ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สามเณรีฝึกสมาธิ  (อ่าน 445 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
สามเณรีฝึกสมาธิ
« เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2019, 06:20:53 am »
0



สามเณรีฝึกสมาธิ

ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี มีการจัดบรรพชาสามเณรีชั่วคราว (9 วัน) ปีสองครั้ง คือวันที่ 6 เมษายน และวันที่ 5 ธันวาคม จัดเป็นกิจกรรมหลักของวัตรต่อเนื่องกันมา 11 ปีแล้วค่ะ ครั้งล่าสุดบรรดาสามเณรีเพิ่งลาสึกไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 นี้

ที่ผ่านมาในการสอนนอกจากให้หลักธรรมแก่สามเณรีแล้ว ก็จะเน้นเรื่องการสืบสายภิกษุณีสงฆ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามเณรีที่สึกออกไปแล้ว สามารถตอบคำถามเพื่อนฝูงพี่น้องได้ว่า ตัวเองบวชมาได้อย่างไร

เริ่มในรุ่นที่ 21 ที่ท่านธัมมนันทาเห็นว่า จะต้องฝึกให้มีความเข้มแข็งที่ฐานจิตด้วย เป็นองค์ความรู้ในภาคปฏิบัติที่เมื่อลาสึกออกไปแล้วจะใช้ได้ในชีวิตจริง

ในการฝึกจิตนี้ ให้สามเณรีเข้าเงียบปิดวาจาไปเลย 3 วัน หลวงพี่ที่นำการฝึกจิตคือหลวงพี่ภิกษุณีธัมมปริปุณณา (เดิมคือ ดร.สิรีรัตน์ เชษฐสุมน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

@@@@@@

ตอนบ่าย 4 โมง ท่านธัมมนันทากับหลวงพี่ปริปุณณาจะเป็นอาจารย์ผู้สอบอารมณ์สามเณรีทีละรูปร่วมกัน ใช้เวลาแต่ละรูปประมาณ 15 นาที การที่ใช้คำว่า สอบอารมณ์นี้ก็นำไปสู่ความเข้าใจผิดเยอะเหมือนกัน สำหรับท่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการ ที่จริงก็คือ การที่ผู้ปฏิบัติแต่ละคนจะมีเวลาส่วนตัวกับอาจารย์ในการบอกเล่าสิ่งที่ตนเองปฏิบัติตามที่อาจารย์นำการฝึกสมาธิได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร มีปัญหาอย่างไร มีอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญ ฯลฯ

ในช่วงเช้า ท่านธัมมปริปุณณาจะนำให้ทำสมาธิ 3 ช่วง หมายถึงในเวลา 09.00-11.00 น. นั้น มีการเบรกให้ 3 ช่วง เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ และเปิดโอกาสให้เข้าห้องน้ำบ้างดื่มน้ำบ้าง ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ความร้อนเป็นอุปสรรคมากพอสมควรแก่บรรดาสามเณรีรุ่นที่ 22 นี้

ช่วงบ่าย ก็เช่นกัน ตั้งแต่บ่าย 2 โมง ถึงบ่าย 4 โมง มีเวลาเบรกเท่าๆ กัน


@@@@@@

ปัญหาอุปสรรคที่พบเจอในทุกรุ่น คือนั่งไม่ได้ ต้องนั่งเก้าอี้ ด้วยมีปัญหาที่เข่า บางคนก็อายุมาก บางคนก็มีปัญหาการผ่าตัดเปลี่ยนเข่า ฯลฯ

ท่านธัมมนันทามักจะบ่นดังๆ ว่า ตอนหนุ่มตอนสาวก็ไม่เคยให้ความสนใจ จะมาปฏิบัติตอนแก่ มันก็มีปัญหาอย่างนี้แหละ เอาเท่าที่จะทำได้ เป็นดีที่สุด

ในการฝึกจิตนั้น ท่านปริปุณณาจะนำให้รู้จักและสัมผัสกับความรู้สึกตน โดยการสแกนร่างกายให้มีความรู้สึกตัว ตั้งแต่ศีรษะ บ่า ไหล่ ลงไปที่ลำตัว ช่องท้อง แขน ขา จนไปจรดปลายเท้า ส่วนใหญ่จะทำตามได้

จากนั้น จะฝึกจิตให้เป็นสมาธิโดยพิจารณาลมหายใจ เข้า ออก เห็นว่า มันมีเกิดดับ อยู่ที่ปลายจมูกนี้เอง เมื่อหายใจเข้าจนสุด มันจะผ่อนลมหายใจออกโดยอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติ และเป็นธรรมะ คือ มันเป็นทวิธรรม เป็นธรรมคู่ที่อิงอาศัยกัน เกิดและดับ ในช่วงที่สามเณรีฝึกอยู่กับลมหายใจของตนนี้เอง ที่จะช่วยให้จิตเป็นสมาธิ สมาธิคือ ดิ่ง รวมศูนย์ เป็นหนึ่ง ตรงนี้เป็นช่วงของการฝึกสมาธิ สามเณรีกว่าครึ่งที่สามารถเข้ามาสัมผัสจิตที่มีสภาวะเป็นหนึ่ง บางรูปทำได้ในช่วงสั้นๆ บางรูปก็ทำได้ยาวกว่าคนอื่น เฮอ เฮอ บางรูปก็ไม่ได้เลย



ในวันที่สอง หลวงพี่จะนำเข้าสู่การฝึกจิตระดับวิปัสสนา เมื่อผ่านการฝึกวันแรกที่บรรยายมาแล้วข้างต้น ในการพิจารณาการเกิดดับของลมหายใจเข้าออกนั้น ให้พิจารณาละเอียดลงไปที่จุดดับระหว่างลมหายใจเข้าและออก ตรงจุดดับนั้น มันมีช่องว่างอยู่ พิจารณาให้เห็นชัดๆ พิจารณาต่อไปให้เห็นธรรมะที่สูงขึ้น คือ เห็นความไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่มี ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ตรงนี้เป็นวิปัสสนา

การฝึกจิต ต้องเป็นไปเพื่อการละคลายจากการยึดติดเกาะเกี่ยวไปสู่ภพใหม่ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระนิพพาน  ปฏิบัติแล้วต้องคลาย ต้องเบา จากการยึดติดเกาะเกี่ยวอันเป็นธรรมชาติของจิตที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนอบรม ไม่ว่าจะปฏิบัติได้ในระดับใด อันนี้เป็นภาคทฤษฎี จะฝึกเอาให้ได้ในสองวันนี้ เออ มันไม่ง่ายอย่างนั้นดอกพี่ แต่เอาเถอะ ได้รับการฝึก การสอน การควบคุมก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย


@@@@@@

ในช่วงของการสอบอารมณ์ตอนบ่าย 4 โมง สามเณรีแต่ละคนจะได้พบกับท่านธัมมนันทาพร้อมกับหลวงพี่ผู้เป็นอาจารย์สอนเป็นการส่วนตัว สามเณรีบางคนจะพรรณนาชีวิตเบื้องหลังยาววว ท่านธัมมนันทาจะดึงสามเณรีกลับมา ให้พูดถึงเฉพาะประสบการณ์ที่ฝึกสมาธิ ที่ตนเพิ่งทำในวันนั้น

ท่านปริปุณณาสุภาพมาก ถามนำว่า “เมื่อเช้า นั่งได้เป็นอย่างไร”
สามเณรีบางคนก็ยังงง ต้องถามนำว่า ในช่วงที่ 1 ตอนเช้าเป็นอย่างไร
บางคนก็ตอบซื่อๆ ว่า “ไม่ได้เลยค่ะ ง่วงมาก สัปหงกตลอดเลย”
หลวงพี่ “เออ หลวงพี่ก็เห็นนะ”
บางคนถามว่า “ทำไมหนูนั่งนิ่งได้ตั้งนาน ทำไมหนูไม่เห็นอะไรเลย”

สามเณรีรูปนี้ เข้าใจว่า ถ้านั่งสมาธิแล้วต้องเห็นนั่นเห็นนี่จึงจะเรียกว่านั่งได้ผล ก็ต้องมาแก้ความเข้าใจกันใหม่ว่า ไม่ใช่จุดประสงค์ของการนั่งสมาธิ ถ้าเห็น รูป แสง สี เสียง ก็กำหนดแต่เพียงรู้ แล้วปล่อยไป อาจารย์บางท่านเรียกว่า รู้ ดู วาง เพียงเท่านั้น ถ้าไปสนใจอยากรู้ต่อ ก็กลายเป็นตกเข้าไปสู่จินตนาการ สนุกสนานไปเลย

@@@@@@

หน้าที่แรกของจิตเพียงรู้ อะไรมา อะไรเกิด ก็เพียงรู้ แล้วปล่อยวาง
แต่เรามักคุ้นกับหน้าที่รองของจิต คือ คิด เราก็คิดไปเรื่อย ฟุ้งไปเป็นเรื่องเป็นราว

ที่ผู้สอนได้สัมผัสคราวนี้ พบว่า สามเณรีที่ไม่เคยเรียนการฝึกจิตมาก่อน สอนง่ายกว่าบางรูปที่ว่า เคยทำฝึกมาหลายปีแล้ว กลายเป็นว่าความคุ้นชินที่พระภิกษุเคยสอนไว้นั้น กลายเป็นอุปสรรค บางรูปนั่งให้จิตเป็นสมาธิ จิตว่างสงบ นิ่งอยู่นานเท่าไรยิ่งดี จะได้แผ่กุศลให้พ่อแม่ได้ เพียงจิตว่างสงบนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่พระภิกษุท่านสอนไว้จริง แต่เป็นขั้นสมถะ ตรงนี้ ท่านธัมมนันทาเคยเขียนไว้แล้ว เรียกการปฏิบัตินี้ว่า หินทับหญ้า

หินทับหญ้าไว้นานเพียงใด บริเวณนั้น หญ้าไม่ได้รับแดดก็เป็นสีขาว แต่พอยกหินขึ้น หญ้าก็เขียวชอุ่มตามเดิมเปรียบเหมือนกับกิเลสในใจที่สงบนิ่ง เหมือนกับตอนที่จิตรู้สึกสงบว่าง เมื่อออกจากสมาธิ มีอารมณ์มากระทบ จิตไม่ได้รับการฝึกเพื่อให้ปล่อยวาง ก็จะมีปฏิกิริยากับอารมณ์นั้นๆ ด้วยกิเลสตามเดิม กรณีเช่นนี้ ก็เหมือนกับผู้ที่ไปปฏิบัติที่วัด กลับมาก็ยังด่าสามีได้ชัดเจนและรุนแรงอย่างเดิม สามีก็จะบ่นภรรยาว่า “มันสักแต่ว่าไปวัด ไม่เห็นมันดีขึ้นเลย”


@@@@@@

เราจะเป็นชาวพุทธที่ดีได้ก็ตรงนี้แหละ ที่เรียกว่าไปปฏิบัติ นึกว่า เพียงไปหลับตา นั่งนิ่งได้เป็นชั่วโมง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากภายในเลย เราก็ยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างแท้จริง

ท่านธัมมนันทาท่านเล่าว่า ท่านเรียนทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่เมื่อออกบวช ได้พิจารณาลักษณะทั่วไปของสังคมไทยแล้ว ท่านเลือกที่จะเน้นวิปัสสนาเพื่อความละคลายมากกว่าสมถะ ที่จะพาหลงได้ง่าย

การฝึกฝนจิตนั้น มีทั้งสมถะ และวิปัสสนา ถ้าปฏิบัติเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะใช้การจริงไม่ได้ ถ้ามีเพียงสมถะ ฐานจิตจะแข็งแรง แต่ไม่มีทิศทาง ก็พาหลงไปโลกียวิสัยได้ง่าย ถ้าจะมุ่งเน้นวิปัสสนา ถ้าไม่มีความเข้มแข็งของสมถะมาประกอบ แม้อยากตัดกิเลส ก็เหมือนคนเดินป่าที่ถือมีดทื่อไป จะตัดหนามไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางก็ทำไม่ได้ เพราะมีดที่ถือไปทื่อ ตัดอะไรก็ไม่ขาด

@@@@@@

สามเณรีที่มาฝึกจิตก็จะได้ไปทั้งสองอย่าง ได้ไปเพียงทฤษฎีก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย พอถึงที่สุดที่จะตาย ก็พิจารณาลมหายใจเข้าออกนั้นเอง เป็นองค์วิปัสสนา เห็นเกิดดับ หายใจเข้า ออก พอออกแล้วไม่มีเข้า ตอนนั้นเรียกว่า ดับจริงๆ

ญาติพี่น้องคลานเข้ามาเอานิ้วรอที่จมูกไม่มีลมเข้าแล้ว ก็ว่า “สิ้นลมแล้ว” การฝึกจิตไปถึงระดับนี้ได้ มันจะเกิดการผ่อนคลายอย่างใหญ่หลวง ที่เราแบกไว้หนักอึ้งจนบ่าคุ้มงอ ก็จะคลายได้ตรงนี้ ปฏิบัติแล้ว ต้องเบา คลาย และโล่งจริงๆ สามเณรีบางคนที่ได้เข้าไปสัมผัสเศษเสี้ยวของภาวะจิตเช่นนี้ เมื่อต้องกล่าวคำลาสิกขา ก็จะน้ำตาร่วง

รุ่นล่าสุดนี้มีสามเณรีท่านหนึ่งอายุ 65 ปี เป็นชาวศรีลังกา ในหน้าที่การงานในอดีตเป็นผู้พิพากษาศาลสูง ท่านว่า ได้เข้ามาสัมผัสชีวิตสามเณรีแม้เพียง 9 วัน ก็สมปรารถนาที่รอคอยมานาน....สาธุ (แปลว่า ดีแล้ว)



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2562
คอลัมน์ : ธรรมลีลา
ผู้เขียน : ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_192982
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ