ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 36 กรรมฐานวิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพิ่มเป็น 38/40 ได้อย่างไร.?  (อ่าน 2412 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

 :25: :25: :25:

36 กรรมฐานวิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพิ่มเป็น 38/40 ได้อย่างไร.?

36 กรรมฐานวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพื่อเป็นหนทางแห่งการฝึกฝนอบรมปฏิบัติทางจิต เพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้นหรือเพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ กรรมฐานวิธี 36 วิธีประกอบด้วยอะไรบ้าง
 
     - อย่างแรกเป็นกรรมฐานวิธี จำพวกกสิณซึ่งมี 10 วิธี
     - อย่างที่สองเป็นกรรมฐานวิธี จำพวกอสุภสัญญามี 10 วิธี
     - อย่างที่สามเป็นกรรมฐานวิธี จำพวกอนุสติซึ่งมีอยู่ 10 วิธี
     - อย่างที่สี่เป็นกรรมฐานวิธี จำพวกอัปปมัญญามีอยู่ 4 วิธี
     - ถัดมาก็เป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 วิธี และจตุธาตุววัตถานอีก 1 วิธี รวมเป็น 36 วิธี

ทั้ง 36 วิธีนี้เป็นแม่บทแม่แบบแห่งกรรมฐานวิธี เหมือนกับแม่สีหรือตัวโน้ตดนตรีที่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขยายออกไปได้อีกมากมาย หรือเหมือนกับแม่ไม้ที่ยังสามารถแตกลูกไม้ออกไปได้อีกมากมาย

ชาวพุทธในบ้านเรามักจะได้ยินได้ฟังว่ากรรมฐานวิธีมีอยู่ 38 วิธีบ้าง หรือ 40 วิธีบ้าง บางครั้งก็เกิดการโต้เถียงกันว่ากรรมฐานวิธีมีกี่วิธีกันแน่ ซึ่งอยากจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ก่อนเพื่อขจัดข้อขัดแย้งในหมู่เพื่อนชาวพุทธให้หมดสิ้นไป


@@@@@@

ผมอยากจะยืนยันต่อท่านทั้งหลายว่า พระบรมศาสดาของเราทรงแสดงกรรมฐานไว้เป็นแม่บทแม่แบบเพียง 36 วิธี แต่มามีเหตุเกิดขึ้นในภายหลังคือเกิดเหตุขึ้นในประเทศลังกาซึ่งมีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก มีการรจนาคัมภีร์สำคัญขึ้นคัมภีร์หนึ่ง ชื่อว่า คัมภีร์วิมุตติมรรค

ในครั้งนั้นได้นำเอาอรูปฌาน 1 คือ อากาสานัญจายตนฌาน และอรูปฌาน 3 คือ อากิญจัญญายตนฌาน มาเพิ่มจากกรรมฐานวิธีที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ โดยเปลี่ยนคำต่อท้ายจากฌานเป็นสัญญา จึงมีกรรมฐานวิธีในคัมภีร์วิมุตติมรรคเป็น 38 วิธี

@@@@@@

ต่อมามีการรจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ขึ้นมาอีก ครั้งนี้ได้เพิ่มเอาอรูปฌาน 2 คือ วิญญานัญจายตนฌาน และอรูปฌาน 4 คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มาเพิ่มเติมขึ้นไปจากคัมภีร์วิมุตติมรรค โดยเปลี่ยนคำว่าฌานเป็นสัญญา จึงทำให้คัมภีร์วิสุทธิมรรคมีกรรมฐานวิธีเป็น 40 วิธี

ดังนั้นความแตกต่างระหว่างจำนวน 36, 38 หรือ 40 จึงอยู่ที่ตรงนี้ คือที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้จริง ๆ มี 36 วิธี คัมภีร์วิมุตติมรรคเพิ่มขึ้นอีกสองเป็น 38 วิธีและคัมภีร์วิสุทธิมรรคเกทับคัมภีร์วิมุตติมรรคเพิ่มเข้าไปอีกสองเป็น 40 วิธี


@@@@@@

บรรดาลูกศิษย์ลูกหาของสำนักที่นับถือคัมภีร์วิมุตติมรรคและคัมภีร์วิสุทธิมรรค ต่างก็ยึดมั่นถือมั่นในคัมภีร์ของอาจารย์ตนว่าถูกต้อง จึงเกิดการทะเลาะวิวาทแล้วขยายวงกว้างจนกลายเป็นการจลาจลขึ้นในลังกา มีผู้บาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมาก เป็นความขัดแย้งและความจลาจลที่เกิดขึ้นโดยผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่รู้ว่าความแตกต่างระหว่างกรรมฐาน 38 วิธี กับ 40 วิธีนั้นมันต่างกันที่ตรงไหน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมิได้ต่างกันเลย เป็นเรื่องเดียวกันทั้งนั้น

เหตุที่ผมกล่าวว่า กรรมฐานวิธีแท้ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มี 36 วิธี ไม่ใช่ 38 หรือ 40 วิธี ก็เพราะว่าอรูปฌาน 4 นั้นไม่ใช่กรรมฐานวิธี แต่เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนพัฒนาการของจิตที่เมื่อยกระดับพ้นจากรูปฌานขึ้นไปแล้ว ก็จะพัฒนายกระดับเป็นลำดับขึ้นไป คือ อรูปฌาน 1 ถึงอรูปฌาน 4 จากนั้นก็ไปที่อกุปปาเจโตวิมุติแล้วบรรลุถึงวิชชาและวิมุติในที่สุด ดังพระบาลีที่ว่า
    “วิราคา วิมุจจะติ วิมุตตัสสมิง วิมุตตะมิติ ญา ณัง โหติ”
    ซึ่งแปลว่า เพราะคลายความติดยึด จิตก็หลุดพ้น เมื่อจิตถึงมิติแห่งความหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดความรู้ยิ่งว่า หลุดพ้นแล้ว

@@@@@@

หากจะถือเอาอรูปฌานทั้ง 4 มาเป็นกรรมฐานวิธีแล้วไซร้ ก็ไฉนเล่ารูปฌาน 4 จึงไม่นับเนื่องเอามาเป็นกรรมฐานวิธีด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารูปฌานทั้ง 4 ก็ดีหรืออรูปฌานทั้ง 4 ก็ดี ไม่ใช่กรรมฐานวิธี หากเป็นเพียงขั้นตอนการพัฒนาการของจิตเท่านั้น เหตุนี้ผมจึงกล่าวว่า กรรมฐานวิธีที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นแม่บทแม่แบบนั้นมีเพียง 36 วิธี

ผมกล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงกรรมฐานไว้ 36 วิธี เหตุที่ใช้คำว่าทรงแสดงนั้นเป็นเรื่องที่ต่างจากเรื่องที่ทรงบัญญัติ พระตถาคตเจ้าทรงใช้คำสองคำในความหมายที่ต่างกัน คือคำว่า “บัญญัติ” อย่างหนึ่ง กับ “แสดง” อีกอย่างหนึ่ง ดังเช่นที่ปรากฏในปัจฉิมโอวาทในมหาปรินิพพานสูตรบางตอนที่ว่า ธรรมวินัยอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย เป็นต้น


@@@@@@

อะไรคือ สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ก็คือส่วนที่เป็นวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นเองเพื่อความผาสุกและเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ตลอดจนเพื่อความสามัคคีของสงฆ์ ของหมู่คณะ เป็นเรื่องที่บัญญัติไว้เฉพาะในศาสนานี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติพระวินัยด้วยกันทั้งนั้น และมีความคล้ายคลึงกัน จะต่างกันบ้างก็เป็นแต่ส่วนน้อย

ส่วนสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนั้นคือ พระธรรม เพราะพระธรรมมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เปรียบเสมือนหนึ่งหนทางที่มีอยู่แล้ว พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าทรงเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ทางมีอยู่แล้ว คนเดินก็มีอยู่แล้ว การเดินทางเป็นหน้าที่ของคนที่จะต้องเดินทาง หรือเป็นหน้าที่ของเวไนยสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้

ชาวพุทธบ้านเรามีความจำกัดอยู่มาก เพราะเราสอนกรรมฐานวิธีกันแต่เพียงบางวิธีเท่านั้น อุปมาได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านออกแบบรองเท้าหรือออกแบบเสื้อไว้ถึง 36 เบอร์ หรือ 36 ขนาด เพื่อให้คนที่มีขนาดของเท้าหรือขนาดตัวต่าง ๆ กันสามารถสวมใส่ได้โดยง่าย โดยสะดวกและอย่างสบาย แต่ชาวพุทธบ้านเราได้นำมาใช้อบรมสั่งสอนกันเพียง 2-3 แบบ พูดง่าย ๆ ก็คือเอาขนาดรองเท้าหรือขนาดเสื้อเพียง 2-3 เบอร์มาใช้



สำนักไหนถนัดกรรมฐานวิธีใด หรือได้รับการถ่ายทอดอบรมมาประการใดก็จะถ่ายทอดอบรมสั่งสอนกรรมฐานวิธีนั้น โดยไม่คำนึงว่าผู้มาขอกรรมฐานหรือมาขอฝึกเป็นใคร มีภูมิธรรม มีความถนัด หรือมีความชอบ หรือมีอัชฌาสัยอย่างไร

บางสำนักก็สอนเรื่องภาวนาพุทโธ บางสำนักก็สอนภาวนาเรื่องพองหนอ ยุบหนอ บางสำนักสอนภาวนาว่าสัมมาอะระหัง บางสำนักสอนให้เดินจงกรม บางสำนักสอนให้นั่งผายมือหรือการเคลื่อนไหวอริยาบถต่างๆ นั่นคือครูบาอาจารย์เจ้าสำนักร่ำเรียนมาวิธีไหนก็ใช้วิธีนั้นในการอบรมสั่งสอนโดยไม่เลือกหน้าว่า เป็นใครหรือถนัดอย่างไหน

พูดง่ายๆ ก็คือมีร้านขายรองเท้าหรือขายเสื้อเพียงขนาดเดียว เบอร์เดียว ไม่ว่าใครหน้าไหนมาเข้าร้านก็ยัดเยียดขายแต่เบอร์เดียวนั้น บางครั้งอาจไม่พอเหมาะพอดี สวมใส่ไม่สบาย หรือเกิดอันตรายขึ้นได้ ฉันใดก็ฉันนั้น


@@@@@@

ขายสินค้าเบอร์เดียวขนาดเดียวไม่เท่าไหร่ บางครั้งสินค้านั้นก็ไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วน มิหนำซ้ำยังสอนต่อไปว่าที่สอนนั้นแหละคือสิ่งถูกต้องแต่เพียงสิ่งเดียวในโลก เป็นคำสอนแท้ของพระพุทธเจ้า อย่าไปเชื่อแบบอื่นวิธีอื่น จึงยิ่งทำให้เกิดปัญหาและความสับสนมากขึ้น บางครั้งคนฝึกอบรมกรรมฐานแบบนี้กลายเป็นคนบ้าหรือเป็นคนเสียสติหรือเป็นคนไม่เป็นคนไปเลยก็มี

นั่นเป็นความจำกัดที่เกิดขึ้นและเรียวขึ้นทุกที ผิดกับแต่ก่อนที่ครูบาอาจารย์ท่านศึกษา ท่านรู้ ท่านปฏิบัติกรรมฐานครบถ้วนทุกวิธี และท่านบรรลุถึงภูมิธรรมที่สามารถหยั่งรู้วาระจิต ตลอดจนอัธยาศัยใจคอว่าผู้ขอรับกรรมฐานนั้นเหมาะสมกับกรรมฐานวิธีไหน แล้วบอกกรรมฐานวิธีที่เหมาะสมให้ การฝึกฝนอบรมจึงถูกต้องเหมาะสมกับผู้ฝึกฝนอบรมนั้น จึงมีความก้าวหน้าและประสพผลสำเร็จได้ง่ายและเร็ว

บางครั้งก็เกิดความเบี่ยงเบนในการอบรมสั่งสอน ดังตัวอย่างเช่นการเจริญกรรมฐานวิธีจำพวกอสุภสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของการพิจารณาซากศพเป็นอารมณ์ อันเหมาะสมแก่ผู้ที่มีอัธยาศัยเกินเลยไปในทางราคะ เพื่อข่มราคะ และเพื่อถึงซึ่งความเบื่อหน่ายคลายจาง วางความยึดมั่นถือมั่นลง กลับไปสอนเน้นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องลึกลับ เรื่องอาถรรพ์ และชักจูงให้ไปในทางแสวงหาลาภ

@@@@@@

กรรมฐานทุกวิธีไม่ใช่แบบฝึกฝนอบรมจิตเพื่อการยึดมั่นถือมั่น หรือเพื่อความเคร่งเครียด หรือเพื่อความหมกมุ่น หรือเพื่อความหนัก หรือเพื่อความสับสนวุ่นวาย หรือเพื่อลาภสักการะ แต่เป็นไปเพื่อความคลายจางวางความยึดมั่นถือมั่นลง มีที่หมายปลายทางคือถึงที่สุดแห่งทุกข์ หรือบรรลุถึงแดนแห่งความหลุดพ้นคือวิมุตตะมิติหรือพระนิพพาน

แต่เมื่อครูบาอาจารย์บ้านเรามีความจำกัดเช่นนี้ และยากที่จะพบพานผู้ทรงภูมิธรรมขั้นสูงที่สามารถหยั่งรู้วาระจิตของเราได้ว่า เหมาะสมกับกรรมฐานวิธีชนิดใด จึงเป็นภาระของตัวเราเองที่จะต้องพินิจพิจารณากันเอาเองว่า เหมาะสมหรือชอบพอหรือมีอัธยาศัยที่ต้องด้วยกรรมฐานวิธีใด แล้วจึงเลือกเอาวิธีนั้นเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับอัชฌาสัยของตน ก็จะเป็นทางให้การฝึกฝนอบรมจิตมีความก้าวหน้าและประสพความสำเร็จได้

เมื่อครั้งโพธิกาลหรือเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น เพียงแค่ 9 เดือนแรกนับแต่ทรงตรัสรู้ก็มีพระอรหันต์เกิดขึ้นถึง 1,340 รูป ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาเสีย 2 ชุด ชุดแรก 60 รูป ชุดที่สอง 30 รูป รวมเป็น 90 รูป จึงเหลือพระอรหันต์อยู่ 1,250 รูป ในวันที่ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์คือในวันเพ็ญเดือน 3


@@@@@@

ทำไมระยะเวลาเพียง 9 เดือน จึงมีพระอรหันต์บังเกิดขึ้นมากมายถึงเพียงนี้.?
เป็นเพราะคนยุคนั้นฉลาดกว่าคนยุคนี้หรือ.?
หามิได้เลย ปรากฏในพระไตรปิฎกว่าพระอรหันต์บางรูปนั้น ไม่เพียงแต่ไม่ฉลาดกว่าคนยุคปัจจุบันเท่านั้น ยังโง่กว่ามาก โง่ถึงขนาดที่เรียนอะไรก็ไม่รู้ ท่องอะไรก็ไม่จำ คือ กรณีของพระจุณปัณฐก ซึ่งท่านเองก็ท้อถอยเพราะบวชเรียนแล้วไม่รู้อะไร ไม่จำอะไรทั้งนั้น จึงคิดว่าบวชไปอย่างนี้เปลืองข้าวสุกชาวบ้าน ดำริเช่นนี้แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วขอลาสิกขาบท

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณอันประเสริฐว่าพระจุณปัณฐกถึงกาลที่จะบรรลุธรรมแล้ว และทรงทราบด้วยว่า พระจุณปัณฐกมีอัชฌาสัยเหมาะสมกับกรรมฐานวิธีใด ดังนั้นจึงทรงประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่งแก่พระจุณปัณฐก และตรัสสั่งให้พระจุณปัณฐกเอาผ้าขาวนี้ไปซัก พร้อมกับภาวนาว่า ระโช โหระนัง ซึ่งแปลว่า ผ้านี้สีขาวหนอ ผ้านี้สีขาวหนอ

ความจริงไม่ใช่เรื่องภาวนาดอก แต่เป็นเรื่องสอนให้พระจุณปัณฐกพิจารณาผ้าขาวทุกขณะจิตที่ซักว่า ผ้ามีสีขาว พระจุณปัณฐกรับประทานผ้าขาวแล้วนำไปซักพร้อมกับพิจารณาตามที่ทรงตรัสสอน ก็ปรากฏว่าในขณะที่ซักไปพิจารณาไปนั้น ผ้าขาวก็กลับหมองคล้ำไปเรื่อย ๆ พระจุณปัณฐกจึงเกิดความรู้แวบขึ้นมาว่าโอสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง อะไรเกิดขึ้นก็ดับไป เกิดดวงตาเห็นธรรมและบรรลุธรรมขั้นสูงในพระพุทธศาสนา

@@@@@@

กรณีของพระจุณปัณฐกนี้แสดงให้เห็นว่า พระธรรมหรือกรรมฐานวิธีที่ทรงตรัสสอนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่มีเฉพาะสำหรับผู้มีความรู้หรือสติปัญญามากเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเวไนยสัตว์ที่สามารถศึกษาและรับผลของการปฏิบัตินั้นเป็นการทั่วไป ขอเพียงแต่ให้ถูกวิธีและถูกกับอัธยาศัยของตนเท่านั้น

ในปัจจุบันนี้ผู้คนนอกจากไม่โง่กว่ายุคโพธิกาลแล้ว ยังมีความรู้ความฉลาดเพิ่มขึ้นอีกมากมาย แต่ไฉนเล่าจึงแทบไม่ปรากฏข่าวว่ามีผู้ใดบรรลุธรรม ทั้งๆที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าพระธรรมมีอยู่ ตราบใดมีผู้ปฏิบัติพระธรรมนั้น โลกก็ไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์

ดูไปแล้วก็เห็นว่า ปัจจุบันนี้เรามาติดยึดและมุ่งเน้นกันที่รูปแบบอย่างหนึ่ง การแปลภาษาอย่างหนึ่ง หรือความรู้อันเป็นโวหารสำหรับโอ้อวดกันอย่างหนึ่ง แต่ที่เน้นในการศึกษาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา หรือกรรมฐานวิธีที่เป็นหนทางในการไปถึงความดับทุกข์นั้นมีน้อยกว่าน้อยนัก.... ฯลฯ



ส่วนหนึ่งของ : คำบรรยายธรรม เรื่อง “อาหาเรปฏิกูลสัญญา กรรมฐานที่ง่ายแต่ได้ผลมาก” โดย คุณไพศาล พืชมงคล บรรยายเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2549 เวลา 10.00 น. ณ อาคารอนุรักษ์ บ้านเจ้าพระยา
ขอบคุณที่มา : www.barefootmonk.org/index.php?option=com_content&view=article&id=70%3A2012-06-12-06-45-05&catid=38%3Adharm-know&Itemid=64&limitstart=1 ,
www.barefootmonk.org/index.php?option=com_content&view=article&id=70%3A2012-06-12-06-45-05&catid=38%3Adharm-know&Itemid=64&limitstart=2
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 18, 2019, 11:08:03 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ขอบคุณภาพจาก SE-ED.com


คัมภีร์วิมุตติมรรค รจนาโดย พระอุปติสสเถระ
แปลโดย พระราชวรมุนี(พระพรหมบัณฑิต) และคณะ
บทที่ 7 กัมมัฏฐานารัมมณปริจเฉท


บัดนี้อาจารย์เมื่อสังเกตจริยาของโยคีผู้เป็นนิสิตของตนแล้ว สอนอารมณ์กัมมัฏฐาน ๓๘ ประการ และสอนอารมณ์กัมมัฏฐานทีสัมปยุต ๒ อย่างแก่โยคี

ถาม : กัมมัฏฐาน ๓๘ ประการ คืออะไรบ้าง.?
ตอย : คือ กสิณ ๑๐ ได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิน วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ วิญญาณกสิณ
        อสุภสัญญา ๑๐ ได้แก่ อุทธุมาตกสัญญา วินีลกสัญญา วิปุพพกสัญญา วิขิตตกสัญญา วิกขายิตกสัญญา หตวิกขิตตกสัญญา วิจฉิททกสัญญา โลหิตกสัญญา ปุฬุวกสัญญา อัฏฐิกสัญญา
        อนุสสติ ๑๐ ได้แก่ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ
        อัปมัญญา ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
        จตุธาตุววัฏฐาน ๑
        อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
        อากิญจัญญายตนะ ๑
        เนวสัญญานาสัญญายตนะ ๑



ขอบคุณภาพจาก http://www.ebooks.in.th/


คัมภีร์วิสุทธิมรรค รจนาโดย พระพุทธโฆสเถระ
แปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) และคณะ
วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๓ กัมมัฏฐานคหณนิเทศ หน้าที่ ๑๗๖ - ๑๘๐


ข้อว่า โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน มีอรรถาธิบายดังนี้
ก็ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ฉะนี้ พระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ณ ที่นั้น ท่านสงเคราะห์เข้าไว้เป็น ๗ หมวดดังนี้ คือ
    ๑. กสิณกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
    ๒. อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
    ๓. อนุสสติกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
    ๔. พรหมวิหารกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง
    ๕. อารุปปกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง
    ๖. สัญญากัมมัฏฐาน ๑ อย่าง และ
    ๗. ววัตถานกัมมัฏฐาน ๑ อย่าง

    @@@@@@

๑. กสิณกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง คือ
    ๑. ปถวีกสิณ กสิณสำเร็จด้วยดิน
    ๒. อาโปกสิณ กสิณสำเร็จด้วยน้ำ
    ๓. เตโชกสิณ กสิณสำเร็จด้วยไฟ
    ๔. วาโยกสิณ กสิณสำเร็จด้วยลม
    ๕. นีลกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีเขียว
    ๖. ปีตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีเหลือง
    ๗. โลหิตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีแดง
    ๘. โอทาตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีขาว
    ๙. อาโลกกสิณ กสิณสำเร็จด้วยแสงสว่าง และ
    ๑๐. ปริจฉินนากาสกสิณ กสิณสำเร็จด้วยช่องว่างซึ่งกำหนดขึ้น

๒. อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง คือ
    ๑. อุทธุมาตกอสุภ ซากศพที่ขึ้นพองน่าเกลียด
    ๒. วินีลกอสุภ ซากศพที่ขึ้นเป็นสีเขียวน่าเกลียด
    ๓. วิปุพพกอสุภ ซากศพที่มีแต่หนองแตกพลักน่าเกลียด
    ๔. วิจฉิททกอสุภ ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อน ๆ น่าเกลียด
    ๕. วิกขายิตกอสุภ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกระจุยกระจายน่าเกลียด
    ๖. วิกขิตตกอสุภ ซากศพที่ทิ้งไว้เรี่ยราดน่าเกลียด
    ๗. หตวิกขิตตกอสุภ ซากศพที่ถูกสับฟันทิ้งกระจัดกระจายน่าเกลียด
    ๘. โลหิตกอสุภ ซากศพที่มีโลหิตไหลออกน่าเกลียด
    ๙. ปุฬุวกอสุภ ซากศพที่เต็มไปด้วยหนอนน่าเกลียด และ
    ๑๐. อัฏฐิกอสุภ ซากศพที่เป็นกระดูกน่าเกลียด

๓. อนุสสติกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง คือ
    ๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
    ๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม
    ๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์
    ๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
    ๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคที่ตนบริจาคแล้ว
    ๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
    ๗. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตาย
    ๘. กายคตาสติ ระลึกถึงร่างกายที่ล้วนแต่ไม่สะอาด
    ๙. อานาปานสติ ระลึกถึงกำหนดลมหายใจเข้าออก และ
    ๑๐. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง


๔. พรหมวิหารกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง คือ
    ๑. เมตตา ความรักที่มุ่งช่วยทำประโยชน์
    ๒. กรุณา ความสงสารที่มุ่งช่วยบำบัดทุกข์
    ๓. มุทิตา ความพลอยยินดีต่อสมบัติ และ
    ๔. อุเปกขา ความเป็นกลางไม่เข้าฝ่ายใด

๕. อารุปปกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง คือ
    ๑. อากาสานัญจายตนะ อากาศไม่มีที่สุด
    ๒. วิญญาณัญจายตนะ วิญญาณไม่มีที่สุด
    ๓. อากิญจัญญายตนะ ความไม่มีอะไร และ
    ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาละเอียด ซึ่งจะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่


๖. สัญญา ๑ อย่าง คือ
    อาหาเรปฏิกูลสัญญา ความหมายรู้ในอาหารโดยเป็นสิ่งที่น่าเกลียด

๗. ววัตถาน ๑ อย่าง คือ
    จตุธาตุววัตถาน การกำหนดแยกคนออกเป็นธาตุ ๔


    นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยแสดงจำนวน ด้วยประการฉะนี้




    ans1 ans1 ans1
    นำข้อธรรมเรื่องจำนวนกรรมฐานจากคัมภีร์วิมุตติมรรคและวิสุทธิมรรค มาเปรียบเทียบให่ดูครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 18, 2019, 06:17:12 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ