกมาทางกายที่เรียกว่า “การหัวเราะขบขัน” 

(การแสดงธรรมะ ที่ก่อให้เกิดการขบขัน จริงๆก็ไม่ใช่หลักการของพุทธฯ เพราะว่าโดยสภาวธรรมแล้ว ผู้ที่เข้าใจในธรรมะ, ซาบซึ้งในรสพระะธรรมะแล้ว จะไม่แสดงกิริยาอาการขบขัน อาจจะมีความรื่นเริงบันเทิงใจบ้าง, หรือมีปีติยินดีบ้าง แต่ก็ไม่ใช่การขบขัน เพราะการขบขันในทางโลก เป็นลักษณะของโลภะโสมนัสสหคจิต (จิตเป็นโลภะโสมนัส ซึ่งเป็นอกุศลจิต) ส่วนความปีติในธรรม รื่นเริงอาจหาญในธรรม เป็นโสมนัสที่ประกอบกับมหากุศลจิต)


@@@@@@

ในทางโลก คำว่า “อารมณ์” เมื่อฟังดูแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่จิตเข้าไปรับรู้ แต่เป็นอาการหรือกิจอย่างหนึ่งของจิต เช่น คำว่า

     – “ไม่มีอารมณ์” ลักษณะความหมายของทางโลก ก็คือ “อาการที่จิตไม่ยินดี,พอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางอย่างก็มุ่งหมายถึงจิตโกรธ, เช่นไม่มีอารมณ์จะทำงาน, ไม่มีอารมณ์จะเที่ยว ไม่มีอารมณ์จะ กิน ดื่ม ทำ พูด…..

     – “เสียอารมณ์” ลักษณะก็คล้าย ๆ กันกับคำว่า “ไม่มีอารมณ์” แต่คำว่า “เสียอารมณ์” จะแสดงความมุ่งหมายที่ชัดเจนกว่า ว่า “ไม่พอใจ” ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งชัดเจน (คือจิตโกรธ นั่นเอง)

     – “เกิดอารมณ์” ก็ทำนองเดียวกัน มุ่งหมายเอาทั้งอาการของจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ตัณหา ราคะ (เช่น เมื่อเห็นภาพโป้ ก็เกิดอารมณ์ทางเพศ), หรือบางอย่าง “เกิดอารมณ์” ก็หมายถึงการเกิดโทสะ โกรธ ก็มี…

     – “หมดอารมณ์” ก็คล้ายๆกัน แต่บางทีก็มุ่งหมายถึงการจะกระทำกิจของตัณหา คือ เกิดอารมณ์ทางเพศ (ความต้องการทางเพศ ขึ้น, แต่มีสิ่งใดมาขัดขวาง หรือไม่พอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็เลยทำให้จิตที่จะปฏิบัติกามกิจนั้นสลายไป เรียกว่า “หมดอารมณ์”

     – หรือคำว่า “อย่าใช้อารมณ์” ก็คืออย่าก่อให้เกิดความโกรธ ในขณะที่พูด หรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง… (ข้อนี้มุ่งหมายถึงการเกิดโทสะค่อนข้างชัดเจน)

     – “อารมณ์ดี” หมายถึงจิตใจดี ลักษณะที่แสดงออกก็คือ ไม่หงุดหงิด ไม่โกรธ ไม่วู่วาม ไม่หน้าบึ้ง หน้างอ แต่มีความใจเย็น ร่าเริง เป็นต้น

@@@@

จะเห็นได้ว่า คำว่า “อารมณ์” ที่ใช้กันในทางโลกนั้น ไม่ได้มุ่งหมายเอาสิ่งที่จิตเข้าไปรับรู้ ที่เรียกว่า “อารมณ์” อย่างเช่นอารมณ์ ๖ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเย็น-ร้อน และการคิดนึกสิ่งต่าง ๆ ทางใจ) แต่หมายเอาอาการของจิตที่ประกอบกับโลภะ (ตัณหา,ราคะ) หรือโทสะไปแล้ว

คำว่า “อารมณ์ขัน” ก็เช่นเดียวกัน เป็นอาการของจิต ที่เบิกบาน แช่มชื่น สดใส (โสมนัสเวทนา) และแสดงออกมาทางกาย คือการยิ้ม และการหัวเราะ จึงไม่ตรงกับคำว่า “อารมณ์” ที่ท่านแสดงไว้ในทางพุทธศาสนา


@@@@@@

จริงๆ “อารมณ์ขัน” หรือการขบขันนั้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ.?

ต่อเมื่อบุคคลรับอารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น “ได้ยินเสียง” (หู+กระทบกับเสียง+แล้วเกิดจิต คือโสตวิญญาณจิตรับรู้+เกิดการปรุงแต่งแล้วชื่นชมยินดีในเสียงนั้น) แล้วต่อจากนั้นก็เกิดการหัวเราะ ซึ่งเป็นการแสดงออกของจิตที่เกิดการชื่นชมยินดีในเสียง หรือเรื่องราวที่ได้ปรุงแต่งแล้วนั้นอย่างแรงกล้า…แล้วแสดงพฤติกรรม คือการหัวเราะออกมา

(แต่พระอรหันต์ จะไม่แสดงออกอย่างปุถุชน คือการหัวเราะ และเพราะความที่ท่านไม่หัวเราะ ปุถุชนจะไปบอกว่า ท่านไม่มีอารมณ์ขัน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะปุถุชน เข้าใจในคำว่า “อารมณ์” ผิด (ผิดทั้งความหมาย, ผิดทั้งสภาวะ) แต่พระอรหันต์ ท่านไม่มีความเห็นผิดในอารมณ์แล้ว ท่านรู้ความเป็นจริงของรมณ์ ท่านจึงไม่มีความขบขัน, แต่อาจจะเกิดการแย้มได้ด้วยหสิตุปาทจิต ในบางครั้ง แต่ไมใช่หัวเราะ)

@@@@

“อารมณ์ขัน” ไม่เกี่ยวข้องกับการรู้ การเข้าใจ ซาบซึ้งในรสพระธรรมในพุทธศาสนาเลย ตรงกันข้าม “อารมณ์ขัน” กับเป็นการแสดงออกที่ไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจ ซาบซึ้งในรสพระธรรม เผลอๆกลายเป็นการไม่เคารพพระธรรมด้วยซ้ำไป

ในสมัยพุทธกาล ไม่ปรากฎมีพระสาวก หรือพระอริยสาวกองค์ใด รูปใด ที่ซาบซึ้งในรสพระธรรม เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว จะเกิดอารมณ์ขบขัน นั่งยิ้มหรือนั่งหัวเราะทั้งวัน ไม่เคยมี




อารมณ์ต่างๆ ที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา แบ่งไว้หลายนัยะด้วยกัน คือ

อารมณ์ทั้งหมดแบ่งเป็น ๒ พวก คือ
๑. เตกาลิกอารมณ์ คืออารมณ์ที่ประกอบด้วยกาลทั้ง ๓ คือ ปัจจุบัน, อดีต, อนาคต ได้แก่ จิต เจตสิก รูป
๒. กาลวิมุตติอารมณ์ คืออารมณ์ที่พ้นจากกาลทั้ง ๓ ข้างต้น ซึ่งได้แก่ นิพพาน บัญญัติ

อารมณ์ที่จัดแบ่งตามอำนาจ ๒ อย่าง
๑. สามัญญอารมณ์ อารมณ์ธรรมดา ไม่มีกำลังครอบงำจิตได้
๒. อธิบดีอารมณ์ อารมณ์ที่มีอำนาจครอบงำจิต ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยอำนาจอของอารมณ์นั้น

@@@@

อารมณ์ที่จัดโดยลักษณะ ๒ อย่าง
๑. อิฏฐารมณ์  อารมณ์ที่น่ายินดี พอใจ
๒. อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจ

อารมณ์ประเภทใหญ่ ๔ ชนิด
๑. กามอารมณ์ ได้แก่อารมณ์ที่เป็นกาม ได้แก่ กามจิค ๕๔,เจตสิก ๕๒,รูป ๒๘
๒. มหัคคตอารมณ์ คือ อารมณ์ที่เป็นมหัคคตะ ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕, อรูปวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๕
๓. นิพพานอารมณ์  คือ นิพพาน จัดเป็นจัดเป็นโลกุตตรอารมณ์
๔. บัญญัติอารมณ์ ได้แก่อารมณ์ที่เป็นบัญญัติทั่วๆไป


@@@@

อารมณ์ ๖ ชนิด (นับตามทวาร ๖)
1. รูปารมณ์    ได้แก่ สี ต่าง ๆ
2. สัททารมณ์  ได้แก่ เสียง ต่าง ๆ
3. คันธารมณ์  ได้แก่ กลิ่น ต่าง ๆ
4. รสารมณ์  ได้แก่ รส ต่าง ๆ
5. โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
6. ธรรมารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่ปรากฎทางมโนทวารอย่างเดียว  ได้แก่ จิต, เจตสิก, ปสาทรูป, สุขุมรูป, นิพพาน, และ บัญญัติ

@@@@@@

อารมณ์พิสดาร ๒๑ ชนิด (นับตามชื่อที่เรียก)
1. กามอารมณ์ ได้แก่อารมณ์ที่เป็นกาม ได้แก่ กามจิค ๕๔,เจตสิก ๕๒,รูป ๒๘
2. มหัคคตอารมณ์ คือ อารมณ์ที่เป็นมหัคคตะ ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕, อรูปวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๕
3. นิพพานอารมณ์ คือ นิพพาน จัดเป็นจัดเป็นโลกุตตรอารมณ์
4. นามอารมณ์ อารมณ์ที่เป็นนาม ได้แก่ จิต เจตสิก นิพพาน
5. รูปอารมณ์ อารมณ์ที่เป็นรูป ได้แก่ รูป ๒๘
6. ปัจจุบันอารมณ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ที่กำลังเกิด
7. อดีตอารมณ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ที่ดับไปแล้ว
8. อนาคตอารมณ์  ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ที่จะเกิดในอนาคต
9. กาลวิมุตติอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่พ้นจากกาลทั้ง ๓ ได้แก่ นิพพาน, บัญญัติ
10. บัญญัติอารมณ์ ได้แก่ สัททะบัญญัติ, อัตถะบัญญัติ
11. ปรมัตถอารมณ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
12. อัชฌัตตอารมณ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง
13. พหิทธอารมณ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นภายนอกตัวเอง
14. อัชฌัตตพหิทธอารมณ์  ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกตัวเอง
15. ปัญจารมณ์ ได้แก่อารมณ์ ๕ หรือ ๗ (สี,เสียง,กลิ่น,รส,เย็น,ร้อน,อ่อน,แข็ง,หย่อน,ตึง)
16. รูปารมณ์ ได้แก่ สี ต่าง ๆ
17. สัททารมณ์ ได้แก่ เสียงต่าง ๆ
18. คันธารมณ์ ได้แก่กลิ่นต่าง ๆ
19. รสารมณ์ ได้แก่ รสต่าง ๆ
20. โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
21. ธรรมารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่ปรากฎทางมโนทวารอย่างเดียว  ได้แก่ จิต, เจตสิก, ปสาทรูป, สุขุมรูป, นิพพาน, และ บัญญัติ


@@@@@@

ยังมีอารมณ์ที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์นาม-รูปวิถีวินิจฉัย อีก ๘ อย่าง ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

ก. อารมณ์ที่เป็นไปทางปัญจทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) มี ๔ อย่าง คือ
     ๑. อติมหันตารมณ์ ได้แก่อารมณ์ที่มีจิตตักขณะมากเหลือ นับแต่การเกิดขึ้นแห่งอารมณ์ในปัญจทวาร ทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นครบทั้ง ๗ อย่าง
    ๒. มหันตารมณ์ ได้แก่อารมณ์ที่มีจิตตักขณะมาก นับแต่การเกิดขึ้นแห่งอารมณ์ในปัญจทวาร มีวิถีจิตเกิดได้ถึง ๖ ขณะ
    ๓. ปริตตารมณ์ ได้แก่อารมณ์ที่มีจิตตักขณะจำนวนน้อย นับแต่การเกิดขึ้นแห่งอารมณ์ในปัญจทวาร คือมีวิถีจิตเกิดได้เพียง ๕ อย่าง
    ๔. อติปริตตารมณ์ ได้แก่อารมณ์ที่มีจิตตักขณะจำนวนน้อยที่สุด นับแต่การเกิดขึ้นแห่งอารมณ์ในปัญจทวาร มีเพียงภวังค์ไหว ไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นเลย

@@@@

ข. อารมณ์ที่เป็นไปทางมโนทวาร (ทางใจอย่างเดียว) รวมทุกมติ มี ๔ อย่าง คือ
     ๑. อติวิภูตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ปรากฎชัดทางใจมากที่สุด
     ๒. วิภูตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ปรากฎชัดทางใจมาก
     ๓. อวิภูตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ปรากฎชัดทางใจ
     ๔. อติอวิภูตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ปรากฎชัดทางใจมากที่สุด



ขอบคุณที่มา : dhamma.serichon.us/บทความ/คำว่า-อารมณ์ขัน-ไม่มีใน/ 
By VeeZa , ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๑
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ