ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "ดูแลสุขภาพ" พูดเป็นคำบาลี ว่าอะไร.? | “สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ”  (อ่าน 810 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28437
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"ดูแลสุขภาพ" พูดเป็นคำบาลีว่าอะไร.? | “สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ”

ตั้งแต่ช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาด ได้ยินผู้คนพูดคำว่า “ดูแลสุขภาพ” กันมากที่สุด ทั้งพูดบอกกันและกันและพูดเตือนตัวเอง

“ดูแลสุขภาพ” ควรจะตรงกับคำบาลีว่าอะไร.?

นักเรียนบาลีน่าจะลับสมองลองปัญญาเพื่อความคุ้นเคยกับภาษาบาลี เมื่อมีอารมณ์คุ้นเคยกับภาษาบาลีก็จะจูงใจให้อยากค้นคว้าศึกษาคัมภีร์บาลีต่อไปอีก และนั่นคือเป้าหมายปลายทางของการเรียนบาลี

หลักสูตรเปรียญธรรม 9 ประโยคของคณะสงฆ์ไทยมีเรียน 3 วิชา คือ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ วิชาแปลไทยเป็นมคธ และวิชาแปลมคธเป็นไทย

“วิชาแต่งไทยเป็นมคธ” กับ “วิชาแปลไทยเป็นมคธ” ไม่เหมือนกัน

“วิชาแปลไทยเป็นมคธ” ในชั้น ป.ธ.9 ข้อสอบจะเป็นภาษาไทยที่แปลมาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค (เป็นคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียน) ให้นักเรียนแปลกลับเป็นภาษาบาลี (คือภาษามคธ) วิชานี้มักเรียกกันเป็นภาษาปากว่า “วิชากลับ”

ส่วน “วิชาแต่งไทยเป็นมคธ” ข้อสอบจะเป็นภาษาไทยที่บรรยายความเรื่องอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่แปลมาจากคัมภีร์บาลีที่ใช้เป็นแบบเรียน อาจเป็นภาษาไทยสมัยใหม่ที่มีผู้เขียนขึ้นก็ได้ นักเรียนจะต้องแปลเป็นภาษาบาลีด้วยสำนวนบาลีของรักเรียนเอง อาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คือวิชาเรียงความเป็นภาษาบาลีจากเรื่องที่กำหนดให้นั่นเอง

นักเรียนบาลีที่ต้องสอบ “วิชาแต่งไทยเป็นมคธ” ควรฝึกแต่งคำไทยที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวันเป็นภาษาบาลีไว้เสมอๆ เช่นคำว่า “ดูแลสุขภาพ” ควรจะพูดเป็นบาลีว่าอะไร.?


@@@@@@@

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอว่า “สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” เป็นคำบาลีที่มีความหมายตรงกับคำไทยว่า “ดูแลสุขภาพ”

“สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” เขียนแบบไทยเป็น “สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ” อ่านว่า สุ-ขี อัด-ตา-นัง ปะ-ริ-หะ-รัน-ตุ ประกอบด้วยคำบาลี 3 คำ คือ “สุขี” “อตฺตานํ” “ปริหรนฺตุ”

(๑) “สุขี”

แปลว่า “ผู้มีความสุข” หมายถึง มีความสุข, มีความสบาย (happy, at ease) สบายดี, ไม่มีอันตราย (being well, unhurt)

“สุขี” ในบาลีเป็นได้ทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ ใช้ “สุขี” เป็นคำขยายได้ได้ทั้งชายและหญิง

(๒) “อตฺตานํ”

รูปศัพท์เดิมเป็น “อตฺต” อ่านว่า อัด-ตะ แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul) หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ในที่นี้ “อตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “อตฺตานํ” (อัด-ตา-นัง) เขียนแบบไทยหรือแบบคำอ่านเป็น “อัตตานัง” แปลตามศัพท์ว่า “ซึ่งตน”

(๓) “ปริหรนฺตุ”

เป็นคำกริยา (นักเรียนบาลีนิยมใช้เป็น “กิริยา”) ที่เรียกว่า “กิริยาอาขยาต” (– อา-ขะ-หฺยาด) ประธานในประโยคเป็นผู้ที่เราพูดถึงและเป็นพหูพจน์ เช่นคำว่า “สพฺเพ สตฺตา” ที่เราคุ้นกันในคำแผ่เมตตา

“ปริหรนฺตุ” แปลว่า “(คนทั้งหลาย) จงดูแล” “- จงปกครอง” “- จงบริหาร” หมายถึง ระมัดระวัง, เอาใจใส่, บริหาร, ปกป้อง, รักษาไว้, สงวน, คุ้มครอง, ดูแล (to take care of, to attend to, shelter, protect, keep up, preserve, look after)

@@@@@@@

ขยายความ

“สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” แปลตามศัพท์ว่า “(ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง) จงมีความสุข บริหารซึ่งตน”
    แปลเอาความว่า “จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด”
    แปลเป็นคำไทยสั้นๆ ว่า “ดูแลสุขภาพ”

    บอกคนทั่วไปให้ดูแลสุขภาพ พูดเป็นบาลีว่า “สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ”
    บอกมิตรสหายที่เราพูดด้วยให้ดูแลสุขภาพ พูดเป็นบาลีว่า “สุขี อตฺตานํ ปริหร” (–ปะ-ริ-หะ-ระ)
    ถ้าหลายคนพูดว่า “สุขี อตฺตานํ ปริหรถ” (–ปะ-ริ-หะ-ระ-ถะ)
    บอกตัวเองให้ดูแลสุขภาพ พูดเป็นบาลีว่า “สุขี อตฺตานํ ปริหรามิ” (–ปะ-ริ-หะ-รา-มิ)


หมายเหตุ

คำว่า “ดูแลสุขภาพ” อาจใช้คำบาลีเป็นอย่างอื่นได้อีก นักเรียนบาลีไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตามนี้ ข้อสำคัญขอให้เป็นสำนวนนิยมตามหลักภาษาบาลี ไม่ใช่เป็นบาลีไทย

เช่น “สุขภาวํ โอโลเกถ (สุ-ขะ-พา-วัง โอ-โล-เก-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ท่านทั้งหลายจงแลดูซึ่งสุขภาพ” – ถ้าใช้ภาษาบาลีแบบนี้ เตรียมสอบใหม่ได้เลยขอรับ!


ดูก่อนภราดา.! รักจริงพูดจาเป็นภาษาบ้านๆ ชื่นใจกว่าคำหวานที่เป็นลมลวง




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
web : dhamma.serichon.us/2021/12/21/ดูแลสุขภาพ-พูดเป็นคำบาล/
Posted date : 21 ธันวาคม 2021 By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ