ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “อัษฎางคประณต” แปลว่าอะไร ส่องท่าเคารพที่ไม่ค่อยพบในหมู่คนไทย  (อ่าน 455 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




“อัษฎางคประณต” แปลว่าอะไร ส่องท่าเคารพที่ไม่ค่อยพบในหมู่คนไทย

อัษฎางคประณต คำนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่มี. อาจเป็นเพราะว่า ในเมืองไทยเรา หรือคนไทยเราไม่มีใครทำความเคารพแบบนี้. อย่างสุดยอดของเราก็แค่ “เบญจางคประดิษฐ”.

เบญจางคประดิษฐ แปลตามศัพท์ว่า ตั้งไว้ซึ่งองค์ ๕, คือ การทำความเคารพด้วยอวัยวะ ๕ แห่งแตะพระธรณี คือ หัว (๑), มือ (๒) และหัวเข่า อีก ๒, ก็คือกราบนั่นเอง.

แต่ฉบับมติชน มี, และว่าดังนี้

“อัษฎางคประณต (อัด-สะ-ดาง-คะ-ปฺระ-นด) น. การทำความเคารพซึ่งถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ แตะต้องธรณี คือ มือทั้ง ๒, เข่าทั้ง ๒ เท้าทั้ง ๒ หน้าผากและอก.

“อัษฎางค์” แปลว่า “องค์ ๘“, คือเพิ่มขึ้นมาจาก เบญจางค์ (๕) อีก ๓, คือ ๒ เท้า และ ๑ อก.

@@@@@@@

ได้เห็นคำแปลอย่างนี้แล้วอดนึกถึงเอกสารชิ้น (และชั้น) หนึ่งเสียมิได้ นั่นก็คือ จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (วัดศรีชุม). พระมหาเถรศรีศรัทธา หลานลุงของพ่อขุนผาเมือง ท่านออกบวช และได้ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ลังกา แล้วกลับมาเล่าให้สานุศิษย์ของท่านฟัง ศิษย์ของท่านจึงจารึกแผ่นหินไว้ ได้กล่าวถึงการทำความเคารพพระบรมสารีริกธาตุไว้หลายประการ (ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๖๘ ถึง ๗๒) ดังนี้

“พระเกศธาตุเส้นหนึ่งเลื่อมงาม คว้างมาแต่บน สะพัดเหนือหัวพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี (พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี) ยินศรัทธาน้ำตาถั่งตกหนักหนา บูชาทั้ง ตน อก เข่าซอง ทั้งหลาย บมิว่าถี่เลย ชาวสีหลทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ดังอั้น เขาจึงชันทอดตนไหว้คันพัดเบญจางค์ นอนพกชังตีนพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี คนทั้งหลายไหว้คันเต็มแผ่นดิน อุปมาดังเรียงท่อนอ้อยไว้มากดามดาษเต็มสถานที่นั้นแล”.

ข้อความที่ยกมานี้มีการทำความเคารพอยู่ ๒ แห่ง, คือ

(๑) “บูชาทั้งตน อก เข่าซอง“, การที่จะเอาอกแตะธรณีได้นี่ มันต้องนอนคว่ำ ใช่ไหมครับ.

(๒) “ชันทอดตนไหว้คันพัดเบญจางค์“. ในวรรคนี้มีคำขัดกันอยู่, คือ “ทอดตน” อีนี่นอนแหงๆ แต่มีคำเบญจางค์เข้ามาขัด. เบญจางค์ แปลว่า ๕ เข้าทำนองว่าจะเป็นเบญจางคประดิษฐ. แต่ความต่อมาก็ขยายความให้รู้ว่า นอน คือคำ “นอนพกชังตีน“. พก คือ พลิก (เช่น “ยินพระยศเกรอกเกรียง เพียงพกแผ่นฟากฟ้า-ตะเลงพ่าย”). ชัง คือ ชังฆ์ แปลว่า แข้ง, ขา. “นอนพกชังตีน” คือ นอนพลิกคว่ำเอาแข้งนาบธรณี.


@@@@@@@

ความตรงนี้เมื่อคราวสัมมนา คุณชูศักดิ์ ทิพยเกษร ผู้เข้าร่วมสัมมนาในฐานะเจ้าหน้าที่ของหอฯ บอกว่า นอนคว่ำไหว้ ไม่มีใครเชื่อ, เช่นนั้น คำแปลของตรงนี้จึงไม่มีในเอกสารของหอฯ ที่ไขคำในจารึก.

อย่างไรก็ตาม หลังจากจบสัมมนาแล้ว ผมก็ตระเวนไปตามศาสนสถานต่างๆ ไม่ว่าวัดจีน วัดญวน วัดแขก และโบสถ์คริสต์ ก็ไม่เว้น, ไปเจอลูกฟลุคเอาที่วัดเทพมณเฑียร (ฮินดูสมาช) ทุกเย็นที่นั่นมีศาสนิกมาสวดมนต์ โดยมีบัณฑิตแขกเป็นผู้นำ พอจบแล้วทุกคนคุกเข่าลงกราบ (หนเดียว) แต่บัณฑิตผู้นำนั้นก็คุกเข่าลง ค่อยๆ ก้มแล้วก็เอาอกไถพรืดลงไปนอนเหยียดยาวทั้งมือยังประนมอยู่นั้น.

อย่างนี้เรียก “อัษฎางคประณต” หรือเปล่า. พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ ถ้าไม่ได้เห็นแก่ตาตัวเอง ผมจึงถ่ายรูปมาให้ดู.




ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ 2549
ผู้เขียน : ภาษิต จิตรภาษา
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_7466
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ