ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ที่มาของ การ ‘บวช’  (อ่าน 247 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ที่มาของ การ ‘บวช’
« เมื่อ: พฤศจิกายน 22, 2022, 07:33:42 am »
0



ที่มาของ การ ‘บวช’

เดือนกรกฎาคมนี้ มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอยู่ ๒ วัน คือ วันที่ ๑๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นการบูชาในเดือน ๘ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาที่เรียกชื่อว่า ‘ธัมมจักกัปปวัตนสูตร’ แก่ปัญจวัคคีย์ ๕ รูป คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ

การแสดงธรรมครั้งนี้ทำให้โกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า

    “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ”
   แปลว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”


ดังนั้น คำว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” จึงเป็นชื่อของท่านนับแต่นั้นมา และท่านอัญญาโกณฑัญญะก็ทูลขออุปสมบท เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแด่ท่านโกณฑัญญะ ซึ่งมีพระสังฆรัตนะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก และครบเป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นครั้งแรกเช่นกัน


@@@@@@@

ส่วนในวันที่ ๑๘ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุต้องอยู่จำพรรษา ๓ เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น นอกจากมีกิจจำเป็น และวันเข้าพรรษานี้พระพุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็นิยมบำเพ็ญบุญกุศลถือศีลฟังธรรมในวันพระตลอด ๓ เดือน คนหนุ่มอายุครบ ๒๐ ปี ก็จะออกบวชเป็นภิกษุตามประเพณีนิยมของชาวพุทธไทย

ที่ถือว่า การได้บวชในพระพุทธศาสนานั้นเป็นการทดแทนคุณบิดามารดา และเป็นการฝึกอบรมตน ให้เป็นคนดีมีศีลมีธรรม มีความอดทนอดกลั้นในการดำเนินชีวิตในวันข้างหน้า คนที่ได้บวชเรียนแล้ว สึกหาลาเพศไปเป็นคฤหัสถ์ โบราณท่านเรียกว่า “บัณฑิต” แต่คำนี้คนไทยไม่ค่อยถนัดในการพูด จึงเพี้ยนมาเป็น “ทิด” ซึ่งไม่ตรงกับความหมายเดิมที่แปลว่า “ผู้รู้”

เมื่อพูดถึงการบวชแล้ว ก็จะขอนำวิธีการบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนามาเล่าไว้โดยสังเขป ดังต่อไปนี้

@@@@@@@

๑. เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา การบวชที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ

      ก. ทรงประทานการบวชแบบเอหิ ภิกขุ แก่ผู้เห็นธรรมแต่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ด้วยพระดำรัสว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ผู้ที่ได้รับ เอหิ ภิกขุ นี้ รูปแรก คือ ท่านอัญญาโกณฑัญญะ

      ข. ทรงประทานเอหิ ภิกขุ แก่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ด้วยพระดำรัสว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” ไม่มีคำว่า “เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” เพราะผู้ทูลขอบวชนั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ผู้ที่ได้รับเอหิ ภิกขุ ตามแบบที่สองนี้ คือ พระยสะ ซึ่งเป็นบุตรของมหาเศรษฐีในเมืองพาราณสี

๒. การบวชด้วยวิธีไตรสรณาคมน์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในแว่นแคว้นต่างๆ มี ผู้ศรัทธาจะบวชในพระพุทธศาสนา พระสาวกต้องพาผู้ศรัทธามาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลขอบวชจากพระองค์ ในบางครั้งบางกรณีต้องเดินทางไกลกันดาร เป็นความยากลำบาก แก่พระสาวกและผู้ศรัทธาที่จะมาเฝ้าทูลขอบวช

     พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชผู้ศรัทธาได้ด้วยตนเอง โดยให้โกนผม โกนหนวด ครองผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วเปล่งวาจา ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ๓ ครั้งว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุ

     แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชด้วยวิธีไตรสรณาคมน์นี้ก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงประทานการบวชด้วย “เอหิ ภิกขุ” อยู่คู่กันไป จึงเป็นอันว่ามีการบวช ๒ วิธี ที่ใช้พร้อมกันในเวลานั้น และภิกษุผู้บวชด้วยวิธีนี้ไม่มีชื่อปรากฏ

๓. การบวชด้วยญัตติจตุตถกรรม เมื่อมีพระสงฆ์เป็นจำนวนมากขึ้น การบริหารการพระศาสนามีข้อวัตรปฏิบัติที่รัดกุมพอที่จะวางใจให้สิทธิให้อำนาจแก่คณะสงฆ์ได้ ก็ทรงเปลี่ยนการบวชให้เป็นอย่างวิธีรับคนเข้าหมู่คณะหรือสมาคม คือให้ทำพิธีบวชในสงฆ์ ซึ่งเป็นคณะภิกษุ

     โดยมีพระพุทธบัญญัติว่า ในมัธยมประเทศ ซึ่งหาพระได้ง่าย การบวชต้องทำในคณะสงฆ์ ๑๐ รูป ถ้าเป็นปัจจันตประเทศ คือประเทศชายแดน ซึ่งหาพระยาก กำหนดให้มีพระ ๕ รูป ถือเป็นคณะสงฆ์ บวชผู้ศรัทธาได้ ผู้ที่ได้บวชโดยวิธีนี้เป็นคนแรกคือ พระราธะ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระสารีบุตร

    การบวชด้วยญัตติจตุตถกรรมนี้ เป็นการทรงยกอำนาจให้แก่พระสงฆ์ รวมทั้งสิทธิของพระองค์เองที่จะบวชด้วย โดยการยกเลิกวิธีเอหิ ภิกขุ ที่พระองค์ทรงประทานเอง และทรงให้ยกเลิกการบวชด้วยไตรสรณาคมน์อีกด้วย
     ต่อมาเมื่อพระราหุล พระโอรสจะผนวช แต่พระชนมายุไม่ถึง ๒๐ ปี ผนวชเป็นภิกขุไม่ได้ เพราะมีพระชนมายุเพียง ๗ ปีเท่านั้น จึงทรงอนุญาตให้ผนวชเป็นสามเณร ด้วยวิธีไตรสรณาคมน์ ที่เคยบวชภิกษุ มาเป็นการบวชสามเณร แต่นั้นมา พระราหุล จึงถือเป็นสามรเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

     และคำว่า “บวช” นี้โดยทั่วไปมักเรียกรวมกันไปทั้งบวชพระ บวชสามเณร แต่ในศัพท์ทางศาสนาเรียกการบวชสามเณว่า “บรรพชา” เรียกการบวชพระว่า “อุปสมบท” หรือเรียกพร้อมกันไปว่า “บรรพชาอุปสมบท” ในกรณีที่ผู้ต้องการบวชเป็นภิกษุต้องขอบรรพชาเป็นสามเณรก่อน แล้วจึงจะขออุปสมบทได้


@@@@@@@

ผู้จะบวชต้องเป็นชายอายุ ๒๐ ปี มีข้อห้ามบวชมากมายเกินกว่าจะนำมาเขียนในที่นี้ได้ จึงขอนำข้อห้ามที่ไม่ทรงอนุญาตให้บวชเด็ดขาด ดังนี้ คือ
 
     ๑. คนที่ฆ่าพระอรหันต์
     ๒. คนที่เคยทำร้ายภิกษุณี
     ๓. คนที่เคยปลอมเป็นภิกษุ
     ๔. เคยบวชเป็นภิกษุแล้ว แต่ภายหลังไปเข้าลัทธิอื่น แล้วเปลี่ยนใจมาขอบวชอีก ก็บวชไม่ได้
     ๕. คนที่เคยบวช แต่ต้องอาบัติปาราชิก
     ๖. คนที่เคยเป็นภิกษุแล้วทำสังฆเภท คือ ทำลายสงฆ์ให้แตกจากกัน
     ๗. คนที่ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงห้อพระโลหิต คนเหล่านี้แม้ปิดบังตัวเข้ามาบวช ก็ไม่เป็นภิกษุตามพระธรรมวินัย

ปัจจุบัน ประเพณีการบวช ๓ เดือน ในระหว่างการจำพรรษานั้น หาผู้บวชได้น้อยแล้ว เพราะคนวัยหนุ่มนั้นมีการงานและอาชีพที่ต้องกระทำ เนื่องจากประเทศของเราเปลี่ยนแปลงจากประเทศกสิกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม คนจึงมีเวลาว่างน้อยกว่าอดีต ก็ทำให้การพระศาสนานั้นห่างจากคน และคนก็ห่างออกจากศาสนา

วัตถุนิยมต่างๆ หลั่งไหลมาทับถมจิตใจ จนทำให้สังคมที่เคยสงบสุข เป็นสังคมที่ต้องดิ้นรนแข่งขันชิงดีชิงเด่น คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น จนนำไปสู่ลัทธิการผลิต และแสวงหาในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา คนที่ร่ำรวย อยู่แล้วก็ยิ่งทะเยอะทะยานอยากร่ำรวยมากยิ่งขึ้น โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม ศีลธรรมและจรรยาบรรณที่ดีงาม

การที่ไทยจะก้าวไปสู่ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลก คงจะเป็นได้เพียงความคาดหวังเท่านั้น.?




Thank to :-
ภาพ : pinterst
บทความ : จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดย ธมฺมจรถ
URL : https://mgronline.com/dhamma/detail/9510000077993
เผยแพร่ : 3 ก.ค. 2551 08:30 , โดย : MGR Online
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ที่มาของ การ ‘บวช’
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 22, 2022, 07:45:42 am »
0



ความหมาย ของ คำว่า "บวช"

ถามโดย คุณ natural วันที่  6 ต.ค. 2558

ขอเรียนถามความหมายของ คำว่า "บวช" ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาค่ะ ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็นที่ 1. โดย คุณ paderm วันที่ 6 ต.ค. 2558

คำว่า “บวช” เป็นคำที่คนไทยนิยมใช้ มาจากภาษาบาลี "ปพฺพชฺชา” ซึ่งหมายถึง บรรพชา มีรากศัพท์มาจาก ป (ปะ) แปลว่า ทั่ว และ วช (วะชะ) แปลว่า เว้น มาเป็นคำว่า “บรรพชา” แล้วกลายมาเป็นคำว่า “บวช” ในที่สุด

คำว่า “ปพฺพชฺชา” หรือ “บรรพชา” แปลว่า เว้นทั่ว หมายถึง การงดเว้นจากความชั่วทั้งปวง หรือ หมายถึง ออกไป คือ ออกไปจากธุระการงานทุกประเภทของคฤหัสถ์ ผู้ที่ถือบวชในพุทธศาสนา จะได้นามว่า พระบ้าง ภิกษุบ้าง บรรพชิตบ้าง

ในปัจจุบันคำว่า “การบวช” ที่เราพูดกันนั้น มิได้หมายเอาเฉพาะความหมายที่ตรงกับคำว่า “บรรพชา” เท่านั้น แต่หมายถึงคำว่า “อุปสมบท” ด้วย เพราะตามความหมายเดิม บรรพชา หมายถึง การบวชเป็นสามเณรเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “บวช” จึงใช้เป็นคำกลางๆ หากต้องการจะสื่อสารให้รู้ว่า บวชเป็นอะไรก็เพิ่มคำใหม่ต่อท้าย เช่น บวชเณร บวชพระ เป็นต้น

บวช คือ การสละเพศคฤหัสถ์สู่ความเป็นเพศบรรพชิต บวชเพื่ออะไร การบวชเพราะบุคคลนั้นมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และที่สำคัญ เป็นผู้เห็นโทษ ในการครองเรือนจริงๆ จึงเป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนทั้งหมด ไม่ว่าเงินและทอง ทุกๆ อย่างที่สมควรกับคฤหัสถ์ ดังนั้นการบวชจึงไม่ใช่เพื่อตอบแทนพระคุณมารดาบิดา ไม่ใช่เพื่อว่าบวชแล้วจะเป็นบุญ (บุญอยู่ที่จิตไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่ใส่)

ถ้าบวชหนึ่งครั้งก็ถือว่าประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องประเพณีดังเช่นปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของกามคุณ โทษของการครองเรือน และมีศรัทธาที่จะประพฤติตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ทั้งพระวินัยและการศึกษาธรรมอย่างแท้จริงเพื่อถึงการดับกิเลส

นี่คือ จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวชครับ ที่กล่าวมาจึงเป็นการแสดงถึงคำถามที่ว่า บวชเพื่ออะไร ทำไมต้องบวชครับ

     ขออนุโมทนา






Thank to :-
ภาพ : pinterst
URL : https://www.dhammahome.com/webboard/topic/27062
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ