ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เวลาจะช้าหรือเร็ว หนทางจะใกล้หรือไกล อยู่ที่ใจจดจ่ออยู่กับอะไร.? และอย่างไร.?  (อ่าน 978 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เวลาจะช้าหรือเร็ว หนทางจะใกล้หรือไกล อยู่ที่ใจจดจ่ออยู่กับอะไร.? และอย่างไร.?

พระพุทธภาษิต :-
ฑีฆา ชาครโต รตฺติฑีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ
ฑีโฆ พาลาน สํสาโรสทฺธมฺมํ อวิชานตํ


คำแปล :-
ราตรีของผู้ตื่นอยู่ยาวนาน ระยะทางหนึ่งโยชน์สำหรับผู้เมื่อยล้าแล้ว เป็นทางไกล สังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิดของคนพาล ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม เป็นของยาวนาน

อธิบายความ

พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ดังนี้ "ราตรีหนึ่งมีอยู่ 3 ยามเท่านั้น (คือยามต้น ยามกลาง และยามสุดท้าย แบ่งเป็นยามละ 4 ชั่วโมง) แต่ราตรีนั้นย่อมปรากฏเป็นเวลาที่ยาวนานเหลือเกินสำหรับผู้ที่มิได้หลับ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่น พระผู้ทำความเพียร ตลอดคืนยังรุ่งเพื่อบรรลุธรรม พระธรรมกถึกผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรม, ผู้ที่ถูกโรคภัยเบียดเบียนเช่น ปวดศีรษะตลอดคืน เป็นต้น ผู้ถูกจองจำทำโทษมีการถูกตัดเท้า เป็นต้น ผู้เดินทางไกลต้องเดินทางตลอดคืน เหล่านี้ล้วนรู้สึกว่าคืนหนึ่งยาวนานเหลือเกินเหมือน 3-4 คืน

"ส่วนผู้หลับนอนอย่างเกียจคร้าน ทำตนให้เป็นเหยื่อของเรือด นอนกลิ้งเกลือกอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้นก็ดี, ผู้เสพกาม บริโภคอาหารชนิดดี ตอนเย็นแล้ว เข้านอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม (ด้วยบุตรและภรรยา) ก็ดี ย่อมรู้สึกว่าคืนหนึ่งน้อยนิดเดียว นอนยังไม่ทันเต็มอิ่ม

@@@@@@@

"โยชน์หนึ่งมี 4 คาวุตเท่านั้น แต่สำหรับผู้เดินทางจนเหนื่อย แล้วย่อมรู้สึกว่าไกลเหลือเกิน เมื่อยังไม่เหนื่อย โยชน์หนึ่งดูไม่มากนัก เมื่อเหนื่อยแล้วโยชน์หนึ่งย่อมปรากฏเหมือน 3-4 โยชน์

"ส่วนสังสารวัฏของคนพาลผู้ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้และโลกหน้า ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม ย่อมยาวนาน โดยปกติสงสารนั้นยาวนาน อยู่โดยธรรมดาของมันแล้ว สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! สงสารนี้ยาวนาน รู้เบื้องต้นเบื้องปลายได้ยาก" ยิ่งสงสารของคนพาลย่อมยาวนานหนักขึ้นไปอีก

มองความจริงอีกด้านหนึ่ง โดยถือเอาพระพุทธภาษิตนี่เองเป็นนัยว่า วันคืนจะนานหรือไม่นาน ระยะทางจะยาวหรือสั้นนั้น ความรู้สึกของบุคคลมีส่วนสำคัญอยู่มาก เวลาเท่ากัน แต่คนหนึ่งรู้สึกว่านานเพราะกำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์ อีกคนหนึ่งกำลังหรรษาอยู่ด้วยความสุขความเพลิดเพลิน ย่อมรู้สึกว่า ประเดี๋ยวประด๋าวเหลือเกิน เดือนปีก็มีเท่านั้น

แต่สำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะอึดอัดคับแค้น เดือนหนึ่งเหมือน 6 เดือน ปีหนึ่งเหมือน 7-8 ปี ถ้าใครสามารถชื่นชมต่อวันเวลาได้ วันหนึ่งคืนหนึ่งก็จะล่วงไปอย่างรวดเร็ว อีกประการหนึ่ง วันเวลาของผู้รอคอย ย่อมปรากฏเหมือนนานเหลือเกิน ทั้งนี้เพราะใจมัวไปจดจ่ออยู่ที่เวลาอย่างเดียว เวลานั้นถ้าเรายิ่งเอาใจใส่มันมากก็ยิ่งรู้สึกว่านาน ถ้าเราทำลืมๆ เสียก็ไม่นาน

ระยะทางก็ทำนองเดียวกัน ยิ่งเมื่อยมาก ระยะทางสั้นก็เหมือนยาว ถ้ากำลังยังดีอยู่เดินไปได้อย่างสบายๆ ระยะทางก็ไม่ยาว ความรู้สึกของคนมีความสำคัญอยู่เป็นอันมาก แต่เวลาและระยะทางนั้นคงเดิม


@@@@@@@

ความจริงอีกแง่หนึ่ง (ในทางปรัชญา) เวลาและระยะทางนั้น ไม่มีตัวตนอยู่จริง เวลาเป็นกระแสอันหนึ่งที่ไหลอยู่ไม่ขาดสาย ไม่มีขีดขั้นกำหนด แต่เราไปกำหนดมันขึ้นมาเองว่าเวลาเท่านั้นเท่านี้ ระยะทางก็เหมือนกันเราไปกำหนดมันขึ้นว่าเท่านั้นเท่านี้ รวมความว่าเป็นเรื่องการสมมติ

เมื่อสมมตินั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วก็กลายเป็นสัจจะอย่างหนึ่งขึ้นมา ท่านเรียกว่า "สมมติสัจจะ" ส่วนความจริงอันแท้จริง (ultimate truth) นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านเรียกว่า "ปรมัตถสัจจะ" มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ไม่ขึ้นอยู่กับสมมติ หรือความเข้าใจของคน

ตัวอย่างเดิม เช่น ระยะเวลาเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ใครจะว่านานหรือเร็วก็เป็นเรื่องของคนนั้น มันไม่รับรู้ด้วย ระยะทางเท่านั้น มันอยู่ของมันอย่างนั้น ใครจะว่าไกลหรือใกล้ก็เป็นเรื่องของคนนั้นๆ ที่จะทะเลาะกัน แต่มันไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความเข้าใจของคน เมื่อคนใดเข้าถึงความจริงได้ คนนั้นก็ได้รู้จริงเห็นจริง คนที่เข้าไม่ถึงก็จะเข้ามาทะเลาะกับเขาอีกจนกว่าจะรู้แจ้งขึ้นมาจึงพูดเหมือนกัน

นักปรัชญาได้แสวงหาสิ่งนี้ (ultimate truth) อยู่เป็นอันมาก แม้นักวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกันก็พากันแสวงหาว่าอะไรคือความจริงอันสูงสุดของสิ่งนั้นๆ ค้นคว้าไป ทำบันทึกไป นานๆ ก็ยุติกันเสียทีหนึ่งว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ล่วงไป 200-300 ปี ก็มีคนยืนขึ้นค้านว่า ไม่ใช่ ความจริงต้องเป็นอย่างนี้ พร้อมทั้งเสนอข้อพิสูจน์ของเขา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเห็นด้วย ยอมรับทฤษฎีนั้น ก็เชื่อกันไปทั่วโลกเสียคราวหนึ่ง คนธรรมดาสามัญที่มิใช่นักวิทยาศาสตร์ก็ช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วย เพราะเชื่อเสียแล้วว่านักวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไร สิ่งนั้นเป็นสัจจะ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำเครดิตไว้ดีมาก

@@@@@@@

พูดถึงเรื่องสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) ของตน พาลยาวนาน เพราะคนพาลยิ่งอยู่นานยิ่งทำชั่ว เหมือนคนติดคุกเพราะความชั่วบางอย่างแล้วไปทำชั่วในคุกอีก ทำอยู่เรื่อยๆ การเพิ่มโทษก็มีมากขึ้นตามเวลาที่ล่วงไป ไม่มีโอกาสออกจากคุกจนตลอดชีวิต

ท่านว่าความชั่วนั้นยิ่งทำยิ่งมาก ส่วนความดียิ่งทำยิ่งหมด คือหมดความดีที่จะทำก็เป็นพระอรหันต์ แปลว่า ที่สุดของคนดีนั้นมีอยู่ แต่ที่สุดของคนชั่วไม่มี สงสารของคนพาลจึงยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ในระยะทางนั้นก็ต้องได้รับทุกข์นานาประการเหมือนคนติดคุกต้องถูกจองจำทำโทษ

พระพุทธเจ้าตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ที่วัดเชตวนาราม เมืองสาวัตถี ทรงปรารภเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลและบุรุษคนหนึ่ง มีเรื่องย่อดังจะอ่านต่อได้ในวันจันทร์หน้า





ขอขอบคุณ :-
บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ โดย อาจารย์วศิน อินทสระ
ทางแห่งความดี : เวลาจะช้าหรือเร็ว หนทางจะใกล้หรือไกล อยู่ที่ใจจดจ่ออยู่กับอะไร และอย่างไร
เรื่องที่ 45 สังสารวัฏของคนพาล ตอนที่ 1/6
Photo : pinterest
url : https://mgronline.com/dhamma/detail/9470000078851
เผยแพร่ : 8 พ.ย. 2547 15:20 ,โดย : MGR Online
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 2024, 09:56:33 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ราตรีนาน สงสารยาว

๗๔. ทีฆา ชาครโต รตฺติ, ทีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ
      ทีโฆ พาลาน สํสาโร, สทฺธมฺมํ อวิชานตํฯ


     “ราตรียาวแก่คนผู้ตื่นอยู่, โยชน์ยาวไกลแก่คนผู้เมื่อยล้า,
      สงสารวัฏฏ์ยาวแก่คนพาล ผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม.“

_________________________________________________________
โลกนีติ หมวดคนพาล คาถาที่ ๗๔, กวิทัปปณนีติ ๒๑๔, ขุ. ธ. ๒๕/๑๕ พาลวรรค


ศัพท์น่ารู้

#ทีฆา (ยาว, นาน, ไกล) ทีฆา+สิ
#ชาครโต (ผู้ตื่นอยู่, คนนอนไม่หลับ) ชาครนฺต+ส, ชาครนฺต แปลง นฺต เป็น นฺตุ ด้วยสูตรว่า เสเสสุ นฺตุว. (รู ๑๐๘) = ชาครนฺตุ, แปลง นฺตุ กับ ส วิภัตติ เป็น โต ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า โตติตา สสฺมึนาสุ. (รู ๑๐๒) = ชาคร+โต รวมสำเร็จรูปเป็น ชาครโต แจกปทมาลาเหมือน คจฺฉนฺต ศัพท์

#รตฺติ (ราตรี, ค่ำคืน) รตฺติ+สิ
#ทีฆํ (ยาว, นาน, ไกล) ทีฆ+สิ
#สนฺตสฺส (ผู้เมื่อยล้า, เหน็ดเหนื่อย, อ่อนล้า) สนฺต+ส
#โยชนํ (โยชน์, ถนน, ระยะทาง) โยชน+สิ
#ทีโฆ (ยาว, นาน, ไกล) ทีฆ+สิ

#พาลาน สํสาโร เป็นบทสนธิ มาจาก พาลานํ + สํสาโร ในเพราะพยัญชนะให้ลบนิคคหิตได้บ้าง ด้วยสูตรว่า พฺยญฺชเน จ. (รู ๕๔), พาลานํ (แก่คนพาล ท.) พาล+นํ, สํสาโร (การเวียน, สังสาร, สังสารวัฏ) สํสาร+สิ, ศัพท์อื่นทีคล้ายกัน เช่น เอตํ พุทฺธาน สาสนํ (โอวาทปาติโมกข์), อริยสจฺจาน ทสฺสนํ (มงคลสูตร) เป็นต้น

#สทฺธมฺมํ (ซึ่งธรรมอันประเสริฐ, พระสัทธรรม) สทฺธมฺม+อํ
#อวิชานตํ (ผู้ไม่รู้แจ้งอยู่ ท.) น+วิชานนฺต > อวิชานนฺต+นํ แปลง นตฺ เป็น นฺตุ ด้วยสูตรว่า เสเสสุ นฺตุว. (รู ๑๐๘) = อวิชานนฺตุ+นํ, แปลง นฺตุกับวิภัตติเป็น ตํ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า นมฺหิ ตํ วา. = อวิชาน+ตํ รวมสำเร็จรูปเป็น อวิชานตํ




ขอบคุณ : https://palitext.blogspot.com/2018/03/blog-post_27.html
โลกนีติปาฬิแปล_๓.๗๔ หมวดคนพาล / ราตรีนาน สงสารยาว , 27.03.2018
ขอบคุณภาพจาก pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 


โยชน์ ยาวเท่าไร

โยชน์ อ่านว่า โยด ,“โยชน์” เขียนแบบบาลีเป็น “โยชน” อ่านว่า โย-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ ยุ-(ชฺ) เป็น โอ (ยุชฺ > โยช) : ยุชฺ + ยุ > อน = ยุชน > โยชน แปลตามศัพท์ว่า “ระยะทางอันกำหนดกันไว้”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของคำว่า “โยชน” ไว้ดังนี้
(1) the yoke of a carriage (คานรถ)
(2) a measure of length: as much as can be travelled with one yoke [of oxen], a distance of about 7 miles, which is given by Bdhgh. as equal to 4 gāvutas (เครื่องวัดความยาว: ยาวเท่าที่จะไปได้ด้วยแม่โคคู่หนึ่ง, ระยะทางประมาณ 7 ไมล์, ซึ่งพระพุทธโฆษกล่าวว่าเท่ากับ 4 คาวุต)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
“โยชน์ : ชื่อมาตราวัดระยะทาง เท่ากับ ๔ คาวุต หรือ ๔๐๐ เส้น.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โยชน์ : (คำนาม) ชื่อมาตราวัด ๔๐๐ เส้น เป็น ๑ โยชน์; การผูก. (ป., ส.).”

บาลี “โยชน” สันสกฤตก็เป็น “โยชน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)
“โยชน : (คำนาม) ‘โยชน์,’ พระเจ้า, พระอีศวร, อาตมันของโลก ; พิกัดระยะทางไกลอันเท่ากับสี่โกฺรส ; การต่อ-เข้า-ประสาน, สมาคม ; God, the Supreme Being, the soul of the world ; a measure of distance equal to four Krosas ; joining, union.”

@@@@@@@

ขยายความ

“พิกัดระยะทางไกลอันเท่ากับสี่โกฺรส” “โกฺรส” คือระยะทางไกลเท่าไร สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โกฺรศ” บอกไว้ดังนี้
    “โกฺรศ : (คำนาม) พิกัดวัดระยะอันเท่ากับ ๔๐๐๐ ศอก; a measure of distance, equal to 4000 cubits.”

ที่คำว่า “คาวุต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
    “คาวุต : (แบบ) (คำนาม) มาตราโบราณ สําหรับวัดความยาว ( = ๔,๐๐๐ ทัณฑะ หรือ ๒ โกรศ หรือ ๑ ใน ๔ ของโยชน์ = ๑๐๐ เส้น), คาพยุต ก็ว่า. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “คาวุต” บอกไว้ว่า
    “คาวุต : ชื่อมาตราวัดระยะทาง เท่ากับ ๘๐ อุสภะ หรือ ๑๐๐ เส้น (๔ คาวุตเป็น ๑ โยชน์) ; ดู มาตรา.”
ที่คำว่า “มาตรา” บอกไว้ว่า

       มาตราวัด
       ๗ เล็ดข้าว เป็น ๑ นิ้ว
       ๑๒ นิ้ว เป็น ๑ คืบ
       ๒ คืบ เป็น ๑ ศอก
       ๔ ศอก เป็น ๑ วา
       ๒๕ วา เป็น ๑ อุสภะ
       ๘๐ อุสภะ เป็น ๑ คาวุต
       ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์

       หรือ
       ๔ ศอก เป็น ๑ ธนู
       ๕๐๐ ธนู เป็น ๑ โกสะ
       ๔ โกสะ เป็น ๑ คาวุต
       ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์

ผู้เขียนบาลีวันละคำทำหน้าที่นำข้อมูลต่างๆ มาแสดงไว้ ขอแรงท่านที่ถนัดในทางคิดคำนวณโปรดใช้ข้อมูลเหล่านี้คำนวณออกมาว่า “โยชน์” คือ ระยะทางเท่าไรเมื่อเทียบกับ “กิโลเมตร” อันเป็นมาตราที่คนไทยทุกวันนี้คุ้นเคยกัน

เท่าที่ได้ฟังบอกกันมาแต่เดิม ท่านว่า 1 โยชน์ เท่ากับ 16 กิโลเมตร แต่ที่ได้ฟังล่าสุด ท่านแก้ว่า ที่ว่า 1 โยชน์ เท่ากับ 16 กิโลเมตรนั้น ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ที่จริง 1 โยชน์ เท่ากับ 13 กิโลเมตร (เดิมว่า 16 แล้วแก้เป็น 13)


@@@@@@@

ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตขอร้องเหมือนกับที่ได้ขอร้องมาตลอดว่า ขอให้คณะสงฆ์-โดยมหาเถรสมาคม-ยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณา จะตั้งเป็นคณะทำงานหรือทำแบบไหนก็สุดแต่จะเห็นสมควร ให้ได้คำตอบอันเป็นมติของคณะสงฆ์ไทยแล้วประกาศให้ทราบทั่วกัน

“เรื่องนี้” ที่กล่าวข้างต้นขอประมวลมา 3 เรื่อง คือ
     1. ระยะทาง 1 โยชน์ เท่ากับกี่กิโลเมตร
     2. ทรัพย์ราคา 5 มาสก เท่ากับเงินบาททุกวันนี้กี่บาท
     3. หลักการรับกฐิน ภิกษุ 5 รูปต้องจำพรรษาในวัดเดียวกันหรือนิมนต์มาจากต่างวัดก็ใช้ได้

เรื่องทั้ง 3 นี้ กรุณาอย่าปล่อยให้ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างคำนวณ ต่างคนต่างแสดงความเห็น ซึ่งจะถกเถียงกันหาข้อยุติไม่ได้ แต่ขอให้เป็นมติของคณะสงฆ์ไทย ทั้งนี้เพื่อจะได้ถือปฏิบัติให้เป็นเอกภาพทั่วสังฆมณฑล

ดูก่อนภราดา.! ถ้ากล้าที่จะย่างเท้าก้าวที่หนึ่ง ร้อยโยชน์พันโยชน์ก็ไปถึง-ถ้าไม่หยุดเดิน




Thank to :-
web : dhamma.serichon.us/2022/01/05/โยชน์-ยาวเท่าไร/
posted date : 5 มกราคม 2022 admin   
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



บุรุษคนหนึ่ง : เพิ่งรู้โยชน์หนึ่งยาวไกล

ทีฆา ชาครโต รตฺติ ทีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ
ทีโฆ พาลาน สํสาโร สทุธมมํ อวิชานตํ.


     (คำแปล)
     กลางคืนของคนที่ตื่นอยู่ ย่อมยาวนาน,
     โยชน์เดียวของคนที่ล้าแล้ว ย่อมไกล
     สังสาระของคนพาลผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ย่อมยืดยาว


@@@@@@@

พระราชาทรงหลงรักภรรยาคนอื่น ทรงวางแผนลงโทษสามี เพื่อช่วงชิงภรรยา

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงช้างเผือกชื่อปุณฑรีกะ กระทำประทักษิณพระนครสาวัตถี ทรงเหลือบเห็นสตรีนางหนึ่งมองขบวนของพระองค์อยู่ที่หน้าต่างปราสาท ทรงนึกรักขึ้นมาทันที เสร็จพระราชกิจแล้ว ทรงให้อำมาตย์ไปสอบถามสถานภาพของสตรีนั้น, อำมาตย์กลับมาทูลว่า นางมีสามีแล้ว

พระราชายังไม่คลายจากกามราคะ ทรงออกอุบายให้สามีของนางมารับราชการเพื่อจะทรงหาทางใส่ความเขา จะได้นำภรรยาของเขามาเป็นพระสนม ฝ่ายบุรุษผู้เป็นสามีก็พอจะรู้อยู่ว่า พระราชากำลังจะหาเรื่องตน จึงระมัดระวังตัวตลอด

พระราชาทรงหาทางลงโทษเขาไม่ได้ จึงทรงออกอุบายให้เขาเดินทางไกล ๕ โยชน์ ไปหาดอกโกมุทดอกอุบล และดินสีอรุณในแม่น้ำมาให้ได้ แล้วต้องกลับมาให้ทันก่อนประตูเมืองปิด ไม่อย่างนั้นจะถูกลงราชอาญา

บุรุษนั้นรีบเดินทาง ระหว่างทางเขาก็ให้ข้าวแก่คนเดินทาง และโปรยข้าวเลี้ยงปลาแล้ว แบ่งผลบุญให้แก่นาค ครุฑ และเทวดา, พญานาคจึงนำของทั้ง ๓ มาให้ เขากลับมาถึงก่อนค่ำ แต่ก็เข้าเมืองไม่ได้ เพราะพระราชาทรงให้ปิดประตูกรุงเร็ว เขาเหนื่อยมาก ท้อแท้ว่า เราจะถึงความพินาศแน่ๆ จึงเข้าไปนอนในพระเชตวัน

@@@@@@@

ฝ่ายพระราชาทรงคิดถึงแต่หญิงคนนั้น ทรงบรรทมไม่หลับเพราะกามราคะทำให้เร่าร้อน ทรงได้ยินเสียงประหลาด ๔ คำ คือ "ทุ, สะ, นะ, โส" รุ่งเช้าทรงเล่าให้พวกพราหมณ์ปุโรหิตฟัง พวกเขาพยากรณ์ว่า

ชีวิตของพระราชากำลังตกอยู่ในอันตราย จะต้องทำการบูชายัญสัตว์อย่าง ละ ๑๐๐ เช่น ช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ เด็กชาย ๑๐๐ เด็กหญิง ๑๐๐...เกิดความโกลาหลขึ้นขณะ นำมนุษย์และสัตว์มาบูชายัญ

พระนางมัลลิกาทรงทราบแล้ว ทรงเตือนสติพระราชาว่า ทรงเป็นอันธพาล ต้องการจะมีชีวิตอยู่ด้วยการทำลายชีวิตผู้อื่น แล้วทรงนำเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระเชตวัน

พระราชาทรงเล่าเสียงที่ได้ยินมาให้ทรงสดับ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นเสียงของสัตว์ใน โลหกุมภีนรกลอยอยู่ปากนรกแล้วพูดได้อักษรเดียวก็จมลงไปก้นนรกอีก

สัตว์นรก ๔ ตนนั้นกระทำการล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น พวกขาต้องการจะพูดว่า
"ตอนนั้น เรามีโภคะอยู่แต่ไม่ได้ทำทาน และเราถูกไฟนรกเผาไหม้อยู่ ๖ หมื่นปีแล้ว เมื่อไรจะพ้นไปได้"

พระราชาทรงสลดพระทัย ตรัสว่า "ข้าพระองค์เพิ่งทราบความที่กลางคืนยาวนานมาก เมื่อคืนนี้,"
บุรุษคนนั้นร่วมฟังอยู่ด้วยจึง ทูลว่า "ส่วนข้าพระองค์ก็เพิ่งทราบว่า หนึ่งโยชน์ช่างไกลมากเมื่อวานนี้."

พระพุทธเจ้าจึงตรัสภาษิตนี้, จบพระพุทธดำรัส บุรุษคนนี้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนพระราชาก็ทรงยกเลิกการบูชายัญ

@@@@@@@

อธิบายพุทธภาษิต

คืนหนึ่งๆ แบ่งเป็น ๓ ยามเท่ากันทุกวัน แต่คนที่นอนไม่หลับย่อมรู้สึกว่า กลางคืนยาวนานกว่าเดิมถึง ๒-๓ เท่า แม้แต่ผู้ปรารภความเพียรตลอดคืนยังรุ่ง พระธรรมกถีกแสดงธรรมทั้งคืน, ผู้ที่ถูกโรคต่างๆคุกคาม หรือผู้ที่ประสบทุกข์หนัก เช่น ถูกตัดมือตัดเท้า และ คนเดินทางไกลตลอดคืน คนเหล่านี้ย่อมรู้ความยาวนานของราตรีนั้น, โยชน์หนึ่งยาวเพียง ๔ คาวุต แต่คนที่เหนื่อยมากแล้ว รู้สึกว่าไกลกว่าเดิมถึง ๒-๓ เท่า

คนพาล ได้แก่ คนที่ไม่รู้แจ้งประโยชน์ในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้า ย่อมไม่รู้แจ้ง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นต้น ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้แล้ว จึงกระทำที่สุดแห่งสังสารวัฏได้, สังสารวัฏของคนพาลจึงชื่อว่ายาว เป็นความยาวนานตามธรรมดาของผู้ที่ไม่อาจทำที่สุดแห่งสังสารวัฏได้ ซึ่งผู้ที่ทำที่สุดแห่งสังสารวัฏได้ ก็คือ ผู้ที่รู้แจ้งพระสัทธรรม เช่น โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นต้น (ดู ธ.อ.๒/๑๒๖-๑๔๓)


คติธรรมความรู้

คนพาล หมายถึง คนที่ไม่บริหารตนให้ประสบสุขในโลกนี้ คนที่ไม่ทำเหตุเพื่อประสบสุขในโลกหน้า และคนที่ไม่บำเพ็ญสมถะวิปัสสนาจนรู้แจ้งมรรค ผล นิพพาน





ขอขอบคุณ :-
บทความจาก : หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จากพระไตรปิฎก
web : https://www.nirvanattain.com/สิ่งที่ควรรู้/กรรม/บุรุษคนหนึ่ง-เพิ่งรู้โยชน์หนึ่งยาวไกล.html
โพสต์โดย นิรนาม ,21 พฤษภาคม 2563
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ