ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "ขณะจิต" คิดว่านานแค่ไหน.? | การดีดนิ้วมือ 10 ครั้ง ชื่อว่า “ขณะ”  (อ่าน 646 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"ขณะจิต" คิดว่านานแค่ไหน.? | การดีดนิ้วมือ 10 ครั้ง ชื่อว่า “ขณะ”

ขณะจิต อ่านว่า ขะ-หฺนะ-จิด ประกอบด้วยคำว่า ขณะ + จิต

(๑) “ขณะ”

เขียนแบบบาลีเป็น “ขณ” อ่านว่า ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก
    (1) ขณฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ (อะ) ปัจจัย : ขณ+ อ = ขณ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์”
    (2) ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ, ลบ อี ที่ ขี ตามสูตร “ลบสระหน้า” (ขี + ยุ, ขี อยู่หน้า ยุ อยู่หลัง) : ขี + ยุ > อน = ขีน > ขีณ > ขณ แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่สิ้นไปแห่งอายุของเหล่าสัตว์”

    “ขณ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ครู่หนึ่ง, เวลาชั่วครู่ (a short moment, wink of time)
     บาลี “ขณ” สันสกฤตเป็น “กฺษณ”
     สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ)
    “กฺษณ : (คำนาม) พิกัดเวลา (เท่ากับสามสิบกลาหรือสี่นาที) ; เวลาครู่หนึ่ง; งารสมโภชหรือฉลอง ; เวลาว่างกิจ ; โอกาศ ; ความขึ้นแก่ ; ศูนย์กลาง, กลาง ; a measure of time (equal to thirty Kalās or four minutes) ; a moment ; a festival; vacation, leisure, opportunity ; dependence or servitude ; the centre, the middle ; - (กริยาวิเศษณ์) สักครู่หนึ่ง ; for a moment.”

     ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
    “ขณะ : (คำนาม) ครู่, ครั้ง, คราว, เวลา, สมัย. (ป.; ส. กษณ).”

@@@@@@@

(๒) “จิต”

บาลีเป็น “จิตฺต” (ต เต่า 2 ตัว มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ต ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต) : จินฺต + ต = จินฺตต > จิตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า
     (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด”
     (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

    พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “จิตฺต” ไว้ดังนี้
    The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations ; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือ ศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น ; กล่าวคือ ความคิด)

    “จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต”
     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
    “จิต, จิต- : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”


@@@@@@@

ประสมคำ

ขณะ + จิต = ขณะจิต (ขะ-หฺนะ-จิด) แปลว่า “ครู่หนึ่งแห่งจิต”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ขณะจิต” ว่า a thought-moment.
คำว่า “ขณะจิต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ

คำว่า “ขณะจิต” เป็นคำที่แปลเชิงทับศัพท์มาจากคำบาลี “จิตฺตกฺขณ” อ่านว่า จิด-ตัก-ขะ-นะ

โปรดสังเกตว่า คำไทย “ขณะจิต” คำบาลีไม่ใช่ “ขณจิตฺต” (ขะ-นะ-จิด-ตะ) แต่สลับคำเป็น “จิตฺตกฺขณ” เป็นลักษณะที่ตรงกับที่รู้กันทั่วไปว่า ไทย-แปลจากหน้าไปหลัง บาลี-แปลจากหลังมาหน้า : “ครู่หนึ่งแห่งจิต”

    ไทย-แปลจากหน้าไปหลัง = “ขณะจิต” : ขณะ (ครู่หนึ่ง) + จิต (จิต)
    บาลี-แปลจากหลังมาหน้า = “จิตฺตกฺขณ” : จิตฺต (จิต) + ขณ (ครู่หนึ่ง)

อนึ่ง โปรดสังเกตว่า จิตฺต + ขณ ไม่เป็น จิตฺตขณ แต่เป็น “จิตฺตกฺขณ” เพราะตามหลักบาลีไวยากรณ์ว่าด้วยการสมาส ท่านให้ซ้อน กฺ ระหว่างศัพท์ – : จิตฺต + กฺ + ขณ = จิตฺตกฺขณ

@@@@@@@

ที่เรียกว่า “ ขณ > ขณะ > ครู่หนึ่ง” ยาวนานแค่ไหน.?

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงไว้ว่า
“ทสหิ อจฺฉราหิ องฺคุลิโผฏฺเฐหิ ลกฺขิโต กาโล ขโณ นาม = เวลาที่กำหนดด้วยการดีดนิ้วมือ 10 ครั้ง ชื่อว่าขณะ”

ลองนึกถึงภาพคนดีดนิ้วมือเข้ากับจังหวะเพลง ไม่ว่าจะเป็นจังหวะเร็วหรือช้า อึดใจเดียวก็ 10 ครั้งแล้ว แต่ในทางธรรม ท่านแสดงละเอียดยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ จิต คือค วามคิดที่เกิดขึ้น 1 ขณะ ประกอบด้วย 3 อนุขณะ (ขณะย่อย) คือ
    (1) อุปปาทขณะ = ขณะที่เกิดขึ้น (arising; genesis)
    (2) ฐิติขณะ = ขณะที่ดำรงอยู่ (duration; static moment; the moment of standing)
    (3) ภังคขณะ = ขณะที่ดับไป (dissolution; cessation; dissolving or waning moment)

รวม 3 อนุขณะ(เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) หมุนเวียนเรื่อยไป นับเป็น 1 “ขณะจิต” ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเวลาที่รวดเร็วนักหนา

“ขณะจิต” ของมนุษย์ เกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา เทียบกับสิ่งที่สายตามองเห็น เช่น แสงไฟจากดวงไฟฟ้า เมื่อเปิดไฟ เราเห็นว่าไฟติดสว่างตลอดเวลา แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า แสงไฟนั้นไม่ได้ติดตลอดเวลา แต่ติดแล้วดับ ดับแล้วติด แต่เพราะมันดับแล้วติดเร็ว เราจึงเห็นว่ามันติดตลอดเวลา

“ขณะจิต” ก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้ตั้งอยู่ตลอดเวลา แต่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป-เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ด้วยความเร็วนักหนา เราจึงรู้สึกจิตของเราตั้งอยู่ คือ คิดอยู่ มีอยู่ตลอดเวลา

ดูก่อนภราดา.! เพียงชั่วขณะจิต ชีวิตก็เปลี่ยน






Thank to :-
website : dhamma.serichon.us/2022/08/10/ขณะจิต-คิดว่านานแค่ไหน-อ/
Posted date : 10 สิงหาคม 2022 ,By admin.
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
Photo : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 16, 2022, 07:09:58 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ