ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บาลีวันละคำ (ในเจ็ดตำนาน)  (อ่าน 7955 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

อาราม นิวส์ FACEBOOK

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 133
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
บาลีวันละคำ (ในเจ็ดตำนาน)
« เมื่อ: พฤศจิกายน 25, 2014, 07:01:36 pm »
0
รตนสูตร
(ลำดับ 2 ในเจ็ดตำนาน)
“รตนสูตร” อ่านว่า ระ-ตะ-นะ-สูด
คำนี้อานจเขียนเป็น “รัตนสูตร” ก็ได้ อ่านว่า รัด-ตะ-นะ-สูด
“รตนสูตร” บาลีเป็น “รตนสุตฺต” ประกอบด้วย รตน + สุตฺต
(ความหมายของ “สุตฺต” ดูที่ “มงคลสูตร”)
“รตน” (ระ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ขยายความยินดี” (คือเพิ่มความยินดีให้มากขึ้น) (2) “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน” (3) “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี” (4) “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
“รตน” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง
ในภาษาไทยเขียนเป็น รัตน-, รัตน์, รัตนะ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -
(1) แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง เช่น อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว.
(2) คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก เช่น รัตนะ ๗ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรรัตนะ-จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว ๓. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว ๔. มณิรัตนะ-มณีแก้ว ๕. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว ๖. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว ๗. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว.
(3) ของประเสริฐสุด, ของยอดเยี่ยม, เช่น รัตนะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน.
(4) ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี.
ตามแนวคิดของชาวพุทธ คำว่า “รตน” ใช้เป็นคำเปรียบสำหรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่า “รัตนตรัย” หรือ “ไตรรัตน์” หมายถึง แก้วอันมีค่าสามดวง
ในแง่นี้นักอักษรศาสตร์เอาคำว่า “รตน” มาแยกเป็นอักษร 3 ตัว คือ ร-ต-น และให้ความหมายดังนี้ -
(1) “ร” มาจาก รมุ ธาตุ (รากศัพท์) = ยินดี (รมิตพฺพํ รมนฺติ เอตฺถาติ รํ = สิ่งที่ผู้คนชื่นชอบ)
: ร = สิ่งที่น่าพอใจ น่ายินดี นำมาซึ่งความรื่นรมย์แห่งใจ
(2) “ต” มาจาก ตรฺ ธาตุ = ข้าม (อตฺตานํ ภชนฺเต อุปเสวนฺเต ทุคฺคติโต สํสารมหณฺณวโต วา ตาเรตีติ ตํ = สิ่งที่ทำให้ผู้ซ่องเสพตนข้ามพ้นจากทุคติหรือห้วงมหรรณพคือสังสารวัฏได้)
: ต = สิ่งที่ช่วยให้ข้ามพ้นจากปัญหา
(3) “น” มาจาก นี ธาตุ = นำไป (อตฺตานํ อนุสฺสรนฺเต สุคตินิพฺพานานิ เนตีติ นํ = สิ่งที่นำผู้ระลึกถึงตนบรรลุถึงสวรรค์นิพพานได้)
: น = สิ่งที่นำส่งให้ถึงสวรรค์นิพพาน
ร + ต + น = รตน = สิ่งที่ผู้คนชื่นชมเพราะทำให้ผู้ปฏิบัติตามข้ามพ้นวัฏสังสารบรรลุถึงพระนิพพานได้จริง
บรรยายความ:
บทรตนสูตรเป็นบทที่ว่าด้วยคุณค่าและอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ชาวเมืองเวสาลีเมื่อคราวประสบวิกฤตการณ์อันเลวร้าย
อรรถกถาเล่าว่า คราวหนึ่ง ที่เมืองเวสาลี ได้เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ผู้คนล้มตาย ซากศพเกลื่อนเมือง พวกอมนุษย์ก็เข้ามา แถมอหิวาตกโรคซ้ำอีก ในที่สุด กษัตริย์ลิจฉวีตกลงไปอาราธนาพระพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับที่เมืองราชคฤห์ (ยังอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าพิมพิสาร) ขอให้เสด็จมา พระพุทธองค์ประทับเรือเสด็จมา เมื่อถึงเขตแดน พอย่างพระบาทลงทรงเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาจนน้ำท่วม พัดพาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด และเมื่อเสด็จถึงเมืองเวสาลี ท้าวสักกะและประดาเทพก็มาชุมนุมรับเสด็จ เป็นเหตุให้พวกอมนุษย์หวาดกลัว พากันหนีไป
ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรตนสูตรให้พระอานนท์เรียนและเดินทำปริตรไปในระหว่างกำแพงเมืองทั้ง 3 ชั้น พระอานนท์เรียนรตนสูตรนั้นแล้วสวดเพื่อเป็นปริตร คือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน พร้อมทั้งถือบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำเดินพรมไปทั่วทั้งเมือง
เป็นอันว่า ทั้งภัยแล้ง ภัยอมนุษย์ และภัยจากโรค ก็สงบสิ้นไป
พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองเวสาลีครึ่งเดือนจึงเสด็จกลับ มีการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อส่งเสด็จ เรียกว่า “คงคาโรหณสมาคม” แปลว่า การชุมนุมในคราวเสด็จลงแม่น้ำคงคาเพื่อเสด็จกลับสู่เมืองราชคฤห์
พระสูตรนี้แสดงคุณของพระรัตนตรัย จึงเรียกว่า “รตนสูตร” (ในมิลินทปัญหาบางฉบับเรียกว่า “สุวัตถิสูตร” เพราะแต่ละคาถาลงท้ายว่า “สุวตฺถิ โหตุ” – ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี)
เรื่องที่อรรถกถาเล่านี้ น่าจะเป็นที่มาของประเพณีการเอาน้ำใส่บาตรทำน้ำมนต์ แล้วพรมน้ำมนต์เพื่อความสุขสวัสดี
ในการเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลแต่เดิมนั้นจะสวดรตนสูตรเต็มสูตร ภายหลังเห็นว่ายาวเกินไป จึงลดลงสวดแต่เพียงบทสำคัญๆ เท่านั้น รตนสูตรนี้นิยมเรียกกันว่า “สูตรน้ำมนต์” เพราะเมื่อจะทำน้ำพุทธมนต์จะขาดบทนี้ไม่ได้ บางตำรากล่าวว่านิยมให้พระเถระผู้เป็นประธานหยอดหยดเทียนน้ำมนต์เมื่อเริ่มสวดพระสูตรนี้ และเมื่อจะดับเทียนน้ำมนต์ก็ให้ดับในท้ายสูตรนี้ด้วย (คือตรงบาทพระคาถาว่า นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป – นักปราชญ์ย่อมดับสนิท เหมือนประทีปดวงนี้อันดับไปฉะนั้น) ดังนั้น ในการเจริญพระพุทธมนต์ทุกครั้งจึงขาดบทนี้ไม่ได้ เพราะเป็นบทที่กล่าวถึงคุณพระรัตนตรัย และมีประวัติความเป็นมาที่แสดงให้เห็นว่า รตนสูตรนี้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนเมื่อมีสถานการณ์ที่เลวร้ายทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
(ประมวลความจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต หัวข้อ “ปริตร” และ อธิบายบทสวดมนต์ วัดสุทัศนเทพวราราม หน้า 79-82 พระมหาสุทธิพงษ์ อภิวํโส เรียบเรียง)
ขออัญเชิญพระคาถาบางบทในรตนสูตรมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเจริญศรัทธา:
ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา
สะเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง
นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ
อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ หรือในโลกอื่น
หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์
ทรัพย์และรัตนะนั้นที่จะเสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย
พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ
ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
ขะยัง วิราคัง อะมะตัง ปะณีตัง
ยะทัชฌะคา สักยะมุนี สะมาหิโต
นะ เตนะ ธัมเมนะ สะมัตถิ กิญจิ
อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.
พระศากยมุนีมีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใด
เป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สำรอกกิเลส เป็นอมฤตธรรมอันล้ำเลิศ
สิ่งไรๆ ที่จะเสมอด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี
ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ
ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
เย ปุคคะลา อัฏฐะ สะตัง ปะสัฏฐา
จัตตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนติ
เต ทักขิเณยยา สุคะตัสสะ สาวะกา
เอเตสุ ทินนานิ มะหัปผะลานิ
อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.
บุคคลแปดจำพวก สี่คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
บุคคลเหล่านั้นเป็นสาวกของพระตถาคต ควรแก่ทักษิณาทาน
ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้นย่อมมีผลมาก
สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ
ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา
รตน : แก้วมีค่า
: ถ้าไม่รู้คุณค่า แม้จะมีล้นฟ้าก็ป่วยการ
: ถ้ารู้คุณค่า เพียงสามดวงก็นำพาไปถึงพระนิพพาน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 30, 2014, 01:20:37 pm โดย ปัญญสโก ภิกขุ »
บันทึกการเข้า
.              ร่วมรณรงค์ รักษาศาสนา ไม่ส่งต่อ ข่าวเสีย พระสงฆ์ไทย   
                                     คงไว้ แต่ข่าวดี ๆ
ติดตาม ข่าวสารดี ๆ ของพระสงฆ์ไทย ได้ที่ "อาราม นิวส์" ข่าวพระ ได้ทางเฟสบุ๊ค

ปัญญสโก ภิกขุ

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 403
  • อริยสโก
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บาลีวันละคำ‬ (915) กรณียเมตตสูตร (ลำดับ 3 ในเจ็ดตำนาน)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 30, 2014, 01:19:42 pm »
0
‪‎บาลีวันละคำ‬ (915)
กรณียเมตตสูตร
(ลำดับ 3 ในเจ็ดตำนาน)
“กรณียเมตตสูตร” อ่านว่า กะ-ระ-นี-ยะ-เมด-ตะ-สูด
บาลีเป็น “กรณียเมตฺตสุตฺต” อ่านว่า กะ-ระ-นี-ยะ-เมด-ตะ-สุด-ตะ
ประกอบด้วยคำว่า กรณีย + เมตฺตา + สุตฺต
“กรณีย” แปลตามศัพท์ว่า “พึงทำ” หรือ “ควรทำ” หมายถึง กิจที่ควรทำ, สิ่งที่ควรทำ, ข้อผูกพัน, หน้าที่, การงาน (what ought to be done, duty, obligation; affairs, business)
คำเต็มๆ ที่เราคุ้นคือ “กรณียกิจ”
“เมตฺตา” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รักใคร่” “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร” หรือ “ธรรมชาติของมิตร” หมายถึง ความรัก, ความเป็นเพื่อน, ความเห็นอกเห็นใจกัน, ความเป็นมิตร, การเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่น (love, amity, sympathy, friendliness, active interest in others)
(ความหมายของ “สุตฺต” โปรดดูที่ “มงคลสูตร”)
กรณีย + เมตฺตา + สุตฺต = กรณียเมตฺตสุตฺต > กรณียเมตตสูตร มีความหมายว่า “พระสูตรว่าด้วยเมตตาที่ควรกระทำบำเพ็ญให้เกิดมีขึ้น”
บรรยายความ:
กรณียเมตตสูตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมตตสูตร” เป็นสูตรที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา และอานุภาพแห่งแมตตา กล่าวถึงคุณสมบัติที่ควรฝึกให้มีในตน เช่น ความเป็นผู้องอาจ พากเพียร ซื่อตรง อ่อนโยน เป็นต้น และสอนให้แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์โดยไม่มีประมาณ ให้มีจิตประกอบด้วยเมตตาอยู่เสมอ
กรณียเมตตสูตรมีคำสวดขึ้นต้นว่า “กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ ฯลฯ นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ”
พระสูตรนี้มีตำนานมาว่า:
ภิกษุ 500 รูป เรียนพระกรรมฐานจากสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วปรารถนาจะบำเพ็ญสมณธรรมในสถานที่อันสงัด จึงพากันเดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ประชาชนในหมู่บ้านนั้นมีศรัทธาเลื่อมใส ได้นิมนต์ให้เข้าไปพักในดงไม้ใกล้หมู่บ้าน แล้วนิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ในที่นั้น
เหล่ารุกขเทวดาที่สถิตอยู่ในดงไม้นั้นพากันเดือดร้อนเพราะผู้มีศีลมาอยู่ ต้องลงจากต้นไม้มาอยู่ที่พื้นดิน บ้างก็ต้องระเหเร่ร่อนหาที่อยู่ใหม่ จึงคิดที่จะทำให้ภิกษุเหล่านั้นหวาดกลัว จะได้ไปเสียจากที่นั้น รุกขเทวดาชวนกันสำแดงร่างเป็นผีหัวขาดบ้าง ขาดครึ่งตัวบ้าง ทำเสียงเยือกเย็นโหยหวนน่าสยดสยองบ้าง แสดงอาการที่น่ากลัวต่างๆ หลอกหลอนภิกษุ
เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินได้เห็นดังนั้นก็เกิดความหวาดหวั่น ไม่เป็นอันเจริญสมณธรรมได้เป็นปกติ จึงพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบถึงอาการที่ได้ประสบ พระพุทธองค์จึงประทาน “กรณียเมตตสูตร” อันเปรียบประดุจ “พุทธาวุธ” (อาวุธของพระพุทธเจ้า) ให้ภิกษุเหล่านั้นสำหรับป้องกันตัว แล้วตรัสให้พวกเธอกลับไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ที่เดิมนั้นอีก
ภิกษุเหล่านั้นพากันกลับไปยังหมู่บ้านนั้น ชวนกันสาธยายพระสูตรนี้ตั้งแต่ปากทางเข้าดงไม้ที่เคยพัก เหล่าเทวดาก็เกิดเมตตา มิได้แสดงอาการที่น่าหวาดกลัวอีกต่อไป ซ้ำกลับช่วยดูแลรักษาและปรนนิบัติภิกษุเหล่านั้นเป็นอันดี
ภิกษุเหล่านั้นบำเพ็ญสมณธรรมได้เต็มที่ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดภายในพรรษานั้นเอง
พระสูตรนี้ถือกันว่า ทำให้ภูตผีปิศาจรักใคร่ไม่มารบกวน โบราณาจารย์สอนให้หมั่นสวดสาธยายก่อนนอน จะเป็นสวัสดิมงคลนักแล
อนึ่ง เมื่อต้องเดินทางผ่านเทวสถาน ศาลเจ้า หรือเจ้าป่าเจ้าเขาที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีผู้นับถือ ท่านว่าให้สาธยายกรณียเมตตสูตรนี้ เหล่าเทวดาอารักษ์เหล่านั้นจะไม่ทำอันตรายใดๆ
ด้วยเหตุดังกล่าว พระสงฆ์จึงสวดกรณียเมตตสูตรทุกๆ ครั้งที่มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นเครื่องรักษาคุ้มครองพุทธศาสนิกชน และตักเตือนให้ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตา เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและผู้อื่นสืบไป
(ประมวลความจาก อธิบายบทสวดมนต์ วัดสุทัศนเทพวราราม หน้า ๘๔-๘๖ พระมหาสุทธิพงษ์ อภิวํโส เรียบเรียง)
เพื่อเจริญศรัทธาและปัญญา ขอนำ กรณียเมตตสูตร ทั้งบาลีและคำแปลมาเสนอไว้ ดังต่อไปนี้:
กรณียเมตตสูตร
(1) กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ
ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
กิจอันใด อันพระอริยเจ้าบรรลุบทอันระงับกระทำแล้ว
กิจนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงกระทำ
สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ
สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้กล้าหาญ และซื่อตรงดี
เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ
(2) สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ
อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
เป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย
เป็นผู้มีกิจธุระน้อย (ไม่มีกังวลด้วยการงานมากนัก)
ประพฤติเบากายเบาจิต
สันตินท๎ริโย จะ นิปะโก จะ
อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ
มีอินทรีย์อันระงับแล้ว มีปัญญารักษาตน
เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย
(3) นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ
เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
วิญญูชนติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ด้วยกรรมอันใด
ไม่พึงประพฤติกรรมอันนั้นเลย
(พึงแผ่ไมตรีจิตไปในหมู่สรรพสัตว์ว่า -)
สุขิโน วา เขมิโน โหนตุ
สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม
มีตนถึงความสุขเถิด
(4) เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ
ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา
สัตว์มีชีวิตทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่
ยังเป็นผู้สะดุ้ง (คือมีตัณหา)
หรือเป็นผู้มั่นคง (ไม่มีตัณหา) ทั้งหมดไม่มีเหลือ
ทีฆา วา เย มะหันตา วา
มัชฌิมา รัสสะกา อะณุกะถูลา
จะเป็นเหล่าสัตว์ที่ยาวก็ตาม ใหญ่ก็ตาม
ปานกลางก็ตาม สั้นก็ตาม ผอมหรือพีก็ตาม
(5) ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา
เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
จะเป็นเหล่าสัตว์ที่ได้เห็นแล้วก็ตาม ไม่ได้เห็นก็ตาม
อยู่ไกลก็ตาม อยู่ใกล้ก็ตาม
ภูตา วา สัมภะเวสี วา
สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
ที่เกิดแล้วก็ตาม กำลังหาที่เกิดก็ตาม
ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด
(6) นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ
นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ
สัตว์อื่นอย่าพึงข่มเหงสัตว์อื่น
อย่าพึงดูหมิ่นอะไรๆ เขา ในที่ไรๆ เลย
พ๎ยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา
นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความกริ้วโกรธและความคุมแค้น
(7) มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง
อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
มารดาถนอมบุตรคนเดียวของตน
ด้วยยอมพร่าชีวิตได้ ฉันใด
เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ
มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ
ในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น
(8) เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง
มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
บุคคลพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ
ไปในโลกทั้งสิ้น
อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ
อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง
พึงเจริญเมตตาอันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู
ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง
(9) ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา
สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ
จะยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม
เมื่อยังไม่ง่วงงุนอยู่เพียงใด
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ
พ๎รัห๎มะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ
ก็พึงตั้งสติอันนั้นไว้เพียงนั้น
นี่เรียกว่าการอยู่อย่างประเสริฐในพระศาสนานี้
(10) ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ
สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
ผู้เจริญเมตตาไม่ข้องแวะความเห็นผิด
มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ (คือมรรคผล)
กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง
นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ.
พึงกำจัดความหมกมุ่นในกามทั้งหลายเสียได้
ย่อมไม่ต้องกลับเข้านอนในครรภ์ (คือไม่ต้องเกิด) อีกโดยแท้ทีเดียวแล.
--------------
: มองผู้อื่นว่าเป็นมิตร คือผลสัมฤทธิ์ของการแผ่เมตตา
บันทึกการเข้า