ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โลหะปราสาท สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าแห่งศรัทธา จากมหาอุบาสิกาสู่พระมหากษัตริย์ 2 แผ่น  (อ่าน 640 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



โลหะปราสาท สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าแห่งศรัทธา จากมหาอุบาสิกาสู่พระมหากษัตริย์ 2 แผ่นดิน

โลหะปราสาท สถาปัตยกรรมแห่งศรัทธา การสละทรัพย์สร้าง เป็นศาสนสถานจากโลหะ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ โลหะปราสาทมี 3 แห่งบนโลกคือ โลหะปราสาทที่เกิดจากความศรัทธาของนางวิสาขามหาอุบาสิกาที่ชมพูทวีป โลหะปราสาทของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยแห่งศรีลังกา และโลหะปราสาทของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ผู้สร้าง โลหะปราสาท

โลหะปราสาทแห่งแรกของโลก
โลหะปราสาทแห่งแรกสร้างโดยพลังศรัทธาแห่งมหาอุบาสิกาชื่อว่า นางวิสาขา เป็นบุตรีของธนัญชัยเศรษฐีแห่งกรุงสาวัตถี นางได้ทุนทรัพย์มาสร้างจากการประมูลเครื่องมหาลดาประสาธน์ จึงสร้างปราสาทที่ยอดเป็นทองคำ ซึ่งมี 2 ชั้น และมีห้องทั้งหมด 1000 ห้อง เรียกว่า “มิคารมาตุปราสาท”

@@@@@@

โลหะปราสาทแห่งที่สองของโลก
พุทธสถานแห่งนี้เกิดขึ้นจากพระราชศรัทธาแห่งพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย โดยสถานที่ตั้งของโลหะปราสาท เป็นจุดที่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะได้ถวายดอกไม้แด่พระมหินทเถระ เมื่อดอกไม้ตกลงสู่พื้นแล้วบังเกิดแผ่นดินไหว พระราชาถามพระมหินทเถระถึงสาเหตุของแผ่นดินไหว พระมหินทเถระพยากรณ์ว่า ณ ที่แห่งนี้จะกลายเป็นที่ตั้งของโรงพระอุโบสถ


โลหะปราสาท ที่ประเทศศรีลังกา เกิดจากพระราชศรัทธาแห่งพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย

เมื่อผ่านมาจนถึงสมัยของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยทรงปราบพระราชาของเหล่าทมิฬที่เข้ามายึดครองเมืองหลวงได้สำเร็จ จึงได้สร้าง โลหะปราสาท ในจุดที่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะถวายดอกไม้พระมหินทเถระ การสร้างโลหะปราสาทแห่งที่สองนี้ ถอดแบบมาจากวิมานของเทพธิดามีนามว่า “พรณี” บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ที่เรียกว่าโลหะปราสาท เพราะมุงหลังคาด้วยทองแดงนั่นเอง

โลหะปราสาทนี้มีทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นเป็นที่ประกอบกิจของสงฆ์โดยในแต่ละชั้นจะแบ่งตามระดับญาณของพระภิกษุ ต่อมาถูกไฟไหม้ พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมาคือ พระเจ้าสัทธาติสสะได้ทรงบูรณะใหม่เป็น 7 ชั้น ปัจจุบันหลงเหลือแต่เสาดังที่เห็นในภาพ

@@@@@@

โลหะปราสาทแห่งที่สามของโลก
โลหะปราสาทแห่งที่สามเกิดขึ้นจากพระราชศรัทธาแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระราชศรัทธาแรงกล้า ทรงทำนุบำรุงศาสนสถานมามากมาย ด้วยความสนพระทัยศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว ทำให้ทรงทราบจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาว่า

มีสตรีในชมพูทวีปและพระมหากษัตริย์แห่งศรีลังกาได้สร้างพุทธศาสนาที่มุงหลังคาด้วยทองและทองแดง พระองค์ทรงเลื่อมใสจึงทรงสร้างโลหะปราสาทขึ้นภายในบริเวณวัดราชนันดารามวรวิหาร โดยโลหะปราสาทแห่งนี้มี 3 ชั้น และยอดปราสาท 37 ยอด ตามจำนวนของพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการนั่นเอง บนยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ


บนยอดสูงสุดของ โลหะปราสาท จะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

โพธิปักขิยธรรม 37 คือ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ คือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้, ธรรมเกื้อหนุนแก่อริยมรรค ประกอบด้วยองค์ธรรมทั้งหมด 37 ประการดังนี้ สติปัฏฐาน 4  สัมมัปปธาน 4  อิทธิบาท 4  อินทรีย์ 5  พละ 5  โพชฌงค์ 7 และ มรรคมีองค์ 8

โลหะปราสาทได้รับการปรับปรุงหลายครั้ง ภายหลังก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ภายหลังพระองค์สวรรคตลง โลหะปราสาทก็มิได้ปรับปรุงแล้วเสร็จ จนกระทั่งได้บูรณะครั้งใหญ่จนแล้วเสร็จในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ปี พ.ศ. 2506 โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ร่วมกันปรับปรุงแล้วเสร็จ เป็นแบบก่อโบกปูนสีแดง มณฑปทาสีขาว


โลหะปราสาท วัดราชนันดาฯ

ในปี พ.ศ. 2539 พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม (ในเวลาต่อมา) ได้ออกแบบวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ ทำให้ออกมาเป็นสีดำ และในปี พ.ศ. 2555 กรมศิลปากรได้ร่วมกับทางวัดบูรณะ มณฑปให้เป็นสีทอง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560


ที่มา ; https://th.wikipedia.org
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ประมวลธรรม โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา โดย ดนัย เพิ่มปรีชาประสิทธิ์
ภาพ : วัดราชนัดดารามวรวิหาร,  www.atsiamtour.com
ขอบคุณ :https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/154136.html
By nintara1991 ,9 May 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ