ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องเล่าเริ่มแรก จาก ‘ร่างเสมือน’ ศาสนาผี  (อ่าน 265 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




เรื่องเล่าเริ่มแรก จาก ‘ร่างเสมือน’ ศาสนาผี

คําบอกเล่ามีพลังผนึกความเป็นปึกแผ่นของเผ่าพันธุ์ (หรือชาติพันธุ์) ดังนั้น ชุมชนสมัยเริ่มแรกมีพิธีกรรมตามคําบอกเล่าเหล่านั้น พบหลักฐานหลากหลายเหลือเป็นซากสิ่งต่างๆ ได้แก่ ไม้, โลหะ, หิน เป็นต้น แต่ที่สําคัญและพบกว้างขวาง คือ หินรูปร่างหลากหลายลักษณะและขนาดต่างๆ เช่น แผ่นผา, แท่ง, ก้อน, สะเก็ด ฯลฯ ทางวิชาการสากลเรียกวัฒนธรรมหิน (Megalith culture) เรียกง่ายๆ เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า “หินตั้ง”

หินจึงมีคําบอกเล่าสมัยเริ่มแรกเป็นเรื่องราวมหัศจรรย์พันลึก แต่อาจถอดรหัสคลาดเคลื่อนหรือแตกต่างกันได้จึงไม่ถือเป็นยุติ ในหินมีคําบอกเล่าเป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องขวัญ ว่าขวัญเคลื่อนไหวออกจากร่างจริงแล้วไปสิงสู่อาศัยในวัสดุต่างๆ ก็ได้ ไม่ว่าท่อนไม้, กองดิน, ก้อนหิน ฯลฯ โดยสมมุติเรียกสิ่งนั้นว่า “ร่างเสมือน” ดังนั้น บรรดาขวัญของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ไปสิงสู่อาศัยร่างเสมือนได้ทั้งนั้น และร่างเสมือนที่สําคัญอย่างยิ่งคือหิน

หินตั้งหรือวัฒนธรรมหินเป็นวัตถุทางความเชื่อในศาสนาผีเพื่อแสดงพื้นที่เฮี้ยนและขลังอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นร่างเสมือนมีขวัญสิงสู่ ครั้นหลังรับศาสนาพุทธจากอินเดียหินตั้งบางลักษณะจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นเสมาบอกเขตศักดิ์สิทธิ์ แล้วสลักภาพเล่าเรื่องเป็นร่างเสมือน

@@@@@@@

เล่าเรื่องเป็นรูป คําบอกเล่าถูกทําเป็นพิธีกรรมเฮี้ยนและขลังของชาติพันธุ์ด้วยการเล่นเงาเห็นด้านข้างแล้วก้าวหน้าเป็นรูปเขียน เป็นลายสลัก และเป็นหนังใหญ่-หนังตะลุง ซึ่งเห็นด้านข้างตามการเล่นเงา

1. เล่นเงา ด้วยการก่อกองไฟแล้วใช้วัตถุทึบแสง เช่น ไม้, มือ ฯลฯ ทําให้เกิดเงาเฮี้ยนด้านข้างของผีบรรพชน (เงาด้านข้างได้จากเงาของวัตถุทึบแสงซึ่งเป็นข้อจํากัดในตัวเอง)

2. รูปเงา ใช้ยางไม้ผสมดินบางชนิดวาดรูปเงาด้านข้างผีบรรพชนรวมถึงรูปที่ต้องการบนเพิงผาหรือผนังถ้ำ ส่วนรูปคนผิดส่วนคือผีบรรพชน (ที่ผิดส่วนเพราะเป็นผีไม่ใช่คน) รูปผีบรรพชนเห็นด้านข้างเพราะสืบเนื่องการวาดรูปเงาจากเล่นเงา ซึ่งจะเป็นต้นแบบต่อไปให้หนัง

วาดคนเหมือนจริงทําได้โดยดูจากรูปสัตว์วาดเหมือนจริง แต่ที่วาดคนผิดส่วนเพราะต้องการวาด

[ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดีย บ้านเมืองต่อมาพัฒนารูปเงาเป็นลายกนกสลักหินบนศาสนสถานซึ่งพบมากในกัมพูชา จากนั้นทําลายกนกสลักบนแผ่นหนังวัว-หนังควาย (ภาษาเขมรเรียก แสฺบก) เป็นภาพเล่าเรื่องตามมหากาพย์จากอินเดีย แล้วไทยรับมาเรียกหนังใหญ่-หนังตะลุง (ตะลุง เป็นภาษาเขมร แปลว่า เสา ที่เรียกหนังตะลุงเพราะเมื่อเชิดหนังต้องมีก้านไม้ไผ่เสียบตัวหนังใช้ถือเชิดและปักให้นิ่งกับท่อนกล้วยที่จัดวางไว้)]


กำเนิดมนุษย์เป็นเรื่องเล่าเริ่มแรก พบหลักฐานเป็นภาชนะดินเผามีฝาปิดและมีคอคอดคล้ายผลน้ำเต้าจริงๆ บรรจุกระดูกมนุษย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในแหล่งโบราณคดีเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด (ภาพจากหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2557 หน้า 44)

เรื่องเล่าจากรูปเขียนบนหิน

รูปเขียนบนหิน หมายถึง รูปเขียนราว 2,500 ปีมาแล้ว บนเพิงผา, ผนังถ้ำ ฯลฯ พบทั่วไปในประเทศไทย และเพื่อนบ้านโดยรอบ รูปเขียนบนผาหินเหล่านี้ถูกวาดโดยบรรพชนหลายชาติพันธุ์และพูดหลายตระกูลภาษา ซึ่งน่าจะไม่มีตระกูลภาษาไท-ไต เพราะขณะนั้นมีหลักแหล่งอยู่ทางโซเมียตอนบน หรือทางตอนใต้ของจีน-ตอนเหนือของเวียดนาม ยังมาไม่ถึงดินแดนไทยปัจจุบัน

เรื่องเล่าเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนไทย (เพิ่งมีสมัยหลัง) ดังนี้

    1. เรื่องเล่าที่นําไปเขียนรูปเป็นเรื่องซึ่งเฮี้ยน และเป็นที่เชื่อถือแพร่หลายได้รับรู้ทั่วกันทุกชาติพันธุ์หรือหลายชาติพันธุ์ และน่าจะรวมทั้งกลุ่มไท-ไต
    2. เมื่อคนไท-ไตโยกย้ายลงมาพร้อมภาษาไท-ไต ถึงบริเวณต่างๆ ที่มีรูปเขียนอยู่ก่อนแล้วจึงรับรู้เรื่องเล่าและบอกเล่าสืบเนื่องมา
    3. คนดั้งเดิมที่สืบโคตรอยู่บริเวณมีรูปเขียนมาแต่เดิม ต่อมาพูดภาษาไท-ไตแล้วกลายตนเป็นไทย เรื่องเล่าจากหินก็เข้าสู่ความทรงจํา เมื่อนานเข้าถูกเขียนเป็นวรรณกรรมไทย ซึ่งตัวอย่างสําคัญอยู่ในเรื่องเล่ากําเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าที่แพร่หลายในชาติพันธุ์ต่างๆ


@@@@@@@

กําเนิดมนุษย์จากน้ำเต้า เป็นเรื่องเล่าแพร่หลายในกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์ทางลุ่มน้ำโขง โดยไม่พบหลักฐานว่าเริ่มบอกเล่ากันมาตั้งแต่เมื่อไร? ต่อมาอีกนานเรื่องเล่ากําเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในพงศาวดารล้านช้าง แล้วยังพบในเอกสารของไทดํา เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ในเวียดนาม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าคําบอกเล่าหรือเรื่องเล่าเป็นวัฒนธรรมร่วมของนานาชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงและแพร่หลายลงไปลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ไม่รู้ว่าเรื่องเล่านี้เริ่มมีเมื่อไร? มาจากไหน?

คนเกิดจากน้ำเต้าเป็นเรื่องเล่ากําเนิดมนุษย์ ส่วนผู้เป็นเจ้าคือผีฟ้า (เป็นใหญ่อยู่บนฟ้า) ไม่ได้เกิดจากน้ำเต้า เมื่อคนเกิดจากน้ำเต้าแล้วผู้เป็นเจ้าส่งทายาทคนหนึ่งมีอํานาจเป็นใหญ่ควบคุมคนที่เกิดจากน้ำเต้า

กําเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าเป็นความเชื่อหลายพันปีมาแล้วของคนหลายชาติพันธุ์ เพราะพบภาชนะดินเผามีฝาปิดและมีคอคอด (รูปร่างเหมือนน้ำเต้า) ใช้บรรจุกระดูกมนุษย์ไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีขุดพบในแหล่งขุดค้นเขตทุ่งกุลาร้องไห้ (อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด)

ผลน้ำเต้าเป็นสัญลักษณ์ของการเกิด เพราะมีรูปร่างคล้ายมดลูกซึ่งเป็นอวัยวะภายในของเพศหญิงที่มีช่องหรือทางให้กําเนิดทารกอันเรียกว่าช่องคลอด ส่วนลักษณะทรงกลมป่องของน้ำเต้าเหมือนท้องของแม่ที่มีทารกอยู่ข้างใน และเมล็ดน้ำเต้าซึ่งมีจํานวนมาก สอดคล้องความต้องการของคนหลายพันปีมาแล้วต้องการมีลูกจํานวนมากๆ เพื่อเป็นกําลังทําการผลิตพืชผลทางกสิกรรม น้ำเต้าจึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ของคนเกือบทั้งโลก โดยเฉพาะในวัฒนธรรมอินเดีย, จีน และอุษาคเนย์

การบรรจุกระดูกคนตายไว้ในน้ำเต้ายังหมายถึงการกลับสู่ถิ่นเดิมที่เกิดมาคือน้ำเต้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของครรภ์มารดาหรือท้องของแม่ หลักฐานโบราณคดีพบอย่างนี้เท่ากับเป็นพยานว่าเรื่องกําเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าเป็นความเชื่อมีจริงและมีเรื่องเล่าอยู่จริงในสังคมดึกดําบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว และยังเชื่อสืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน แต่รูปแบบภาชนะเปลี่ยนไปเป็นโกศ (สําหรับชนชั้นนํา), หม้อดิน (สําหรับชาวบ้าน) เป็นต้น

@@@@@@@

รูปเขียน 2,500 ปี บนผาหิน มีความเป็นมาเกี่ยวข้องคําบอกเล่าหรือเรื่องเล่า ดังนี้

    (1.) มีคําบอกเล่าหรือเรื่องเล่าอยู่ก่อนนานแล้ว
    (2.) เมื่อเทคโนโลยีมีพร้อม จึงมีพิธีกรรมเขียนรูป-วาดรูปตามความเชื่อว่าเฮี้ยนและขลังอย่างยิ่งของคําบอกเล่าหรือเรื่องเล่านั้น
    (3.) บริเวณที่เขียนรูป-วาดรูป เป็นพื้นที่-สถานที่ทําพิธีกรรมในศาสนาผีร่วมกันของชุมชนมาก่อนและต้องมีพิธีกรรมสม่ำเสมอทุกปี (เทียบได้กับปัจจุบัน คือบริเวณโบสถ์, วิหาร)

[รูปเขียนเหล่านั้นมิได้ทําขึ้นเพื่อประดับประดาสถานที่สําคัญตามวัฒนธรรมสมัยใหม่ทุกวันนี้]

เรื่องเล่าจากรูปเขียน 2,500 ปีมาแล้วบนผาหินจํานวนไม่น้อย ยังสืบเนื่องความเชื่อจนปัจจุบัน ได้แก่

เซ่นผีแม่ข้าว สืบเนื่องเป็น “นาตาแฮก” ทางลุ่มน้ำโขง และ “แรกนาขวัญ” ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา

น้ำฝนจากกบ, คางคก สืบเนื่องเป็นวรรณกรรมลุ่มน้ำโขงเรื่อง “พญาคันคาก” และด้วยความยกย่องกบมนุษย์จึงเลียนแบบท่ากบ กางแขน กางขา ในพิธีกรรมหลายพันปีมาแล้ว จากนั้นได้สืบเนื่องจนปัจจุบันเป็นท่าเต้นโขนยักษ์-ลิง

โพนช้าง หมายถึง จับช้างป่าด้วยช้างต่อและเชือกปะกํา ยังทําสืบเนื่องจนทุกวันนี้ทางลุ่มน้ำมูล เช่น สุรินทร์, ศรีสะเกษ เป็นต้น

บวดควาย หมายถึง การควบคุมควายตามต้องการของคน ยังมีทําสืบเนื่องเป็นการละเล่นทุกวันนี้ในอีสานหลายแห่ง ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนแปลงเป็นการละเล่น “กระอั้วแทงควาย” แต่ปัจจุบันรู้จักทั่วไปว่า “กระตั้วแทงเสือ”

นกส่งขวัญขึ้นฟ้า สืบเนื่องถึงทุกวันนี้เป็น “นกหัสดีลิงค์” ในงานศพพระสงฆ์ หรือผู้มีทรัพย์และอํานาจในชุมชน •





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กันยายน 2565
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ.2565
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_599874
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ