ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก  (อ่าน 1013 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก
« เมื่อ: ตุลาคม 08, 2022, 06:38:50 am »
0


ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก (ตอบคำถามที่มีคนถามมา)

ถาม : สืบค้นดูแล้ว ไม่มีคำว่า "ภาษาบาลี" ในพระไตรปิฎก หรือข้อมูลทางประวัติศาสตร์อินเดียในยุคพุทธกาลเลย แล้วทำไมในประเทศไทยทุกวันนี้ จึงเรียกว่า ภาษาบาลี

ตอบ :-

ขอเล่าความทั่วไปก่อน

ก่อนยุคพระพุทธเจ้า ชมพูทวีปหรืออินเดียทุกวันนี้มีหลายชนชาติหลายเผ่าพันธุ์และมีภาษาพูดภาษาเขียนมากมายในยุคพระพุทธเจ้า พระองค์ประสูติและอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของอินเดียทุกวันนี้ คือ แคว้นมคธ โกศล เป็นหลัก ซึ่ง 2 แคว้นนี้เป็นรัฐใหญ่ มีหลายภาษาพูดเช่นกัน

พระพุทธเจ้าตรัสได้หลายภาษา ไปเมืองไหน ก็คงตรัสภาษาพื้นเมืองแห่งนั้น ๆ สื่อสารกับชาวบ้านได้แบบสบาย ๆ และภาษาที่ใช้กันเป็นส่วนมากในมคธ คงเป็นภาษาพื้น ๆ บ้าน ๆ ที่ชาวบ้านทั่วไปพูดคุยกัน  ภาษานี้คงใช้กันแพร่หลายในเขตแดนเมืองมคธและใกล้เคียง คนสมัยโน้น จะเรียกภาษานี้ว่า ภาษาอะไร ยากจะบอกได้ แต่คนยุคหลังในสมัยต่อมาเรียกว่า ภาษามาคธี ภาษามคธ คือ ภาษาที่พูดกันในดินแดนมคธ

ในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 หลังการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า 3 เดือน พระสงฆ์นำโดยพระเถระผู้ใหญ่คือพระมหากัสสปะเถระ ได้ประชุมสงฆ์มาร่วมกันสรุปและทบทวนสอบทานคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ตรงกันว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้บ้าง (ขณะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเรียกกันว่า พระธรรมวินัย ยังไม่เรียกว่า พระไตรปิฎก)

สังคายนาครั้งนี้ ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาบนภูเขาในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ (ใช้เวลาสอบทานทบทวนกันถึง 7 เดือนจึงเสร็จสมบูรณ์)แล้วก็ช่วยกันจำไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า  มุขปาฐะ (จำด้วยใจและกล่าวเป็นเสียงออกมาทางปากอย่างคล่องแคล่วและแม่นยำ)

ภาษาที่ใช้ตรวจทานและจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าในสังคายนาครั้งนี้ ไม่น่าจะเป็นภาษาอื่น นอกจากภาษาของแคว้นมคธ (แต่เราจะระบุว่า ภาษาอะไรแน่ก็คงยาก จึงเดาและเรียกรวมไปว่าเป็น ภาษามคธ คงไม่ใช่ภาษานอกเมืองมคธ)

หลังเสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งนี้  พระสงฆ์ได้แบ่งกลุ่มช่วยกันจำคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคณะ ๆ เรียกว่า คณภาณกะ (กลุ่มนักท่อง/นักสวด) คือแบ่งพระเป็นกลุ่ม ๆ ตามสายครูอาจารย์ของตน ให้ช่วยกันจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้และนำไปสอนต่อ ๆ กันไปแบบปากต่อปาก 

เช่น คณะนี้มี 500 รูปนี้ ต้องท่องจำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้ 200 สูตร คณะนี้ 500 รูป ให้ทรงจำคำสอนให้ได้สัก 300 สูตร เป็นต้น (คงมีการประชุมสงฆ์แต่ละคณะมานั่งทบทวนสอบทานกันอยู่บ่อย ๆ เป็นระยะ ๆ เป็นปกติทุก ๆ ปี/แต่เราไม่เห็นหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้)

ภาษาที่ใช้จำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้หลังสังคายนาครั้งที่ 1 นี้ เชื่อว่า คงจะมีการปรับถ้อยคำสำนวนพอสมควร เพื่อให้กระชับ จำได้ง่าย ส่งต่อกันได้ง่ายด้วย คงจะตัดคำที่เป็นภาษาพูดภาษาตลาดทั่วไปที่รู้สึกรก ๆ ออกจำนวนไม่น้อย (การปรับเปลี่ยนถ้อยคำสำนวนตรงนี้ อาจจะบอกได้ว่า เริ่มจะเป็นไวยากรณ์ภาษาขึ้นมาบ้างแล้ว คือมีการปรับระบบภาษา ปรับคำเพื่อให้จำได้ง่าย ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้ง่าย (แนะนำให้ลองไปอ่านและฝึกจำพระสูตรต่าง ๆ

เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร  เป็นต้น จะเห็นว่าในพระสูตรต่าง ๆ คำบาลีจะเป็นประโยคง่าย ๆ ใช้คำซ้ำ ๆ ไม่ซับซ้อน ทั้งนี้เพื่อให้จำได้ง่าย สอบทานกันได้ง่าย แต่ก็ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ตำราไวยากรณ์บาลีเกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะคนยุคนี้รู้ภาษานี้ดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีตำรามาอธิบายระเบียบการใช้ภาษาใด ๆ)

ต่อมามีการทำสังคายนาครั้งที่ 2 (ราวปี พ.ศ.100 กว่า ๆ) และมีการสังคายนาครั้งที่ 3 (ประมาณปี พ.ศ.200-300) ที่จัดขึ้นในอินเดีย

ผลจากการทำสังคายนาครั้งที่ 3 เสร็จสิ้น

พระสงฆ์เริ่มแยกสำนักกันแบบเด็ดขาด (ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน)  (คนที่มาบวชในพระพุทธศาสนามาจากหลายสาย หลายพื้นเพ หลายวรรณะ หลายเมือง หลายภาษาพูด และพระสงฆ์ที่มีพื้นเพเดิมเป็นพราหมณ์ เป็นปราชญ์ที่เก่งภาษาสันสกฤตก็มีมาก) มีพระสงฆ์กลุ่มใหญ่บางกลุ่ม (เอกสารฝ่ายบาลีเราเรียกว่า มหาสังฆิกะ) รวมกลุ่มกันทำสังคายนาขึ้นเองต่างหาก (บางเอกสารนับเป็นครั้งที่ 4 ในอินเดีย) และตกลงกันเขียนคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยภาษาสันสกฤต สอน อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยภาษาสันสกฤต

(ซึ่งเป็นภาษาในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่คงมีการปรับปรุงสำนวนและรูปแบบคำศัพท์ต่าง ๆ เช่นกัน คงไม่ใช่เหมือนภาษาสันสกฤตแบบคัมภีร์พระเวททั้งหมด) กลุ่มสงฆ์มหาสังฆิกะได้จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาสันสกฤตลงใบลานและได้จารึกไว้ในแผ่นทองคำด้วย

(ในสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ มีกลุ่มพระภิกษุที่มีพื้นเพเป็นพราหมณ์เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต ทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้าเพื่อจะสอนชาวบ้านด้วยภาษาสันสกฤต เพราะรู้สึกว่า เท่ ขลัง อลังการ และศักดิ์สิทธิ์ แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เพราะสันสกฤตเป็นภาษาที่จารึกคัมภีร์ของพราหมณ์ กลุ่มพราหมณ์ถือว่าเป็นของสูงสงวนไว้เฉพาะวรรณะตนเอง มีข้อห้ามสำหรับคนทั่วไปในการเรียนรู้ ถ้อยคำภาษาสันสกฤตเข้าใจยาก ออกเสียงไม่ง่ายนัก ชาวบ้านไม่ได้ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน

พระพุทธเจ้าตรัสให้สอนธรรมะของพระองค์ด้วยภาษาของชาวบ้าน ภาษาธรรมดา ๆ ภาษาท้องถิ่นของชาวบ้านเท่านั้น ห้ามใช้ภาษาสันสกฤตสอน  ถ้าพระภิกษุรูปใดสอนเป็นสันสกฤต ปรับอาบัติ (พระองค์คงเกรงว่าชาวบ้านจะสับสนและเข้าใจยาก จะทำให้คำสอนของพระองค์ไม่แพร่หลาย และพระองค์ไม่ต้องการให้มีระบบถือวรรณะในสังคมอินเดียด้วย)

กลุ่มพระภิกษุมหาสังฆิกะใช้อักษรอะไรเขียนคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสันสกฤตในการสังคายนาครั้งนี้ ยากจะบอกได้ เดาเอาว่า น่าจะเป็นอักษรพราหมี อักษรเทวนาครี หรืออักษรโบราณอื่น ๆ ที่เราไม่พบในปัจจุบันนี้แล้ว เพราะปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือสูญหายไปหมดแล้ว (แต่ถ้าค้นพบแผ่นทองคำที่ใช้จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่านี้ได้ น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น)

คณะสงฆ์มหาสังฆิกะกลุ่มนี้เองที่นำมาสู่การเกิดเป็นนิกายใหญ่ ที่เรียกว่า มหายาน และนิกายย่อยอื่น ๆ ในทิเบต จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ในสมัยต่อมาจนถึงทุกวันนี้



ลังกา

เกาะลังกา ศรีลังกา สีหฬ หรือ สิงหล ได้รับพระพุทธศาสนานับแต่เสร็จสิ้นการสังคายนาครั้งที่ 3 (ที่มีการส่งพระภิกษุไปเผยแผ่ศาสนาหลายสาย รวมถึงสายที่มาทางไทย มอญ พม่า ด้วย) (คิดว่า น่าจะมีพระภิกษุเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ลังกาก่อนหน้านั้นบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่พอ จึงไม่มีการจดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ หรือมีการจดไว้ แต่เอกสารสูญหายไปหมดแล้ว)

ในลังกา มีการทำสังคายนาหลายครั้ง เมื่อมีการจัดทำสังคายนาครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ. 400 กว่า ๆ พระสงฆ์สมัยนั้นได้ตกลงกันว่า ให้มีการจารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าลงสื่อวัสดุภายนอกอื่น ๆ เช่น ใบลาน แผ่นหิน แผ่นกระดาน ไม่ควรใช้วิธีแบบมุขปาฐะเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว

เพราะท่านมองไปถึงกาลไกลข้างหน้าว่า ในอนาคต (ยุคพวกเรานี้เอง) จะหาคนที่จะทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้แบบไม่ผิดพลาดได้ยาก อาจพากันจำผิด ๆ และส่งต่อข้อมูลคำสอนให้กันแบบผิดๆ เพี้ยนๆ ได้ 

นับแต่นั้นมา เราจึงได้รับรู้กันว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าต้นฉบับที่นำสืบต่อกันมาจากการสังคายานาครั้งที่ 1 ได้รับการเขียนลงวัสดุต่าง ๆ เช่น ใบลาน (ในครั้งนี้ ตัวอักษรคงเป็นอักษรสีหฬโบราณ) และภาษาที่จารึกนี้เป็นภาษาบาลีพระไตรปิฎกตามที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่เอง

ประเทศไทย

ประเทศไทย ได้รับพระพุทธศาสนาจากหลายทางและรับเข้ามาหลายรอบ เข้ามาทางเมืองมอญก็หลายรอบ (หัวเมืองชายทะเลฝั่งอันดามัน เช่น มะริด ทวาย ตะนาวศรี เมาะตะมะ เมาะลำเลิง) ทางภาคใต้สุดก็หลายรอบ เข้ามาทางอ่าวไทย ราชบุรี อู่ทอง ก็มี เข้ามาทางพม่าล้านนา ก็มี และไทยเราก็ได้รับจากทางเขมร,จามปา (เวียตนามใต้) และลาวด้วย (ลาวรับพระพุทธศาสนาต่อจากเขมรและจามปาอีกที ยุคหลังมาลาวก็รับจากล้านนาและจากไทยด้วย)

สรุปคือ ประเทศไทยรับพระพุทธศาสนาเข้ามาหลายทางหลายรอบ รับเรื่อยๆ จนมามีหลักฐานชัดขึ้นในยุคสุโขทัยว่าต้นแหล่งมาจากลังกา

แต่ก่อนหน้านั้น เชื่อว่า เราได้รับคติธรรมเนียมและสันสกฤตของพราหมณ์มาหลายรอบแล้วเช่นกัน และพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่ใช้สันสกฤต ก็น่าจะเข้ามาในดินแดนไทยไล่เลี่ยกันกับแบบเถรวาท หรือบางทีพระพุทธศาสนาแบบมหายานอาจมาล่วงหน้าก่อนแล้วด้วยตั้งแต่เกิดคณะมหาสังฆิกะ เพียงแต่ได้รับความนิยมน้อยและมีระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

(ลองศึกษาตำนานมูลสาสนา สำนวนล้านนา-แปล โดยเฉพาะช่วงที่กล่าวถึงคณะสงฆ์วัดป่าแดงมหาวิหาร กับ วัดสวนดอก เชียงใหม่ จะเห็นร่องรอยนี้ /แม้เหตุการณ์นี้จะเป็นเรื่องระยะหลังก็ตาม)

เขมร

ดินแดนเขมรนั้น พราหมณ์เข้ามานานมากแล้ว และใช้สันสกฤตเป็นภาษาพิธีกรรมต่าง ๆ คนเขมรจึงรู้สันสกฤตดีและถ่ายทอดมาถึงคนไทยผ่านคติการปกครองแบบระบบเทวราชาด้วย ผ่านการติดต่อค้าขายและการแต่งงานระหว่างกันด้วย  คนไทย (กลุ่มชนที่ผสมผสานกันหลายเชื้อชาติในแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศไทยทุกวันนี้) จึงรับคติพราหมณ์และสันสกฤตไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีอาณาจักรเด่น ๆ แบบอาณาจักรสุโขทัย (ตามแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบัน)

พิจารณาคำแปลบาลีเป็นภาษาไทย

เมื่อพิจารณาดูการสะสมคำพูดและภาษาของคนในแผ่นดินนี้ เราจะเห็นว่า คนในดินแดนไทยนี้รับคติพราหมณ์และสันสกฤตมาก่อนนานแล้วและใช้คำภาษาสันสกฤตปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นความเคยชินเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว  ดังนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทและบาลีเข้ามาในภายหลัง เวลาคนไทยครั้งกระโน้นแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทย หลาย ๆ คำ จึงแปลออกเป็นคำสันกฤต (ที่กลายเป็นไทยแล้ว) ไม่ได้แปลเป็นคำภาษาไทยแท้ ๆ

ทั้งนี้เพราะคำสันสกฤตเป็นคำที่คนที่รู้จักกันดีอยู่ก่อนแล้วในสมัยโน้นนั่นเอง เช่น แปลสตฺถา ว่าพระศาสดา  แปลรตฺติ ว่าราตรี แปลอิตฺถี ว่าสตรี แปลภิกฺขุนี ว่าภิกษุณี  แปลอจฺฉรา ว่าอัปสร  แปลรํสิ ว่ารัสมี แปลขตฺติย ว่ากษัตริย์ ฯลฯ ซึ่งคำแปลพวกนี้ล้วนเป็นภาษาสันสกฤตหรือดัดแปลงมาจากสันสกฤต ถ้าคนไทยไม่คุ้นชินกับสันสกฤตมาก่อน จะแปลเป็นสันสกฤตไม่ได้ ถึงแปลไปก็จะไม่เข้าใจความหมายดีพอ

ย้อนไปที่เกาะลังกา

เมื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการเขียนลงวัสดุเช่น ใบลาน แผ่นหิน ผืนผ้า หนังสัตว์ ฝาผนังต่าง ๆ และเผยแพร่ไปยังดินแดนต่าง ๆ แล้ว ก็มีปัญหาสำหรับคนต่างเมืองที่ไม่ได้พูดภาษาแบบนี้มาก่อน ยากที่จะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ พระสงฆ์รุ่นต่อ ๆ มาซึ่งส่วนมากเป็นชาวลังกา  (ในราวปี พ.ศ. 900-1100 เป็นต้นมา)

จึงคิดว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้คนในท้องถิ่นอ่านพระไตรปิฎกและคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ทำอย่างไรให้ชาวพุทธมีความรู้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้ดีขึ้น  ท่านจึงทำตำราประเภท "ไวยากรณ์" ขึ้นมา ตำราบาลีไวยากรณ์จึงเกิดขึ้นในยุคนี้

เนื่องจากภาษาสันสกฤตมีมานานแล้ว และมีการพัฒนาระบบไวยากรณ์ของภาษาตัวเองไว้ดีมากจนเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้วในขณะนั้น  พระภิกษุที่ทำตำราไวยากรณ์บาลีก็เรียนรู้สันสกฤตมาเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงได้รับอิทธิพลและนำหลักการหลายอย่างจากไวยากรณ์สันสกฤตมาใช้ (แต่ไม่ได้นำมาทั้งหมด) คือนำมาบางอย่างแล้วพัฒนาปรับให้เป็นไวยากรณ์ในแบบเฉพาะของตน เพื่อให้เพียงพอสำหรับการจะเรียนรู้บาลีคือคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ (ชินวจนยุตฺตํ หิ=กฎเกณฑ์ทางภาษาที่เหมาะควรกับพระพุทธดำรัส/อันนี้เป็นสูตร ๆ หนึ่งในคัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายนะ)

เรื่องอิทธิพลจากสันสกฤตสู่บาลีนี้ พิจารณาได้จากเรื่องตำราไวยากรณ์บาลีประเภทมีสูตร เช่น สูตรบาลีไวยากรณ์ในกัจจายนะ หลายสูตรตรงกับสันสกฤตเลย แต่ปรับเป็นคำบาลีเท่านั้น (ถ้าไม่มีสูตรสันสกฤตให้รู้เห็นมาก่อน จะทำสูตรไวยากรณ์บาลีให้ตรงสูตรไวยากรณ์สันสกฤตแบบตรงกันเป๊ะ ๆ คงเป็นไปได้ยากมาก)

ปัจจุบัน เรายังค้นหาตำราไวยากรณ์บาลีแบบสันสกฤตเพื่ออธิบายพระไตรปิฎกของพระสงฆ์กลุ่มมหาสังฆิกะ (ที่พัฒนาต่อมาเป็นมหายาน) เมื่อครั้งหลังสังคายนาครั้งที่ 3 ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบต้นฉบับที่จารึกลงแผ่นทองคำ เราอาจได้ข้อสรุปว่า สูตรไวยากรณ์ภาษาบาลีทุกวันนี้ เราเอาแบบอย่างมาจากไวยากรณ์สันสกฤตแท้ ๆ หรือว่าเอามาจากไวยากรณ์บาลีแบบสันสกฤตที่พระสงฆ์พุทธมหายานยุคนั้นท่านทำไว้หรือว่าผสมผสานนำมาจากสองแหล่ง



ไวยากรณ์บาลีเล่มแรก

ตำราไวยากรณ์บาลีเล่มแรกคือคัมภีร์อะไร ไม่อาจระบุชัดได้ บางท่านก็ว่า นิรุตติปิฎก  และมหานิรุตติ จูฬนิรุตติ น่าจะเป็นฉบับแรกๆ แต่หาต้นฉบับไม่ได้ บางทีอาจมีตำราไวยากรณ์อื่นที่เราไม่รู้จักชื่อที่ใช้เรียน ท่องจำและสอนกันในบางวัดโดยที่ไม่ได้เขียนลงวัสดุใบลานหรือเขียนลงใบลานเหมือนกัน แต่หมดสภาพไป ไม่แพร่หลาย ไม่โด่งดังพอก็เป็นได้

สำหรับตำราไวยากรณ์บาลีเล่มที่รู้จักกันแพร่หลายเป็นอย่างดีเล่มแรก ๆ และยังคงมีอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้  คือ ตำราไวยากรณ์บาลีชื่อกัจจายนะ ซึ่งผู้แต่งน่าจะเป็นพระภิกษุชาวอินเดียหรือลังกาที่รู้บาลีและภาษาสันสกฤตเป็นอย่างดี ท่านสร้างตำรานี้ขึ้นมาเพื่อใช้สอนคนในท้องถิ่นให้มีพื้นความรู้ทางภาษาจนพอจะเข้าใจพระไตรปิฎกได้แบบง่าย ๆ

คนไทยนำเข้าตำรานี้ นำมาจัดเรียงลำดับเนื้อหาใหม่ และเรียกตำรานี้ว่า มูลกัจจายน์ หรือ กัจจายนมูล ที่คนในดินแดนไทยนี้เรียนรู้กันตั้งแต่ยุคก่อนมีอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา อยุธยา สืบเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 

ไวยากรณ์บาลีแบบมีสูตร

ไวยากรณ์บาลีดั้งเดิม เช่น ไวยากรณ์กัจจายนะ ท่านจะทำเป็นสูตรสั้น ๆ ไว้  แล้วค่อยขยายความกันเมื่อเรียนกับครูอาจารย์  จึงเรียกไวยากรณ์แบบนี้ว่า ไวยากรณ์บาลีแบบมีสูตร 

ตัวอย่างสูตรไวยากรณ์กัจจายนะ เช่นสูตรที่ 1 ว่า อตฺโถ อกฺขรสญฺญาโต แปลว่า สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ คนเราจะสื่อสารรู้ความกันได้ ก็โดยอาศัยเครื่องมือสำคัญคือ อักษร (อักษรนี้ แปลว่า เสียงหรือตัวหนังสือก็ได้) 
 
ทำไมจึงสร้าง"สูตรไวยากรณ์บาลี" ขึ้นมา

สูตรทางไวยากรณ์ จะมีลักษณะเป็นคำสั้น ๆ ย่อ ๆ แต่อมความไว้ได้อย่างกว้างขวางและชัดเจนเหตุผลที่สร้างสูตรไวยากรณ์บาลีขึ้นมา เพื่อประหยัดเวลาในการศึกษา เพราะสมัยโบราณ เครื่องเขียน สื่อบันทึกที่คงทนถาวร เช่น ใบลาน ทำยาก หายาก จึงต้องคิดสร้างสูตรสั้น ๆ เน้นให้กระชับ (เสียงในสูตร ถ้าทำให้เป็นเสียงสอดคล้องกันได้ยิ่งดี) เพื่อให้จำกันได้ง่าย ถ่ายทอดกันได้ง่าย แล้วขยายความกันอีกทีเมื่อมีการเรียนการสอน

ผู้สร้างสูตรไวยากรณ์ได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้ภาษาอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง จึงจะสามารถกลั่นหัวใจสำคัญของเนื้อหาทั้งหมดแล้วสรุปย่อเป็นสูตรสั้น ๆ ได้

ตรงนี้ให้เรานึกเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่า “หัวใจ” นี่นั่น ที่คนไทยนิยมทำกันทุกวันนี้ เช่น หัวใจพระอภิธรรม เราก็ย่อเป็น สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ) ซึ่งเป็นคำย่อของคัมภีร์พระอภิธรรม สูตรไวยากรณ์บาลีก็เช่นกัน ใช้คำย่อ ๆ สั้น ๆ แต่กินความได้กว้างขวาง ครอบคลุม และชัดเจนเพียงพอ

ยุคต่อมา ในราวปี พ.ศ. 1600-1800 มีการพัฒนาไวยากรณ์บาลีขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ
โมคคัลลานะ โดยพระภิกษุลังกา ไวยากรณ์โมคคัลลานะ นำระบบ วิธีการและการอธิบายไวยากรณ์มาจากสันสกฤตค่อนข้างมาก มากยิ่งกว่าไวยากรณ์กัจจายนะ แต่การอธิบายตามแนวทางของโมคคัลลานะช่วยให้ความกระจ่างแจ้งได้อย่างมีเหตุมีผลที่หมาะสมในหลาย ๆ เรื่องที่คัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายนะยังทำได้ไม่ชัดเจนพอ

ในช่วงปี พ.ศ. 1700-1800 พระภิกษุชาวพม่า ได้พัฒนาตำราไวยากรณ์บาลีขึ้นมาใหม่เล่มหนึ่ง เรียกชื่อว่า สัททนีติ ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นไวยากรณ์บาลีที่ใหญ่ที่สุด ครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุด (เมื่อเทียบกับ 2 ตำราไวยากรณ์สองเล่มก่อนหน้านี้) บางสูตรก็เหมือนกับไวยากรณ์เล่มก่อน ๆ หลาย ๆ สูตรก็ไม่เหมือน เพราะผู้แต่งสร้างสูตรขึ้นใหม่เพื่อให้ชัดเจนและครอบคลุมยิ่งขึ้น

ทั้งคัมภีร์ไวยากรณ์โมคคัลลานะและสัททนีติ ไม่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย คงมีการศึกษากันเองในหมู่ผู้สนใจจำนวนน้อยเท่านั้น

ไวยากรณ์บาลีแบบไม่มีสูตร

ในประเทศไทย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  (พระราชโอรสในหลวงรัชกาลที่ 4/น้องยาเธอในหลวงรัชกาลที่ 5) เคยเรียนบาลีตั้งแต่เป็นเด็กในวังและได้อุปสมบทเข้ามาเรียนบาลีเพิ่มเติมอีก จนเมื่อมีอายุพรรษามากขึ้น ได้รับบริหารงานคณะสงฆ์ พระองค์ได้เสด็จไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้พบเห็นพระภิกษุสามเณรเรียนบาลีตามวัดต่าง ๆ แล้ว ทรงเห็นปัญหาการเรียนบาลีในสมัยนั้นที่ยากลำบาก

(ตำรามีน้อย ครูสอนน้อย สื่อ อุปกรณ์จดบันทึกมีน้อย วิธีการเรียนรู้ยุ่งยาก เริ่มต้นก็เรียนไวยากรณ์แบบบาลีเป็นบาลีเลย ไม่มีการจัดระบบห้องเรียน และเรียนกันแบบตามมีตามเกิด ตามความสะดวกและความพอใจของอาจารย์สอน การปิดการปิดไม่แน่นอน)

สำนักเรียนหนึ่ง ๆ ถ้ามีผู้เรียน 100 คน จะมีผู้เรียนจบแค่ 1-2 คน หรือไม่มีคนเรียนจบหลักสูตรเลยก็ได้ในรุ่นนั้น ต้องใช้เวลาเรียนนานมาก เสียเวลามาก และเพี้ยนไปก็มาก คือเรียนบาลีเพื่อความขลังหรือเรียนไวยากรณ์บาลีกัจจายนะเพื่อไปเน้นทำเครื่องรางของขลังก็มาก พระองค์จึงได้ปรับปรุงการเรียนบาลีขึ้นใหม่ ให้มีระบบการจัดชั้นเรียน (มีห้องเรียน มีการวัดผลที่เป็นระบบ เปลี่ยนระบบการสอบแบบปากเปล่าเป็นเขียนคำตอบเพื่อจะได้มีความชำนาญในภาษาไทยด้วย ฯลฯ)

พระองค์ได้ทรงเรียบเรียงตำราเรียนบาลีไวยากรณ์แบบย่อ ๆ เพื่อปูพื้นฐานในระดับเบื้องต้นโดยมีพระประสงค์จะให้ผู้เรียน สามารถเรียนรู้ภาษาบาลีได้แบบรวดเร็ว แปลบาลีได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้มีกำลังใจการศึกษาเรียนรู้คัมภีร์บาลีอื่น ๆ ต่อไป ตำราเรียนบาลีที่ทรงนิพนธ์ขึ้นนี้เรียกว่า “แบบเรียนบาลีไวยากรณ์ 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส" เป็นตำราไวยากรณ์บาลีแบบไม่มีสูตร เน้นเขียนอธิบายหลักการทางภาษาไปเลย ต่อมาคณะสงฆ์ได้ใช้แบบเรียนนี้เป็นหนังสือหลักในการสอบบาลีสนามหลวงในระดับชั้นต้น (ประโยค 1-2 และประโยค 3)

จึงเรียกแบบเรียนบาลีนี้ว่า "หนังสือเรียนบาลีสนามหลวง" ซึ่งพระภิกษุสามเณรในประเทศไทยใช้เรียนตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2454 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้

 

ความเห็นส่วนตัว-ธฤญเดชา ลิภา

“แท้จริง ไวยากรณ์บาลีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงนิพนธ์ขึ้นนั้น พระองค์มีพระประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นฐานในระดับเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อเรียนจบบาลีพื้นฐานนี้แล้ว ต้องมีการต่อยอดไปเรียนไวยากรณ์บาลีที่มีเนื้อหากว้างขวางและละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น กล่าวคือ ต้องไปเรียนไวยากรณ์บาลีกัจจายนะ โมคคัลลานะ และ สัททนีติ ต่อไปนั่นเอง ไม่ใช่เรียนหนังสือเรียนบาลีชั้นต้นของพระองค์จบแล้วก็พากันหยุดอยู่เพียงแค่นั้น

เรื่องนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ด้วยหาคนที่เข้าใจพระดำริและพระประสงค์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ยากมาก ดังนั้น  หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2464 ผู้ที่รับช่วงงานการศึกษาบาลีต่อจากพระองค์ จึงไม่ได้พัฒนาการศึกษาบาลีให้มีความก้าวหน้าทันสมัยให้มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้นได้

 ผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งจากการมีตำราเรียนไวยากรณ์บาลีฉบับย่อของบาลีสนามหลวงนี้ คือ ทำให้พระภิกษุสามเณรทั้งประเทศค่อย ๆ เลิกเรียนมูลกัจจายน์ที่เคยเรียนกันมาแต่เดิมตั้งแต่สมัยยังไม่มีอาณาจักรสุโขทัย       และหลังจากนั้นก็แทบไม่มีคนเรียนบาลีมูลกัจจายน์สืบต่อมาอีกเลย

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2499 เริ่มมีผู้รื้อฟื้นการเรียนมูลกัจจายน์ขึ้นมา โดยนำเข้าครูผู้สอนจากต่างประเทศ และมีผู้สนใจเรียนพอควร เช่น ที่วัดท่ามะโอ ลำปาง ในช่วงปี พ.ศ. 2510-2535 จะเฟื่องฟูที่สุด (ปัจจุบันการเรียนการสอนซบเซาแล้ว) และในปัจจุบันมีสอนบาลีแบบดั้งเดิมที่วัดวิหารธรรม อุดรธานี, วัดหาดใหญ่สิตาราม สงขลา, วัดจากแดง สมุทรปราการ,  วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ(4วัดนี้ มีการเรียนการสอนอยู่

แต่ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน)เพราะการเรียนแบบนี้ เป็นการเรียนการสอนแบบทำกันเอง ไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนรับรองจากองค์กรปกครองระดับสูงของคณะสงฆ์ จึงมีการเปิด ๆ ปิด ๆ ไปตามอาจารย์ผู้สอน ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนบาลีหลายหลักสูตรในขณะเดียวกัน กล่าวคือต้องเรียนบาลีสนามหลวงเพื่อสอบให้ได้วุฒิการศึกษาที่เป็นทางการ และต้องเรียนบาลีดั้งเดิมเพื่อสืบทอดประเพณีและฝึกความเชี่ยวชาญสำหรับศึกษาพระไตรปิฎก (ที่ไม่มีวุฒิรับรองตามกฎหมาย)ไปด้วย

ผู้รับผิดชอบงานการศึกษาบาลีของไทยที่รับหน้าที่ต่อ ๆ กันมา จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ  เมื่อไม่เข้าใจพระดำริและพระประสงค์ของพระองค์ อีกทั้งยังมีความเกรงใจในหมู่พระสงฆ์ด้วยกันเองด้วย จึงไม่มีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการเรียนบาลีให้มีความทันสมัยก้าวหน้ายิ่งขึ้น จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

จึงทำกันได้เพียงรักษาระบบและรูปแบบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงวางฐานไว้เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วเท่านั้น ไม่มีการทบทวนผลดีผลเสียของการศึกษาบาลีที่เป็นอยู่  ไม่มีการพัฒนาการศึกษาบาลีให้ดียิ่งขึ้นกว่า 100 ปีที่แล้วเลย ถ้าจะกล่าวว่า นี่คือการแช่แข็งการศึกษาบาลีก็คงไม่ผิดประการใด”

เริ่มใช้คำ “ภาษาบาลี”  ในความหมายว่าเป็น “ภาษา ๆ หนึ่ง" กันเมื่อใด

จากที่กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่า เราเรียกภาษาที่จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า "ภาษาบาลี" นี้ นับแต่เริ่มมีไวยากรณ์บาลีขึ้นมาเล่มแรก ๆ นั่นเอง และในสมัยแรก ๆ ท่านคงจะให้ความหมายตำราของท่านว่า  "ไวยากรณ์/ระเบียบกฎเกณฑ์ทางภาษาเพื่อความเข้าใจพระบาลี”

(“พระบาลี” ในที่นี้ ในสมัยแรก ๆ หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เมื่อมีการอ้างอิงการอธิบายข้อความในพระไตรปิฎกของพระอรรถกถาจารย์) 

ต่อมาจึงมีการอธิบายความหมายใหม่เพิ่มเข้ามาว่า บาลี เป็นภาษาที่รักษาคำสอนพระพุทธเจ้า (พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลิ)

สรุปว่า คำว่า “บาลี/ปาลิ/ปาฬิ” มี 2 ความหมาย คือ พระบาลี หมายถึงคำสอน/พระดำรัสของพระพุทธเจ้า และ ภาษาบาลี ภาษาที่รักษาคำสอนพระพุทธเจ้า  และคำว่า “ไวยากรณ์บาลี” ก็มี 2 ความหมายเช่นกัน คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ทางภาษาเพื่อความเข้าใจพระบาลีคือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า และ ระเบียบกฎเกณฑ์ทางภาษาบาลี

ไม่มีภาษาที่มีชื่อเรียกว่า "ภาษาบาลี" ในอินเดียสมัยพุทธกาล

ถ้าใครจะบอกว่า ไม่มีภาษาที่มีชื่อเรียกว่า "ภาษาบาลี" ในอินเดียสมัยพุทธกาลก็คงพูดได้ ไม่แปลกอะไร เพราะเขาไม่ได้เรียกว่า ภาษาบาลีมาแต่ต้น เขาจะเรียกเป็นภาษาอะไรไม่ทราบแน่ชัด แต่คนยุคหลังได้เรียกแบบรวม ๆ ว่า ภาษามาคธี = ภาษาชาวมคธ (ภาษาที่มีการพูดกันในรัฐมคธและรัฐใกล้เคียง) ของคนยุคโน้น

บาลี เป็นภาษาประดิษฐ์

ถ้าใครจะบอกว่า “ในอินเดียสมัยพุทธกาล ไม่มีคำและภาษาพูดตามรูปแบบที่ปรากฎในพระไตรปิฎกบาลี” อันนี้ ย่อมไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนเพราะถ้าไม่มีภาษาพูดแบบนี้กันแล้ว เขาจะจำและเขียนสืบต่อกันมาได้อย่างไร คนที่จำและเขียนบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้นี้ ไปเอาภาษานี้มาจากไหน

ถ้าคิดว่า ภาษานี้ไม่มีคนใช้สื่อสารกันจริงในยุคนั้น แต่เป็นภาษาที่ประดิษฐ์แต่งกันขึ้นใหม่ เราต้องไม่ลืมว่า คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีมากกว่า 1,000 คัมภีร์ ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์เหล่านี้คน ๆ เดียวคงไม่สามารถประดิษฐ์และแต่งได้มากขนาดนั้น  ต้องมีหลายคนช่วยกันประดิษฐ์  และเนื้อหาและถ้อยคำก็คงจะไม่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับที่ปรากฏมีอยู่ในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฏีกา สัททาวิเสสต่าง ๆ อย่างแน่นอน 

เมื่อมีคนประดิษฐ์หลายคนเนื้อหาและถ้อยคำจะต้องแตกต่างกันไปอย่างมากมาย แต่นี่ตรงกันข้าม เนื้อหาถ้อยคำต่าง ๆ ในคัมภีร์เหล่านี้ล้วนสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด มีแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการเขียนคัดลอกสืบต่อกันมาในระยะหลังมากกว่า) ดังนั้นประเด็นที่ว่า บาลีเป็นภาษาประดิษฐ์นี้ จึงตกไป



บาลี เป็นมรดกทางปัญญาของมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด

ไม่ว่าจะเรียกหรือไม่เรียกภาษานี้ว่าอย่างไรก็ตาม  ภาษาอันเก่าแก่ที่บันทึกรักษาพระพุทธดำรัสคือพระไตรปิฎกที่ชาวพุทธแต่ละยุคในแต่ละประเทศช่วยกันรักษา ถ่ายทอดสืบต่อ ๆ กันมานี้นั้น มีคุณค่าและประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดต่อมวลมนุษย์ นับเป็นมรดกทางปัญญาของมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่ามรดกใด ๆ ทั้งสิ้นในโลกนี้  จึงควรที่มนุษย์ผู้มีศรัทธาและปัญญาจะต้องช่วยกันรักษา เรียนรู้ และส่งต่อให้อนุชนภายหน้าให้ช่วยกันสืบต่อไปให้ยาวนานที่สุด เพื่อประโยชน์และความสุขของมนุษย์ทั้งมวลนั่นเอง

ทำไม จึงไม่พบคนที่พูดภาษาบาลีแบบพระไตรปิฎกในอินเดียทุกวันนี้

ภาษาแต่ละภาษาไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งคำศัพท์ รูปแบบการเขียน ตัวอักษร การออกเสียง การพูด หรือแม้กระทั่งความหมายก็ปรับเปลี่ยนไปตามสมัยนิยมได้ ภาษาบาลีหรือภาษามคธที่ใช้สื่อสารพูดคุยในแผ่นดินอินเดียนี้ก็เช่นเดียวกัน ในระยะเวลาต่อ ๆ มา มีการผสมผสานปะปนกับภาษาอื่น ๆ ด้วย จะให้คงเดิมเป็นภาษาเดียวแบบหมดจดตลอดไป ย่อมเป็นไปไม่ได้และอาจด้วยเหตุผลอื่น ๆ ทางสังคมด้วย

เช่น การเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง การเปลี่ยนแปลงศาสนาของคนในอินเดีย สงคราม โรคร้ายแรงระบาด ภัยพิบัติ การอพยพของผู้คน ฯลฯ ดังนั้น เราจึงไม่พบกลุ่มชนที่พูดภาษาแบบที่ปรากฎในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศอินเดียทุกวันนี้

หมายเหตุ

1. เอกสารนี้ อธิบายด้วยภาษาพูดแบบง่าย ๆ  ไม่ทางการนัก เล่าจากความจำเป็นหลัก อาจมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง ดังนั้น หากจะนำไปอ้างอิง โปรดตรวจสอบให้แน่นอนก่อน
2. การเรียนภาษาบาลี โดยเพิ่มความสนใจในเรื่อง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประเพณี ชาติพันธุ์เผ่าชน พัฒนาการทางสังคม ฯลฯ ด้วย จะทำให้เรียนบาลีสนุกและท้าทายยิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : Download (582.61 kb)





Thank to : https://www.mahapali.com/main.php?url=news_view&id=177&cat=B
เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561 | เขียนโดย นายธฤญเดชา ลิภา
photo : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 08, 2022, 06:49:55 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ