ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เที่ยววัดอย่างไรให้สนุก  (อ่าน 1608 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
เที่ยววัดอย่างไรให้สนุก
« เมื่อ: ธันวาคม 04, 2012, 09:04:13 pm »
0
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ “กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมะ” หรือ “ทัวร์ไหว้พระ” ณ วัดสำคัญต่างๆ นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่มาแรงและได้รับความนิยมอย่างยิ่งในบ้านเรา ทั้งนี้เพราะตามคติความเชื่อที่ถือว่าการได้มาสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ร่วมทำบุญบริจาคทาน จะนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ชีวิต และสร้างจิตใจที่ผ่องใส มาสู่ผู้ปฏิบัตินั่นเอง

วัด เป็น ศาสนสถานหรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งประกอบด้วยบริเวณ ๒ เขต คือ เขตพุทธาวาส อันเป็นที่ตั้งของพระวิหาร พระอุโบสถ เจดีย์และพระปรางค์ ฯลฯ โดยอาคารทั้งหมดจะอยู่ในกำแพงแก้ว ซึ่งเป็นกำแพงที่ไม่สูงนักกั้นไว้โดยรอบ ส่วน เขตสังฆาวาส จะเป็นที่ตั้งของกุฏิหรือที่อยู่ของพระสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอไตร หอฉัน หรือ หอสวดมนต์ ในสมัยโบราณวัดอาจไม่จำเป็นต้องมีอาคารถาวร แต่มักใช้สถานที่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรืออาคารที่มีอยู่แล้วตามความจำเป็น แต่เมื่อมีพระหรือนักบวชในศาสนามากขึ้น ทำให้ต้องมีศาสนสถาน ที่ก่อสร้างขึ้นอย่างถาวรเพื่อประกอบศาสนกิจและประเพณีต่างๆ ของท้องถิ่น และหากผู้สร้างมีอำนาจบารมีสูงในระดับผู้ปกครองประเทศ หรือพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมจะก่อสร้างอย่างประณีต ใหญ่โต และตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยวัสดุที่มีค่า และฝีมือช่างชั้นสูง

จะเห็นได้ว่า “วัด” นอกจากจะเป็นศาสนสถานแล้ว ยังนับเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สะท้อนอารยธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น อันเป็นแหล่งรวมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ การศึกษา ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม รวมทั้งเชื่อมโยงความเป็นมาของวัฒนธรรมกับชุมชนและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนด้วย

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้ไปวัดเมื่อไร สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ก็ขอเสนอแนะแนวทางเพื่อเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยววัดให้สนุก โดยการศึกษาเรียนรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานและโบราณวัตถุภายในบริเวณวัด ซึ่งมีศิลปะที่งดงาม และแฝงประวัติความเป็นมาที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งไปด้วย

ศิลปะสำคัญที่น่าศึกษาเรียนรู้ภายในวัดโดยทั่วไป ได้แก่ ศิลปะทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม

สำหรับ ประติมากรรม ที่พบเห็นโดยทั่วไปจะมี ๓ ลักษณะ คือ รูปลอยตัว ที่สามารถมองเห็นได้รอบด้านในลักษณะสามมิติ เช่น พระพุทธรูป รูปปั้นยักษ์ ตุ๊กตาจีน ส่วนรูปนูนต่ำรูปนูนสูง คือรูปที่นูนออกมาค่อนข้างสูงจนเกือบลอยตัว แต่จะยังติดอยู่กับพื้นหลังของตำแหน่งที่ก่อสร้างอยู่ เช่น รูปปั้นตามกำแพง ลายจำหลักหน้าบันรูปต่างๆ เป็นต้น จะมีพื้นหลัง หรือ พื้นล่างรองรับ ส่วนรูปจะนูนออกมาตามสัดส่วนแต่ไม่มาก เช่น บัวหัวเสา พนักธรรมาสน์ และ

ในส่วนของ จิตรกรรม นั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นภาพที่เขียนอยู่ที่ฝาผนังโบสถ์ วิหาร บานประตู หน้าต่าง ศาลาการเปรียญ ตามคติความเชื่อ เช่น พุทธประวัติและชาดกต่างๆ ภาพทวารบาลผู้รักษาทางเข้าออก หรือเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น

นอกจากภาพวาดที่มีเนื้อหาสาระแล้ว กรรมวิธีในการวาดภาพก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในหนังสือ วัดกับชีวิตไทย ของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวไว้ว่า สีที่นิยมใช้ในสมัยโบราณจะมีลักษณะเฉพาะของที่เรียกว่าเบญจรงค์ เป็นสีฝุ่น ๕ สีหลัก คือ แดง เหลือง คราม ขาว ดำ ที่เมื่อนำมาผสมกันแล้วจะได้สีหลายหลากสี ส่วนการรักษาให้ภาพวาดมีความงดงามคงทนมีหลายวิธี แต่ที่นิยม คือ การใช้ทองเข้ามาประกอบกับงานจิตรกรรม โดยการนำแผ่นทองเปลวมาปิดลงบนภาพ หรือการใช้ทองประกอบไปกับการระบายสี นอกจากนี้ยังมีงานประณีตศิลป์ที่เรียกว่า ลายรดน้ำ ซึ่งเป็นการใช้ทองปิดภาพ ตัดเส้นด้วยรักสีดำและสีแดง วิธีนี้ใช้ตกแต่งผนัง บานประตู หน้าต่าง และเครื่องใช้บางชนิด เช่น ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น

สำหรับงานด้าน สถาปัตยกรรม การก่อสร้างอาคารสถานที่ในวัดนั้น หากเป็นวัดทั่วๆไป ซึ่งประชาชนเป็นผู้สร้างมักเป็นเครื่องไม้ แต่ถ้าเป็นวัดหลวงซึ่งสร้างโดยพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลที่มีอำนาจวาสนา หรือมีทรัพย์มาก ก็จะสร้างด้วยไม้และก่ออิฐสอปูนผสมกันไป การสอปูนหมายถึงวิธีการใช้ปูนประสานแผ่นอิฐให้ติดกันนั่นเอง ส่วนรูปทรงที่งดงามนั้นก็ขึ้นอยู่กับความนิยมของศิลปะแต่ละสมัย และมีลักษณะเฉพาะตัวที่ได้รับอิทธิพลจากลักษณะของภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ เช่น ในการสร้างโบสถ์ วิหาร จะสร้างหลังคาสูง มีหน้าต่างประตูหลายบาน เพราะต้องการให้แสงสว่าง และอากาศถ่ายเทได้ดี ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าเมื่อเข้าไปนั่งในโบสถ์แล้วจะไม่รู้สึกร้อน มีลมพัดผ่านตลอด ทั้งที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน

นอกจากนี้แล้วในวัดบางแห่งยังมีการตกแต่งรอบๆบริเวณไว้ให้เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้วิทยาการด้านต่างๆ เช่น รูปฤาษีดัดตนที่วัดโพธิ์ หรือวัดบางแห่งตั้งอยู่ ณ จุดที่มีทัศนียภาพงดงาม ร่มรื่น เช่น วัดอรุณฯ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงขอยกตัวอย่าง การจะไปไหว้หลวงพ่อซำปอกง หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก ณ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เพื่อความเป็นสิริมงคลตามคติที่ว่า “เดินทางปลอดภัย มีมิตรไมตรีที่ดี” นอกเหนือจากการเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ฯลฯ สำหรับไหว้พระแล้ว ก็ควรจะมีการศึกษาหาข้อมูลของวัดเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนทัวร์ให้สนุก เพื่อให้ทราบถึงจุดสำคัญต่างๆในวัดที่ไม่ควรพลาดชม อีกทั้งทำให้มีเรื่องราวเล่าสู่กันฟังระหว่างเดินชมด้วย อันได้แก่

- ศึกษาประวัติความเป็นมาของวัด เช่น อ่านข้อมูลจากหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ ๔ เรื่องวัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์ โดยกรมศิลปากร เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕ ซึ่งกล่าวถึงประวัติความเป็นมาไว้ว่า “...ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศที่บ้านและซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีพระภิกษุจีนพำนักอยู่และเรียกกันต่อมาว่า หมู่บ้านกุฎีจีนเพิ่มเติมเข้าด้วยกัน แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”

จากความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ทรงมีต่อเจ้าพระยานิกรบดินทรผู้สร้างวัดนี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่มาของคำว่า “กัลยาณมิตร” ไม่เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่างก็พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่วัดกัลยาณมิตรมาโดยตลอด คือ

เมื่อแรกสร้างวัดนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงพระราชทานช่วย พร้อมกับเสด็จพระราชดำเนินก่อพระฤกษ์ พระโต พระราชทานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑.๗๕ เมตร สูง ๑๕.๗๕ เมตร ด้วยพระราชประสงค์จะให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกับวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ และพระราชทานนามพระโตว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นปราจิณกิติบดี ทรงเป็นมรรคนายกวัดนี้ก็ได้เอาพระทัยใส่ดูแลซ่อมแซมวัดนี้ตลอดมา

ศิลปะทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม สำคัญภายในวัดที่ควรจะได้ศึกษา คือ

พระวิหารหลวง ซึ่งมีขนาดมหึมาตั้งสูงเด่นตระหง่านตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ทางฝั่งทิศใต้ หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนนายก ซึ่งเป็นที่นิยมนับถือกันทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวจีน เรียกกันตามแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง ในวันสิ้นเดือน ๙ ของทุกปี บรรดาชาวจีนทั้งหลายจะร่วมกับวัดจัดงานนมัสการ มีการแสดงงิ้ว ทิ้งกระจาด และเสี่ยงทายเป็นประจำ ลักษณะการก่อสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันสลักลายดอกไม้ประดับกระจก ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายดอกไม้ปั้นปิดทองประดับกระจก ด้านในพระวิหารหลวงที่ผนังและเสาเป็นลายดอกไม้ซึ่งปัจจุบันเลือนมากแล้ว ด้านหน้ามีซุ้มประตูหิน เสาหิน และตุ๊กตาหินศิลปะจีนตั้งเรียงรายอยู่

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ข้างพระวิหารหลวงด้านตะวันออก ฐานที่ตั้งพระอุโบสถเดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยานิกร บดินทร (โต) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะสถาปัตยกรรมจีน หน้าบันปั้นลายดอกไม้ ประดับกระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายดอกไม้ประดับกระจก ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องพุทธประวัติและรูปเครื่องบูชาม้าหมู่แบบไทยปนจีน ซึ่งเขียนตามแบบภาพฝาผนังพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม เสาเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ ซึ่งปัจจุบันภาพเขียนส่วนใหญ่เลือนมากแล้ว และที่พระอุโบสถแห่งนี้มีพระพุทธรูปปางเลไลยก์ประดิษฐานเป็นพระประธานถือเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานปางนี้

หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่างๆ เป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูนมีระเบียงล้อมรอบ หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันสลักลายเปลว ปิดทองประดับกระจก ตรงกลางสลักเป็นรูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ บานประตูหน้าต่างสลักลายดอกไม้ปั้นปิดทองประดับกระจก ซุ้มประตู

หน้าต่างปั้นลายดอกไม้ ตรงกลางสลักรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้ทราบว่า รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นผู้สร้างนั่นเอง ด้วยว่าพระนามเดิมของพระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ

พระวิหารน้อย ตั้งอยู่ด้านเหนือพระวิหารหลวง ขนาดรูปทรงเดียวกับพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวนมาก

หอระฆัง ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง และหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ อีกหอหนึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือพระวิหารหลวง ซึ่งพระสุนทรสมาจารย์ (พรหม) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ เพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานระฆังซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๗๒ ซ.ม.

เจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าพระยานิกรบดินทร (โต) เจ้าพระยารัตนบดินทร (รอด กัลยาณมิตร) เป็นเจดีย์เหลี่ยมมุมไม้ ๑๒ ตั้งบนฐาน ๘ เหลี่ยมประดับหินอ่อน มีกำแพงแก้วล้อมรอบบันไดขึ้นลง ๒ ข้าง และมีปรางค์หินแบบจีนตั้งอยู่ ๔ มุมกำแพง

นอกจากของสำคัญดังกล่าวแล้ว บริเวณวัดกัลยาณมิตรโดยรวมก็มีทัศนียภาพที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย เนื่องจากตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้ผู้ไปเกิดความสงบ สบายใจ

การได้นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชื่นชมความงดงามของศิลปะ และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของประวัติศาสตร์สู่กันฟังไม่ว่าจะเป็น จากเพื่อนสู่เพื่อน จากคนในครอบครัว หรือแม้แต่กับชาวต่างชาติ ฯลฯ นับเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้การเที่ยววัดแต่ละครั้งมีรสชาติ และเพิ่มความสนุกสนานอย่างมีสาระมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่เล่าสู่กันฟังนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดการซักถามและนำไปสู่การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วย และหากเราทำเช่นนี้กับที่อื่นๆที่ไปเที่ยว ก็จะเป็นการส่งเสริม และปลูกฝังนิสัยการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ข้อสำคัญจะช่วยให้เราเข้าใจในความเป็นไทยอย่างลึกซึ้ง จนเกิดความภาคภูมิใจในมรดกของชาติ และพร้อมที่จะดูแล รักษา ปกป้อง เพื่อสืบทอดสู่ลูกหลานของเราต่อไป

อย่างไรก็ดี การเล่าสู่กันฟังนี้ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวจะต้องศึกษาให้รู้จริง เพื่อถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องด้วย มิฉะนั้นอาจเป็นอย่างเรื่องเล่าที่ว่า นาย ก พาเพื่อนชาวต่างชาติไปเที่ยว บังเอิญมีพิธีบายศรีสู่ขวัญพอดี หมอทำขวัญก็ร้องว่า “..ศรี ศรี วันนี้วันดี..." นาย ก ก็แปลให้เพื่อนชาวต่างชาติฟังทันทีว่า “...Color color today is a good day...” เช่นนี้คงได้เลอะกันไปด้วยสี แต่หา “ศรี” ที่เป็นมงคลไม่ ....

เยาวนิศ เต็งไตรรัตน์
 กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
จาก : http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=3125
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

desmor11

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 1
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: เที่ยววัดอย่างไรให้สนุก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 12, 2012, 05:28:26 pm »
0
เยี่ยมเลยครับ อ่านไปอ่านมาสนุกเลย อิอิ
บันทึกการเข้า