ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การอบรมสั่งสอน ประชาชนและพระเณร ของ 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต'  (อ่าน 419 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



การอบรมสั่งสอน ประชาชนและพระเณร ของ 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต'

การอบรมสั่งสอนประชาชนและพระเณร ถ้ามีคนมาเกี่ยวข้องมาก ท่าน (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) ก็แบ่งเป็นเวลา ไม่ให้ตรงกัน คือ บ่ายราว ๔-๕ โมงเย็น อบรมคณะญาติโยม แต่ ๑ ทุ่มขึ้นไปอบรมพระเณร พอเลิกจากประชุม ต่างองค์ต่างไปที่พักของตน และประกอบความเพียร

เวลาพักอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคอีสาน ท่านปฏิบัติต่อประชาชน พระเณรอย่างหนึ่ง ในเที่ยวแรกกับเที่ยวที่ ๒ เวลาท่านไปพักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และกลับไปอุดรเที่ยวที่ ๓ คือ เที่ยวสุดท้าย ท่านปฏิบัติกับประชาชน พระเณรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผิดกับแต่ก่อนอยู่มาก แต่ทั้งสองตอนหลังนี้ จะรอไว้เขียนข้างหน้าเพื่อให้เรื่องติดต่อกันไม่ขาดความ

ท่านสนใจสั่งสอนพระเณรมากเป็นพิเศษ ถ้าปรากฏว่ารายใดภาวนาจิตเป็นไปและรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับภายนอกหรือภายใน ท่านจะพยายามสนใจและเรียกมาสอบอารมณ์เป็นพิเศษ เพราะตามธรรมดาของผู้ปฏิบัติภาวนาทั่ว ๆ ไป ย่อมมีจริตนิสัยแปลกต่างกัน

การปฏิบัติและความรู้ที่เกิดขึ้นจากการภาวนาก็มีความแปลกต่างกันเป็นราย ๆ แต่ผลคือความสงบสุขเย็นใจนั้นเหมือนกัน ที่แปลกต่างกันก็คืออุบายวิธีและความรู้ความเห็นที่ปรากฏขึ้นในขณะภาวนา บางรายก็รู้เกี่ยวกับสิ่งภายในด้วย เกี่ยวกับสิ่งภายนอกด้วย เช่น เห็นภูตผีเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เห็นเทวบุตรเทวดาเป็นต้น เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เห็นคนหรือสัตว์มาตายอยู่ต่อหน้าบ้าง เห็นเขาหามผีมาทิ้งไว้ต่อหน้าบ้าง เห็นร่างของตัวออกไปนอนตายอยู่ต่อหน้าบ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดวิสัยของผู้เพิ่งรู้เพิ่งเห็นในขณะเริ่มต้นภาวนาและจิตเริ่มสงบ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องแม่นยำได้ทุก ๆ กรณีไป ทั้งไม่แน่ใจว่าที่ปรากฏขึ้นมาแต่ละอย่างนั้น จะมีความผิดถูกแฝงอยู่ประการใดบ้าง บางรายที่เป็นนิสัยไม่ชอบใคร่ครวญก็อาจเห็นผิดไปตาม และยึดถือเอาว่าเป็นความจริง ก็ยิ่งเป็นทางล่อแหลมต่อความเสียหายในอนาคตมากขึ้น


@@@@@@@

แต่นิสัยที่จิตออกรู้สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวมาขณะที่จิตสงบลง มีจำนวนน้อยมาก ร้อยละห้าคนก็ทั้งยาก แต่ก็ต้องมีรายหนึ่งจนได้ ที่จะปรากฏเช่นนั้นขึ้นมา จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับการแนะนำจากท่านผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในทางนี้มาก่อน

เวลาพระธุดงค์ท่านเล่าผลของการภาวนาที่ปรากฏในลักษณะต่าง ๆ กันถวายครูอาจารย์ และเวลาอาจารย์ชี้แจงวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่รู้ที่เห็นให้ผู้มาศึกษาไต่ถามฟัง รู้สึกว่าซาบซึ้งจับใจเพลิดเพลินในการฟังไม่อยากให้จบลงอย่างง่าย ๆ เวลาอธิบาย ท่านแยกประเภทแห่งนิมิตออกเป็นตอน ๆ และอธิบายวิธีปฏิบัติต่อนิมิตนั้น ๆ อย่างละเอียดลออมาก จนผู้ฟังหายสงสัย และร่าเริงในธรรมที่ท่านแสดงให้ฟัง พร้อมทั้งความมีแก่ใจที่จะบำเพ็ญตนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แม้รายที่ไม่ปรากฏเห็นนิมิตเกี่ยวกับสิ่งภายนอก แต่ก็น่าฟังไปอีกทางหนึ่ง

เวลาท่านเล่าความสงบสุขของใจที่รวมลงสู่ความสงบ ตลอดอุบายวิธีที่ท่านทำถวายอาจารย์ ผู้ที่ยังไม่สามารถถึงขั้นที่ได้ยินได้ฟังในขณะนั้น ก็เกิดศรัทธาความเชื่อมั่นขึ้นมา ที่จะพยายามทำให้ได้อย่างนั้นบ้าง หรือยิ่งกว่านั้นบ้าง ทั้งผู้ที่มีจิตเป็นไปและผู้ที่กำลังตะเกียกตะกาย ต่างก็ได้รับความปลาบปลื้มปีติในขณะฟัง บางรายเวลาจิตสงบลง ปรากฏว่าได้ไปเที่ยวบนสวรรค์ชมวิมานชั้นต่าง ๆ จนจวนสว่าง ใจถึงกลับสู่ร่างและรู้สึกตัวขึ้นมาก็มี บางรายลงไปเที่ยวปลงธรรมสังเวชกับพวกเสวยกรรมต่าง ๆ กันในนรกก็มี บางรายทั้งขึ้นไปเที่ยวบนสวรรค์ทั้งลงไปเที่ยวในนรก ดูสภาพทั้งสองแห่งซึ่งมีความแตกต่างกันมาก คือพวกหนึ่งรื่นเริงบันเทิง แต่อีกพวกหนึ่งคร่ำครวญด้วยความทุกข์ทรมาน ซึ่งไม่มีกำหนดว่าจะพ้นโทษไปได้เมื่อไรก็มี บางรายก็ต้อนรับแขกคือพวกภูตผีและเทวดาที่มาจากที่ต่าง ๆ คือชั้นบนบ้าง รุกขเทพฯบ้าง

@@@@@@@

ขณะที่จิตสงบลง บางรายก็เสวยความสงบสุขที่เกิดจากสมาธิประเภทต่าง ๆ กันตามกำลังของตัวบ้าง บางรายก็พิจารณาทางปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์ออกเป็นแผนก และแยกให้สลายจากกันจนเป็นคนละชิ้นละส่วน และทำให้สลายลงสู่คติเดิมของตนบ้าง บางรายก็กำลังเริ่มฝึกหัดและกำลังล้มลุกคลุกคลาน เหมือนเด็กกำลังฝึกหัดนั่งบ้างเดินบ้างต่าง ๆ กัน บางรายภาวนาบังคับจิตให้ลงอย่างใจหวังไม่ได้ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจร้องไห้บ้าง บางรายได้ยินท่านสนทนาธรรมประเภทต่าง ๆ ตามภูมิที่ตนรู้เห็นกับอาจารย์เกิดความปีติและอัศจรรย์ในธรรมนั้น ๆ แล้วร้องไห้บ้าง

บางรายก็ไปเป็นทัพพีนอนแช่อยู่กับแกงไม่รู้รสของแกงว่าเป็นอย่างไร และทำตัวขวางหม้อต้มหม้อแกงอยู่ ซึ่งเป็นธรรมดา ของหลายอย่างอยู่ด้วยกันย่อมมีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันไปแต่ไหนแต่ไรมา ผู้มีสติปัญญาก็เลือกเก็บเอาเฉพาะที่เห็นว่าดีและเป็นประโยชน์ ก็เป็นสาระแก่ผู้รอบคอบนั้น รายเช่นนี้แม้ผู้เขียนเองก็ไม่รับรองตัว คงต้องมีส่วนอยู่ด้วยจนได้ ท่านผู้อ่านกรุณาผ่านไป อย่าได้สนใจ เพราะเรื่องเช่นนี้ แม้ในบ้านและในตัวเราเองก็อาจมีในบางครั้งบางคราว และอาจมีอยู่ทั่วไป

ท่านมาอยู่อบรมสั่งสอนภาคอีสานเที่ยวที่สองนี้ปรากฏว่าหลายปี แต่การจำพรรษาไม่ค่อยซ้ำที่เก่า ในปีหลังพอออกพรรษาแล้วก็ออกเที่ยวธุดงค์ตามป่าตามเขาไปแบบสุคโต เหมือนนกที่มีเฉพาะปีกกับหาง บินไปเที่ยวหากินในที่ต่าง ๆ ตามความสบาย บินไปจับต้นไม้และหากินบนต้นไม้ใด บึงหรือหนองใด พออิ่มแล้วก็บินไปอย่างสบายหายห่วง ไม่คิดว่าไม้ต้นนั้น ผลไม้นั้น เปือกตมนั้น บึงนั้น หนองนั้นเป็นของมัน

@@@@@@@

ผู้ปฏิบัติธรรมได้แบบนกก็เป็นสุขไปทางหนึ่ง ซึ่งยากจะทำได้ เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์หมู่ สัตว์พวก ชอบอยู่กันเป็นหมู่เป็นพวก และชอบติดถิ่นฐานบ้านเรือน ผู้จะออกไปโดดเดี่ยวดังท่านพระอาจารย์มั่นปฏิบัติมาในบั้นต้นและจวบบั้นปลาย คือ เวลาท่านอยู่เชียงใหม่ จึงรู้สึกฝืนใจไม่น้อยเลย ขออภัยถ้าเทียบก็ราวกับจูงสัตว์บกใส่น้ำใส่ฝนฉะนั้น แต่ถ้าใจคุ้นกับธรรมแล้วกลับตรงข้าม คือชอบไปคนเดียว อยู่คนเดียว อิริยาบถทั้งสี่เป็นเรื่องของคน ๆ เดียว ใจดวงเดียว ไม่มีอารมณ์เครื่องก่อกวนยุ่งเหยิง นอกจากธรรมเป็นอารมณ์อันพาให้สบายเท่านั้น

ฉะนั้น ท่านผู้มีใจเป็นเอการมณ์ คือ มีธรรมเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว จึงเป็นใจที่แสนสบายและสว่างไสว ไม่มีอะไรมาปกปิดกำบังให้อับเฉาเมามัว เป็นผู้อยู่ตัวเปล่า ใจเปล่าจากอารมณ์ ชมสันติสุขด้วยธรรมชาติที่มีอยู่กับตัวอย่างสมบูรณ์ ไม่เกรงกลัวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงและสิ้นไปหมดไป เพราะเป็นอกาลิกธรรม คือธรรมที่ปราศจากกาลสถานที่ มีอยู่กับใจที่ปราศจากสมมุติเครื่องหลอกลวง พระอาจารย์มั่นท่านดำเนินแบบสุคโต ไปเป็นสุข อยู่เป็นสุข นั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข นำหมู่คณะโดยสุคโต แต่บรรดาลูกศิษย์ที่พยายามตามให้เป็นไปตามความประสงค์ท่านรู้สึกว่ามีน้อยในธรรมขั้นสูง แต่ก็ยังนับว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอยู่มาก

เวลาท่านพาออกบิณฑบาตเฉพาะองค์ ท่านเองจะมีเรื่องสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาเป็นอารมณ์คู่เคียงกับธรรมภายในใจ ให้แสดงออกทางวาจาพอผู้เดินทางตามหลังถัดท่านได้ยินชัดถ้อยชัดคำ อันเป็นเชิงสอนเราให้รู้วิบากกรรมว่า แม้สัตว์เดียรัจฉานก็ยังมีและเสวยกรรมไปตามวิบากของมัน โดยนำเรื่องของสัตว์นั้น ๆ ที่เดินผ่านไป พบเห็นเขาเที่ยวหากินอยู่ตามรายทางมาแสดง เพื่อมิให้ประมาทเขาว่าเป็นสัตว์ที่เกิดในกำเนิดที่ต่ำทราม ความจริงเขาเพียงเสวยกรรมตามวาระที่เวียนมาถึงเท่านั้น เช่นเดียวกับมนุษย์เราเกิดเสวยชาติเป็นคน ซึ่งมีความสุขบ้างทุกข์บ้างตามวาระของกรรมที่อำนวยในเวลาต่าง ๆ กัน

@@@@@@@

ฉะนั้น ที่ท่านพร่ำเรื่องของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มีไก่ สุนัข วัว ควายเป็นต้น
   - เพราะความสงสารที่เขาต้องมาเป็นอย่างนั้น หนึ่ง
   - เพราะความตระหนักในกรรมของสัตว์ว่ามีต่าง ๆ กัน หนึ่ง
   - เพราะท่านและพวกเราที่กำลังเป็นมนุษย์ก็มีกรรมชนิดหนึ่งที่พาให้มาเป็นเช่นนี้ ซึ่งล้วนเคยผ่านกำเนิดต่าง ๆ มาจนนับไม่ถ้วน หนึ่ง
   - เพราะความวิตกรำพึงกับสิ่งที่พาให้เป็นภพเป็นชาติประจำมวลสัตว์ ว่าเป็นสิ่งลึกลับมาก ยากที่จะรู้เห็นได้แม้มีอยู่กับตัวทั่วกัน ถ้าไม่ฉลาดแก้หรือถอดถอนออกได้ก็ต้องเป็นภัยอยู่ร่ำไป ไม่มีจุดหมายปลายทางว่าจะหลุดพ้นไปได้ในกาลและสถานที่ใด ๆ หนึ่ง

แทบทุกครั้งที่ออกบิณฑบาต ท่านจะนำเรื่องสัตว์หรือเรื่องคนมาพร่ำไปตามสายทางในลักษณะที่กล่าวมา ผู้สนใจพิจารณาตามก็เกิดสติปัญญา ได้อุบายต่าง ๆ จากท่าน ผู้ไม่สนใจพิจารณาตามก็ไม่เกิดประโยชน์ และยังอาจคิดไปว่าท่านพูดอะไรกับสัตว์กับมนุษย์ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่มีทางทราบได้ เพราะท่านมิได้พูดเฉพาะหน้าเขา ดังนี้ก็อาจมีได้



ที่มา : คัดลอกจากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ตอนที่ ๑ โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ตอน "การอบรมสั่งสอนประชาชนและพระเณร" ใน http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-12-03.htm
ขอบคุณ : https://www.naewna.com/likesara/511841
วันศุกร์ ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 20.26 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ