ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กรณียเมตตสูตร ว่าด้วย การเจริญเมตตา และการปฏิบัติตนเพื่อนำไปสู่ "การบรรลุมรรคผล"  (อ่าน 2316 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ขุทฺทกปาเฐ กรณียเมตฺตสุตฺตํ

[๑] กรณียมตฺถกุสเลน   ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจุํ
      สกฺโก อุชู จ สุหุชู จ   สุวโจ จสฺส มุทุ อนติมานี
[๒] สนฺตุสฺสโก จ สุภโร จ   อปฺปกิจฺโจ จ สลฺลหุกวุตฺติ
      สนฺตินฺทฺริโย จ นิปโก จ   อปฺปคพฺโภ กุเลสุ อนนุคิทฺโธ ฯ

[๓] น จ ขุทฺทํ สมาจเร กิญฺจิ   เยน วิญฺญู ปเร อุปวเทยฺยุํ ฯ
      สุขิโน วา เขมิโน โหนฺตุ   สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา
[๔] เยเกจิ ปาณภูตตฺถิ   ตสา วา ถาวรา วา อนวเสสา
      ทีฆา วา เย มหนฺตา วา   มชฺฌิมา รสฺสกา อณุกถูลา

[๕] ทิฏฺฐา วา เย จ อทิฏฺฐา   เย จ ทูเร วสนฺติ อวิทูเร
      ภูตา วา สมฺภเวสี วา   สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา
[๖] น ปโร ปรํ นิกุพฺเพถ   นาติมญฺเญถ กตฺถจิ นํ กิญฺจิ
      พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญา   นาญฺญมญฺญสฺส ทุกฺขมิจฺเฉยฺย ฯ

[๗] มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํ   อายุสา เอกปุตฺตมนุรกฺเข
      เอวมฺปิ สพฺพภูเตสุ   มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
[๘] เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ   มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
      อุทฺธํ อโธ จ ติริยญฺจ   อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ

[๙] ติฏฺฐญฺจรํ นิสินฺโน วา   สยาโน วา ยาว ตสฺส วิคตมิทฺโธ
      เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย   พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ ฯ
[๑๐] ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม   สีลวา ทสฺสเนน สมฺปนฺโน
        กาเมสุ วิเนยฺย เคธํ   น หิ ชาตุ คพฺภเสยฺยํ ปุนเรตีติ ฯ

          เมตฺตสุตฺตํ นิฏฺฐิตํ ฯ
          ขุทฺทกปาโฐ สมตฺโต ฯ


_______________________________________________________________________
ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=25&item=10&items=1
   

เมตตสูตร ว่าด้วยการแผ่เมตตา

(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า ดังนี้)
[๑] ผู้ฉลาดในประโยชน์มุ่งหวังบรรลุสันตบท(๑-) ควรบำเพ็ญกรณียกิจ(๒-)
      ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[๒] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย(๓-) มีความประพฤติเบา(๔-)
      มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง(๕-) ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย

[๓] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใดๆ ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
      (ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า) ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[๔] คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง(๖-) ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
      เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
      ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด

[๕] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี
      ภูตหรือสัมภเวสี(๗-)ก็ดี ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๖] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
      ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความโกรธและความแค้น

[๗] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
      ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[๘] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ กว้างขวาง
      ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด ทั้งชั้นบน(๘-) ชั้นล่าง(๙-) และชั้นกลาง(๑๐-)

[๙] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ควรตั้งสติ(๑๑-)นี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
      นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[๑๐] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ(๑๒-) มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ(๑๓-)
       กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป

          เมตตสูตร จบ
          ขุททกปาฐะ จบ



เชิงอรรถ :-

(๑-) สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
(๒-) กรณียกิจ หมายถึง การศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตรงกันข้ามกับ อกรณียกิจ คือ สีลวิบัติทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
(๓-) มีกิจน้อย ในที่นี้หมายถึง ไม่ขวนขวายการงานต่างๆ ที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่พูดคุยเพ้อเจ้อ ไม่คลุกคลีหมู่คณะ ปล่อยวางหน้าที่รับผิดชอบ งานก่อสร้าง งานบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเป็นหลัก (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
(๔-) มีความประพฤติเบา ในที่นี้หมายถึง มีเพียงบริขาร ๘ เช่น บาตร จีวร เป็นต้น ไม่สะสมสิ่งของมากให้เป็นภาระ เหมือนนกมีเพียงปีกบินไปฉะนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
(๕-) ไม่คะนอง หมายถึง ไม่คะนองกาย วาจา และใจ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๗)
(๖-) หวาดสะดุ้ง หมายถึง มีตัณหาและความกลัวภัย มั่นคง หมายถึง บรรลุอรหัตตผล เพราะละตัณหาและความกลัวภัยได้ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๐)
(๗-) ในที่นี้ ภูต หมายถึง พระอรหันตขีณาสพ สัมภเวสี หมายถึง พระเสขะและปุถุชนผู้ยังต้องแสวงหาที่เกิดต่อไป เพราะยังละภวสังโยชน์ไม่ได้ , อีกนัยหนึ่ง ในกำเนิด ๔. สัตว์ที่เกิดในไข่และเกิดในครรภ์ ถ้ายังไม่เจาะเปลือกไข่หรือคลอดจากครรภ์ออกมา ยังเรียกว่า สัมภเวสี ต่อเมื่อเจาะเปลือกไข่หรือคลอดออกมา เรียกว่า ภูต , พวกสังเสทชะ(เกิดที่ชื้นแฉะ) และพวกโอปปาติกะ(เกิดผุดขึ้น) ในขณะจิตแรก ก็เรียกว่า สัมภเวสี , ตั้งแต่ขณะจิตที่ ๒ เป็นต้นไป เรียกว่า ภูต (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๑)
(๘-) ชั้นบน หมายถึง อรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
(๙-) ชั้นล่าง หมายถึง กามภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
(๑๐-) ชั้นกลาง หมายถึง รูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
(๑๑-) สติ หมายถึง เมตตาฌานัสสติ คือ สติที่ประกอบด้วยเมตตาฌาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๔)
(๑๒-) ทิฏฐิ หมายถึงทิฏฐิที่ว่า “กองแห่งสังขารล้วนๆ จัดเป็นสัตว์ไม่ได้” (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๕) และดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๑/๒๒๘
(๑๓-) ทัสสนะ หมายถึง โสดาปัตติมัคคสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในชั้นสุทธาวาส แล้วบรรลุอรหัตตผลในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกต่อไป (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๕)


ที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
http://www.84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=9
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 06, 2018, 09:58:50 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


กรณียเมตตสูตร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กรณียเมตตสูตร หรือ เมตตสูตร เป็นพระสูตรในขุททกปาฐะ ขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา และการปฏิบัติตนเพื่อเจริญธรรม นำไปสู่การบรรลุมรรคผลในท้ายที่สุด พระสูตรนี้มีลักษณะเป็นคาถาจำนวน 10 บท โดยมีฉันทลักษณ์เป็นแบบคีติโบราณ (Old Giti) อันเป็นฉันทลักษณ์แบบเก่าแก่ที่สุเดแบบหนึ่งในฉันทลักษณ์ภาษาบาลี(1)

ทั้งนี้ กรณียเมตตสูตร บางครั้งเรียกว่า เมตตปริตร เนื่องจากใช้สวดเป็นพระปริตร เพื่อป้องกัน คุ้มครองภยันตรายต่าง ๆ รวมอยู่ในบทสวด 7 ตำนาน หรือจุลราชปริตร และบทสวด 12 ตำนาน หรือ มหาราชปริตร อีกทั้งยังจัดเป็นมหาปริตร หรือพระปริตรซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวด อันประกอบด้วยมงคลสูตร รัตนสูตร และกรณียมเตตสูตร(2)

@@@@@@

ที่มา

ตัวบทของพระสูตรที่ปรากฏในขุททกปาฐะ ในขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก มีเพียงพระคาถา 10 บท มิได้ระบุถึงที่มาของการตรัสพระสุตรแต่อย่างใด ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในพระสูตรอื่นๆ ในขุททกปาฐะ ทว่า ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาอธิบายความในขุททกปาฐะ ได้อธิบายไว้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสพระสูตรนี้ที่สาวัตถี เพื่อให้บรรดาพระภิกษุได้เจริญเมตตาเพื่อยังความร่ำเย็น เป็นสุข และเพื่อความเป็นมิตรต่อสัตว์ทั้งหลาย มิให้เบียดเบียนกัน

โดยที่มาของพระสูตรเกิดขึ้นเมื่อพระภิกษุประมาณ 500 รูป ได้เรียนกรรมฐานจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นได้เดินทางไปแสวงหาเสนาสนะที่เป็นสัปปายะ สุดท้ายพระภิกษุทั้งหมดได้บำเพ็ญพระกรรมฐานอยู่ตามโคนไม้ ณ ป่าหิมวันต์ ในปัจจันตประเท(3)

อย่างไรก็ตาม บรรดาารุกขเทวดาและเทพยดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้ ต่างต้องลงมาจากวิมานของตน เนื่องจากบรรดาพระภิกษุได้กระทำความเพียรอยู่ ณ โคนต้นไม้ เมื่อได้รับความลำบาก และคิดว่าพระภิกษุเหล่านี้ต้องกระทำความเพียรตลอดพรรษาไม่อาจจะไปที่ไหนได้อีก จะยังความลำบากให้แก่พวกตนและลุกหลานของตนอีกยาวนาน บรรดารุกขเทวดาและเทพยดาในถิ่นนั้น จึงรวมตัวกันแสดงอาการอันน่ากลัว แล้วหลอก เพื่อขับไล่พระภิกษุเหล่านั้น(4)

พระภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากกายลำบากใจอย่างยิ่งที่ถูกบรรดารุกขเทวดาและเทพยดาจำแลงกายหลอกหลอนตน จนไม่อาจบำเพ็ญเพียรเจริญพระกรรมฐานได้ ต่อมาจึงพากันเดินทางไปยังนครสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสดับเรื่องราวแล้ว ทรงมีพระดำรัสให้ภิกษุทั้งหลายกลับไปเจริญพระกรรมฐานยังสถานที่แห่งเดิม แล้วจึงทรงตรัสเมตตสูตร เพื่อให้ภิกษุทั้ง 500 รูปได้เจริญเมตตาโปรดรุกขเทวดาเทพยดาทั้งหลาย ให้หยุดจองเวรเสีย (5)


@@@@@@

เนื้อหา

เนื้อหาของพระสูตรนี้ เป็นคาถามีทั้งหมด 10 บท สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน กล่าวคือ บทที่ 1 - บทที่ 3 เป็นการแนะนำการปฏิบัติตน เพื่อให้เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน ตรวจสอบคุณสมบัติให้อยู่ในกรอบอันดีงาม พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำได้ และทำให้เป็นคนมีเมตตา แสดงความเอื้อเฟื้อต่อสรรพสัตว์อยู่เป็นนิจ

    ซึ่งโดยสรุปแล้ว เนื้อหาส่วนแรก ได้ระบุถึง คุณสมบัติของบุคคลอันพึงประสงค์ไว้ดังนี้
    1. สักโก เป็นคนกล้าหาญ
    2. อุชุ เป็นคนตรง คือมีกายสุจริต วจีสุจริต
    3. สหุชุ เป็นคนตรงจริง ๆ คือมีมโนสุจริตด้วย
    4. สุวะโจ เป็นคนว่านอนสอนง่าย
    5. มุทุ เป็นคนอ่อนโยน
    6. อะนะติมานี เป็นคนไม่หยิ่ง ไม่ถือตัว
    7. สันตุสสะโก เป็นคนสันโดษ
    8. สุภะโร เป็นคนเลี้ยงง่าย
    9. อัปปะกิจโจ เป็นคนไม่แบกภาระมาก มีห่วงมาก
  10. สัลละหุกะวุฒติ เบากาย เบาใจ
  11. สันติณตริโย เป็นผู้สำรวมอินทรีย์
  12. นิปะโก เป็นผู้มีปัญญารักษาตัว
  13. อัปปะคัพโภ เป็นคนไม่คะนอง
  14. กุเลสุ อะนะนุทคิทโธ เป็นผู้ไม่ติดในตระกูล

@@@@

ส่วนที่ 2 คือ ระหว่างบทที่ 4. - บทที่ 5. เป็นการแผ่เมตตา และ
ส่วนที่ 3 ระหว่างบทที่ 6. - บทที่ 10. เป็นการเจริญพรหมวิหาร และอานิสงส์ของการเจริญพรหมวิหารว่า สามารถนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้ ดังที่ระบุผลไว้บทที่ 10 ดังนี้

    1. ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน หรือ "ท่านผู้เจริญเมตตาจิต ที่ละความเห็นผิดแล้ว มีศีล มีความเห็นชอบ" ในบาทที่ 1 ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุโสดาบัน กล่าวคือ พระอริยะบุคคลผู้มีสัมมาทิษฐิ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ปราศจากความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยและอริยสัจสี่ และมีศีลครบถ้วน อันคุณสมบัติสังเขปของลักษณะพระโสดาบันที่สามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
    2. กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง หรือ "ขจัดความใคร่ในกามได้" ในบาทที่ 3 ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุสกทาคามี กล่าวคือ พระอริยะบุคคลผู้สามารถละกามฉันทะ และปฏิฆะ อันหมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ
   3.  นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ หรือ "จะไม่กลับมาเกิดอีกเป็นแน่แท้" ในบาทที่ 4 หรือบาทสุดท้าย ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุอนาคามี คือ พระอริยะบุคคลผู้ไม่กลับบมาเกิดอีก บำเพ็ญเพียรภาวนาต่อไปในพรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะบรรลุอรหันต์นิพพานจากพรหมโลก


@@@@@@

การสวดสาธยาย

กรณียเมตตสูตร เป็นหนึ่งในพระปริตร นิยมใช้สวดกัน เพื่อป้องกันภยันตรายทั้งหลาย มิให้มากร้ำกราย และเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของที่มาพระสูตร ที่ปรากฏในอรรถกถา นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่า พระสูตรนี้เป็นที่ยำเกรงของภูติผีปีศาจ และทำให้ผู้สวดสาธยายเป็นที่รักใคร่ในหมู่เทพยดาทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม การสาธยายพระสูตรนี้ ยังมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต เนื่องจากเป็นพระสูตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนถึงแนวทางการในการปฏิบัติให้เป็นที่รักใคร่ ให้เป็นผู้มีเสน่ห์ ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน ตรวจสอบตนเองให้พ้นจากการกระทำชั่ว และเจริญเมตตาอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งไม่เพียงยังความสงบแก่จิตใจของตนเองเท่านั้น แต่ยังความสงบสันติแก่สรรพสัตว์และสากลโลกอีกด้วย นับเป็นพระสูตรที่มีคุณประโยชน์มหาศาล

วศิน อินทสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงพระสูตรนี้ว่า เป็นการแสดงคุณสมบัติของผู้ปรารถนาสันติ คือทางแห่งผู้สงบ หรือทางแห่งคนดี หรือบัณฑิต ดังพุทธภาษิตที่ว่า บัณฑิตชอบสันติ (ความสงบ) (สนฺติมิจฺฉนฺติ ปณฺฑิตา)(6)



อ้างอิง
1. An Outline of the Metresin the Pali Canon
2. David J. Kalupahana. (2001). หน้า 139
3. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 332
4. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 333
5. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 335
6. วศิน อินทสระ. (2554). คุณสมบัติของผู้มุ่งสันตบท. หน้า 7 - 8

บรรณานุกรม
    - พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1
    - ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1
    - สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา พระทรวงวัฒนธรรม.
    - วศิน อินทสระ. (2554). คุณสมบัติของผู้มุ่งสันตบท. กรุงเทพฯ. ชมรมกัลยาณธรรม
    - David J. Kalupahana. (2001). Buddhist Thought and Ritual. Delhi. Motilal Banarsidass.
    - Anandajoti Bhikkhu. An Outline of the Metresin the Pali Canon.ใน http://www.buddhanet-de.net/ancient-buddhist-texts/Textual-Studies/Outline/index.htm
    - Anandajoti Bhikkhu. Main Metres in the Pali Canon. ใน http://www.ancient-buddhist-texts.net/Reference/Main-Metres.htm
    - Metrical Units. ใน http://www.chantpali.org/popups/primer_metta.html

แนะนำให้อ่าน
อรรถกถาเมตตสูตร , อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ กรณียเมตตสูตรในขุททกปาฐะ  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=10

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/กรณียเมตตสูตร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 06, 2018, 10:24:01 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


กรณียเมตตสูตรนี้ถูกใช้เป็นยันต์ของดาบสรีกัญไชย ยันต์นี้จะถูกตอกลงบนดาบ ดาบสรีกัญไชยเป็นดาบของแผ่นดินล้านนา มีคำกล่าวของคนล้านนาว่า "ยันต์ดาบสรีกัญไชยนี้เป็นพญายันต์ ห้ามไปใช้ในทางที่ผิด" ในส่วนตัวผมเอง ก็เพิ่งรู้ว่าพระปริตรนี้นำไปเป็นยันต์ได้ ใช่ในการขับไล่สิ่งชัวร้าย เรื่องยันต์นี้เป็นเหตุให้ผมค้นหารายละเอียดในพระสูตร เพื่อนำมาโพสต์ในครั้งนี้

จากการอ่านอรรถกถา ทำให้ทราบว่า การเจริญเมตตาจิตเป็นกรรมฐานที่เหมาะสำหรับคนที่มี "โทสะจริต"  และในอรรถกถานี้ยังสาระสำคัญที่น่าสนใจ(ตามอัธยาศัยของผม) อีกสองเรื่อง คือ

@@@@@@

เรื่องที่ 1. คาถาที่ ๘ เป็นการแผ่เมตตาไปตามทิศทั้งสาม คือ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และทิศเบื้องขวาง ในอรรถกถาอธิบายไว้ว่า
     เบื้องบนก็ตั้งแต่ภวัคคพรหมลงมา ,เบื้องล่างก็ตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นไป ,เบื้องขวางก็ตั้งแต่ทิศที่เหลือ หรือ
     เบื้องบนก็ได้แก่ อรูปธาตุ ,เบื้องล่างก็ได้แก่ กามธาตุ ,เบื้องขวางก็ได้แก่ รูปธาตุ

ลักษณะการแผ่เมตตานี้ ครูบาอาจารย์ของกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ได้นำมาเป็นคำแผ่เมตตา ดังนี้ครับ
    อิมินาปุญญะกัมเมนะ อิมินาอุทิสเสนะ
    ด้วยกุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้นี้
    ขออุทิศส่งให้แด่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
    ไม่เลือกหน้า ตั้งแต่ฝ่ายบนจนถึงพรหมา
    ฝ่ายใต้ตั้งแต่อเวจี ขึ้นมาจนถึงมนุษยโลกนี้
    โดยรอบจักรวาล อนันตจักรวาล อันหาที่สุดมิได้
    จงรับเอาบุญกุศลของข้าพเจ้านี้ เทอญ...


@@@@

เรื่องที่ 2. ในคาถาที่ ๑๐. เป็นอานิสงส์ของการเจริญเมตตา หากอ่านในพระสูตร กรรมฐานกองนี้มีอานิสงส์ไม่ถึงอรหันต์ สูงสุดแค่อนาคามี คือ จะไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
    ในคาถานี้มีความไม่กระจ่างในเรื่องอนาคามี เพราะในอรรถกถากล่าวว่า
    "ภิกษุแม้เหล่านั้นก็พากันเจริญเมตตา ทำเมตตานั้นให้เป็นบาท เริ่มวิปัสสนาก็บรรลุพระอรหัต"

    ที่น่าแปลกใจก็คือ ภิกษุทั้งหมดที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้เจริญเมตตาจนบรรลุอรหันต์ทุกรูป ภายในพรรษานั้นเอง

    เพื่อให้ได้อรรถรสแห่งธรรม ขอนำข้อธรรมในอรรถกถามาแสดง 2 คาถา ดังนี้ครับ

    @@@@@@

    พรรณนาคาถาที่ ๘  
           
    พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งทรงแสดงเมตตาภาวนาโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้
    บัดนี้ เมื่อทรงแสดงการเจริญเมตตาภาวนานั้นนั่นแล จึงตรัสว่า เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ เป็นต้น.
    ในคาถานั้น ชื่อว่า มิตร เพราะรักและรักษา. อธิบายว่า ห่วงใย เพราะมีอัธยาศัยมุ่งประโยชน์เกื้อกูล และรักษาให้พ้นจากการมาถึงของสิ่งไม่เป็นประโยชน์. ความเป็นแห่งมิตร ชื่อว่าเมตตา.

    บทว่า สพฺพโลกสฺมึ ได้แก่ ในสัตว์โลกไม่เหลือเลย.
    มีในใจ เหตุนั้นจึงชื่อว่า มานสะ. ก็คำว่า มานสํ นั้น ท่านกล่าวอย่างนี้ก็เพราะประกอบกับจิต.
    บทว่า ภาวเย แปลว่า ให้เจริญ. ประมาณของมานสะนั้นไม่มี เหตุนั้นจึงชื่อว่า อปริมาณ. ท่านกล่าวอย่างนี้ ก็เพราะเมตตามีสัตว์ไม่มีประมาณเป็นอารมณ์.

    บทว่า อุทฺธํ แปลว่า เบื้องบน. ทรงถือเอาอรูปภพด้วยบทนั้น.
    บทว่า อโธ แปลว่า เบื้องล่าง. ทรงถือเอากามภพด้วยบทนั้น.
    บทว่า ติริยํ ได้แก่เบื้องขวาง. ทรงถือเอารูปภพด้วยบทนั้น.

    บทว่า อสมฺพาธํ ได้แก่ เว้นจากความคับแคบ. ท่านอธิบายว่า มีขอบเขตอันแตกแล้ว [ไม่มีขอบเขต].
    ข้าศึกท่านเรียกชื่อว่า ขอบเขต. อธิบายว่า เป็นไปในที่ไม่มีขอบเขตนั้น.
    บทว่า อเวรํ ได้แก่ เว้นจากเวร อธิบายว่า เว้นจากความปรากฏแห่งเจตนาก่อเวรแม้ในระหว่างๆ.
    บทว่า อสปตฺตํ ได้แก่ ปราศจากข้าศึก.

    @@@@

    จริงอยู่ บุคคลผู้อยู่ด้วยเมตตา ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของพวกอมนุษย์. ข้าศึกไรๆ ของเขาย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น มานัสสิ่งที่มีในใจของเขานั้น ท่านจึงเรียกว่า อสปัตตะ เพราะปราศจากข้าศึก. ก็คำที่ว่า ข้าศึก ศัตรู เป็นคำโดยปริยาย.
    การพรรณนาความตามบทมีเท่านี้ ส่วนการแสดงความที่ประสงค์ในที่นี้ มีดังนี้.

    พึงเจริญขยายเมตตาที่ตรัสไว้ว่า เอวมฺปิ สพฺพภูเตสุ มานสํ ภาวเย อปริมาณํ ดังนี้
    แผ่เมตตาที่มีอยู่ในใจไม่มีประมาณ ให้บรรลุถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในโลกทั้งปวง.
    ทำอย่างไร. คือ แผ่เมตตานั้นไปไม่เหลือ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างเบื้องขวาง คือเบื้องบนก็ตั้งแต่ภวัคคพรหมลงมา เบื้องล่างก็ตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นไป เบื้องขวางก็ตั้งแต่ทิศที่เหลือ หรือเบื้องบนก็ได้แก่อรูปธาตุ เบื้องล่างก็ได้แก่กามธาตุ เบื้องขวางก็ได้แก่รูปธาตุ

    @@@@

    ก็แลเมื่อเจริญเมตตาอยู่อย่างนี้ กระทำไม่ให้มีความคับแคบเวรและข้าศึก พึงเจริญเมตตานั้นโดยประการที่ไม่มีความคับแคบ ไม่มีเวรและไม่มีข้าศึก. หรือว่า เมตตานั้นถึงภาวนาสัมปทา เป็นคุณชื่อว่าไม่คับแคบ เพราะเป็นโอกาสโลกทั้งปวง (คือ ๓๑ ภูมิ) เป็นคุณชื่อว่าไม่มีเวร
    เพราะกำจัดความอาฆาตของตนในสัตว์อื่นเสีย เป็นคุณชื่อว่าไม่มีข้าศึก เพราะกำจัดความอาฆาตของสัตว์อื่นในตนเสีย ก็พึงเจริญขยายเมตตาอันมีในใจนั้น ที่ไม่คับแคบ ที่ไม่มีเวร ที่ไม่มีข้าศึก ไม่มีประมาณไปในโลกทั้งปวง โดยกำหนดทิศทั้งสาม คือ เบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง.


    @@@@@@

   พรรณนาคาถาที่ ๑๐ 
             
    พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนาประการต่างๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพราะเหตุที่เมตตาใกล้ต่ออัตตทิฏฐิความเห็นว่าเป็นตน เพราะมีสัตว์เป็นอารมณ์ ฉะนั้น เมื่อทรงแสดงการบรรลุอริยภูมิ ทำเมตตาฌานนั้นนั่นและให้เป็นบาทแก่ภิกษุเหล่านั้น โดยยกการห้าม การถือทิฏฐิขึ้นนำหน้า จึงทรงจบเทศนาด้วยคาถานี้ว่า ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม เป็นต้น.

    คาถานั้นมีความว่า
    การอยู่ด้วยเมตตาฌานนี้ใด ทรงสรรเสริญไว้ว่า พรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวการอยู่นั้นว่าพรหมวิหารในพระธรรมวินัยนี้ ผู้เจริญเมตตาออกจากการอยู่ด้วยเมตตาฌานนั้นแล้ว กำหนด [นาม] ธรรม มิวิตกวิจารเป็นต้นในที่นั้น และรูปธรรมตามแนวการกำหนด [นาม]ธรรมเหล่านั้นเป็นต้น แล้วกำหนดอรูปธรรม และด้วยการกำหนดนามรูปนี้ก็ไม่ยึดทิฏฐิอย่างนี้ว่า นี้กองสังขารอันบริสุทธิ์ บุคคลย่อมถือไม่ได้ว่าสัตว์ในสังขารนี้ ดังนี้

     เป็นผู้มีศีลโดยโลกุตรศีลตามลำดับ ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ ที่เข้าใจกันว่าสัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติมรรค ซึ่งประกอบด้วยโลกุตรศีล
     ต่อจากนั้น ก็นำออก ขจัดระงับความหมกมุ่นในกามทั้งหลาย คือกิเลสกามที่ยังละไม่ได้ ด้วยการทำให้เบาบางด้วยสกทาคามิมรรคและอนาคามิมรรค และด้วยการละไม่ให้เหลือเลย ก็ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์มารดาอีก คือ ไม่ต้องนอนในครรภ์อีกอย่างแน่นอน ได้แก่บังเกิดในหมู่เทพชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย บรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้นนั่นเอง.

     @@@@

     พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจบเทศนาอย่างนี้แล้วตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า
     ไปเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอยู่ในราวป่านั้นนั่นแหละ และจงเคาะระฆังในวันธรรมสวนะ ๘ วันต่อเดือน แล้วจงสวดพระสูตรนี้ จงทำธรรมกถากล่าวธรรม สนทนาธรรม อนุโมทนากัน จงซ่องเสพ เจริญทำให้มากซึ่งกรรมฐานนี้นี่แหละ พวกอมนุษย์แม้เหล่านั้นจักไม่แสดงอารมณ์น่าสะพึงกลัวนั้น จักเป็นผู้หวังดี หวังประโยชน์แก่พวกเธอแน่แท้

     ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธดำรัสแล้ว ลุกจากอาสนะ กราบถวายบังคมแล้ว ทำประทักษิณ ไปในราวป่านั้นแล้วทำตามที่ทรงสอนทุกประการ.
     เทวดาทั้งหลายเกิดปีติโสมนัสว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย ช่างหวังดีหวังประโยชน์แก่พวกเรา. ก็พากันเก็บกวาดเสนาสนะเอง จัดแจงน้ำร้อน นวดหลัง นวดเท้า จัดวางอารักขาไว้ ภิกษุแม้เหล่านั้นก็พากันเจริญเมตตา ทำเมตตานั้นให้เป็นบาท เริ่มวิปัสสนาก็บรรลุพระอรหัต อันเป็นผลเลิศภายในไตรมาสนั้นนั่นเองหมดทุกรูป ปวารณาด้วยวิสุทธิปวารณา ในวันมหาปวารณา ออกพรรษาแล.

     @@@@

     พระตถาคตผู้เป็นเจ้าแห่งธรรม ผู้ทรงฉลาดในประโยชน์ ตรัสกรณียเมตตสูตรอันมีประโยชน์ด้วยประการฉะนี้.
     ภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญาบริบูรณ์ ได้รับความสงบแห่งหฤทัยอย่างยิ่ง ก็บรรลุสันตบท. เพราะฉะนั้นแล วิญญูชนผู้ประสงค์จะบรรลุสันตบทอันเป็นอมตะ ที่น่าอัศจรรย์ อันพระอริยเจ้ารักอยู่ ก็พึงทำกรณียะอันมีประโยชน์ ต่างโดยศีลสมาธิปัญญาอันไร้มลทิน ต่อเนื่องไม่ขาดสาย เทอญ.


ที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ กรณียเมตตสูตรในขุททกปาฐะ
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=10
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 06, 2018, 12:55:23 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ