ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คำสุภาพ-ไม่สุภาพ ในภาษาไทย (ภาคกลาง)  (อ่าน 440 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28441
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
คำสุภาพ-ไม่สุภาพ ในภาษาไทย (ภาคกลาง)
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 18, 2020, 05:51:19 am »
0


คำสุภาพ-ไม่สุภาพ ในภาษาไทย (ภาคกลาง)

ฟังการทะเลาะวิวาทในแวดวงการเมืองของไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็นึกถึงบทสวด ปฏิสงฺขาโย” ของพระสงฆ์ ซึ่งใช้สวดก่อนจะฉันอาหารเป็นประจำ

บทสวดปฏิสงฺขาโย ผมสวดได้ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.3 เพราะพ่อให้ท่อง บอกว่า เป็น “คาถาเรียนเก่ง” บวชเข้ามาแล้ว จึงรู้ว่า บทสวดนั้นขึ้นต้นว่า “ปฏิสงฺขา โยนิโส...”ใช้สวดพิจารณาก่อนฉันอาหาร มีใจความว่า

“เราพิจารณาโดยแบบคาย (พิจารณาอย่างดี) แล้วจึงนุ่งห่มจีวร เพียงเพื่อบำบัดความหนาว ความร้อน สัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย...”

เป็นบทสวดเพื่อพิจารณาก่อนใช้ปัจจัย 4 คือ จีวร,อาหาร (บิณฑบาต), ที่อยู่ (รวมถึงเครื่องใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ซึ่งเรียกตามภาษาพระว่า “เสนาสนะ” นั่นแหละ), และ ยารักษาโรค (คิลานเภสัช)

น่าสังเกตว่า ให้สวดพิจารณาก่อนฉันอาหารเช้าพระเณรจึงคิดว่า เป็นบทสวดเพื่อพิจารณาก่อนฉันอาหารเพียงอย่างเดียวแต่ความจริงให้สวดพิจารณาปัจจัย 4 (บางวัด สวดตอนท้ายของการสวดทำวัตรเช้า)

@@@@@@

ในข้อให้พิจารณาการนุ่งห่มจีวร (รวมถึงนุ่งสบง ใส่อังสะ และใช้ผ้าสังฆาฏิ ตลอดถึงการใช้ผ้าอาบน้ำฝน) มีข้อความที่เหมือนกันอยู่ 2 ปัจจัย คือ จีวรและเสนาสนะ ที่ให้ใช้สอยปัจจัย (คือ จีวร และ เสนาสนะ) เพื่อ...

เพื่อบำบัดความหนาว ความร้อน

เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย

ขอแยกให้เน้นศัพท์บาลีชัดๆ ดังนี้

เพื่อบำบัด ใช้คำว่า “ปฏิฆาตายะ”

หนาวและร้อน ใช้คำว่า “ สีตัสสะ” และ “อุณหัสสะ”

เหลือบ ใช้คำว่า “ฑังสะ”

ยุง ใช้คำว่า “ มะกะสะ”

ลม ใช้คำว่า “วาตะ”

แดด ใช้คำว่า “อาตะปะ”

คำว่า “สัตว์เสือกคลาน” แปลจากคำบาลีว่า “สิริงสะปะ”

คำว่า สัตว์เสือกคลาน หมายถึง จิ้งจก จิ้งเหลน ตุ๊กแก งู ฯลฯ ซึ่งสมัยก่อนแปลว่า “สัตว์เสือกคลาน” ปัจจุบัน เห็นแต่แปลว่า “สัตว์เลื้อยคลาน”

ถ้าแปลว่า “สัตว์เลื้อยคลาน” ก็นึกเห็นแต่ “งู” แต่ เสนาสนะ (เช่น กุฏิ ที่พระอยู่อาศัย) ป้องกันทั้ง จิ้งจก จิ้งเหลน ฯลฯ และแมลงมีพิษต่างๆ รวมไปถึง ตะกวดหรือตัวเงินตัวทองและกิ้งกือ เป็นต้น ท่านใช้คำรวมสำหรับสัตว์เหล่านี้ว่า “สิริงสะปะ” (เขียนอย่างบาลีคือ “สิริสป”)

@@@@@@

ผมเห็นว่า คำแปลสมัยก่อนนั้น ถูกแล้ว ถ้าแปลว่าสัตว์เลื้อยคลาน ก็จะนึกเห็นแต่ งู

สัตว์เสือกคลาน มีลักษณะกิริยาอาการเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ เมื่อมันไปช้าๆ จะมีอาการเลื้อยไป แต่พอไปด้วยความเร็ว มันจะใช้อกช่วย เคยสังเกตเมื่องูวิ่งในน้ำ หรือขึ้นต้นไม้ มันจะใช้อกช่วย จึงไปได้เร็ว

สัตว์หลายชนิดขาสั้นๆ ก็เหมือนกัน เมื่อวิ่งด้วยความเร็ว มันจะใช้อก “เสือก” ไปข้างหน้า ท่านจึงเรียกว่า “สัตว์เสือกคลาน” ไม่ใช้คำว่า “สัตว์เลื้อยคลาน”

เข้าใจว่า คงมีอยู่สมัยหนึ่ง เห็นคำว่า เสือก ไม่เพราะ จึงเลี้ยงไปใช้คำว่า “เลื้อย” แทน

คำว่า งู ในภาษาบาลีใช้คำหนึ่งว่า “อุรค” (หรือ “อุระคะ” แปลว่าไปด้วยอก แสดงว่า คนสมัยโบราณเห็นว่า งูเดินทางด้วย อก แต่เมื่อไปช้า จึงเห็นอาการเลื้อยของงู เมื่อใดที่งูไปด้วยความเร็ว ก็จะเห็นว่างูใช้อก “เสือก” ไปข้างหน้า

อาจารย์สอนหนังสือผม ท่านใช้แต่คำว่ สัตว์เสือกคลาน ผมก็เลยใช้ตามท่านจนติด

ไม่ยอมใช้คำว่า สัตว์เลื้อยคลาน ตามคำแปลในหนังสือสมัยปัจจุบัน

ได้ฟังว่า ท่านประธานกรรมาธิการคณะหนึ่ง ใช้คำว่า “เสือก” กับ ส.ส. สุภาพสตรีท่านหนึ่ง ทำให้ ส.ส สุภาพบุรุษท่านหนึ่งถือว่าเป็นคำหยาบ ไม่ให้เกียรติแก่สตรี เรื่องทำท่าจะไปกันใหญ่

ก็เลยมานึกถึงคำสุภาพ-ไม่สุภาพ ในภาษาไทยของเรา เห็นว่า มีคำหลายคำ เคยเป็นคำสุภาพในสมัยหนึ่ง แต่ปัจจุบัน พูดไม่ได้แล้ว

@@@@@@

บางคำ ใช้วิธีเลี้ยงไปพูดคำที่มีเสียงคล้ายกัน เช่น “เสือก” เลี้ยงไปใช้คำว่า “เผือก” หรือ “เหี้ย” ใช้คำว่า “เบี้ย” เป็นต้น

น่าสังเกตว่า ภาษาไทยภาคกลาง มักจะเห็นคำที่ระบุอวัยวะเพศของคน เป็นคำไม่สุภาพ ส่วนคนภาคอีสาน พูดถึงอวัยวะเพศเป็นปกติ

เคยฟังเพลงลูกทุ่งอีสาน ตอนกล่าวถึง “ฝนตกฮำ” (ฝนตกปรอยๆ หรือตกอย่างแรงก็ตาม) เพลงใช้คำว่า “หดหำ” (ความจริง หด คือ ฮด หรือ “รด” นั่นแหละ) ผู้หญิงเป็นคนร้อง เธอคงเขินๆ ไม่กล้าออกเสียงชัดๆ ที่คำว่า “หำ”

แต่คนภาคอีสานพูดคำว่า หำ เป็นปกติ (มักจะเรียกเด็กๆ ผู้ชายว่า “บักหำ” ด้วยซ้ำ!)

คำว่า “อี” ก็ไม่ใช่คำไม่สุภาพของคนอีสาน เขาเรียก พ่อ-แม่ ว่า “อีพ่อ-อีแม่” อยู่ทุกวัน

ส่วนคนภาคกลางเห็นเป็นคำไม่สุภาพ

@@@@@@

เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุ จะใช้คำว่า “ตัวกูของกู” เพื่อสอนธรรมะเรื่องอนัตตา ท่านไม่คิดว่า มันเป็นคำไม่สุภาพ คงคิดแต่เพียงว่า มันเข้าใจง่ายดี ถึงใจกว่าคำว่า “ตัวเราของเรา” หรือ “ตัวฉันของฉัน” เป็นสำคัญ

คำว่า “กู” เป็นภาษาไทยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (สมัยสุโขทัย) คนภาคกลางเห็นว่าเป็นคำไม่สุภาพ แต่ก็เห็นเด็กวัยรุ่น นิยมเอามาพูดกันอยู่ (เห็นเขาพูด “กู” “มึง” อยู่ทั่วไป)

บางคำ คนภาคกลางคิดมากไปเอง จนมีการบัญญัติคำแปลกๆ ใช้ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม เช่นคำว่า “ผักบุ้ง” (แทบจะนึกไม่ออกว่า ไม่สุภาพตรงไหน) ให้พูดว่า “ผักทอดยอด” ก็ไม่เห็นใครเอามาพูดกัน ถ้ามีคนเอามาพูด ก็คงถามกันวุ่นว่าผักอะไรว่ะ?

คำที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคำหนึ่งของภาคอีสาน คือคำว่า “เสี่ยว” กลายเป็นคำ “เหยียดสีผิว” โดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่เป็นคำที่มีความหมายสูงส่งทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง

คนภาคอีสานกว่าจะเรียกกันว่า เสี่ยวได้ (ทั้งหญิงและชาย) จะต้องรักกันมาก ถึงขั้นตายแทนกันได้ พ่อผมมีเสี่ยวคนหนึ่ง จำได้ว่า คืนหนึ่งไปไหนมาก็จำไม่ได้ พ่อบอกว่าแวะเยี่ยมเสี่ยวหน่อย บ้านเสี่ยวของพ่ออยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ข้างทาง ภายในบ้านมีตะเกียงดวงเดียว กว่าจะถึงบันไดขึ้นบ้านเสี่ยวต้องให้เสี่ยวและลูกเมียลงมารับ เพราะแกเลี้ยงหมาไว้เยอะเหลือเกินคืนนั้น เสี่ยวของพ่อแสดงดีใจแบบ “ลิงโลด” ที่พ่อผมไปเยี่ยม แกเลี้ยงข้าวปลาอาหารสำรับใหญ่ กินด้วยกันทั้งเสี่ยวทั้งลูกเมีย จะไม่ยอมให้เรากลับ

นั่งรถผ่านหมู่บ้านนั้นทีไร ผมก็ได้ยกมือไหว้ไปที่บ้านเสี่ยวของพ่อคนนั้นทุกที


@@@@@@

คืนนั้นกลับจากบ้านเสี่ยว พ่อเล่าถึงความรักใคร่ที่มีกับเสี่ยวให้ผมฟังตลอดทาง ทำให้ผมเกิดความรักเสี่ยวของพ่อและครอบครัวนั้นจนถึงวันนี้

เมื่อนึกถึงคำว่าเสี่ยว จะนึกถึงความผูกพันระหว่างพ่อกับเสี่ยวของพ่อคนนั้นไม่เคยลืม

คำว่า “เสี่ยว” ในภาษาไทยภาษาพูดภาคกลาง มี 2 ความหมาย ความหมายหนึ่ง เป็นความหมายในภาคอีสาน หมายถึงความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนที่ยอมตายแทนกันได้ อีกความหมายหนึ่ง เป็นความหมายในการเหยียดสีผิวในภาษาพูดของคนภาคกลาง หมายถึง “คนภาคอีสาน” ของไทย

“เสี่ยว” ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติ เป็นเพียงภาษาพูด ต่างจากอีกหลายคำในภาษาไทย ซึ่งมักจะพยายามบัญญัติใช้หลังจากเห็นว่าคำนั้นๆ ฟังดูไม่สุภาพ เช่นคำว่า “แห้ว” มีผู้คิดคำขึ้นใช้แทนด้วยคำว่า “สมหวัง” และคำว่า “เหี้ย” มีผู้คิดบัญญัติคำว่า “วรนุส” ขึ้นใช้แทนแต่ดูเหมือน 2 คำนี้ ไม่เป็นที่นิยมใช้ จึงทำท่าว่าจะสูญหายไปเอง (อันที่จริง คำว่ “วรนุส” มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ เพราะเป็นชื่อสัตว์ในวงศ์วิทยาศาสตร์ คือ varanus ที่หมายถึงสัตว์เสือกคลานประเภท ตะกวด ซึ่งตรงกับตัวเหี้ย หรือ ตัวเงินตัวทอง นั่นเอง แต่คำที่ไปตรงกับชื่อ หรือ นามสกุล ที่มีความหมายที่ดีของคน คือ “วรนุช” จึงทำท่าจะไปไม่ได้)

@@@@@@

เวลานี้ เพลงลูกทุ่งแนวอีสานกำลังมาแรง ภาษาอีสาน (ของ) ไทยและแนว “เพลงหมอลำ” กำลังเป็นที่นิยม มีภาษาอีสานหลายคำกลายมาเป็นภาษาไทยภาคกลาง เช่นคำว่า แซ่บ,กลิ้งโค่โร่ ฯลฯ เป็นต้นหลายคำติดไปกับอาหารอีสาน คนอีสาน และวัฒนธรรมอีสาน ตลอดถึงเพลงลูกทุ่งอีสานอย่างทุกวันนี้

เมื่อเห็นการแปลง (ปริวรรต) คำอีสานเป็นภาษาไทยภาคกลางทางทีวี จึงดูชัดๆตาหลายคำ เพราะไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงของภาษาอีสาน และทำให้เสียรสของฉันทลักษณ์อีสานโดยไม่รู้ตัว

อยากให้คงคำอีสานไว้ตามเดิม ถ้าจำเป็นต้องแสดงความหมายของบางคำ ก็ให้ใส่วงเล็บคำที่ต่างจากคำในภาษาไทยภาคกลางจริงๆ เช่นคำว่ “ม่ม” (ที่หมายถึง “พ้น” หรือ “เลยไป”) ให้ใส่วงเล็บว่า “(พ้น)” เป็นต้น คำที่พอเข้าใจกันได้ทั่วไป เช่นคำว่า “บ่” หรือ “อ้าย” เป็นต้น หรือคำที่มาจาก ร เป็น ฮ (ส่วนมากภาษาลาวหรือภาษาอีสาน ร ออกเสียงเป็น ฮ) ให้คงไว้อย่างนั้นแหละ เนื่องจากเป็นคำที่พอเข้าใจกันได้ทั่วไป




ขอบคุณ : https://siamrath.co.th/n/128476
สยามรัฐออนไลน์ ,25 มกราคม 2563 ,00:10 ,ศาสนา-ความเชื่อ ,คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ