ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "การงาน" ที่เป็นเหตุแห่ง "ความเสื่อม" ของภิกษุและกัลยาณปุถุชน  (อ่าน 1903 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"การงาน" ที่เป็นเหตุแห่ง "ความเสื่อม" ของภิกษุและกัลยาณปุถุชน

[๗๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
    “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้
        ๑. เป็นผู้ชอบการงาน(๑-) ยินดีในการงาน หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการงาน
        ๒. เป็นผู้ชอบการพูดคุย ยินดีในการพูดคุย หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
        ๓. เป็นผู้ชอบการนอนหลับยินดีในการนอนหลับ หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ”


@@@@@@

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้
        ๑. เป็นผู้ไม่ชอบการงาน ไม่ยินดีในการงาน ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการงาน
        ๒. เป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย ไม่ยินดีในการพูดคุย ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการพูดคุย
        ๓. เป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีในการนอนหลับ ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ”

@@@@@@

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
    "ภิกษุชอบการงาน ยินดีในการพูดคุย ชอบการนอนหลับ มีจิตฟุ้งซ่าน เช่นนี้ จึงไม่ควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงควรเป็นผู้ทำกิจแต่น้อย นอนหลับแต่พอสมควร มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เช่นนี้ จึงควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้"
     แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล

               ปริหานสูตรที่ ๑๐ จบ


เชิงอรรถ :-
(๑-) การงาน ในที่นี้หมายถึง งานนวกรรม คือ การก่อสร้างต่างๆ เช่น การก่อสร้างวิหาร เป็นต้น
      ความเป็นผู้ยินดีแต่การก่อสร้างจึงถือว่า เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยนี้ เพราะทำให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๔/๑๐๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘)



ที่มา :  ปริหานสูตร ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุแห่งความเสื่อม พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
ขอบคุณ : http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=25&siri=194





อรรถกถาปริหานสูตร   
           
ในปริหานสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปริหานาย สํวตฺตนฺติ ความว่า ย่อมมีเพื่อความไม่เจริญ คือมีเพื่อเป็นอันตรายต่อการบรรลุมรรค. แต่ขึ้นชื่อว่ามรรคที่ได้บรรลุแล้วเสื่อม ไม่มี.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยสามารถแห่งธรรมาธิษฐานว่า ธรรม ๓ อย่างดังนี้ด้วยเทศนาที่เป็นบุคลาธิษฐาน จึงตรัสคำมีอาทิว่า อิธ ภิกฺขเว เสโว ภิกฺขุ ดังนี้.

    ใน ๓ อย่างนั้น ภิกษุชื่อว่า กัมมารามะ เพราะมีการงานเป็นที่มายินดี เพราะต้องเพลิดเพลินอยู่กับ (การงาน).
    ชื่อว่า กมฺมรโต เพราะยินดีแล้วในการงาน.
    ชื่อว่า กมฺมารามตมนุยุตฺโต เพราะประกอบเนืองๆ คือ ขวนขวายความยินดียิ่งในงาน คือ ความเพลิดเพลินในงาน.
    การงานที่จะต้องกระทำอย่างนี้ ชื่อว่า การงาน


@@@@@@

ในบทว่า กมฺมาราโม นั้น เช่นการทำอุปกรณ์มีอาทิอย่างนี้ คือ การตรวจจีวร การทำจีวร การซ่อมแซมตลกบาตร ผ้าอังสะ ประคดเอว ธมกรก เชิงบาตร กระเบื้องรองเท้า การปัดกวาด และการปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดและแตกหักเป็นต้นในพระวิหาร.
    จริงอยู่ ภิกษุบางรูป เมื่อกระทำสิ่งเหล่านี้ ย่อมกระทำสิ่งเหล่านั้นแหละตลอดทั้งวัน.
    บทว่า กมฺมาราโม นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาการงานนั้น.

    ส่วนภิกษุใดในเวลาทำงานเหล่านี้เท่านั้น จึงจะทำงานเหล่านี้ ในเวลาเรียนอุเทศก็เรียนอุเทศ ในเวลาท่องบ่นก็ท่องบ่น ในเวลาทำวัตรมีวัตรคือ การปัดกวาดลานพระเจดีย์ เป็นต้น กระทำวัตร (คือการปัดกวาด) ลานพระเจดีย์ ในเวลาทำมนสิการ ก็ทำมนสิการในสัพพัตถกกรรมฐาน หรือในปาริหาริยกรรมฐาน.
    ภิกษุนั้นหาชื่อว่าเป็นผู้มีการงานเป็นที่มายินดีไม่ (ไม่หมกมุ่นงาน).

    การงานของเธอนั้นย่อมเป็นการกระทำที่พระศาสดาทรงอนุญาตไว้ทีเดียว โดยนัยมีอาทิว่า ก็เธอเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกรณียกิจน้อยใหญ่ ที่เป็นของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เป็นผู้ประกอบด้วยการใคร่ครวญ อันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น สามารถเพื่อจะกระทำ สามารถเพื่อจะจัดแจงได้ ดังนี้.(๑-)

____________________________
(๑-) ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๓๕๗   องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๑๗

    @@@@@@

    บทว่า ภสฺสาราโม ความว่า ภิกษุใดยังวันและคืนให้ล่วงไปด้วยสามารถแห่งการกล่าวถึงราชกถาเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามไว้แล้ว ภิกษุนี้เป็นผู้พูดไม่รู้จบ เพราะฉะนั้น ภิกษุนี้จึงชื่อว่า ภสฺสาราโม (ยินดีในการพูด).
    ส่วนภิกษุใดพูดธรรม วิสัชนาปัญหา เวลากลางคืนบ้าง กลางวันบ้าง ภิกษุนี้ชื่อว่าเป็นผู้พูดน้อย พูดมีสิ้นสุด.
    เพราะเหตุไร.?
    เพราะว่า เธอดำเนินตามวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วทีเดียวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สำหรับภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกันแล้วมีกิจที่จะต้องกระทำ ๒ อย่าง คือกล่าวธรรมหรือนิ่งแบบพระอริยะ.(๒-)

____________________________
(๒-) ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๑๓

    @@@@@@

    บทว่า นิทฺทาราโม ความว่า ภิกษุใดฉันจนเต็มท้องเต็มตามที่ต้องการ ประกอบเนืองๆ ซึ่งความสุขในการนอน ความสุขในการเอน ความสุขในการหลับ และภิกษุใดเดินก็ดี นั่งก็ดี ถูกถีนมิทธะครอบงำหลับอยู่
    ภิกษุนี้นั้นชื่อว่า นิทฺทาราโม (ยินดีในความหลับ).
    ส่วนภิกษุใดมีจิตหยั่งลงสู่ภวังค์ เพราะอาพาธ (ความเจ็บไข้ของกรชกาย)
    ภิกษุนี้หาชื่อว่า นิทฺทาราโม (ยินดีในความหลับ) ไม่.

    ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนอัคคิเวสนะ ก็แลเราตถาคตรู้อยู่ว่า ในเดือนท้ายฤดูร้อน เราตถาคตกลับจากบิณฑบาต หลังฉันเสร็จแล้ว ปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น แล้วเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับโดยข้างเบื้องขวา รู้สึกตัวอยู่ ดังนี้.(๓-)

____________________________
(๓-) ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๓๐

    ก็ในพระสูตรนี้ ถึงกัลยาณปุถุชน ก็พึงทราบว่า เป็นพระเสกขะเหมือนกัน
    เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ธรรม ๓ อย่างนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งการบรรลุคุณพิเศษของกัลยาณปุถุชน แม้ทั้งหมดนั้น และการบรรลุคุณพิเศษสูงๆ ขึ้นไปของพระเสกขะนอกนี้.
    พึงทราบการขยายความแห่งธรรมฝ่ายขาวตามปริยายที่ตรงข้ามกับที่กล่าวแล้ว.

    @@@@@@

    พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้.
    บทว่า อุทฺธโต ความว่า ฟุ้งซ่าน คือไม่สงบ เพราะอุทธัจจะที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน.
    บทว่า อปฺปกิจฺจสฺส ความว่า เธอพึงเป็นผู้มีกิจการน้อย เพราะกระทำในเวลาที่ขวนขวายประกอบกิจ มีประการดังกล่าวแล้วเท่าที่ทรงอนุญาตไว้.
    บทว่า อปฺปมิทฺโธ ความว่า พึงเป็นผู้เว้นจากการหลับ เพราะชาคริยานุโยคที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน.
    บทว่า อนุทฺธโต ความว่า เป็นผู้ไม่มีการพูดเป็นที่มายินดี ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน คือมีจิตสงบ. อธิบายว่า (มีจิต) เป็นสมาธิ เพราะเว้นความฟุ้งซ่านแห่งจิต ที่เกิดขึ้นเพราะมีการพูดคุยเป็นที่มายินดี.

    @@@@@@

    คำที่เหลือเข้าใจได้ง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยเหมือนที่เคยกล่าวแล้วในก่อน.
    ด้วยประการดังพรรณนามานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวัฏฏะไว้ในพระสูตรที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๙ ไว้ในวรรคนี้แล้ว.


               จบอรรถกถาปริหานสูตรที่ ๑๐           


ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=257
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 27, 2019, 10:44:55 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ