ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำทุกกรกิริยา ทุกองค์ไหม.?  (อ่าน 785 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"พระโพธิสัตว์" ก่อนที่จะตรัสรู้เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ต้องทำทุกกรกิริยา ทุกองค์ไหม.?

ทุกกรการิกปัญหา

พระเจ้ามิลินท์ :  “พระคุณเจ้านาคเสน พระโพธิสัตว์ย่อมทำทุกกรกิริยาทุกพระองค์หรือ หรือว่าเฉพาะพระโคตมโพธิสัตว์เท่านั้นทำทุกกรกิริยา.?“
พระนาคเสน : “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมิได้มีการทำทุกกรกิริยาทุกพระองค์, เฉพาะพระโคตมโพธิสัตว์เท่านั้น ทำทุกกรกิริยา.”

พระเจ้ามิลินท์ : “พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระโพธิสัตว์ยังมีความแตกต่างกับพระโพธิสัตว์ องค์อื่น ๆ อย่างนี้ไซร้ก็ย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง“
พระนาคเสน : “ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ย่อมมีความแตกต่างกับพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆ ด้วยฐานะ ๔ อย่าง มีอะไรบ้าง.? ได้แก่
    ๑. ความต่างกันด้วยสกุล
    ๒. ความต่างกันด้วยความเพียร
    ๓. ความต่างกันด้วยอายุ
    ๔. ความต่างกันด้วยขนาดพระวรกาย

ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ย่อมมีความแตกต่างกับพระโพธิสัตว์ ด้วยฐานะ ๔ เหล่านี้แล

ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้า แม้ทุกพระองค์ไม่ทรงมีความต่างกันในรูป(สภาวที่เป็นเลิศด้วยพระมหาปัญญาธิคุุณ พระมหากรุณาทีคุณ พระมหาบริสุทธิคุณ) ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ในวิมุตติ ในวิมุตติญาณทัสสนะ ในเวสารัชชญาณ ๔ ในพระญาณที่เป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ในพระญาณที่ไม่สาธารณะ ๖ ในพุทธญาณ ๑๔ ในพุทธธรรม ๑๘ และในพระพุทธคุณทั้งสิ้น, พระพุทธเจ้าแม้ทุกพระองค์ทรงเป็นผู้เสมอเหมือนกันด้วยพระพุทธธรรมทั้งหลาย แล.”

พระเจ้ามิลินท์ : “พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าแม้ทุกพระองค์ทรงเป็นผู้เสมอเหมือนกันด้วยพระพุทธธรรมทั้งหลาย จริงแล้วไซร้, เพราะเหตุไร เฉพาะพระโคตมโพธิสัตว์เท่านั้น ทรงกระทำทุกกรกิริยาเล่า.?”
พระนาคเสน : “ขอถวายพระพร เมื่อญาณยังไม่แก่รอบ เมื่อธรรมเครื่องตรัสรู้ยังไม่แก่รอบ พระโคตมโพธิสัตว์ เสด็จมหาภิเนษกรมแล้ว ก็ทรงกระทำทุกกรกิริยา ด้วยทรงประสงค์จะทรงบ่มพระญาณ.”


@@@@@@@

พระเจ้ามิลินท์ : “พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุไร เมื่อพระญาณยังไม่แก่รอบ เมื่อธรรมเครื่องตรัสรู้ยังไม่แก่รอบเลย พระโพธิสัตว์ ก็ยังเสด็จมหาภิเนษกรมเล่า, น่าจะบ่มพระญาณจนแก่รอบ แล้วจึงค่อยเสด็จมหาภิเนษกรมมิใช่หรือ.?”
พระนมาคเสน : “ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพวกนางสนมกำนัลที่มีอาการวิปริตแล้ว ก็ทรงเป็นผู้มีพระวิปฏิสาร (ความเดือดร้อนไม่สบายใจ), พระองค์ผู้ทรงมีพระวิปฏิสาร ทรงเกิดความไม่ยินดีขึ้น เทพบุตรที่เป็นพวกมารตนหนึ่ง เล็งเห็นจิตที่ไม่ยินดีเกิดขึ้น คิดว่า ‘นี่เป็นเวลาที่เราจะบรรเทาจิตที่เบื่อหน่าย‘ ดังนี้, ยืนเปล่งคำนี้อยู่บนเวหา ว่า

     ‘่ท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านอย่าได้เบื่อหน่ายเลย, ในวันที่ ๗ นับตั้งแต่วันนี้ไป จักรแก้วที่เป็นทิพย์จักปรากฏแก่ท่าน เป็นจักรที่มีซี่กำตั้งพัน พร้อมทั้งกง พร้อมทั้งดุม บริบูรณ์โดยอาการทั้งปวง รัตนะทั้งหลายที่อยู่บนพื้นดิน และที่ดำรงอยู่ในอากาศ จักมาหาท่านเองทีเดียว ท่านจักมีอำนาจเป็นไปในมหาทวีปทั้ง ๔ อันมีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร โดยการออกปากคราวเดียว, และท่านจักมีบุตรมากกว่า ๑,๐๐๐ คน ซึ่งล้วนแล้วแต่แกล้วกล้าอาจหาญ ย่ำยีกองทัพฝ่ายอื่นได้, ตัวท่านผู้กล่นเกลื่อนด้วยบุตรเหล่านั้น ประกอบพร้อมด้วยรัตนะทั้ง ๗ แล้ว จักปกครองทวีปทั้ง 4 ได้ ‘ ดังนี้ ,

    ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าหลาวเหล็กที่เขาเผ่าไฟตลอดทั้งวัน ย่อมทีมแทงช่องหูทะลุเข้าไปเผาไหม้ได้ทุกส่วนฉันใด, คำของเทวดานั้น ก็ทิ่มแทงช่องหูพระโพธิสัตว์ เพราะเหตุนั้น พระโพธิสัตว์ผู้เบื่อหน่ายอยู่แล้วตามปกติ พอได้ยินคำของเทวดาตนนั้นแล้ว ก็เบื่อหน่าย สลดใจ ถึงความหวาดหวั่นใจมากยิ่งขึ้นไปอีก ฉันนั้น.

    ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า กองไฟใหญ่ๆ ที่ลุกโพลงอยู่ ใช้ไม้แห้งอื่นสุมเข้าไปอีก ก็พึงลุกโพลงมากยิ่งขึ้น ฉันใด,
    ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ผู้เบื่อหน่ายอยู่แล้วตามปกติ พอได้ยินคำของเทวดาตนนั้น ก็เบื่อหน่ายสลดใจ ถึงความหวาดหวั่นใจมากยิ่งขึ้นไปอีก ฉันนั้น.

    ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ดินเปียกชื้นอยู่แล้วตามปกติ มีหญ้าเขียวๆบังเกิด มีน้ำฝนประพรมอยู่เสมอก็เกิดเป็นโคลน เมื่อมีฝนห่าใหญ่ตกหนักลงมาอีก ก็จะพึงเป็นโคลนมากยิ่งขึ้นไปอีก ฉันใด,
    ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ผู้เบื่่อหน่ายอยู่แล้วตามปกติ พอได้ยินคำของเทวดาตนนั้น ก็เบื่อหน่าย สลดใจ ถึงความหวาดหวั่นใจมากขึ้นอีก ฉันนั้นเหมือนกัน.”

@@@@@@@

พระเจ้ามิลินท์ : “พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าใน วันที่ ๗ จักรแก้วอันเป็นใทิพย์จะพึงบังเกิดแก่พระโพธิสัตว์จริงไซร้, พระโพธ ิสัตว์จะพึงเสด็จกลับมาทำจักรแก้วที่เป็นทิพย์ ให้บังเกิดหรือไม่.?“
พระนาคเสน : “ขอถวายพระพร ในวันที่ ๗ จักรแก้วที่เป็นทิพย์จะไม่พึงบังเกิดแก่พระโพธิสัตว์หรอก, ก็แต่ว่า เป็นเพียงคำพูดที่เทวดาผู้ต้องการประเล้าประโลมใจตนนั้น กล่าวมุสา,

    ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าในวันที่ ๗ จักรแก้วที่เป็นทิพย์ พึงบังเกิดจริงไซร้, พระโพธิสัตว์ หลังจากทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็จะไม่เสด็จกลับ,เพราะเหตุไร
    ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ทรงได้ถือมั่นคงแล้วว่า ‘ไม่เที่ยง ทรงได้ถือมั่นคงแล้วว่า ‘เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ‘ ทรงเป็นผู้บรรลุถึงธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทานแล้ว,

    ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า น้ำจากสระอโนดาตย่อมไหลไปสู่แม่น้ำคงคา น้ำจากแม่น้ำคงคาย่อมไหลไปสู่มหาสมุทร, น้ำจากมหาสมุทรย่อมไหลไปสู่ปากบาดาล,
    ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าน้ำที่ถึงปากบาดาลแล้วนั้น จะพึงไหลกลับไปสู่มหาสมุทร, น้ำจากมหาสมุทรพึงไหลไปสู่แม่น้ำคงคา น้ำจากแม่น้ำคงคาพึงไหลไปสู่สระอโนดาต อีกหรือไม่.?”

พระเจ้ามิลินท์ : “หามิได้พระคุณเจ้า.”
พระนาคเสน : “ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปมาฉันใด อุปมัยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระโพธิสัตว์ทรงบ่มกุศลตลอด ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัป เพราะเหตุแห่งภพ ที่จะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านี้, พระโพธิสัตว์นั้น ทรงมีภพนี้เป็นภพสุดท้าย, จะทรงเป็นผู้บรรลุโพธิญาณที่แก่รอบตามลำดับ ใช้เวลา ๖ ปี ก็จักสำเร็จเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดบุคคลในโลก,
     ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า พระโพธิสัตว์จะพึงเสด็จกลับมา เพราะเหตุแห่งจักรแก้ว อีกหรือ.?”


@@@@@@@

พระเจ้ามิลินท์ : “หามิได้พระคุณเจ้า“
พระนาคเสน : “ขอถวายพระพร ต่อให้แผ่นดินใหญ่พร้อมทั้งป่าไม้ พร้อมทั้งภูเขา พึงพลิกผันไปก็ตาม, พระโพธิสัตว์ไม่ทรงรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็จะไม่เสด็จหวนกลับมา,
    ขอถวายพระพร แม้หากว่าน้ำในแม่น้ำคงคาจะพึงไหล เอ่อทวนกระแสก็ตาม พระโพธิสัตว์ไม่ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็จะไม่เสด็จหวนกลับมา,

    ขอถวายพระพร แม้หากว่ามหาสมุทรอันเป็นที่รองรับน้ำหาปริมาณมิได้ จะพึงเหือดแห้งไป เหมือนน้ำในรอยเท้าโคก็ตาม, พระโพธิสัตว์ไม่ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็จะไม่เสด็จหวนกลับมา,
    ขอถวายพระพร แม้หากว่าพญาเขาสิเนรุจะพึงแตกเป็น ๑๐๐ เสียง หรือ ๑,๐๐๐ เสี่ยงก็ตาม, พระโพธิสัตว์ไม่ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ไม่เสด็จหวนกลับมา,

    ขอถวายพระพร แม้หากว่าพระจันทร์ พระอาทิตย์พร้อมทั้งดวงดาว จะพึงตกลงมาที่พื้นดินเหมือนก้อนดินก็ตาม พระโพธิสัตว์ไม่ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็จะไม่เสด็จกลับมา,
    ขอถวายพระพร แม้หากว่า อากาศจะพึงงอม้วนไปเหมือนเสื่อลำแพนก็ตาม, พระโพธิสัตว์ไม่ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็จะไม่เสด็จกลับมา,
    ถามว่า เพราะเหตุไรหรือ.?
    ตอบว่า เพราะทรงทําลายความห่วงใยอันเป็นเครื่องพันธนาการทั้งปวงได้แล้ว

พระเจ้ามิลินท์ : “พระคุณเจ้านาคเสน ความห่วงใยที่เป็นเครื่องพันธการในโลกมีเท่าไร.?“
พระนาคเสน : ขอถวายพระพร ความห่วงใยที่เป็นเครื่องพันธการในโลก มี ๑๐ อย่างเหล่านี้ เป็นเหตุให้สัตว์ถูกผูกมัดแล้วก็ไม่ก้าวออกไป (จากกาม, จากเรือน) แม้ก้าวออกไปแล้วก็ต้องหวนกลับมา.

๑๐ อย่างอะไรบ้าง.?
     ๑. ความห่วงใย มารดา จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก
     ๒. ความห่วงใย บิดา จัดเครื่องพันธนาการในโลก
     ๓. ความห่วงใย ภริยา จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก
     ๔. ความห่วงใย บุตร จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก
     ๕. ความห่วงใย ญาติ จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก
     ๖. ความห่วงใย มิตรสหาย จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก
     ๗. ความห่วงใย ทรัพย์ จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก
     ๘. ความห่วงใย ลาภสักการ จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก
     ๙. ความห่วงใย อิสสริยยศ จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก
   ๑๐. ความห่วงใย กามคุณ ๕ จัดเป็นเครื่องพันธนาการในโลก

ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ตัดทำลายความห่วงใยที่เป็นเครื่องพันธการทั้งหมดได้ จึงไม่เสด็จหวนกลับมา.

@@@@@@@

พระเจ้าเจ้ามิลินท์ : “พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า เมื่อมีจิตไม่ยินดีเกิดขึ้น, เมื่อญาณยังไม่แก่รอบ เมื่อความรู้ยังไม่แก่รอบ พระโพธิสัตว์ก็เสด็จมหาภิเนษกรม ตามคำทูลขอของเทวดาไซร์, ประโยชน์อะไรด้วยทุกกรกิริยาที่ทรงกระทำเหล่านั้นเล่า, พระองค์ทรงเป็นผู้เสวยพระกระยาหารทุกวัน ก็ทรงรอคอยความแก่รอบแห่งญาณได้ มิใช่หรือ.?”
พระนาคเสน : “บุคคล ๑๐ จำพวกเหล่านี้ เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยาม ตำหนิบริภาษ ใครๆก็ไม่ยำเกรงในโลก.

๑๐ จำพวกอะไรบ้าง.? ขอถวายพระพร ได้แก่

     ๑. หญิงม่าย เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยาม ตำหนิบริภาษ ใครๆก็ไม่ยำเกรงในโลก
     ๒. คนอ่อนแอ เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ
     ๓. คนที่ปราศจากญาติมิตร เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ
     ๔. คนตะกละ เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ
     ๕. คนผู้อยู่ในสกุลอันไม่น่าเคารพ เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ
     ๖. คนผู้คบคนชั่วเป็นมิตร เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ
     ๗. คนผู้เสื่อมทรัพย์ เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ
     ๘. คนผู้เสื่อมเสื่อมความประพฤติ เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ
     ๙. คนผู้เสื่อมการงาน เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ
    ๑๐. คนผู้เสื่อมความเพียร เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยาม ตำหนิบริภาษใคร ๆ ก็ไม่ยำเกรงในโลก.

ขอถวายพระพร บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล เป็นผู้ที่เขาดูหมิ่น ฯลฯ ใครๆก็ไม่ยำเกรงในโลก.

ขอถวายพระพร เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงเล็งเห็นฐานะ ๑๐ เหล่านี้อยู่ ก็เกิดหมายพระทัยอย่างนี้ว่า ขอเราจงอย่าเป็นผู้เสื่อมการงาน เสื่อมความเพียร ให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ติเตียนได้เลย ไฉนหนอ เราพึงเป็นนายแห่งการงาน เป็นใหญ่ในการงาน มีงานเป็นปกติ ทรงไว้ซึ่งการงาน มีการงานเป็นที่อาศัย เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ ดังนี้

ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์เมื่อจะทรงบ่มญาณ ก็ทรงได้กระทำทุกกรกิริยา แล.


@@@@@@@

พระเจ้ามิลินท์ : ”พระคุณเจ้านาคเสน พระโพธิสัตว์ผู้ทรงกระทำทุกกรกิริยา พระคุณเจ้านาคเสน พระโพธิสัตว์ทรงกระทำทุกกรกิริยาได้ตรัสอย่างนี้ว่า “เราหาบรรลุอุตตมนุสสธรรมคือ ญาณทัสสนวิเศษที่เป็นของพระอริยะ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ได้ไม่, พอกันที, น่าจะมีหนทางตรัสรู้อื่น ก็แต่ว่า ในสมัยนั้นพระโพธิสัตว์ทรงมีการหลงลืมสติปรารภหนทาง หรือหนอ.?”
พระนาคเสน : “ขอถวายพระพร ธรรมเครื่องกระความทรพล (ความอ่อนแอ) แห่งจิตมี ๒๕ อย่างเหล่านี้, อันเป็นธรรมที่เป็นเหตุให้จิตที่ถูกกระทำให้ทุรพลแล้ว ก็ไม่ตั้งมั่นเสมอโดยชอบเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.

๒๕ อย่างอะไรบ้าง.? ขอถวายพระพร มีดังนี้

    ๑. โกธะ (ความโกรธ) เป็นเครื่องความทุรพลแห่งจิต.เป็นเหตุให้จิตถูกกระทำให้ทุรพลแล้วก็ไม่ตั้งมั่นเสมอโดยชอบ เพิ่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
    ๒. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ ฯลฯ
    ๓. มักขะ (ความลบหลู่) ฯลฯ
    ๔. ปฬาสะ (ความตีเสมอ) ฯลฯ
    ๕. อิสสา (ความริษยา) ฯลฯ
    ๖. มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ฯลฯ
    ๗. มายา (ความหลอกลวง) ฯลฯ
    ๘. สาเฐยยะ (ความเสแสร้งแกล้งทํา) ฯลฯ
    ๙. ถัมภะ (ความดื่อดึง) ฯลฯ
   ๑๐. สารัมภะ (ความแข่งดี) ฯลฯ
   ๑๑. มานะ (ความถือตัว) ฯลฯ
   ๑๒. อติมานั(ความเย่อหยิ่ง) ฯลฯ
   ๑๓. มทะ (ความมัวเมา) ฯลฯ
   ๑๔. ปมาทะ (ความประมาท) ฯลฯ
   ๑๕. ถีนมิทธะ (ความหดหู่ท้อถอย) ฯลฯ
   ๑๖. ตันทิ (ความเกียจคร้าน) ฯลฯ
   ๑๗. อาลสยะ (ความเฉื่อยชา) ฯลฯ
   ๑๘. ปาปมิตตตา (การคบคนชั่วเป็นมิตร) ฯลฯ
   ๑๙. รูปะ (รูป) ฯลฯ
   ๒๐. สัททะ (เสียง) ฯลฯ
   ๒๑. คันธะ (กลิ่น) ฯลฯ
   ๒๒. รสะ (รส) ฯลฯ
   ๒๓. โผฏฐัพพะ (อารมณ์ที่กระทบกาย) ฯลฯ
   ๒๔. ขุทาปิปาสา (ความหิวกระหาย) ฯลฯ
   ๒๕. อรติ (ความไม่ยินดี)
   เป็นเครื่องกระทำความทุรพลแห่งจิต เป็นเหตุให้จิตถูกทำให้ทุรพลแล้ว ก็ไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
   ขอถวายพระพร ธรรมเครื่องกระทำความทุรพลแห่งจิต มี ๒๕ อย่างเหล่านี้แล ฯลฯ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

    ขอถวายพระพร ความหิวและความกระหาย ได้ทำพระวรกายของพระโพธิสัตว์ให้สิ้นเรี่ยวแรงไป, เมื่อพระวรกายสิ้นเรี่ยวแรงไป พระทัยก็ไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
    ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ทรงแสวงหาการตรัสรู้อริยสัจ ๔ นั้นนั่นแหละ มาตลอด ๔ อสงไขยกัปและอีกแสนกัป ในพระชาติทั้งหลายนั้นๆ, ไฉนในชาติที่จะตรัสรู้ในภพสุดท้าย พระองค์จักเป็นผู้หลงลืมพระสติปรารภหนทางไปเสียอีกเล่า,
    ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า พระโพธิสัตว์เพียงแต่เกิดหมายพระทัยว่า น่าจะมีหนทางตรัสรู้อื่น ดังนี้้เท่านั้น,
    ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ทรงเป็นผู้มีพระทัยเป็นหนึ่ง เมื่อเจ้าศากยผู้เป็นพระชนกทรงประกอบพระราชพิธีอยู่ ก็ทรงนั่งบัลลังก์บนพระที่บรรทม ทรงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร เกิดจากวิเวก มีปืติและสุขอยู่ ฯลฯ เข้าถึงจตุตถณานอยู่ แล.”

@@@@@@@

พระเจ้ามิลินท์ : ”ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำอธิบายด้วยเหตุผลและหลักฐานตามที่พระคุณเจ้าแสดงมานี้, พระโพธิสัตว์เมื่อจะทรงบ่มพระญาณ จึงทรงได้ทำทุกกรกิรืยา.”





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : อาจารย์สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
Photo : http://www.dhammajak.net/
website : dhamma.serichon.us/2022/07/23/ถามว่า-พระโพธิสัตว์ที่ต/
Posed date : 23 กรกฎาคม 2022 , By admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 31, 2022, 08:16:33 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ