ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กรรมของคนไทยทำกันไว้เอง ตอนที่ ๒."คนเข้มแข็งขึ้นมา บ้านเมืองก็ฟื้นตัวทันที"  (อ่าน 2528 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
กรรมของคนไทย ทำกันไว้เอง
(ถึงเวลามาแก้กรรมกันเสียที)
ธรรมกถาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

- ๒ -
คนเข้มแข็งขึ้นมา   บ้านเมืองก็ฟื้นตัวทันที

อ่านตอนที่ ๑.ได้ที่ http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=634.msg2586#msg2586

เบื่อการเมือง ผลสืบเนื่องจากบ้านเมืองที่เสื่อมสุขภาวะ
หลายปีมาแล้ว คนไทยบ่นกันนัก บอกว่าใจคอไม่สบาย ได้ยินญาติโยมบ่นกันว่าเบื่อการเมือง เบื่อเหลือเกิน แม้แต่ทีวีก็ไม่อยากดู เห็นข่าวที่ออกมา เบื่อมากๆ รีบปิดทันที วิทยุก็ไม่อยากฟัง พอคุยกับคนนั้นคนนี้ เขาก็เบื่อเหมือนกันเวลาผ่านไป สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น สภาพจิตของคนก็หดหู่หนักเข้า จนผู้คนชักจะมีคำพูดใหม่บอกว่า “เบื่อบ้านเมือง” จากเบื่อการเมือง จะกลายเป็นเบื่อบ้านเมือง

ทีนี้ ถ้าเบื่อบ้านเมือง ก็จะแย่หนัก เรียกว่าถึงขั้นหมดทางไป บรรยากาศทั่วไปและเสียงคนพูด เหมือนบอกว่า บ้านเมืองนี้ไม่น่าไว้วางใจแล้ว คนทั้งหลายใจคอไม่ดี เสียความมั่นใจ ขาดศรัทธา ราวกับว่าไม่รักประเทศชาติ ไม่เชื่อถือสังคมของตัว บางท่านถึงกับพูดออกมาว่าไม่อยากอยู่

แล้วประเทศไทยชักจะอยากย้ายประเทศ ย้ายประเทศไม่พอ   จะเปลี่ยนสัญชาติเสียอีก ไม่อยาก
เป็นคนไทยเสียแล้ว คงจะเป็นการพูดแบบประชด เพราะไม่ชอบใจมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร
ทั้งหมดที่เป็นกันอย่างนี้ ถือว่าน่าเห็นใจ แต่จะตามใจไม่ได้ คือ เห็นใจ แต่ไม่อาจตามใจ เป็นเรื่องที่ต้องมองให้ถูก เป็นสภาพแวดล้อมที่เราต้องมีท่าทีที่ถูกต้อง ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา

เรื่องของสังคมนี้ รวมถึงเรื่องการเมืองด้วย เป็นเรื่องของชีวิตของเรา ที่เราต้องเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา มันมีผลต่อชีวิตของทุกๆ คน รวมถึงพระด้วยก็ไม่พ้นสังคมเป็นอย่างไร เช่น คนมีวินัยหรือวุ่นวายสับสน คนส่วนมากยากจนหรืออุดมสมบูรณ์ อยู่กันสงบดีหรือมีอาชญากรรมมาก การเมือง


เป็นอย่างไร มีนโยบายด้านนั้นด้านนี้อย่างไร กระทั่งจะออกกฎหมายแบบไหน ก็มีผลกระทบมาถึ
ทุกคน ตรงบ้าง อ้อมบ้าง จึงอยู่ที่ว่า เราจะอยู่จะทำอย่างไร เริ่มต้นตั้งแต่ว่า จะวางท่าทีวางจิตใจอย่างไร จะมองอย่างไร อย่างน้อยต้องมองเป็น ถ้ามองได้ถูกต้อง อาจจะพลิกสถานการณ์ไปเลยก็ได้บอกแล้วว่า   

ปัญหาของสังคม เรื่องบ้านเมือง อะไรๆ เหล่านี้ เป็นสภาพแวดล้อมใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน แม้แต่จิตใจของเราก็อยู่ในสภาพแวดล้อมอันนี้ และถูกกระทบตลอดเวลา บางทีก็แทบทั้งวัน เข้ามาทางตา ทางหู หรือทางไหน ในที่สุดก็มาถึงและมาu3619 รวมที่ใจ เพราะฉะนั้น มันมีผลแน่นอน ต้องตั้งท่าให้ถูก เตรียมหลักให้ดี ทำความเข้าใจให้แยบคาย คือ ต้องมองให้ถูกต้องนั่นเอง


สังคมไทยได้รับผลกรรม ที่สั่งสมมานาน

สังคมของเรามีปัญหามานานนักหนาเราพูดคำว่า “วิกฤต” กันมานานแล้ว อย่างวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐ ก็ ๑๑ ปีมาแล้ว และตอนนั้น ก็ได้พูดว่า ก่อนจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจนั้น เมืองไทยมีภาวะวิกฤต

ทางสังคมมานานแล้ว แต่เราไม่รู้จักเอาประโยชน์จากสิ่งที่เตือนสติมาตั้งหลัก แล้วใช้ปัญญาพิจารณาหาทางแก้ไข เจอวิกฤตเข้า ก็ตื่นเต้นโวยวายกันวุ่น แต่แล้วก็อยู่กันในความประมาทต่อไปเมื่ออยู่ในความประมาท ไม่ฟื้น ไม่ตื่นแก้ไขปรับปรุงตัว

ต่อมาก็ต้องเจอวิกฤตซ้ำซาก   แล้วมันก็ยิ่งเลื่อนไหลลงไป ใกล้ปากเหวเข้าทุกทีๆ
ที่บอกเมื่อกี้ว่า เห็นใจ แต่ไม่อาจตามใจนั้น ก็คือจะปล่อยไว้หรือปล่อยไปไม่ได้ ขั้นต้นที่สุดคือ ต้อง

ทำความเข้าใจให้ถูกต้องขอให้เข้าใจว่า สภาพสังคมที่เป็นปัญหากันอยู่ทั้งหมดนั้น ต้องบอกว่าเป็นผลกรรมของสังคมนี้เอง ซึ่งสะสมมานาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า สังคมไทยได้รับผลสมกับกรรมของตนเองที่ได้ทำมาทำไมจึงว่าอย่างนั้น เราไม่รู้ตัว เราไม่ได้คิด เรามองไปแต่ที่คนอื่น ว่าเขาเป็น

อย่างนั้นอย่างนี้ ยอมรับเสียเถิดว่า ที่จริง สังคมของเราได้เป็นปัญหามานานแล้ว และพวกเราคนไทยนี่แหละ ที่ได้ร่วมทำกรรมกันมาที่จะให้เป็นอย่างนี้ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ชอบพูดกันว่า ให้มี

ส่วนร่วม เช่น พูดถึงประชาธิปไตย ก็บอกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม นั่นก็ถูกต้อง แต่อย่ามองแค่นั้น ไม่ใช่แค่ว่าจะไปร่วมได้ร่วมเสีย จะไปเอาไปทำเรื่องนั้นเรื่องนี้กับเขา แต่ต้องมอง “ความมีส่วนร่วม” ด้านนี้ด้วย คือต้องมองตัวเราเองว่ามีส่วนร่วมในการที่ได้ทำให้สังคมไทยเป็น

อย่างนี้ และจะต้องร่วมรับผิดชอบ เช่น ในการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตนเองด้วย
ความมีส่วนร่วมด้านนี้สำคัญมาก มองเห็นยาก ลึกกว่า ต้องศึกษาให้ดี อย่ามองข้ามไป ถ้าตีตรงนี้ไม่แตก   จะแก้ปัญหาสังคมไทยทะลุไปไม่ได้

แล้วเราทำกรรมอะไรมาล่ะ? คำว่า “กรรม” ที่จริงมันก็คือการทำเหตุปัจจัยนั่นเอง หมายความว่า เหตุปัจจัยในแง่ที่เป็นเรื่องของคน คือการกระทำของคน ที่เป็นเหตุปัจจัยจากตัวของเขา

เราเรียกว่า กรรม ที่จริงคำว่า กรรม ก็คือเหตุปัจจัย พูดอีกครั้งว่า “กรรม” คือเหตุปัจจัยในแง่ที่เป็นเรื่องของคนกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่มันยากที่เป็นเรื่องของคน หมาย ความว่า คนนี่แหละที่ยาก กรรมไม่ได้ยากอะไร ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะเข้าใจเรื่องกรรม ก็ต้องเข้าใจเรื่องคน

ทีนี้ คนนั่นแหละเป็นเรื่องยาก เพราะคนมีทั้งกายทั้งใจ และในจิตใจก็มีดีมีชั่ว มีคุณธรรม มีกิเลส มีเจตนา ทั้งที่บริสุทธิ์และที่ซ่อนเร้น ทำกรรมกันทั้งทางกาย ทางพูด ทางคิด ทำออกมาในสังคมแล้วยังไปทำเงียบๆ อยู่ในใจของตัวเองอีก มีอะไรต่ออะไรซับซ้อนเหลือเกิน เราจะเข้าใจกรรมได้   

ก็ต้องเข้าใจคน เพราะกรรมเป็นเรื่องของคน เมื่อเข้าใจเรื่องคนแล้ว ก็จะเข้าใจเรื่องกรรมได้ง่าย
เอง ไม่ต้องห่วงเป็นอันว่า เรื่องคนเป็นเรื่องที่ยาก แล้วคนก็ทำกรรม โดยทำไปตามเจตจำนงของตน จะดีหรือร้ายก็แล้วแต่ให้กุศลหรือกิเลสมากำกับขับดันเจตนา และสุดแต่ปัญญาจะอำนวประสิทธิภาพ

ทีนี้ คนไทยเราก็ได้ทำกรรมที่เป็นเหตุปัจจัยกันมาตลอดเวลายาวนาน จนกระทั่งสังคมนี้ผุกร่อนมากแล้ว บางอย่างเหลือแต่ซาก ถ้าเป็นคนที่เจ็บป่วย เมื่อป่วยหนัก ในที่สุดก็เป็นศพ ทีนี้ สังคมเมื่อผุกร่อนมากๆ เข้า ก็กลายเป็นซาก เหมือนกับวัตถุทั้งหลาย เป็นซากอย่างไร เราก็มาดูกัน


นี่แหละ แม้แต่เรื่องของสังคมตัวเอง เราก็ไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็มองไม่เห็นปัญหา เมื่อไม่รู้ปัญหาก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะไปแก้ที่ไหน

สังคมไทยแม้แต่วัฒนธรรมก็เสื่อม แทบจะเหลือแต่ซาก
เมื่อกี้   ที่บอกว่าสังคมไทยเสื่อมโทรมผุกร่อนมากจนจะกลายเป็นซากแล้วนั้น ก็ขอยกตัวอย่างเช่น เมื่อ ๒-๓ วันมานี้ ข่าววิทยุบอกว่า มีคนไปเถียงกันเรื่องการเมือง ในงานศพที่วัด กินเหล้า แล้วก็ยิงกันตาย เอาละ แค่นี้คนเถียงกันในวงเหล้า ยิงกันตายในวัด ข้อความแค่นี้มันบอกอะไรหลายอย่าง

หนึ่ง ในงานศพ กินเหล้า มันก็ไม่เคารพศพแล้ว นี่วัฒนธรรมหายไปไหน
สอง กินเหล้าในวัด คนเมืองพุทธทำอะไรกันในวัด
สาม ฆ่ากันตาย ทั้งในงานศพ และในวัด
สี่ ฆ่ากันตายเพราะเรื่องการเมือง ที่เป็นเรื่องซึ่งจะต้องช่วยกันสร้างสรรค์


การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าว่ากันตามหลักแท้ๆ ก็เป็นงานสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นเรื่องของการมาช่วยกันจัดการบ้านเมืองให้สงบสง่างามเรียบร้อย มีจุดหมายเพื่อจะให้คนทั้งประเทศ
อยู่ดีมีสุข คือทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งชาติ และแม้กระทั่งทั้งโลก

การที่จะถกเถียงเรื่องการเมืองจึงต้องเป็นการเถียงกันด้วยปัญญา   ควรพูดกันให้เป็นเรื่องเป็นราว มาตรวจตราว่าประเทศชาติเจริญงอกงามดีหรือไม่ จะแก้ปัญหาอย่างไร ฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ปัญญา แต่นี่ไปเถียงกันในวงเหล้า แล้วไปพูดกันในวงเหล้า จะไปได้อะไร คนเมาก็ได้แต่โมหะ แล้ว

ก็โมโหกันไปเรื่องนี้มันส่อถึงสภาพของสังคมไทยที่น่ากลัว อย่างที่ว่า เริ่มตั้งแต่ในด้านวัฒนธรรม ที่เป็นสภาพพื้นฐานของสังคม เรื่องของงานศพในวัด ทั้งงานศพ ทั้งกิจกรรมในวัด เป็นเรื่องของวัฒนธรรม แล้วสภาพที่เกิดขึ้น ก็คือ มีการตั้งวงเหล้า กินเหล้า แล้วทะเลาะกัน เถียงกัน ฆ่ากัน

นี่หรือคือบรรยากาศของวัด นี่หรือประเพณีงานศพ มันก็แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมไทยนี้เหลือแต่รูปแบบ สิ่งที่เหลือแต่รูปแบบโดยไม่มีเนื้อหาสาระ ก็คือซากนั่นเอง เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมไทยเวลานี้จึงแทบจะเหลือแต่ซากเท่านั้น

ต่อมา วิทยุอ่านพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ว่า โจ๋ตลุมบอนกันในงานวัด  นี่ก็แสดงถึงสภาพของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน ว่าจะเป็นอนาคตแบบไหนของประเทศชาติ แต่เมื่อเทียบกับข่าวข้างบน อันนี้เป็นเรื่องของเด็ก เรื่องที่เด็กทำอย่างนี้ ก็เบากว่า ก็ผู้ใหญ่ยังไปเถียงกัน ไปฆ่ากันตายในงานศพที่วัด แล้วจะไปเอาอะไรกับเด็ก เราจะไปว่าเด็กได้อย่างไร ผู้ใหญ่ยิ่งหนักกว่า ถึงกับฆ่ากันตาย

รวมแล้ว ก็เทือกเดียวกัน คือโจ๋เหล่านี้ก็กำลังก้าวไปในแนวทางที่จะเป็นอย่างผู้ใหญ่เหล่านั้น
รวมความก็คือ นี่เป็นเรื่องของสภาพสังคมที่เป็นเพียงตัว อย่างให้มองเห็นว่า เวลานี้มันเป็นอย่างไร ถ้าสภาพสังคมเป็นอย่างที่ว่า มีวัฒนธรรมที่เหลือแต่ซากอย่างนี้ เราก็ต้องคิดแก้ไข


อาการป่วยเหล่านี้แพร่ระบาดไปทั่ว ไม่ใช่แค่ว่าคนป่วยทางสังคม คนป่วยทางอารมณ์ คนป่วยทางเศรษฐกิจแล้ว แต่กลายเป็นว่าเศรษฐกิจป่วย การเมืองป่วย และสังคมป่วยเสียเอง
เวลานี้การที่คนมีอาการเบื่อหน่ายขนาดหนักอย่างที่ปรารภกันในตอนต้นนั้น เป็นไปได้ว่าเราอาจจะ

อยู่ในภาวะที่ว่า ทั้งเศรษฐกิจก็ป่วย สังคมก็ป่วย การเมืองก็ป่วย ป่วยกันไปหมด รวมทั้งการพระศาสนาก็ป่วยไปด้วยเมื่อสถาบัน องค์กร กิจการงานของบ้านเมือง  และสังคมส่วนใหญ่มันป่วยเสียเองแล้ว คนที่เป็นส่วนย่อยของสังคมนั้น ก็มีทางที่จะป่วยได้ง่าย

เพราะฉะนั้น เราจะมาแก้ปัญหาในตัวของคนแต่ละคนเท่านั้นไม่พอ แต่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจป่วย สังคมป่วย เป็นต้นนี้ด้วย

ทีนี้ ในการแก้ปัญหา ก็ต้องรู้จักมองย้อนกลับ คือว่า พอสังคมหรือหน่วยใหญ่มันป่วยแล้ว แต่ละคนที่เป็นหน่วยย่อยต้องพลิกตัวกลับขึ้นมาตั้งหลักสังคมที่ป่วยจะหายได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยคนนี่แหละมารักษา ก็คนนี่แหละที่

รวมกันขึ้นเป็นสังคม และเป็นกลไกในการนำและขับเคลื่อนสังคม ถ้าคนไปมัวป่วย ยอบแยบๆ ระย่อ ท้อแท้ หดหู่ เหี่ยวแห้ง หงอยเหงา ซึมเซา หม่นหมอง ขุ่นมัว คับแค้นใจอยู่ คนเป็นอย่างนี้เสียเอง แล้วสังคมมันจะฟื้นคืนดีได้อย่างไร

เมื่อบ้านเมืองสังคมเสื่อมทรุดลงไป คนในบ้านเมืองในสังคมนั้นต้องตั้งหลักให้ได้ เพื่อมาช่วยแก้ไข ตอนนี้กลายเป็นว่าคนนั่นแหละ ต้องตั้งหลักขึ้นมาเพื่อไปรักษาบ้านเมืองที่มันป่วย
 
ทุกท่านจะต้องตั้งหลักขึ้นมาใหม่ อย่าไปคิดว่า บ้านเมืองป่วย แล้วเราก็ละเหี่ยใจ นั่นก็คือเราพลอยป่วยตามบ้านเมืองไปด้วย ก็จะยิ่งแย่กันไปใหญ่ ถ้าเป็นอย่างนั้น ประเทศชาติก็หมดทาง และสิ้นหวัง ถึงเวลาต้องจับหลักให้ได้

ถ้าสังคมล้ม คนต้องลุกขึ้นมาแก้ไข
ตอนแรกเมื่อคนป่วยเป็นรายๆ สังคมต้องช่วยแก้ แต่ถ้าสังคมป่วยเอง คนต้องตั้งหลักให้ได้ แล้วมาแก้ไข หมายความว่า เราต้องมาชวนกัน ทุกท่านทุกคนมาช่วยกันบำบัดเยียวยารักษาสังคมนี้

พอเราตั้งตัวขึ้นมา ใจคิดว่าเราจะเป็นผู้เยียวยาแก้ไข เราก็จะเป็นผู้กระทำขึ้นมาทันที พอรู้สึกตัวว่าเป็นผู้กระทำ เราก็จะมีกำลังขึ้นมา พอเรามีกำลัง เราก็มีสุขภาวะตามมาด้วย ความเสียสุขภาวะที่เป็นอยู่จะเบาไปเลย ใจเราจะหายป่วย

เพราะฉะนั้น ตั้งใจให้ถูก ตั้งหลักขึ้นมาเลย ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเป็นผู้มาแก้ไข มารักษาสังคมนี้ ฟื้นฟูกู้สถาบันต่างๆ รวมถึงพระศาสนาด้วย ถ้าตั้งใจให้ถูกอย่างนี้แล้ว เราจะเข้มแข็งขึ้นมา พอคนมีความเข้มแข็งเป็นหลัก ก็จะเกิดสติ สมาธิ ตามมาโดยง่าย พอสติมา สมาธิมี ปัญญาจะเข้าประจำที่ แล้วก็เริ่มงานฟื้นชีพกันได้ทันที

ถ้าสติไม่มา สมาธิก็ไม่มี ปัญญาหาที่ลงไม่ได้ ก็ขาดที่ทำงาน จะทำงานอะไรก็แกว่งไปหมด   ไม่ได้ผลดี แต่พอเราตั้งหลักได้ วางใจถูก กำลังใจก็เกิดมีและเข้มแข็งขึ้นมา สติก็มา สมาธิก็มี ปัญญาทำงานได้ ก็จะเริ่มเห็นทาง จึงต้องตั้งท่าทีของจิตใจให้ถูกก่อนเวลานี้ปัญหาสำคัญของคนก็คือ เราป่วยกันหลายอย่าง ถ้าป่วยทางกาย ก็จำกัดความป่วยไว้แค่นั้น อย่าขยายมันออกไป

วิธีง่ายๆ ก็เรียกสติมาและทำใจให้ถูก บอกตัวเองว่า “ป่วยแต่กาย แต่ใจไม่ป่วย” เพราะถ้าป่วยใจ หรือป่วยทางอารมณ์แล้ว ก็จะมีผลทำให้ปัญญาง่อย ไม่มีกำลังทำงาน ปัญญาก็จะป่วยไปด้วย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 18, 2011, 09:30:18 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ถ้าป่วยทางปัญญา นับว่าแย่ที่สุด
 
เวลานี้สังคมไทยมีอาการป่วยอย่างร้ายที่สุด คือ ป่วยทางปัญญา ขอให้พิจารณาดูเถิด เวลานี้ปัญหาสุขภาวะที่น่ากลัวที่สุดคือ ความป่วยทางปัญญาความป่วยสองอย่างนี้มันเนื่องกัน คือป่วยทางใจ กับ

ป่วยทางปัญญา   หรือป่วยทางอารมณ์กับป่วยทางปัญญา พออารมณ์เสีย จิตใจไม่ดี ปัญญาก็มืดมัว ถ้าปัญญาไม่มี ใจก็อึดอัดอับจนหาทางออกไม่ได้ ก็คิดเคว้งคว้างออกนอกลู่นอกทาง ทำใจไม่ถูก เลยซ้ำเติมตัวเอง เป็นวงจรร้าย ที่ทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น

ลองหันกลับไปมองดูเถิด ที่ว่า ดูทีวี ฟังข่าววิทยุ เห็นหน้าคน ได้ยินเสียงนายนั้นนายนี้ เห็นเหตุการณ์บ้านเมืองแล้ว เบื่อหน่าย หดหู่ ห่อเหี่ยว ละเหี่ยใจนั้น นี้คือความรู้สึกที่ซบเซาหรืออารมณ์ที่ฝ่อ ซึ่งไม่มีกำลัง มันปิดกั้นปัญญา

แล้วถ้าดูลึกลงไปก็จะเห็นว่าความรู้สึกหรืออารมณ์นั้น เกิดจากการมีท่าทีที่เอาตัวลงเป็นผู้ถูกกระทำ มองตัวเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกคนนั้นคนนี้กระทำ ถูกเหตุการณ์ที่เป็นไปอย่างนั้นมันกระทำกระทบกระแทกเอา เมื่อรู้สึกตัวว่าถูกกระทำๆ อยู่ตลอดเวลา ก็ต้องแย่แน่เป็นธรรมดา

แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องวางท่าทีใหม่ มองตัวเองใหม่   คือ ตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้กระทำ ก่อนนี้ ความรู้สึกเบื่อหน่าย ห่อเหี่ยว มันกลบ มันฝังเราให้จมอยู่กับมัน ก็เลยปิดกั้นปัญญา พอเราตั้งใจใหม่ บอกตัวเองว่า เราจะต้องหาทางช่วยเยียวยาแก้ปัญหาของสังคมนี้ เท่านี้แหละ กำลังก็เกิดมีขึ้น ก็

เปิดรับปัญญาให้เข้ามาได้ทันที พอปัญญาทำงาน เราก็กลับเป็นผู้กระทำไม่ต้องอะไรมาก แค่ตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้ดู เป็นผู้ติดตามเรื่อง มีท่าทีเป็นผู้ศึกษาเหตุการณ์ หรือศึกษาคนนั้นๆ แค่นี้ เรากกลายเป็นผู้กระทำขึ้นมาแล้วพอยกตัวขึ้นมาเป็นผู้กระทำเท่านั้นแหละ ความรู้สึกเบื่อหน่าย ละห้อยละเหี่ย

ก็จะหายไปทันที ถ้าไม่หมด ก็แทบจะหมดไปเลย ความเจ็บป่วยทางอารมณ์ก็หายไป สุขภาวะทางจิตใจก็กลับคืนมา และดีขึ้นๆ พร้อมกับความงอกงามของสุขภาวะทางปัญญา

เพราะฉะนั้น ตั้งท่าทีเสียให้ถูก วางใจอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราจะต้องตั้งตัวขึ้นมาเยียวยาสังคม สามัคคีกันนะ ช่วยกันนะ แค่นี้แหละก็แก้ปัญหาความเจ็บป่วยทางอารมณ์ หรือความป่วยทางจิตใจไปได้ตั้งครึ่งตั้งค่อน ทำให้ด้านอารมณ์ความรู้สึกอยู่ตัวสงบได้

คนไทยมักเอาความรู้สึกเป็นใหญ่ อยู่กับความรู้สึกมาก เพราะฉะนั้น จะต้องแก้ไข เอาปัญญามาเป็นใหญ่ ใช้ปัญญาให้มาก ต้องพัฒนาให้เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมทางปัญญาสูง ต้องยอมรับตัวเองว่า

สังคมไทยนี้อ่อนวัฒนธรรมทางปัญญา เริ่มตั้งแต่ขาดวัฒนธรรมแสวงปัญญาเป็นต้นไป จึงต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมทางปัญญา รวมทั้งวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญานั้นขึ้นมา

คนที่เอาความรู้สึกเป็นใหญ่นั้น   เวลามองอะไร พิจารณาคิดวินิจฉัยตัดสินเรื่องอะไร ไม่ว่าเรื่องการเมือง หรือเรื่องไหนๆ ความรู้สึกหรืออารมณ์จะเข้ามาก่อน แล้วความรู้สึกนั้นก็มักจะครอบงำนำ

เขาไป เช่น จะมองจะชี้ว่า คนนี้ กลุ่มนี้ พรรคนี้ ดี หรือไม่ดี จิตก็มักจะแวบไปที่ความรู้สึกว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจก่อน และติดอยู่แค่นั้น แล้วก็ตัดสินไปตามความรู้สึกที่ชอบหรือไม่ชอบ จบแค่นั้น ถ้าอยู่กันแบบนี้  ทั้งคนและสังคมก็ไม่ไปไหน ตัวคนก็ป่วย แล้วก็พาสังคมให้ป่วย ป่วยไปด้วยกันหมดทั้งสังคม

แสวงหาความรู้ เป็นอยู่ด้วยปัญญา
ตามหลักธรรมนั้น ในการรับรู้ทางตาหู ดูฟัง เป็นต้น ถ้าปล่อยให้ความรู้สึกยินดียินร้ายชอบหรือชังขึ้นมาครอบงำจิตชักนำความคิด ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดขั้นพื้นฐานเลยทีเดียว บุคคลนั้นจะไม่เข้าสู่กระบวนการของการศึกษา จะขาดการพัฒนา ปัญญาจะไม่เจริญงอกงาม

ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ เป็นความรู้สึก เป็นภาวะทางจิตใจที่เรานิยมเรียกว่าทางอารมณ์ ที่จริงเป็นสีสันที่เราใส่ให้แก่อารมณ์ เมื่อเอาความรู้สึกมาเป็นตัวตัดสิน ก็กลายเป็นว่าไปอยู่กับสีสันในใจของตัวเอง คราวนี้ความรู้สึกก็นำไปหมดเลย

คนไหน พวกไหน ที่ตัวชอบ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ดี ก็ถูกต้องไปหมด แต่พอนายคนโน้น พวกโน้น ที่ตัวไม่ชอบ ไม่ว่าจะทำอะไร จะพูดอะไร ก็ไม่ดี ไม่ถูกไปหมด มันกลายเป็นอย่างนี้ไป ขอให้สำรวจดูเองว่าเป็นเช่นนี้หรือเปล่า

เรื่องนี้ ทางพระถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง ท่านให้รู้จักแยกระหว่างความรู้ กับ ความรู้สึก และไม่ให้ติดอยู่กับความรู้สึก ไม่ให้รับรู้ไปตามที่รู้สึก แต่ให้รับรู้เพื่อให้รู้ตามที่มันเป็น ให้เดินหน้าก้าวไปกับความรู้ หาความรู้ให้ถ่องแท้ชัดเจน ให้เป็นปัญญา และให้คิดพิจารณาวินิจฉัยด้วยความรู้ ซึ่งเป็นตัวโยงกับความจริง

อย่างน้อยก็ให้ใช้วิธีการที่จะตัดอิทธิพลของความรู้สึกออกไป โดยเอาธรรมเอาหลักมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน ซึ่งเป็นวิธีการทางปัญญาขั้นพื้นฐาน หมายความว่า ไม่เอาคนเป็นประมาณ ไม่เอาความรู้สึกเป็นเกณฑ์ ไม่เอาอารมณ์มาปรุงแต่งความคิด แต่ให้เป็นปฏิบัติการของปัญญา

ปัญญาเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ ปัญญาก็ถือธรรมเป็นเกณฑ์ หมายความว่า เอาธรรมเป็นประมาณ ตั้งหลักการเป็นเกณฑ์ แล้วที่ว่าเอาธรรมเป็นประมาณ ตั้งหลักการเป็นเกณฑ์นั้น ทำอย่างไร

เราจะวัดจะตัดสินอะไร   ก็ตั้งธรรม คือจับเอาตัวหลักหรือหลักการขึ้นมาตั้งเป็นเกณฑ์ หลักว่าอย่าง
นี้ เช่น หลักความผิดความถูก ความดีความชั่ว หน้าที่ของนักการเมือง ความรับผิดชอบของรัฐ ฯ ล ฯ มีว่าอย่างนี้ๆ แล้วก็ดูว่า นายหรือนางคนนี้ คนกลุ่มนี้ เป็นอย่างไรตามเกณฑ์นี้
อ๋อ… ข้อนี้เสีย ข้อนี้ได้ รวมแล้วได้คะแนนเท่าไร ก็ว่ากันไปตามหลักตามเกณฑ์นั้น

ปัญญามานำ ก็ได้ธรรมเป็นเกณฑ์
เวลานี้ เรามักจะเอาคนเป็นประมาณ แทนที่จะเอาธรรมเป็นประมาณ ก็เลยอยู่กันด้วยความรู้สึก อย่างน้อยก็จะเป็นสังคมที่ไม่เอาหลักไม่เอาเกณฑ์ ก็จะต้องเจอปัญหาด้านนั้นด้านนี้กันเรื่อยไป

เพราะฉะนั้น รีบแก้ไขกันตั้งแต่จุดพื้นฐานนี้เลย ต่อไปนี้ ตั้งธรรมขึ้นมาเป็นหลัก เอาหลักการเป็นเกณฑ์ แล้วก็วัดกันไป อย่างนี้จึงจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง

ทีนี้ เวลาเถียงกัน ก็ไม่ต้องเถียงเรื่องคนแล้ว ใครจะเป็นฝ่ายไหน อยู่พรรคใด ฉันไม่เข้าใครออกใครทั้งนั้น   มาดูกันที่หลักการ เอาธรรมมาวัด ใครจะได้หรือจะเสียคะแนนเท่าไร ก็ว่ากันไปตามเกณฑ์

นี่คือแนววิธีปฏิบัติ ที่เป็นเรื่องทางปัญญา ซึ่งความรู้สึกหรืออารมณ์จะเข้ามาครอบงำได้ยาก
ถ้าไม่มาถึงขั้นธรรมขั้นปัญญา   อย่างที่ว่านั้น ความรู้สึกหรืออารมณ์ก็จะเข้ามาครอบงำ แล้วก็จะทุ่มเถียงกัน เกิดเรื่องเกิดราวกันอย่างที่ว่า ยิงกันตายคาวงเหล้าในงานศพที่วัด เพราะเถียงกันเรื่องการเมือง เรื่องก็เศร้า สังคมก็เหลือแต่ซาก


การเมือง เรื่องของทุกคน
การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ตามหลักการที่เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาช่วยสร้างสรรค์สังคมนี้ให้ดี ไม่ควรจะไปทำให้กลายเป็นเรื่องเลวร้ายเสียหาย

ถ้าภาพของคำว่า “การเมือง” ได้เสียหายตกต่ำไปเพราะการกระทำของคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ต้องแก้ไขให้มันกลับคืนดี ให้เป็นไปตามหลักการ เพราะถึงอย่างไร เมื่อบ้านเมืองยังอยู่ การเมืองก็ยังต้องมี ก็ต้องทำให้มันดีให้ได้ ทำให้มันเป็นประโยชน์ตามความมุ่งหมายที่แท้จริง

พระก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง เกี่ยวอย่างไร พระไม่ยุ่งกับการเมือง แต่ต้องให้ธรรมแก่การเมือง พระให้ธรรมะ โยมก็เอาธรรมะไปเป็นเกณฑ์สำหรับวัดคนและงานการเมืองนั้น แต่พระไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับการวัดโดยไม่จำเป็น พระให้แต่หลักแต่เกณฑ์ที่จะเอาไปวัด โยมก็ไปวัดกันเอง อันนี้เป็นหลักการในการปฏิบัติต่อการเมือง

การเมืองเกี่ยวข้องกับทุกคน แต่ทุกคนเกี่ยวข้องกับการ เมืองไม่เหมือนกัน แต่ละคนเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยวิธีที่ต่างๆ กัน   มีบทบาท มีหน้าที่ต่อการเมืองคนละอย่าง

ถ้าบอกว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับพระ นั่นแน่นอน พระเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็แน่นอนเหมือนกัน แต่ต้องถามต่อไปอีกว่าเกี่ยวข้องอย่างไร ไม่ใช่เข้าไปยุ่ง เลยจะพูดถึงหลักกันนิดหน่อย

เวลานี้ญาติโยมก็อาจจะสงสัยว่า พระจะเกี่ยวข้องกับการ เมืองอย่างไร เอาหลักก่อน หลักการก็พูดอยู่บ่อยๆ แต่ไม่เห็นมีใครสนใจ คือ พระมีหลักสำคัญที่จะต้องปฏิบัติว่า

มิให้กระทำคิหิสังสัคคะอันไม่สมควร (คิหิสังสัคคะ=การคลุกคลีกับคฤหัสถ์) คือไม่ให้คลุกคลีกับชาวบ้าน เพราะฉะนั้น พระจึงไม่เข้าเป็นฝักฝ่ายกับนักการเมืองฝ่ายไหนทั้งสิ้น เป็นกลางต่อทุกคนทุกฝ่ายที่ว่าเป็นกลางนั้น คือเป็นกลางอย่างแท้ เป็นกลางไม่ได้หมายถึงอยู่ระหว่างกลาง หรืออยู่ครึ่งทางระหว่างสองฝ่าย แต่ “กลาง” หมายถึงเสมอกันแก่ทุกคน ไม่เข้าใครออกใคร

พูดง่ายๆ   ว่า เป็นกลาง ก็คือ ไม่ลำเอียง ไม่เอียงไปข้างไหน เอาความถูกต้องเป็นหลัก เรียกว่าถือธรรมเป็นประมาณเหมือนกาลเวลา เหมือนฟ้าดิน หรือเหมือนดินน้ำลมไฟ เวลาไม่รอใคร และมีให้แก่ทุกคนเท่ากันหมด แดด ใครถูกก็ร้อน น้ำ ใครถูกก็เปียก เสมอกันหมด ไม่เลือกรักผลักชัง

เป็นกลางที่แท้คืออยู่กับธรรม ธรรมเป็นของทุกคนเท่าเทียมกัน มันเลยเป็นของกลางถ้วนทั่ว อย่างที่ว่าไม่เข้าใครออกใครทั้งนั้นพระก็เช่นเดียวกัน ไม่เข้าใครออกใคร ถือธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นเกณฑ์วินิจฉัย อยู่กับธรรม จะว่าเป็นตัวแทนของธรรม หรือเป็นสื่อของธรรมก็ได้ พระก็แสดงธรรมไป แล้วโยมก็เอาธรรมนั้นไปวัดกันเข้าไป ธรรมเป็นเรื่องที่ต้องตั้งเป็นเกณฑ์ไว้

เวลานี้เราก็ไม่ค่อยเอาใจใส่ ทั้งหลักการที่ “ถือธรรมเป็นใหญ่” ทั้งหลักการที่พระไม่ทำ “คิหิสังสัคคะ” คนไทยแทบจะไม่รู้เลย

ก่อนจะผ่านตรงนี้ไป  ขอย้ำว่า การที่พระต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างที่ว่านั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเหตุผลที่ว่าการเมืองมีผลกระทบต่อพระด้วย เหมือนกับที่กระทบต่อทุกคนในบ้านเมือง

เหตุผลของพระต่างจากคนอื่นๆ คือ พระต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะการเมืองต้องมีธรรม การเมืองต้องชอบธรรม หรือว่าการเมืองต้องถูกต้องตามธรรม และการเมืองจะต้องมุ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพราะฉะนั้น พระผู้อยู่กับธรรม เป็นผู้ให้ธรรม จึงต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง ด้วยการให้ธรรมแก่การเมือง

ตามหลักการที่พระไม่เข้าไปคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ซึ่งรวมถึงผู้ปกครองและนักการเมืองนี่แหละ ประเทศพุทธศาสนาอย่างไทยเรานี้ จึงมีประเพณีทางการเมืองการปกครอง ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา หรือระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักร เป็นแบบแผนสืบมา นั่นคือประเพณีที่น่าจะเรียกว่า แยกภูมิกันอยู่-ร่วมแผนกันทำ หรือ แยกภูมิ-ประสานแผน ระหว่างพุทธจักรกับอาณาจักร

รับพระราชอำนาจมา ต้องรับราชธรรมมาด้วย
ทีนี้ ก็กลับมาสู่เรื่องที่ว่า   พระมีหน้าที่ให้ธรรมแก่การเมือง ธรรมด้านนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้มากมาย อย่างธรรมสำหรับพระราชา ก็มีทศพิธราชธรรม แล้วก็มี จักรวรรดิวัตร และราชสังคหวัตถุ เป็นต้น

เวลาในหลวงจะเสด็จขึ้นครองราชย์ทุกแผ่นดิน ก็มีพระราช-พิธีบรมราชาภิเษก ในพระราชพิธีนั้น มีการอ่านเนื้อความที่เป็นคำสอนทางพระศาสนา พราหมณ์เป็นผู้อ่าน แต่สิ่งที่อ่าน เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนาหลักธรรมที่อ่านประกาศในพระราชพิธีนั้นเป็นประจำ ก็คือ

๑. ราชธรรม ๑๐ (ทศพิธราชธรรม)
๒. จักรวรรดิวัตร ๑๒
๓. ราชสังคหวัตถุ ๔
๔. ขัตติยพละ ๕


หลักเหล่านี้ เป็นธรรมของนักปกครอง เริ่มที่ผู้ปกครองแผ่นดิน สมัยก่อนก็พระราชา เวลานี้ก็รัฐบาล
เคยพูดว่า เวลานี้เราเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จากราชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยอำนาจก็เปลี่ยนจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ที่ประชาชน แต่ประชาชนมีตัวแทนใช้อำนาจ มีสภาผู้แทน แล้วมี

รัฐบาลเป็นผู้บริหาร ก็คือได้รับพระราชอำนาจมาแต่พระราชา   นอกจากมีอำนาจแล้ว ต้องทรงมีธรรมด้วยในเมืองไทยเรานี้ รัฐบาลรับเอาพระราชอำนาจมาแล้ว แต่มีคำถามว่า รับเอาราชธรรมมาด้วยหรือเปล่า

ตรงนี้คือจุดสำคัญ เมื่อรับพระราชอำนาจมา ต้องรับราชธรรมมาด้วย ถ้าไม่รับราชธรรมมา สุขภาวะทางการเมืองต้องเกิดปัญหาแน่

เวลานี้ ญาติโยมบ่นกันมาก ท่านใดเป็นนักการเมือง ก็ต้องช่วยแก้ปัญหา ด้วยการหันไปสมาทานราชธรรม เวลานี้เราใช้พระราชอำนาจกันเต็มที่ แต่ราชธรรมไม่เคยพูดถึง ย้ำว่า ราชธรรมไม่ใช่มีไว้สำหรับพระราชามหากษัตริย์พระองค์เดียว แต่ใครมาเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ก็ต้องปฏิบัติราชธรรมทั้งนั้น ราชธรรมทั้ง ๔ หมวดที่ว่ามาแล้ว นักการเมืองไทยทุกคนควรต้องรู้   ถ้าคล่องได้ก็จะดี แล้วก็ปฏิบัติตามด้วย

เริ่มตั้งแต่ข้อที่หนึ่ง ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ เอาหลักการ เอาธรรม เป็นหลักใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสินทั่วไป อย่างน้อย rule of law ไม่ใช่เอาความชอบใจของตัว ไม่ใช่เอาผลประโยชน์ของตัว หรืออะไรๆ ก็อัตตาธิปไตยทั้งนั้น อันนี้ก็เรื่องหนึ่ง

“ให้ธรรม” คือหน้าที่ของพระต่อบ้านเมือง
กลับมาพิจารณาเรื่องบทบาทต่อไป เป็นอันว่า พระมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมือง คือให้ธรรมแก่การเมือง ซึ่งแน่นอนว่าคนที่รับหน้าที่สุด ก็คือนักการเมือง และเมื่อให้ธรรม พระก็ต้องเป็นกลางอย่างธรรมนั่นแหละ เรียกว่าต้องเป็นหลักให้แก่สังคม

เมื่อใช้ธรรมเป็นเกณฑ์แล้ว ก็จะมีทางตัดสินโดยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ความรู้สึก ความป่วยทางอารมณ์ ป่วยทางจิตใจ และป่วยทางปัญญาก็จะหายไป การเอาธรรมเป็นเกณฑ์อย่างนี้มันใช้ได้หมด และสามารถแยกได้เป็นระดับๆ   ด้วย อย่างที่ว่า แม้แต่โจรก็ยังต้องมีธรรม หรือมีจรรยาบรรณ

เมื่อกี้พูดถึงชาวบ้านว่า เรามีธรรมสำหรับวัดชาวบ้านว่าได้กี่คะแนน โจรก็มีเหมือนกัน ไปดูสิ ในพระไตรปิฎกก็บอกไว้ในเมืองไทยนี้เอง ได้ยินว่า โจรสมัยโบราณนั้น ชาวบ้านเขารู้กันว่า พวกโจรหัวหน้าใหญ่ถือธรรมเคร่งมาก

ในเรื่องเหล่านี้ ในทำนองที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แต่เวลานี้มันขาดหลักไปหมด แม้แต่โจรก็ไม่มีธรรมของโจรที่ดี ปล้นฆ่ากันเลอะเทอะ ไม่มีหลักการเลย สังคมจึงง่อนแง่นเต็มที แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร อย่างที่ว่าแม้แต่งานวัดก็กินเหล้ากัน ไปงานศพก็กินเหล้า ไม่เคารพคนตาย แม้แต่จริยธรรมขั้นสัมพัทธ์ก็ไม่เหลือ แล้วสังคมจะไม่ใกล้ปากเหวได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น จะต้องมาชำระสะสางสังคมนี้ ยกเครื่องกันใหม่ เอาธรรมะกลับมา ธรรมะก็อยู่ได้ที่คน คือทุกคนต้องตั้งหลักขึ้นมา ว่า เวลานี้สังคมมันป่วย การเมืองมันป่วย ศาสนาก็ป่วย อะไรต่ออะไรป่วยไปหมด เรานี่แหละต้องตั้งหลักขึ้นมาช่วยกัน มาตั้งเจตนาที่ดี มีจิตใจที่ดี เอาปัญญามาช่วยกัน

คิดแก้ไขหาทาง ถือธรรมเป็นประมาณ ใช้ธรรมเป็นหลักการ เป็นเกณฑ์ พอตั้งตัวเริ่มต้นอย่างนี้เราก็เดินหน้าได้นี่เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง  ที่คิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาของประเทศชาติสังคมนี้ได้ ได้ยินว่าญาติโยมอยากให้มีเวลาสำหรับตอบปัญหาบ้าง เอาเป็นว่าบรรยายพอเท่านี้ก่อน ต่อไปนี้ขอให้โยมถามปัญหา


อ้างอิง
หนังสือ กรรมของคนไทย   ทำกันไว้เอง (ถึงเวลา มาแก้กรรมกันเสียที)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ