สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 30, 2020, 05:27:31 am



หัวข้อ: "การเรี่ยไรนอกวัด" จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อน จึงจะดำเนินการได้
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 30, 2020, 05:27:31 am


"การเรี่ยไรนอกวัด" จะในจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ในอำเภอหรือนอกอำเภอ ล้วนแล้วแต่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อน จึงจะดำเนินการได้

การที่มีบุคคล กลุ่มบุคคลทำการเรี่ยไร โดยอ้างวัด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการ โดยนอกจากจะผิด พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร แล้ว ยังผิด พรบ.จราจร และกฎหมายอาญา "ฐานฉ้อโกง" และที่สำคัญเอกสารดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำอาจมีความผิดกฎหมายอาญา (ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร) ม.264, 265, 266, 267, 268, 269 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย
.
และบรรดาทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทำความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทำความผิด อาจถูกศาลริบเสียได้ เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

ประเด็นสำคัญที่คนทั่วไป แม้แต่กระทั่งเจ้าอาวาสหลายรูปและพระภิกษุสามเณรทั่วไม่รู้และเข้าใจก็คือ "เจ้าอาวาสไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ใด นิติบุคคลใด หรือคณะใด ทำการเรี่ยไรนอกวัดของตนเองได้มิว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น"

ขณะเดียวกัน การจะออกเอกสารอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรได้นั้น มีระเบียบปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง มีกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการที่มิใช่ง่าย โดยเจ้าอาวาสที่มีความประสงค์จะทำการเรี่ยไร จะต้องยื่นหนังสือเพื่อขออนุญาตพร้อมหลักฐานประกอบการพิจารณายื่นเพื่อขออนุญาตไปตามลำดับชั้นจนถึงคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัด

@@@@@@

เมื่อคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัด… เห็นชอบแล้ว เจ้าคณะจังหวัดในฐานะ "ประธานคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัด…" จึงจะออกหนังสืออนุญาตให้ … (แต่ในการปฏิบัติจริง "คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัด…ยังไม่เคยออกหนังสืออนุญาตให้ผู้ใดทำการเรี่ยไรให้แก่ใครทั้งสิ้น" แม้แต่ฉบับเดียว โดยเหตุผลเดียวคือเศรษฐกิจไม่ดี จึงไม่ประสงค์จะให้มีการซ้ำเติมประชาชน)

หากพบเจอการเรี่ยไรลักษณะดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำของมิจฉาชีพ อ้างวัด อ้างเจ้าอาวาสทำการเรี่ยไร โดยที่วัดและเจ้าอาวาสไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยแต่อย่างใด ทั้งที่ในเอกสารมีลายมือ/ลายเซ็นต์เจ้าอาวาสและมีตราประทับวัด แต่มิใช่ลายมือจริงของเจ้าอาวาส และมิใช่รอยตราประทับที่วัดใช้อยู่จริง

สรุปคือ ปลอมทั้งลายมือและตราประทับ (เท่าที่พิสูจน์ทราบและนำจับมานานกว่า 27 ปี) ประชาชนที่หลงกลบริจาคทุกคนจึงเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิ์แจ้งให้ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (เจ้าพนักงานปกครอง) ดำเนินการตามกฎหมาย หรือคณะสงฆ์ทำการตรวจสอบ หรือดำเนินการตามกฎหมายได้ หากต้องการเป็นเจ้าทุกข์ ทำได้ง่าย ๆ เพียงให้เงินไปจำนวนหนึ่ง และถ่ายสำเนาแบ้งค์ที่ทำบุญ มีพยานรู้เห็น หรือภาพถ่ายประกอบ เพียงเท่านี้ก็เข้าองค์ประกอบตามกฎหมายแล้ว ครับ

@@@@@@

ข้อสังเกต

1. ผู้จะทำการเรี่ยไร จะต้องได้รับอนุญาตทั้งจากฝ่ายบ้านเมืองและทางคณะสงฆ์(มีหนังอนุญาต ซึ่งปิดโดยเปิดเผย) หากไม่มีหนังสืออนุญาต มีความผิดเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต (ผิด พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร)
2. ที่พักสงฆ์ สำนักสงฆ์ ไม่เป็นนิติบุคคล จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับอนุญาตเรี่ยไรตามกฏหมาย

ข้อมูลเพิ่มเติมที่ชาวพุทธควรรู้

พระสงฆ์ไทย ท่านออกประกาศและถือปฏิบัติโดยทั่วกันมาตั้งนานแล้วว่า

(1) ไม่เรี่ยไรนอกวัดที่ตัวเองอยู่ และไม่อนุญาตให้ใครเรี่ยไรแทนตนนอกวัด ยกเว้น "มีเหตุจำเป็นและจะต้องได้รับอนุญาตจากประธานคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัด" เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง คณะกรรมการดังกล่าว ยังไม่เคยอนุญาตให้วัดใดเรี่ยไรเลย และมีมติไว้ว่าถึงแม้จะมีอำนาจอนุญาตแต่ก็จะไม่อนุญาต)

(2) รับบิณฑบาตเฉพาะของที่โยมตักบาตร

(3) ไม่ออกบากเรียกให้ใครมาใส่บาตร

(4) ไม่เลือกรับเฉพาะเงินหรือสิ่งที่ตัวเองต้องการ

(5) หากจำเป็น จะขอเฉพาะบาตร จีวรเท่านั้นจากญาติใกล้ชิดและผู้ปวารณา/แจ้งความประสงค์ไว้เท่านั้น (ผ้าไตรหาย/ถูกชิงเอาไป หาย 3 ผืน ให้ขอเพียง 2, หาย 2 ขอได้เพียง 1, หาย 1 พระวินัย(ศีลของพระ)ไม่อนุญาตให้ขอ)

@@@@@@

"พระแท้จะไม่ทำ ที่ทำคือชาวบ้านปลอมเป็นพระ" ประเด็นที่ชาวพุทธควรรู้เท่าทัน พบเจอที่ใด โปรดแจ้งตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล อย่าให้มารศาสนาได้มีที่ยืนในสังคม และขอความร่วมมือทุกท่านแชร์ต่อด้วยนะครับ

การที่ประชาชนปลอมเป็นพระ ศัพท์ทางกฎหมายเรียก "แต่งกาย/ใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร" เป็นการกระทำความผิดกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ "ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ศัพท์ทางศาสนา (ภาษาวัด/คำวัด) ก็เรียกว่า "คนปลอมบวช/คนปลอมเป็นพระ เช่น กรณีเดียรถีย์ปลอมบวชเป็นพระปะปนเข้ามาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเหตุให้มีการกระทังตติยสังคายนา หรือสังคายนาครั้งที่ 3 ที่โศการาม เมืองปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ภายหลังจากพุทธปรินิพพานได้ 234 ปี ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช และมีการสมณฑูตที่ส่งไปประกาศพระศาสนายังต่างประเทศ จำนวน 9 สาย โดยสายที่ 8 มาที่สุวรรณภูมิ (ประเทศไทย)"

@@@@@@

พระที่แท้ จะอาศัยอยู่ที่วัด เพราะวัดคือที่อยู่อาศัยของพระ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นจริงๆที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พระท่านจะอยู่ในสมณสารูป และสำรวมเสมอ... พระแท้จะรับบิณฑบาตที่โยมถวาย "ไม่เลือกรับเฉพาะเงิน" ดังนั้น หากเห็นพระที่มีอาการแปลก ๆ ชาวพุทธควรตีความหมายไว้ก่อนว่า "คนปลอมเป็นพระ หลอกลวงสังคม เป็นมารศาสนา เป็นผู้ที่สังคมควรอย่าให้มีที่ยืนในสังคม และที่สำคัญที่สุด เป็นผู้ที่ควรถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือทุกท่านได้โปรดช่วยกันแชร์ต่อไปด้วย เพื่อให้ชาวพุทธรู้เท่าทัน.. หากพบเห็นอาการแปลก ๆ ที่พระท่านไม่ทำ ขอให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
   1. ไม่ใช่พระ หรือ
   2. ไม่ใช่พระไทย

โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายได้โดยทันที และหากใครเสียเงินให้กลุ่มคนดังกล่าว ขอให้แจ้งความดำเนินคดีด้วย โทษจะได้หนักขึ้นและจะได้หลาบจำ และจะได้ไม่ทำความเสื่อมเสียแก่ศาสนาพุทธของเราอีกต่อไป และที่สำคัญเป็นการป้องกันปัญหาความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และศีลธรรมอันดีของไทยของเราอีกด้วย ครับ

 

โดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐
ที่มา:- เฟชพระมหาบุญโฮม https://www.facebook.com/mahabunhome/posts/628621090634399 (https://www.facebook.com/mahabunhome/posts/628621090634399)
ขอบคุณ : http://www.mahabunhome.com/riarai.html (http://www.mahabunhome.com/riarai.html)