ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระอุ้ม "เด็กหญิง" | จะกำหนัดหรือไม่ก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด  (อ่าน 678 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




พระอุ้ม "เด็กหญิง" | จะกำหนัดหรือไม่ก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด

พระรูปหนึ่งมาที่บ้านโยมคุ้นเคย บ้านนั้นมีเด็กหญิงเพิ่งเดินได้เตาะแตะ พระอุ้มเด็กหญิงคนนั้นด้วยความเอ็นดู และทำเช่นนั้นทุกครั้งที่มาที่บ้านโยมคนนั้น ไม่มีใครในบ้านนั้นเห็นเป็นเรื่องผิดปกติ วันหนึ่งมีผู้ทักขึ้นว่า พระจับต้องกายหญิงเป็นอาบัติ พระแย้งว่า ไม่เป็นอาบัติ เพราะจับต้องกายเด็ก ไม่ใช่หญิงสาว และท่านอ้างว่าท่านไม่ได้มีความกำหนัด ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายหญิงจึงจะเป็นอาบัติ

ผมว่าเรื่องแบบนี้คนสมัยนี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ศึกษา ชาวบ้านเมื่อร้อยปีที่แล้ว รู้กันทั่วไปว่าพระมีศีล ๒๒๗ ข้อ-รู้ถึงขนาดเอามาร้องเล่นเป็นเพลง ชาวบ้านสมัยนี้ ถามว่าพระมีศีลกี่ข้อ ทำหน้าเหลอ

“ทำหน้าเหลอ” – นี่เป็นคำไทยนะครับ เด็กไทยวันนี้น่าจะไม่รู้จักกันแล้ว-อย่าว่าถึงจะรู้ว่าพระมีศีลกี่ข้อนั่นเลย

เหลอ [เหฺลอ] ว. ทำหน้าเซ่อ ๆ ทำนองว่าไม่รู้เรื่อง เช่น ทำหน้าเหลอ.

“เหลอ” ไม่ได้อ่านว่า เห-ลอ แต่อ่านอย่างมี ห นำ แบบเดียวกับคำว่า “เหรอ” ที่เพี้ยนมาจาก “หรือ” มีคนคะนองเอาไปเขียนเป็น “หรอ” เขียนด้วยความคะนองเล่น แต่วันนี้คนไทยพูดและเขียนคำว่า “หรือ” เป็น “หรอ” ไปทั่วบ้านบ้านทั่วเมือง แล้วก็ลากต่อไปเป็น “หรา”

     เดิม-ไม่ใช่หรือ
     แล้วกลายเป็น -ไม่ใช่เหรอ
     แล้วคะนองเป็น-ไม่ใช่หรอ
     แล้วลากไปเป็น-ไม่ใช่หรา

ภาษาไทยเรานี้ดีแท้ๆ ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องเรียนรู้ นึกอยากจะพูดอย่างไร เขียนอย่างไร สะกดอย่างไร ว่ากันตามสบาย แล้วก็มีคนออกมาแก้ตัวให้ว่า ภาษายังมีชีวิตอยู่ มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จะมาห้ามไม่ให้เปลี่ยนไม่ได้หรอก ผิดหลักสัจธรรม

เมื่อท่านอ้างสัจธรรม ก็ควรเข้าใจว่า หลักสัจธรรมข้อหนึ่งก็คือภาษามันเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ คนต่างหากที่เป็นคนเปลี่ยน จะเปลี่ยนให้งามหรือจะเปลี่ยนให้ทรามขึ้นอยู่กับว่าคนได้รับการศึกษาอบรมเรียนรู้มาหรือเปล่าว่า-อย่างไรงาม อย่างไรทราม และหลักสัจธรรมอีกข้อหนึ่งคือ-คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถฝึกหัดอบรมสั่งสอนกันได้เพื่อให้รู้ว่าอะไรงามอะไรทราม

กลับมาที่ ทุกวันนี้เราใช้ภาษากันตามสบาย เหมือนหลักพระธรรมวินัย ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องเรียนรู้ นึกอยากทำอย่างไร ว่ากันตามสบาย

@@@@@@@

ถามว่า : พระจับต้องตัวเด็กผู้หญิง เป็นอาบัติหรือไม่.?

พระที่อุ้มเด็กท่านยืนยันว่า : ไม่เป็นอาบัติ เหตุผลคือ เพราะผู้หญิงนั้นยังเป็นเด็กอยู่ แต่ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ท่านไม่ได้มีความกำหนัด ตามหลักพระวินัย พระจับต้องกายหญิงจะเป็นอาบัติก็ต่อเมื่อมีความกำหนัด ถ้าไม่มีความกำหนัดก็ไม่เป็นอาบัติ พระอุ้มเด็กท่านว่าอย่างนั้น

คงเป็นทำนองเดียวกับ ภิกษุเจ้าสำนักแห่งหนึ่งจับมือกับแหม่ม ท่านบอกว่าท่านไม่ได้มีความกำหนัด ท่านจับตามวัฒนธรรมของชาวตะวันตก เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นอาบัติ

การที่พระอุ้มเด็กอ้างเช่นนั้น แสดงว่าท่านก็รู้หลักพระธรรมวินัย แต่ท่านรู้ไม่หมด หลักพระธรรมวินัยข้อนี้ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก และพระสงฆ์ประชุมกันทบทวนฟังทุกกึ่งเดือน มีข้อความดังนี้

    "โย ปน ภิกฺขุ โอติณฺโณ วิปริณเตน จิตฺเตน มาตุคาเมน สทฺธึ กายสํสคฺคํ สมาปชฺเชยฺย หตฺถคาหํ วา เวณิคาหํ วา อญฺญตรสฺส วา อญฺญตรสฺส วา องฺคสฺส ปรามสนํ สงฺฆาทิเสโส."

_________________________________________________
ที่มา : เตรสกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๗๗

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง แปลไว้ว่า
    "อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส"

หนังสือ นวโกวาท พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า
     "ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส"

“สังฆาทิเสส” เป็นชื่ออาบัติ (คือความผิดที่พระทำลงไป) หนักรองลงมาจาก “ปาราชิก” ปาราชิกมี ๔ ข้อ ทำเข้าแล้วขาดจากความเป็นพระทันที สังฆาทิเสสมี ๑๓ ข้อ ทำเข้าแล้วยังไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่ต้องไปผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “เข้ากรรม” จึงจะกลับเป็นพระที่บริสุทธิ์ได้เหมือนเดิม

คำว่า “หญิง” ในสิกขาบทนี้ บาลีใช้คำว่า “มาตุคาม” ในพระไตรปิฎกจำกัดความคำว่า “มาตุคาม” ไว้ดังนี้

มาตุคาโม นาม มนุสฺสิตฺถี น ยกฺขี น เปตี น ติรจฺฉานคตา อนฺตมโส ตทหุชาตาปิ ทาริกา ปเคว มหนฺตตรี.

__________________________________________________
ที่มา : เตรสกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๗๘

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลไว้ว่า
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ไม่ต้องพูดหญิงผู้ใหญ่

แม้เงื่อนไขการต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะขึ้นอยู่กับความกำหนัด (คือเกิดอารมณ์ทางเพศ) แต่ความกำหนัดเป็นอาการภายใน พิสูจน์ทราบได้ยาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยาก พระไทยจึงมีมาตรการเข้มงวดหลีกเลี่ยงผู้หญิงโดยเด็ดขาด


@@@@@@@

ทั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามพระพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตรที่ตรัสแก่พระอานนท์ถึงวิธีปฏิบัติต่อมาตุคามเป็นหลักการใหญ่ ดังนี้

    กถํ มยํ ภนฺเต มาตุคาเม ปฏิปชฺชามาติ ฯ
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติในมาตุคามอย่างไร

    อทสฺสนํ อานนฺทาติ ฯ
    ไม่มอง อานนท์

    ทสฺสเน ภควา สติ กถํ ปฏิปชฺชิตพฺพนฺติ ฯ
    เมื่อต้องมอง จะพึงปฏิบัติอย่างไร

    อนาลาโป อานนฺทาติ ฯ
    ไม่พูดด้วย อานนท์

    อาลปนฺเต ภนฺเต กถํ ปฏิปชฺชิตพฺพนฺติ ฯ
    เมื่อต้องพูด จะพึงปฏิบัติอย่างไร

    สติ อานนฺท อุปฏฺฐาเปตพฺพาติ ฯ
    ตั้งสติไว้ อานนท์

__________________________________________________
ที่มา : มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๓๒

มาตรการหลีกเลี่ยงผู้หญิงอนุวัติตามพระพุทธพจน์นี้ พูดให้เห็นภาพว่า หลบได้หลบ หลีกได้หลีก เอ็งมาซ้าย ข้าไปขวา เอ็งมาหน้า ข้าไปหลัง จำเป็นจริงๆ ก็มีฉนวนกันไฟฟ้าลัดวงจร เช่น พระไทยไม่รับของจากมือสตรีโดยตรง ต้องมีผ้ารองรับ

องค์แห่งการประเคนในพระวินัยกำหนดว่า รับประเคนด้วยกายก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ได้ นานมาแล้ว เคยได้ยินพระไทยพูดด้วยความคะนองว่า รับจากมือไปเลย ไม่ผิด ดูแต่พระพม่าเขายังรับจากมือได้เลย ฟังแล้วคันปาก ถวายคำแนะนำอยู่ในใจว่า นิมนต์ไปบวชใหม่ที่พม่าเถอะขอรับ แต่ที่ถวายไปจริงๆ คือ เมื่อยังอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ต้องปฏิบัติตามจารีตไทยขอรับ

สรุปเป็นหลักปฏิบัติก็คือ การถูกตัวผู้หญิง พระไทยป้องกันตัวกันเต็มที่ และในเมื่อท่านจำกัดความ “ผู้หญิง” ไว้ว่า
“โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น” ดังนั้น จะเป็นเด็กหรือเป็นคนใหญ่ จะกำหนัดหรือไม่กำหนัด หลีกเลี่ยงไว้ก่อนดีที่สุด

และอีกประการหนึ่ง หลักเรื่องวัตถุอนามาส คือสิ่งที่พระไม่ควรจับต้อง ท่านก็ระบุไว้ชัดว่า
     น เกวลญฺจ มาตุคามสฺส สรีรเมว อนามาสํ นิวาสนปารุปนมฺปิ อาภรณภณฺฑมฺปิ … อนามาสเมว ฯ
     มิใช่แต่ร่างกายของมาตุคามอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นอนามาส แม้ผ้านุ่งผ้าห่มก็ดี สิ่งของเครื่องประดับก็ดี (ของมาตุคาม) … ก็เป็นอนามาสทั้งนั้น

_______________________________________
ที่มา : สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค ๒ หน้า ๓๘

@@@@@@@

สรุปเป็นคำขาดว่า ต่อให้เป็นเด็กที่เพิ่งคลอดวันนั้นก็อุ้มไม่ได้ครับ หลักพระวินัยในพระไตรปิฎกนั้นต้นฉบับเป็นภาษาบาลี เพราะฉะนั้น คงเข้าใจนะครับว่า เป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลีนั้นคือเพื่ออะไร ที่น่าปวดใจก็คือ พระที่อุ้มเด็กหญิงนั้นท่านไม่ได้เรียนบาลีเลย แต่ท่านอ้างวินัย (ผิดๆ) ได้ฉอดๆ พระเณรที่เรียนบาลีเงียบเป็นเป่า-อะไรก็ไม่รู้ กราบขอร้องวิงวอน เรียนบาลีเพื่อช่วยรักษาพระศาสนากันมั่งเถอะขอรับ






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ,๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕, ๑๗:๕๔ น.
dhamma.serichon.us/2022/07/16/พระอุ้มเด็กหญิง/
16 กรกฎาคม 2022 , By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ