ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การพัฒนาสถาบันครอบครัว ตามทัศนะของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  (อ่าน 770 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


การพัฒนาสถาบันครอบครัว ตามทัศนะของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
The Development of Family Institution Somdet Phra Buddhakosajarn (P. A. Payutto)

กาญจนา ต้นโพธิ์ (1)
Kanchana Tonpo (1)

__________________________________________________________________
Received : 18 February 2019 | Revised : 12 April 2019 | Accepted : 10 May 2019

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาสถาบันครอบครัวตามทัศนะของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) โดยศึกษาจากธรรมนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) จนวำน 7 เรื่อง ผลการศึกษาพบว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แสดงทัศนะไว้ 3 ประเด็น คือ

    1) การพัฒนาบทบาทสามีภรรยา ได้แก่ การแสดงความเข้าใจเรื่องความรักแท้ และการนำเสนอหลักพุทธธรรมสำหรับชีวิตคู่มาประยุกต์ใช้ รวมถึงคุณลักษณะของสามีภรรยา
    2) การพัฒนาบทบาทพ่อแม่ ได้แก่ คุณลักษณะของพ่อแม่และการประยุกต์หลักพุทธธรรมที่พ่อแม่ควรนำไปใช้ในครอบครัว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบทบาทพ่อแม่เป็นสำคัญ เพราะครอบครัวจะเจริญพัฒนาได้นั้น ต้องพัฒนาพ่อแม่ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเสียก่อน
    3) การพัฒนาบทบาทของลูก ได้แก่ การตอบแทนพระคุณพ่อแม่ขั้นพื้นฐาน และการตอบแทนขั้นสูงสุด ได้แก่ การนำพาพ่อแม่ให้เจริญในทางธรรม มุ่งสู่หนทางแห่งพระนิพพาน

คำสำคัญ : การพัฒนา, สถาบันครอบครัว, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

Abstract

“The Development of a Family Institution” presents the works of Somdet Phra Buddhakosajarn (P. A. Payutto). Three elements in his 7 works reflect his vision of family harmony :-

    - development of the roles of the husband and wife with an understanding of true love and practice of Dhamma principles by spouses
    - development of the roles of the father and mother which include the characteristics of the father and mother and practical application of Dhamma principles throughout the family
    - development of the roles of the children which involves lessons in repayment to the father and mother for their kindness. Optimal requiting guides the father and mother towards Dhamma nirvana or salvation.

Keywords : Development, family institution, Somdet Phra Buddhakosajarn (P. A. Payutto)


___________________________________________________________________________
(1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาศิลปวิทยาศาสตร์ สำนักนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
(1) Assistant Professor, Liberal Arts, Innovative Learning Center, Srinakharinwirot University

บทนำ

ครอบครัวเป็นสถาบันสังคมที่สำคัญที่สุด เป็นสถาบันแห่งแรกที่ให้การอบรมด้านจิตใจและพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัวอันจะก่อเกิดเป็นสมาชิกของสังคมต่อมา คนจะมีอุปนิสัยใจคอ ความคิด ความรู้สึก หรือการวางตัวในสังคมอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับครอบครัวเป็นสำคัญ (สุพัตรา สุภาพ. 2549: 21)

การพัฒนาสถาบันครอบครัวนั้นมีผู้รู้หลายท่านได้กล่าวไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ซึ่งเป็นพระภิกษุแห่งคณะสงฆ์ไทยที่ถือได้ว่าเป็นยอดนักปราชญ์ของโลก ผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการแขนงต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพประจำปี พ.ศ.2537 จากองค์การยูเนสโกอีกด้วย(ธรรมสภา. 2545: 3)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะท่านกล่าวว่าครอบครัวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกำหนดให้สังคมดำเนินไปในทิศทางต่างๆ สังคมจะเจริญพัฒนาได้นั้นย่อมขึ้นอยู่กับครอบครัวเป็นสำคัญ

ผู้เขียนบทความจึงสนใจที่จะศึกษาว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มุ่งนำเสนอทัศนะสำคัญในเรื่องการพัฒนาสถาบันครอบครัวอย่างไรบ้าง และผู้เขียนบทความคิดว่าทัศนะดังกล่าวนั้นหากคนไทยนำมาประยุกต์ใช้ เชื่อได้ว่า จะสามารถพัฒนาครอบครัวไทยและสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาการพัฒนาสถาบันครอบครัว ตามทัศนะของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

วิธีดำเนินการศึกษา

การศึกษานี้เป็นเชิงคุณภาพ ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารวิชาการต่างๆ และประมวลเป็นกรอบแนวคิดและทฤษฎีความรู้ โดยข้อมูลที่ศึกษาเป็นข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ ผลงานการประพันธ์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่เลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 7 เรื่อง คือ

    1. การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น
    2. ธรรมกับไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน
    3. จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย
    4. คุณบิดามารดาสุดพรรณนามหาศาล
    5. คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ
    6. ครองเรือน-ครองรัก จักเลิศแท้ด้วยครองธรรม
    7. ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า

จากนั้นวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา แล้วนำเสนอผลในลักษณะการพรรณนาวิเคราะห์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 15, 2023, 07:35:36 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ผลการศึกษา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงสถาบันครอบครัวว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบหลักๆ คือ การตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่ของชายหญิงทำให้เกิดบทบาทสามีภรรยา จากนั้นพัฒนาเป็นบทบาทพ่อแม่ และสุดท้ายก็คือบทบาทลูกที่สืบสายโลหิต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความสำคัญกับครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหรือรากฐานของสังคม เพราะหากจะพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนได้จะต้องพัฒนาจากรากฐานให้มั่นคงก่อน ซึ่งก็คือการพัฒนาสถาบันครอบครัวนั่นเอง โดยท่านได้กล่าวถึงการพัฒนาสถาบันครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจดังจะแสดงรายละเอียดต่อไปนี้

1. การพัฒนาบทบาทสามีภรรยา

ชีวิตครอบครัวเป็นการเริ่มต้นของคน 2 คน คือ ชายหญิงที่มีความรักต่อกันและอยู่ร่วมกันเป็นสมาชิกในครอบครัว มีการปรับทุกข์สุขร่วมกัน จึงกล่าวได้ว่า เมื่อชายหญิงตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่และมีความสัมพันธ์กันแล้ว สถาบันครอบครัวจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น และเกิดบทบาททางครอบครัวที่เรียกว่า “สามี ภรรยา” (สุพัตรา สุภาพ. 2549 : 46)

ในเรื่องของการใช้ชีวิตคู่ของสามีภรรยานั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงทัศนะและ
นำเสนอแนวทางการพัฒนาที่จะทำให้ชีวิตคู่ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันครอบครัวสงบสุขและยั่งยืนไว้ แยกหัวข้อได้ดังนี้

@@@@@@@

1.1 การเริ่มต้นชีวิตคู่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่าในการเริ่มต้นชีวิตคู่ควรมีหลักธรรมหรือแนวปฏิบัติที่ดีในการยึดเหนี่ยวจิตใจ และเพื่อเป็นเครื่องผูกโยงชีวิตคู่ให้อยู่รอดและเป็นสุข ดังต่อไปนี้

1.1.1 การเข้าใจความหมายของรัก

ความรักตามความเข้าใจของคนทั่วไป อาจหมายถึง ความมีใจผูกพันด้วยความเสน่หา มีใจผูกพันฉันชู้สาว แต่ความรักตามทัศนะของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

ความรักมี 2 ประเภท ทุกคนต้องจำไว้ให้แม่น คือ

    1. ความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเราเป็นสุข ความรักแบบนี้ต้องได้ต้องเอา ซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ หรือต้อง มีการแย่งชิงกัน คนทั่วไปที่มีชีวิตกับความชอบใจไม่ชอบใจ ยังไม่ได้ขัดเกลาจิตใจ จะมีความรักประเภทนี้ก่อน...
    2. ความรักที่อยากเห็นเขามีความสุข พออยากเห็นเขาเป็นสุขก็อยากทำให้เขาเป็นสุข พอทำให้เขาเป็นสุขได้ ฉันก็เป็นสุขด้วย เหมือนพ่อแม่อยากเห็นลูกมีความสุข พอทำให้ลูกเป็นสุขได้ ตัวเองก็เป็นสุขด้วย...

ความรักที่พึงประสงค์ คือ ความรักประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นความรักแท้ ได้แก่ ความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข..(จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย. 2545 : 96)

จะเห็นได้ว่า “ความรัก” ตามทัศนะของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มี 2 ประเภท และท่านมุ่งเน้นให้คู่สามีภรรยาพัฒนาให้เกิดความรักรูปแบบที่ 2 ซึ่งท่านเรียกว่า “รักแท้” สามีภรรยาควรมีความรักแบบที่อยากให้เขาเป็นสุข มีความปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข สอดคล้องกับตัวอย่างต่อไปนี้

ในกรณีของสามีภรรยา ถ้ามีความรักแบบแรกที่จะเอาแต่ใจฝ่ายตัวเอง ก็คือ ตัวเองต้องการเขามาเพื่อบำเรอความสุขของตน ถ้าอย่างนี้ก็ต้องตามใจตัว ไม่ช้าก็จะต้องเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือเบื่อหน่าย แล้วก็อยู่กันไม่ได้ ไม่ยั่งยืน แต่ถ้ามีความรักแบบที่สอง คือ อยากให้เขาเป็นสุข เราก็จะมีน้ำใจ พยายามทำให้เขาเป็นสุข ถ้ามีความรักแบบที่สองอยู่ ความรักก็จะยั่งยืนแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างก็คิดว่า ทำอย่างไรจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข มีน้ำใจและมีแต่เกื้อกูลกัน ทำให้ครอบครัวอยู่ยั่งยืนชีวิตก็มีความสุขได้ (ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า. 2553 : 10)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มุ่งเน้นให้คู่ชีวิตเข้าใจความหมายของความรักและพัฒนาความรักให้สูงขึ้น แม้ความรักของชายหญิงนั้นจะมีจุดเริ่มต้นจากความรักแบบที่ 1 คือ อยากได้เขามา เพื่อให้เราเป็นสุข แต่ต้องพัฒนาให้ไปสู่แบบที่ 2 ให้ได้นั่นคือ พัฒนาไปเป็นความรักแบบที่อยากให้เขาเป็นสุขขึ้นมาในใจด้วย เพราะความรักขั้นนี้เป็นรักแท้ที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว และความรักแบบนี้ไม่ก่อปัญหา นำพาความสงบสุขและความร่มเย็นสู่ครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

1.1.2 หลักพุทธธรรมสำหรับชีวิตคู่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า ชีวิตคู่ครองจะเจริญมั่นคงเมื่อมีคุณธรรมรองรับเป็นฐาน ชีวิตคู่จึงเป็นชีวิตที่ต้องก้าวไปในธรรม คือ จะต้องก้าวไปสู่การพัฒนาชีวิตจิตใจ ซึ่งหลักการพัฒนาจิตใจนั้น ได้แก่ การนำหลักธรรมมาใช้นั่นเอง ซึ่งหลักธรรมที่สำคัญมีหลายประการแต่ที่ควรยึดเป็นหลักมีดังต่อไปนี้

   1.1.2.1 ฆราวาสธรรม 4

   ฆราวาสธรรม 4 คือ ธรรมสำหรับชีวิตครองเรือน ประกอบด้วย สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ โดยสัจจะ คือ ซื่อสัตย์, ทมะ คือ การข่มใจ, ขันติ คือ ความอดทน, จาคะ คือ เสียสละ (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 2548 : 113)

โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวถึงความสำคัญของฆราวาสธรรม 4 ไว้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ฆราวาสธรรม แปลว่า หลักธรรมสำหรับการครองเรือน หรือหลักธรรมสำหรับฆราวาสนั่นเอง ตรงไปตรงมา ฆราวาสธรรม ก็คือ ธรรมสำหรับฆราวาส ที่จริงฆราวาสในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบุคคลแต่แปลว่าการครองเรือน ธรรมะสำหรับการครองเรือน...ธรรม 4 ข้อนี้นี่แหละเป็นหลักสำคัญ แม้แต่ยังไม่มีธรรมข้ออื่นเลย มีเพียง 4 ข้อนี้ ก็พอที่จะทำให้ชีวิตคู่ครองดำรงอยู่ได้ด้วยดี (ครองเรือน-ครองรัก จักเลิศแท้ ด้วยครองธรรม. 2549 : 14-16)

จะเห็นได้ว่าฆราวาสธรรมถือเป็นธรรมะสำหรับการครองเรือนที่สำคัญ เพราะเป็นหลักธรรมที่ทำให้ชีวิตการครองเรือนเจริญมั่นคงและมีความสุข และนอกจากมีความสุขในครอบครัวแล้ว ก็จะแผ่ความสุขไปให้แก่สังคม เพราะครอบครัวนี้ไม่ใช่แค่ชีวิตของคนภายในเริ่มแต่สามีภรรยาเท่านั้นแล้วก็ไม่ใช่รวมทั้งลูกเท่านั้น แต่ครอบครัวนี้เป็นสังคมย่อย หรือเป็นฐานของสังคม

    1.1.2.2 สมชีวิธรรม 4

    หลักธรรมที่สำคัญ สำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่หรือชีวิตครอบครัวที่สำคัญและ ในทางพระพุทธศาสนามุ่งเน้นก็คือ สมชีวิธรรม 4 ที่หมายถึงหลักธรรมของคู่ชีวิต ธรรมที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสมหรือสม่ำเสมอกลมกลืนกันอยู่ครองกันยืดยาว ประกอบด้วย สมสัทธา คือ มีศรัทธาสมกัน สมสีลา คือ มีศีลสมกัน สมจาคา คือ มีจาคะสมกัน สมปัญญา คือ มีปัญญาสมกัน (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 2548 : 141)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แสดงทัศนะในเรื่องคู่ครองโดยอ้างอิงหลักสมชีวิธรรม 4 ประการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ชีวิตคู่ครองนี้ มีคำเรียกตามนิยม ว่าชีวิตสมรสในทางพระพุทธศาสนา มีคำสอนว่า ชีวิตสมรสที่จะมีความสุข ราบรื่น มั่นคงยืนยาวได้นั้น คู่สมรสควรมีคู่ธรรมที่สมหรือสม่ำเสมอกัน อันจะพึงเรียกได้ว่า สมธรรม 4 ประการ คือ สมศรัทธา สมศีลา สมจาคา และสมปัญญา สมธรรม 4 ประการนี้เป็นฐานรองรับ...(คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ. 2548 : 15-16)

จะเห็นได้ว่าหลักสมชีวิธรรม 4 เป็นหลักธรรมที่สำคัญยิ่ง หากชายหญิงพึงระลึกและนำหลักธรรมนี้ไปใช้พิจารณาคนที่จะมาเป็นคู่ครอง ย่อมเป็นตัวช่วยให้การเริ่มต้นชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัวมั่นคง และอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

@@@@@@@

1.2 คุณลักษณะของสามี

สามีถือเป็นบทบาทสำคัญของครอบครัว เปรียบเป็นช้างเท้าหน้าที่จะนำภรรยาและครอบครัวให้ดำเนินทิศทางในชีวิตที่ถูกต้อง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงบทบาทของสามี โดยยกพุทธโอวาทที่สามีพึงทำนุบำรุงภรรยาของตนไว้ 5 ประการขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงข้อปฏิบัติ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ประการที่ 1 ให้ความนับถือ ยอมรับฐานะแห่งภรรยาและคู่ครอง
ประการที่ 2 ยกย่องให้เกียรติ ไม่แสดงอาการเหยียดหยามดูหมิ่น
ประการที่ 3 มีความซื่อสัตย์ ไม่นอกใจ
ประการที่ 4 มอบความเป็นใหญ่ แสดงความไว้วางใจในงานบ้าน
ประการที่ 5 หาเครื่องประดับเครื่องแต่งตัวมามอบให้เป็นของฝากของขวัญ แสดงน้ำใจรักไม่จืดจาง
(คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ. 2548 : 9)

จากพุทธโอวาทที่แสดงข้อปฏิบัติที่สามีพึงทำนุบำรุงภรรยา 5 ประการตามที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สามีนั้นควรให้ความนับถือ ยอมรับภรรยา ยกย่องให้เกียรติ มีความซื่อสัตย์ ไม่นอกใจ มอบความเป็นใหญ่ แสดงความไว้วางใจในงานบ้าน และแสดงน้ำใจรักต่อภรรยา หาเครื่องประดับเครื่องแต่งตัวมามอบให้เป็นของฝากของขวัญ หากสามีพึงปฏิบัติได้ ย่อมส่งผลให้ชีวิตคู่ครองสงบสุข เกิดความรักใคร่ปรองดองกัน

@@@@@@@

1.3 คุณลักษณะของภรรยา

ภรรยาถือเป็นบทบาทสำคัญของการใช้ชีวิตคู่ ภรรยาเป็นแม่แบบแม่แผนของครอบครัว และจะต้องรับบทบาทแม่ในกาลต่อมา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า ครอบครัวนั้น หากแม่บ้านดีจะผูกใจสามีได้และทำให้ทั้งบ้านร่มเย็น และท่านได้ยกพุทธโอวาทสำหรับภรรยาที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

     ข้อที่ 1. พึงเป็นผู้ตื่นก่อน นอนทีหลัง เอาใจใส่คอยฟังว่าจะมีอะไรให้ช่วยทำ ประพฤติแต่สิ่งที่ถูกใจ พูดคำไพเราะน่ารัก คือ รู้จักปรนนิบัติถนอมน้ำใจ
     ข้อที่ 2. คนเหล่าใดเป็นที่เคารพนับถือของสามี เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ ของสามี เป็นต้น ภรรยาก็แสดงความเคารพนับถือด้วย เอาใจใส่ปฏิสันถารเป็นอันดี
     ข้อที่ 3. เป็นผู้ขยัน เอาใจใส่ในงานบ้านทุกอย่าง เช่น งานเกี่ยวกับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เฉลียวฉลาด รู้จักคิดจัดทำงานเหล่านั้น ให้เรียบร้อยเหมาะสม
     ข้อที่ 4. เอาใจใส่สอดส่องดูแลคนในปกครองภายในบ้าน เช่น คนรับใช้ และคนงานต่างๆ รู้งานของเขาว่าได้ทำแล้วหรือไม่เพียงใด มีใครเจ็บป่วยไข้เป็นอย่างไร เอาใจใส่รักษาพยาบาล จัดแบ่งอาหารของบริโภคเผื่อแผ่ให้ตามสมควร
     ข้อที่ 5. รู้จักประหยัดเก็บรักษาทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้ ไม่เล่นการพนัน ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ทำลายผลาญทรัพย์สมบัติ (คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ. 2548 : 6-7)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงทัศนะว่า หากภรรยายึดถือตามพุทธโอวาทเกี่ยวกับหลักปฏิบัติสำหรับภรรยา 5 ข้อที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้นี้ ย่อมจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวค้ำจุนชีวิตครอบครัวไว้ให้มีความสุข ความราบรื่นมั่นคงด้วยดี และความประพฤติเช่นนี้จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียหายแก่ชีวิตครอบครัวแต่ประการใด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 15, 2023, 08:27:59 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


2. การพัฒนาบทบาทพ่อแม่

พ่อแม่ถือเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญซึ่งจะนำพาความสุขและความเจริญมาสู่สถาบันครอบครัว บทบาทของพ่อแม่ คือ การอบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดี และการจะอบรมลูกให้ดีได้นั้น พ่อแม่ก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีมีคุณธรรมในการดำเนินชีวิตด้วย แต่เราจะเห็นว่าในสังคมปัจจุบัน ปัญหาสังคมต่างๆโดยเฉพาะปัญหาจากสถาบันครอบครัวเกิดขึ้นอย่างมากมาย แสดงให้เห็นว่าสถาบันครอบครัวโดยเฉพาะ “พ่อแม่” ยังขาดการพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เห็นว่าการพัฒนาครอบครัวจะสัมฤทธิผลและยั่งยืนได้ย่อมต้องพัฒนาบทบาทของพ่อแม่ให้ดีเสียก่อน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

@@@@@@@

2.1 คุณลักษณะของพ่อแม่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ที่แสดงออกในสถานะ 3 อย่างโดยยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังความว่า

    1. เป็นพรหม คือ เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้สร้างชีวิตของลูกและเป็นผู้อภิบาลให้ลูกเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ และให้ลูกพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ คือ ทั้งมีความรักความอบอุ่นความอ่อนโยน...

    2. เป็นบูรพาจารย์ คือ เป็นครูอาจารย์คนแรกที่ฝึกสอนให้ลูกรู้จักวิธีดำเนินชีวิต ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน มีการกินอยู่หลับนอน เดิน พูด รู้จัก สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์...ช่วยให้ลูกพัฒนาทั้งทางพฤติกรรม ทางจิตใจ และทางปัญญา

    3. เป็นอาหุไนยบุคคล หรือที่คนไทยนิยมพูดว่า เป็นพระอรหันต์ของลูก คือ มีความจริงใจ สุจริตใจ บริสุทธิ์ใจต่อลูก รักลูกด้วยความจริงใจสม่ำเสมอ ยั่งยืนตลอดไป...เป็นผู้ควรแก่ความเคารพนับถือและการบูชาพระคุณ (ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน. 2544 : 52)

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของพ่อแม่ผู้ที่มีพระคุณต่อลูก เปรียบเป็นพรหม คือ เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้สร้างชีวิตของลูก เปรียบเป็นบูรพาจารย์ คือ เป็นครูอาจารย์คนแรกที่ฝึกสอนให้ลูกรู้จักวิธีดำเนินชีวิต ช่วยให้ลูกพัฒนาทั้งทางพฤติกรรม ทางจิตใจและทางปัญญา และเปรียบเป็นอาหุไนยบุคคลของลูกหรือ เป็นพระอรหันต์ของลูก คือ มีความจริงใจ สุจริตใจ บริสุทธิ์ใจต่อลูก พ่อแม่มีคุณลักษณะที่เด่นชัดอีกประการ คือ ความรักที่มีต่อลูก ซึ่งถือกันว่าความรักที่ของพ่อแม่นั้นเป็นรักที่บริสุทธิ์ และรักที่ไม่หวังผลตอบแทน 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นความรักแบบที่ 2 ในพระพุทธศาสนา ถือเป็นความรักแท้ที่ยั่งยืนกว่าความรักใดๆ เพราะความรักของพ่อแม่เป็นความรักที่อยากเห็นลูกมีความสุข เป็นความรักที่มีแต่การให้ พ่อแม่ถือเป็นต้นแบบหรือเป็นครูผู้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด คุณธรรม ทัศนคติมายังลูกได้อย่างชัดเจน หากพ่อแม่มีคุณธรรม ลูกก็ย่อมซึมซับความดีงามนั้นๆ และนำมาสู่การเป็นผู้ใหญ่และเป็นพลเมืองที่พัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าได้

@@@@@@@

2.2 หลักพุทธธรรมสำหรับพ่อแม่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เสนอทัศนะในเรื่องการพัฒนาพ่อแม่ โดยการใช้บุคคลที่มีบทบาทนี้ประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ ดังต่อไปนี้

     2.2.1 พรหมวิหาร 4

     พรหมวิหาร 4 คือ ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจ และกำกับความประพฤติจึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด มี 4 ประการ ได้แก่ เมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข, กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์, มุทิตา คือ ความยินดีในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข, อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลางไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 2548 : 124)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่าพ่อแม่ทุกคนมีหลักพรหมวิหาร 4 ตามคุณลักษณะของพ่อแม่อยู่แล้ว และเรียกได้ว่าพ่อแม่ในเมืองไทยยิ่งเด่นในเรื่องเมตตา กรุณา มุทิตากันมาก แต่ยังบกพร่องเรื่อง “อุเบกขา” อันเป็นหลักธรรมสำคัญ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ในเมืองไทยเรานี้แสดงเมตตา กรุณา มุทิตาได้ง่ายหรือพร้อมที่จะแสดงพรหมวิหาร 3 ข้อแรกนี้ได้ตลอดเวลา แต่มักวางอุเบกขาไม่เป็นหรือแม้แต่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดต่อข้ออุเบกขา...(ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า. 2553 : 3)

นอกจากนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ยังกล่าวถึงความเข้าใจผิดในเรื่องอุเบกขา เพราะคนทั่วไปมักเข้าใจว่า อุเบกขา คือ การวางเฉย ไม่สนใจ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะในความเป็นจริงแล้ว อุเบกขาต้องอาศัยปัญญา คือ วางเฉยด้วยปัญญา และท่านยังแสดงทัศนะว่า พ่อแม่ควรพัฒนาหลักอุเบกขาให้เพิ่มมากขึ้น เพราะธรรมข้อนี้สำคัญที่สุด อีกทั้งสร้างประโยชน์แก่ลูกได้ชัดเจน ดังคำกล่าวต่อไปนี้

ถ้าพ่อแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา มาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักโต...พ่อแม่คนไทยนี่จะต้องเน้นด้านอุเบกขาให้มากขึ้น ว่าทำอย่างไรจะใช้ปัญญาให้มากขึ้น ลดด้านความรู้สึกลง และเติมด้านความรู้เข้าไป...(ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า. 2553 : 27-28)

จากคำกล่าวข้างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มุ่งเน้นให้พ่อแม่ใช้หลักอุเบกขาให้มากกว่าหลักอื่นๆ โดยหลักอุเบกขาที่พ่อแม่พึงกระทำมิใช่การวางเฉย หรือปล่อยวาง หากแต่ท่านหมายถึงการคอยดู หรือดูอยู่ใกล้ๆ แต่ไม่ใช่ดูเปล่าๆ ดูให้เขาทำ คือ พ่อแม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ต่อไปลูกจะต้องหัดดำเนินชีวิตอย่างไร ต้องรับผิดชอบอย่างไร ให้ลูกได้ฝึกทำ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง พ่อแม่เพียงคอยดูและเป็นที่ปรึกษา

     2.2.2 สังคหวัตถุ 4

     สังคหวัตถุ 4 คือ เป็นหลักธรรมที่พ่อแม่มีต่อลูกอยู่เสมอแล้ว ประกอบด้วย ทาน การให้แก่ลูก, ปิยวาจา การพูดจาด้วยน้ำใจปรารถนาดี, อัตถจริยา การลงแรงดูแลเลี้ยงดูลูก และสมานัตตตา การร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูก ซึ่ง สังควัตถุ 4 นี้สรุป ความได้เป็นการสงเคราะห์ที่มี 2 แบบได้แก่ อามิสสงเคราะห์ คือ สงเคราะห์ด้วยอามิสหรือสิ่งของ กับ ธรรมสงเคราะห์ คือ สงเคราะห์ด้วยธรรม (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 2548 : 75)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แสดงทัศนะว่าพ่อแม่ในยุคปัจจุบันใช้หลักธรรมสังคหวัตถุ 4 ไม่ถูกต้อง เพราะยังมุ่งเน้นการให้อามิสสงเคราะห์ นั่นคือ การให้วัตถุสิ่งของเครื่องสนองความสุขแก่ลูก จนลูกกลายเป็นนักเสพนักบริโภควัตถุ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ปัญหาครอบครัวปัจจุบัน คือ พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น และรักลูกไม่เป็น รู้กันอยู่ว่า พ่อแม่ต้องใกล้ชิดและแสดงความรักความอบอุ่นแก่ลูกให้มาก แต่ก็ต้องระวัง ถ้าพ่อแม่แสดงความรักด้วยการบำรุงบำเรอทางวัตถุมากๆ จะทำให้ลูกเป็นนักเสพนักบริโภค เลยไม่มีการพัฒนาอย่างจริงจัง แทนที่จะเป็นคุณกลับกลายเป็นโทษ การแสดงความรักของพ่อแม่ต่อลูกจึงต้องแสดงให้ถูกต้อง เรียกว่า เลี้ยงลูกให้ถูกทาง (ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน. 2544 : 51)

นอกจากนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ยังกล่าวอีกว่าในยุคปัจจุบันพ่อแม่เลี้ยงลูกผิดวิธี มุ่งเน้นความสุขทางวัตถุ กระแสตะวันตก คลั่งไคล้เทคโนโลยียุคใหม่โดยปราศจากการเลือกสรรคัดกรอง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ โดยเฉพาะโทรทัศน์นั้น พ่อแม่คิดว่าแล้วเมื่อเปิดให้ลูกดูแล้ว จะสร้างความสุขให้ลูก ซึ่งสาเหตุนี้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของลูกและต่อสังคมระยะยาว วิธีแก้ไขของพ่อแม่ก็คือ ควรอยู่ใกล้ชิดและสอนเรื่องราวดีๆ ให้ลูก ดังคำกล่าวต่อไปนี้

...พ่อแม่ทำหน้าที่นำเสนอโลกแก่ลูก หรือฉายภาพโลกให้ลูกดูอย่างมีความมุ่งหมายในด้านความดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้รู้จักสิ่งที่พบเห็น หรือเล่านิทานเก่าๆ ให้ลูกฟังอย่างพ่อแม่ สมัยก่อน อย่างน้อยเพราะความที่มีเมตตารักลูกอยโดยธรรมชาติ แม้ไม่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ ก็นำเสนอโลกและชักจูงลูกไปในทางของความรู้สึกที่ดีงาม

...ถ้าจะให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างดี พ่อแม่จะต้องรักษาดินแดนในความครอบครองของตนไว้ หรือเอากลับคืนมาให้ได้ โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกในการดูโทรทัศน์ เป็นต้น เพื่อชักนำลูกให้รู้จักดูรู้จักฟัง รู้จักคิดและก้าวไปในวิถีแห่งการพัฒนาที่ถูกต้อง (ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน. 2544 : 58)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงลูกไว้ว่า พ่อแม่ควรเปลี่ยนจากการให้ลูกดูโทรทัศน์มาเป็นการให้ลูกดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวและบอกเล่าความดีงามของสิ่งเหล่านั้น หรืออาจเล่านิทานให้ลูกฟังเหมือนกับคนสมัยก่อน หรือหากไม่สามารถเลี่ยงการดูโทรทัศน์ได้ วิธีที่สำคัญที่สุด คือ พ่อแม่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูโทรทัศน์กับลูกด้วย

จากนั้นคอยแนะนำ อธิบาย และเสริมสร้างเรื่องราวความดีๆ หรือสารประโยชน์จากสิ่งที่ดีให้ลูกเรียนรู้อยู่เสมอ พ่อแม่ควรปรับทัศนคติ และเรียนรู้หลักการสังควัตถุ โดยเฉพาะในเรื่องของการสงเคราะห์ให้ถูกต้อง การสงเคราะห์ลูกนั้นควรมีทั้งอามิสสงเคราะห์ และธรรมสงเคราะห์ แต่ต้องให้จัดสรรอย่างเหมาะสม จึงเรียกได้ว่าเป็นการสงเคราะห์ที่สมบูรณ์พร้อมและสร้างประโยชน์แท้จริง

     2.2.3 อิทธิบาท 4

     ปัญหาในสังคมไทยยุคปัจจุบัน คือ กระแสบริโภคนิยมสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในประเด็นนี้ว่า พ่อแม่ที่ดีควรอบรมและสอนลูกให้เป็นผู้เสพบริโภควัตถุหรือความสุขจากวัตถุให้ลดน้อยลง หรือพอประมาณ กล่าวคือ ท่านมุ่งเน้นว่าในยุคปัจจุบันสังคมรับวัฒนธรรมตะวันตกมามาก หากแต่สังคมที่ฉลาดจะต้องรู้จักจัดการกับการเสพการบริโภคความสุขทางวัตถุให้น้อยลง

ดังนั้นสิ่งที่พึงปฏิบัติก็คือ ควรพัฒนาจากตัณหาที่มองวัตถุที่เสพที่พอใจไปสู่ฉันทะ คือ อยากรู้อยากศึกษาและอยากสร้างสรรค์พัฒนาให้ดีขึ้น โดย “ฉันทะ” หมายถึง ความต้องการที่ทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยเสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งเป็นข้อหนึ่งใน “อิทธิบาท 4” หลักธรรมอันเป็นเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 2548, 160) เป็นดังตัวอย่างต่อไปนี้

เด็กอยู่ในบ้าน พ่อแม่ถ้ารักลูกจริง ก็อย่าทำได้แค่ตามใจว่าให้ลูกได้เสพได้บริโภคเอร็ดอร่อยเท่านั้น แต่ต้องให้เขาพัฒนาความอยากรู้ด้วย ให้เขาอยากศึกษาว่าอันนี้คืออะไร มันเป็นอย่างไร มันเป็นมาอย่างไร มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ที่มีรูปร่างและใช้งานอย่างนี้ได้อย่างไร มันมีคุณมีโทษ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร อะไรที่ยังไม่ดีก็อยากทำให้มันดี แล้วก็หาทางทำให้มันดี ข้อนี้เรียกว่า มีฉันทะ พูดสั้นๆ ว่าให้เกิดความอยากทำกับอยากรู้ (จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย. 2545 : 103)

จากคำกล่าวข้างต้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงทัศนะว่า พ่อแม่ที่รักลูกจริงไม่ควรให้ลูกเสพบริโภคทางวัตถุมากนัก แต่ควรพัฒนาความรู้ลูก และมุ่งสร้าง “ฉันทะ” คือ ความใฝ่เรียนรู้ให้เกิดกับลูก โดยให้ลูกฝึกเรียนรู้จากวัตถุที่เขาได้เสพว่ามีคุณ มีโทษ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เป็นต้น

     2.2.4 ไตรสิกขา

     สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวถึงบทบาทของพ่อแม่อีกประการคือ การสร้างระเบียบวินัย และความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นกับลูก โดยเริ่มต้นจากพ่อแม่สร้างกฎเกณฑ์ กติกาให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติ เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และบางกรณีที่ลูกกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกฟังด้วยเหตุผล ไม่ตามใจลูก แต่ถ้าหากลูกไม่เชื่อฟัง พ่อแม่จำเป็นต้องใช้กฎ กติกาประจำครอบครัว หรือเรียกอีกอย่างว่า ใช้วิธีการขัดขวางความต้องการของเขา เพื่อป้องกันการทำเรื่องผิด ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในบางกรณี เราจำเป็นต้องยอมที่จะขัดขวางความต้องการของเขา แต่จะต้องมีตัวช่วยป้องกันการก่อปม คือ

    1. เราต้องทำโดยมีการชี้แจง แล้วไม่ว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ก็ให้เขาเห็นและรู้สึกว่าได้ชี้แจงแล้ว

    2. เรามีการแสดงออกที่เขามองเห็นว่าจิตใจของเรานั้นไม่ได้มีความมุ่งร้ายอาฆาตอะไรเขา แต่เราทำด้วยความปรารถนาดีต่อเขา...

    3. การขัดนั้นอาจจะมาในรูปของกติกาของสังคมที่ทางพระเรียกว่าเป็นวินัย คือ เราตกลงกันไว้ว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูก จะต้องไม่ทำก็ตั้งเป็นกติกาเอาไว้

...แต่ถ้าหากว่าได้ทำเต็มที่อย่างนี้แล้ว แม้ว่าเขาจะไม่ยอม เราก็กั้นหรือขัดได้ แต่ไม่ใช่เป็นการแบบที่หักหาญทันที แม้จะต้องลงโทษก็ต้องทำให้เห็นว่าเราทำด้วยเมตตาปรารถนาดี (จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย. 2545 : 39-40)

ในหลักของการตั้งกฎ กติกาเพื่อดูแลลูกนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เชื่อมโยงมาสู่หลักธรรมสำคัญ คือ สิกขา 3 หรือ ไตรสิกขา ที่หมายถึง ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษา คือ ฝึกอบรม กาย วาจา จิตใจ และปัญญา ให้ยิ่งขึ้นไป เรียกง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

    - โดยศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติ
    - สมาธิ คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดคุณธรรม และ
    - ปัญญา คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง
    (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม 2548 : 107)

โดยหลักไตรสิกขาปรากฏในการอบรมเลี้ยงดูลูกดังนี้

นี่ก็คือ เอาศีลเข้ามา ศีล คือการอยู่ในกติกาที่วางไว้ สมาธิ ก็คือจิ ตใจที่มีความรู้สึกว่าเราทำด้วยจิตปรารถนาดี ไม่ได้มุ่งร้าย และปัญญา คือ เราได้ชี้แจงให้เข้าใจเหตุผลและมองเห็นความเป็นธรรมเท่าที่ทำได้ (จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย. 2545 : 40)

จากคำกล่าวข้างต้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงทัศนะว่าการที่พ่อแม่ตั้งกติกาหรือข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันในครอบครัว เพื่อให้ลูกรับรู้และพึงปฏิบัตินั้น ก็เหมือนกับนำศีลเข้ามาใช้ในครอบครัว เพราะศีล หมายถึง การอยู่ในกติกาที่วางไว้เพื่อฝึกความประพฤติ และการที่พ่อแม่ตั้งกติกานั้นๆ เกิดจากความรักความปรารถนาดีต่อลูกอย่างที่สุด คือ หลักสมาธิ ที่มุ่งฝึกจิตเพื่อให้เกิดคุณธรรม และสุดท้ายพ่อแม่ควรชี้แจง แสดงเหตุผลในการใช้กติกาในครอบครัวกับลูก นั่นคือ การใช้หลักปัญญา ที่มุ่งฝึกเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งนั่นเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 15, 2023, 09:46:03 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


3. การพัฒนาบทบาทลูก

สถาบันครอบครัวจะครบสมบูรณ์อย่างแท้จริง ต้องประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวที่รับบทบาทลูก “ลูก” ผู้เป็นที่รักที่หวงแหนยิ่ง และสืบทอดวงศ์สกุลของพ่อแม่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้ความรู้ในการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ท่านกล่าวว่าลูกทุกคนควรระลึกถึงบุญคุณและพึงตอบแทนพระคุณได้โดยสรุปได้ดังนี้ ในช่วงวัยเด็ก ลูกๆ ยังไม่สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ แต่ลูกๆ ก็สามารถตอบแทนพระคุณพ่อแม่ในเบื้องต้นได้เช่นกัน นั่นคือ ประพฤติปฏิบัติดีกับพ่อแม่ รู้จักประมาณทั้งในการกินอยู่หรือใช้วัตถุสิ่งของ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เด็กๆหรือลูกที่บ้าน อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องนึกคิดอย่างนี้ เรายังไม่มีความพร้อมที่จะหากินด้วยตนเอง คุณพ่อคุณแม่หาเงินทอง ตั้งใจเลี้ยงดูเราให้เจริญเติบโต ให้มีการศึกษา ท่านต้องเหน็ดเหนื่อยหนักทั้งกายและใจ เราจึงไม่ควรรบกวนคุณพ่อคุณแม่ให้มากนัก ถ้าเข้าใจวัตถุประสงค์นี้แล้วใช้ปัญญาในการบริโภค ก็จะมีชีวิตที่พัฒนาจริง พร้อมทั้งเป็นผู้เลี้ยงง่าย และได้ชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำใจต่อคุณพ่อคุณแม่ รักคุณพ่อคุณแม่จริง จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ซาบซึ้งใจและมีความสุขขึ้นเยอะเลย (การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น. 2542 : 17)

จากตัวอย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มุ่งเตือนสติลูกๆ ทั้งหลายให้แบ่งเบาพ่อแม่ เริ่มต้นแค่เพียงการกินอยู่หรือใช้สอยวัตถุต่างๆ ต้องพอประมาณ ให้ระลึกไว้ว่า ลูกๆ ยังไม่สามารถหาเงินทองมาเลี้ยงชีพตนเองได้ ดังนั้นควรประหยัดและใช้ให้พอเหมาะพอควรในช่วงชีวิตต่อมา หากลูกโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถรับผิดชอบชีวิตได้เพราะมีการงานทำแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า ลูกควรตอบแทนพระคุณพ่อแม่ โดยในเบื้องต้นให้เริ่มที่อามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ เหมือนดังที่พ่อแม่เคยปฏิบัติกับลูกเมื่อครั้งลูกอยู่ในวัยเยาว์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

โดยเฉพาะก็เริ่มอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์นั้นที่ในบ้านหรือในครอบครัวของเรานี่แหละ คือ ทำการเลี้ยงดูตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ วิธีตอบแทนพระคุณพ่อแม่นั้น ทำได้หลายขึ้นหลายทาง แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ให้ได้ข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในหลักการไหว้ทิศเบื้องหน้า 5 ประการ คือ

     1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
     2. ช่วยทำกิจธุรการงานของท่าน
     3. ดำรงวงศ์สกุล
     4. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
     5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
     (ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า. 2553: 42-43)

จากตัวอย่างลูกพึงตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดนั่นคือ การใช้หลักอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ และประการสำคัญที่ลูกสามารถทำได้ คือ การใช้หลักข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักการไหว้ทิศเบื้องหน้า 5 ประการนั่นเอง หากลูกปฏิบัติได้ ก็เท่ากับได้ทดแทนพระคุณพ่อแม่ในเบื้องต้นแล้ว

บทสรุป

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถาบันครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ท่านกล่าวว่าครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นหรือรากฐานของสังคม หากจะพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนได้ จะต้องพัฒนาจากรากฐานให้มั่นคงเสียก่อน ซึ่งก็คือ การพัฒนาสถาบันครอบครัว

โดยเริ่มจากการพัฒนาบทบาทสามีภรรยา อันได้แก่ การใช้ชีวิตคู่ ซึ่งประเด็นแรกคู่รักชายหญิงจะต้องเข้าใจความรักแท้ และพัฒนาให้เกิดขึ้นในใจตนให้ได้ และต้องอาศัยหลักธรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เช่น  ฆราวาสธรรม 4 สมชีวิธรรม 4 เป็นต้น อีกทั้งสามีและภรรยานั้นควรปฏิบัติตนตามหลักคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจะทำให้ชีวิตคู่ครองราบรื่นและเป็นสุข

นอกจากนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มุ่งเน้นการพัฒนาบทบาทพ่อแม่เป็นสำคัญ เพราะท่านเล็งเห็นว่า ครอบครัวจะเจริญพัฒนาได้นั้น ต้องพัฒนาพ่อแม่ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเสียก่อน โดยท่านนำเสนอว่าพ่อแม่ควรมีคุณลักษณะตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คือ เป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ เป็นอาหุไนยบุคคลของลูก อีกทั้งพ่อแม่ควรนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในครอบครัว เช่น พรหมวิหาร 4 สังคหวัตถุ 4 อิทธิบาท 4 ไตรสิกขา เป็นต้น

และสุดท้ายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของลูกว่าควรตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติดี รู้จักประมาณทั้งในการกินอยู่หรือใช้วัตถุสิ่งของ และเมื่อลูกเติบใหญ่สามารถทดแทนคุณพ่อแม่ด้วยการเลี้ยงดูท่าน ดูแลทุกข์สุข ใช้หลักอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ และที่สำคัญที่สุด คือ ลูกควรนำพาพ่อแม่ให้เจริญในทางธรรม มุ่งสู่หนทางแห่งพระนิพพาน สิ่งนี้ถือเป็นการตอบแทนพระคุณที่ล้ำค่ายิ่ง









ขอขอบคุณ :-
ภาพ : pinterest
ที่มา : บทความ ธรรมของคู้ชิวิต (PDF) เรื่อง การพัฒนาสถาบันครอบครัว ตามทัศนะของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

เอกสารอ้างอิง :-
- ธรรมสภา. (2545). ชีวิต การงาน หลักธรรม พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). กรุงเทพฯ : ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2542). การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น. กรุงเทพฯ : อักษรสยามการพิมพ์.
- _______. (2544). ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.
- _______. (2545). จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 17). กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2545). คุณบิดามารดา สุดพรรณนามหาศาล. (พิมพ์ครั้งที่ 10) กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- _______. (2548). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 13). กรุงเทพฯ : บริษัท เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด.
- _______. (2548). คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ. (พิมพ์ครั้งที่ 20). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งพับลิชชิ่ง.
- _______. (2549). ครองเรือน-ครองรัก จักเลิศแท้ ด้วยครองธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ : มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ.
- _______. (2553). ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- พัทยา สายหู. (2534). กลไกของสังคม. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์ จำกัด.
- สุพัตรา สุภาพ. (2549). ปัญหาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่ 20). กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 15, 2023, 10:17:47 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ