ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กรรมของคนไทย ทำกันไว้เอง ตอนที่ ๓. "ปฏิกรรม ทำทุกอย่างให้ฟื้น"  (อ่าน 2516 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
กรรมของคนไทย ทำกันไว้เอง ตอนที่ ๓. "ปฏิกรรม ทำทุกอย่างให้ฟื้น"

อย่ามัวแต่รอรับผลกรรม จงลุกขึ้นมาทำปฏิกรรมเร็วไว
ผู้ฟัง: ตอนแรกอยากถามท่านเรื่องการเมืองที่มันรุ่มร้อนในขณะนี้ แต่ท่านก็ได้ตอบมาหมดแล้ว
ท่านเจ้าคุณฯ: อย่างนั้นหรือ การเมืองร้อน ใจเราอย่าร้อน ใจเราสบาย ถ้ามองเป็นแล้ว ไม่เร่าร้อนไปด้วย มองเป็นสนุกบ้างก็ได้ แต่อย่าเอาแค่สนุกนะ


คนที่ทำเรื่องร้อนให้สนุกได้ เป็นคนมีความสามารถมาก แต่คนที่เอาแต่สนุก ก็ใช้ไม่ได้ เอาแค่เป็นการพัฒนาความสามารถ ให้ทำเรื่องที่น่ากลัวให้กลายเป็นเรื่องสนุก แล้วเราก็จะได้พูดกันได้สบายๆ ไม่เครียดให้สมองตื้อตัน แต่ถ้ามัวเอาแต่สนุก ก็เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท บ้านเมืองก็คงจะต้องพินาศล่มจมแน่

ผู้ฟัง: อาจารย์บางท่านบอกว่าเวลานี้ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย จิตว่าง
ท่านเจ้าคุณฯ: ระวัง จะเป็นการพูดแบบแค่ประชดสังคม ต้องตั้งท่าทีใหม่ สังคมป่วย การเมืองป่วย ศาสนาป่วย เราก็ต้องตั้งหลักขึ้นมา เอาคนกลับขึ้นไปเป็นผู้เยียวยาสังคม


แต่ที่อาตมาอยากจะย้ำแล้วลืมพูดไป  คือ เมื่อสังคมนี้รับผลกรรมของตนเองแล้ว จะแก้ไขอย่างไร
ตอบง่ายๆ ก็บอกว่า ก็แก้กรรมซิ การแก้กรรมนี้ ไม่ใช่เป็นการพูดล้อเล่น แต่เป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งเลยทีเดียว มีศัพท์เรียกด้วยว่า ปฏิกรรมเวลานี้ เราเอาคำว่า “แก้กรรม” มาใช้กันเหมือนเป็นเรื่องไสยศาสตร์ จะเรียกว่าน่าสังเวช หรืออะไรก็แล้วแต่ อาจถึงขั้นที่ควรเรียกว่า น่าอเนจอนาถ ก็ได้

การแก้กรรมตามหลักที่แท้ คือ ปฏิกรรม นั้น เป็นเรื่องสำคัญ เวลานี้ เราเอาคำว่า “ปฏิกรรม” ในรูปต่างๆ มาใช้เป็นศัพท์บัญญัติสมัยใหม่ในหลายความหมาย เช่น ค่าปฏิกรรมสงคราม เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู พวกนั้นมีปฏิกิริยา ฯลฯ (ปฏิกรณ์, ปฏิกรรม, ปฏิกิริยา ตลอดจนปฏิการ เป็นคำเดียวกันแต่ต่างรูปทางไวยากรณ์)

แต่ในภาษาพระ“ปฏิกรรม” เป็นศัพท์หลักสำคัญอยู่ในเรื่องกรรม ซึ่งชาวพุทธไทยแทบจะไม่พูดถึงเลยในความหมายแบบพื้นๆ ถ้าอะไรเสียหาย มันเสื่อมโทรมไป หรือเราทำอะไรไปผิดพลาด ก็ให้ปฏิกรรม
ฟังดูก็ง่ายๆ ปฏิกรรม ก็คือการแก้ไข แต่พอเอาจริง ก็เป็นเรื่องใหญ่ ถึงขั้นต้องตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขเลย เวลานี้สังคมของเรา ก็ถึงเวลาที่จะต้องปฏิกรรม เข้าขั้นนี้แล้ว

หลักปฏิกรรม พูดง่ายๆ คือ หลักการu3649 แก้ไข การทำให้กลับคืนดี การละเลิกกรรมที่ชั่วเลวผิดพลาดเสียหาย เปลี่ยนหรือหันไปทำกรรมที่ดีแทน หรือเรื่องที่ทำไปขาดตกบกพร่อง ก็ปรับแก้ใหม่ให้เต็มให้สมบูรณ์ ตลอดจนการกลับตัว การจัดการแก้ไขความผิดพลาดอะไรต่างๆ เพื่อพลิกกลับให้เป็นไปในทางที่ดี เป็นปฏิกรรมทั้งนั้น รวมทั้งการเยียวยาแก้ไขบำบัดโรค ก็เป็นปฏิกรรมอย่างหนึ่งด้วยปฏิกรรมเป็นหลักที่ดีมีอยู่ แต่เรากลับไม่รู้ แล้วก็ไม่ใช้ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักกรรมนั่นเอง
 
เพราะฉะนั้น มันจึงรวมอยู่ในเรื่องใหญ่ที่คนไทยเป็นปัญหากันนักหนา คือหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนาเรื่องกรรม ที่คนไทยซึ่งบอกว่าตัวเป็นชาวพุทธ ไม่รู้ไม่เข้าใจ แถมถือเพี้ยนทำผิดพลาดออกนอกทางกันไปไกล จนแม้แต่เอากรรมไปทำเป็นไสยศาสตร์ ที่ตรงกันข้ามกับพุทธศาสนา

ปฏิกรรมด่วนของสังคมไทย คือแก้ไขพัฒนาคุณภาพของคน
ในเมื่อบอกว่าคนไทย  หรือสังคมไทย กำลังรับผลที่สมกับกรรมของตน กรรมของตนคือกรรมของสังคมนี้ ที่ทำกันมาเป็นเวลายาวนาน คือกรรมอะไร แล้วเมื่อแก้ไข จะทำอย่างไร

คำตอบมีว่า ผลกรรมใหญ่ของสังคมไทย เป็นปัญหาเรื่องคน และปัญหานั้นลึกเลยทีเดียว คือ ปัญหาคุณภาพคนถ้าใช้ภาษาตามหลักกรรม ก็บอกว่า คนไทยอ่อนในกุศล คือกุศลมีกำลังน้อย อยากได้กุศลง่ายๆ โดยใช้วิธีลัด แต่พอจะให้ทำกุศลจริงๆ ก็ไม่สู้ พัฒนาก้าวหน้ามุ่งแน่วไปในกุศลจริงๆ จังๆ ไม่ได้ เฉพาะอย่างยิ่งกุศลขั้นปัญญา

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของคน จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของสังคมไทยการพัฒนาคุณภาพคนนั้น  จะต้องทำกันให้จริงจัง ปัญหาคุณภาพคนไทยเป็นอย่างไร จับจุดที่เรื่องเด่น บอกได้ว่า สังคมไทยเวลานี้อ่อนแอมาก อ่อนแออย่างยิ่ง ร่างกายพอมีกำลัง แต่อ่อนแอทางจิตใจ สภาพอ่อนแอที่ร้ายที่สุด คือ อ่อนแอทางปัญญา

ถ้าอ่อนแอทางปัญญาแล้ว แย่ที่สุด สังคมจะเอาดีไม่ได้ ต้องทำให้มีความเข้มแข็งทางปัญญา สร้างความเข้มแข็งทางปัญญาขึ้นมา จึงจะไปได้ แล้วความเข้มแข็งทางจิตใจ ความเข้มแข็งทางสังคม และความเข้มแข็งอะไรต่ออะไรจะตามมาหมดเลยทีนี้

สังคมไทยของเรานี้มีอาการที่แสดงสภาพอ่อนแออย่างไรหนึ่ง ชอบรุนแรง ทำเรื่องรุนแรงมากๆ บ่อยๆ ความรุนแรงนั้นแสดงถึงความอ่อนแอ เพราะความรุนแรงเกิดจากความอ่อนแอที่ว่าความรุนแรงเกิดจากความอ่อนแอนั้น

จะเห็นว่า คนอ่อนแอไม่มีความเข้มแข็งที่จะควบคุมรักษาภาวะจิตใจของตน ก็เลยวู่วาม เอาแต่อารมณ์ หรือปัญญาอ่อนแอ คิดหาทางออกทางไปอย่างอื่นไม่ได้ ทำความสำเร็จด้วยวิธีการที่ดีงามไม่ได้ ก็เลยต้องเอาความรุนแรงเข้าว่า

นี่ก็เพราะความอ่อนแอ สอง เห็นแก่เสพ หมกมุ่นมัวเมา มั่วสุรายาเสพติด ปล่อยตัวไปตามกระแสบริโภคนิยม ตั้งตัวอยู่ไม่ได้ที่จะไม่เลื่อนไหลล่องลอยไปตามกระแสนั้น จิตใจอ่อนแอ ไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะเหนี่ยวรั้งตัวเองไว้
ขาดกำลังความรู้เข้าใจ คือปัญญาที่จะรู้เท่าทันและที่จะเห็นทางไปที่ดีกว่า ขาดความเข้มแข็งที่จะทวนกระแสร้ายไม่ให้ท่วมท้นพัดพาตัวไป หรือที่จะยืนหยัดไม่ยอมตามเหยื่อล่อแหผลประโยชน์ ฯลฯ


สาม ไม่มีความเข้มแข็งอดทนที่จะรอผลจากการกระทำด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเอง จริงอยู่ มนุษย์ปุถุชนคนทั่วไป ต้องอยู่ด้วยความหวัง การที่มีความหวังก็ดีแล้ว แต่ต้องหวังโดยรอผลจากการกระทำของตน ไม่ใช่หวังลอยๆ หวังแบบพึ่งพาถ้าเอาแต่รอผลจากการดลบันดาล

ไม่ว่าจะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของฤทธิ์ ของเทวดา หรือว่าของคน ได้แค่หวังผลที่รอให้คนอื่นบันดาล ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีความมุ่งมั่น และไม่มีความคิดที่จะทำให้จริงจังจนกว่าจะสำเร็จ ก็คืออ่อนแอสังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมรอผลดลบันดาลอย่างหนัก ไม่ว่าจะรอเทวดาบันดาล หรือรอมนุษย์บันดาลก็แล้วแต่ ก็คือจมอยู่ในความอ่อนแอและความประมาท

เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ถ้าจะให้สังคมของเราเข้มแข็ง ก็ต้องให้คนมีความเข้มแข็งที่จะรอผลจากการกระทำของตน ก็คือต้องเป็นคนที่หวังผลจากการกระทำ ถ้าคนไทย “หวังผลจากการกระทำ” ไม่ว่าจากการทำงาน จากการทำการศึกษาค้นคว้า จากการทำเหตุปัจจัยของความเจริญก้าวหน้านั้นๆ ก็ตาม ถ้าอย่างนี้แล้ว   รับรองว่าสังคมไทยเดินหน้าแน่

สังคมรอผลดลบันดาล ก็คือคนไข้ที่นอนรอการรักษาพยาบาล
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ   พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยว่า “เราเป็นกรรมวาท เราเป็นกิริยวาท เราเป็นวิริยวาท” คือ เราเป็นผู้ถือหลักการกระทำ เราถือหลักความเพียร ถ้าจะเอาคำชุดนี้ เป็นชื่อของพระพุทธศาสนาก็ได้ บอกว่า พระพุทธศาสนาเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็น กรรมวาท และวิริย-วาท เป็นศาสนาแห่งการกระทำ เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายามถ้าใครมัวไปหวังผลจากการดลบันดาล ของเทวดาหรือไม่ว่าของอะไร ก็แสดงว่า หมดแรง และหล่นจากพระพุทธศาสนาแล้ว

เวลานี้สังคมไทยเป็นอย่างไร เห็นชัดๆ วุ่นอยู่กับเรื่องอ้อนวอนนอนคอย และรอผลดลบันดาล เลยปล่อยเวลาไปเปล่าๆ นานเข้าก็กลายเป็นนิสัยที่ว่า ไม่คิดไม่อยากจะทำอะไร กลายเป็นคนอ่อนเปลี้ย ไม่มีกำลัง เมื่อคนอ่อนแออย่างนี้ ชุมชนก็อ่อนแอ แล้วสังคมก็เป็นง่อย มันจะไปไหวอย่างไรถ้าปล่อยให้คนอยู่ในสภาพอย่างนี้ อ่อนแออย่างนี้

ก็ไม่สามารถทำการสร้างสรรค์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็แก้ปัญหาสังคมไม่ได้คนที่รอการบันดาลจากภายนอกอย่างนี้ ก็คือคนเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ก็เหมือนคนเจ็บไข้ ที่ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่รอการรักษา แล้วก็พาให้ชุมชนป่วย ป่วยกันไปหมด ป่วยด้วยความอ่อนเปลี้ยอาการอ่อนเพลีย เปลี้ย ไม่มีแรง เป็นความป่วยอย่างหนึ่งใช่ไหมพอชาวบ้านป่วย ชุมชนป่วย

ต่อไปจังหวัดก็ป่วย ต่อจากนั้นประเทศไทยก็ป่วย จึงต้องพัฒนาคนให้มีกำลังแข็งแรงขึ้นมาคนที่แข็งแรงนั้น  ดูได้จากการที่ว่า เขาเป็นคนทำจริงจัง มีความเพียร พยายาม ขยัน อดทน รอผลจากการกระทำของตนได้


บริหารบ้านเมืองให้มั่นคงปลอดภัยให้คนมีโอกาสทำดีเต็มที่

เรื่องนี้ ไม่ต้องเกรงใจ เวลานี้   มัวแต่เอาใจชาวบ้านกัน จะให้เขารัก จะหาพวก หาคะแนน หรืออะไรก็แล้วแต่ถ้าจะเอาใจด้วยเจตนาดีจริง ต้องให้เขามีหวังจากการกระทำ ไปสนับสนุนให้เขาทำ คุณขาดทุนขาดรอน ขาดอุปกรณ์อะไร จะช่วย แต่คุณต้องทำ อันนี้สำคัญที่สุด แล้วเขาจะเข้มแข็งขึ้นมาได้

อย่างการสวดมนต์สวดพร หรือพระเจริญพระพุทธมนต์ที่เรียกว่าพระ “ปริตร” ก็คือการสร้างอำนาจในการคุ้มครองป้องกันให้มีความมั่นคงปลอดภัย ปลอดโปร่งโล่งใจ มีใจสบาย เกิดกำลังใจขึ้นมา แล้วก็ใช้โอกาสได้เต็มที่ หน้าที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีแค่นี้คุณมีงานมีหน้าที่มีความดีที่จะทำอยู่แล้ว อันนั้นฉันไม่ไปบันดาลให้ เป็นเรื่องของผลที่จะเกิดจากการทำเหตุปัจจัยด้วยตัวของคุณเอง

แต่เมื่อคุณปลอดภัย มั่นใจ ก็จะได้ใช้โอกาสนั้นไปทำงานทำการเป็นต้นของคุณไปได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องหวาดหวั่นพรั่นกลัวอะไร นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาหนุนการกระทำ คือมาหนุนกรรม ตรงข้ามกันเลยกับลัทธิรอผลดลบันดาล ที่จะบันดาลให้โดยไม่ต้องทำอันนี้ก็ตรงกันเลยกับเรื่องราวกิจการของมนุษย์   เป็นหลักของการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองเลยทีเดียว คือ ผู้ใหญ่บริหาร ผู้ปกครอง ไม่ว่าระดับไหน จนถึงทั้งรัฐ

มีหน้าที่สำคัญก็คือดูแลคุ้มครองให้ชาวบ้านหรือราษฎรมีความมั่นคงปลอดภัย แก้ไขอุปสรรค จัดสรรปัจจัยเกื้อหนุน เปิดช่องทาง สร้างโอกาส ประสานกลไกในระบบ อำนวยเครื่องให้ความสะดวก และเสริมบรรยากาศที่เอื้อ


เพื่อให้ประชาชนสามารถเล่าเรียนศึกษา พัฒนาชีวิต ทำงานทำการ หรือทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ แล้วก็แนะนำให้ความรู้ ชี้ช่องทาง หนุน ส่งเสริมเข้าไป ไม่ใช่ไปดลบันดาลผลให้เขา

วิกฤตเป็นโอกาสไม่พอต้องเอาโอกาสมาใช้ทำแบบฝึกหัด

ทีนี้ ที่ว่าสังคมไทยเวลานี้ทรุดโทรมมากจนวิกฤตนั้น  เราอย่าหยุดแค่เอาวิกฤตเป็นโอกาสเอาวิกฤตเป็นโอกาสไม่พอหรอก มันไม่ชัดว่าจะเอาโอกาสนั้นทำอะไร เวลานี้ต้องชัด ต้องเจาะลงไป โอกาสที่จะต้องใช้ คือ เป็นโอกาสสำหรับสังคมไทยที่จะทำแบบฝึกหัดสังคมที่จะเจริญ คนที่จะเจริญ ตั้งแต่เด็กที่จะเจริญ จะมีปัญญา จะสำเร็จการศึกษา ต้องทำแบบฝึกหัดมากๆ สังคมไทยเราต้องทำแบบฝึกหัดเยอะๆ

เวลานี้ สังคมมีแบบฝึกหัดให้ทำมากมาย เราจะเข้มแข็งและเราจะเจริญ จะพัฒนาไปได้ ก็ด้วยการหมั่นทำแบบฝึกหัดนี้แหละ ตอนนี้เรามาถึงขั้นตอนที่จะต้องทำแบบฝึกหัดแล้ว ต้องลุกขึ้นมาทำแบบฝึกหัดกัน อย่ามัวบ่นอยู่แม้แต่คนที่เรียกกันว่าผู้ปฏิบัติธรรม ก็อย่าแค่มาปฏิบัติพอให้ใจสบายหายทุกข์ กลายเป็นนักหลบหลีกปัญหาไปเสีย อย่างนี้ไม่ได้

เมื่อปฏิบัติธรรมแล้ว   จิตใจต้องเข้มแข็งมากขึ้น ปัญญาต้องสว่างมากขึ้น ต้องตั้งท่าทีของจิตใจต่อชีวิตต่อโลกได้ถูกต้อง มีเมตตาการุณย์มากขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น กลับไปอยู่กับชีวิตในบ้านในที่ทำงานอย่างกระปรี้กระเปร่า เข้มแข็ง มีปัญญาสดใส พร้อมยิ่งขึ้นที่จะก้าวไปได้เต็มที่ จะทำอะไรก็ทำได้ผลดียิ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหารอบตัวได้ดียิ่งขึ้น มิฉะนั้น แม้แต่สมาธิก็จะกลายเป็นสมาธิกล่อมไป

สมาธินั้นมีไว้เพื่อเป็นฐานของปัญญา ถ้าใครไม่เอาสมาธิเป็นบาทฐานของปัญญา สมาธินั้นก็เป็นทางที่ตัน ถึงจะเก่งได้ฌานได้อะไรแค่ไหน ในที่สุดก็ตันธรรมทุกอย่าง เป็นองค์ประกอบอยู่ในกระบวนการส่งต่อไปสู่จุดหมาย ถ้ายังไม่ถึงจุดหมายแล้ว อย่าหยุด อย่าให้ค้างหรือขาดลอยจะปฏิบัติธรรมข้อไหนต้องถามทันทีว่า

ธรรมข้อนี้จะส่งต่อสู่ธรรมข้อไหน จุดหมายใหญ่ที่จะไปถึงในที่สุดคืออะไร แล้วอันนี้จะเป็นส่วนร่วม ส่วนเอื้อ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการไปถึงจุดหมายใหญ่นั้นอย่างไร ถ้าตอบไม่ได้ ก็แสดงว่ายังสอบตกอยู่การทำบุญก็คือปฏิบัติการในการพัฒนาคนอย่างครบครันและชัดเจน   จึงมีบุญมีกุศลในด้านและระดับต่างๆ มากมาย ซึ่งในที่สุดก็ให้ถึงจุดหมายสุดท้ายที่เป็นอิสระจากกิเลส

จึงต้องระวังที่จะไม่เอาบุญมาใช้ในระบบหวังผลดลบันดาลและการตอบแทนกิเลสสมาธิซึ่งเป็นบุญ เป็นกุศลข้อสำคัญ ที่พูดถึงกันนัก จะเกื้อหนุนการไปถึงจุดหมายสุดท้ายนั้นได้ ด้วยการส่งต่อสู่ปัญญา อันนี้ต้องรู้ไว้ จึงต้องก้าวเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่จบที่สมาธิพระพุทธศาสนาบอกจุดหมายชีวิตของบุคคลไว้ว่า คือนิพพาน เมื่อใดบุคคลถึงนิพพานแล้ว

เขาจะทำการเพื่อโลกได้อย่างสมบูรณ์ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าคนนิพพาน ก็คือไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป ก็จึงโล่ง ไม่มีอะไรกั้นขวางจำกัด จึงมองไปได้ทั่วทั้งโลก แล้วก็ไปทำเพื่อโลกได้เต็มที่


นิพพานคืออะไร ตอบได้หลายแง่ นิพพานในแง่หนึ่ง คือ ภาวะหมดกิจที่จะต้องทำเพื่อตนเอง ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป แม้แต่ในการที่จะมีความสุข หมายความว่า ความสุขนั้นหนึ่ง เป็นความสุขที่มีอยู่ตลอดเวลา เป็นคุณสมบัติประจำอยู่กับตัว ไม่ต้องหาสอง ความสุขนั้นเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก ไม่ขึ้นต่อวัตถุเสพ ไม่เป็นความสุขที่พึ่งพาสาม เป็นความสุขที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์

คนทั่วไปมีแต่ความสุขที่เจือทุกข์ หรือมีเชื้อทุกข์ ซึ่งพร้อมที่จะกลายเป็นทุกข์ อย่างน้อยขณะเสวยสุขอยู่ ก็มีความหวั่นใจหรือความกังวล เป็นต้น ยังแฝงยังระคายหรือคอยกวนอยู่ แต่ความสุขที่เรียกว่า นิพพานเป็นความสุขที่ไร้ทุกข์ จึงเป็นความสุขที่สมบูรณ์
 

นี้คือนิพพานที่ตอบในแง่ความสุข เมื่อตอบอย่างนี้แล้ว ก็มีความหมายต่อเนื่องไปอีกแง่หนึ่งว่า ในเมื่อบุคคลนั้นมีความสุขอยู่ในใจเต็มที่ตลอดเวลา เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่นใดแล้ว เขาก็ไม่ต้องหาความสุข ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตนเองขณะนั้นตัว เขามีปัญญามีความสามารถอยู่อย่างเต็มที่ เพราะกว่าจะพัฒนามาเป็นพระอรหันต์บรรลุนิพพานได้ ต้องผ่านการฝึกตนมาอย่างเต็มที่

ถึงตอนนี้ พลังความสามารถเท่าที่มี ซึ่งไม่ต้องใช้เพื่อตัวเองเลยแล้ว ก็เอาไปทำเพื่อโลกอย่างเดียวโดยสมบูรณ์เพราะฉะนั้น หลักที่พันอยู่ด้วยกันสองอย่างนี้สำคัญมาก คือ “บุคคลนิพพาน ทำการเพื่อโลก”อันนี้คือจุดหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีภาวะสัมพัทธ์ในระหว่างด้วยว่า ยิ่งคนไหนพัฒนาใกล้นิพพานเท่าไร เขาก็ยิ่งมีความพร้อมที่จะทำการเพื่อโลกได้มากขึ้นเท่านั้นด้วย เพราะเขาจะมีความพึ่งพาขึ้นต่อปัจจัยภายนอกน้อยลง พร้อมกับพึ่งตัวเองได้ เป็นอิสระมากยิ่งขึ้น กับทั้งในขณะเดียวกัน ก็มีความสามารถ มีสติปัญญาที่จะทำอะไรๆ ได้ดี ได้มากขึ้นด้วย
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ถ้าศรัทธายังมี   ปัญหาสุขภาวะก็ยังไม่มา
อย่างที่ว่าแล้ว เวลานี้เป็นช่วงตอนสำคัญ   ที่เราจะต้องลุกขึ้นมาปฏิกรรม และปฏิกรรมที่สำคัญ ก็คือการแก้ไขพัฒนาเรื่องคุณภาพของคนไทย อันนี้เป็นเรื่องใหญ่อย่างยิ่ง จะมัวนอนใจอยู่ไม่ได้ทีนี้ ในกรณีที่คนทั่วไปยังลุกขึ้นมาตั้งหลักตั้งตัวเป็นผู้กระทำยังไม่ไหว ก็ต้องอาศัยศรัทธา คือ คนที่เป็นผู้นำต้องดีมีปัญญาให้คนในสังคมเห็น เมื่อคนเห็นแล้ว เกิดความมั่นใจ คนก็จะมีศรัทธา

เมื่อคนมีศรัทธา สุขภาวะก็จะดีขึ้นมาทันทีศรัทธาเป็นคุณสมบัติทางจิตใจที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ศรัทธาแบบงมงาย   ไม่ใช่ศรัทธามืดบอด แต่เป็นศรัทธาที่เชื่อมคนเข้ากับปัญญา คือศรัทธาในคุณธรรมความดี ศรัทธาในปัญญาความสามารถถ้าผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมืองมีคุณธรรม มีจิตใจดี มีความประพฤติดี มีปัญญาแก้ปัญหาได้เก่ง ประชาชนก็มีศรัทธา

พอประชาชนมีศรัทธาในบ้านเมือง ในนักการเมือง ในผู้บริหารประเทศชาติ สุขภาวะก็ดีขึ้นมาทันทีแต่เวลานี้ ที่เป็นปัญหาสุขภาวะกันหนักหนา ก็เพราะปัญหาสำคัญ คือความขาดศรัทธา หมดศรัทธา แล้วก็เลยเกิดภาวะไร้ศรัทธาคนที่เคยชินมากับระบบพึ่งพา ตั้งตัวไม่ทัน หรือที่จริงคือตั้งตัวไม่ถูก ตั้งหลักไม่เป็น หรือไม่มีหลัก ก็กลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างเต็มที่

ก็เลยกะปลกกะเปลี้ย เบื่อหน่าย ถดถอย ท้อแท้ หมดเรี่ยวหมดแรง กลายเป็นภาวะวิกฤตศรัทธา หรือสุญญากาศแห่งศรัทธาเวลานี้คนไม่มีศรัทธา   เห็นพระเรี่ยวหมดแรง กลายเป็นภาวะวิกฤตศรัทธา หรือสุญญากาศแห่งศรัทธาเวลานี้คนไม่มีศรัทธา   

เห็นพระ ก็ไม่มีศรัทธา เห็นผู้บริหารประเทศชาติ ก็ไม่มีศรัทธาใจเสีย รู้สึกอ้างว้าง ขาดความเชื่อมั่นต่อวิถีของสังคมและต่อชะตากรรมของประเทศชาติ เป็นต้น สุขภาวะจะเหลือดีได้อย่างไร ก็ขัดใจ หงุดหงิด หงอยเหงา เศร้า หม่นหมอง หดหู่ ห่อเหี่ยว ท้อแท้แต่ถ้าคนมีศรัทธาขึ้นมา เห็นท่านที่ทำงานเป็นผู้นำ มีจิต ใจดี มีปัญญาความสามารถ มีเจตนาสุจริต จริงใจ หวังดีต่อชาวบ้านจริงๆ

ทำอะไรก็ตั้งใจทำเพื่อประชาชน มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์สุขของสังคม ศรัทธาก็มา พอศรัทธามา ใจเขาก็มีแรงขึ้น ก็หายป่วยรวมความว่า ศรัทธามีความสำคัญมากในขั้นพื้นฐานนี้ มันเป็นตัวเชื่อมใหญ่ในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองจะช่วยประเทศชาติได้มาก ด้วยการสร้างศรัทธาขึ้นมาพอสร้างศรัทธาขึ้นมาได้ ประชาชนก็ใจดี สดชื่น มีเรี่ยวแรง ก็หายป่วย แล้วประชาชนก็จะร่วมมือในการแก้ปัญหาของสังคมประเทศชาติด้วยศรัทธานั้น  และศรัทธานั้นก็จะช่วยให้เรามาฟังกัน ทำให้ได้ปัญญา ศรัทธาจึงเป็นสะพานเชื่อมต่อไปสู่ปัญญา

ถ้าอยู่เพียงด้วยศรัทธา ความมั่นคงปลอดภัยแท้ก็ยังไม่มี
แต่นั่นเป็นขั้นพื้นฐาน สำหรับกรณีทั่วไป แต่ยังมีกรณีซับซ้อน ที่ทำให้ศรัทธาอาจจะไม่ปลอดภัย ถึงได้บอกว่าศรัทธานั้นต้องมากับปัญญาถ้าคนไม่มีหลัก คือไม่มีปัญญาที่รู้หลักหรือรู้ทัน อาจจะกลายเป็นศรัทธาตาบอด หรือศรัทธาไปตามหลอกก็ได้ และศรัทธาตามหลอกนั้นก็พาภัยอันตรายมาให้อย่างยืดเยื้อยาวนาน จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องพัฒนาคนให้มีปัญญาให้ได้ดูง่ายๆ ถึงจะมีศรัทธ

 แต่ถ้าคนทั่วไปยังอ่อนเปลี้ยอยู่ด้วยสภาพจิตแบบรอผลดลบันดาลละก็ สังคมก็ไปไม่ไหว เขาอาจเปลี่ยนจากรอเทวดาบันดาล มาขอให้ผู้นำหรือผู้ปกครองช่วยบันดาลถ้าผู้นำมีเจตนาดีจริง และถ้าคนเขามีศรัทธาในผู้นำนั้น ผู้นำก็จะต้องใช้ศรัทธาเป็นเครื่องพาคนออกจากลัทธิรอผลดลบันดาล ไปสู่การพึ่งตนด้วยความเพียรและปัญญาให้ได้ 

ถ้าอย่างนี้ ศรัทธาจึงจะเป็นประโยชน์ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง ในเรื่องรอเทวดามาบันดาลให้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการรอเทวดาในสวรรค์ หรือรอเทวดาในโลกมนุษย์ก็ตาม ก็ต้องระวังทั้งนั้น เพราะว่า ถ้าเป็นเทวดาดี ท่านจะไม่ให้คนมัวแต่รอผลดลบันดาล ไม่ให้มามัวหวังผลจากการบันดาลของท่าน

อย่างเรื่องพระมหาชนก ที่ในหลวงทรงพระราชนิพนธ์จากชาดกไว้ นางมณีเมขลาเป็นเทพธิดา เธอมาช่วยพระมหาชนก เพราะพระมหาชนกอ้อนวอนก็เปล่าพระมหาชนกเป็นผู้ที่ไม่ยอมอ้อนวอนเทวดา ตอนเรือแตก คนทั้งหลาย บ้างก็เอาแต่พิไรรำพัน โศกเศร้าปริเทวนาการ บ้างก็มัววุ่นวายกับการอ้อนวอนให้เทวดาช่วย พระมหาชนกไม่เอาด้วย

แต่ท่านใช้ปัญญา พิจารณาว่า เราจะไปอยู่ที่จุดไหนของเรือดีนะ เพื่อว่าในเวลาที่เรือล่มลงในท้องทะเลแล้ว เราจะอยู่ได้ดีที่สุด และจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เช่น มีไม้สำหรับเกาะช่วยลอยตัวในน้ำ เป็นต้น ก็เตรียมตัวให้พร้อมเต็มที่ โดยใช้ปัญญาคิดแก้ปัญหาตอนวิกฤตพอเรือล่ม พวกอ้อนวอนเทวดาก็ตายหมด   พระมหาชนกว่ายน้ำมาได้ ๗ วัน ก็ยังไม่เห็นฝั่ง

แต่ก็ไม่หยุดความเพียรฝ่ายนางมณีเมขลาเป็นเทวดารักษามหาสมุทรเห็นเข้าก็เลยมาดู เพราะมีหน้าที่ดูแลรักษามหาสมุทร ตอนแรกก็มาเยาะเย้ยว่าว่ายน้ำไปทำไม ว่ายมา ๗ วันแล้วยังไม่เห็นฝั่ง มีหวังตายเปล่า เลยเกิดเป็นบทสนทนาระหว่างพระมหาชนกกับนางมณีเมขลาพระมหาชนกพูดจาให้เห็นว่า เมื่อเป็นมนุษย์ ก็ต้องเพียรพยายามไป

ตราบใดยังไม่ตาย ถึงไม่เห็นทางก็ต้องพากเพียรเท่าที่ปัญญาของตัวเองจะมองเห็นได้ ทำไปจนถึงที่สุด ตายแล้วไม่เป็นหนี้ใคร พูดเหตุผลไปจนกระทั่งนางมณีเมขลาเลื่อมใส เลยพาขึ้นฝั่งอันนี้เป็นคติของพระพุทธศาสนา ว่าเราต้องใช้ความเพียรของตัวเองให้เต็มที่ เทวดาก็เหมือนผู้ใหญ่ทั้งหลาย ต้องช่วยคนที่เขาทำความดี และมนุษย์คนนี้ คือมหาชนกนั้น ก็ไม่ได้อ้อนวอนเทวดาเลย ตัวก็ทำหน้าที่ของตนเองไป

ฝ่ายผู้ใหญ่ที่ดี ได้แลเห็นคุณความดี ก็มาช่วยตามหน้าที่ของตน และตามเหตุผลที่ได้พิจารณา ไม่ได้ช่วยเพราะเขาอ้อนวอนแม้แต่นิทานอีสปสั้นๆ  ก็ให้คติสอนธรรมไว้ ชายคนหนึ่งขับเกวียนไปติดหล่มอยู่ในป่า ลงมาคุกเข่าสวดมนต์อ้อนวอนขอให้เทวดาช่วย เทพารักษ์ก็เลยมาสอนเขาให้รู้จักใช้เรี่ยวแรงกำลังและบ่าของตัวเองแก้ไขปัญหา ก็เอาเกวียนขึ้นมาจากหล่มได้

นี่ก็ง่ายๆ เทวดาดี ไม่ว่าเมืองฝรั่ง หรือเมืองไหน ก็สอนคนให้รู้จักพึ่งตนเองเทวดาที่ไม่ดีนั้น ไม่ต้องการให้ใครมีความดีงามมีความ เจริญขึ้นไปเหนือตัว ไม่ต้องการให้สัตว์ทั้งหลายพ้นไปจากอำนาจของตน หรือมิฉะนั้นก็หาทางที่จะดึงรั้งครอบงำสัตว์ไว้ให้อยู่ใต้อำนาจของตนเทวดาที่มุ่งร้ายเอาคนไว้ใต้อำนาจนี้ เป็นเทวดาใหญ่มากเสียด้วย เรียกว่า “มาร”วิธีของมารนั้น มี ๒ อย่างตรงข้ามกัน

อย่างแรกก็คือ คอยทำลายล้างและขัดขวางคนที่จะทำ ความดี หรือคนที่ทำการสร้างสรรค์ กีดกั้นคนไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ดีงามหรือทางที่จะนำไปสู่ความสุขความเจริญแล้วอีกอย่างหนึ่งที่ตรงข้าม คือ คอยล่อหลอกคนให้ติดเพลินอยู่กับสิ่งบำรุงบำเรอ หรือให้ลุ่มหลงมัวเมาจมอยู่กับความสำเริงสำราญต่างๆในการล่อหลอกมนุษย์นั้น   

มารมีอุปกรณ์สำคัญ ๒ อย่าง คือ เบ็ด กับ บ่วง“เบ็ด” สำหรับติดเหยื่อล่อ อย่างเวลานี้สังคมไทยก็ติดเหยื่อล่อที่เบ็ดกันเยอะแยะไปหมด นี่ก็คือติดเบ็ดมาร พอคนติดเบ็ด มารก็โยน “บ่วง” มารัดมัดไว้ คราวนี้ติดบ่วงมารแล้ว ก็ไม่ต้องฟื้นกันเลยมารเป็นเทวดาที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ อยู่ในสวรรค์ชั้นสูงมากเรียกว่า ปรนิมมิตวสวัตดี
เทวดาใหญ่นี้ไม่ต้องการให้ใครพ้นไปจากอำนาจของตัว ก็เลยกำจัดขัดขวางคนดี พร้อมทั้งใช้วิธีการอันชาญฉลาดต่างๆ มายั่วยวน ชักจูง ดักล่อมนุษย์ไว้เทวดาดีก็ปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง ให้เป็นไปตามธรรม ในทางที่จะส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ เทวดาไม่ดีก็ล่อหลอกตามวิธีของมารไป


ถ้ามีเรื่องขึ้นมา เราก็เอาธรรมเป็นประมาณ ถือหลักการเป็นเกณฑ์ จะเอาคนมาวัดกับคน เป็นมาตรฐานไม่ได้ เราจะวัดคน ก็วัดกันที่ธรรมนั่น ไม่ต้องเถียงกัน และไม่ต้องเถียงกับคนที่มาช่วยวัดด้วย เพราะเราเอาธรรมเป็นเกณฑ์

ดูซิว่าตามเกณฑ์นี้ นายคนนั้นได้เท่าไร นายคนนี้ได้เท่าไร ก็ว่ากันไปถ้าคนเกิดปัญหากัน ก็ไม่ต้องมาสู้กันกับคน แต่ให้ไปสู้กับธรรม สู้กับความจริง สู้หน้าความจริงไปเถิด ตัวมีปัญหาอะไรก็สู้กับความจริงไป ไม่ต้องมาเสียเวลาสู้กับคน ซึ่งจะเกิดปัญหาไม่จบไม่สิ้น สู้กับธรรมดีที่สุดแล้ว เอาธรรมมาวัด แล้วธรรมก็ตัดสินให้เลย

พัฒนาคุณภาพคน ต้องให้ถึงขั้นพึ่งตนได้ด้วยปัญญา

ทีนี้ คนจะเอาธรรม เอาหลักความจริงความถูกต้องดีงาม เอาหลักการ แม้กระทั่งเอาธรรมในระดับที่เรียกว่ากฎหมาย มาเป็นมาตรฐานวัด มาเป็นเกณฑ์ตัดสินได้ คนก็ต้องรักธรรม คนก็ต้องรู้ธรรม และคu3609 นจะรู้ธรรมได้ ก็ต้องให้เขาพัฒนาปัญญาขึ้นมา ให้เขาเป็นคนที่มีปัญญาเราบอกว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย   

แล้วแถมบอกกันว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน หรือประชาชนเป็นผู้ปกครองเมื่อประชาชนปกครอง เป็นเจ้าของประชาธิปไตย เป็นเจ้า ของอำนาจอธิปไตย เขาก็ต้องรู้เข้าใจประชาธิปไตยของเขาให้ชัดให้ดี และต้องรู้จักใช้อำนาจอธิปไตย

มิฉะนั้น เขาจะปกครองได้ หรือมีประชาธิปไตยให้ดีได้อย่างไร มันย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่เองถ้าประชาชนไม่รู้ไม่เข้าใจประชาธิปไตย และใช้อำนาจอธิปไตยไม่เป็น ก็เปิดช่องให้นักการเมืองร้ายเอาอำนาจอธิปไตยนั้นไป “เล่น” กัน เอาไป exploit เอาไปปู้ยี่ปู้ยำ บ้านเมืองก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้สักที

เพราะฉะนั้น เมื่อจะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องให้ประชาชนรู้เข้าใจประชาธิปไตยให้ชัดให้ดีให้ได้ การศึกษาของชาติ ไม่ว่าในแบบหรือนอกแบบ ต้องให้มวลชนพัฒนาปัญญาขั้นนี้ขึ้นมาให้ได้ เป็นเกณฑ์เป้าหมายอย่างต่ำที่เด็ดขาด

มิฉะนั้น จะพูดไปทำไมว่าเมืองไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย มันไม่มีความหมายอะไรเลยยิ่งกว่านั้น   เมื่อประชาชนเป็นผู้ปกครองประเทศ นักการเมืองก็เป็นผู้สนองงานของประชาชนที่เป็นผู้ปกครองนั้น ประชาชนที่มีธรรมมีปัญญา กับนักการเมืองที่มีความดีงามมีความสามารถ ก็มาร่วมกันทำให้การปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นสัมฤทธิ์จุดหมาย

แต่ถ้าสภาพทั่วไปยังเป็นดังได้เห็นกันอยู่ว่า นักการเมืองที่ไม่ดีมาเที่ยวหลอกล่อประชาชนได้ ก็คือเรามีผู้ปกครองประเทศที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งขาดปัญญา ไม่รู้เท่าทันแม้แต่นักการเมืองของตัว แล้วจะปกครองประเทศได้อย่างไร ประชาธิปไตยจะดีหรือแม้แต่แค่อยู่ไปได้อย่างไร คงไม่พ้นต้องเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยชนิดหัวทิ่มดินประชาชนจะปกครองประเทศได้ ก็ต้องเป็นคนที่ปกครองตัวเองได้ และจะปกครองตัวเองได้ ก็ต้องพอพึ่งพาตัวเองได้
 
โดยรู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพมีกินมีอยู่มีใช้ ที่เรียกว่า พึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ สามารถดูแลรับผิดชอบครอบครัว อยู่ในชุมชนร่วมกับเขาได้ เป็นที่ยอมรับนับถือหรือไม่เป็นพิษเป็นภัย ที่เรียกว่าพึ่งตนได้ทางสังคม เป็นต้น แล้วในที่สุดก็ครอบคลุมด้วยการมีธรรมรู้ธรรมพึ่งตนได้ทางปัญญา จึงจะปกครองประเทศให้ดีได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องพัฒนาคน และในแง่ของประชาธิปไตยนี้ ก็คือจะต้องพัฒนาความสามารถพึ่งตน พัฒนาปัญญาของประชาชน ต้องพัฒนาจิตใจนักการเมือง ต้องพัฒนาประชาชนและนักการเมืองให้ถึงธรรมถึงปัญญาถ้ามัวจมกันอยู่ในความประมาท หรือได้แต่ฉวยโอกาสในการแอบอ้างชื่อประชาธิปไตยเพื่อความมุ่งหมายส่วนตัว ไม่รีบเร่งให้ประชาชนพัฒนาที่จะพึ่งพาตนได้อย่างที่กล่าวมา ก็คงมีแต่คำว่าประชาธิปไตย

สำหรับไว้อ้างในการต่อสู้ระหว่างกลุ่มชนต่างฝ่ายที่ปกป้องแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจของตนกันอยู่เรื่อยไปความจริงใจ  ซื่อสัตย์ มุ่งเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยสุจริต ให้มวลชนมีและใช้โอกาสในการพัฒนาชีวิตพัฒนาคุณ ภาพอย่างเต็มที่โดยทำการด้วยปัญญาสามารถอย่างจริงจังเท่านั้น จะนำ จะขับดัน และสร้างสรรค์สังคมไทย ให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงได้

อ้างอิง
หนังสือ กรรมของคนไทย ทำกันไว้เอง (ถึงเวลา มาแก้กรรมกันเสียที)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ