ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สังคมมีชนชั้น  (อ่าน 393 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
สังคมมีชนชั้น
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2020, 06:18:16 am »
0


สังคมมีชนชั้น : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

สังคมมนุษย์ทุกสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมในยุโรป เอเชีย แอฟริกาหรืออเมริกาและที่อื่นๆ ในโลกมนุษย์ก็เป็น “สัตว์สังคม” มนุษย์จะอยู่คนเดียวตามลำพังไม่ได้ ต้องอยู่ในสังคมเหมือน “สัตว์ สังคม” อื่นๆ เช่น มด ผึ้ง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด เช่น ลิง เป็นต้น

สัตว์สังคมหลายชนิดแบ่งหน้าที่กันตั้งแต่เกิด เช่น มดบางตัวเกิดมาเป็น “นางพญา” มีหน้าที่ออกลูกแพร่พันธุ์ มดบางตัวเกิดมาเป็นมดงาน มีหน้าที่หาอาหาร บางตัวมีหน้าที่ขนดินมาสร้างรัง บางทีรูปร่างหน้าตาก็ผิดแผกแตกต่างกันตามหน้าที่ที่ตนมีมาตั้งแต่กำเนิดแล้ว

แต่ในกรณีของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมเช่นเดียวกัน รูปร่างหน้าตาอวัยวะต่างๆ มิได้ผิดแผกแตกต่างกันโดยกำเนิดตามหน้าที่ที่อยู่ในสังคมที่ตนสังกัด และมนุษย์แต่ละคนก็ไม่ได้เป็นผู้กำหนดชนชั้นของสังคมที่ตนสังกัดอยู่ แต่สังคมนั้นเองเป็นผู้กำหนดและยอมรับการมีชั้นสังคมและชนชั้นที่ตนสังกัดอยู่

ชั้นของหมู่มนุษย์ในสังคมเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ในเรื่องความแข็งแรง ในเรื่องความสามารถ เป็นเหตุให้เกิดการจัดระเบียบในสังคมที่ตนสร้างขึ้นมา เพื่อปกป้องตนเองจากความเลวร้ายของ “สภาพธรรมชาติ” หรือ state of nature ที่ไม่มีมนุษย์ผู้ใดอยู่กันได้เพราะสัญชาตญาณอันโหดร้ายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งแต่เป็นสัตว์ที่มีสมองอันประเสริฐ ที่ใช้มือและนิ้วเพื่อการอื่นๆ แทนการใช้เดินและห้อยโหน สามารถยืนตัวตรงและเคลื่อนไหวช้า-เร็วได้ด้วยขาและเท้า 2 ข้าง ไม่ต้องใช้ 4 เท้าเช่นสัตว์สังคมที่เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ


@@@@@@

การที่มนุษย์มีความจำเป็นและรู้จักสร้างสังคมนอกจากเพื่อปกป้องตนเอง ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้มนุษย์สามารถช่วยกันเป็นทีม เป็นคณะ ในการล่าสัตว์ ในการเพาะปลูก ในขณะเดียวกันก็สามารถแบ่งงานกันทำ ไม่ต้องทำทุกอย่าง สามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนและค้าขายกันได้ในที่สุด

การที่มนุษย์รู้จักช่วยเหลือกัน ทำงานเป็นทีมและรู้จักแบ่งงานกันทำ เพื่อปกป้องตนเองและเพื่อประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคลในสังคมและระหว่างสังคม เมื่อมนุษย์ยังดำรงชีพอยู่ด้วยการล่าสัตว์ ด้วยการเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ ยังไม่ยึดติดกับที่ดิน แต่เมื่อสัตว์มีน้อยลง หากจะมีสัตว์ให้เป็นอาหารก็ต้องรู้จักจับสัตว์มาเลี้ยง รู้จักฝึกหัดสัตว์ให้เชื่อง ในที่สุดก็รู้จักเพาะพันธุ์สัตว์และเลี้ยงอยู่กับที่

พร้อมๆ กันนั้นเมื่อมนุษย์รู้จักการเพาะปลูกพืช ทั้งพืชยืนต้นและไม้ล้มลุกปลูกและเก็บเกี่ยวซ้ำๆ กันในที่เดิมหรือแม้จะย้ายพื้นที่ไปที่อื่น เกิดความรู้สึกหวงแหนที่ดินที่ตนทำการเพาะปลูกหรือความรู้สึกอยากจะยึดถือเป็นของตน ในกรณีที่มีการแบ่งงานกันทำเป็นบุคคลหรือครอบครัว ความต้องการยึดถือเป็นของชุมชนหรือของสังคมก็เกิดขึ้นในกรณีที่ต้องช่วยกันทำหรือช่วยกันผลิต

@@@@@@

เพื่อให้เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกัน มนุษย์จึงรู้จักสร้างกฎระเบียบกฎหมาย เพื่อบังคับใช้กับมนุษย์ในสังคม เพื่อทุกคนจะได้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีการมอบหมายให้มีผู้บังคับให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติและลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนการปกครองผู้ปกครองจึงเกิดขึ้น โดยในครั้งแรกผู้ที่แข็งแรงกว่าสามารถแย่งชิงอำนาจจากผู้อื่นในสังคมตั้งตัวเป็นผู้ปกครอง บังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ของสังคมที่ตนเป็นผู้กำหนด หรือมีผู้อื่นที่สังคมยอมรับเป็นผู้กำหนด กลายเป็นผู้ปกครองที่มี “ความชอบธรรม”

ในการดำเนินการปกครอง แม้เมื่อตนสิ้นชีวิตไปแล้วความชอบธรรมที่จะเป็นผู้ปกครองก็อาจจะตกไปสู่บุตรหลานซึ่งเป็นสายเลือดของตนได้ ถ้าสายเลือดเช่นว่าได้รับการเลือกสรรโดยสวรรค์หรือโดยพระผู้เป็นเจ้า เช่น พระยะโฮวา พระนารายณ์ ซุส หรือพระวิษณุ เป็นต้น ซึ่งรู้ได้จากการสื่อสารกับพระเจ้าผ่านทางตัวแทน ผู้ที่เป็นตัวแทนก็คือ พระหรือพราหมณ์

เมื่อมีการปกครองก็เกิดชนชั้นขึ้นแล้ว คือชนชั้นปกครองและชนชั้นใต้การปกครอง หัวหน้าชนชั้นปกครองก็คือหัวหน้าทหารที่มีกองกำลังหรือกองทัพเป็นผู้บังคับใช้อำนาจปกครอง มีพราหมณ์ มีบาทหลวง มีพระ มีพระสันตะปาปาและคณะสงฆ์เป็นผู้ให้ความชอบธรรม พระสื่อสารกับพระเจ้าได้


@@@@@@

ส่วนชนชั้นถูกปกครองหรือชนชั้นที่อยู่ใต้การปกครองที่มีหน้าที่ผลิตแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ก็ได้แก่พ่อค้าวาณิชและกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ที่ทำหน้าที่ระดมทุนจัดการให้มีระบบการผลิต ระบบการเงินและระบบการค้า โดยมีผู้ปกครองจัดการระบบกองทัพ ระบบตำรวจ ระบบข้าราชการ เป็นเครื่องมือให้การปกป้องคุ้มครองจากภัยภายนอกและภัยภายใน บังคับใช้กฎระเบียบกฎหมายเพื่อความสงบสุข เพื่อให้ระบบผลิตและระบบแจกจ่ายผลผลิตดำเนินการไปได้

ในสมัยพุทธกาล สมัยกรีกและโรมัน ชนชั้นปกครองและกองทัพเป็นวรรณะสูงสุด พระและพราหมณ์เป็นวรรณะรองลงมา แล้วจึงมาถึงพ่อค้าวาณิช เศรษฐี ผู้ประกอบการ ลงไปถึงกรรมกรชาวนา แต่บางครั้งพราหมณ์และพระก็สามารถสร้างความคิดและยึดอำนาจกองทัพ เพื่อตั้งตนเป็นผู้ปกครองเสียเองก็มี ในบางยุคบางสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป แต่ในเอเชียไม่ได้เป็นเช่นนั้น พันธมิตรที่สำคัญที่สุดของชนชั้นผู้ปกครองก็คือพระและพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ให้ความชอบธรรมกับผู้ปกครองได้

ความชอบธรรมของชนชั้นปกครองจึงอยู่ที่ชาติกำเนิดและกองทัพที่ถืออาวุธ สามารถใช้กำลังหากมีการท้าทายความชอบธรรมของผู้ปกครอง ไม่เกี่ยวกับผู้อยู่ใต้ปกครองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมทั้งในแง่จำนวนและพลังการผลิตสินค้าและบริการ

@@@@@@

ความรู้สึกในเรื่องชนชั้นของมนุษย์แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยสัญชาตญาณ เช่นเดียวกับมดกับผึ้งหรือฝูงสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ก็เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขที่ถูกกำหนดโดยสังคมที่ตนเติบโตขึ้น แม้หลังจากเกิดการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นในยุโรปและเกิดความคิดเรื่อง “สัญญาประชาคม” ขึ้นในอังกฤษ ที่ความชอบธรรมของผู้ปกครองเปลี่ยนจากพระเจ้าหรือสวรรค์มาเป็นประชาชนก็ตามแต่ลึกๆ แล้วชนชั้นผู้ปกครองก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบและศัพท์แสงที่ใช้เรียกขานและอธิบายให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม

ที่เป็นอย่างนี้ก็คงเป็นเพราะสัญชาตญาณในการเป็น “สัตว์สังคม”* ของมนุษย์นั้นเอง สถาบันการเมืองดั่งเดิมก็เปลี่ยนมาเป็นสถาบันการเมืองสมัยใหม่ที่กลุ่มผู้ปกครองอาจจะไม่สืบต่อทางสายโลหิตแต่สืบต่อทางสถาบันการเมือง เช่น พรรคการเมือง ข้าราชการซึ่งสืบเชื้อสายจากสายเลือดของชนชั้นปกครอง ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแม้แต่ละตินอเมริกา หรือฟิลิปปินส์ก็เช่นกัน

สำหรับสังคมไทย โครงสร้างของชนชั้นดั้งเดิมก็ยังคงอยู่แต่ขยายไปสู่ผู้นำกองทัพ ทั้งที่ยังไม่เกษียณอายุและเกษียณอายุราชการแล้วและขยายไปสู่คณบดีผู้มั่งคั่ง สังเกตได้จากการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชื่อสกุล และผู้ที่เคยผ่านการเป็นผู้บริหาร ทั้งในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนขนาดใหญ่ เป็นชนชั้นสูงและสูงสุดในสังคม


@@@@@@

ทุกวันนี้ความเป็นสังคมมีชนชั้นของไทยอาจจะไม่พูดหรือไม่ยอมรับกันอย่างเป็นทางการหรือเปิดเผยแต่ก็เป็นที่รู้กันในทางปฏิบัติ ในเกือบทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบราชการ ระบบธุรกิจ ระบบการคัดเลือกเข้ารับราชการทหาร และอื่นๆ

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าระบบการศึกษาจะเป็นการคัดกรองเบื้องต้น ตั้งแต่การเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บุตรหลานคนชั้นสูงจะเข้าโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รามคำแหง ราชภัฏวิทยาเขตในกรุงเทพฯ

ส่วนบุตรหลานของคนชั้นกลางที่เป็นพ่อค้าคณบดี ทั้งที่มีเชื้อสายจีนและอินเดีย จะนิยมส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนของศาสนาคริสต์คาทอลิก เช่น อัสสัมชัญ อัสสัมชัญศึกษา เซนต์คาเบรียลมาแตร์เดอี ถ้าเป็นคริสเตียนหรือโปรเตสแตนต์ก็ต้องกรุงเทพคริสเตียน วัฒนา รวมทั้งที่จังหวัดใหญ่ๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี สกลนครและที่อื่นๆ

@@@@@@

ส่วนบุตรหลานของคนชั้นกลางระดับสูงก็จะเข้าโรงเรียนราษฎร์ของเอกชน ทั้งโรงเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่เป็นของเอกชน โดยมีความเข้าใจว่าโรงเรียนของเอกชนมีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนรัฐบาล

สำหรับโรงเรียนสังกัดเทศบาลและโรงเรียนสังกัดกรมอาชีวศึกษาและกรมสามัญศึกษา มักจะเป็นสถานศึกษาของบุตรหลานคนชั้นกลางระดับล่าง ยกเว้นบางโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เช่น สวนกุหลาบเทพศิรินทร์ บดินทรเดชา สามเสนวิทยาลัย สตรีวิทย์ ที่มีระบบบริจาคเงินช่วยเหลือโรงเรียนแม้จะอยู่นอกเขตก็สามารถเข้าได้

ระบบโรงเรียนจึงมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างชนชั้นในสังคมไทย นอกจากระบบอุปถัมภ์อื่นๆ การปฏิรูปจึงเป็นไปได้ยาก แต่เราก็อยู่กันได้ไปเรื่อยๆ



ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/politics/news_764554
วันที่ 14 ธันวาคม 2560 - 13:00 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 21, 2020, 06:21:32 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ