ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทุกข์และนิโรธเป็นผล สมุทัยและมรรคเป็นเหตุ  (อ่าน 1496 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ทุกข์และนิโรธเป็นผล สมุทัยและมรรคเป็นเหตุ

ในบางโอกาส พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “หลักแห่งเหตุผล” โดยแสดงครบชุดในหลักอริยสัจ 4 คือ
    - ทุกข์และนิโรธ เป็นผล
    - สมุทัยและมรรค เป็นเหตุ

ทรงชี้ว่า ความทุกข์ (ปัญหาของชีวิตทุกรูปแบบ) ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันมีเหตุเป็นแดนเกิด และเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดนั้นก็คือตัณหา (ความทะยานอยาก) ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี ยังไม่เป็น, ไม่ว่าจะอยากให้สิ่งที่น่าปรารถนาที่ได้แล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว คงอยู่ตลอดไป, หรือไม่ว่าอยากสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป สรุปว่าความอยากของคนนี้แหละเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์


@@@@@@

ทรงชี้ต่อไปว่า การหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น มีได้ และมิใช่ว่าอยู่ๆ ทุกข์จะหมดไป ต้องมีสาเหตุที่ทำให้หมด สาเหตุแห่งการดับทุกข์นั้นก็คือ การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 (คือความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การกระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ)

หลักเหตุผลนี้ พระอัสสชิเถระได้สรุปลงด้วยโศลกสั้นๆ ว่า
     เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต (อาห)
     เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ

     สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น
     และการดับเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้

@@@@@@

พระอัสสชิเป็นน้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ ถูกส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนาร่วมกับพระอรหันต์ 60 รูป หลังจากได้ไปทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ และประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน จึงเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า

เช้าวันหนึ่งพระอัสสชิออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ เด็กหนุ่มชื่ออุปติสสะ ศิษย์ของเจ้าลัทธิชื่อสัญชัย เวลัฏฐบุตร พบเข้า รู้สึกประทับใจในบุคลิกอันงามสง่าและสำรวมของท่าน จึงเข้าไปสนทนาด้วย

อุปติสสะขอให้พระอัสสชิแสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิออกตัวว่า ตัวท่านเพิ่งจะบวชไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดาร จึงกล่าวโศลกสั้นๆ ดังข้างต้น


@@@@@@

ไม่ว่าจะเป็นหลักปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท) ไม่ว่าจะเป็นหลักไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นหลักอริยสัจ 4 ล้วนเน้นประเด็นตรงกัน

    1. สรรพสิ่งมิได้เกิดขึ้นลอยๆ มีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิด
    2. ปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้มาจาก “เหตุ” เพียงเหตุเดียว หากมาจาก “ปัจจัย” หลายๆ อย่างรวมกันเข้า
    3. เมื่อรู้ว่าสรรพสิ่งจะเกิดหรือดับ เพราะเหตุและปัจจัยหลายอย่าง เมื่อต้องการความเจริญก้าวหน้าในทางใด จึงควรสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้ก่อเกิดผลในทางนั้น
    4. ไม่ควรนั่งรอ นอนรอโชคชะตา หรือการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมิได้ลงมือสร้างสรรค์ด้วยความพากเพียรพยายามของตน

@@@@@@

ชาวพุทธที่เชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเชื่อในกฎแห่งการกระทำ (กรรม) มากกว่าจะนอนรอโชคชะตาหรือความหวังลมๆ แล้งๆ เพราะเชื่อว่าคนเราจะเจริญหรือเสื่อม ขึ้นอยู่กับการกระทำของเขาเอง ดังนิทานชาดกเรื่องต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง

พระราชาของสองแว่นแคว้นทำสงครามแย่งชิงอาณาจักรกัน การสู้รบดำเนินไปเป็นเวลานาน ไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะ จนต้องพักรบ แล้วก็เริ่มรบกันใหม่ เป็นระยะๆ ฤๅษีตนหนึ่งได้ฌานเหาะเหินเดินอากาศได้


@@@@@@

วันหนึ่งเหาะไปพบท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงถามพระอินทร์ว่า : พระราชาทั้งสององค์ที่กำลังสู้รบกันอยู่นั้น ใครจะชนะ
พระอินทร์บอกว่า : พระราชา ก. จะชนะ

ฤๅษีจึงนำความมาเล่าให้ศิษย์คนหนึ่งฟัง ต่อมาคำทำนายนั้นได้ล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระราชาทั้งสอง พระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะก็ประมาท นึกว่าตนจะชนะอยู่แล้ว จึงไม่ใส่ใจปรับปรุงกองทัพให้เตรียมพร้อม

ส่วนพระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ ก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนกองทัพของตนให้เชี่ยวชาญในกระบวนการสู้รบ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท กองทัพของตนจึงพร้อมที่จะเข้าสู่สงครามทุกเมื่อ

@@@@@@

เมื่อถึงวันสู้รบกันอีกครั้ง พระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ประสบความพ่ายแพ้ยับเยิน ฤๅษีเองก็เสียหน้า ที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคำทำนาย จึงไปต่อว่าพระอินทร์ที่บอกตนเช่นนั้น

พระอินทร์บอกฤๅษีว่า คำทำนายไม่ผิดดอก ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ พระราชาองค์ที่ตนทายว่าจะชนะต้องชนะแน่นอน แต่บังเอิญพระราชาอีกองค์ไม่ได้ประมาท เพียรพยายามฝึกฝนตนเองและกองทัพ เตรียมการให้พร้อมอยู่เสมอ เมื่อรบเข้าจริงๆ จึงกลับตาลปัตรเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้

@@@@@@

พระอินทร์ได้กล่าวสรุปว่า
“คนที่พากเพียรพยายามจนถึงที่สุด แม้เทวดาก็กีดกันเขาไม่ได้”

ครับ หลักกรรม (หลักการกระทำ) สามารถบันดาลให้คนเป็นอย่างใดก็ได้ จึงไม่ควรฝากอนาคตไว้กับการนอนคอยโชคชะตา


บางตอนจากคอลัมน์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ ในพระพุทธศาสนา
ขอบคุณที่มา : https://www.matichonweekly.com/column/article_122237
ขอบคุณภาพจาก : https://i.ytimg.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ