ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การสำรวมระวัง ด้วย "ศีล สติ ญาณ ขันติ และ วิริยะ" | ชื่อว่า สังวร ๕.  (อ่าน 663 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



การสำรวมระวัง ด้วย "ศีล สติ ญาณ ขันติ และ วิริยะ" | ชื่อว่า สังวร ๕.

สังวร หมายถึง การสำรวมระวัง ในการป้องกันความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น ทำความดีให้เพิ่มพูนขึ้น ตามที่ท่านแสดงไว้เป็นมาตรฐานในการยกระดับความประพฤติของตน ให้ถูกตรงตามทำนองคลองธรรม เพื่อความก้าวหน้าในการประพฤติปฏิบัติ จากระดับศีล จนถึงการละความชั่วและการบำเพ็ญความดีขั้นละเอียดในการปฏิบัติเพื่อผลดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยการสำรวมระวัง ได้แก่

@@@@@@@

๑. สีลสังวร – สำรวมระวังด้วยศีล

คือ การสำรวมระวังตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ ด้วยการไม่ล่วงละเมิด สิกขาบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือ ปาติโมกขสังวรศีล คือ การสำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ไม่ละเมิดข้อที่ทรงห้ามและทำตามข้อที่ทรงอนุญาต ทำตัวให้สมบูรณ์ด้วยมรรยาทโคจร คือสถานที่ซึ่งตนจะเที่ยวไป โดยเลือกเข้าไปในสถานที่ที่สมควรแก่ภาวะของตนเท่านั้น เห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยว่าเป็นของน่ากลัว สมาทานศึกษาสำเหนียกในสิกขาบททั้งหลาย สำหรับพระภิกษุหมายถึงการทำให้สมบูรณ์ในปาริสุทธิศีล ๔ คือ

   - ปาฏิโมกขสังวร สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาตดังกล่าวแล้ว
   - อินทรียสังวร สำรวมระวังอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส และ รู้อารมณ์ด้วยใจ
   - อาชีวปริสุทธิ เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ไม่แสวงหาปัจจัย ในการดำรงชีวิตในทางอเนสนา คือ การแสวงหาที่ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยหรือหลอกลวงคนอื่น
   - ปัจจยปัจจเวกขณะ ก่อนจะบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานเภสัช ให้พิจารณาเสียก่อน ไม่บริโภคปัจจัยด้วยตัณหา

๒. สติสังวร – สำรวมระวังด้วยสติ

คือ การสำรวมด้วยสติ โดยอาศัยสติเป็นเครื่องระลึกถึงเรื่องที่ทำ คำที่พูด สิ่งที่คิดแม้นานแล้วได้ ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ให้อาศัยสติระลึกถึง การกระทำเป็นต้นเหล่านั้น ว่าควรหรือไม่ควรอย่างไร ให้สติเป็นเครื่องห้าม สกัดกั้นไว้ไม่ให้เกิดความกำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง มัวเมาในอารมณ์ทั้งหลายที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

๓. ญาณสังวร – สำรวมระวังด้วยญาณ

“ญาณ” เป็นชื่อของความรู้ หมายถึงการใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาให้เกิดความรู้เท่าทัน เพื่อไม่ให้ใจตกไปสู่อำนาจของอารมณ์ต่างๆ มีรูปเป็นต้น จนจิตไม่ตกไปสู่อำนาจของกิเลสทั้งหลาย มีตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นอาทิ การสำรวมระวังด้วยญาณนี้ พึงปฏิบัติตามนัยแห่งพระพุทธภาษิตที่ทรงแสดงไว้ในทุกขธัมมสูตร อาสีวิสวรรค สังยุตตนิกาย ความว่า

    “ที่เรียกว่า สังวร เพราะเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่น้อมไปในรูปอันน่าปรารถนา ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้ ย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอตามความเป็นจริง ทั้งเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมมารมณ์เช่นเดียวกันนั้นด้วย”

๔. ขันติสังวร – สำรวมด้วยขันติ

แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
    - ตีติกขาขันติ อดทนด้วยกลั้นไว้ ทนไว้
    - ตปขันติ อดทนจนเป็นตบะเดชะ คือ เอาชนะสิ่งที่เป็นข้าศึกได้
    - อธิวาสนขันติ อดทนจนสามารถให้สิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่เป็นเพื่อน เป็นมิตรกับตน และใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้

การสำรวมระวังด้วยขันติ หมายถึง การไม่แสดงอาการอ่อนไหวไปตามอารมณ์หรือเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกขเวทนาทางกาย ความไม่สบายใจก็ตาม ไม่แสดงอาการขึ้นลงในยามประสบสุขและทุกข์ สามารถรักษาปกติภาพของตนไว้ได้ในทุกกรณีเพราะ “ขันติย่อมห้ามความผลุนผลันไว้ได้และเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์”

๕. วิริยสังวร – สำรวมระวังด้วยความเพียร

ยึดหลักของปธาน คือ ความเพียร ๔ เป็นแนวในการปฏิบัติ คือ
    - สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้นภายในจิตของตนเช่น วิตกอันเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นรู้ว่านี่เป็นอกุศลก็พยายามระวังใจไว้ ไม่ให้ตรึกนึกถึงเรื่องที่ก่อให้เกิดอกุศลเหล่านั้น
    - ปหานปธาน เพียรละ บาป อกุศลที่เกิดขึ้นแล้วภายในจิต หรือจิตตรึกนึกไปในทางอกุศล ก็พยายามละสิ่งเหล่านั้นเสีย
    - ภวนาปธาน เพียรพยายามให้กุศล คือ ความดีที่ยังไม่มี ให้มีขึ้นภายในจิตของตน ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม พึงปฏิบัติตามนัยแห่งพระพุทธภาษิตที่ว่า
      “บุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า บุญมีประมาณน้อยจะไม่ให้ผล น้ำฝนตกลงมาทีละหยาด สามารถยังภาชนะที่รองรับให้เต็มได้ฉันใด ผู้ทำความยินดีในการทำบุญ สะสมบุญทีละน้อย จิตใจจะเต็มไปด้วยบุญฉันนั้น และการสั่งสมบุญไว้นำความสุขมาให้”
    - อนุรักขนาปธาน เพียรพยายามรักษากุศล ความดีที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อมไป เหมือนกับการรบชนะข้าศึกแล้วยึดพื้นที่ที่ตนครอบครองไว้ได้ ไม่ให้ตกไปในอำนาจของข้าศึกอีก ฉะนั้น

วิริยสังวรในระดับหนึ่งหมายถึง การมีความพยายามใช้สติระลึกรูปนาม โดยให้เห็นความเกิด ดับ แห่งรูปนามด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ ให้เบาลง.






Thank to :-
ที่มา : หนังสือ “ธรรมปริทรรศน์ ๒” พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ) กรกฏาคม ๒๕๓๕
website : dhamma.serichon.us/2022/07/17/สังวร-๕-โดย-ระแบบ-ฐิตญาโณ/
Posted date : 17 กรกฎาคม 2022 ,By admin.
Photo : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 22, 2022, 07:20:40 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ