สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 31, 2021, 08:03:17 am



หัวข้อ: "ตัณหา" เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อย่างไร.?
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 31, 2021, 08:03:17 am

(http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2019/04/tanha.jpg)


"ตัณหา" เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อย่างไร.?

ความหมายที่ว่า “ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์” นั้น เป็นความหมายกว้างๆครอบจักรวาล เพราะเหตุที่ละตัณหาไม่ได้นั่นเอง จึงทำให้สัตว์แล่นท่องเที่ยวเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสาร (อเนกชาติ สํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ ฯลฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา”) เกิดเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

เมื่อไม่มีการเกิด ก็ไม่จำต้องกล่าวถึง ทุกข์อื่นๆ มี ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวะ อีกต่อไป (ตรงนี้ จึงเข้ากับพระดำรัสที่ว่า “เราสอนเรื่องทุกข์ และความดับทุกข์เท่านั้น”)

มนุษย์ เทวดา พรหม อาจไม่เกิดด้วยอำนาจแห่งตัณหาโดยตรง คือ เกิดด้วยอำนาจแห่ง มหากุศล, รูปาวจรกุศล,อรูปาวจรกุศล แต่เมื่อว่าโดยมูลเหตุของทุกข์ พระองค์ถือเอา “ชาติทุกข์” เป็นสำคัญ เหมือนอย่างที่ทรงตรัสไว้ในทุกขอริยสัจ ทรงยก “ชาติปิ ทุกขา” ขึ้นเป็นทุกข์อันดับแรก และชาติทุกข์นั้น มีอะไรเป็นมูลเหตุอันสำคัญที่สุด ก็ทรงพบว่า สมุทัย คือ ตัณหา เป็นมูลเหตุสำคัญที่สุด

เพราะอะไร.? เพราะละตัณหาไม่ได้ ก็เกิดอยู่ร่ำไป ความมุ่งหมายก็คือว่า “ทำอย่างไร จะให้สัตว์พ้นจากชาติทุกข์” ก็ให้สัตว์ทั้งหลาย ทำลายตัณหาให้ได้นั่นเอง อย่ายึดติดหรือพอใจในกุศล แม้เป็นกุศลอันสูงสุด คือ เนวสัญญาณาสัญญายตนกุศล เพราะยังไม่พ้นการเกิดในภพอื่น ๆ อีกนั่นเอง

@@@@@@@

สรุปสั้นๆว่า  “ที่ยังต้องเกิดอยู่ ก็เพราะตัดตัณหาไม่ได้นั่นเอง เมื่อตัดตัณหาไม่ได้ ก็ยังต้องเกิดอยู่ แต่การเกิด อาจเกิดด้วยอำนาจของโลกียกุศลก็ได้ (และจริง ๆ การเกิด ต้องโดยอาศัยปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย) แต่อำนาจแห่งโลกียกุศลทำให้เกิดได้ ก็เพราะยังตัดตัณหาไม่ได้นั่นเอง (เพราะถ้าตัดตัณหาเป็นสมุจเฉทได้แล้ว โลกียกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลอันโลกียกุศลก่อนๆก่อไว้แล้ว ก่อนหน้าจะบรรลุพระอรหัตต ก็ไม่สามารถทำให้เกิดอีกได้) กล่าวถึงว่า เมื่อยังเกิดอยู่ ก็ไม่พ้นทุกข์ มีชาติทุกข์เป็นต้น”  ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสรวบยอดเลยว่า ตัณหาเป็นสมุทัย คือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์”

อีกประการหนึ่ง ทางดำเนินเพื่อให้ถึงความดับทุกข์นั้น ต้องอาศัยกุศล ทั้งศีลกุศล สมาธิกุศล ปัญญากุศลที่เป็นโลกียะ กุศลนั้นๆ พระองค์ก็ทรงตรัสให้พระสาวก กระทำให้เกิด ให้มีขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อให้เป็นสะพาน เพื่อการก้าวเดินไปสู่จุดหมายคือนิโรธ(นิพพาน) นั่นเอง

เมื่อถึงนิพพาน เพราะทำอรหัตตมรรค-ผล เกิดขึ้นแล้ว ก็ได้ชื่อว่าอยู่จบพรหมจรรย์ บุญกุศลทั้งหลายอันเป็นโลกียะ ก็ถูกละไปเองโดยอรหัตตมรรค พร้อม ๆ กับอนุสัยกิเลสที่นอนตามการเกิด-ดับแห่งนามรูปนั้น (ปุญฺญปาปปหีโน ผู้มีบุญและบาปอันละได้แล้ว) จัดว่าเป็นผู้ไม่มีทุกข์ คือชาติทุกข์ในภพไหน ๆ อีกต่อไป

“พระพุทธเจ้า มิได้สอนให้คนไม่ตาย แต่สอนให้บุคคลไม่ต้องเกิดมาตายอีก”




ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2019/04/01/ตัณหา-เป็นเหตุให้เกิดทุ (http://dhamma.serichon.us/2019/04/01/ตัณหา-เป็นเหตุให้เกิดทุ)/
เขียนโดย VeeZa ,๑ เมษายน ๒๕๖๒
1 เมษายน 2019 posted by admin.