ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กฎแห่งกรรม กับ สัมมาทิฐิ  (อ่าน 2667 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
กฎแห่งกรรม กับ สัมมาทิฐิ
« เมื่อ: เมษายน 02, 2010, 04:42:17 pm »
0

กฎแห่งกรรม กับ สัมมาทิฐิ

พระพุทธเมตตาภายในเจดีย์พุทธคยา

    กฎแห่งกรรม คือ กฎที่แสดงให้เห็นถึงเหตุและผลของการกระทำใดๆของมนุษย์ กล่าวคือ ใครกระทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม บุคคลผู้กระทำนั้นจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆเสมอ มิได้เกิดจากการดลบันดาลจากอำนาจของพระเจ้าองค์ใด และไม่มีใครมารับผลของกรรมแทนบุคคลอื่นได้
 
    พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า ปุพพังคสูตร ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ว่า...
 
    “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเหนือโลกหล้า ย่อมมีแสงเงินแสงทองจับขึ้นที่ขอบฟ้า เป็นนิมิตเบื้องต้นให้เห็นก่อน ฉันใด ก่อนที่กุศลธรรมทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น ย่อมมีสัมมาทิฐิเป็นนิมิตเบื้องต้นให้เห็นก่อน ฉันนั้น"

สัมมาทิฐิที่เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมนั้น มี ๑๐ ประการ ได้แก่
 
๑.ทาน ที่ให้แล้วมีผล
 
๒.การสงเคราะห์กันมีผล
 
๓.การยกย่องบูชาบุคคลที่ควร บูชามีผล
 
๔.ผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วมี จริง
 
๕.โลกนี้มี (ที่มา)
 
๖.โลกหน้ามี (ที่ไป)
 
๗.คุณของมารดามี
 
๘.คุณของบิดามี
 
๙.สัตว์ที่เกิดแบบโอปปาติกะมี
 
๑๐.พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว มี

 
    สัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้ โดยเนื้อแท้คือเรื่องของกฎแห่งกรรม ซึ่งการที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องสัมมาทิฐิ ๑๐ ประการนี้ก่อนอย่างอื่น ก็เพราะว่าสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นเบื้องต้นของความดีทุกประการของคนเรา การประพฤติกรรมดีหรือชั่ว หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การกระทำความดีและความชั่วของคนเรานั้น ทำได้ ๓ ทาง คือ

ทาง กาย (กายกรรม)
ทาง วาจา (วจีกรรม)
ทาง ใจ (มโนกรรม)

 
    ไม่ว่าเราทำอะไรไว้ทั้งกรรมดีและชั่วก็ตาม เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นเสมอ จะให้ใครมารับผลกรรมแทนเราไม่ได้
 
    เมื่อทำความเข้าใจพื้นฐานตรงนี้แล้ว ความตระหนักในความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองก็จะเกิดขึ้นตามมา มีผลที่ทำให้ใจของเขาสว่างพอที่จะมองออกต่อไปว่า พระธรรมคำสอนต่างๆที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ แท้จริงทุกคำสอนล้วนเป็นการสอนให้เกิดความเข้าใจถูก ในเรื่องกฎแห่งกรรมดีและกฎกรรมชั่ว ถ้าเราแยกไม่ออกว่าเส้นทางไหน คือ เส้นทางแห่งความดีและความชั่ว เราก็จะมีโอกาสพลาดไปทำความชั่ว แล้วผลทุกข์แห่งความชั่วก็ย่อมตกมาถึงตัวเรา
 
    เมื่อความเข้าใจของใครก็ตาม ที่มีใจสว่างมาถึงระดับนี้ ความซาบซึ้งในเรื่อง กฎแห่งกรรมของเขาก็จะยิ่งทับทวีแก่กล้าขึ้นไป และจะส่งผลให้ตัดสินใจเลือกทำแต่กรรมดีได้อย่างถูกต้อง เช่น เริ่มตั้งแต่เลือกคิดในเรื่องดีๆ เลือกพูดในเรื่องดีๆ เลือกทำในสิ่งที่ดีๆ เลือกประกอบอาชีพที่ไม่ก่อบาปก่อเวร พากเพียรทำความดีเพิ่มยิ่งขึ้นไป มีสติระมัดระวังตนไม่ให้พลาดพลั้งกลับไปทำความชั่ว และมีสมาธิที่แน่วแน่มั่นคงในการทำความดี ไม่หวั่นไหวกับอุปสรรคใดๆที่มาขวางกั้นทั้งสิ้น ในที่สุด ความดีที่เขาทำผ่านกาย วาจา ใจ รอบแล้วรอบเล่านี้ ก็ได้กลายเป็นนิสัยดีๆประจำตัวเขาขึ้นมา แล้วก็ทำให้เขาสามารถทำความดีต่างๆให้สูงยิ่งขึ้นไป




    ในทางตรงกันข้าม ถ้าสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้ไม่เกิดขึ้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นแทน คำตอบก็คือ ความเห็น ผิดเป็นชอบจะเกิดขึ้นแทน เมื่อเห็นผิดเป็นชอบจึงทำความชั่ว เมื่อทำความชั่วบ่อยเข้า นิสัยเลวๆก็เกิด การสั่งสมอาสวะก็เกิด ผลทุกข์ที่เดือดร้อนแสนสาหัสที่ยาวนานก็เกิด และกลายเป็นความทุกข์ที่ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะคิดได้ในวันใดวันหนึ่ง วันนั้นจึงจะเริ่มทำความเข้าใจกฎแห่งกรรม แต่ถ้าในยุคนนั้น ไม่มีพระพุทธศาสนามาบังเกิดขึ้น ก็จะต้องทุกข์ต่อไป วันใดเข้าใจในสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ประการ วันนั้น คือ วันที่จะได้มีโอกาสพ้นทุกข์
 
    ดังนั้น สัมมาทิฐิเบื้องต้นทั้ง ๑๐ ประการนี้ จึงเป็นเหมือนกับฐานรากของความดีทุกประการในโลกนี้ อุปมาเหมือนการสร้างตึกสูง ๑๐๐ ชั้น ถ้าฐานรากของตึกไม่แข็งแรงมั่นคง ตึกก็ย่อมต้องพังถล่มลงมาเป็นซากอิฐซากปูน ฉันใด ความดีของคนเราก็เช่นกัน จะพัฒนาสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ไม่ดีแตกเสียกลางทาง ก็ต่อเมื่อเขามีสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการเป็นฐานรากที่แข็งแรงมั่นคง ฉันนั้น
 
    ด้วยเหตุที่การศึกษาเรื่องสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ เป็นเรื่องใหญ่ของมวลมนุษยชาติเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า สัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการนี้ เป็นเบื้องต้นของกุศลกรรมทั้งหลายของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เพื่อให้เราดำเนินชีวิตในโลกนี้ได้อย่างปลอดภัย เราจึงต้องศึกษาสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

 

ที่มา   http://www.dmc.tv/pages/guide/page21.html





บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ