ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....  (อ่าน 6579 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๔
   

                    อานาปานสติสูตร นี้แบ่งสาระที่แสดงเป็นสำคัญๆ ได้ดังนี้

                    หลักการเจริญอานาปานสติ

                    แสดงการเจริญอานาปานสติ แล้วย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์

                    แสดงการเจริญในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์

                    และแสดงการเจริญใน โพชฌงค์ ๗ ย่อมยังให้ วิชชาและวิมุตติ บริบูรณ์

            การปฏิบัติในอานาปานสติสูตรนี้  มีข้อสังเกตุประการหนึ่งว่า ล้วนเป็นการปฏิบัติที่ต้องมีสติที่หมายถึงการระลึกรู้กำกับทั้งสิ้น  จึงเป็นการเจริญสมถวิปัสสนา  จึงมิได้หมายถึงการปฏิบัติในแง่สมถสมาธิที่มีเจตนากำหนดเอาลมหายใจเป็นอารมณ์หรือเครื่องกำหนดของจิตเพื่อให้เกิดสมาธิหรือฌานขึ้น เพื่อให้จิตรวมลงสงบหรือสุขแต่อย่างเดียว  ดังที่เห็นได้จากการปฏิบัติธรรมกันเป็นส่วนใหญ่ทั่วไป,  ดังนั้นพึงแยกแยะให้ถูกต้องด้วยว่า ขณะนั้นปฏิบัติอะไร?  ต้องการฝึกสติเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิอันเป็นไปเพื่อการวิปัสสนา  หรือฝึกฌานสมาธิล้วนๆอันเป็นเรื่องทั่วไปที่มีมานานแสนนานแม้ในเหล่าอัญญเดียรถีร์ก็ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลเสียอีก อันจัดเป็นมิจฉาสมาธิ  ฌานสมาธิจึงไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนาแต่ฝ่ายเดียว,  เพราะมีผู้เข้าใจสับสนกันเป็นอันมากโดยเข้าใจความนัยๆอย่างผิดๆโดยไม่รู้ตัวไปเสียว่า อานาปานสติ คือการฝึกหรือปฏิบัติฌานสมาธิที่ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดหรืออารมณ์ เพื่อเข้าถึงความสุขสงบเท่านั้น  จึงขาดการวิปัสสนาอันเป็นหัวใจของการปฏิบัติในพระศาสนาไปเสีย การปฏิบัติธรรมจึงยังไม่บริบูรณ์แต่ก็พาให้เข้าใจผิดไปว่าได้ปฏิบัติถูกต้องหรือดีงามบริบูรณ์แล้ว จึงขาดความก้าวหน้า,  ทั้งๆที่ตามความจริงแล้วอานาปานสติมิได้มีจุดประสงค์โดยตรงที่ฌานหรือสมาธิ(แต่ก็ทำให้เกิดฌานสมาธิขึ้นได้เช่นกัน!) แต่เป็นการฝึกให้มีสติตามชื่อพระสูตรอยู่แล้วพร้อมการวิปัสสนาคือสำเหนียก ที่แปลว่าศึกษานั่นเอง   และสังเกตุได้ว่าสิ่งที่เกิดและกล่าวถึงในอานาปานสติสูตรนี้มีเพียงองค์ฌานปีติ สุขเพียงเท่านั้นที่เด่นชัดขึ้น อันย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเมื่อมีจิตแน่วแน่เท่านั้นเพราะการอยู่กับการ ปฏิบัติหรือการพิจารณาธรรมต่างๆรวมทั้งสังขารกายอันเกิดแต่ลมหายใจ และจัดเป็นเวทนาคือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากอานาปานสตินี้ คือสุขเวทนาของปีติและสุขนั่นเอง แต่ไม่ถึงขั้นเลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิระดับประณีตลึกซึ้งแต่อย่างใด จึงยังคง มีสติบริบูรณ์,  แต่ถึงอย่างไรก็ตามทั้งสติและสมาธิก็มีความเนื่องสัมพันธ์ หรือเป็นเหตุปัจจัยกัน ดังนั้นในบางครั้งก็่เลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิระดับลึกประณีตขึ้นก็เป็นไปโดยสภาวธรรม(ธรรมชาติ)เนื่องจากการพักผ่อนในการพิจารณา เป็นไปโดยอาการธรรมชาติ  แต่ล้วนต้องมิได้เกิดแต่เจตนาจากการติดเพลิน(นันทิ)ในความสงบ สุข ปีติ ฯ. จากผลของฌานสมาธิ อันเป็นตัณหาชนิดรูปราคะหรืออรูปราคะอันละเอียดอ่อนแต่ประการใด(ซึ่งมักเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติแต่เป็นไปโดยไม่รู้ตัว ในผู้ที่ขาดการวิปัสสนา)  กล่าวคือ โดยมิได้ด้วยเจตนาทำฌานสมาธิ    มีแต่เจตนาแรงกล้าในการฝึกสติให้เห็นธรรมในกายสังขารหรือธรรมอื่นๆประกอบไปด้วยเป็นสำคัญ

            กล่าวโดยย่อก็คือ ถ้ามีสติพิจารณาอยู่ก็เป็นการเป็นสมถวิปัสสนาที่ประกอบด้วยการเจริญวิปัสสนา กล่าวคือ เจริญทั้งสติ, สมาธิ และปัญญา,  เพราะสตินั้นเนื่องสัมพันธ์ให้เกิดสมาธิด้วย  และการพิจารณาตามดังธรรมบรรยายก็ยังให้เกิดปัญญา จึงเป็นการเจริญสมถวิปัสสนาอย่างครบถ้วนกระบวนความ,   แต่ถ้าเพราะต้องการอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดเพื่อให้จิตสงบแน่วแน่แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นการเจริญแต่สมาธิ  แต่ถ้ายึดในอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือลงภวังค์ก็เป็นเจริญฌาน ที่ปฏิบัติกันโดยทั่วๆไปในอัญญเดียรถีร์ด้วย  จึงควรทำให้ถูกต้องตามเจตนาด้วย  จึงจักถือว่าถูกต้องดีงาม  เพราะลมหายใจนั้นสามารถใช้เป็นอารมณ์หรือเครื่องกำหนดในการปฏิบัติ วิปัสสนา สติ สมาธิหรือฌาน ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนักปฏิบัติเองเป็นสำคัญ   อันจะเกิดขึ้นและเป็นไปดังนี้

             กล่าวโดยสรุป ในการปฏิบัติโดยย่อก็คือ  จิตที่สงบสบายแต่อานาปานสติแล้ว ดำเนินต่อไปในการเจริญวิปัสสนาต่างๆเสียนั่นเอง

มิจฉาสมาธิ  ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีมิจฉาสติ

สัมมาสมาธิ  ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีสัมมาสติ

มิจฺฉาสติสฺส  มิจฺฉาสมาธิ ปโหติ

สมฺมาสติสฺส  สมฺมาสมาธิ  ปโหติ

(อวิชชาสูตร ๑๙/๑
บันทึกการเข้า

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 08:51:42 am »
0
๘. อานาปานสติสูตร (๑๑๘)

              [๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวก ผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นมากรูปด้วยกัน เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากปิณะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และ พระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นอื่นๆ  ก็สมัยนั้นแล พระเถระทั้งหลายพากันโอวาท พร่ำสอนพวกภิกษุอยู่ คือ พระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวก โอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำ สอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน ฯ

             [๒๘๓] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทั้งเป็นวันปวารณาด้วย ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารภในปฏิปทานี้ เรามีจิตยินดีในปฏิปทานี้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณ ที่ตนยังไม่ถึง  เพื่อบรรลุคุณ ที่ตนยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งคุณ ที่ตนยังไม่ทำให้แจ้ง โดยยิ่งกว่าประมาณเถิด เราจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนี้แล จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท 

             พวกภิกษุ ชาวชนบททราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่ง ฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท จึงพากันหลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฝ่ายภิกษุผู้เถระเหล่านั้นก็พากันโอวาทพร่ำสอนภิกษุนวกะ เพิ่มประมาณขึ้น คือ ภิกษุผู้เถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง และภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน ฯ

             [๒๘๔] ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บาน แห่งดอกโกมุท วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับ บริษัทที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้  ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก  และถวายของมาก มีผลมากยิ่งขึ้น  ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท อันชาวโลกยากที่จะได้พบเห็น  ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควร ที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชมนับเป็นโยชน์ๆ ฯ

             [๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็น พระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษ แล้วเพราะรู้ชอบ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะ สิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ จะได้ปรินิพพานในโลกนั้นๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระสกคาทามี เพราะสิ้นสัญโญชน์๓ อย่าง และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง มายังโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะ สิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             [๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบ ความเพียรในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญพละ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญมรรค มีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญเมตตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญกรุณาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความ เพียรในอันเจริญมุทิตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอุเบกขาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอสุภสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียร ในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ

             [๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบ ความเพียรในอันเจริญอานาปานสติอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มาก แล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
บันทึกการเข้า

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 08:52:09 am »
0
[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้  อยู่ในป่าก็ดี  อยู่ที่โคนไม้ก็ดี  อยู่ในเรือนว่างก็ดี  นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า  เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า,  เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว,  หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว,  เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น,  หรือเมื่อหายใจ เข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น,   สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก, ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก, ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก, ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก  ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก  ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก  ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความคลายกำหนัด หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก, ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า,  ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

             [๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อภิกษุหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว, หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว,  เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น,  หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้า นี้ ว่าเป็นกายชนิดหนึ่ง ในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย  (เพราะ)มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ (ย่อม)กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ (เพราะทำเหตุ กล่าวคือมีสติ รู้สึกตัวไม่ซัดส่ายไปปรุงแต่งนั่นเอง อภิชฌาและโทมนัสจึงระงับไปด้วยปฎิจจสมุปบันธรรม  จึงมิได้หมายถึงต้องกระทำอะไรๆเพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัส)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเรา จักเป็นผู้กำหนดรู้สุข  หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก  ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า,  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนด รู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจัก ทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า,  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าว อานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า,  สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า,  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วย ปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ

             [๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   เธอเมื่อเป็นผู้ มีสติ อย่างนั้นอยู่  ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ   ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ
บันทึกการเข้า

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 08:52:38 am »
0
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ..........ฯลฯ (เหมือนดังข้างต้นใน เห็นกายในกาย)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ..........ฯลฯ (เหมือนดังข้างต้น)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความ บริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อ เธอค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอัน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรม นั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อม เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ ชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิต ตั้งมั่น ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ
บันทึกการเข้า

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 08:53:01 am »
0
[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้ มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้

ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อม เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย   

ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ อานาปานสติสูตร ที่ ๘
บันทึกการเข้า

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 08:53:29 am »
0
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๓
   

 คลิกขวาเมนู

             [๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่.

ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มอานิสงส์ใหญ่?

ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้  อยู่ในป่าก็ดี  อยู่ที่โคนไม้ก็ดี  อยู่ในเรือนว่างก็ดี

นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก  มีสติหายใจเข้า.

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว  เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว.

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น  เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น.

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียก ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุข หายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุข หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่น หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่น หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิต หายใจออก ย่อม สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิต หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียก ว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะ หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะ หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า.

ดูกรราหุล อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้  ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง

อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป  หาเป็น อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

จบ มหาราหุโลวาทสูตร ที่ ๒.
บันทึกการเข้า

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 08:54:40 am »
0
อานาปานสติ
(สำหรับคนทั่วไป อย่างง่าย ขั้นต้นๆ เพื่อรู้จักไว้ทีก่อน)

ท่านพุทธทาส

            ในกรณีปรกติ ให้นั่งตัวตรง (ข้อกระดูกสันหลัง จดกันสนิท  เต็มหน้าตัด ของมันทุกๆ ข้อ) ศีรษะตั้งตรง ตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่ง จนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นอะไรหรือไม่เห็น ก็ตามใจ ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้า ก็จะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนให้ง่วงนอนได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะคนขึ้ง่วง ให้ทำอย่างลืมตานี้ แทนหลับตา ทำไปเรื่อยๆ ตามันจะหลับ ของมันเอง ในเมื่อถึงขั้นที่มันจะต้องหลับตา หรือจะหัดทำอย่างหลับตาเสียตั้งแต่ต้นก็ตามใจ  แต่วิธีที่ลืมตานั้น จะมีผลดีกว่าหลายอย่าง แต่ว่าสำหรับบางคน รู้สึกว่าทำยาก โดยเฉพาะพวกที่ยึดถือในการหลับตา ย่อมไม่สามารถทำอย่างลืมตา ได้เลย มือปล่อยวางไว้บนตัก ซ้อนกันตามสบาย ขาขัด หรือซ้อนกัน โดยวิธีที่จะ ช่วยยัน น้ำหนักตัว ให้นั่งได้ถนัด และล้มยาก ขาขัด อย่างซ้อนกัน ธรรมดา หรือ จะขัดไขว้กัน นั่นแล้วแต่จะชอบ หรือทำได้ คนอ้วนจะขัดขา ไขว้กันอย่างที่ เรียกขัดสมาธิเพชรนั้น ทำได้ยาก และไม่จำเป็น แต่ขอให้นั่งคู้ขามา เพื่อรับน้ำหนักตัว ให้สมดุลย์ล้มยากก็พอแล้ว ขัดสมาธิอย่างเอาจริงเอาจัง ยากๆ แบบต่างๆ นั้น ไว้สำหรับ เมื่อจะเอาจริง อย่างโยคี เถิด

            ในกรณีพิเศษ สำหรับคนป่วย คนไม่ค่อยสบาย หรือแม้แต่คนเหนื่อย จะนั่งอิง หรือนั่งเก้าอี้ หรือเก้าอี้ผ้าใบ สำหรับเอนทอด เล็กน้อย หรือนอนเลยสำหรับคนเจ็บไข้ ก็ทำได้ ทำในที่ ไม่อับอากาศ หายใจได้สบาย ไม่มีอะไรกวน จนเกินไป เสียงอึกทึกที่ดังสม่ำเสมอ และไม่มีความหมายอะไร เช่น เสียงคลื่น เสียงโรงงาน เหล่านี้ ไม่เป็นอุปสรรค (เว้นแต่ จะไป ยึดถือเอาว่า เป็นอุปสรรค เสียเอง)  เสียงที่มี ความหมายต่างๆ (เช่น เสียงคนพูดกัน) นั้นเป็นอุปสรรคแก่ผู้หัดทำ  ถ้าหาที่เงียบเสียงไม่ได้  ก็ให้ถือว่าไม่มีเสียงอะไร  ตั้งใจทำไปก็แล้วกัน  มันจะค่อยได้เอง

            ทั้งที่ตามองเหม่อ ดูปลายจมูกอยู่ ก็สามารถรวมความนึก หรือความรู้สึก หรือเรียกภาษาวัดว่า สติ ไปกำหนด จับอยู่ที่ลมหายใจ เข้าออก ของตัวเองได้ (คนที่ชอบหลับตา ก็หลับตาแล้ว ตั้งแต่ตอนนี้) คนชอบลืมตา ลืมไปได้เรื่อย จนมันค่อยๆหลับของมันเอง เมื่อเป็นสมาธิ มากขึ้นๆ เพื่อจะให้กำหนดได้ง่ายๆ ในชั้นแรกหัด ให้พยายาม หายใจ ให้ยาวที่สุด ที่จะยาวได้ ด้วยการฝืน ทั้งเข้า และออก หลายๆ ครั้งเสียก่อน เพื่อจะได้รู้ของตัวเอง ให้ชัดเจนว่า ลมหายใจ ที่มันลาก เข้าออก เป็นทาง อยู่ภายในนั้น มันลาก ถูก หรือ กระทบ อะไรบ้าง ในลักษณะอย่างไร และกำหนดได้ง่ายๆ ว่า มันไปรู้สึกว่า สุดลง ที่ตรงไหน ที่ในท้อง (โดยเอาความรู้สึก ที่กระเทือนนั้น เป็นเกณฑ์ ไม่ต้องเอาความจริงเป็นเกณฑ์) พอเป็นเครื่องกำหนด ส่วนสุดข้างใน และส่วนสุดข้างนอก ก็กำหนดง่ายๆ เท่าที่จะกำหนดได้ คนธรรมดา จะรู้สึกลมหายใจ กระทบปลาย จะงอยจมูก ให้ถือเอาตรงนั้น เป็นที่สุดข้างนอก (ถ้าคนจมูกแฟบ หน้าหัก ริมฝีปากเชิด ลมจะกระทบ ปลายริมฝีปากบน อย่างนี้ ก็ให้กำหนด เอาที่ตรงนั้น ว่าเป็นที่สุดข้างนอก) แล้วก็จะได้ จุดทั้งข้างนอก และข้างใน โดยกำหนดเอาว่า ที่ปลายจมูก จุดหนึ่ง ที่สะดือจุดหนึ่ง แล้วลมหายใจ ได้ลากตัวมันเอง ไปมา อยู่ระหว่าง จุดสองจุด นี้ ขึ้นลงอยู่เสมอ ทีนี้ ทำใจของเรา ให้เป็นเหมือน อะไรที่คอย วิ่งตามลมนั้น ไม่ยอมพราก ทุกครั้ง ที่หายใจทั้งขึ้น และลง ตลอดเวลา ที่ทำสมาธินี้ นี้จัดเป็นขั้นหนึ่ง ของการกระทำ เรียกกันง่ายๆ ในที่นี้ก่อนว่า ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา"

            กล่าวมาแล้วว่า เริ่มต้นทีเดียว ให้พยายามฝืนหายใจให้ยาวที่สุด และให้แรงๆ และหยาบที่สุด หลายๆ ครั้ง เพื่อให้พบจุดหัวท้าย แล้วพบเส้นที่ลาก อยู่ตรงกลางๆ ได้ชัดเจน เมื่อจิต(หรือสติ) จับหรือ กำหนดตัวลมหายใจ ทึ่เข้าๆ ออกๆ ได้ โดยทำความรู้สึก ที่ๆ ลมมันกระทบ ลากไป แล้วไปสุดลง ที่ตรงไหน แล้วจึงกลับเข้า หรือ กลับออก ก็ตาม ดังนี้แล้ว ก็ค่อยๆ ผ่อน ให้การหายใจนั้น ค่อยๆ เปลี่ยน เป็นหายใจอย่างธรรมดา โดยไม่ต้องฝืน แต่สตินั้น คงที่กำหนดที่ ลมได้ตลอดเวลา ตลอดสาย เช่นเดียวกับเมื่อ แกล้งหายใจหยาบๆ แรงนั้นเหมือนกัน คือกำหนด ได้ตลอดสาย ที่ลมผ่าน จากจุดข้างใน คือ สะดือ (หรือท้องส่วนล่างก็ตาม) ถึงจุดข้างนอก คือ ปลายจมูก (หรือ ปลายริมฝีปากบน แล้วแต่กรณี) ลมหายใจ จะละเอียด หรือ แผ่วลงอย่างไร สติก็คงกำหนด ได้ชัดเจน อยู่เสมอไป โดยให้การกำหนด นั้น ประณีต ละเอียด เข้าตามส่วน ถ้าเผอิญเป็นว่า เกิดกำหนดไม่ได้ เพราะลมละเอียดเกินไป ก็ให้ตั้งต้นหายใจ ให้หยาบ หรือ แรงกันใหม่ (แม้จะไม่เท่าทีแรก ก็เอาพอให้กำหนด ได้ชัดเจน ก็แล้วกัน) กำหนดกันไปใหม่ จนให้มีสติ รู้สึก อยู่ที่ ลมหายใจ ไม่มีขาดตอน ให้จนได้ คือ จนกระทั่ง หายใจอยู่ตามธรรมดา ไม่มีฝืนอะไร ก็กำหนดได้ตลอด มันยาว หรือสั้นแค่ไหน ก็รู้ มันหนัก หรือเบาเพียงไหน มันก็รู้พร้อม อยู่ในนั้น เพราะสติ เพียงแต่คอยเกาะแจอยู่ ติดตามไปมา อยู่กับลม ตลอดเวลา ทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ทำการบริกรรม ในขั้น "วิ่งตามไปกับลม" ได้สำเร็จ การทำไม่สำเร็จนั้น คือ สติ (หรือความนึก) ไม่อยู่กับลม ตลอดเวลา เผลอเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันหนีไปอยู่ บ้านช่อง เรือกสวนไร่นา เสียเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้ มารู้เมื่อ มันไปแล้ว และก็ไม่รู้ว่า มันไปเมื่อไหร่ โดยอาการอย่างไร เป็นต้น (webmaster - อาการดังกล่าวนี้ที่เกิดขึ้น มักเกิดขึ้นได้ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ จิตส่งออกไปปรุงแต่ง หรือเกิดอาการตกภวังค์)  พอรู้ ก็จับตัวมันมาใหม่ และฝึกกันไป กว่าจะได้ ในขั้นนี้ ครั้งหนึ่ง ๑๐ นาที เป็นอย่างน้อย แล้วจึงค่อยฝึกขั้นต่อไป

            ขั้นต่อไป ซึ่งเรียกว่า บริกรรมขั้นที่สอง หรือ ขั้น "ดักดู อยู่แต่ ตรงที่แห่งใด แห่งหนึ่ง" นั้น จะทำต่อเมื่อ ทำขั้นแรก ข้างต้นได้แล้ว เป็นดีที่สุด (หรือใคร จะสามารถ ข้ามมาทำขั้นที่สอง นี้ได้เลย ก็ไม่ว่า) ในขั้นนี้ จะให้สติ (หรือความนึก) คอยดักกำหนด อยู่ตรงที่ใด แห่งหนึ่ง โดยเลิก การวิ่งตามลมเสีย ให้กำหนดความรู้สึก เมื่อลมหายใจ เข้าไปถึง ที่สุดข้างใน (คือสะดือ) ครั้งหนึ่ง แล้วปล่อยว่าง หรือวางเฉย แล้วมากำหนด รู้สึกกัน เมื่อลมออก มากระทบ ที่สุดข้างนอก (คือปลายจมูก) อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ปล่อยว่าง หรือ วางเฉย จนมีการกระทบ ส่วนสุดข้างใน (คือสะดือ) อีก ทำนองนี้ เรื่อยไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเป็นขณะที่ปล่อยว่าง หรือ วางเฉย นั้น จิตก็ไม่ได้หนี ไปอยู่บ้านช่อง ไร่นา หรือที่ไหน เลยเหมือนกัน แปลว่า สติคอยกำหนด ที่ส่วนสุด ข้างในแห่งหนึ่ง ข้างนอกแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้น ปล่อยเงียบ หรือ ว่าง เมื่อทำได้อย่างนี้เป็นที่แน่นอนแล้ว ก็เลิกกำหนด ข้างในเสีย คงกำหนด แต่ข้างนอก คือที่ปลายจมูก แห่งเดียวก็ได้ สติคอยเฝ้ากำหนด อยู่แต่ที่ จะงอยจมูก ไม่ว่าลมจะกระทบ เมื่อหายใจเข้า หรือเมื่อหายใจออก ก็ตาม ให้กำหนดรู้ ทุกครั้ง สมมติเรียกว่า เฝ้าแต่ตรงที่ ปากประตู ให้มีความรู้สึก ครั้งหนึ่งๆ เมื่อลมผ่าน นอกนั้น ว่าง หรือ เงียบ ระยะกลาง ที่ว่าง หรือ เงียบ นั้น จิตไม่ได้หนี ไปอยู่ที่บ้านช่อง หรือที่ไหน อีกเหมือนกัน ทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ทำบริกรรมในขั้น "ดักอยู่แต่ ในที่แห่งหนึ่ง" นั้น ได้สำเร็จ จะไม่สำเร็จ ก็ตรงที่จิตหนีไป เสียเมื่อไหร่ ก็ไม่รู้ มันกลับเข้าไป ในประตู หรือ เข้าประตูแล้ว ลอดหนีไปทางไหนเสียก็ได้ ทั้งนี้เพราะระยะที่ว่าง หรือ เงียบนั้น เป็นไปไม่ถูกต้อง และทำไม่ดีมาตั้งแต่ข้างต้น ของขั้นนี้ เพราะฉะนั้น ควรทำให้ดี หนักแน่น และแม่นยำ มาตั้งแต่ขั้นแรก คือ ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" นั้นทีเดียว

            แม้ขั้นต้นที่สุด หรือที่เรียกว่า ขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" ก็ไม่ใช่ทำได้โดยง่าย สำหรับทุกคน และเมื่อทำได้ ก็มีผลเกินคาดมาแล้ว ทั้งทางกายและทางใจ จึงควรทำให้ได้ และทำให้เสมอๆ จนเป็นของเล่น อย่างการบริหารกาย มีเวลา สองนาทีก็ทำ เริ่มหายใจ ให้แรงจนกระดูกลั่น ก็ยิ่งดี จนมีเสียงหวีด หรือ ซูดซาด ก็ได้ แล้วค่อยผ่อน ให้เบาไปๆ จนเข้า ระดับปรกติ ของมัน ตามธรรมดาที่คนเราหายใจ อยู่นั้น ไม่ใช่ระดับปรกติ แต่ว่า ต่ำกว่า หรือ น้อยกว่าปรกติ โดยไม่รู้สึกตัว โดยเฉพาะ เมื่อทำกิจการงานต่างๆ หรือ อยู่ในอิริยาบถ ที่ไม่เป็นอิสระ นั้น ลมหายใจของตัวเอง อยู่ในลักษณะ ที่ต่ำกว่าปรกติ ที่ควรจะเป็น ทั้งที่ตนเอง ไม่ทราบได้ เพราะฉะนั้น จึงให้เริ่มด้วย หายใจอย่างรุนแรง เสียก่อน แล้วจึงค่อยปล่อย ให้เป็นไป ตามปรกติ อย่างนี้ จะได้ลมหายใจ ที่เป็นสายกลาง หรือ พอดี และทำร่างกาย ให้อยู่ในสภาพ ปรกติด้วย เหมาะสำหรับ จะกำหนด เป็นนิมิต ของอานาปานสติ ในขั้นต้น นี้ด้วย ขอย้ำ อีกครั้งหนึ่งว่า การบริกรรมขั้นต้น ที่สุดนี้ ขอให้ทำ จนเป็นของเล่นปรกติ สำหรับทุกคน และทุกโอกาสเถิด จะมีประโยชน์ ในส่วนสุขภาพ ทั้งทางกาย และทางใจ อย่างยิ่ง แล้วจะเป็น บันได สำหรับขั้นที่สอง ต่อไปอีกด้วย

            แท้จริง ความแตกต่างกัน ในระหว่างขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" กับขั้น "ดักดูอยู่เป็นแห่งๆ" นั้น มีไม่มากมายอะไรนัก เป็นแต่เป็นการผ่อนให้ประณีตเข้า คือ มีระยะ การกำหนดด้วยสติ น้อยเข้า แต่คงมีผล คือ จิตหนีไปไม่ได้ เท่ากัน เพื่อให้เข้าใจง่าย จะเปรียบกับ พี่เลี้ยง ไกวเปลเด็ก อยู่ข้างเสาเปล ขั้นแรก จับเด็กใส่ลงในเปล แล้วเด็กมันยัง ไม่ง่วง ยังคอยจะดิ้น หรือ ลุกออกจากเปล ในขั้นนี้ พี่เลี้ยง จะต้องคอย จับตาดู แหงนหน้าไปมา ดูเปล ไม่ให้วางตาได้ ซ้ายที ขวาที อยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เด็ก มีโอกาสตกลงมา จากเปลได้ ครั้นเด็กชักจะยอมนอน คือ ไม่ค่อยดิ้นรนแล้ว พี่เลี้ยง ก็หมดความจำเป็น ที่จะต้อง แหงนหน้าไปมา ซ้ายทีขวาที ตามระยะ ที่เปลไกวไป ไกวมา พี่เลี้ยง คงเพียงแต่ มองเด็ก เมื่อเปลไกว มาตรงหน้าตน เท่านั้น ก็พอแล้ว มองแต่เพียง ครั้งหนึ่งๆ เป็นระยะๆ ขณะที่เปลไกว ไปมา ตรงหน้าตน พอดี เด็กก็ไม่มีโอกาส ลงจากเปล เหมือนกัน เพราะ เด็กชักจะยอมนอน ขึ้นมา ดังกล่าวมาแล้ว ระยะแรก ของการบริกรรม กำหนดลมหายใจ ในขั้น "วิ่งตามตลอดเวลา" นี้ ก็เปรียบกันได้กับ ระยะที่พี่เลี้ยง ต้องคอยส่ายหน้าไปมา ตามเปลที่ไกว ไม่ให้วางตาได้ ส่วนระยะที่สอง ที่กำหนดลมหายใจเฉพาะที่ปลายจมูก หรือที่เรียกว่า ขั้น "ดักอยู่ แห่งใดแห่งหนึ่ง" นั้น ก็คือ ขั้นที่ เด็กชักจะง่วง และยอมนอน จนพี่เลี้ยง จับตาดูเฉพาะ เมื่อเปลไกว มาตรงหน้าตน นั่นเอง

            เมื่อฝึกหัด มาได้ถึง ขั้นที่สอง นี้อย่างเต็มที่ ก็อาจฝึกต่อไป ถึงขั้นที่ ผ่อนระยะการกำหนดของสติ ให้ประณีตเข้าๆ จนเกิดสมาธิ ชนิดที่แน่วแน่ เป็นลำดับไป จนถึงเป็นฌาณ ขั้นใด ขั้นหนึ่ง ได้ ซึ่งพ้นไปจาก สมาธิอย่างง่ายๆ ในขั้นต้นๆ สำหรับ คนธรรมดาทั่วไป และไม่สามารถ นำมากล่าว รวมกัน ไว้ในที่นี้ เพราะเป็นเรื่อง ที่ละเอียด รัดกุม มีหลักเกณฑ์ ซับซ้อน ต้องศึกษากัน เฉพาะผู้สนใจ ถึงขั้นนั้น

            ในชั้นนี้ เพียงแต่ขอให้สนใจ ในขั้นมูลฐาน กันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็น ของเคยชิน เป็นธรรมดา อันอาจจะ ตะล่อมเข้าเป็น ชั้นสูงขึ้นไป ตามลำดับ ในภายหลัง ขอให้ ฆราวาสทั่วไป ได้มีโอกาส ทำสมาธิ ชนิดที่อาจทำ ประโยชน์ทั้ง ทางกาย และทางใจ สมความต้องการ ในขั้นต้น เสียชั้นหนึ่งก่อน เพื่อจะได้เป็นผู้ชื่อว่า มีศีล สมาธิ ปัญญา ครบสามประการ หรือ มีความเป็น ผู้ประกอบตนอยู่ใน มรรคมีองค์แปดประการ ได้ครบถ้วน แม้ในขั้นต้น ก็ยังดีกว่า ไม่มีเป็นไหนๆ กายจะระงับ ลงไปกว่า ที่เป็นอยู่ ตามปรกติ ก็ด้วยการฝึกสมาธิ สูงขึ้นไป ตามลำดับๆ เท่านั้น และจะได้พบ "สิ่งที่มนุษย์ ควรจะได้พบ" อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ไม่เสียที ที่เกิดมา. 

     

    หอสมุดธรรมทาน

    ๒๘ สิงหาคม ๒๔๙๑
บันทึกการเข้า

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 08:55:20 am »
0
    จาก อานาปานสติสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
บันทึกการเข้า

นิด_หน่อย

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 90
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 12:59:19 pm »
0
รออ่านในเล่มใหม่ ดีกว่า คะ ส่วนฉบับ พุทธวัจจนะ ของวัดนาป่าพง ลองโหลดอ่านดูก็ได้คะ

 :c017:
บันทึกการเข้า
พุทโธ อะระหัง พุทโธ จะท่องให้ขึ้นใจ

sathukrab

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +6/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 64
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2010, 07:27:59 am »
0
ก็ดีครับ จะได้หาอ่านได้ง่ายในหมวดนี้ แต่ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่รวบรวมมานั้น

เพื่ออะไรครับ ?

 ก็อนุโมทนาด้วยครับ ผมพอจะเข้าใจเหมือนกัน ว่าผมเองก็อยากช่วยโพสต์ แต่บางทีก็มึนเหมือนกันครับ

ว่าจะโพสต์ เรื่องอะไรลงไปดี กลัวว่าโพสต์ลงไปแล้ว โดนด่า โดนตำหนิ หรือ เพื่อนรู้แล้ว

นี่ผมเห็นว่าดีนะครับ ว่ามีคนกล้าโพสต์ ให้อ่าน

 สาธุ ครับ สาูธุ...
 :25:
บันทึกการเข้า
พุทโธ อะระหัง พุทโธ ธัมโม อะระหัง พุทโธ สังโฆ อะระหัง พุทโธ อะหัง วันทามิ
ยศและลาภหาบไปไม่ได้แน่ เว้นเสียแต่ต้นทุนบุญกุศล
ทิ้งสมบัติทั้งหลาย ให้ปวงชน ร่างของตนเขายังเอาไปเผาไฟ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รวมเรื่อง อานาปานสติ เท่าทีจะหาได้ จ้า.....
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2014, 09:22:38 am »
0
อานาปานสติ ที่มีอยู่ใน พระไตรปิฏก
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา