ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ใครคือ ‘พระกาฬ’ ที่ศาลพระกาฬ ลพบุรี.?  (อ่าน 229 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ใครคือ ‘พระกาฬ’ ที่ศาลพระกาฬ ลพบุรี.?
« เมื่อ: ธันวาคม 10, 2022, 06:55:31 am »
0



ใครคือ ‘พระกาฬ’ ที่ศาลพระกาฬ ลพบุรี.? | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ


ศาลพระกาฬ ที่ตั้งอยู่ตรงกลางวงเวียนศรีสุนทร ถ.นารายณ์มหาราช ต.ทะเลชุบศร อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี นั้น แต่เดิมเป็นปราสาทขอม เมื่อกำหนดอายุจากทั้งโบราณวัตถุสถาน และศิลาจารึกที่พบอยู่ในบริเวณโบราณสถานแห่งนี้แล้ว คาดว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ.1500

ชาวบ้านในเขตพื้นที่ดังกล่าวมีชื่อเรียกปราสาทขอมโบราณแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลสูง” ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะตัวปราสาทที่ปรักหักพังไปมากแล้วนั้น สร้างอยู่เป็นฐานศิลาแลงที่สูงกว่าปราสาทขอมที่พบโดยทั่วไป

ส่วนที่เรียกว่า “ศาลพระกาฬ” ว่ากันว่า เรียกตามชื่อของ รูปเคารพประธาน ที่ประดิษฐานอยู่ในตัวอาคารนั้น สร้างขึ้นจากศิลา และมี “สีดำ” จึงเรียกว่า “พระกาฬ” (กาฬ แปลว่า สีดำ หรือความตาย ก็ได้) และจึงทำให้เรียกปราสาทแห่งนี้ว่า “ศาลพระกาฬ” ไปด้วย

ในบรรดาข้อมูลโดยทั่วไปเกี่ยวกับประวัติของศาลพระกาฬ มีอยู่หลายแห่งเลยทีเดียวที่อ้างว่า ศาลสูง เป็นชื่อเรียกเก่าแก่ที่มีมาแต่เดิม ส่วนชื่อพระกาฬเป็นชื่อใหม่

แต่มันจะเป็นไปได้หรือครับ ในเมื่อคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนลพบุรีเมื่อเรือน พ.ศ.2421 นั้น ทรงเรียกอาคารหลังนี้ว่า “ศาลพระกาล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) ในขณะที่เท่าที่ผมสำรวจเอกสารอย่างกว้างๆ นั้น ยังไม่พบเอกสารเก่าแก่ชิ้นใดเรียกสถานที่นี้ว่า “ศาลสูง” เลย.?

@@@@@@@@

รัชกาลที่ 5 ได้ทรงกล่าวถึง “ศาลพระกาล” ซึ่งก็คือ “ศาลพระกาฬ” เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรเอาไว้ว่า

“…ออกจากพระปรางค์สามยอดเดินไปสักสองสามเส้น ถึงศาลพระกาล…ที่ศาลพระกาลนั้นเป็นเนินสูงขึ้นไปมาก มีบันไดหลายสิบขั้น ข้างบนเป็นศาลหรือจะว่าวิหารสามห้อง เห็นจะเป็นช่อฟ้า ใบระกา แต่บัดนี้เหลืออยู่เพียงแต่ผนัง ที่แท่นมีรูปพระนารายณ์สูงประมาณ 4 ซอก เป็นเทวรูปโบราณทำด้วยศิลา มีเทวรูปเล็กๆ เป็นพระอิศวรกับพระอุมาอีก 2 รูป ออกทางหลังศาลมีบันไดขึ้นไปบนเนินสูงอีกชั้นหนึ่ง มีหอเล็กอีกหอหนึ่ง มีแผ่นศิลาเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑแผ่นหนึ่ง มีรูปนารายณ์ประทมสินธุ์แผ่นหนึ่งวางเปะปะ ไม่ได้ตั้งเป็นที่…”

“ศาล” หรือ “วิหารสามห้อง” ที่รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวถึงนั้น ก็คืออาคารก่ออิฐถือปูน ทรงฝรั่งหรือเปอร์เซีย ผสมผสานกับลักษณะแบบไทยประเพณี ที่สมเด็จพระนารายณ์ โปรดให้สร้างขึ้นบนฐานศิลาแลงของปราสาทขอมเดิม เมื่อครั้งที่พระองค์แปรพระราชฐานจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่ที่เมืองลพบุรี

มีหลักฐานอ้างไว้ด้วยว่าภายในอาคารหลังนี้ สมเด็จพระนารายณ์ได้ประดิษฐาน เทวรูปสีดำองค์หนึ่งเอาไว้ ร่วมกับทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์นั้น ย่อมเป็นของดั้งเดิมเมื่อครั้งปราสาทขอม และก็คือสิ่งที่รัชกาลที่ 5 กล่าวถึงว่าเป็นแผ่นหินที่ “วางเปะปะ” อยู่ที่หอเล็กชั้นบน ส่วน “เทวรูปสีดำ” ที่สมเด็จพระนารายณ์ประดิษฐานไว้ภายในวิหาร หรือศาลนั้น ก็ย่อมต้องเป็น “เทวรูปพระนารายณ์” ในวิหารสามห้องที่รัชกาลที่ 5 เอ่ยถึงด้วยเช่นกัน


@@@@@@@@

ที่สำคัญก็คือ มีคำอ้างเล่าต่อกันมาว่า “ศาล” หรือ “วิหารสามห้อง” ที่สมเด็จพระนารายณ์สร้างนั้น ปลูกไว้เพื่อประดิษฐาน “เทพารักษ์” (แน่นอนว่าย่อมหมายถึง “เทวรูปสีดำ” ที่รัชกาลที่ 5 ระบุว่าเป็นรูป “พระนารายณ์”) ในทำนองว่าเป็น “ศาลประจำเมือง” ซึ่งก็น่าที่จะเป็นอย่างคำอ้างจริงนั่นแหละครับ

หลักฐานก็คือ เมื่อเรือน พ.ศ.2465 วิหารสามห้องที่สมเด็จพระนารายณ์สร้างนั้น ทรุดโทรมลงมาก จึงได้มีการปลูกเรือนไม้มุงสังกะสี ตรงบริเวณฐานพระปรางค์ชั้นล่าง โดยได้มีการอัญเชิญ “พระกาฬ” ผู้เป็นเทพารักษ์หลักเมือง ซึ่งก็คือ “เทวรูปสีดำ” หรือ “พระนารายณ์” ลงมาประดิษฐานให้ผู้คนสามารถกราบไหว้โดยสะดวกดาย

30 ปีต่อมา ตรงกับ พ.ศ.2495 เรือนไม้มุงสังกะสีนี้ก็ทรุดโทรมลงอีกเช่นเคย ดังนั้น จึงได้มีการสร้าง “ศาลพระกาฬ” หลังใหม่เป็นอาคารไทยทรงประยุกต์ ตามแบบของกรมศิลปากร (โดยมีการแก้แบบจากแบบมาตรฐานเล็กน้อย) พร้อมกับที่อัญเชิญ “พระกาฬ” เข้าไปประดิษฐานเป็นเทพารักษ์หลักเมืองเช่นเดิม ซึ่งก็คือศาลหลังปัจจุบันนี่เอง

ตามประวัติว่า เมื่อแรกที่อัญเชิญพระกาฬเข้าไปประดิษฐานนั้น ทั้งเศียรและพระกรทั้ง 4 ข้างของเทวรูปพระนารายณ์องค์นี้ได้หักหายไปเสียแล้ว จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระเศียรขึ้นใหม่ โดยได้นำเศียรของงานประติมากรรมหินทราย แบบอยุธยา มาต่อแทน พร้อมกับต่อเติมพระกรเข้าไป 2 ข้าง

(มีตำนานเล่าว่า พระกาฬได้ไปเข้าฝันให้ผู้มีจิตศรัทธาท่านหนึ่ง ให้มาบูรณะให้เท่าที่จะกระทำได้ ดังนั้น เทวรูปพระนารายณ์ ที่ถูกนับถือว่าเป็นเทพารักษ์หลักเมืองลพบุรี โดยมีชื่อว่าพระกาฬ องค์นี้จึงเหลือเพียง 2 แขน)




จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และข้อมูลเชิงมุขปาฐะต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็แสดงให้เห็นว่า “เทวรูปพระนารายณ์สีดำ” องค์นี้ ถูกเคารพบูชาในฐานะของ “พระกาฬ” ผู้เป็น “เทพารักษ์หลักเมือง” ของลพบุรีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว อย่างไรก็ตาม ประวัติการนับพระนารายณ์องค์นี้ในฐานะทำนองนี้ อาจจะสืบย้อนไปได้เก่ากว่านี้อีกมากเลยทีเดียว

ในจารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี ซึ่งกำหนดอายุจากรูปแบบตัวอักษรได้อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1400-1500 มีข้อความกล่าวถึง การปรนนิบัติพัดวีเทวรูปที่มีชื่อเรียกในจารึกว่า “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” โดยคำว่า “วาสุเทพ” นั้น โดยทั่วไปมักจะแปลความกันว่าหมายถึง “พระนารายณ์” ซึ่งก็ชวนให้นึกถึง “พระกาฬ” ผู้เป็นเทพารักษ์หลักเมืองของลพบุรีอย่างจับจิต

นายพันตรี เอเตียง อายโมนิเยร์ (?tienne Aymonier, พ.ศ.2387-2472) ผู้สำเร็จราชการกรุงกัมพูชา ชาวฝรั่งเศส ควบตำแหน่งนักสำรวจ และนักภาษาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้สำรวจพบจารึกหลักนี้ได้อธิบายเอาไว้ว่า ข้อความในจารึกกล่าว หน้าที่ปรนนิบัติพระวาสุเทพนั้น เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ในจารึกเรียกว่า “ธรรมะ” ของเจ้าผู้ปกครองเมืองละโว้

แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตามปรัมปราคติของพราหมณ์ในชมพูทวีป ชื่อ “วาสุเทพ” นั้น เป็นชื่อบิดาของอวตารปางสำคัญของพระนารายณ์คือ “พระกฤษณะ” ผู้เป็นกษัตริย์ครองเมืองทวารวดี (หรือ ทวารกา) แต่หลายครั้งก็หมายถึงตัวพระกฤษณะเอง โดยมักปรากฏใช้เรียกควบคู่กันว่า “วสุเทวะกฤษณะ” อยู่บ่อยครั้ง


@@@@@@@@

ดังนั้น ชื่อ “กัมรเตงอัญศรีบรมวาสุเทพ” แห่ง “เมืองละโว้” ในจารึกศาลเจ้าลพบุรีนี้ จึงมีความเกี่ยวข้องกับ “พระกฤษณะ” ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเมืองลพบุรีนั้น เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายวัฒนธรรม “ทวารวดี” คือเมืองของพระกฤษณะอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ ในเทพปกรณ์พราหมณ์นั้น พระกฤษณะมีผิวกาย “สีดำ” นะครับ แถมยังดำเสียจนได้ชื่อว่า “กฤษณะ” ซึ่งแปลว่า สีดำ เช่นเดียวกับคำว่า “กาฬ” ของ “พระกาฬ” เทพารักษ์หลักเมืองของลพบุรี ที่เป็น “เทวรูปสีดำ” เลยทีเดียว

แน่นอนด้วยว่า โดยปกติแล้ว “พระกาฬ” ในปรัมปราคติของพ่อพราหมณ์เขามักจะหมายถึง ชื่อหนึ่งของ “พระยม” ผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย แต่พระกาฬในอินเดียนั้นก็ไม่เคยเป็นอวตารของพระนารายณ์เลยสักที

ชื่อ “ศาลพระกาฬ” ยังปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ที่ชื่อว่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) ที่ว่ากันว่าเขียนขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยข้อความในเอกสารชิ้นนี้กล่าวถึงศาลพระกาฬของกรุงศรีอยุธยาว่า ตั้งอยู่ใกล้หอกลอง ละแวกตะแลงแกง (แปลตรงตัวว่า สี่แยก)

เรือน พ.ศ.2512-2513 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยไปทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่ศาลพระกาฬ ของอยุธยา ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในเอกสาร แล้วพบซากเทวสถาน และส่วนพระกรของเทวรูปพระนารายณ์ (รายละเอียดการขุดค้นมีในวารสารโบราณคดี ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2512)

“พระกาฬ” ผู้เป็นเทพรักษ์หลักเมืองของลพบุรี จึงควรที่จะเป็น “พระนารายณ์” โดยเกี่ยวพันลึกซึ้งกับปางที่อวตารเป็น “พระกฤษณะ” กษัตริย์ผู้ครองเมืองทวารวดี มากกว่าใครอื่นนั่นเอง •





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2565
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน   : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2565
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_608954
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 10, 2022, 06:57:41 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ