ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รับมือกับความทุกข์ด้วย "การฝึกจิตนั่งสมาธิ"  (อ่าน 1349 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

รับมือกับความทุกข์ด้วย "การฝึกจิตนั่งสมาธิ"

ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือหนีจากเรื่องตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงาน สภาพแวดล้อมรอบตัว

ปัญหารถติดที่คนกรุงต้องพบเจอทุกเช้าเย็น หนี้สินนอกระบบ ข้าวของแพง และอีกร้อยแปดพันอย่างที่นับว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือเรื่องแย่ๆ แง่ลบที่อยู่ภายในจิตใจ

ทางออกหรือวิธีบำบัดคงหายากเต็มที แต่ถ้าคุณลองมองดูดีๆนึกอีกทีก็จะค้นพบวิธีการช่วยบรรเทาสภาวะเหล่านั้นได้ด้วยตัวคุณเอง ดังคำสุภาษิตไทยที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

วิธีที่ว่านี้ไม่ได้ยากหรือต้องใช้เงินลงทุนใดๆ เพียงแค่เริ่มจากจิตใจของคุณเอง นั่นคือ การฝึกจิตสร้างสมาธิ ที่จะนำไปสู่ความสงบ เมื่อเกิดความสงบในจิตใจ แน่นอนว่าสิ่งดีๆในชีวิตก็ตามมา

….แต่ก่อนที่เราจะไปรู้ถึงขั้นตอนวิธีการฝึกสมาธินั้น มาทำความเข้าใจกันคำว่าสมาธิกันก่อนดีกว่าค่ะ

สมาธิ ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็ คือ ความสงบ สบาย มีสติ และความรู้สึกเป็นสุข มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ หรือสิ่งที่เราสร้างขึ้นแล้วมีความสุขกับตรงนั้น

แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่รู้สึกแบบนี้ตกอยู่ในสภาวะจิตใจที่ว้าวุ่น เคร่งเครียด กังวล ควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานค่ะ มาเริ่มฝึกสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบกันดีกว่า เริ่มต้นง่ายๆ จากสิ่งใกล้ตัว คือ “การนั่งสมาธิ”




หลักการเริ่มต้นทำสมาธิง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยในระยะแรกฝึกนั่งเพียง 10 - 15 นาที ก็เพียงพอ

- ปล่อยวาง ความคิดนึก เรื่องราวต่างๆ ให้หมดไปจากใจ ทำสติจับความรู้สึก อยู่ที่ร่างกายให้รู้สึกว่าตอนนี้ตัวเราว่าขณะนี้นั่งอยู่อย่างไร

- นึกรู้ นึกเห็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้าเรานั่งขาขวาทับซ้าย ก็รู้ว่าเรานั่งขาขวาทับซ้าย , เรานั่งหลับตา ก็รู้ว่าเรานั่งหลับตา

- น้อมนึกเห็นใบหน้าของเรา ว่ามีลักษณะอย่างไร นึกเห็นตั้งแต่ศีรษะ ตลอดลงมาปลายเท้า นึกเห็นรอบ ตัวเอง แล้วมาพิจารณาอยู่ที่ใบหน้า

นึกถึงภาพให้เห็นคิ้ว เห็นตา เห็นหูทั้งสองข้าง นึกเห็นปาก เห็นคาง เห็นปลายจมูก เห็นรู้ ลมหายใจเข้า-ออก

กำหนดความรู้สึกอยู่ที่สองช่องจมูก หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจ ออกนึกว่า "โธ" จนรู้อยู่แต่ "พุท-โธ" ทุกลมหายใจเข้า-ออก และร่างกายก็จะเข้าสู่คำว่า "กายสงบ ใจสงบ"

- ในช่วงนี้หากคำภาวนา "พุท-โธ" ได้ละไปแล้วก็ให้พิจารณาลมหายใจ เข้า-ออกเพียงอย่างเดียว (คำ "พุท-โธ" จะหยุดรำลึกไปเอง โดยธรรมชาติอย่าหวนคำรำลึก หรือทวนความรู้สึกใดๆ ขึ้นอีก)

- เมื่อกระแสกลมกลืนกันดีแล้ว จิตจะนิ่งเป็นอิสระ เป็นสุข และเกิดปัญญา รู้เอง เห็นเอง สัมผัสได้ ด้วยจิตเอง

แต่ด้วยความอดทนของคนเราอาจจะมีระยะจำกัดในระยะแรกเพียงแค่ 10 นาที ก็เพียงพอ อย่าฝีนตัวเองมากไปเพราะอาจจะกลายเป็นนอกจากจะไม่ได้สมาธิแล้วยังจะทำให้รู้สึกน่าเบื่อหรือไม่อยากกลับมานั่งสมาธิอีกเลยก็เป็นได้...



วิธีการออกจากสมาธิ

ก่อนจะเลิกนั่งสมาธิ ให้มาพิจารณากายใจของเรา ตั้งแต่เบื้องบนคือปลายผม สุดเบื้องล่างคือ ปลายเท้า จากเบื้อง ล่างคือปลายเทำให้ถึงเบื้องบนคือปลายผม พิจารณารู้รอบตัวเอง ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ด้วยการออก จากสมาธิ ให้จิตของเราพิจารณารูปตัวเองทั้งกายภายนอกภายใน

รู้ทั่วพร้อมแล้วค่อยๆ เคลื่อนมือขวามาวางที่หัวเข่าด้านขวา เคลื่อนมือซ้ายมาวางที่หัวเข่าด้านซ้าย แล้วค่อยๆ ยกมือขวาขึ้นมาระหว่างอก จากนั้นยกมือซ้ายขึ้นมาพนมมือแบบบัวตูม



ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ ที่ส่งผลต่อตนเอง มีมากมายหลายประการ

1 ด้านสุขภาพจิต
- ส่งเสริมให้คุณภาพของใจดีขึ้น คือ ทำจิตใจ ผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ สงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย มีความจำ และสติ ปัญญาดีขึ้น
- ส่งเสริมสมรรถภาพทางใจ ทำอะไรคิดอะไรได้รวดเร็ว ถูกต้อง เลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดีเท่านั้น

2 ด้านพัฒนาบุคลิกภาพ
- จะเป็นผู้มีบุคลิกภาพดี กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า มีความองอาจสง่าผ่าเผย มีผิวพรรณผ่องใส
- มีความมั่นคงทางอารมณ์ หนักแน่น เยือกเย็นและเชื่อมั่นในตนเอง
- มีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวได้เหมาะสมกับเทศกาลเทศะเป็นผู้มีเสน่ห์ เพราะไม่มักโกรธ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป

3 ด้านชีวิตประจำวัน
- ช่วยให้คลายเครียด เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงานและการศึกษาเล่าเรียน
- ช่วยเสริมให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะร่างกายกับจิตใจย่อมมีอิทธิพลต่อกัน ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ย่อมเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว

4 ด้านศีลธรรมจรรยา
- ย่อมเป็นผู้มีสัมมาทิฐิ เชื่อกฎแห่งกรรม สามารถคุ้มครองตนให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายได้ เป็นผู้มีความประพฤติดี เนื่องจากจิตใจดี ทำให้ความประพฤติทางกายและวาจาดีตามไปด้วย
- ย่อมเป็นผู้มีความมักน้อย สันโดษ รักสงบและมีขันติเป็นเลิศ
- ย่อมเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ย่อมเป็นผู้มีสัมมาคารวะและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน



และนอกจากประโยชน์ที่ได้จากการนั่งสมาธิตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การนั่งสมาธิผลต่อศาสนาอีกมากมาย ดังต่อไปนี้

1 ทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องและรู้ซึ้งถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนา รวมทั้งรู้เห็นด้วยตัวเองว่าการฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องเหลวไหลหากแต่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้พ้น ทุกข์เข้าสู่นิพพานได้

2 ทำให้เกิดศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย พร้อมที่จะเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระศาสนา อันจะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ให้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

3 เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป เพราะตราบใดที่พุทธศาสนิกชน ยังตั้งใจปฏิบัติธรรม เจริญภาวนาอยู่ พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ตราบนั้น

4 จะเป็นกำลังส่งเสริมทะนุบำรุงศาสนา เพราะเมื่อเข้าใจซาบซึ้งถึงประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมด้วยตนเองแล้ว ย่อมจะชักชวนผู้อื่นให้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามไปด้วย เมื่อใดที่ทุกคนในสังคมตั้งใจปฏิบัติธรรม ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เมื่อนั้นย่อมหวังได้ว่าสันติสุขที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน



ข้อควรระวังในการนั่งสมาธิ

1. อย่าใช้กำลัง คือ ไม่ใช้กำลังใดๆทั้งสิ้น เช่น ไม่บีบกล้ามเนื้อตา เพื่อจะให้เห็นนิมิตเร็วๆ ไม่เกร็งแขน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม่เกร็งตัว ฯลฯ เพราะการใช้กำลังตรงส่วนใดของร่างการก็ตาม จะทำให้จิตเคลื่อนจากศูนย์กลางกายไปสู่จุดนั้น

2. อย่าอยากเห็น คือ ทำใจให้เป็นกลาง ประคองสติมิให้เผลอจากบริกรรมภาวนา และบริกรรมนิมิต ส่วนจะเห็นนิมิตเมื่อใดนั้น อย่ากังวล ถ้าถึงเวลาแล้วย่อมเห็นเอง การบังเกิดของดวงนิมิตนั้น อุปมาเสมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ เราไม่อาจจะเร่งเวลาได้

3. อย่ากังวลถึงการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะการฝึกสมาธิเพื่อให้เข้าถึงความสงบ ยิ่งกดดันหรือกังวลความสงบยิ่งไม่เกิด

4. เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้ว ให้ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดที่เดียว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เช่น ยืน เดิน นอน หรือนั่ง อย่าย้ายฐานที่ตั้งจิตไปไว้ที่อื่นเป็นอันขาด ให้ตั้งใจบริกรรมภาวนา พร้อมกับนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส หรือองค์พระแก้วใส ควบคู่กันไปตลอด

5. นิมิตต่างๆที่เกิดขึ้น จะต้องน้อมไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดทั้งหมด ถ้านิมิตเกิดขึ้นแล้วหายไป ก็ไม่ต้องตามหา ให้ภาวนาประคองใจต่อไปตามปกติ ในที่สุดเมื่อจิตสงบ นิมิตย่อมปรากฏขึ้นมาใหม่อีก


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.dmc.tv , www.dhammathai.org
ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.istockphoto.com , Pinterest
horoscope.sanook.com/74673/รับบมือกับความทุกข์ด้วยการฝึกจิตนั่งสมาธิ/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 08, 2014, 08:49:35 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ