ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ "สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)" จากนิตยสารธรรมจักษุ  (อ่าน 8815 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
วัดมหาธาตุ
นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๙

                 สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ ทรงพระคุณพิเศษในด้านวิปัสสนาธุระจนมีพระฉายานามอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชนว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน” เพราะทรงสามารถแผ่พรหมวิหารธรรมให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ (๑) เดือนยี่ ปีฉลู จุลศักราช ๑๐๙๕ พ.ศ. ๒๒๗๖ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ, สันนิษฐานกันว่าคงเป็นชาวกรุงเก่า, ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก.

ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์, เมื่อได้ทรงจัดการข้างฝ่ายอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ทรงพระราชดำริจัดการข้างฝ่ายพุทธจักรเพื่อทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ซึ่งเสื่อมโทรมเศร้าหมองเพราะการจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง

จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชาคณะในตำแหน่งต่างๆตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงแสวงหาพระเถระผู้ทรงคุณพิเศษจากที่ต่างๆมาตั้งไว้ในตำแหน่งที่สมควร เพื่อช่วยรับภาระ ธุระทางพระพุทธศาสนาสืบไป และก็ในคราวนี้เองที่ได้ทรง “โปรดให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาอยู่วัดพลับ ให้เป็นพระญาณสังวรเถร” (๒) พระอาจารย์วัดท่าหอยดังกล่าวนี้ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั่นเอง


สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ครั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า, ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้โปรดให้นิมนต์มาอยู่ในกรุงเทพฯ และทรงตั้งเป็นราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร ดังกล่าวแล้ว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระฝ่ายอรัญวาสีนิยมความสงบวิเวก จึงได้โปรดให้มาอยู่วัดพลับ อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของธนบุรีครั้งนั้น คู่กับวัดรัชฎาธิษฐาน และอยู่ไม่ไกลจากพระนคร,

และเพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้โปรดฯ ให้สร้างวัดพระราชทานใหม่ในที่ติดกับวัดพลับนั่นเอง, เมื่อสร้างพระอารามใหม่เสร็จแล้ว ก็ได้โปรดฯ ให้รวมวัดพลับเข้าไว้ในเขตของพระอารามใหม่นั้นด้วย แต่ยังคงใช้ชื่อว่าวัดพลับดังเดิม, ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดราชสิทธาราม ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้, บริเวณอันเป็นวัดพลับเดิมนั้นอยู่ด้านตะวันตกของวัดราชสิทธารามปัจจุบันนี้.(๓)

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นอันมากของพระบรมราชวงศ์มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ปรากฏนามพระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์ นับแต่คราวทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เป็นต้นมา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารดังนี้


(๑) พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) (๔) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้ว วันแรกเสด็จประทับที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการฉลองเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน)

(๒) พ.ศ. ๒๓๓๗ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๒ แต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๑ (พระนามเดิม จุ้ย) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) (๕) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์. (๖)

(๓) พ.ศ. ๒๓๓๘ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พระนามเดิม บุญมา) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร วัดพลับ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมกิตติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์.(๗)

(๔) พ.ศ. ๒๓๔๕ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมพระราชวังหลัง ในรัชกาลที่ ๑ (เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิม ทองอิน) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์.(๘)

(๕) พ.ศ....... พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระญาณสังวรเถร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์(ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์.(๙)

(๖) พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระญาณสังวร(สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์.(๑๐) แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธารามเป็นพระอาจารย์ (๑๑) ซึ่งกลับกันเป็นตรงกันข้าม

ในเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ความทรงจำ ว่า

‘พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ น่าจะกลับกันกับที่กล่าว (ในพระราชพงศาวดาร) คือสมเด็จพระญาณสังวรเป็นพระอุปัชฌาย์และสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอาจารย์ถวายศีล เพราะสมเด็จพระญาณสังวรเป็นผู้มีอายุพรรษามาก นั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช (มี) ทั้งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๑

แม้สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่ก่อน น่าจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์


และยังมีหลักฐานประกอบอีกอย่างหนึ่ง ด้วยถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ๒ องค์ เป็นคู่กัน อยู่ที่ลานหน้าวัดราชสิทธาราม (อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระญาณสังวร) องค์หนึ่งขนานนามว่า ‘พระศิราศนเจดีย์’ ทรงอุทิศในพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

อีกองค์หนึ่งมีนามว่า ‘พระศิรจุมภฏเจดีย์’ เป็นพระบรมราชูทิศในพระนามของพระองค์เองยังปรากฏอยู่ ตรัสว่าเพราะได้เคยเป็นศิษย์สมเด็จพระญาณสังวรมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์’
.(๑๒)



ในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้ง ดังนี้

‘ศรีศยุภมัศดุ ฯ ล ฯ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ (ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙) ให้พระญาณสังวรขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร อดิสรสังฆเถรา สัตวิสุทธิจริยาปรินายก สปิฎกธรามหาอุดมศีลอนันต์ อรัญวาสี สถิตย์ในราชสิทธาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จาฤกกฤตฤกาลอวยผลพระชนมายุศม ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด’ (๑๓)

สมเด็จพระญาณสังวรได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในปีเดียวกันกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และนั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช ‘ด้วยได้เห็นบัญชีนิมนต์พระสวดมนต์ในสวนขวา (๑๔) มีนามสมเด็จพระญาณสังวรอยู่หน้าสมเด็จพระสังฆราช เห็นจะเป็นด้วยมีพรรษาอายุมากกว่า’ (๑๕) สมเด็จพระญาณสังวรได้รับพระราชทานพัดงาสาน ซึ่งโปรดให้ทำวิจิตรกว่าพัดสำหรับพระราชาคณะสมถะสามัญ.(๑๖)


สำหรับวัดพลับ หรือวัดราชสิทธารามนั้น นับแต่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้มาอยู่ครองแต่ครั้งยังทรงเป็นที่ พระญาณสังวรเถรแล้ว ก็ได้กลายเป็นสำนักปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระที่สำคัญ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ใน เรื่องประวัติวัดมหาธาตุ ว่า “ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ วัดอรัญวาสีที่สำคัญ ก็คือวัดสมอราย ๑ กับวัดราชสิทธาราม ๑” (๑๗) และพระเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น คงเป็นที่เคารพนับถือทั้งในฝ่ายเจ้านายในพระบรมราชวงศ์และในหมู่ประชาชนทั่วไป จึงได้ทรงเป็นพระราช อุปัธยาจารย์และเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์ และเจ้านายชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์หลายพระองศ์ ดังได้กล่าวมาแล้ว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอใน รัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ก็ได้เสด็จมาประทับทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ และทรงศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธารามนี้เป็นเวลา ๑ พรรษา

โดยมีพระตำหนักสำหรับทรงบำเพ็ญสมาธิกรรมฐานโดยเฉพาะเรียกว่า พระตำหนักจันทน์ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชนกนาถ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงสร้างถวาย ยังคงมีอยู่สืบมาจนบัดนี้.(๑๘)

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า มงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในรัชกาลที่ ๒ ก็ได้เสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธารามเช่นกัน ดังที่พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ใน เรื่องวัดสมอรายอันมีนามว่า ราชาธิวาส ว่า

     “ได้ทรงประทับศึกษาอาจาริยสมัยในสำนักวัดราชาธิวาส ทรงทราบเสร็จสิ้นจนสุดทางที่จะศึกษาต่อไปอีกได้ จึงได้เสด็จย้ายไปประทับอยู่ ณ วัดราชสิทธาราม คือวัดพลับ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญเชี่ยวชาญในการวิปัสสนาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชในที่นั้น แต่หาได้ประทับประจำอยู่เสมอ ไม่เสด็จไปอยู่วัดพลับบ้าง กลับมาอยู่สมอรายบ้าง
     เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทรงสร้างพระศิรจุมภฏเจดีย์ไว้เป็นคู่กันกับพระศิราศนเจดีย์ ที่ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสำคัญว่า เคยเสด็จ ประทับศึกษา ณ สำนักอาจารย์เดียวกัน.”
(๑๙)



เกี่ยวกับราชประเพณีนิยมทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ของเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ที่ทรงผนวชนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายไว้ว่า

    “อนุโลมตามราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดประดู่นั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยเป็นวัดอรัญวาสี อยู่ที่สงัดนอกพระนคร เพราะการศึกษาธุระในพระศาสนามีเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายคันถธุระต้องเล่าเรียนพระปริยัติธรรมโดยมคธภาษา อันต้องใช้เวลาช้านานหลายปี ไม่ใช่วิสัยผู้ที่บวชอยู่ชั่วพรรษาเดียวจะเรียนให้ตลอดได้

     แต่วิปัสสนาธุระอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นการฝึกหัดใจในทางสมถภาวนา อาจเรียนได้ในเวลาไม่ช้านัก และถือกันอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าชำนิชำนาญในทางสมถภาวนาแล้ว อาจจะนำคุณวิเศษอันนั้นมาใช้ในการปลุกเศกเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนในวิชา พิไชยสงครามได้ในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ เจ้านายที่ทรงผนวชมาแต่ก่อนจึงมักเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดอรัญวาสี เพื่อทรงศึกษาภาวนาวิธี.” (๒๐)


                นัยว่าการศึกษาวิปัสสนาธุระ ของสำนักวัดราชสิทธาราม ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก)  ทรงครองวัดอยู่นั้นเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะผู้ครองวัดทรงเชี่ยวชาญและมีกิตติคุณในด้านนี้เป็นที่เลื่องลือ. ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และเสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุแล้ว การศึกษาวิปัสสนาธุระแม้จะยังมีอยู่ ก็ไม่รุ่งเรืองเท่ากับสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ยังทรงครองวัดนั้นอยู่.(๒๑)

                พ.ศ. ๒๓๖๒ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์, พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้วโปรดให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เดิมทรงพระราชดำริที่จะตั้งสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ถึงได้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อ ณ เดือน ๔ ปีเถาะ เอกศกนั้นแล้ว แต่เมื่อปีมะโรง โทศก ข้างต้นปี เกิดอหิวาตกโรคมาก

ยังไม่ทันจะได้ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช, ถึงเดือน ๑๑ มีโจทก์ฟ้องกล่าวอธิกรณ์สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) ว่าชอบหยอกเอินศิษย์หนุ่มด้วยกิริยาที่ไม่สมควรแก่สมณะ ชำระได้ความเป็นสัตย์ อธิกรณ์ไม่ถึงเป็นปาราชิก จึงเป็นแต่ให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระราชาคณะ และเนรเทศไปจากพระอารามหลวง. (๒๒)

ตำแหน่งพระสังฆราชนั้น ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่และได้เป็นพระอาจารย์ เป็นที่เคารพในพระราชวงศ์ จึงโปรดให้แห่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ ครั้งถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงทรงตั้งสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช (๒๓)



มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้ง ดังนี้

“ศริศยุภอดีตกาล พระพุทธสักราช ชไมยสหัสสสังวัจฉรไตรสตาธฤกไตรสัตฐีสัตมาศ ปัตยุบันกาล นาคสังวัจฉรมฤคศฤระมาศ ศุกขปักขคุรุวาระนวมีดิถี ปริจเฉทกาลอุกฤษฐ สมเด็จบรมธรรมมฤกะมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตคุณวิบุลยปรีชาอันมหาประเสริฐ มีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนา ให้สมเด็จพระญาณสังวรเปนสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายกติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤศร วรทักษิณาสฤทธิสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณาธิกร จัตุพิธบรรพสัช สถิตในพระศรีรัตนมหาธาตุบวรวิหารพระอารามหลวง (๒๔)

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น พระชนมายุได้ ๘๘ พรรษาแล้ว ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ไม่ถึง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์ เหตุที่ไม่ได้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน (๒๕) เพราะทรงเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ,

แต่ประเพณีการเลือกสมเด็จพระสังฆราช คงถือเอาคันถธุระเป็นสำคัญ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระจึงไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน มาในครั้งนี้เห็นจะทรงพระราชดำริว่า พรรษาอายุท่านมากอยู่แล้ว มีพระราชประสงค์จะสถาปนาให้ถึงเกียรติยศที่สูงสุดให้สมกับที่ทรงเคารพนับถือ เข้าใจว่าเห็นจะถึงทรงวิงวอน ท่านจึงรับเป็นสมเด็จพระสังฆราช.(๒๖)

อนึ่ง ธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุนั้นได้มีขึ้นในรัชกาลที่ ๒ โดยได้โปรดให้แห่สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบุรณะ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาสถิต ณ วัดมหาธาตุเป็นพระองค์แรก พระองค์ที่ ๒ คือสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แห่จากวัดราชสิทธารามมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ พระองค์ที่ ๓ คือสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

แห่จากวัดสระเกศมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ พระองค์สุดท้ายคือ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๓), ในประกาศสถาปนาว่าสถิต ณ วัดมหาธาตุ แต่ไม่ได้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุตามประกาศ เพราะขณะนั้นวัดมหาธาตุกำลังปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะอันเป็นพระอารามเดิมจนสิ้นพระชนม์ แต่นั้นมาธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุก็เป็นอันเลิกไป.

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ ๑ ปีกับ ๑๐ เดือน ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕ มีพระชนม์มายุได้ ๘๙ โดยปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง พระโกศองค์นี้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูงบางพระองค์ มีปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว (๒๗) นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงด้วยเหตุที่ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือ อย่างยิ่งนั้นเอง

ส่วนการพระเมรุนั้นโปรดให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพเมื่อเดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๖๕ นั้น (๒๘) ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้โปรดให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิ ประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้.

ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ช่างหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ขนาดย่อมขึ้นอีก ประดิษฐานไว้ในหอพระนาก พร้อมกันกับรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม ซึ่งเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของพระองค์ ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗ ได้โปรดให้หล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) อีกองค์หนึ่งขนาดเท่าพระองค์จริง, พระราชดำริเดิม เข้าใจว่าคงจะทรงสร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานไว้ ณ วัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตของพระองค์เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช,

แต่ยังไม่ทันได้เชิญไปประดิษฐาน เพราะการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดมหาธาตุยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน, พระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์ดังกล่าวนี้ จึงค้างอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้แห่ไปประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ (๒๙) ปรากฏตามหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ ว่า โปรดให้เชิญไปเมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. ๑๒๑๔ พ.ศ. ๒๓๙๕ (๓๐) และโปรดให้สร้างแท่นจำหลักมีลวดลายเป็นรูปไก่เถื่อนเป็นที่รองรับพระรูปเพิ่มเติมขึ้น และยังคงสถิตอยู่ในพระวิหารวัดมหาธาตุมาจนบัดนี้.(๓๑)

ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวรนั้น นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตำแหน่งที่พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงตั้งพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณพิเศษในทางวิปัสสนาธุระเป็นที่พระราชาคณะนั้น ก็ทรงตั้งในราชทินนามว่า พระญาณสังวรเถร อันเป็นราชทินนามที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ

ครั้นมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดให้สถาปนาพระญาณสังวรเถร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ก็โปรดให้สถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร ตามราชทินนามเดิมที่ได้รับพระราชทานแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑

ครั้นสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชในเวลาต่อมา, ราชทินนามที่ สมเด็จญาณสังวร ก็ไม่ได้โปรดพระราชทานสถาปนาพระเถระรูปใดอีกเลยนับแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา

กระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดให้สถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร) วัดบวรนิเวศวิหารในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ นับเป็นสมเด็จพระญาณสังวร รูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

นับแต่ปีที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ ในรัชกาลที่ ๒ มาจนถึงปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดให้สถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็น สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ นั้น เป็นเวลา ๑๕๐ ปีพอดี ซึ่งเป็นเวลายาวนานถึง ๖ รัชกาลที่ว่างเว้นมิได้ทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามตำแหน่งนี้

     เพราะฉะนั้นตำแหน่งที่"สมเด็จพระญาณสังวร"นี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีความหมายสำคัญในประวัติการณ์ของ คณะสงฆ์ไทยตำแหน่งหนึ่ง.



เชิงอรรถ

๑. ใน เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระดำรงราชานุภาพ ว่าขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ หน้า ๘๒)

๒. พระราชพงศาวดารกุรงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๒ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ คลังวิทยา พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๓๐.

๓. ประวัติวัดราชสิทธาราม กรมศิลปากร งานกฐินพระราชทาน ณ วัดราชสิทธาราม พ.ศ. ๒๕๐๙ หน้า ๒-๕

๔. ในหนังสือบางเล่มเขียนเป็น สมเด็จพระสังฆราช (สี)

๕. ในหนังสือบางเล่มเขียนเป็น สมเด็จพระสังฆราช (สุก)

๖. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว หน้า ๔๙

๗. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑-๒ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ สำนักพิมพ์คลังวิทยาจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๓๓๓, ๒๐๙-๒๑๐ ๒๑๘

๘. ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๑ เรื่องพระราชพิธีทรงผนวชกรมพระราชวังหลัง กับพระเจ้าลูกเธอฯ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๖๔ ว่าพระพิมลธรรม ๑ พระธรรมกิจ ๑ เป็นคู่สวด (อ้างใน ประวัติวัดราชสิทธาราม กรมศิลปากร.หน้า ๖๙)

๙. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว หน้า ๕๑

๑๐. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระดำรงราชานุภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ และ ประวัติวัดราชสิทธาราม พ.ศ. ๒๕๐๙ หน้า ๔๐-๕๐

๑๑. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๒. อ้างแล้ว. หน้า ๕๕๘

๑๒. ความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๕๙-๖๐

๑๓. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว หน้า ๘๓

๑๔. สวนขวา คือสวนที่โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นการแต่งเติมของเดิมที่สร้างขึ้นแล้วแต่รัชกาลที่ ๑ ให้วิจิตรพิสดารขึ้น สำหรับเป็นที่เสด็จประพาสในเวลาว่างพระราชกิจบ้าง เป็นที่เสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเวลาเทศกาลนักขัตฤกษ์บ้าง ที่เรียกว่า สวนขวา เพราะอยู่ฝ่ายขวาพระราชมนเทียร ทุกวันนี้รื้อหมดแล้ว

๑๕. พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑-๒ อ้างแล้ว. หน้า ๖๐๐

๑๖. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว หน้า ๕๐

๑๗. เล่มเดียวกัน. หน้า ๓๒

๑๘. เล่มเดียวกัน. หน้า ๕-๖

๑๙. เรื่องวัดสมอราย อันมีนามว่า ราชาธิวาส. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พ.ศ. ๒๔๙๙. หน้า ๒๕

๒๐. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๓๑-๓๒

๒๑. เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔๔

๒๒. ไปอยู่วัดไทรทอง คือวัดเบญจมบพิตร ในบัดนี้

๒๓. พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑-๒ อ้างแล้ว. หน้า ๕๙๘-๕๙๙

๒๔. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว. หน้า ๘๔

๒๕. พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑ - ๒ อ้างแล้ว หน้า ๖๐๐

๒๖. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว หน้า ๔๘

๒๗. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ฯ อ้างแล้ว หน้า ๘๔

๒๘. พระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๑-๒ อ้างแล้ว หน้า ๖๙๐

๒๙. ตามที่กล่าวไว้ในหนังสือ เรื่องประวัติวัดราชสิทธาราม (ฉบับกรมศิลปากร) อ้างแล้ว หน้า ๕๒ ว่า “ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้แห่ไปประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ” นั้น ผิดพลาด เพราะ พ.ศ. นั้นยังเป็นรัชกาลที่ ๔ อยู่ ทั้งมีหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ ยืนยันอยู่ด้วย ดังอ้างไว้แล้วในที่นี้.

๓๐. ประวัติวัดราชสิทธาราม อ้างแล้ว. หน้า ๑๔๑

๓๑. เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๑-๕๒

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/monk-raja/monk-raja-04-hist.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 31, 2012, 11:43:44 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด



พระประวัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

เรื่องประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อันเนื่องด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า ท่านได้เล่าเรียนในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอก วัดระฆัง เป็นพื้น และได้เล่าเรียนต่อสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุบ้าง

นอกจากนี้จะได้เล่าเรียน ที่ใดอีกบ้าง หาทราบไม่ เล่าว่าเมื่อเป็นนักเรียนท่านมักได้รับคำชมเชยจากครูบาอาจารย์เสมอว่ามีความทรงจำดี ทั้งมีปฏิภาณอัดยอดเยี่ยม ดังมีเรื่องเล่าขานกันว่าเมื่อท่านเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น ก่อนจะเรียนท่านกำหนดว่า วันนี้ท่านจะเรียนตั้งแต่นี่ถึงนั่น

ครั้นถึงเวลาเรียนท่านก็เปิดหนังสือออกแปลตลอด ตามที่กำหนดไว้ท่านทำดังนี้เสมอ จนสมเด็จพระสังฆราชรับสั่งว่า "ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก" ยังมีข้อน่าประหลาดอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านเรียนรู้ปริยัติธรรมแต่ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญ

(ในสมัยก่อนนั้น การสอบพระปริยัติธรรมไม่ได้ออกเป็นข้อสอบเหมือนทุกวันนี้ การสอบในครั้งนั้นต้องสอบพระปริยัติธรรมต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการสอบด้วยปากเปล่า สุดแต่ผู้เป็นประธานกรรมการ และกรรมการจะสอบถามอย่างใด ต้องตอบให้ได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็หมายความว่าตกเพียงแค่นั้น)

พระอาจารย์องค์สำคัญที่สุดของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือสมเด็จพระสังฆราช "ไก่เถื่อน” (สุก) (สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์นี้ เดิมอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม ในแขวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ดูพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑) เมื่อรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงอาราธนามาตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระญาณสังวร

ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงในทางวิปัสสนาธุระเป็นที่นับถือของชนทั้งหลาย ถึงกับกล่าวกันว่า ทรงไว้ซึ่งเมตตาพรหมวิหารแก่กล้าถึงกับสามารถเลี้ยงไก่เถื่อน ให้เชื่อง ได้เหมือนไก่บ้าน ทำนองเดียวกับที่สรรเสริญพระสุวรรณสาม โพธิสัตว์ในเรื่อชาดก



ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อพ.ศ. ๒๓๖๓ คนทั้งหลายจึงพากันถวายพระฉายานามว่า "พระสังฆราชไก่เถื่อน" และได้เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุเพียง ๑ ปี ก็สิ้นพระชนม์ทรงพระชันษาได้ ๙๐ เมื่อถวายพระเพลิงศพแล้ว โปรดฯ ให้ปั้นรูปบรรจุอัฐิไว้ในกุฏีหลังหนึ่ง ด้านหน้าพระอุโบสถ

อัจฉริยภาพ ในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น เข้าใจว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับการศึกษามาจากพระอาจารย์พระองค์นี้ กล่าวคือ พระวัดพลับ ของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นี้ (สร้างตอนดำรงสมณศักดิ์เป็นพระญาณสังวร ครองวัดพลับ

วัดนี้อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งเหนือ จังหวัดธนบุรี เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตัววัดเดิมอยู่ทางด้านริม เดี๋ยวนี้ค่อนไปทางตะวันตก ) เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงอาราธนา พระอาจารย์สุก (สังฆราชไก่เถื่อน) มาจากวัดหอย จังหวัดพระนาคศรีอยุธยานั้น

ท่านขออยู่วัดอรัญญิก จึงโปรดให้อยู่วัดพลับแล้วสร้างพระอารามหลวงเพิ่มเติมขยายออกมาอีก สมเด็จพระญาณสังวรนี้ ทรงเป็นพระอาจารย์ทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระเจ้านายมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็ดี ล้วนเคยศึกษาวิปัสสนาธุระ ในสำนักสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ทั้งนั้น

ที่วัดนี้ยังมีตำหนักจันทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อทรงผนวช นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังโปรดให้ซ่อมพระอาราม แล้วพระราชทานเปลี่ยนนามวัดเสียใหม่ว่า "วัดราชสิทธาราม" ถึงในรัชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้สร้างพระเจดีย์ ทรงเครื่องไว้ข้างหน้าพระอาราม ๒ องค์ ๆ หนึ่งนามว่า "พระศิราศนเจดีย์" (พระเจดีย์องค์นี้ทรงอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อีกองค์หนึ่ง ทรงขนานนามว่า "พระศิรจุมภฎเจดีย์" (พระเจดีย์พระองค์นี้ทรงสร้างเป็นส่วนพระองค์เอง ทั้งนี้เพื่อเป็นที่ระลึกว่า ได้เคยมาทรงศึกษาพระวิปัสสนา ในสำนักสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) )

เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นได้ว่า มีลักษณะของเนื้อ เหมือนเนื้อของพระสมเด็จฯ (ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ) ที่สุด แต่พระวัดพลับมีอายุในการสร้างสูงกว่าพระสมเด็จฯ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เอาแบบอย่างส่วนผสมผสานมาดัดแปลง และยิ่งพระสมเด็จฯ พิมพ์ทรงหลังเบี้ยด้วยแล้วก็ยิ่งสังเกตได้ว่า ดัดแปลงเค้าแบบมาจากพระวัดพลับทีเดียว

อนึ่ง การทรงไว้ซึ่งความเมตตากรุณา อันเป็นที่รักแห่งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีคุณลักษณะคล้ายคลึงสมเด็จพระสังฆราชพระอาจารย์พระองค์นี้มาก เข้าใจว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีความเลื่อมใสและเจริญรอยตามพระอาจารย์แทบทุกอย่าง................


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/monk-raja/monk-raja-04-hist.htm
ขอบคุณภาพจาก http://siamonlinegame.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด

พระประวัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระเครื่อง

พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร

ก่อนกำเนิดพระเครื่อง พิมพ์สมเด็จวัดระฆังฯ นั้น พระสมเด็จอรหัง นับว่าเป็นยอดพระเครื่อง ต้นสกุลพระ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือ แบบชิ้นฟัก มาก่อนนานแล้วผู้ริเริ่มพระเครื่องที่เรียกเราเรียกกันจนติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า พระสมเด็จฯ และเป็นผู้สร้างพระสมเด็จ อรหัง ด้วยนั้นก็คือ สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน


พระสมเด็จพระสังฆราช หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน นี้นับเป็นพระอาจารย์ผู้ยิ่งยงในวิทยาคมด้านเมตตามหานิยมผู้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี และยังเป็นพระบรมราชาจารย์ของล้นเกล้าฯ ในรัชกาลที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 อีกด้วย

พระสังฆราชญาณสังวร สุก ไก่เถื่อน ผู้ให้กำเนิดต้นสกุล พระพิมพ์สมเด็จ องค์นี้ ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 หรือ พ.ศ. 2276 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ท่านเป็นชาวกรุงเก่าชื่อ สุก และเข้าใจว่าก่อนถึงอายุ 34 ปี คือ พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นระยะที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งสุดท้ายนั้น ท่านได้บวชมาก่อนแล้วหลายพรรษา จนปรากฏชัดจากพงศาวดารว่า ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ วัดท่าหอย เมื่อสมัยกรุงธนบุรี นี่เอง

พระอาจารย์สุก หรือ พระญาณสังวรเถระ หรือ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 ของราชวงศ์จักรีนี้ นับว่าเป็นผู้หนึ่งที่ยืนดูการกระทำอันโหดร้ายของพม่าเมื่อคราวกรุงแตกมาแล้ว เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้อาราธนาลงมาอยู่ที่วัดราชสิทธารามนั้น ก็เห็นจะเป็นด้วย พระองค์ประสูติ เมื่อ  พ.ศ. 2279 ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์เช่นกัน

นับแต่พระองค์ได้รับราชการเมื่อปลายสมัยอยุธยาจนกรุงแตกแล้วนั้น ก็ได้ทราบถึงเกียรติคุณของ พระอาจารย์สุก มาบ้างแล้ว จึงได้อาราธนาท่านลงมาอยู่ที่วัดพลับเมื่อประมาณ พ.ศ. 2325

สมเด็จพระสังฆราช ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2363 ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น 2 ค่ำปีมะโรง และได้ย้ายจากวัดพลับมาอยู่ที่วัดมหาธาตุได้เพียงปีเศษก็สิ้นพระชนม์ ณ วัดมหาธาตุ พระนคร เมื่อวันศุกร์เดือน 10  แรม 4 ค่ำ ปีมะเมีย ในรัชกาลของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงนับว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์เดียว ที่ได้เห็นเหตุการณ์พม่าเผากรุงศรีอยุธยาและผนวชอยู่ในพระบวรพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยอยุธยา, สมัยกรุงธนบุรี, จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์, รวมพระชนมายุได้ถึง 90 ปี

พระญาณสังวร สุก ไก่เถื่อน ระหว่างอยู่ที่วัดราชสิทธารามนั้น ปรากฏว่าได้เป็นที่นับถือของชาวบ้านตลอดขึ้นไปจนถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ต่างก็พากันไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เห็นจะเป็นเพราะบรรดาสานุศิษย์เหล่านั้นต่างก็ได้เห็นกฤตยาคมอันขลังด้านเมตตาพรหมวิหารของท่าน ซึ่งสามารถเรียก ไก่เถื่อน จากป่าเป็นฝูง ๆ มากรับการโปรยทานจากท่านเต็มลานวัดทุก ๆ วันนั้นเอง

เหตุนี้ชาวบ้านสมัยนั้นจึงพากันเรียกท่านว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน เพราะท่านสามารถเรียกไก่เถื่อนออกมาจากป่าด้วยแรงอาคม และยิ่งได้ลิ้มรสอาหารเสกจากท่านด้วยแล้ว ไก่เถื่อนที่ว่าถึงกับไม่ยอมกลับเข้าป่า และเชื่องเป็นไก่บ้านไปเลย


สมเด็จอรหัง พระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน)


การกำเนิดพระสมเด็จ อรหัง

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงโปรดให้พระอาจารย์สุกหรือพระญาณสังวรเถระ มาอยู่ที่วัดราชสิทธารามหรือวัดพลับ ที่ อ. บางกอกใหญ่ นครหลวงฝั่งธนบุรี แล้ว ต่อมาวัดนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ การทรงผนวชของพระราชวงศ์แต่ละพระองค์นั้น ภายหลังมักจะเสด็จไปศึกษาวิปัสสนา ที่สำนักพระญาณสังวร ณ วัดราชสิทธารามอยู่เสมอ เช่นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น พระญาณสังวร สุก ไก่เถื่อน ก็ได้เป็นพระบรมราชาจารย์ของพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์นี้ด้วย

จากการที่สมเด็จฯ ท่านยิ่งใหญ่ด้านอาคมขลังจนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วนั้นจะเป็นด้วยทนการวิงวอนจากบรรดาสานุศิษย์หรือผู้คนที่นับถือท่านมากราย อยากจะได้พระเครื่องของท่านไว้คุ้มครองบ้างก็ได้ ด้วยเหตุนี้เอง, พระเครื่องพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบชิ้นฟัก ซึ่งสร้างด้วยผงวิเศษสีขาวนั้น สมเด็จพระสังฆราชองค์นี้ จึงได้ให้กำเนิดพระสมเด็จดังกล่าวนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2360

เล่ากันว่า พระสมเด็จอรหัง ที่สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนได้เริ่มสร้างเป็นครั้งแรกนั้น ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดพลับ พระเครื่องพิมพ์สมเด็จฯส่วนหนึ่งเมื่อได้รับการปลุกเสกแล้ว ท่านก็แจกจ่ายให้ไปบูชากันโดยถ้วนทั่วและเป็นที่เข้าใจกันว่า พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ปฐมฤกษ์นั้นก็คือ พิมพ์ เกศเปลวเพลิง ซึ่งด้านหลังจะไม่ปรากฏมีอักขระคำว่า อรหัง จารึกลงไว้เลย

สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ท่านได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการสร้างพระพิมพ์สมเด็จอรหังต่อมาอีก มีหลายพิมพ์ที่เสร็จแล้วท่านก็แจกสานุศิษย์ต่อไปโดยมิได้ลงกรุ แต่พระอีกจำนวนหนึ่งนั้น เมื่อท่านได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และได้ย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุแล้ว ก็เข้าใจว่าพระสมเด็จอรหังส่วนหลังนั้น ท่านคงได้นำมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาธาตุแห่งนี้ไว้เป็นจำนวนมากทีเดียว



พุทธลักษณะ, เนื้อ,และพิมพ์

พระสมเด็จอรหัง ของสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนนี้ เท่านี้ปรากฏอยู่ในวงการพระเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว จะแยกแบบออกได้ถึง 5 พิมพ์ ด้วยกันดังนี้

1.   สมเด็จอรหัง พิมพ์สังฆาฏิ เป็นพระเนื้อผงสีขาวที่นิยมกันมากมีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ครึ่ง พุทธลักษณะเป็นพระปางสมาธิประทับนั่งบนฐาน 3 ชั้น เห็นชายสังฆาฏิห้อยชัดเจนทุกองค์ ด้านขอบข้างองค์พระจะถูกอัดออกมาตามแบบแม่พิมพ์โดยไม่มีการตัดด้วยเส้นตอกเลย และโปรดสังเกตการประทับนั่ง เข่าจะแคบและตรง ส่วนด้านหลังจะปรากฏอักขระคำว่า อรหัง จารึกไว้ด้วย พระสมเด็จพิมพ์นี้แยกออกเป็น 2 แบบ คือ 1. แบบเศียรโต และ 2. แบบเศียรเล็ก

2.   พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ เป็นพระเนื้อผงสีขาว เข่ากว้างและโค้งกว่าพระพิมพ์สังฆาฏิ โดยเฉพาะฐานสร้างเป็นเส้นเล็กคู่ นอกจากนั้นทั้งขนาด, ขอบด้านข้าง, และหลัง คงเหมือนกับ พิมพ์สังฆาฏิ ทุกอย่าง

3.   พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เกศเปลวเพลิง นี่เป็นอีกพิมพ์หนึ่งซึ่งนอกจากจะมีน้อยแล้ว แม้จะหาชมก็ยากนัก พระพิมพ์นี้ทั้งความงามและขนาดจะเหมือนกับ พิมพ์สังฆาฏิ มีเพี้ยนอยู่บ้างก็ตรงที่มีเกศขมวดม้วนเป็นตัว อุ และรูปทรงค่อนข้างชะลูด ส่วนฐานประทับถึงแม้จะเป็นแบบ 3 ชั้น แต่ก็หนาวกว่ากันมาก พระพิมพ์นี้เป็นพระเนื้อผงสีขาว ด้านหลังเป็นแบบราบโดยไม่มีอักขระขอมปรากฏให้เห็นเลย ส่วนขนาดจะเท่ากับพิมพ์แรก ๆ

4.   พระสมเด็จอรหัง พิมพ์โต๊ะกัง ขนาดพระพิมพ์นี้จะเท่ากับ 3 พิมพ์แรกสัญลักษณ์ที่ควรจดจำกับพระสมเด็จพิมพ์โต๊ะกัง นี้ได้ง่าย ๆ ก็คือ เป็นพระผงผสมว่านเนื้อออกสีแดงคล้าย ปูนแห้ง แม้ค่อนข้างหย่อนงามไปบ้าง แต่ก็เป็นอีกพิมพ์หนึ่งที่หาชมได้ยาก ด้านหลังของพระพิมพ์นี้จะถูกปั๊มลึก ปรากฏเป็นอักขระคำว่า อรหัง นูนขึ้นมา ผิดกับ 3 พิมพ์แรกซึ่งถูกจารึกบุ๋มลงไปด้วยการจารึกเส้นเล็ก ๆ ด้วยมือตอนเนื้อพระยังไม่แห้ง

5.   พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เล็ก พระพิมพ์นี้จะมีขนาดสูงเพียง 2.3 ซ.ม. เท่านั้น เป็นพระเนื้อผงสีขาว ซึ่งมีพุทธลักษณะเหมือนเช่นกับทุก ๆ พิมพ์ที่กล่าวไปแล้ว หากแต่ได้เพิ่มประภามณฑลล้อมรอบเศียรขึ้นมาอีกแบบเท่านั้นเอง นับว่าเป็นพระอีกพิมพ์หนึ่งที่หาชมได้ยากพอ ๆ กับพิมพ์เกศเปลวเพลิงทีเดียวสำหรับด้านหลังจะลงจารึกคำว่า อะระหัง ไว้ด้วยเช่นกัน



พระสมเด็จอรหัง มีสองกรุ

พระสมเด็จอรหังทั้ง 5 พิมพ์ ดังได้กล่าวไปแล้วนั้น บางพิมพ์ตรงกัน แต่เนื้อกลับไม่เหมือนกัน หรือบางพิมพ์จารึกที่ลงไว้ด้านหลังกลับเป็นอักขระเล็กบ้าง, ใหญ่บ้าง, โดยไม่เท่ากันนั้น ก็เพราะพระสมเด็จอรหังนี้ มีแยกออกเป็น 2 กรุดังจะกล่าวไว้พอเป็นสังเขปดังนี้

1.   พระสมเด็จอรหัง กรุวัดมหาธาตุ กล่าวกันว่ามีผู้พบพระเพียง 3 พิมพ์เท่านั้น คือ 1. พิมพ์สังฆาฏิ 2. พิมพ์ฐานคู่ 3. พิมพ์เล็ก โดยจะเป็นพระเนื้อผงสีขาวทั้งหมดส่วนพิมพ์เกศเปลวเพลิงนั้น ต่างก็พูดกันว่า เป็นพระเครื่องพิมพ์แรกที่สมเด็จท่านอาจทำเป็นการทดลอง และได้แจกจ่ายไปก่อนแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่วัดพลับก็ว่าได้ พระสมเด็จกรุวัดมหาธาตุนี้
     โดยทางเนื้อจะละเอียดขาวและมีความแน่นตัวมาก พระทุก ๆ องค์หากมิได้ใช้ หรือเมื่ออกจากกรุใหม่ ๆ จะมีฝ้าคราบขาวนวลหุ้มติดอยู่ทุกองค์บางองค์ก็ปิดทองล่องชาด และบางองค์ถึงกับเนื้องอกแบบพระวัดพลับก็มี ส่วนด้านหลังอักขระที่จารึกไว้นั้น ตัวอักษรจะเท่ากัน และค่อนข้างใหญ่กว่าของกรุวัดสร้อยทองอีกเล็กน้อย


2.   พระสมเด็จอรหัง กรุวัดสร้อยทอง พระสมเด็จกรุนี้ได้มีผู้พบภายหลังจากกรุวัดมหาธาตุ ได้เผยโฉมออกมาแล้ว พระที่พบคือสมเด็จอรหังพิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์โต๊ะกัง, และพิมพ์ฐานคู่ ซึ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด พิมพ์แรกจะเห็นชายสังฆาฏิชัดเจน เช่นเดียวกับกรุวัดมหาธาตุแต่เนื้อจะหยาบกว่า แก่ผงเกสรดอกไม้และมีทรายปนอยู่ด้วย ส่วน พิมพ์โต๊ะกัง เป็นพระเนื้อสีแดง มีคราบกรุจับนวลขาวทั่วไป ตราปั๊มด้านหลังจะปรากฏแบบลึกนูนขึ้นมาชัดเจนอ่านง่าย ส่วนพิมพ์เล็กไม่ปรากฏพบอยู่ในกรุนี้เลย

เรื่องสมเด็จอรหังกรุวัดสร้อยทองนี้ บางท่านก็ว่าสมเด็จพระสังฆราชสุก ท่านได้สร้างให้กับวัดนี้ไว้ แต่พระภิกษุผู้ชราชื่อ แพร ซึ่งอยู่ที่วัดสร้อยทอง ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า... พระสมเด็จกรุนี้ ความจริงแล้ว ผู้สร้างคือพระอาจารย์ กุย ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนอีกองค์หนึ่ง ท่านได้สร้างไว้โดยใช้แม่พิมพ์เดิม แต่เนื้อและการลงจารึกด้านหลังจะเล็กผิดกว่ากันมาก

ส่วนเรื่องพระสมเด็จอรหัง พิมพ์โต๊ะกัง นั้นเข้าใจว่าได้มีชาวจีนสร้างเป็นกุศลร่วมลงกรุไว้ที่วัดสร้อยทอง พระพิมพ์นี้จึงมีสีแดง สีแห่งความรุ่งโรจน์ ซึ่งชาวจีนนิยมกันมาก และที่เรียกว่า พิมพ์โต๊ะกัง ก็เห็นจะเป็นเพราะตราด้านหลังคำว่า อรหัง ซึ่งโดยปกติแล้ว จะใช้เหล็กแหลมเขียน แต่พระสมเด็จอรหังสีแดงพิมพ์นี้กลับใช้ตราปั๊มลึกนูน โดยตัวอักขระหนังสือจะนูนขึ้นมาเหมือนกับตราปั๊มของร้านทอง ตั้งโต๊ะกัง ที่ปั๊มติดกับสร้อย เลยเป็นเหตุให้นักเลงพระยุคนั้นเห็นดีเห็นชอบเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่า พระสมเด็จอรหัง พิมพ์โต๊ะกัง ตั้งแต่นั้นมา

เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าคุณจะมีพระสมเด็จอรหังพิมพ์โต๊ะกังหรือไม่โต๊ะกังก็ตามที ขอให้มีพระองค์พอสวยก็แล้วกัน ถ้าไม่พูดถึงพระพุทธคุณท่านเด็ดในทางมหานิยมอยู่แล้ว ผมขอรับรองว่าคุณ ๆ ที่มีพระพิมพ์นี้ไว้จะยืน ยิ้มแบบโต๊ะกัง ได้อย่างสบายมาก เพราะขณะนี้เขาเสนอราคาเช่ากันองค์ละใกล้แสนหรืออาจจะเลยแสนไปแล้วก็ว่าได้



พุทธคุณของพระสมเด็จอรหัง

สำหรับเรื่องพุทธคุณการใช้จากผู้ได้ประสบการณ์กับพระสมเด็จพิมพ์นี้มาแล้วนั้นถึงแม้ว่าจะไม่ดังกระฉ่อนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯ หรือสมเด็จบางขุนพรหมก็ตาม ได้มีนักเผชิญโชคผู้ได้มีประสบการณ์อันมหัศจรรย์จากพระสมเด็จอรหังมาแล้ว ถึงกับตื่นตะลึงและหวงแหนกันยิ่งนัก เพราะพระสมเด็จพิมพ์นี้ดีทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเหมือนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯทุกอย่าง ยกเว้นพระสมเด็จอรหังสีแดงเท่านั้นซึ่งนอกจากจะมีมหานิยมแล้วยังเพิ่มด้านกระพันชาตรีไว้อีกทางหนึ่งด้วย

เพื่อให้เรื่องพระสมเด็จอรหัง ยอดพระ ต้นสกุลพระสมเด็จ ของ สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ได้จบลงอย่างสมบูรณ์ ต่อไปนี้ผมจึงขอเสนอเรื่องราวตอนหนึ่งที่คุณ เฉลิม แก้วสีรุ้ง ซึ่งเป็นชาวนนทบุรี ได้เผชิญกับอิทธิปาฏิหาริย์จากพระสมเด็จอรหังจนถึงกับตะลึงงันอยู่กับที่มาแล้ว เป็นเรื่องทิ้งท้ายไว้ดังต่อไปนี้...

เรื่องก็มีอยู่ว่า เมื่อ พ.ศ. 2508 คุณเฉลิมมีอาชีพรับซื้อขายผลไม้เป็นประจำอยู่ที่เมืองนนท์ วันหนึ่งมีชาวสวนข้างบ้านมาบอกจะขายทุเรียนส่วนหนึ่งให้ และขอร้องให้ไปดูด่วนด้วย คุณเฉลิมรักทุเรียนมากจนลืมลั่นกุญแจบ้าน และลืมจนกระทั่ง พระสมเด็จอรหัง พร้อมด้วยสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท กับกระเป๋าเงินซึ่งมีเงินอยู่ในนั้นถึงแปดพันบาทด้วย

คุณเฉลิมมานึกขึ้นได้ก็เหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้วถึง 3 ชั่วโมง เขาจึงรีบกลับบ้านทันทีแต่ก็ต้องถึงกับตะลึงงันอยู่กับที่เมื่อมาถึงบ้าน เพราะขณะนั้นประตูบ้านได้เปิดอ้า ข้าวของในบ้านถูกรื้อกระจัดกระจายเกลื่อน เสื้อผ้าส่วนหนึ่งและเข็มขัดนาคของภรรยาเขาได้ถูกคนร้ายลักไป แต่...คุณพระช่วย ครับ, คุณพระได้ช่วยคุณเฉลิมไว้อย่างปาฏิหาริย์จริง ๆ ด้วย ที่ว่าปาฏิหาริย์ก็เพราะทั้งสร้อยคอรวมทั้งพระและเงินอีกแปดพันบาท ที่กองอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้งอย่างชนิดที่ใครโผล่เข้าไปในบ้านก็ต้องมองเห็นได้อย่างถนัดตาทีเดียวนั้น ของดังกล่าวยังคงอยู่ ณ ที่นั้นโดยไม่มีใครมาขยับไปไหนเลย

เรื่องนี้คุณเฉลิมบอกกับผู้เขียนว่า นั่นคือผลแห่งการแคล้วคลาด อันเกิดจากอิทธิปฏิหาริย์ของพระสมเด็จอรหังได้พรางตาคนร้ายไว้แน่ ๆ หรือถ้าใครว่าไม่แน่ละก้อคนร้ายกลุ่มนั้นก็คงจะตาบอดเท่านั้นเอง

คุณเฉลิมบอกว่า ขณะนี้ผมได้ย้ายบ้านและเป็นเจ้าของสวนลำไยอยู่ที่เชียงใหม่แล้ว สาเหตุที่ได้เปลี่ยนอาชีพ จนพอจะมีกินกับเขาบ้างแล้วนี้ ก็เรื่อง พระสมเด็จอรหัง ท่านช่วยผมอีกเหมือนกัน ผมได้อาราธนาบูชาขอโชคลาภท่าน เพื่อขอทุนไปซื้อลำไย ด้วยการไปซื้อลอตเตอรี่ที่จังหวัด 2 ใบ คุณเฉลิมยืนยันว่า ไม่ชอบและไม่เคยซื้อกับเขาเลย นอกจากครั้งนี้เท่านั้น พอถึงเวลาหวยออก ทั้งเขาและภรรยาดีใจจนแทบเป็นลมเป็นแล้งเอาทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะสลากลอตเตอรี่ทั้ง 2 ใบนั้น ใบแรกถูกรางวัลที่ 3 และอีกใบหนึ่งก็ถูกเลขท้าย 3 ตัวด้วย

นี่คือเรื่องราวที่คุณเฉลม แก้วสีรุ้ง ได้เล่าให้กับผู้เขียนฟังเมื่อ พ.ศ. 2512 ซึ่งขณะนั้นเขาและครอบครัวได้ครองเรือนกันอย่างผาสุกด้วยฐานะที่มั่นคงพอสมควรแล้ว และสิ่งเดียวที่ไม่มีใครมาพรากจากคอเขาได้เลยคือ พระสมเด็จอรหัง เนื้อผงสีขาวองค์เดียวที่เขารักหวงแหนราวกับชีวิตติดตัวเขาอยู่ตลอดเวลาทีเดียว

เดี๋ยวนี้เราก็รู้แล้วว่า พระสมเด็จอรหัง นอกจากผู้สร้างจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระบรมราชาจารย์ของในหลวงทั้ง 3 พระองค์แล้ว ยังเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ อีกด้วย และสำหรับด้านพระเครื่องฯ พระสมเด็จอรหัง ก็คือพระต้นสกุลพระสมเด็จทั้งหมด อันเปรียบได้ดั่ง จักรพรรดิพระสมเด็จ ซึ่งเปี่ยมด้วยพุทธาคมมนต์ขลังด้านมหานิยมและแคล้วคลาด จากสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ผู้เลี้ยงไก่ป่าให้เชื่องได้ดังไก่บ้านไว้เต็มลานนั่นเอง


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/monk-raja/monk-raja-04-hist.htm
ขอบคุณภาพจาก http://krisnaporn.tarad.com/,http://amulet.narak.com/,http://www.phra88.com/,http://www.web-pra.com/,http://www.pornkruba.net/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 31, 2012, 12:16:22 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    • ดูรายละเอียด
จากนิตยสารธรรมลีลา
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา