ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "อุตรกุรุทวีป" เมืองในฝัน หนึ่งในทวีปใหญ่ทั้ง ๔.  (อ่าน 1305 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



"อุตรกุรุทวีป" เมืองในฝัน หนึ่งในทวีปใหญ่ทั้ง ๔.

"อุตรกุรุทวีป"  อ่านว่า อุด-ตะ-ระ-กุ-รุ-ทะ-วีบ ประกอบด้วยคำว่า อุตร + กุรุ + ทวีป

(๑) “อุตร”

บาลีเป็น “อุตฺตร” อ่านว่า อุด-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ : อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตรฺ + อ = อุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องข้ามขึ้นไป”

“อุตฺตร” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้
     (1) สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เหนือกว่า (higher, high, superior, upper)
     (2) ทางทิศเหนือ (northern)
     (3) ภายหลัง, หลังจาก, ถัดออกไป (subsequent, following, second)
     (4) เกินกว่า, เหนือไปกว่า (over, beyond)

บาลี “อุตฺตร” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุตดร” “อุตร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “อุดร”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
     (1) อุตดร, อุตร- : (คำนาม) อุดร. (ป., ส. อุตฺตร).
     (2) อุดร : (คำนาม) ทิศเหนือ ใช้ว่า ทิศอุดร; ข้างซ้าย. (ป., ส. อุตฺตร).

@@@@@@@

(๒) “กุรุ”

บาลีเป็น “กุรู” อ่านว่า กุ-รู รากศัพท์มาจาก
     (1) กุ (บาป, ความชั่ว) + รุธฺ (ธาตุ = ปิดกั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ, ทีฆะ อุ ที่ รุ-(ธฺ) เป็น อู : กุ + รุธฺ = กุรุธฺ + กฺวิ = กุรุธกฺวิ > กุรุธ > กุรุ > กุรู แปลตามศัพท์ว่า “แคว้นที่ประทับของพระราชาผู้ปิดกั้นบาปด้วยอานุภาพศีลห้าที่บริสุทธิ์”
     (2) กุรฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อุ ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ (กุ)-รุ เป็น อู : กุรฺ + + อุ = กุรุ > กุรู แปลตามศัพท์ว่า “แคว้นที่ประทับของพระราชาผู้ทรงว่าราชกิจน้อยใหญ่”

“กุรู” นิยมใช้ในภาษาไทยเป็น “กุรุ”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “กุรุ” บอกไว้ดังนี้
“กุรุ : แคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ มหาชนบทแห่งชมพูทวีป อยู่แถบลุ่มน้ำยมุนาตอนบน ราวมณฑลปัญจาบลงมา นครหลวงชื่อ อินทปัตถ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณเมืองเดลี นครหลวงของอินเดียปัจจุบัน.”

คำว่า “กุรุ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554


@@@@@@@

(๓) “ทวีป”

บาลีเป็น “ทีป” อ่านว่า ที-ปะ รากศัพท์มาจาก –
     (1) ทฺวิ (คำสังขยา = สอง) + อาป (น้ำ), ลบ วฺ ที่ ทฺวิ แล้วทีฆะ อิ เป็น อี (ทฺวิ > ทิ > ที) และลบ อา ที่ อา-(ป) (อาป > ป) : ทฺวิ + อาป = ทฺวิอาป > ทิอาป > ทีอาป > ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลาง
     (2) ทีปฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + อ (อะ) ปัจจัย, : ทีปฺ + อ = ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลางน้ำ” ทีป (ปุงลิงค์) หมายถึง เกาะ, ทวีป (an island, continent)

“ทีป” ในบาลีนอกจากหมายถึง เกาะ, ทวีป แล้ว ยังใช้ในความหมายอื่นอีก (รากศัพท์อาจต่างกัน) ดังนี้ –
     (1) พื้นดิน, ดินแข็ง (terra firma)
     (2) ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง (solid foundation, resting-place, shelter, refuge)
     (3) รถที่หุ้มด้วยหนังเสือดำ (a car covered with a panther’s skin)
     (4) ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย, นิพพาน (salvation)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
     (1) ทีป ๑, ทีปะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) แสงไฟ. (ป., ส.).
     (2) ทีป ๒, ทีปะ ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกาะ. (ป.; ส. ทฺวีป).

บาลี “ทีป” สันสกฤตเป็น “ทฺวีป”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺวีป” ในสันสกฤตไว้ดังนี้  (สะกดตามต้นฉบับ)
“ทฺวีป : (คำนาม) ‘ทวีป,’ เกาะ, ภูเกษตร์หรือที่อันมีน้ำล้อมรอบ ; เนื่องจากเหตุนี้ศัพท์นี้จึงใช้หมายถึงสัปตันมหาภาคแห่งภูมณฑล, ทุกๆ ภาคปลีกหากจากกัน, โดยมีสมุทร์เปนเขตต์ขั้น : ทวีปทั้งเจ็ดนั้น, นับจากทวีปกลางคือ, ชมฺพุ, กุศ, ปลกฺษ, สาลฺมลี, เกฺรานฺจ, ศาก, และปุษฺกร ; มัธยทวีปแบ่งออกไปอีกเปนสิบภาค, คือกุรุ, จนฺทฺร, วรุณ, เสามฺย, นาค, กุมาริกา, คภสฺติมานฺ, ตามฺราปูรฺณ, กเสรุ, และอินฺทฺร ; หนังเสือ; an island, any land surrounded by water ; from this cause the word is applied to the seven grand divisions of the terrestrial word, each of these being separated from the next, by a peculiar circumambient ocean : the seven Dvīpas, reckoning from the central one are, Jambu, Kuśa, Plaksha, Sālmalī, Krauncha, Śāka, and Pushkara ; the central Dvīpa is again portioned into ten divisions, viz. Kuru, Chandra, Varuṇa, Saumya, Nāga, Kumārikā, Gabhastimān, TāmrāPūraṇa, Kaseru, and Indra ; a tiger’s skin.”

คำว่า “ทวีป” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ทวีป : (คำนาม) เปลือกโลกส่วนที่เป็นพื้นดินซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มี ๗ ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา
     บางทวีปกําหนดนํ้าล้อมรอบเป็นขอบเขต เช่น ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดภูเขา ทะเล แหล่งอารยธรรมเป็นต้น เป็นแนวแบ่งเขต เช่น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ; (โบ) เกาะ เช่น ลังกาทวีป สิงหฬทวีป ; ในคัมภีร์ไตรภูมิกล่าวว่ามี ๔ ทวีป คือ
     ๑. ชมพูทวีป
     ๒. อมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป
     ๓. อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป
     ๔. บุพวิเทหทวีป. (ส.; ป. ทีป).”

@@@@@@@

การประสมคำ

๑. อุตฺตร + กุรู = อุตฺตรกุรู (อุด-ตะ-ระ-กุ-รู) แปลว่า “แคว้นกุรุถิ่นเหนือ”
๒. อุตฺตรกุรู + ทีป = อุตฺตรกุรูทีป (อุด-ตะ-ระ-กุ-รู-ที-ปะ) แปลว่า “ทวีปคือ แคว้นกุรุถิ่นเหนือ”

“อุตฺตรกุรูทีป” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุตรกุรุทวีป” และ “อุตรกุรูทวีป”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“อุตรกุรุทวีป, อุตรกุรูทวีป : (คำนาม) ทวีปใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นทวีป ๑ ใน ๔ ทวีป ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป. (ป., ส. อุตฺตรกุร + ส. ทวีป).”

ขยายความ

ในอาฏานาฏิยสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 212 บรรยายวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชาวอุตรกุรุทวีปไว้ดังนี้

มนุษย์ซึ่งเกิดในอุตรกุรุทวีปนั้น ไม่ยึดถืออะไรว่าของเรา ไม่มีความหึงหวง เขาไม่ต้องหว่านพืช ไม่ต้องทำไร่ไถนา บริโภคข้าวสาลีอันเกิดเองในภูมิภาคที่มิได้ไถ มีผลเป็นข้าวสารอันหอม ไม่มีแกลบ ไม่มีรำ หมดจด เขาหุงข้าวในหม้อซึ่งใช้ไฟขจัดถ่าน แล้วก็บริโภคโภชนะจากหม้อข้าวนั้นได้เลย

คัมภีร์แห่งหนึ่งบรรยายไว้ว่า – ไม่มีซากศพงูหรือซากศพมนุษย์ในทวีปนั้น แม้อุจจาระหรือปัสสาวะที่ชาวทวีปนั้นถ่าย แผ่นดินก็แยกช่องให้ เมื่อผ่านไปแล้ว แผ่นดินก็เลื่อนปิดสนิทตามเดิม

รูปร่างของสตรีชาวอุตรกุรุทวีป คัมภีร์บรรยายไว้ดังนี้
สตรีในอุตรกุรุทวีปนั้น …ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่ขาวเกินไป มีรูปงามสมส่วน. … นิ้วยาว เล็บแดง ถันไม่คล้อย … ดวงหน้าดุจจันทร์เพ็ญ นัยน์ตากว้าง ตัวอ่อน ขาเรียวงาม ฟันขาว นาภีลึก เอวบาง ผมยาวดำหยิกที่ปลาย ตะโพกผึ่งผายหนั่นหนา มีขนไม่มากไม่น้อย คิ้วงาม … มีวาจาไพเราะสละสลวย … เป็นสาวราวกะว่ามีอายุ 16 ปี คงที่อยู่ในกาลทุกเมื่อ

ตามคำบรรยายในคัมภีร์ สรุปได้ว่า อุตรกุรุทวีปเป็นรัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบที่สุด เช่น มนุษย์ในทวีปนั้นไม่ต้องสร้างบ้านเรือนเอง รัฐจัดสรรด้วยระบบ “เคหพฤกษ์” ให้ทุกคนพักอาศัยได้อย่างสุขสบายที่สุด เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่างของประชาชน รัฐจัดบริการด้วยระบบ “กัลปพฤกษ์” ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกแห่ง

สตรีมีครรภ์สามารถคลอดได้ทุกหนทุกแห่ง คลอดแล้วไม่ต้องเลี้ยงลูกเอง รัฐรับผิดชอบให้ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย ประชาชนทุกคนในอุตรกุรุทวีปเสมอภาคกันหมด ไม่มีชนชั้นใดๆ ทั้งสิ้น

คัมภีร์บาลีที่รวบรวมเรื่องของชาวอุตรกุรุทวีปไว้คือ “จักกวาฬทีปนี” ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย


ดูก่อนภราดา.! เพียงแค่มนุษย์เมตตาเกื้อกูลกัน อุตรกุรุทวีปในฝันก็เกิดทันที

@@@@@@@

หมายเหตุ : ในที่นี้ได้ถ่ายภาพข้อความที่บรรยายเรื่องอุตรกุรุทวีปในคัมภีร์จักกวาฬทีปนี แปลเป็นไทย ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาให้อ่านด้วย ท่านผู้สนใจพึงศึกษาตามแต่จะสามารถอ่านได้เถิด

อ่านคัมภีร์จักกวาฬทีปนี ได้ที่นี่ : https://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/view/17182-จักกวาฬทีปนี




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
web : dhamma.serichon.us/2021/12/14/อุตรกุรุทวีป-เมืองในฝัน/
posted date : 14 ธันวาคม 2021, By admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 16, 2021, 09:45:46 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
อปรโคยานทวีป “ดินแดนแห่งคนขับเกวียน”
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 19, 2021, 08:43:45 am »
0



อปรโคยานทวีป “ดินแดนแห่งคนขับเกวียน”

อปรโคยานทวีป อ่านว่า อะ-ปะ-ระ-โค-ยาน-นะ-ทะ-วีบ ประกอบด้วยคำว่า อปร + โคยาน + ทวีป

(๑) “อปร”

บาลีอ่านว่า อะ-ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก น + ปร

(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
     “น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
     (1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
     (2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
          ในที่นี้ “ปร” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงแปลง น เป็น อ

(ข) “ปร” อ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก ป (แทนศัพท์ว่า “เบียดเบียน”) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ มฺ ที่สุดธาตุ : ป + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” ความหมายเดิมคือ “ปรปักษ์” ซึ่งหมายถึงผู้ที่อยู่อีกข้างหนึ่ง หรืออยู่คนละข้างกัน ซึ่งตามปกติย่อมพอใจที่จะเบียดเบียนคือทำร้ายกัน

จากความหมายเดิมนี้ “ปร” จึงหมายถึง อีกข้างหนึ่ง, โพ้น; เหนือ, อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (on the further side of, beyond; over, another, other)

น + ปร = นปร > อปร แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ใช่ฝ่ายอื่น” หมายความว่า ฝ่ายอื่นก็ไม่ใช่ ฝ่ายตัวเองก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็น “อีกฝ่ายหนึ่งนอกไปจากฝ่ายอื่น” หมายถึง อีกอันหนึ่ง, คือ เพิ่ม, ต่อไป, ถัดไป, ที่สอง (another, i. e. additional, following, next, second)


@@@@@@@

(๒) “โคยาน”

บาลีอ่านว่า โค-ยา-นะ ประกอบด้วยคำว่า โค + ยาน

(ก) “โค” รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น โค : คมฺ + อ = คม > โค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งสัตวโลกทั้งหลาย” (2) “สัตว์ที่ไปเรื่อยๆ”

“โค” ในบาลีหมายถึง (1) แผ่นดิน (the earth) (2) วัว (a cow, an ox, bull)

(ข) “ยาน” บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: ยา + ยุ > อน = ยาน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องไปสู่ที่ปรารถนา” หรือ “สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป”

     “ยาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง –
      (1) การไป, การดำเนินไป (going, proceeding)
       (2) ยาน, พาหนะ (carriage, vehicle)
โค + ยาน = โคยาน (โค-ยา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ยานที่เทียมด้วยโค”

@@@@@@@

(๓) “ทวีป”

บาลีเป็น “ทีป” อ่านว่า ที-ปะ รากศัพท์มาจาก
    (1) ทฺวิ (คำสังขยา = สอง) + อาป (น้ำ), ลบ วฺ ที่ ทฺวิ แล้วทีฆะ อิ เป็น อี (ทฺวิ > ทิ > ที) และลบ อา ที่ อา-(ป) (อาป > ป) : ทฺวิ + อาป = ทฺวิอาป > ทิอาป > ทีอาป > ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลาง
    (2) ทีปฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + อ (อะ) ปัจจัย, : ทีปฺ + อ = ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลางน้ำ” ทีป (ปุงลิงค์) หมายถึง เกาะ, ทวีป (an island, continent)

“ทีป” ในบาลีนอกจากหมายถึง เกาะ, ทวีป แล้ว ยังใช้ในความหมายอื่นอีก (รากศัพท์อาจต่างกัน) ดังนี้
     (1) พื้นดิน, ดินแข็ง (terra firma)
     (2) ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง (solid foundation, resting-place, shelter, refuge)
     (3) รถที่หุ้มด้วยหนังเสือดำ (a car covered with a panther’s skin)
     (4) ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย, นิพพาน (salvation)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
     (1) ทีป ๑, ทีปะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) แสงไฟ. (ป., ส.).
     (2) ทีป ๒, ทีปะ ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกาะ. (ป.; ส. ทฺวีป).

บาลี “ทีป” สันสกฤตเป็น “ทฺวีป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺวีป” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)
“ทฺวีป : (คำนาม) ‘ทวีป,’ เกาะ, ภูเกษตร์หรือที่อันมีน้ำล้อมรอบ; เนื่องจากเหตุนี้ศัพท์นี้จึงใช้หมายถึงสัปตันมหาภาคแห่งภูมณฑล, ทุกๆ ภาคปลีกหากจากกัน, โดยมีสมุทร์เปนเขตต์ขั้น: ทวีปทั้งเจ็ดนั้น, นับจากทวีปกลางคือ, ชมฺพุ, กุศ, ปลกฺษ, สาลฺมลี, เกฺรานฺจ, ศาก, และปุษฺกร; มัธยทวีปแบ่งออกไปอีกเปนสิบภาค, คือกุรุ, จนฺทฺร, วรุณ, เสามฺย, นาค, กุมาริกา, คภสฺติมานฺ, ตามฺราปูรฺณ, กเสรุ, และอินฺทฺร; หนังเสือ; an island, any land surrounded by water; from this cause the word is applied to the seven grand divisions of the terrestrial word, each of these being separated from the next, by a peculiar circumambient ocean: the seven Dvīpas, reckoning from the central one are, Jambu, Kuśa, Plaksha, Sālmalī, Krauncha, Śāka, and Pushkara; the central Dvīpa is again portioned into ten divisions, viz. Kuru, Chandra, Varuṇa, Saumya, Nāga, Kumārikā, Gabhastimān, TāmrāPūraṇa, Kaseru, and Indra; a tiger’s skin.”

คำว่า “ทวีป” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ทวีป : (คำนาม) เปลือกโลกส่วนที่เป็นพื้นดินซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มี ๗ ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดนํ้าล้อมรอบเป็นขอบเขต เช่น ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดภูเขา ทะเล แหล่งอารยธรรมเป็นต้น เป็นแนวแบ่งเขต เช่น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป; (โบ) เกาะ เช่น ลังกาทวีป สิงหฬทวีป ; ในคัมภีร์ไตรภูมิกล่าวว่ามี ๔ ทวีป คือ
    ๑. ชมพูทวีป
    ๒. อมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป
    ๓. อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป
    ๔. บุพวิเทหทวีป. (ส.; ป. ทีป).”


@@@@@@@

การประสมคำ

๑. โคยาน + ทีป = โคยานทีป (โค-ยา-นะ-ที-ปะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทวีปที่ผู้คนเดินทางด้วยยานเทียมโค”
๒. อปร + โคยานทีป = อปรโคยานทีป (อะ-ปะ-ระ-โค-ยา-นะ-ที-ปะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทวีปที่ผู้คนเดินทางด้วยยานเทียมโคซึ่งเป็นอีกทวีปหนึ่ง” (คือเป็นทวีปที่อยู่ตรงข้ามกับบุพวิเทหทวีป)

    “อปรโคยานทีป” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อปรโคยานทวีป”
     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
    “อมรโคยานทวีป, อปรโคยานทวีป : (คำนาม) ทวีปใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ เป็นทวีป ๑ ใน ๔ ทวีป ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป.”

ขยายความ

ชื่อทวีปนี้ มักเรียกด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “อมรโคยาน-” คือเรียกเป็น อมร- (อมร- ม ม้า) ที่หมายถึง “ผู้ไม่ตาย” คือเทวดา แต่คำที่ถูกต้องคือ “อปรโคยาน-” คือ อปร- (-ป- ป ปลา) ไม่ใช่ “อมร-” (-ม- ม ม้า)

“อปร” เมื่อขยายสถานที่ ทำให้สถานที่นั้นมีความหมายว่า ไกลออกไป, ไปทางตะวันตก (further away, westward)

ในกรณีที่กล่าวถึงฝ่ายหนึ่งมาแล้ว “อปร” จะหมายถึง ฝ่ายที่ตรงกันข้าม หรือสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายหรือสิ่งที่กล่าวมาก่อนแล้ว ในที่นี้ ขยายคำว่า “โคยานทีป” เป็น “อปรโคยานทีป” จึงมีความหมายว่า “ทวีปโคยานที่ไปทางตะวันตก” ซึ่งตรงกันข้ามกับ “บุพวิเทหทวีป” ที่อยู่ทางตะวันออก

และนี่คือข้อยืนยันว่า ชื่อนี้เป็น “อปร-” (อะ-ปะ-ระ-, -ป- ป ปลา) ไม่ใช่ “อมร-” (อะ-มะ-ระ-, -ม- ม ม้า)
คัมภีร์บาลีที่รวบรวมเรื่องของภพภูมิทั้งหลายคือ “จักกวาฬทีปนี” ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย ได้อธิบายย้ำถึงชื่อ “อปรโคยานทีป” เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ดังข้อความว่า

    …..ก็โดยสามารถแห่งการบังคับด้วย ปุพฺพ ศัพท์ในคำว่า ปุพฺพวิเทห นี้ จำต้องปรารถนา อปร ศัพท์เท่านั้นในคำว่า อปรโคยาน นี้ ประดุจในคำว่า ปุพฺพาปร; จะเข้าใจว่าเป็น อมร ศัพท์ ดุจในคำว่า “อชโร ตฺวํ อมโร ภว (ท่านจงเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย)” ดังนี้ไม่ได้.....

สันนิษฐานว่า ต้นฉบับคัมภีร์เขียนเป็นอักษรขอมซึ่งอักษร ป (ป ปลา) กับ ม (ม ม้า) โครงร่างเหมือนกัน ต่างที่ขีดไส้กลาง (ทำนองเดียวกับอักษรไทย บ ใบไม้ กับ ษ ฤๅษี โครงร่างเหมือนกัน ต่างกันที่ขีดกลาง) ผู้จารอาจพลั้งเผลอหรือเข้าใจผิดได้ง่ายที่สุด ต้นฉบับเป็น ป แต่จารเป็น ม จึงทำให้ อปร- กลายเป็น อมร-

อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาสอบทานคัมภีร์ฉบับอักษรอื่น เช่นอักษรพม่า และสิงหฬเป็นต้น เพื่อเป็นความรู้ในทางอักขรวิธีของบาลีต่อไป ท่านผู้มีคัมภีร์ฉบับอักษรพม่าและสิงหฬอยู่ใกล้มือคงช่วยกันทำงานนี้ได้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ก็เก็บคำนี้ไว้ชื่อเดียว คือ “อมรโคยานทวีป” (อมร- ม ม้า) เข้าใจว่าคณะกรรมการฯ คงได้เห็นข้อมูลจากคัมภีร์ที่ปรากฏ เมื่อชำระพจนานุกรมเป็นพจนานุกรมฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จึงได้ปรับแก้โดยเพิ่มคำว่า “หรืออปรโคยานทวีป” เข้าไปทุกคำนิยามที่กล่าวถึงชื่อ “อมรโคยานทวีป” ในทวีปทั้ง 4 ตามคัมภีร์

ถ้าจะพูดเป็นคำขาดแล้ว ชื่อ “อมรโคยานทวีป” นั้นไม่มี ควรยกมาอ้างเฉพาะชื่อ “อปรโคยานทวีป” เท่านั้น อีกทั้งชื่อ “อมรโคยานทวีป” ก็ไม่มีคำอธิบายว่ามีความหมายว่าอย่างไร “อปรโคยานทวีป” มีอาการเช่นเดียวกับ “บุพวิเทหทวีป” คือแทบไม่มีรายละเอียดใดๆ กล่าวไว้ในคัมภีร์

ดูก่อนภราดา.! อย่าวัดความเจริญกันที่ขับเกวียนหรือขับรถ ถ้าขับไปทำเรื่องทรยศ ขับรถก็แย่ยิ่งกว่าขับเกวียน





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
web : dhamma.serichon.us/2021/12/15/อปรโคยานทวีป/
Posted date : 15 ธันวาคม 2021 ,By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
"บุพวิเทหทวีป" ดินแดนแห่งภูมิปัญญาชาวตะวันออก
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ธันวาคม 21, 2021, 08:58:52 am »
0



"บุพวิเทหทวีป" ดินแดนแห่งภูมิปัญญาชาวตะวันออก

"บุพวิเทหทวีป"อ่านว่า บุบ-พะ-วิ-เท-หะ-ทะ-วีบ ประกอบด้วยคำว่า บุพ + วิเทห + ทวีป

(๑) “บุพ”

บาลีเป็น “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ (อะ) ปัจจัย : ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพฺ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)

“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – (สะกดตามต้นฉบับ)
“ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน ; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล ; first, former, prior, initial; eastern, entire ; – (คำบุรพบท) ข้างน่า ; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ ; ทิศตวันออก ; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east ; an ancient tradition.

ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี และแผลงเป็น “บรรพ” เขียนเป็น “บรรพ์” (การันต์ที่ พ) ก็มี

“บุพ-” และ “บุรพ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้
     (1) บุพ-, บุพพ- : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).
     (2) บุรพ- : (คำวิเศษณ์) บุพ. (ส. ปูรฺว; ป. ปุพฺพ).

@@@@@@@

(๒) “วิเทห”

อ่านว่า วิ-เท-หะ รากศัพท์มาจาก –
    (1) วิ (แทนศัพท์ว่า “วิสิฏฺฐ” = สูงส่ง, งามเด่น) + เทห (รูปร่าง, ร่างกาย) : วิ + เทห = วิเทห แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนที่ผู้คนรูปร่างดี”
    (2) วิท (ปัญญา) + อีหฺ (ธาตุ = เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อี ที่ อี-(หฺ) เป็น เอ (อีหฺ เอห) : วิท + อีหฺ = วิทีหฺ + อ = วิทีห > วิเทห แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนที่ผู้คนดำเนินชีวิตด้วยปัญญา”

ฉพาะชื่อ “วิเทห” คำเดียว พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
“วิเทหะ : ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป นครหลวงชื่อ มิถิลา เป็นดินแดนพวกวัชชีอีกถิ่นหนึ่ง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา ตรงข้ามกับแคว้นมคธ.”

พึงทราบว่า เมื่อมีคำว่า “บุพ-” นำหน้า เป็น “บุพวิเทห” มิได้หมายถึงแคว้นวิเทหะดังที่กล่าวนี้

@@@@@@@

(๓) “ทวีป”

บาลีเป็น “ทีป” อ่านว่า ที-ปะ รากศัพท์มาจาก –
     (1) ทฺวิ (คำสังขยา = สอง) + อาป (น้ำ), ลบ วฺ ที่ ทฺวิ แล้วทีฆะ อิ เป็น อี (ทฺวิ > ทิ > ที) และลบ อา ที่ อา-(ป) (อาป > ป) : ทฺวิ + อาป = ทฺวิอาป > ทิอาป > ทีอาป > ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลาง
     (2) ทีปฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + อ (อะ) ปัจจัย, : ทีปฺ + อ = ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลางน้ำ”

    ทีป (ปุงลิงค์) หมายถึง เกาะ, ทวีป (an island, continent)
   “ทีป” ในบาลีนอกจากหมายถึง เกาะ, ทวีป แล้ว ยังใช้ในความหมายอื่นอีก (รากศัพท์อาจต่างกัน) ดังนี้ –
    (1) พื้นดิน, ดินแข็ง (terra firma)
    (2) ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง (solid foundation, resting-place, shelter, refuge)
    (3) รถที่หุ้มด้วยหนังเสือดำ (a car covered with a panther’s skin)
    (4) ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย, นิพพาน (salvation)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
    (1) ทีป ๑, ทีปะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) แสงไฟ. (ป., ส.).
    (2) ทีป ๒, ทีปะ ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกาะ. (ป.; ส. ทฺวีป).

บาลี “ทีป” สันสกฤตเป็น “ทฺวีป” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทฺวีป”

ในสันสกฤตไว้ดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)
“ทฺวีป : (คำนาม) ‘ทวีป,’ เกาะ, ภูเกษตร์หรือที่อันมีน้ำล้อมรอบ ; เนื่องจากเหตุนี้ศัพท์นี้จึงใช้หมายถึงสัปตันมหาภาคแห่งภูมณฑล, ทุกๆ ภาคปลีกหากจากกัน, โดยมีสมุทร์เปนเขตต์ขั้น : ทวีปทั้งเจ็ดนั้น, นับจากทวีปกลางคือ, ชมฺพุ, กุศ, ปลกฺษ, สาลฺมลี, เกฺรานฺจ, ศาก, และปุษฺกร; มัธยทวีปแบ่งออกไปอีกเปนสิบภาค, คือกุรุ, จนฺทฺร, วรุณ, เสามฺย, นาค, กุมาริกา, คภสฺติมานฺ, ตามฺราปูรฺณ, กเสรุ, และอินฺทฺร ; หนังเสือ; an island, any land surrounded by water ; from this cause the word is applied to the seven grand divisions of the terrestrial word, each of these being separated from the next, by a peculiar circumambient ocean: the seven Dvīpas, reckoning from the central one are, Jambu, Kuśa, Plaksha, Sālmalī, Krauncha, Śāka, and Pushkara; the central Dvīpa is again portioned into ten divisions, viz. Kuru, Chandra, Varuṇa, Saumya, Nāga, Kumārikā, Gabhastimān, TāmrāPūraṇa, Kaseru, and Indra; a tiger’s skin.”

คำว่า “ทวีป” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทวีป : (คำนาม) เปลือกโลกส่วนที่เป็นพื้นดินซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มี ๗ ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดนํ้าล้อมรอบเป็นขอบเขต เช่น ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอนตาร์กติกา บางทวีปกําหนดภูเขา ทะเล แหล่งอารยธรรมเป็นต้น เป็นแนวแบ่งเขต เช่น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป; (โบ) เกาะ เช่น ลังกาทวีป สิงหฬทวีป ; ในคัมภีร์ไตรภูมิกล่าวว่ามี ๔ ทวีป คือ
     ๑. ชมพูทวีป
     ๒. อมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป
     ๓. อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป
     ๔. บุพวิเทหทวีป. (ส.; ป. ทีป).”

@@@@@@@

การประสมคำ

๑. ปุพฺพ + วิเทห = ปุพฺพวิเทห (ปุบ-พะ-วิ-เท-หะ) แปลว่า “แคว้นวิเทหะถิ่นตะวันออก” (Eastern Videha)
๒. ปุพฺพวิเทห + ทีป = ปุพฺพวิเทหทีป (ปุบ-พะ-วิ-เท-หะ-ที-ปะ) แปลว่า “ทวีปวิเทหะถิ่นตะวันออก” หรืออาจแปลว่า “ดินแดนแห่งภูมิปัญญาตะวันออก” ก็ได้

    “ปุพฺพวิเทหทีป” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุพวิเทหทวีป”
     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
    “บุพวิเทหทวีป : (คำนาม) ทวีปใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เป็นทวีป ๑ ใน ๔ ทวีป ได้แก่ อุตรกุรุทวีปหรืออุตรกุรูทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีปหรืออปรโคยานทวีป.”


@@@@@@@

ขยายความ

ในคัมภีร์บาลี กล่าวถึง “บุพวิเทหทวีป” น้อยอย่างยิ่ง แทบจะไม่ทำให้รู้จักอะไรเลย คัมภีร์บาลีที่รวบรวมเรื่องของภพภูมิทั้งหลายคือ “จักกวาฬทีปนี” ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนีที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย พรรณนา “อุตรกุรุทวีป” ไว้อย่างพิสดาร ก็ไม่มีคำพรรณนาถึง “บุพวิเทหทวีป” เลย

แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้นำข้อมูลบางอย่างที่คัมภีร์ต่างๆ กล่าวถึง “บุพวิเทหทวีป” มาแสดงไว้สั้นๆ เช่น
     … ส่วนประมาณ (คือพื้นที่) ของมหาทวีป กล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลายว่า
     … บุพวิเทหทวีปมีพื้นที่ประมาณ 7,000 โยชน์ …
     … อาจารย์บางพวกกล่าวว่า … บุพวิเทห์มีสัณฐานเหมือนอัฒจันทร์ …
     … ในฏีกาชินาลังการก็กล่าวไว้ว่า … ดวงหน้าของชาวบุพวิเทห์มีสัณฐานดังอัฒจันทร์ …
     … แต่ในโลกทีปกสารได้กล่าวไว้ว่า … บุพวิเทห์ กลม มีสัณฐานดังกระจกเงา มี (พื้นที่) ประมาณ 7,000 โยชน์ทั้งด้านยาวด้านกว้าง …
     … แม้ในโลกปัญญัติปกรณ์ก็กล่าวว่า … บุพวิเทหทวีป กลม …
     … ในฎีกาพระวินัยเป็นต้น ได้กล่าวความที่ … บุพวิเทห์เป็นทวีปมีสัณฐานเหมือนอัฒจันทร์ …
     … แต่ในปกรณ์พิเศษมีโลกทีปกสารเป็นต้น ได้กล่าวความที่บุพวิเทห์เป็นทวีปกลม …
     … วิญญูชนทราบความผิดกันแห่งที่มาทั้งสองฝ่ายดังที่ว่ามานี้แล้ว พึงพิจารณาแล้วถือเอาฝ่ายที่ควรกว่า …

คัมภีร์อัฏฐสาลินี อรรถกถาแห่งธัมมสังคณีปกรณ์ อภิธรรมปิฎก กล่าวไว้เป็นความว่า ต้นไม้ประจำบุพวิเทหทวีป คือต้นสิรีสะ (แปลกันว่า ต้นซึก) และบอกไว้ว่า ต้นสิรีสะมีขนาดเท่ากับต้นชมพู (ต้นหว้า) อันเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป คือ วัดรอบลำต้นได้ 15 โยชน์ มีกิ่งรอบต้นยาว 50 โยชน์ จึงเท่ากับรัศมีความกว้าง 100 โยชน์ สูงขึ้นไปก็ 100 โยชน์

______________________
ที่มา : อัฏฐสาลินี หน้า 552-553

หนังสือชุดหนึ่งที่น่าจะมีกล่าวถึงบุพวิเทหทวีป ก็คือสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในขณะที่เขียนคำนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีหนังสือชุดนี้อยู่ใกล้มือ ท่านผู้ใดมี หรือสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก ถ้าจะกรุณาตรวจหาแล้วนำมาบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ดูก่อนภราดา.! จะเป็นชาวตะวันออกหรือชาวตะวันตก ถ้าหัวใจไม่สกปรกก็เป็นเพื่อนกันได้ทุกคน





ขอขบอคุณ :-
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
web : dhamma.serichon.us/2021/12/15/บุพวิเทหทวีป-ดินแดนแห่ง/
Posted date : 15 ธันวาคม 2021 By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ